‘อาชญากรเด็ก’ ไม่อาจเป็นได้ด้วยตัวเอง: ทิชา ณ นคร

ภาพถ่าย: อนุชิต นิ่มตลุง
ภาพประกอบ: Shhhh

เวที ThaiHealth’s Talk ในวาระครบรอบ 15 ปี ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 เปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดประสบการณ์จาก 13 บุคคล ผู้มีแนวทางการทำงานสร้างสุขบนเส้นทางของตัวเอง

1 ใน 13 คน บนเวทีนี้คือ ‘ป้ามล’ หรือ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ผู้ซึ่งทำงานช่วยเหลือเยียวยาเด็กและเยาวชนมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน

แน่นอนว่า ‘ทอล์ค’ บนเวทีของเธอ ด้วยความยาวราวสิบนาที ไม่อาจบอกเล่าเรื่องราวที่เธอทำได้ทั้งหมด แต่นับเป็นสิบนาทีที่อาจอธิบายให้สังคมเข้าใจร่วมกันในเบื้องต้นได้ว่า ‘อาชญากรเด็ก ไม่อาจเป็นได้ด้วยตัวเอง’


 

ก่อนที่จะพูดเรื่องอื่น ป้ามล (ทิชา) อยากให้ดูภาพข่าวเหล่านี้ (สไลด์ – ภาพข่าวหน้าหนึ่ง กรณี ‘เปรี้ยว’*) กรณีนี้คือ มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ก่อคดีอุกฉกรรจ์ และอีกข่าวหนึ่งคือคดี ‘หมูหยอง’** ซึ่งเขาได้ให้ปากคำไว้ว่า ‘การฆ่าคนเหมือนการฆ่ามด’

สังคมตื่นตระหนกกับความคิดของเขา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่สังคมไม่เคยถอยกลับไปดูเลยว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา สังคมเชื่ออย่างสนิทเลยว่าเด็กคนนี้คือปีศาจ เราเชื่อกันเช่นนั้น

ป้าได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง เพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเองว่า อาชญากรเด็ก ไม่ได้เป็นด้วยตัวเอง ไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดมาเพื่อเป็นเช่นนั้น

เรารู้ดีว่ามีเด็กจำนวนมหาศาลถูกให้ออกจากโรงเรียนปีละเป็นแสนคน เด็กเหล่านั้นต้องออกจากโรงเรียนในวัยเล็กขนาดนั้น เขาจะมีเป้าหมายอะไรในชีวิต จะไปทำอะไรได้ในฐานะผู้แพ้ของสังคม อาชญากรจึงเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมันอาจแก้ไขได้ถ้าหากคุณออกกฎหมายที่ไม่ยอมให้เด็กแม้แต่หนึ่งคนออกจากโรงเรียน แต่รัฐไทยก็ไม่กล้าคิดแก้ปัญหานี้ เมื่อรัฐไม่กล้า นั่นคือราคาที่เราต้องจ่ายให้กับประเทศนี้

 

ที่บ้านกาญจนาฯ เราเคยเจอเด็กคนหนึ่งอายุ 16 ปี เขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ไม่รู้ว่าคุณค่าของเขาอยู่ที่ไหน วันหนึ่งเขา ‘ต้อง’ ปล้น ดิฉันใช้คำว่า ‘ต้อง’ นะคะ เขาปล้นเซเว่นฯ 16 แห่งด้วยกัน ได้เงินมาไม่กี่พันบาท แต่ถามว่าทำไมต้องปล้นตั้ง 16 แห่ง คำตอบคือ เพราะจากที่เคยเป็นคนไม่มีชื่อเสียง ไม่มีคุณค่า แต่มันจะเปลี่ยนไปทันทีในเช้าวันรุ่งขึ้น เพราะเขาจะได้ฉายาใหม่ว่า ‘16 ปล้น’

16 ปล้น ทำให้เขามีคุณค่า มีความหมาย มีพื้นที่ ดังนั้น ราคาที่เด็กคนหนึ่งต้องจ่ายเพื่อสร้างราคาให้กับตัวเอง มันแพงมาก แต่ทั้งหมดนี้ ถ้าผู้ใหญ่ออกแบบสังคมให้ดี พวกเขาอาจไม่ต้องไปไกลถึงขนาดนั้น

เมื่อดิฉันได้ออกรายการนั้น ดิฉันก็พูดตามความเชื่อของตัวเอง เรื่องการตัดสินใจและไม่ตัดสินใจของรัฐ (ในนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน) เมื่อดิฉันพูดเสร็จ ก็มีคอมเมนต์หลายร้อยทะลักเข้ามา และไม่มีคอมเมนต์ไหนเลยที่เห็นด้วยกับสิ่งที่ดิฉันพูดในรายการ แล้ว hate speech ก็มาเต็มเลย เช่น

