ท่าทีของไทยต่อความสัมพันธ์อิสราเอล-ปาเลสไตน์ บนแนวทาง Two-State Solution 

ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ยกระดับเข้าสู่ภาวะสงครามอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยมีเหยื่อผู้บริสุทธิ์มากกว่า 1,400 ราย ในอิสราเอล และ 2,600 ราย ในฉนวนกาซา มีผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน ผู้บาดเจ็บ และสูญหายอีกนับไม่ถ้วน ในจำนวนนี้ยังประกอบด้วยแรงงานชาวไทยเสียชีวิตแล้ว 28 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 16 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย และมีแรงงานชาวไทยแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศมากเกือบ 8,000 ราย จากการเปิดเผยโดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ระหว่างประเทศไทยกับอิสราเอล และประเทศไทยกับปาเลสไตน์ เรามีความสัมพันธ์อย่างไรกับทั้งสองฝ่าย และคำว่า ‘ระบบ 2 รัฐ’ (two-state solution) คืออะไร ทำไมกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงกล่าวว่า “ไทยวางตัวเป็นกลางต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ” วันนี้ WAY ชวนทุกคนมาร่วมหาคำตอบกัน

ย้อนความสัมพันธ์ของไทยกับอิสราเอลและปาเลสไตน์

หากกล่าวโดยสังเขป ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับประเทศอิสราเอล ซึ่งได้บุกเบิกความสัมพันธ์มาร่วม 70 ปี ตั้งแต่ปี 2496 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นก็เจริญสัมพันธไมตรีต่อเนื่องยาวนาน จนถึงขนาดว่ามีการประกวด ‘ออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อิสราเอล 2567’ เมื่อช่วงกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ก็ได้ประกาศผลผู้ชนะการประกวดเป็นที่เรียบร้อย

ขณะที่ทางปาเลสไตน์เองที่ต้องการการถูกยอมรับให้เป็น ‘รัฐ’ ก็ได้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 131 ประเทศที่ประกาศรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มกราคม 2555 ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์ หลังจากนั้นก็เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ของกันและกัน โดยในช่วงวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2559 มามุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีแห่งรัฐปาเลสไตน์เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้พบกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในเวลานั้นอีกด้วย

70 ปี ไทย-อิสราเอล

ย้อนกลับไปช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้แต่งตั้งผู้แทนของอิสราเอลในไทยคนแรกคือ นายแพทย์เปเรซ จาคอบสัน (Perez Jacobson) ในปี 2496 เพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้อพยพชาวอิสราเอลร่วม 200 คน ถือเป็นจุดริเริ่มความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ

ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มต้นเป็นอย่างทางการในปีต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน 2497 ต่อมาปี 2501 มีการตั้งสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ โดยมีมอร์เดคาย คิดรอน (Mordecai R. Kidron) อดีตรองหัวหน้าคณะผู้แทนทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ เป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลคนแรกประจำประเทศไทย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ดร.รณรงค์ นพคุณ ได้ยื่นพระราชสารตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำอิสราเอลแก่ประธานาธิบดี เอเซอร์ ไวซ์แมนน์ (Ezer Weizman) แต่ด้วยความที่ประเทศไทยยังไม่ยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทกับปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน จึงตัดสินใจตั้งสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงเทลอาวีฟแทน

ในด้านเศรษฐกิจและพาณิชยกรรม มีการเปิดสำนักงานทูตพาณิชย์ในอิสราเอลในปี 2531 และมีการตั้งหอการค้าไทย-อิสราเอลในปี 2533 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของสองประเทศในเชิงเศรษฐกิจ ภายในช่วงเวลา 6-7 ปีหลังจากนั้น อัตราการค้าระหว่างประเทศของไทยเติบโตอย่างยิ่ง จาก 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราวเกือบ 6,000 ล้านบาท) เป็น 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 17,500 ล้านบาท)

กลุ่มสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังอิสราเอล ได้แก่ เครื่องประดับ ทองคำ เพชรพลอย อัญมณี ส่วนประกอบและอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องปรับอากาศ อาหารแห้ง อาหารแปรรูป ข้าวสาร ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ไม้ ในขณะที่ไทยนิยมนำเข้าสินค้าจำพวกเพชรพลอย อัญมญี ทองคำ ส่วนประกอบและอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องมือและวิทยาการทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางเกษตรกรรม จำพวกยาศัตรูพืช ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ภาคแรงงานไทยในอิสราเอล พบว่าแรงงานไทยเริ่มเข้าไปทำงานตั้งแต่ปี 2523 ในกลุ่มงานเกี่ยวกับการทำอาหาร พ่อครัวแม่ครัว และช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างแอร์ ช่างยนต์ หลังจากนั้นปริมาณแรงงานไทยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2537 ที่อิสราเอลเริ่มดำเนินการปิดพรมแดนกับเขตยึดครองต่างๆ และเริ่มนำเข้าแรงงานต่างชาติมาแทนคนงานปาเลสไตน์ โดยเฉพาะทางด้านเกษตรซึ่งมีแรงงานชาวไทยจำนวนมาก ปัจจุบันแรงงานไทยในอิสราเอลคาดว่าอยู่ที่ราว 30,000 คน

