ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 5: แขนงความรู้หลากหลาย vs การบริหารวิชาการแบบคับแคบ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ยังมีความไม่สมเหตุสมผลเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมายที่มักเป็นปัญหาเฉพาะในบางคณะบางสถาบัน แต่ไม่ใช่ปัญหาทั่วไปในระบบ ซึ่งสะท้อนความคับแคบแข็งทื่อของระบบราชการมากน้อยต่างกันไปในแต่ละสถาบัน

คำถามน่าคิดกว่าก็คือ มาตรการและเกณฑ์ที่ไม่สมเหตุสมผลเกิดจากอะไร

สาเหตุประการหนึ่ง (ในหลายประการ) คือ ผู้บริหารอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยไม่เข้าใจความหลากหลายแตกต่างกันของแขนงความรู้สารพัดอย่าง มักเข้าใจเฉพาะแขนงความรู้ที่ตนคุ้นเคย แล้วทึกทักว่าแขนงความรู้สารพัดอย่างคงไม่ต่างกันสักเท่าไร จึงพยายามสร้างมาตรการและเกณฑ์ที่อาจจะเหมาะกับแขนงความรู้หนึ่ง แต่ไม่สอดคล้องกับแขนงความรู้ที่มีธรรมชาติของความรู้ วิธีการสร้างความรู้และลักษณะการวิจัยต่างกันมาก ต่างออกไป

วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์วิทยาศาสตร์ประยุกต์/วิชาชีพทางวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์
เชิงสังคม
สังคมศาสตร์
ที่ค่อนไปทางวิทยาศาสตร์
วิชาชีพทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์
ที่ค่อนไปทางมนุษยศาสตร์
มนุษยศาสตร์ศิลปะ ดนตรี
ฟิสิกส์
เคมี
ชีววิทยา
คณิตศาสตร์

ฯลฯ
การแพทย์ วิศวกรรม

ฯลฯ
เวชศาสตร์ชุมชน โภชนาการสังคม
จิตเวชศาสตร์

ฯลฯ
จิตวิทยาสังคม เศรษฐศาสตร์
มานุษยวิทยา-กายภาพ
ภาษาศาสตร์
รัฐศาสตร์, สังคมวิทยา, ภูมิศาสตร์บางประเภท

ฯลฯ
บริหารธุรกิจ นิติศาสตร์
สังคมสงเคราะห์ อาชญาวิทยา

ฯลฯ
มานุษยวิทยา-วัฒนธรรม
รัฐศาสตร์, สังคมวิทยา, ภูมิศาสตร์บางประเภท
ประวัติศาสตร์
โบราณคดี

ฯลฯ
ภาษา
วรรณคดี
ปรัชญา
ศาสนา
ประวัติศาสตร์
ปวศ. ศิลปะ

ฯลฯ
ศิลปะ
การละคร
ดนตรี

ฯลฯ
แผนภาพ สายรุ้งของความรู้สารพัดแขนง

สมมติอย่างง่ายๆ ว่า ความรู้สารพัดแขนงเป็นแถบสีต่างๆ ของสายรุ้ง วิทยาศาสตร์จะเป็นแถบสีตรงปลายข้างหนึ่ง ความรู้วิทยาศาสตร์สร้างขึ้นจากข้อมูลเชิงประจักษ์ อาศัยวิธีการที่เป็นปรนัย (objective) ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้วิจัยต้องพยายามขจัดอคติและไม่เอาคุณสมบัติของตัวเอง อาทิ ความเชื่อ อุดมการณ์ ค่านิยม ฯลฯ เข้าไปประกอบการวิเคราะห์ข้อมูล

ปลายสุดอีกข้างหนึ่งของแถบรุ้งนี้จะเป็นศิลปะรวมทั้งดนตรี การสร้างสรรค์งานในแขนงความรู้นี้ อาศัยวิธีการที่เป็นอัตนัย (subjective) คือศิลปิน (ผู้วิจัยสร้างความรู้) ต้องใช้ตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตผลงานหรือความรู้นั้นๆ แยกจากกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด

แถบสีอื่นๆ ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะคือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ สังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์ และอื่นๆ ซึ่งมีความโน้มเอียงจะเป็นวิทยาศาสตร์มากน้อยกว่ากันเป็นลำดับ ที่ใกล้วิทยาศาสตร์ก็เป็นความรู้ค่อนข้างเป็นปรนัย สร้างขึ้นจากข้อมูลเชิงประจักษ์มากสักหน่อย แถบสีที่ห่างวิทยาศาสตร์ออกมา เช่น  เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ จะใช้ปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถิติหรือมาจากการสังเกต ผู้วิจัยต้องวิเคราะห์ตีความข้อมูลออกมาเป็นความรู้ วิธีการจึงเป็นปรนัยน้อยลง

