ร่องรอยบิดเบี้ยวของ ‘ประชาสังคมไทย’ กับคำตอบในสายลม

คำถามว่า “ ‘ประชาสังคมไทย’ (civil society) ผันตัวเองมาเป็นขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยได้อย่างไร?” ดูจะดังก้องในความคิดของนักคิด นักกิจกรรม ที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมไปสู่หนทางที่ดีงาม ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนประชาสังคมไทยเคยมีบทบาทนำในการต่อต้านเผด็จการทหาร มีส่วนสำคัญในการขยายสิทธิ เสรีภาพ เพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่คนยากไร้ ไปจนถึงร่วมผลักดันสวัสดิการที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน

การพลิกผันนี้เริ่มขึ้นเมื่อใด และอะไรคือเหตุผลของการบิดเบี้ยวจนไปสู่การต่อต้านประชาธิปไตยในที่สุด

เป็นที่ยอมรับกันว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 ประชาสังคมไทยเริ่มแสดงท่าทีถอยห่างจากประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้น พวกเขาร่วมสร้างมายาคติด้วยการโจมตี ‘เสียง’ ของคนชนบทว่าโง่เขลา และถูกซื้อเสียงโดยนักการเมืองชั่ว คำวิพากษ์วิจารณ์นี้หนักมากยิ่งขึ้นหลังการกวาดชัยชนะบนเวทีการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 และ 2548

เมื่อการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาถึง ในปี 2548-2549 ประชาสังคมไทยได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวและบางส่วนสนับสนุนวิถีทางขับไล่รัฐบาลด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหาร 2549 สมาชิกคนสำคัญของประชาสังคมไทยหลายคน เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐบาลทหารในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่งตั้งขึ้น

ทว่าด้วยความไม่ตั้งใจ รัฐธรรมนูญที่แบ่งสรรอำนาจให้ฝ่ายประชาสังคมอย่าง รธน. 2550 ก็ไม่สามารถเช็คบิลรัฐบาลที่พวกเขาต่อต้านได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในทางตรงกันข้ามกลับเกิดการขยายตัวของการเมืองมวลชนไปอย่างกว้างขวาง ‘พี่ใหญ่’ ของภาคประชาสังคมบางคนถึงกับเรียกร้องต่อคณะรัฐประหารครั้งล่าสุด (22 พฤษภาคม 2557) ว่าครั้งนี้ “อย่าให้เสียของ”

ประชาสังคมเป็นคุณกับประชาธิปไตย?

ในการค้นคว้าทางทฤษฎีเกี่ยวกับประชาสังคม ประจักษ์ ก้องกีรติ พบว่า ประชาสังคมมิได้มีลักษณะที่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยเสมอไป หากแต่ยังขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง ชนิดของรัฐ (เช่น รัฐอำนาจนิยมรวมศูนย์ รัฐเสรีประชาธิปไตย รัฐเผด็จการ ฯลฯ) และธรรมชาติของกลุ่มองค์กรที่ก่อรูปขึ้นมาเป็นภาคประชาสังคม

ตัวอย่างสุดโต่งของความล้มเหลวนี้ คือ การที่ภาคประชาสังคมได้บ่อนทำลายคุณค่าของประชาธิปไตยลงไปด้วย ดังที่เกิดในกรณีของสาธารณรัฐไวมาร์ เมื่อพรรคนาซีเติบโตขึ้นมาก็ด้วยพลเมืองที่กระตือรือร้น โดยมี ‘ทุนทางสังคม’ ในยุคสมัยดังกล่าวเป็นหน่อเชื้ออันดีให้แก่นโยบายการกีดกันทางเชื้อชาติของพรรคนาซี

เหตุผลหลักคือ ประชาสังคมในยุคสมัยดังกล่าวมีการแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า พรรคนาซีประสบความสำเร็จในการดึงพลเมืองผู้กระตือรือร้นเข้ามาเป็นนักกิจกรรมของพรรค ช่วยทำงานเป็นกลไกชวนเชื่อในระดับรากหญ้า สภาพการณ์ในเวลานั้นจึงเต็มไปด้วยการแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคม และเข้าทำลายความชอบธรรมของสถาบันการเมืองระดับชาติ และเริ่มทำลายระบอบรัฐสภาลงไป

กรณีของการเมืองอินโดนีเซียเอง ในกลางทศวรรษที่ 60 หายนะของประชาสังคมที่แตกแยกท่ามกลางลักษณะของรัฐที่ไม่มีฉันทามติใดๆ ก็นำมาสู่การสังหารหมู่ที่ทารุณโหดร้ายมากที่สุดครั้งหนึ่ง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของเผด็จการนายพลซูฮาร์โต