ด้วยความที่อิสราเอลมีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างน้อย มีแหล่งทรัพยากรน้ำเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้มีการลงทุนด้านการศึกษาวิทยาการการจัดการน้ำ นำไปสู่การร่วมมือกับประเทศไทยหลายโครงการ อาทิ โครงการความร่วมมือทางด้านการเกษตร ซึ่งอิสราเอลร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของ ‘มาชาฟ’ (MASHAV) หรือศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศของอิสราเอล เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2512 หรือ โครงการแปลงสาธิตการเกษตรไทย-อิสราเอลสำหรับพืชมูลค่าสูง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับรัฐบาลอิสราเอล โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดโครงการแปลงสาธิตการเกษตร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือระหว่างสองประเทศอีกหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลในปี 2563 หรือ ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในปี 2565 โดยเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในนามของสำนักงานไซเบอร์แห่งชาติอิสราเอล และพลเอกปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติของประเทศไทย เป็นต้น

ส่วนตัวเลขของนักท่องเที่ยวอิสราเอลในไทย ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 170,000-180,000 ราย มีค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่ต่ำกว่า 70,000-78,000 บาท ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นราว 10-15 เปอร์เซ็นต์ 

จะสังเกตได้ว่า ความสัมพันธ์ของไทยและอิสราเอลมีมาอย่างยาวนาน และดำเนินมาสู่ทศวรรษที่ 7 ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ โดยเมื่อช่วงกันยายนปี 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกัน และในวาระครบรอบความสัมพันธ์ไทย-อิสราเอล 70 ปีที่จะถึงนี้ คงจะได้หารือกันในด้านแรงงาน ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร การท่องเที่ยว รวมถึงด้านความมั่นคงอีกด้วย

ไทยลงนามรับรองรัฐปาเลสไตน์

พื้นที่ของปาเลสไตน์นั้นมี 2 ส่วนสำคัญคือ พื้นที่เขตเวสต์ แบงก์ (West Bank) ภายใต้การดูแลของกลุ่มฟาตาห์ (Fatah) ในฐานะผู้นำรัฐบาลปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) และอีกพื้นที่หนึ่งคือ ฉนวนกาซา (Gaza Strip) มีพรรคการเมืองที่ดูแลอยู่คือกลุ่มฮามาส (Hamas) โดยทั้งสองกลุ่มตกลงจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ (Unity Goverment) ขึ้นมาในช่วงปี 2557 

ในช่วงเวลาดังกล่าวมีความพยายามรวบรวมเสียงจากนานาประเทศในการรับรองให้ปาเลสไตน์ถือเป็นรัฐ โดยได้เสียงรับรองอย่างท่วมท้นถึง 131 ประเทศ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น และภายหลังมีการลงนามเพิ่มเป็น 135 ประเทศ นั่นจึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ในช่วงเวลารัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เวลาต่อมาไทยจึงใช้สถานเอกอัครราชทูตที่ตั้งอยู่ในกรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน (Hashemite Kingdom of Jordan) ให้เป็นส่วนที่มีอาณาเขตครอบคลุมและรับผิดชอบไปถึงที่ปาเลสไตน์ ในขณะที่ปาเลสไตน์ก็ใช้สถานทูตในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ให้ครอบคุลมมาถึงที่ไทยด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ความสัมพันธ์ของไทยและรัฐปาเลสไตน์จะเพิ่งก่อตัวขึ้นได้ไม่นาน ขณะเดียวกันไทยก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอล แต่รัฐบาลไทยก็เคยช่วยเหลือปาเลสไตน์ด้วยการมอบเงินบริจาคให้กับสมาคมเสี้ยววงเดือนแดงปาเลสไตน์ (Palestine Red Crescent) ในปี 2557 โดยพิริยะ เข็มพล เอกอัตรราชทูต ณ กรุงอัมมาน จอร์แดน เดินทางไปรัฐปาเลสไตน์ด้วยตนเองเพื่อนำเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,500,000 บาท) บริจาคเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์ในเหตุสู้รบที่ฉนวนกาซา ซึ่งมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตกว่า 2,000 คน

ต่อมานายมามุด อับบาส ประธานาธิบดีรัฐปาเลสไตน์ ช่วงต้นปี 2559 เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในเวลานั้น ยืนยันให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของไทยและปาเลสไตน์ค่อยๆ เริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

