ไอเดียเบื้องหลังบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เริ่มจากกองบรรณาธิการ WAY อยากเปลี่ยนรูปแบบบรรยากาศด้วยการเชิญ ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ซักถาม โดยมี ธเนศ วงศ์ยานนาวา แห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ตอบ (ส่วนกองบรรณาธิการทำหน้าที่กินแรง เป็นเพียงแมสเซนเจอร์เรียบเรียงเนื้อหาจากการสนทนา)
เหตุผลที่ต้องการประกบคู่นักรัฐศาสตร์ 2 ท่านนี้ ไม่ใช่เพราะทั้งคู่เคยไว้ผมยาวเหมือนกัน สอนวิชารัฐศาสตร์เหมือนกัน เคยเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน และที่สำคัญทั้งสองฝ่ายต่างเป็นมิตรสหายรักใคร่กันมานานเท่านั้น
แต่จากหัวข้อที่กำหนดอย่างขึงขังว่า ‘อำนาจหน้าที่ของข่าวลือและเสียงนินทาในระบบการเมืองไทย’…สารภาพว่า ทอดตาทั่วแผ่นดินนอกจากสองท่านนี้แล้ว เราเองก็นึกไม่ออกว่าใครจะยอมเมตตาสละเวลาพูดคุยในเรื่องที่ดูเหมือนจะเหลวไหลแบบนี้
เจ้าภาพทีมเหย้าฝั่งสามย่าน ไชยันต์ ไชยพร เข้าใจประเด็นและรับปากในทันที โดยมีคำแนะนำว่าก่อนถึงวันตั้งวงนินทา กองบรรณาธิการควรไปหาวิทยานิพนธ์ของ ธีรยุทธ บุญมี มาอ่าน เพราะหัวข้อวิทยานิพนธ์เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้พอสมควร
แต่สำหรับทีมเยือนฟากท่าพระจันทร์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ปฏิเสธทันทีเมื่อรับทราบหัวข้อและรายละเอียดวิธีสนทนา เหตุผลตรงไปตรงมาคือ ชั่วโมงนี้ไม่ต้องการแสดงความเห็นเรื่องการเมือง ต่อให้หว่านล้อมปฏิโลมอย่างไร เขาก็ปักใจเชื่อว่าหากต้องตั้งวงคุยเรื่อง ‘ข่าวลือ’ และ ‘คำนินทา’ กับหนุ่มใหญ่ผมยาวแห่งสามย่านแล้ว ไม่มีทางรอดพ้นจากการถูกดึงเข้าสู่ประเด็นการเมือง ไม่คำถามใดก็คำถามหนึ่ง
ไอเดียกินแรงนี้ จึงต้องกลับไปนับหนึ่งเปลี่ยนแผนใหม่ แต่เป้าหมายยังเป็นคนเดิม ด้วยเหตุผลเบื้องต้นว่า เปรียบเทียบระหว่างนักวิชาการ 2 ท่านนี้แล้ว กองบรรณาธิการคุ้นเคยธเนศน้อยกว่าไชยันต์
นอกเหนือจากผลงานด้านการเขียนแล้ว ข้อมูลส่วนใหญ่ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา มักล่องลอยมาพร้อมๆ กับเสียงลือเสียงเล่าอ้าง บางครั้งก็มีน้ำเสียงปนนินทา ยกตัวอย่างเช่นในยุคที่คนเพิ่งตื่นเต้นกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ ธเนศมักถูกกล่าวถึงในฐานะหัวขบวนหัวหน้าเผ่า (ซึ่งถึงเวลานี้ ตำแหน่งดังกล่าวฟังแล้วอาจไม่ค่อยเท่แล้ว)
เป็นครูบาอาจารย์ที่มีมาดเหมือนแบ็คแพ็คเกอร์วัยกลางคนชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ตามถนนข้าวสาร กล่าวคือไว้ผมยาว สวมเสื้อยืดคอกลม ชายเสื้อยัดใส่กางเกงยีนส์อย่างเรียบร้อย ใส่รองเท้าสานรัดส้น สะพายเป้ขนาดกลางๆ (เพิ่งมาตัดผมเมื่อไม่นาน เพราะมีคนตักเตือนว่า อายุ 50 เข้าไปแล้ว จะทำตัววัยรุ่นไปถึงไหน)