สาเหตุหนึ่งมาจากแต่ละองค์กร อาสาสมัครต่างมุ่งหาสมาชิกใหม่จากคนที่มีอัตลักษณ์ทางศาสนาหรือชาติพันธุ์เดียวกันเป็นหลัก ทำให้ในระหว่างการสังหารหมู่ ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดคือ พลเรือนที่ส่วนใหญ่มักเป็นสมาชิกที่ตื่นตัวทางการเมืองสูงในภาคประชาสังคมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้สิ่งที่นักมานุษยวิทยาคนสำคัญคือ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz) เรียกว่า ‘aliran politics’ ซึ่ง aliran หนึ่งๆ จะประกอบด้วยพรรคการเมืองหนึ่งพรรค รายล้อมไปด้วยองค์กรอาสาสมัครทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพรรคอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

แล้วทางออกคืออะไร

งานชิ้นนี้เสนอว่า การพิจารณาว่าประชาสังคมจะเป็นคุณต่อประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ประชาสังคมยังต้องยืนอยู่บนแนวทางการเมืองแบบอารยะ (civil politics) ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมทางการเมืองที่มองผู้อื่นเป็นพลเมืองร่วมสังคมที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และมองคนอื่นรวมทั้งฝ่ายตรงข้ามของตนในฐานะสมาชิกของสังคมเดียวกัน

ประชาสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไร

หันมาพินิจประชาสังคมไทยที่มีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐราชการรวมศูนย์เต็มรูปแบบ หลังรัฐประหาร 2557 สมชัย ภัทรธนานันท์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตีพิมพ์บทความเรื่อง Civil Society Against Democracy ใน Cultural Anthropology เสนอข้อค้นพบจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม ผ่านตัวอย่างขององค์กรภาคประชาสังคมสองสามองค์กรในอีสาน โดยพบว่า

ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับองค์กรภาคประชาสังคมในอีสานเหนียวแน่นมาก นั่นเป็นเพราะบริบททางการเมืองในทศวรรษแรกหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จากการที่ชาวนาอีสานไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดก่อน ทำให้พวกเขาหันมาให้การสนับสนุนทักษิณ ซึ่งเป็นคู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2544

ต่อมา ทักษิณมิได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสมัชชาฯ แต่กลับดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านทางตรงเป็นจำนวนมาก เช่น นโยบายพักการชำระหนี้และนโยบายกองทุนเงินล้าน นโยบายเกี่ยวกับชนบทนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อประชาสังคม นั่นคือ มันได้สร้างความตึงเครียดระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ของพวกเขา

นโยบายเหล่านี้ได้ดึงชาวนาออกจากองค์กรภาคประชาสังคมนับตั้งแต่เริ่มเป็นที่นิยมของชาวบ้าน โดยชาวนาผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับประชาสังคมเกือบทั้งหมดหันไปให้การสนับสนุนทักษิณอย่างแข็งขัน องค์กรภาคประชาสังคมได้พยายามอย่างล้มเหลวในการชักจูงให้ชาวนาต่อต้านทักษิณ ซึ่งสำหรับชาวนาแล้ว คงเป็นอะไรที่ดูเสียสติมากถ้าพวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ช่วยเหลือพวกเขามากกว่านายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ

กรณีตัวอย่างคือ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) ที่เคยระดมชาวนาเรือนแสนในการรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในช่วงแรกของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งสมัชชาฯ ล้มเหลวในการระดมคนประท้วงรัฐบาลโดยลำพัง หนึ่งในแกนนำสมัชชาฯ เห็นว่าห้วงเวลานั้นเป็นสถานการณ์ที่อึดอัด เพราะสมัชชาฯ ได้บัญชาการชาวนาจำนวนมากกว่าที่เคยระดมมา แต่กระนั้นก็ไม่สามารถกดดันรัฐบาลอย่างได้ผล เพราะความนิยมต่อทักษิณของสมาชิกสมัชชาฯ