ข้อพิพาทหนึ่งเกี่ยวกับปาเลสไตน์และอิสราเอลก็คือ บริเวณพื้นที่เขตเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวยิว คริสต์ และอิสลาม เป็นพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งสหประชาชาติ (UN) เคยประกาศให้เป็นดินแดนนานาชาติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองเพียงฝ่ายเดียว ต่อมาสหรัฐยื่นมติกับ UN ให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งในที่ประชุมมี 128 ประเทศ ปฏิเสธและเพิกถอนมติของสหรัฐ โดยไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามร่วมด้วยในปี 2560 นั่นยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของไทยและปาเลสไตน์แนบแน่นยิ่งขึ้น

ทว่าประเทศไทยเองก็เคยเผชิญกับปัญหาข้อพิพาทระหว่างสองฝ่ายที่ว่านี้ ในเหตุการณ์ที่ชื่อว่า ‘Black September’ หรือ ‘กันยาทมิฬ’ และเป็นชื่อของกลุ่มขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ที่บุกยึดสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ย่านถนนเพลินจิต เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 ซึ่งได้จับกุมตัวประกัน ชาวยิว 6 คน แต่เหตุการณ์จบลงด้วยความสงบ จากการเจรจาต่อรองของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ จนทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และฝ่ายกันยาทมิฬตัดสินใจถอนปฏิบัติการในที่สุด

พักรบด้วยระบบ 2 รัฐ

แรกเริ่มไอเดีย Two-State Solution หรือระบบ 2 รัฐ ถูกนำเสนอผ่าน ‘ข้อตกลงออสโล’ (The Oslo Accords) ในปี 2536 เพื่อเป็นแนวทางหาข้อสรุปและยุติสงครามระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล เป็นการจับมือร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีอิสราเอล ยิตซ์ฮัก ราบิน (Yitzhak Rabin) และ ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) ผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization: PLO)

แนวทางระบบ 2 รัฐ เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงออสโลซึ่งว่าด้วยการแบ่งเขตการปกครองและใช้ระบบกฎหมายแพ่งคนละแบบ โดยที่ทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอลได้เป็นรัฐร่วมปกครอง และถืออธิปไตยด้วยกัน

สิ่งนี้ถูกยกให้เป็นนโยบายหลักในการสร้างสันติภาพระหว่างสองประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งจากสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และปาเลสไตน์ในเวลานั้น โดยมีประชาคมโลกหลายประเทศรวมถึงไทยให้การสนับสนุนด้วย 

ทว่าแนวทาง 2 รัฐ ก็ยังไม่อาจเกิดขึ้นจริงเนื่องจากหลายเหตุผล อาทิ การไม่สามารถหาฉันทามติเกี่ยวกับพรมแดนและขอบเขตการปกครอง โดยเฉพาะพื้นที่เยรูซาเล็มที่ทั้งสองฝ่ายต้องการให้เป็นเมืองหลวงของตน มีผู้นำการเมืองรุ่นใหม่จากทั้งสองฝ่ายที่เห็นแย้งกับแนวคิดนี้โดยเชื่อว่าพวกเขาควรได้พื้นที่ดินแดนทั้งหมด เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาสในพื้นที่ฉนวนกาซา รวมไปถึงการเจรจาถอนกำลังทางทหารไม่คืบหน้าตามที่ควรและสุดท้ายก็เกิดเหตุลอบสังหารผู้นำทางการเมือง ทำให้แนวทางนี้เป็นได้เพียงฝันสำหรับผู้อยากเห็นสันติภาพเท่านั้น

ท่าทีรัฐบาลไทยในปัจจุบันต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น จุดยืนทางการทูตของไทยนั้นชัดเจนมาตลอดว่าต้องการเห็นฝ่ายอิสราเอลและปาเลสไตน์จับมือพูดคุยกันอย่างสันติ โดยไทยเห็นด้วยกับแนวทางระบบ 2 รัฐ และในช่วงเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2566 นี้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยังยืนในแนวทาง 2 รัฐเช่นเดิม โดยยืนยันวางตัวเป็นกลาง พร้อมให้ความร่วมมือและเจริญความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่าย

แม้ว่าก่อนหน้านี้วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาโพสต์ข้อความประณามการโจมตีอิสราเอล โดยถือว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมอันเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากก็ตาม

อ้างอิง:

Author

ยอดเยี่ยม ยิ่งยืนยง
เพราะหมีกับกระต่าย ไม่เคยเป็นศัตรูตามธรรมชาติ
พวกมันก็เลยนั่งอึอยู่ข้างกันเป็นปกติ
วันหนึ่งหมีถามกระต่ายว่า "เธอมีปัญหาเรื่องอึติดขนบ้างมั้ย"
กระต่ายตอบว่า "ไม่นะ ไม่มีนะ"
หมีได้ยินดังนั้น ก็เลยหยิบเอากระต่ายขึ้นมาเช็ดตูด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า