เป็นคนที่มีวิธีจัดวางระยะห่างกับผู้คน ดูเหมือน ‘ยาก’ แต่ถึงบทจะ ‘ง่าย’ ก็ง่ายใจหาย เหมือนกับคำร่ำลือที่ว่า เวลาถกเถียงกับใครธเนศไม่เคยไว้น้ำใจเมตตา แต่เถียงจบ เขาอาจเชิญชวนคู่กรณีมานั่งจิบไวน์ด้วยกัน บนดาดฟ้าอาคารคณะรัฐศาสตร์…ยามเย็นๆ
มีคนกล่าวว่า หากธรรมศาสตร์เปิดให้เลือกตั้งอธิการบดีทางตรง คนแรกที่จะได้เป็นคือ ธเนศ วงศ์ยานนาวา เนื่องจากเขาคืออาจารย์ที่นักศึกษาชื่นชอบวิธีสอน กล่าวคือ เตรียมการสอนอย่างเคร่งครัดจริงจัง เข้าห้องเลกเชอร์ตรงเวลา ถึงเวลาสอนธเนศรักษาสมาธิและตั้งอกตั้งใจถ่ายทอดความรู้ ต่อให้มีนักศึกษานั่งโป๊อยู่ตรงหน้า เสียงโทรศัพท์มือถือดังแล้วดังอีก ว่ากันว่าต่อให้มีปั้นจั่นเสาเข็มตอกอยู่ข้างๆ … เขาก็สามารถสอนได้
เราส่งโครงคำถามให้เขาอ่านล่วงหน้า เพื่อยืนยันว่าไม่มีคำถามการเมืองเชิงสถานการณ์ปะปน เช้าวันถัดมาธเนศตอบอีเมลกลับ บอกว่าสนใจอยากตอบคำถามเหล่านั้น
บ่ายวันนั้น เราเดินขึ้นบันไดไปชั้น 6 คณะรัฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา กำลังกดเมาส์สั่งพรินท์คำตอบที่เขาเขียนขึ้นมา เพื่อเอาไว้เป็นกรอบในการตอบคำถามป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนระหว่างการพูด…คำตอบที่เขาเขียนนั้น ยาว 20 หน้ากระดาษ
“คุณกำลังคิดว่าผมประสาทล่ะสิ”
เขาทักทายด้วยรอยยิ้ม ก่อนเปิดฉากเลกเชอร์วิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยายาวเหยียด…ด้วยความตั้งอกตั้งใจ
เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นล้วนเคยผ่านยุคที่ใช้ข่าวลือ คำซุบซิบเสียงนินทาเป็นมาตรฐานทางสังคม ก่อนจะถึงยุคที่เราใช้เรื่องความรู้หรือหลักฐานมาพิสูจน์ เช่น ยุคที่เคยเชื่อว่าโลกแบน หรือเคยเผาคนดื้อๆ เพราะลือว่าเป็นแม่มด
ก่อนอื่น คำว่าข่าวลือ เสียงเล่าอ้าง หรือตำนานซุบซิบนินทานั้น มันคงมีความหมายแตกต่างกัน ข่าวลือนั้นแสดงออกถึงความกลัว คุณลือเพราะคุณกลัวว่าชีวิตคุณจะไม่มั่นคง พูดง่ายๆ ข่าวลือทำให้ชีวิตคุณมั่นคงขึ้น เช่น ในประเทศเผด็จการอาจมีข่าวลือว่าผู้นำประเทศตายเพราะไม่ปรากฏตัวให้เห็น มันแสดงว่าคุณไม่มีข้อมูล สังคมมันเป็นสังคมปิด คุณมีข้อมูลไม่ถึง เพราะฉะนั้นไอ้ข่าวลือนี่ ยิ่งสังคมคุณปิดมากเท่าไหร่ คุณไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีข่าวลือมากขึ้น
ทีนี้ภายใต้สถานการณ์ที่คลุมเครือนั้น ข่าวลือจึงเป็นกระบวนการและขบวนการหาข่าวแบบหนึ่ง ก็เหมือนนักข่าวไปหาข่าว มันเป็นกลไกในการจัดการและควบคุมสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่สามารถควบคุมได้
ทีนี้พอในสังคมขยายใหญ่ขึ้นๆ มันก็เกิดสภาวะอย่างหนึ่งคือ มันไม่มีอะไรควบคุมไว้ได้ แต่มนุษย์นั้นอย่างที่ผมบอก มันอยากที่จะควบคุมอยากจัดการกับความไม่มั่นคง ไม่ว่าความไม่มั่นคงที่ว่าจะเกิดจากอะไร เช่น การกดขี่กดดันของชนชั้นสูง ก็นำไปสู่สภาวะแบบหนึ่งคือ conspiracy theory (ทฤษฎีสมคบคิด) เป็นรูปแบบหนึ่งของข่าวลือ เช่น คุณเชื่อว่ามีแผนปฏิบัติการลับบางอย่างอยู่เบื้องหลัง กรอบแบบนี้มีลักษณะของ populist หรือ ประชานิยมเต็มตัวในแง่ที่ว่า คุณไม่เชื่อมั่นและก็ไม่ไว้ใจชนชั้นอีลีท (elite) ทำนองว่า เฮ้ย มึงอย่ามาหลอกกูให้ยาก กูก็ไม่ได้โง่ ชาวบ้านก็มีภูมิปัญญาโว้ย