นโยบายเกี่ยวกับชนบทของทักษิณ ไม่เพียงแค่ตัดการสนับสนุนของประชาสังคมในชนบทเพียงเท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบทของประชาสังคมอีกด้วย เพราะขณะที่ทักษิณกระตุ้นให้ชาวนามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจแบบตลาด แต่นักกิจกรรมเร่งเร้าให้ชาวนาปฏิเสธการเกษตรเชิงการค้าและแทนที่ด้วยการพึ่งพิงอยู่กับเศรษฐกิจแบบยังชีพดังเช่นที่ชาวนาเคยทำในอดีต นักกิจกรรมเหล่านี้เชื่อว่า ชาวนาจะสามารถกลับไปพึ่งพาตนเองเพราะหมู่บ้านมีวัฒนธรรมและแนวทางการพัฒนาของตนเอง พวกเขาได้วิจารณ์ทักษิณอย่างขมขื่นในแง่ที่ว่า ทักษิณได้วางยาพิษต่อคุณค่าของชุมชนด้วยวัฒนธรรมเงินตรา

กระนั้นก็ดี เมื่อการประท้วงต่อต้านทักษิณเริ่มขึ้นในปลายปี 2548 องค์กรภาคประชาสังคมยังลังเลใจที่จะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับพวกที่พวกเขามองว่าเป็นชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ในช่วงแรกของการรณรงค์ต่อต้านทักษิณนั้น นายทหารระดับสูงได้ติดต่อกับเหล่าแกนนำของประชาสังคม และขอให้พวกเขาช่วยกองทัพและชนชั้นนำในการขับไล่ทักษิณ ซึ่งใช้เวลาพอสมควรก่อนที่องค์กรภาคประชาสังคมจะตัดสินใจเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

พวกเขาได้ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอนุรักษนิยมว่าเป็นเรื่องทางยุทธวิธี หนึ่งในแกนนำของเครือข่ายประชาสังคมแห่งหนึ่งกล่าวว่า “นักกิจกรรมภาคประชาสังคมตัดสินใจเข้าร่วม พธม. เพราะพวกเขาไม่แข็งแรงพอที่จะลุกขึ้นต่อต้านทักษิณด้วยตัวของพวกเขาเอง นอกจากนี้ยังเป็นเพราะ พธม. ได้เสนอโอกาสในการนำความต้องการของพวกเขาสู่ผู้ฟังที่กว้างขึ้น” (อาทิ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่เรื้อรัง เป็นต้น)

ถึงกระนั้น องค์กรภาคประชาสังคมได้ตกลงเข้าร่วม พธม. ภายใต้เงื่อนไขที่การประท้วงยังคงอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญที่เพียงเพื่อเรียกร้องให้ทักษิณลาออกมากกว่าการได้มาซึ่งการรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางของการต่อสู้ หลายๆ องค์กรได้ค่อยๆ นำเอาจุดยืนการต่อต้านประชาธิปไตยมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมใน พธม. เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์แทรกแซงและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีชั่วคราวแทนทักษิณ นักกิจกรรมจำนวนมากเหล่านั้นผู้ซึ่งเคยต่อต้านทหารกลับสนับสนุนปฏิบัติการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบใหม่นี้อย่างเข้มแข็ง

ก่อนปลายปี 2549 นักกิจกรรมเหล่านี้ได้ทุ่มการสนับสนุนไปยังการรัฐประหาร แม้จะมีความคิดที่ว่ารัฐประหารคือโชคร้าย แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่จำเป็นสำหรับวิกฤติที่แก้ไขไม่ได้ที่กำลังดำเนินอยู่

ประชาสังคมใต้ร่มรัฐราชการ

บทความชิ้นนี้ยังเสนออีกว่า นักกิจกรรมภาคประชาสังคมจำนวนมากยังคงหันหลังให้กับประชาธิปไตยของประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารปี 2549 โดยชนชั้นนำมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนย้ายอุดมการณ์นี้ โดยเริ่มต้นจากโมเดลใหม่ของประชาสังคมที่ถูกเรียกว่า ‘ประชาคม’ อันเป็นความพยายามประนีประนอมความสัมพันธ์ระหว่างประชาสังคม รัฐ กองทัพ และชนชั้นนำทางธุรกิจในช่วงปลายทศวรรษ 1990s โมเดลนี้เสนอว่า องค์กรภาคประชาสังคมควรสร้างพันธมิตรกับรัฐและชนชั้นนำ แทนการเผชิญหน้ากันในอดีต

ในด้านหนึ่ง เหตุที่องค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปเป็นพันธมิตร เพราะตระหนักดีว่าพวกเขาอ่อนแออย่างมากในการกดดันรัฐและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจให้ยอมทำตามความต้องการของพวกเขา ส่วนอีกด้านหนึ่งเกิดจากการให้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศได้หยุดลง พวกเขาจึงใช้ความเป็นพันธมิตรเป็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนใหม่

ความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นนำและองค์กรภาคประชาสังคมค่อยๆ ก่อรูปขึ้นก่อนรัฐประหารปี 2549 และถูกทำให้แข็งแกร่งหลังการรัฐประหารครั้งนั้น ในปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ได้รับเงินทุนจาก ‘องค์กรสาธารณะ’ ที่ควบคุมโดยชนชั้นนำ อย่างเช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรับประกันการสนับสนุนเงินทุน และเดินตามแนวทางกำจัดอิทธิพลทางการเมืองของทักษิณโดยการทำลายประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง

นี่จึงเป็นความสัมพันธ์ใหม่ของประชาสังคมไทยกับบริบทการเมืองในยุคสีเสื้อ ก่อนที่ระบอบอำนาจนิยมรัฐราชการจะกลับมาอย่างเป็นทางการในไม่กี่ปีต่อมา

ประชาสังคมในบทความนี้ ไม่แตกต่างไปจากภาคประชาสังคมไทยโดยรวม จากการศึกษาของ นฤมล ทับจุมพล ในประเด็นที่ว่าโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาสังคมไทยมีลักษณะข้ามชนชั้นมากขึ้น โดยนฤมลเสนอว่า องค์กรประชาสังคมไทยที่มีส่วนอย่างมากในกรณีของ พธม. นั้นมีลักษณะเป็นขบวนการข้ามชนชั้นที่มีการระดมเครือข่ายตามประเด็นปัญหา และใช้ปฏิบัติการทางการเมืองทางตรง ผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ อาทิ สื่อ ASTV ชาวนารายย่อยภาคอีสาน เครือข่ายแพทย์ชนบท กองทัพธรรม ราชนิกุล ทหารนอกราชการ สันติอโศก ฯลฯ

โครงสร้างนี้ดูจะมีลักษณะที่ไม่แตกต่างมากนัก เมื่อประชาสังคมไทยเข้าร่วมสนับสนุนการชุมนุมของมวลมหาประชาชน กปปส. ที่มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ระหว่างปี 2556-2557 ทว่าจุดแตกต่างอยู่ที่ข้อเรียกร้องในการชุมนุมรอบหลัง ซึ่งมีลักษณะสุดโต่งยิ่งกว่าเดิม เมื่อพวกเขาเลือกถอยห่างออกจากกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง โดยเรียกร้องการรัฐประหารอย่างเปิดเผยและปฏิเสธการเลือกตั้ง

คำตอบอยู่ในสายลม

จากงานวิจัยสามชิ้นที่กล่าวมา ช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ปัจจุบันของประชาสังคมไทยไม่มากก็น้อย ว่าทำไมหลังการรัฐประหาร 2557 ประชาสังคมไทยบางส่วนยังเข้าร่วมแคมเปญ ‘ระดับแกรนด์’ ของรัฐบาลทหาร อย่างโครงการประชารัฐ รวมไปถึงรับตำแหน่งสำคัญ ตั้งแต่โครงการปลายแถวไปจนถึงที่นั่งของคณะกรรมการในกระทรวงต่างๆ ท่ามกลางการปราบปรามประชาชน ปัญหาการละเมิดสิทธิ การทุจริต การไล่รื้อชาวบ้านในชนบท การแย่งยึดทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ ที่ดำเนินไปอย่างก้าวร้าวรุนแรง

ขณะเดียวกันก็อาจจะพอสามารถตอบคำถามอื่นได้อีกว่า เหตุใดข้อเรียกร้องของประชาสังคมไทยในหลายกรณีจึงขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ของเครือข่าย การต่อรองเพื่อเป้าหมายเฉพาะหน้า ที่มีลักษณะเป็นรายกรณีโดยไม่สนใจวิธีการ ซึ่งเกือบทั้งหมดมิใช่การเรียกร้องความยุติธรรมหรือประชาธิปไตยโดยรวมแต่อย่างใด

ส่วนคำตอบว่า ประชาสังคมไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยเมื่อไหร่และอย่างไร…คำตอบนี้ยังอยู่ในสายลม


ผู้สนใจสามารถดูเพิ่มเติมใน
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2558. ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน หน้า 251-280
  • Naruemon Thabchumpon. 2016. Contending Political Networks: A Study of the “Yellow Shirts” and “Red Shirts” in Thailand’s Politics. In “Political Networks in Asia,” edited by Takeshi Onimaru and Khoo Boo Teik, special issue, Southeast Asian Studies, Vol. 5, No. 1, pp. 93-113
  • Somchai Phatharathananunth. “Civil Society Against Democracy” Hot Spots, Cultural Anthropology website, September 23, 2014. https://culanth.org/fieldsights/575-civil-society-against-democracy

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า