เปิดเทอมทีไร มักจะมีประเด็นเรื่องทรงผมนักเรียนให้ต้องถกเถียงอยู่ร่ำไป ปีแล้วปีเล่า ข่าวคราวที่ปรากฏแบบแทบจะคะเนได้คือ ครูเปลี่ยนจากการถือไม้เรียวเป็นการจับปัตตาเลี่ยนคอยไถผมนักเรียนหญิง-ชายโดยมีนัยสำคัญคือการทำโทษฐานที่ไว้ทรงผมผิดระเบียบ ทรงผมประหลาดถูกถากถางและถ่ายภาพเผยแพร่ว่อนโลกอินเทอร์เน็ต และนั่นนำมาซึ่งข้อโต้แย้งแบ่งออก 2 ฝั่งเป็นอย่างน้อย หนึ่ง ครูทำเกินไป สอง นักเรียนไม่มีระเบียบเอง
ความน่าเวียนหัวก็คือ เรื่องทรงผมนักเรียนเป็นข้อถกเถียงซ้ำๆ ไม่รู้จบ ราวกับว่าประเทศนี้ไม่มีบรรทัดฐานว่าอะไรทำได้ และอะไรห้ามทำ หากเราต่างยืนยันและยึดมั่นว่า “ทุกคนต้องทำตามกฎ” ต่อจากนี้คือการกางพัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยทรงผมนักเรียน เพื่อให้อย่างน้อยที่สุด เราจะได้รู้ว่าใครกันแน่ที่ล้ำเส้น
หัวเกรียนนั้นได้แต่ใดมา
สืบค้นข้อกฎหมายที่ปรากฏว่าด้วยระเบียบของทรงผมโดยตรง ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่กฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) ซึ่งออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 โดยมีการระบุเรื่องทรงผมไว้ในข้อ 1 การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียนว่า
“(1) นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาต ให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย”
ถัดจากนั้นไม่นาน มีการประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 1 วงเล็บหนึ่ง ว่าด้วยความไม่เหมาะสมแก่สภาพนักเรียน แล้วใช้ข้อความนี้แทน
“(1) นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวด ไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย”
หากพิจารณาตามประกาศดังกล่าว ทั้งฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ซึ่งออกมาเพื่อแก้ไข ก็จะพบข้อบังคับและข้อยกเว้นไว้ในคราวเดียวกัน กล่าวคือ ตามระเบียบนักเรียนชายต้องตัดผมเกรียน และนักเรียนหญิงต้องไม่ไว้ผมยาวเกินต้นคอ แต่ ณ ที่นี้ก็เปิดช่องให้สถานศึกษาใช้ดุลยพินิจให้ไว้ผมยาวได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องรวบผมให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้ว แม้ประกาศฉบับที่ 2 ไม่ได้ระบุความยาวละเอียดถึงการใช้ไม้บรรทัดวัดเซนติเมตร เรากลับพบว่า กฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อ 45 ปีที่แล้วกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บังคับใช้อย่างเคร่งครัดเพียงครึ่งเดียว หัวเกรียนและผมยาวไม่เกินต้นคอคือทรงผมมาตรฐานของนักเรียนไทย ผิดจากนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ความพยายามของการรองทรง
ปี 2556 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น กลับมาทบทวนเรื่องทรงผมนักเรียนอีกครั้ง โดยมีการทำจดหมายเวียนไปยังสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยยึดกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศไว้เมื่อปี 2518 ซึ่งตีความว่ากฎดังกล่าวอนุญาตให้นักเรียนชายตัดผมรองทรงได้ เพราะข้อความที่ระบุว่า “นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม” ไม่ได้เท่ากับต้องตัดทรงเกรียนแต่อย่างใด นอกจากนี้จดหมายเวียนดังกล่าวยังย้ำว่า อนุญาตให้นักเรียนหญิงสามารถเลือกได้ว่าจะไว้ผมสั้นหรือผมยาว
อย่างไรก็ตามการดำเนินการครั้งนั้นยังไม่ถึงขั้นพิจารณาออกเป็นกฎหมาย แต่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 เสียก่อน การถกเถียงว่าด้วยทรงผมจึงติดแหง็กอยู่หล่มเดิม
กฎหมายใหม่ว่าด้วยทรงผมนักเรียน
ปี 2563 กระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนโดยเฉพาะ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อความชัดเจนในการดำเนินงานของสถานศึกษา และความสอดคล้องของสถานการณ์ปัจจุบัน อันจะเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน
ระเบียบนี้ใช้อำนาจตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ 2546 ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา นำมาสู่การระบุลงไปในข้อ 4 ของระเบียบดังกล่าวว่า
ข้อ 4 นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้
(1) นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย
(2) นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย
ข้อ 5 นักเรียนห้ามปฏิบัติตนดังนี้
(1) ดัดผม
(2) ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม
(3) ไว้หนวดหรือเครา
(4) กากระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นทรูปทรงสัญลักษณ์หรือลวดลาย
ข้อ 6 ความในข้อ 4 และข้อ 5 มิให้นำมาใช้บังคับแก่นักเรียนที่มีเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตนหรือการดำเนินกิจกรรมของสถานศึกษา และให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต
ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ยึดถือหลักความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียน และการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น
อ่านดูข้อกฎหมายดังกล่าว ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าในการไว้ทรงผมของนักเรียน โดยเฉพาะการระบุว่านักเรียนทั้งหญิงชาย “ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้” แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมกลับพบข้อความที่คลุมเครือเพื่อตีความ นั่นคือทั้งหมดต้องเป็นไปตาม “ความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย” คำถามก็คือ ความเหมาะสมนั้นพิจารณาอย่างไร มาตรวัดของความพอใจนั้นใครกำหนด นอกจากนี้ในข้อ 7 ยังให้อำนาจของสถานศึกษาวางระเบียบได้เองตราบใดที่ไม่ขัดกับระเบียบดังกล่าวก็กลายเป็นความทึมเทาในความคลุมเครืออีกชั้น
กล่าวคือ ทั้งหมดที่ว่าเป็นการใช้ ‘ดุลยพินิจ‘ ของสถานศึกษานั้นๆ เที่ยวกำหนดทรงผมของนักเรียนอยู่ดี
จากไม้เรียวสู่ปัตตาเลี่ยน
ภาพนักเรียนชายถูกไถหัวด้วยปัตตาเลี่ยน ส่วนนักเรียนหญิงถูกกรรไกรตัดฉับจนแหว่งวิ่น ปลิวว่อนทั่วโลกออนไลน์ ฝ่ายเห็นด้วยส่งเสียงเชียร์เย้วๆ บนโซเชียลมีเดีย ทำนองว่า “ดีแล้ว ทรงผมเหล่านี้คือการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของไทย คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ตัดทรงนี้ไม่เห็นมีปัญหา ทำไมแค่นี้ถึงทำตามกฎไม่ได้”
คำถามย้อนกลับไปกลับมา หากพิจารณาตามกฎที่มักอ้างถึง เราจะพบว่าไม่มีข้อใดที่บังคับอย่างชัดเจนว่านักเรียนต้องไว้ผมอย่างที่คนรุ่นก่อนสมาทานความเชื่อ เต็มที่กฎนั้นก็แค่คลุมเครือและเปิดโอกาสให้เกิดการลิดรอนสิทธิบนกบาลของนักเรียน
และหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่กว่านั้น ไม่มีกฎหมายใดที่กำหนด ‘บทลงโทษ’ ให้ครูบาอาจารย์ถือวิสาสะเที่ยวไปกล้อนผมเด็กได้ตามอำเภอใจ หากเคารพกฎกันจริงๆ อาจต้องกางระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาปี 2548 ซึ่งระบุในข้อ 5 ว่า การลงโทษนั้นทำได้ 4 สถานคือ
- ว่ากล่าวตักเตือน
- ทำทัณฑ์บน
- ตัดคะแนนความประพฤติ
- ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การกล้อนผมนี้ผิดหรือไม่ เพื่อความสบายใจอาจต้องฟังเสียงของ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ยกเลิกกฎกระทรวงปี 2518 และย้ำว่าให้ยึดระเบียบใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ พร้อมทั้งระบุว่า การกระทำของโรงเรียนด้วยการกล้อนผมขณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
อ่านถึงตรงนี้อาจต้องทบทวนจุดยืนของตนเองอีกครั้ง หากบูชากฎเกณฑ์จริงดังที่กล่าวอ้าง ก็ควรยืนบนฐานที่มีหลักพิง หาไม่แล้วก็โย้ไปเย้มาแล้วอ้างวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไปเรื่อย
ขอโทษ – หากชื่นชมในรากเหง้าของบ้านเมืองขนาดนั้น แนะนำให้ย้อนกลับไปดูทรงผมนักเรียนก่อนการประกาศกฎกระทรวง พ.ศ. 2515 แล้วจะพบว่าทรงผมในอดีตนั้นเฟี้ยวเพียงใด
อ้างอิง |