ความต้องการเงินจากนักลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลยกขึ้นมาให้สิทธิชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสามารถซื้อและถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท อย่างน้อย 3 ปี ในกฎกระทรวงว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ไม่ได้ร่างขึ้นมาใหม่ เป็นเพียงการยกร่างกฎกระทรวงเดิมซึ่งออกเมื่อปี 2545 สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วปรับปรุงเกณฑ์บางส่วนเท่านั้น ทว่าประเด็นนี้ถูกนำมาพูดถึงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการยกวาทกรรม ‘ขายชาติ’ กลับมาย้อนแทงรัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียเอง
ชาติแบ่งขาย ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ
ก่อนไปทบทวนสิ่งที่พี่น้องชินวัตรถูกคำว่า ‘ขายชาติ’ เล่นงาน เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า กฎกระทรวงที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่นี้ ย้ำว่าไม่ได้เริ่มในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่บังคับใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยความแตกต่างของฉบับเดิม ปี 2545 กับฉบับปรับปรุง ปี 2565 นั้น มีรายละเอียดอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก ‘การให้สิทธิชาวต่างชาติถือครองที่ดิน 1 ไร่’ ฉบับเดิมให้คนต่างชาติซึ่งประสงค์จะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย สามารถซื้อได้เลย แต่ฉบับปรับปรุงใหม่ระบุว่า ต้องเป็นชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
ประการที่สอง ‘เกณฑ์การลงทุน’ ฉบับเดิมระบุว่า ผู้ถือครองที่ดินต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี จำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท แต่ฉบับใหม่เปลี่ยนให้ดำรงการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี จำนวนเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และหากถอนการลงทุนก่อนครบ 3 ปี สิทธิที่จะได้มาซึ่งที่ดินในส่วนที่ยังไม่ครบจำนวน 1 ไร่ นั้นจะถูกระงับไป
ส่วนรูปแบบของการลงทุน มีการยกตัวอย่างเช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (เพิ่มขึ้นใหม่จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2545) ทั้งนี้หากถอนการลงทุนในธุรกิจ หรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาการดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน
ประการที่สาม ‘ประเภทของที่ดินที่สามารถซื้อได้’ เดิมไม่ได้กำหนดกรอบเอาไว้ ฉะนั้นจะซื้อตรงไหนก็ได้ แต่ฉบับใหม่กำหนดให้พื้นที่อนุญาตครอบครองต้องไม่รุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม ต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เขตเทศบาล หรือในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวต้องใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเองเท่านั้น
อ้ายมีเหตุผล
รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเหตุผลสำคัญของการปรับปรุงกฎกระทรวงนี้ว่า เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน อันจะดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจโลก สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอีกทางหนึ่ง
พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ต่อเรื่องนี้ว่า เมื่อครั้งที่ออกกฎกระทรวงปี 2545 สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีเหตุจำเป็นเพราะปัญหาต่อเนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามข้อตกลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่การออกกฎกระทรวงของรัฐบาลชุดนี้เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลเสียเอง
ส่วนการลดเงื่อนไขระยะเวลาการลงทุนลงจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี และการเพิ่มประเภทและทางเลือกในการลงทุนนั้น พรรคเพื่อไทยมองว่าไม่ก่อให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจที่แท้จริง แต่กลับเปิดโอกาสให้นักลงทุนในตลาดการเงินเข้ามาหาประโยชน์ระยะสั้นและถอนทุนออกไปได้ง่าย โดยไม่มีพันธะต่อประเทศไทย
พรรคเพื่อไทยย้ำว่า จะเดินหน้าคัดค้านการออกกฎกระทรวงนี้ และหากได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล จะดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับฉบับปี 2545
ทักษิณ คนขายชาติ
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่า วาทกรรม ‘ขายชาติ” ถูกนำมาย้อนแทงรัฐบาลเสียเอง ก่อนหน้านี้คนที่โดนกระหน่ำสม่ำเสมอก็คือนายกรัฐมนตรีพี่น้องตระกูลชินวัตร โดยกรณีของทักษิณ ชินวัตร นั้นถูกประณามอย่างรุนแรงหลังจากที่มีการประกาศนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กลายเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) สู่การเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT)
ทั้ง 2 บริษัทนี้ เดิมรัฐถือหุ้น 100% แต่รัฐบาลขณะนั้นแปรรูปให้รัฐถือหุ้น 51% ที่เหลืออีก 49% ให้บุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติสามารถซื้อหุ้นได้
ทักษิณ ชินวัตร อธิบายวิธีคิดของการแปรรูปว่า “ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเป็นเจ้าของกิจการของรัฐ” แต่สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์ เขียนไว้ในผู้จัดการออนไลน์ (15 สิงหาคม 2556) ว่า คำพูดดังกล่าวคือการปล้นสมบัติชาติ โดยอ้างประชาชน
“เป็นตัวอย่างวาทกรรมที่ปกปิดซ่อนเร้นความในใจ พูดดี พูดน่าเชื่อถือ ฟังแล้วน่าหลงใหลแท้จริงแล้วต้องการจะฮุบทรัพยากรของรัฐ คิดจะฮุบรัฐวิสาหกิจของประเทศ
“โชคร้ายมาก ประเทศไทยไม่สามารถยุติการขายชาติได้”
ยิ่งลักษณ์ ก็เร่ขายชาติ
กรณีทักษิณ ชินวัตร ถูกโจมตีว่าขายชาติจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่กรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกล่าวหาเพราะ ‘การพูด’
เรื่องนี้ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมีภารกิจที่ต้องไปกล่าวปาฐกถาที่ประเทศมองโกเลีย สปีชดังกล่าวมีสาระสำคัญเรื่องการยกปัญหาภายในประเทศไปพูดในที่สาธารณะ โดยเฉพาะการรัฐประหาร 2549 ที่เป็นเหตุให้ประเทศไทยถอยหลังลงคลอง
“การรัฐประหารทำให้ไทยถอยหลังและสูญเสียความน่าเชื่อถือต่อนานาชาติ หลักนิติธรรมและกระบวนการกฎหมายถูกทำลาย โครงการที่พี่ชายดิฉันริเริ่มตามที่ประชาชนต้องการถูกยกเลิก ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพของเขาถูกปล้นไป คนไทยได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้เสรีภาพคืนมา แต่ในเดือนพฤษภาคม 2553 มีการสลายการชุมนุมของผู้เรียกร้องกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คน ในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ คนบริสุทธิ์ถูกลอบยิงโดยสไนเปอร์ แม้แต่ทุกวันนี้ยังคงมีเหยื่อทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ติดคุกอยู่”
ปาฐกถาครั้งนั้นนำมาสู่การโจมตีอย่างรุนแรง สุรชัย ศิริไกร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่มีผู้นำประเทศไหนเอาเรื่องภายในไปบอกให้คนอื่นรับรู้โดยที่เขาไม่ได้ถาม ยกตัวอย่างเช่น บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งเดินทางมาเยือนประเทศไทย ก็ไม่เคยนำปัญหาภายในสหรัฐมาบอกให้ประเทศไทยรับทราบ
แต่ที่หนักหน่วงจนทำให้ผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดือดดาลอย่างยิ่งคือ ข้อความที่ถูกทวิตโดยการ์ตูนนิสต์ของไทยรัฐที่ระบุว่า “กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ”
แต่ลุงตู่ไม่มีวันขายชาติ?
