ไกลบ้าน: ชีวิตในห้องกึ่งใต้ดิน ‘พันจีฮา’ ที่ต้องขึ้นมาสูดอากาศและรับแสงแดด

เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงโซลลดลงเท่ากับ 0 กิ่งกับเพื่อนก็เลยได้เดิน ‘ขึ้น’ มาสัมผัสอากาศข้างนอก หลังจากกลิ้งๆ นอนๆ กินไก่ทอด และเรียนออนไลน์ มาไม่ต่ำกว่า 2 อาทิตย์

ที่ใช้คำว่าขึ้น เพราะที่พักของกิ่งปัจจุบัน คือ ‘พันจีฮา’ หรือห้องกึ่งใต้ดิน ที่โลกรู้จักจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite 

แต่อย่าเพิ่งคิดว่าชีวิตนักศึกษาไทยในกรุงโซลรันทดขนาดนั้น อย่างน้อยๆ พันจีฮาของกิ่งก็เป็นห้องกึ่งใต้ดินที่รีโนเวทใหม่ทั้งหมด สะอาดสะอ้าน เป็นส่วนตัว เหมาะสำหรับนักศึกษาปริญญาโท เอกความสัมพันธ์ประหว่างประเทศ บัณฑิตวิทยาลัยการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Graduate School of International Studies, Ewha Womans University) อย่าง กิ่ง-ณัฐกานต์ อมาตยกุล ได้อ่านหนังสือและเรียนออนไลน์อย่างสงบและมีสมาธิ

“มันไม่ใช่ใต้ดินแบบไม่เห็นแสงตะวันนะ มันเป็นแบบกึ่งใต้ดิน ก็จะมีหน้าต่างแบบเปิดมาเห็นเท้าคนเหมือนในหนัง” กิ่งส่งรอยยิ้มผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom 

ปุ่ม Emergency Alert ที่ปิดไม่ได้ 

30 มกราคม 2563 กิ่งเทคออฟจากไทยกลับไปเรียนต่อที่เกาหลีใต้ ตอนนั้น COVID-19 เริ่มระบาดแล้ว

“จองตั๋วล่วงหน้าว่าจะมากรุงเทพฯ วันนี้ แล้วกลับโซลวันนี้ พอถึงเวลาก็เลยกลับ อยู่เมืองไทยก็ไม่มีอะไรทำ กลับไปเรียนดีกว่า แล้วตอนนั้นมันยังไม่มีอะไรด้วย ตัวเลขก็ไม่ได้น่ากลัวไปกว่าไทย” 

18 กุมภาพันธ์ 2563 โลกได้รู้จักคุณป้า ณ แทกู ในฐานะ super spreader จากโบสถ์ชินจอนจิ และตอนนั้นกิ่งก็รู้จัก ‘อาจุมม่า’ ผู้นี้พร้อมกับทุกคน 

แต่ถามว่าตกใจไหม…ก็ไม่ 

แทกูอยู่ไกลจากโซลก็เหตุผลหนึ่ง 

“ไม่ตกใจเพราะ KCDC หรือกรมควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ มีประกาศทุกวันในเว็บว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นมันไปเพิ่มที่ไหน ถ้าเราเข้าไปดูในเว็บเราก็จะรู้ว่าที่มันเป็นร้อยเป็นพันคน คือที่แทกูนะ ส่วนในโซลและเมืองอื่นๆ ก็ยังควบคุมได้” 

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นช่วง ‘พีค’ ที่สุด ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นถึงกว่า 5,000 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มกว่า 900 คนต่อวัน

จนแล้วจนรอด กิ่งก็ยังไม่แพนิค และเชื่อว่ารัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจ อิน จัดการได้ 

“รู้สึกว่ารัฐบาลเขาจริงใจ เวลาเขาประกาศว่าสถานการณ์เป็นยังไง มีตัวเลขเพิ่มขึ้นที่ไหน ข้อมูลคือสิ่งสำคัญ ถ้าเรารู้ข้อมูลครบ จะรู้ว่าตัวเองต้องปฏิบัติตัวยังไง เขาไม่ได้บอกแค่ว่าผู้ติดเชื้อไปติดที่แทกูแล้วจบ เขาจะบอกว่าจุดแพร่เชื้อหลัก คือที่ไหนบ้าง เช่น โรงพยาบาลนั้น โบสถ์นี้ เราก็จะรู้ว่าไม่ควรไปสถานที่แบบไหน” 