“อยากให้คนไทยรุมตีทิชาจนตาย จะได้หายแค้น”
“รับมันไปเป็นผัวเลยป้า (กรณีหมูหยอง)”
“เพราะมีคนโลกสวยแบบทิชาเนี่ยแหละ พวก NGO สมองกลวง สังคมก็เลยเสื่อม”

ดิฉันกลับมาตั้งคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย เราเห็นแต่ปัญหาของปัจเจกล้วนๆ แต่เรามองไม่เห็นว่าระบบของประเทศนี้มันพิกลพิการอย่างไร เราไม่รู้ว่าลูกหลานของเราเป็นเหยื่อของระบบที่มันอ่อนแอ โดยที่รัฐไม่เคยทำอะไรกับมันเลย เราไปไม่ถึงตรงนั้น

น่าเศร้าใจมาก แต่วันหนึ่ง โลกก็เป็นของดิฉันเหมือนกัน เพราะวันหนึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ ให้เข้าไปทำงานและออกแบบการดำเนินงานในสถานควบคุมเด็กแห่งหนึ่ง

ประเทศไทยมีคุกเด็ก 19 แห่ง บ้านกาญจนาฯ เป็น 1 ใน 19 แห่งนั้น และเป็นแห่งเดียวที่ให้ NGO เข้าไปบริหารงานในหน่วยงานของรัฐด้วย

เคยตั้งคำถามกับนักทำงานท่านหนึ่งในกระทรวงยุติธรรมว่า ถ้าจะให้ดิฉันทำเหมือนคุณ คุณเอาดิฉันมาทำไม ถ้าเอาดิฉันมา ดิฉันต้องทำให้ต่าง ซึ่งสิ่งที่เราคิดว่าต้องทำใหม่ทั้งหมด คือ เราไม่อาจรับเอาวัฒนธรรมของคุกใหญ่มาใช้กับเด็ก

ในวัฒนธรรมคุก มันเป็นวัฒนธรรมแห่งอำนาจเสียมาก เมื่อได้เข้าไปในบ้านกาญจนาฯ ดิฉันประกาศเลยว่า จะไม่รับมรดกทางความคิดทุกประการที่รัฐเคยปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน ส่วนข้าราชการจะรู้สึกอย่างไรนั้น ก็เรื่องของข้าราชการ ดิฉันไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

ตอนนี้เรารับเด็กมารุ่นที่ 80 แล้ว ทุกคนที่เข้ามาจะถูกกอด ผูกข้อมือ รับขวัญ และช่วงเวลานั้น ดิฉันจะพูดเสมอว่า

ถ้าปาฏิหาริย์มีจริง ถ้าได้พาหนูกลับไปในคืนนั้นอีกครั้งหนึ่ง ป้าเชื่อว่าหนูจะไม่ฆ่า แต่แน่นอนว่าไม่มีปาฏิหาริย์ มีคนตายจริง มีหนูมาติดอยู่ที่นี่จริง มีประวัติอยู่ มีความเสียหายและความเสียใจของทุกคนจริง ทุกอย่างจริงหมดแล้ว แต่ป้าเชื่อว่าในตัวหนูมีคนอีกคน คนดีในตัวหนูมีอยู่จริง เพียงแต่มันอ่อนแอเหลือเกิน ซึ่งบ้านกาญจนาฯ อยากเชิญคนนั้นออกมา”

มีบทเรียนอยู่หนึ่งอย่างที่ไม่ใช่อัตลักษณ์ของคุกเลย แต่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นในคุกให้ได้ คือ การออกไปทำจิตอาสากับคนข้างนอก เมื่อเด็กคนนั้นถูกนับเป็น 1 ใน 65 ล้านคนของประเทศไทย ถูกนับไป 1 ใน 7,200 ล้านคนของโลก ความรู้สึกที่ว่าตัวเองมีตัวตนและคุณค่า มันจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งกำแพงคุกไม่สามารถเยียวยาเด็กได้ ไม่ว่าคุณจะเอาเขาไปขังกี่ปีก็ตาม

บ้านกาญจนาฯ จึงเลือกเอาเด็กออกจากสถานควบคุมไปทำงานจิตอาสาข้างนอก แต่เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะสำนักงบประมาณของไทย ไม่เคยมีจินตนาการแบบนี้ เขานึกไม่ออกว่ามนุษย์พวกนี้จะออกไปทำกิจกรรมข้างนอกทำไม ติดคุกก็ต้องอยู่ในคุกสิ