แม้จะมีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ภาพรวมของการผลักดันกฎหมายนี้ก็ยังมีเนื้อหาว่าด้วยการให้สิทธิชาวต่างชาติครอบครองแผ่นดินไทย หลังถูกโจมตีด้วยวาทกรรม ‘ขายชาติ’ มาอย่างต่อเนื่อง ลุงตู่ตูน เขียนข้อความในแฟนเพจว่า
“นายกฯ ลุงตู่ ไม่มีวันขายชาติ เกียรติประวัติที่ผ่านมา สู้รบรักษาดินแดนของแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้ว แม้กลุ่มการเมืองพยายามดิสเครดิต กรณีกฏหมายให้ต่างชาติซื้อที่ดิน กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาเป็นข้อกำหนด พิจารณาข้อดีข้อเสียรอบด้านแล้ว ที่สำคัญมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำหนดให้ต่างชาติมีสิทธิซื้อที่ดิน พื้นที่กรุงเทพฯ พัทยา และเขตเทศบาลเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อภาคเกษตรกร
“แฟนเพจลุงตู่ตูน ยังได้เน้นย้ำด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวมีกรอบ 5 ปี กำหนดไว้ หากพิจารณาแล้ว ในภายภาคหน้าส่งผลกระทบในด้านลบ ก็สามารถยกเลิกการบังคับใช้ได้
ข้อกล่าวหาขายชาติจึงไม่เป็นความจริง เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง หยิบฉวยมาใส่ร้าย แต่ทำอะไรนายกฯ ลุงตู่ไม่ได้ เพราะทั้งชีวิตอาสามาปกป้องดินแดนไทย ไม่ได้ขายชาติเหมือนผู้นำในอดีตบางคน”
ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยชี้แจงในสภาเมื่อครั้งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 21 กรกฎาคม ว่า “วันนี้เรามีที่ดินราคาถูก ที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งของโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งที่ทุกคนอยากมาเกษียณในประเทศไทยมากมาย เขาอยากมาอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องกลัวเขามาแย่งที่อยู่ในประเทศไทยหรอก ผมเห็นหลายคนจะไปอยู่ต่างประเทศคงพอดีกันมั้ง”
ด้านทักษิณ ชินวัตร พูดในรายการ Care คิด เคลื่อน ไทย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เช่นกันว่า “สมัยก่อนผมคิดให้เช่า 99 ปี ที่ตอนนั้นสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เอาไปทำต่อ ปรากฏว่าตอนผมคิดให้เช่า 99 ปี บอกผมขายชาติ ถ้าผมคิดก็บอกว่าผมขายชาติ แต่ถ้าตู่คิดก็บอกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง
กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ตั้งข้อสังเกตพร้อมตั้งคำถามต่อกรณีนี้ว่า คนไทยอยู่ตรงไหนของนโยบายซื้อขายที่ดิน เพราะหากพิจารณาที่ดินภายในประเทศ 320.7 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 128.2 ล้านไร่ เป็นเอกสารสิทธิ์การครอบครองของเอกชน ขณะที่ประชากรเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีที่ดินเป็นของตนเอง โดยคนอีก 50 ล้านคนในประเทศไม่มีที่ดินเป็นของตนเองแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
“ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบโฉนด 80% เป็นของคนเพียง 5% ประชากรที่เหลือที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินก็ถือครองที่ดินเพียง 20% จากเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดที่ออกด้วยกรมที่ดิน
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินในประเทศไทยมีอัตราที่สูงมาโดยตลอดนับตั้งแต่มีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดินส่วนที่เหลือของรัฐกว่า 198.36 ล้านไร่ ที่เป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐก็เกิดปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนกับประชาชนเป็นจำนวนมาก การเปิดรับชาวต่างชาติที่มีกำลังในการซื้อที่สูงจะยิ่งเพิ่มความต้องการ (demand) ของกลุ่มคนที่มีเงินที่ส่งผลให้ราคาที่ดินมีราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน ยิ่งขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินให้ห่างออกไป ยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาที่ดินที่ฝังรางลึกในสังคมไทยให้จมลงไปมากกว่าเดิม”
อ้างอิง
- แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
- อธิบายให้เข้าใจง่าย ร่างกฎหมายครหาขายประเทศ อนุญาตต่างชาติซื้อแผ่นดินไทย
- โชคร้าย.. ประเทศไทยไม่สามารถยุติการขายชาติได้
- แฟนเพจลุงตู่ตูน
- Care คิด เคลื่อน ไทย
- ‘ประยุทธ์’ ลั่นไทยไม่ล้มละลายแบบ ‘ศรีลังกา’ ไม่ต้องกลัวต่างชาติแย่งที่อยู่ ยันการคลังยังแกร่ง