6 มีนาคม 2563 หลายสำนักข่าวเสนอกราฟที่ลดลงของผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้ จากเดิมเฉลี่ยเพิ่มวันละ 800 คน หล่นลงเหลือ 300 คนต่อวัน

ปัจจัยสำคัญคือการตรวจสมาชิกโบสถ์ชินจอนจิกว่า 2 แสนคน ได้หมดทุกคน รวมถึงแอพพลิเคชั่นติดตามผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด และระบบกักกันผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ 

แต่ที่เวิร์คมากๆ สำหรับกิ่งคือ ระบบ emergency alert ในโทรศัพท์มือถือ Samsung ทุกรุ่น ซึ่งถูกออกแบบมาให้ปิดไม่ได้ จนกว่าจะอ่านข้อความนั้นแล้วกดปุ่ม OK 

ที่สำคัญ มาหมดทั้งการสั่น (แรงเกินมือถือทั่วไป) และเสียงเตือนที่ดังและทรมานโสตราวกับแผ่นดินไหวอยู่ใต้เท้า

“ไม่ใช่ SMS ทั่วไป มันเป็นระบบ emergency alert เขายิงในโซนเดียวกัน มันชอบดัง 8 โมงเช้า เหมือนมาปลุก… และมันปิดไม่ได้เพราะเขาอยากให้เราปลอดภัย”

อธิบายให้ละเอียดกว่านั้น emergency alert จะมีปุ่มแต่เป็นตัวจางๆ ให้รู้ว่ากดไม่ได้ มีข้อความกำกับไว้ด้วยว่า ‘เพื่อความปลอดภัย’

แต่โทรศัพท์ค่ายแอปเปิล ปิดเสียงดังกล่าวได้

กิ่งอธิบายต่อว่า ระบบนี้มีมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่มาโซลปีที่แล้ว กิ่งได้รับคำเตือนว่า ช่วงนี้จะร้อนมากนะ ให้อยู่ในที่ร่ม ดื่มน้ำเยอะๆ 

“ร้อนมากของเขาคือ 34 องศา (หัวเราะ) คือกลัวคนเป็นฮีทสโตรกเลย วันที่มีฝุ่นเยอะเขาก็จะเตือนว่าให้ใส่หน้ากาก ระบบนี้มันมีอยู่แล้ว พอช่วงโควิดเขาก็จะเตือนถี่เป็นพิเศษ บางวันก็ 4 ครั้งเลย ข้อมูลที่เขาเตือน เช่น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในละแวกนี้ ผ่านจุดไหนหรือโซนไหนบ้าง ถ้าอยากได้เส้นทางการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงให้ไปดูในเว็บไซต์นี้” 

ชีวิตปกติของนักศึกษามหาวิทยาลัยสตรี 

มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาที่กิ่งเรียน ประกาศให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ทั้งเทอมการศึกษา และกิ่งก็เรียนออนไลน์มา 1 เดือนแล้ว 

“การเรียนออนไลน์อนุญาตให้ตื่นสายได้” (ยิ้ม) วิชาแรกของกิ่งจึงเริ่มต้นหลังมื้อเที่ยง และยิงยาวไป เวลาที่เหลือคืออ่านหนังสือ สลับไปมหาวิทยาลัยบ้างเพราะยังต้องไปยืมและคืนหนังสือที่ห้องสมุด

ก็เหมือนทุกคน การเรียนออนไลน์ช่วงแรกทั้งอึดอัด ขลุกขลัก ลืมปิดไมค์บ้าง แต่สักพักก็เริ่มเข้าที่เข้าทางทั้งคนเรียนและคนสอน

ยิ่งไปกว่านั้น คลาสในพันจีฮาอย่างนี้ ทำให้กิ่งกล้าพูดมากขึ้น – อันนี้เจ้าตัวบอกว่าเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล

“ทิศทางการมองเปลี่ยนไป ตอนที่เราอยู่ในห้องเรียน นักศึกษาจะหันหน้าไปในทางเดียวกันคือทางอาจารย์ แล้วจะรู้สึกไม่กล้า ถ้าฉันพูดอะไรออกไปมันเหมือนมาจากฟากของคนที่มอง แต่พอเป็นรูปแบบหน้าจอ เหมือนเพื่อนทุกคนมองเราอยู่แล้ว โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ก็เลยกล้าพูดมากขึ้น อันนี้เกิดขึ้นกับตัวกิ่ง แต่คนอื่นที่กล้าพูดอยู่แล้วคงไม่มีผลอะไร (หัวเราะ) เลยทำให้รู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมมากขึ้น” 

อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นคือ การเรียนผ่านจอ ให้บรรยากาศแบบล้อมวงคุยกันมากกว่า เอื้อให้เกิดการพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยน ขณะที่ห้องเรียนแบบเดิมหนักไปทางเลคเชอร์ 

อันที่จริง รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามผลักดันเรื่อง K-MOOC การศึกษาออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2015 แต่สำหรับการศึกษาในระบบ การเรียนออนไลน์ยังไปได้ไม่ถึงไหนเพราะคนยังไม่เปิดใจ 

“แต่การมาของ COVID-19 มันเหมือนการบังคับให้ทุกคนต้องใช้ ไม่ถนัดก็ต้องเรียนรู้ กิ่งคิดว่าน่าจะทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ไม่ต้องบินมาเรียนถึงต่างประเทศ เธอก็เรียนกับฉันได้”​

ไม่ Lockdown ไม่แพนิค ไม่กักตุน WFH แบบสมัครใจ 

มาตรการช่วยเหลือเด่นๆ ของรัฐบาลเกาหลีใต้ คือแจกเงินครัวเรือนละ 1 ล้านวอน (ยกเว้นครัวเรือนที่มีรายได้สูง) ให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก 

ส่วนการ work from home ให้เป็นไปตามการพิจารณาของแต่ละหน่วยงาน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้สั่ง lockdown ประเทศอย่างเคร่งครัด แต่เน้นตรวจโรค กักกันโรคอย่างโปร่งใส

“ช่วงแรกๆ ก็คิดไปซื้อของตุนเหมือนกัน คาดหวังเห็นคนเกาหลีตุนของ แต่ไม่เลย ทุกคนนวยนาด ฉันมาจับจ่ายตามปกติ” 

ร้านอาหารทั่วไปก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ รายที่ปิดจริงๆ ก็เพราะเหตุผลส่วนตัวและจะติดป้ายบอกไว้หน้าร้าน 

ส่วนกิ่ง นอกจากไก่ทอดที่กลายมาเป็นมื้อหลัก นักศึกษาไทยยังชอบการสั่งของสดผ่านอี-มาร์ท 

“เหมือนโลตัสบ้านเรา ปกติจะมีออพชั่นว่ารับกับมือ หรือวางไว้หน้าบ้าน แต่พอโควิดเข้ามา เขาเอาออพชั่นรับกับมือออกไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และอัพเดท GPS ตลอดเวลาให้เรารู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่” กิ่งเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส และใบหน้าที่อวบอิ่ม (ขึ้น) 

ประเทศที่ไม่เคยเลื่อนการเลือกตั้ง 

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไม่เคยเลื่อนการเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว ครั้งนี้ก็เช่นกัน 

และ COVID-19 ถือเป็นตัวฉุดกราฟที่ดิ่งลงของประธานาธิบดีมุน แจ อิน ให้กลับมาพุ่งทะยานอีกครั้ง 

“ช่วงแรกเขาใจเย็น พอเริ่มติดเชื้อทีละนิดทีละหน่อย มุน แจ อิน บอกว่าเดี๋ยวก็คงผ่านไปนั่นแหละ แล้วพอมีเคส super spreader เขาก็เลยด่ากันใหญ่เลยว่าทำไมอ่อนด้อยขนาดนี้ ปล่อยให้คนติดเชื้อ” 

พอกลับลำได้ มาตรการของ มุน แจ อิน ก็เริ่มเข้มข้นขึ้น 

“ตั้งแต่กลับมาที่เกาหลี ประมาณวันที่ 31 มกราคม มหาวิทยาลัยก็ส่งอีเมลมาทันทีว่าคุณเป็นอะไรหรือเปล่า ให้เช็คสุขภาพ ให้ทำแบบสอบถาม ฯลฯ” 

ระดับรัฐบาล กิ่งเล่าให้ฟังว่า ทางการจะโปรโมทตั้งแต่เท้าแตะสนามบิน มีป้ายประกาศต่างๆ ว่าให้โทรเบอร์ 1339 เพื่อรับข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับ COVID-19

“ถ้าเรามาจากต่างประเทศแล้วมีอาการเข้าข่าย ให้ไปตรวจฟรี ถ้าเป็นก็รักษาฟรี นี่เป็นเมสเสจที่เขากระหน่ำใส่ทุกๆ คนที่อยู่ในประเทศเลยว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย ถ้าเป็น…ฟรี อันนี้ชัดเจน”​