ทีนี้ถ้าคุณพูดถึงการซุบซิบนินทา มันก็คือการพูดถึงใครสักคนหนึ่งที่ไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ตรงนั้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแง่บวกและลบ
แต่ในเบื้องต้น ข่าวลือนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความกลัว?
ใช่ครับ เพราะคุณไม่รู้ว่าจะจัดการมันยังไง
ความกลัวที่ว่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับชนชั้นนำและชนชั้นล่าง?
ทุกคนกลัวทั้งนั้น เพราะชีวิตมนุษย์มันไม่ได้มั่นคงปลอดภัยอะไรนักหนา ถ้าไม่งั้นคุณจะมีศาสนาไว้ทำไมล่ะ ใช่มั้ย
เคยมียุคไหนมั้ยครับที่มนุษย์ถือว่าพฤติกรรมการสร้างข่าวลือหรือเสียงซุบซิบนินทานั้น ไม่ใช่เรื่องผิดบาปหรือชั่วร้ายเสมอไป
ในทางศาสนานั้น การให้ร้ายคนอื่น การพูดโกหก ป้ายสีคนอื่นมันเป็นบาปอยู่แล้ว ไม่ว่าในคริสต์ศาสนา พุทธศาสนา อคติทางศาสนานั้นก็จะโยนบาปอันนี้ให้กับหญิงหม้าย คุณจะเห็นว่าผู้หญิงจำนวนมากก็เป็นเพศที่ศาสนากดเอาไว้ การซุบซิบนินทามันแสดงถึงการดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น ก่อให้เกิดความแตกแยก ในขณะที่ศาสนาต้องการเอกภาพ เช่น รักเพื่อนบ้านให้เหมือนรักตัวเอง
อาจไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นเรื่องของมาตรฐานทางสังคมที่เขารู้สึกว่า เอ๊ะ การนินทากันก็ไม่ได้ถือว่าชั่วร้ายเสียทีเดียว
ถ้าสมัยนี้มันก็อีกบริบทหนึ่ง แต่ในทางศาสนานั้นผิดอยู่แล้ว ผมยกตัวอย่างง่ายๆ คุณเคยได้ยินตลกตาเถรยายชีมั้ย เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้ยินกัน ถามว่านั่นใช่การนินทาพระ-เจ้ามั้ย มันก็เป็นการนินทา
มองในแง่การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ข่าวลือหรือเสียงซุบซิบมันมีหน้าที่ด้านดีบ้างหรือไม่
ในภาษาอังกฤษคำว่า gossip เองก็เป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นอยู่แล้ว เพราะ gossip มันคือ god sibling เห็นมั้ยครับ เพราะเป็นพ่อทูนหัวที่มาดูแลลูกของเรา แล้วเขาจะเลือกใครล่ะที่จะมาเป็นพ่อทูนหัว ก็ต้องมีการพูดคุย นี่คือจุดเริ่มต้น
ทีนี้การซุบซิบนินทาก็เป็นเรื่องที่คนแต่ละคนจะกล่าวถึงใครสักคน ให้ใครคนหนึ่งฟังหรืออีกหลายๆ คนฟัง โดยที่เป้าอาจเป็นใครสักคนที่เราเกี่ยวข้องแต่เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น อย่างบุชมันก็เกี่ยวข้องกับเรานะ ทุกวันนี้น้ำมันขึ้นเพราะใคร ก็เพราะอีบุชนี่แหละ (หัวเราะ) และการนินทาก็มักจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น คุณจะไม่ซุบซิบนินทาเรื่องในอนาคต
แต่เราก็เดาได้นี่ครับ เช่น ถ้าหมอนี่เคยมีพฤติกรรมแบบนี้ ต่อไปมันต้องทำอย่างนี้แน่เลย?