แต่จริงๆ แล้วจุดเปลี่ยนของมนุษย์อยู่ที่เสรีภาพ อยู่ที่ความรู้สึกว่าเสรีภาพนั้นหอมหวาน รู้สึกว่าเราเป็น 1 ใน 65 ล้านคนของแผ่นดินนี้ ดังนั้น บ้านกาญจนาภิเษกต้องหามุมหนึ่ง ซึ่งกระบวนการในประเทศนี้นึกไปไม่ถึง

ตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิ บ้านกาญจนาฯ แทบจะปิดบ้านเลย เราพาเด็กไปอยู่กันที่ตะกั่วป่า อบต.บางม่วง และในเหตุการณ์แบบนี้ เราไม่เคยพบเลยว่าเด็กจะหนีออกไป ไม่เคยมี

หลังจากนั้นมีโคลนถล่มที่อุตรดิตถ์ เราก็ไป เราพบว่าการไปทำงานอาสาร่วมกับคนอื่น มันทำให้ความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ ที่เคยหลุดหายไปในช่วงหนึ่งถูกกอบกู้ขึ้นมา ด้วยบริบทของการเป็นจิตอาสาของเขาเอง เราเห็นแววตา เห็นความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ เห็นความเศร้า ความรู้สึกห่วงใยผู้อื่น มีอยู่เต็มไปหมด แต่ทั้งหมดนี้ทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องอาศัยกระบวนการบางอย่างที่กำแพงคุกทำไม่ได้

ดิฉันไม่เคยขออนุญาตอธิบดี ปลัด หรือรัฐมนตรีคนไหน (ในการพาเด็กออกไป) เพราะรู้ว่าการขออนุญาตจะยุ่งยากมาก แม้แต่การที่เราไปเป็นจิตอาสาที่ตะกั่วป่าเป็นปีๆ ดิฉันก็ไม่เคยขอแม้แต่วันเดียว จริงๆ แล้วเด็กๆ ติดอยู่ในสถานควบคุมนะคะ แต่เรานึกไม่ออกว่าจะขอทำไม แต่ไม่ได้แปลว่าดิฉันไม่เคารพ (กฎ กติกา) ดิฉันยังเคารพผู้ใหญ่ทุกคน แต่เรื่องบางเรื่องเราต้องใช้ดุลยพินิจและความกล้าหาญในการตัดสินใจ

ดิฉันเคยบอกผู้ใหญ่หลายคนว่า ถ้าคุณไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานปกป้องจุดยืนของเขาเอง คำถามคือ แล้วเขาจะไปปกป้องใครได้ แม้แต่จุดยืนที่เขาเหยียบอยู่ คุณก็ไม่ให้เขาปกป้อง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

กระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่การเยียวยาแต่ในกำแพงเท่านั้น หน้าที่ของเราคือ ทลายกำแพงนั้นออกไป แน่นอนอาจจะมีบางคนหลุด (กลับไปทำผิดซ้ำอีก) แต่แน่นอนว่า 90 เปอร์เซ็นต์เขารอด จากการที่เราไม่ใช้อำนาจในแนวดิ่งกับเขา นั่นคือ ต้องให้โอกาสกับเขา


*‘เปรี้ยว’ หรือ ปรียานุช โนนวังชัย ผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพ แอ๋ม-วาริสา กลิ่นจุ้ย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการที่ผู้หญิงสวยเช่นปรียานุชเป็นฆาตกร
**‘หมูหยอง’ หรือ สาทิตย์ สาแก้ว ผู้ต้องหาคดีฆ่านายนิรันทร์ สร้อยสูงเนิน เหตุการณ์เกิดขึ้นราวเดือนเมษายน 2560 ซึ่งประเด็นที่สังคมวิพากษ์ นอกจากการฆ่าและเผาเพื่ออำพรางคดีแล้ว คือถ้อยแถลงในวันจับกุมตัว ซึ่งประชาชนเห็นว่า ไม่ได้เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความสำนึกผิดอย่างที่สังคมคาดหวังเลย
หมายเหตุ: กองบรรณาธิการ WAY ได้เรียบเรียงและจัดลำดับเนื้อความใหม่ให้เหมาะสมสำหรับการสื่อสารในรูปแบบของการอ่าน หากมิได้แต่งเติมหรือบิดเบือนเนื้อหาอันเป็นเหตุให้ความหมายผิดไปจากเดิม

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า