จะมีตกร่องก็ตรงที่เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากทั้งประเทศ รัฐบาลต้องออกมาขอโทษ และแก้ปัญหาโดยการส่งไปตามร้านขายยาทั่วประเทศ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนไปต่อแถวกันนาน ยิ่งแออัดจึงยิ่งเสี่ยง 

“เขาก็เลยใช้วิธีแบ่งไปตามปีเกิด สมมุติว่าเลขท้ายของปีเกิดคือ 2 กับ 7 ก็ไปซื้อได้เฉพาะวันอังคาร แล้วก็ซื้อได้แค่ 2 ชิ้น” 

ความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจ อิน ตลอดเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้เขาและพรรคประชาธิปไตย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล คว้าคะแนนเสียงในสภาได้มากถึง 180 ที่นั่ง จากจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 28 ปี 

สำนักข่าวเกาหลีและต่างประเทศ วิเคราะห์กันว่า คะแนนเสียงถล่มทลายนี้ มาจากมาตรการรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างเด็ดขาดในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

อย่างไร ชีวิตก็ต้องการแสงแดด

เมื่อวานกิ่งกับเพื่อนได้ออกไปเดินเขาอีกครั้ง หลังจากร้างไปหลายเดือน ประกอบกับการนั่งๆ กินๆ นอนๆ อยู่ในพันจีฮา น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงเรียกร้องการออกกำลังกาย 

กิ่งบอกว่าช่วงนี้หลายๆ คนน่าจะ ‘วินัยหลุด’ ทั้งจากยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงบวกกับบรรยากาศของฤดูใบไม้ผลิที่คอยแต่จะกวักมือเรียกให้คนออกไป

และความนิ่งนอนใจนี้เองก็ทำให้ผู้ติดเชื้อในโซลจากที่เหลือ 0 เพิ่มขึ้นเป็น 2 คน

“พอออกไป เมสเสจเตือนขึ้นมาทันทีเลยว่า มีผู้ติดเชื้อแล้วนะ” 

แต่การอยู่แต่ในพันจีฮาก็ไม่ดีแน่ๆ แม้ห้องกึ่งใต้ดินของกิ่งจะถูกรีโนเวทใหม่หมด หากยังมีปัญหาเรื่องความชื้นอยู่บางจุด 

“มีตรงห้องน้ำ น่าจะเป็นความผิดพลาดของการสร้างบ้าน คือมันจะมีมุมนึงของพื้นที่เหมือนจะมีน้ำซึม แต่เขาบอกว่าเป็นเพราะว่าบ้านนี้มันรีโนเวท แล้วตรงโซนนั้นเขาลืมทำผนังกันความเย็น ก็เลยทำให้มีไอน้ำเกิดขึ้น” 

นอกจากนั้น ก็ยังต้องระวังเชื้อราที่มักจะมาพร้อมความชื้น 

“ถ้าเชื้อรามาเมื่อไหร่ ระบบทางเดินหายใจเราก็จะแย่ และความที่เป็นห้องแสงแดดน้อย ยิ่งหน้าหนาว จะรู้สึกทึมๆ อาจจะส่งผลทางจิตใจ ก็ต้องหาเวลาออกไปข้างนอกบ้าง”  

แต่พอถามถึงมาตรการเยียวยาจากผู้ให้เช่า 

“ไม่ได้ลดค่ะ ก็ไม่เห็นเขาพูดอะไรนะ” 

นโยบายเด่นของเกาหลีใต้ 

  • การสุ่มตรวจประชาชนจำนวนมาก โดยไม่จำกัดว่ามีอาการ หรือเสี่ยงที่จะสัมผัสโรคหรือไม่ 
  • ไม่ lockdown ประเทศอย่างเคร่งครัด แต่เน้นตรวจโรค กักกันโรคอย่างโปร่งใส
  • แจกเงินครัวเรือนละ 1 ล้านวอน (ราว 27,000 บาท) ยกเว้นครัวเรือนที่มีรายได้สูง (ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนทั้งหมด)
  • แจกบัตรของขวัญจำนวน 3.5 ล้านล้านวอน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น
  • อุดหนุนบริษัทที่พนักงานลาหยุดโดยที่ยังได้รับค่าจ้าง (paid leave) เพื่อกักตัว 14 วัน
  • ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก
  • ให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยจ่ายเงินเดือนพนักงาน
  • ช่วยเหลือร้านค้าขนาดเล็กที่มีผู้ติดเชื้อแวะเข้าไปในพื้นที่ เมื่อกลับมาเปิดทำการปกติ

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า