อ่ะ…นั่นก็หมายถึงว่าคุณก็คงอยู่กับอดีต ใช่มั้ย ไม่มีใครพูดถึงเรื่องอนาคตเพียวๆ ได้หรอก คุณไม่ใช่ไอแซ็ก อาซิมอฟ หรือ อาเธอร์ ซี คล้าก
ในแง่นี้ การซุบซิบนินทาในฐานะบทสนทนา จึงแตกต่างไปจากคอลัมน์ซุบซิบในสื่อซึ่งเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องได้ เป็นข่าวพาดหัวไม้ได้ ข่าวลืออะไรต่างๆ ลือปฏิวัติคุณก็เอามาลงหนังสือพิมพ์
อะไรที่ทำให้ข่าวลือในวงจำกัดถูกผลักออกไปสู่ระดับสาธารณะ
ขึ้นอยู่กับว่าตัวละครนั้นเป็นใคร เป็นบุคคลสาธารณะ (public figure) มั้ย
ระหว่างตัวละครกับประเด็น อะไรสำคัญกว่ากัน
ทั้งตัวละครและประเด็นต้องเป็น public ต้องเกี่ยวข้องกับสาธารณะ ซึ่งเรื่องที่จะถูกหยิบขึ้นมานินทานั้นอาจมีทั้งแง่ดีและไม่ดี แต่ส่วนใหญ่มักเป็นไปในแง่ไม่ดี แต่จะมีมูลจากอะไรบางอย่างที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นไปได้
นี่คือข้อแตกต่างจากข่าวลือ เพราะข่าวลืออาจพิสูจน์หรือยืนยันอะไรไม่ได้ นอกจากนั้นข่าวลือก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคล แต่ซุบซิบนินทาต้องมี object ต้องมีตัวละคร
ทีนี้อย่าลืมว่าเวลาที่เราบอกว่า ในทางศาสนาการซุบซิบนินทาก่อให้เกิดการแตกแยก แต่คุณจะเห็นได้ว่าเวลาที่คุณซุบซิบนินทาเจ้านายนั้นมัน…โอ้โห…สุดยอดที่สุด (หัวเราะ) คุณสร้างความเป็นเอกภาพได้ เพราะมันมี object ทำให้เกิด sense of solidarity หรือ ความเป็นพวกเดียวกัน
ถือว่าเป็นด้านดี?