กล่าวกลับกันก็ได้ว่า ยิ่งใกล้ไปทางศิลปะ อย่างความรู้ทางมนุษยศาสตร์ เช่น วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลทางวัฒนธรรม หมายถึงภาษาและการที่มนุษย์สร้างความหมายสารพัดอย่างขึ้นมา วิธีการสำคัญที่สุดคือการตีความ ซึ่งต้องอาศัยการตีความผ่านความเข้าใจของผู้วิจัยเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

(มีหลายสาขาวิชาที่อยู่คาบกลางระหว่างสองแถบสี แต่ผมไม่มีความสามารถทำแผนภาพแบบนั้นได้)

แขนงวิชาการสารพัดด้านเหล่านี้ ใช้การวิจัยที่ต่างกัน ทั้งการจัดการ เวลาที่ใช้ สถานที่ทำการทดลองวิจัย เช่น ห้องทดลอง หอจดหมายเหตุ ห้องซ้อมการแสดง หรือภาคสนาม เป็นต้น องค์ประกอบและบุคลากรที่เกื้อหนุนการวิจัย รวมถึงกระบวนการตีพิมพ์และการเสนอผลงานวิจัยก็แตกต่างกัน ทั้งในด้านจำนวนที่ผลิตได้ตามปกติ การวัดผลประเมินคุณภาพและผลกระทบในระยะสั้นระยะยาว 

ในเอเชียหลายประเทศ อำนาจการบริหารมหาวิทยาลัยมักอยู่ในมือของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์คล้ายๆ กัน เพราะเป็นแขนงวิชาที่พัฒนามานาน เนื่องจากเติบโตมาตั้งแต่อุดมศึกษาแบบอาณานิคม สังคมเห็นว่าสำคัญกว่าสาขาวิชาอื่น และมักเชื่อกันว่าเป็นแหล่งคนเก่งที่สุดในแต่ละรุ่น แต่ในโลกตะวันตกความเข้าใจและค่านิยมเหล่านี้ต่างออกไป เช่น คนเก่งที่สุดอาจจะเป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือไม่ก็สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ที่ยากๆ เสียจนคนมักไม่ค่อยเรียนกัน

ด้วยเหตุนี้ มาตรการและเกณฑ์วัดผลจึงมักถือเอาหรือเอนเอียงไปตามแบบแผนของสายวิทยาศาสตร์ เช่น การยึดเอาบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารและจำนวนการอ้างอิงเป็นดัชนีเพื่อประเมินผลงาน การให้ความสำคัญกับหนังสือเล่มน้อยกว่า มองไม่เห็นค่าของบทความในหนังสือรวมบทความ และอีกหลายอย่าง สะท้อนความโน้มเอียงที่ถือเอาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เป็นแบบแผน

ถึงที่สุดแล้ว พื้นฐานความคิดของการประเมินมหาวิทยาลัยด้วยแรงก์กิง และด้วยจำนวนการอ้างอิงก็เป็นวิธีการของวิชาการสายวิทยาศาสตร์เช่นกัน จึงใช้แทบไม่ได้กับวิชาการที่ต่างออกไปลิบลับอย่างศิลปะ และที่จริงก็ไม่เหมาะสมนักกับมนุษยศาสตร์

หลายประเทศในเอเชีย จึงมักเริ่มต้นไต่แรงก์กิงด้วยมาตรการตามแบบแผนของทางวิทยาศาสตร์คล้ายๆ กัน ก่อนที่จะปรับตัวต่อมาให้สอดคล้องกับความแตกต่างของแขนงความรู้

สำหรับไทย สิ่งสำคัญมากและต้องแก้ไขคือ ยกเลิกมาตรการคับแคบที่ใช้เกณฑ์เพียงไม่กี่แบบอย่างค่อนข้างตายตัว ต้องตระหนักว่า Only a few sizes cannot fit all.

นอกจากนี้ ผู้สร้างมาตรการและเกณฑ์ไม่สมเหตุสมผลส่วนใหญ่ เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยก่อนที่พยายามไต่แรงก์กิงด้วยการวิจัย และก่อนที่มหาวิทยาลัยจะเพิ่มโปรแกรมสารพัดมากมายอย่างในปัจจุบัน พวกเขาไม่เคยเผชิญกับภาระงานที่ซับซ้อนและหนักอย่างอาจารย์ปัจจุบันกำลังเผชิญ หลายคนไม่เคยตีพิมพ์งานในวารสารนานาชาติชั้นนำด้วยซ้ำไป จึงไม่มีความเข้าใจว่ากระบวนการเป็นอย่างไร และไม่เคยต้องเผชิญกับการถูกวัดผลด้วยเกณฑ์แบบเดียวกับที่อาจารย์ปัจจุบันกำลังเผชิญ

มิหนำซ้ำ ผู้บริหารจำนวนมากได้ตำแหน่งด้วยความสามารถด้านบริหารบุคคลในระบบราชการ ไม่ใช่ความสามารถด้านการบริหารงานวิชาการอุดมศึกษา จึงคุ้นเคยกับการกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานแบบเดียวขึ้นมาบังคับใช้กับทุกคนในสถาบัน มิได้เข้าใจว่าหัวใจของการบริหารวิชาการอยู่ที่การเข้าใจถึงความแตกต่างของการสอนและการวิจัยสารพัดสาขา ต้องสร้างระบบที่สามารถเกื้อหนุนความหลากหลายทางวิชาการได้ นอกจากนี้ยังคุ้นเคยกับการกำหนดกฎเกณฑ์สั่งการจากบนลงล่าง แทนที่จะเป็นผู้บริหารวิชาการซึ่งต้องเป็นวาทยกรที่ผลักดันให้ผู้รู้ในแต่ละแขนงวิชาความรู้ แสดงความสามารถออกมาอย่างประสานกัน ซึ่งต้องบริหารความแตกต่างของส่วนต่างๆ โดยรักษาความแตกต่างนั้นๆ ไว้

อีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดมาตรการและเกณฑ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็คือ การนำเข้ามาตรการที่ดูทันสมัยจากข้างนอกมาใช้อย่างไม่ดูเงื่อนไขที่เป็นอยู่เดิมในระบบอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยของไทยเอง ผู้มีอำนาจคงคิดว่าตนพยายามแล้วที่จะไม่ลอกจากต่างประเทศอย่างทื่อๆ พยายามปรับให้เข้ากับสังคมไทยแล้ว แต่เพราะเข้าใจสภาวะที่เป็นอยู่ไม่พอ การเลือกรับปรับทิ้งจึงออกผลมากลายเป็นแบบไทยๆ ทำนองเดียวกับการทำให้ทันสมัยไม่ว่าในยุคไหน

ผมเห็นว่าความไม่รู้ระดับรากฐานที่สุดคือ การไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของอุดมศึกษาไทยที่เริ่มต้นจากอุดมศึกษาแบบอาณานิคม เน้นสาขาความรู้เชิงประยุกต์ที่เห็นประโยชน์ใช้สอยชัดเจน เน้นการผลิตบัณฑิตแบบช่างเทคนิคและอย่างเร่งด่วนเพราะต้องใช้งานทันที ให้ความสำคัญน้อยกับสาขาความรู้เชิงวิชาการ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือมนุษยศาสตร์ อุดมศึกษาแบบอาณานิคมไม่สนใจการวิจัย เพราะแพงเกินไปและใช้งานทันทีไม่ค่อยได้  นี่คือรากฐานของอุดมศึกษาไทยที่ผลิตบัณฑิตแบบช่างเทคนิคที่รู้แคบและตายตัว ไม่ค่อยรู้จักหลักของความรู้ที่ตนมี แถมคิดไม่ค่อยเป็น จึงปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้

ความล้มเหลวที่ผลิตบัณฑิตที่ใช้งานไม่ค่อยได้ในระยะหลัง เกิดจากแนวทางของอุดมศึกษาแบบเดิมๆ อันเป็นมรดกมาตั้งแต่อุดมศึกษาแบบอาณานิคม มิใช่ความล้มเหลวที่เพิ่งเกิดเมื่อเร็วๆ นี้  

ความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยกับรัฐรวมศูนย์ และการบริหารมหาวิทยาลัยแบบบนลงล่าง การเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เน้นการวิจัยมาแต่แรกเริ่ม การเน้นสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์จนเป็นแหล่งรวมคนเก่ง พัฒนาจนแข็งแกร่ง รวย มีอำนาจ ความอ่อนแอของสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ และอาการอีกสารพัดดังที่กล่าวถึงในบทความชุดนี้ ล้วนเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของอุดมศึกษาไทยอย่างมาก แต่กลับเป็นประเด็นที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึง และแม้ว่าอุดมศึกษาไทยจะผ่านการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาอย่างน้อย 2 ช่วง กล่าวคือในยุคพัฒนาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 ถึงต้น 1970 และยุคเศรษฐกิจบูมแล้วทรุดภายใต้โลกาภิวัตน์ในทศวรรษ 2000 มรดกทางประวัติศาสตร์ของอุดมศึกษาไทยก็ยังเป็นเงื่อนไขของปัจจุบัน

ตอนต่อไป : ทำอย่างไรจึงจะผลิตงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า