ใช่ ถือว่าเป็นด้านดี ความเป็นพวกเดียวกันจะไม่ได้เกิดขึ้นถ้าคุณยึดหลักศาสนา ผมจึงชอบถามอยู่เสมอๆ ว่า เฮ้ย ตกลงแล้วที่คุณบอกว่า คุณเป็นคนยึดมั่นในศาสนาน่ะ ผมถามหน่อย วันนี้คุณนินทาเจ้านายคุณแล้วหรือยัง เหมือนที่ถามว่าวันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง (ยิ้ม) แล้วการนินทาเจ้านายนั้นมันแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่…คุณบอกไม่ได้นะว่าคุณรักหรือเกลียดเจ้านาย มันมีความซับซ้อนอยู่
ทีนี้กระบวนการซุบซิบนินทานั้นมันก็เป็นการให้ข้อมูลแก่คนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมาใหม่ เหมือนคุณต้องผ่านพิธีกรรมรับน้องใหม่ เพื่อที่คุณจะได้รู้ตำแหน่งแห่งที่ของใครๆ เพราะฉะนั้นการซุบซิบนินทาจึงเหมือนเป็นการแจกแจงเครือข่ายทางสังคม นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าคุณมักจะไม่นินทาคนที่คุณเกลียดหรือคนที่คุณถือเป็นศัตรู เพราะในแง่นี้การซุบซิบนินทาเป็นการแสดงออกถึงความใกล้ชิดเป็นเพื่อนฝูง
ข้อดีแบบนี้มันน่าเชื่อถือตรงไหนครับ
เชื่อถือได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นคือมันช่วยสร้างพันธมิตร…อ่า…คนละพันธมิตรฯ กับอันนั้นนะ
อีกอันหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องราวของวิชามานุษยวิทยา ถ้าพิจารณาตามศัพท์แล้วนั้น Anthropology ในภาษากรีกมันคือ Anthropos บวกกับ logos ซึ่งไม่ใช่แค่ Science of Man นะครับ แต่เป็นมนุษย์ที่เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่เป็นข่าวหรือเรื่องดังๆ anthro มันคือมนุษย์ logos คือคำพูด นี่คือไอเดียของอริสโตเติล
เพราะฉะนั้นมีนักสร้างภาพยนตร์ นักวรรณคดีวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลกเป็นชาวเวียดนาม อยู่ที่อเมริกา ชื่อ ตรินห์ มินห์ ฮา (Trinh T.Minh-ha) จึงพูดถึงวิชามานุษยวิทยาแบบตลกเสียดสีว่านี่คือ scientific gossip ถ้าคุณไปบอกนักมานุษยวิทยาที่ศูนย์วิจัยมานุษยวิทยาสิรินธรว่านี่เป็น scientific gossip เขาก็คงไม่แฮปปี้เท่าไหร่ (ยิ้ม) เพราะฉะนั้นมันก็มีฟังก์ชั่นของมัน ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรในโลกที่เลวร้ายทุกด้าน…ไฟก็อันตราย แต่นำมาซึ่งพลังงาน
ที่มีคนบอกว่าเสียงซุบซิบข่าวลือและคำนินทานั้น เป็นเครื่องมือในการควบคุมกันเองของมนุษย์นั้น เราควรเชื่อคำพูดแบบนี้มั้ยครับ
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งนะว่า คุณซุบซิบอะไรมันก็สะท้อนค่านิยมในสังคมของคุณ เพราะการซุบซิบนินทาก็คือการประเมินค่าคนไปในตัว เมื่อเกิดการประเมินค่าคุณจะเห็นว่าหน้าที่ของคำซุบซิบนินทาจึงไปแข่งกับศาสนาทันที
เพราะฉะนั้น ถามว่าทำไมศาสนาจึงห้ามการนินทา ในสายตาผม ผมก็อาจอธิบายได้ว่าเพราะคุณกำลังสร้างอำนาจอื่นขึ้นมาแข่งกับอำนาจทางศาสนา
อย่างไรก็ตามศาสนาพาคุณไปตกนรกได้ ศาลพาคุณเข้าคุกได้ แต่การนินทาอย่างมากก็แค่ทำให้คุณเสียหน้า อย่างที่เขาบอก อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน…แต่แค่มีดกรีดหินจริงหรือไม่ คุณถูกนินทามากๆ คุณไม่เกิดความรู้สึกหน้าแหกบ้างเหรอ
เราควรเชื่อมั้ยครับว่า การนินทานั้นมักจะเป็นอาวุธสำหรับคนที่สู้คนอื่นซึ่งๆ หน้าไม่ได้ หรือว่าอยู่ในฐานะที่มีอำนาจน้อยกว่า จึงต้องใช้เครื่องมือนี้ไปสู้กับเขา?
อย่างที่บอก เมื่อการซุบซิบนินทาเป็นวิธีประเมินค่าอย่างหนึ่ง เราจะเห็นว่าบรรดาคนดังต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีค่าในสังคม เพราะสังคมประเมินว่าเขามีค่า เช่น เล่นกีฬาเก่ง เป็นนักการเมือง เป็นผู้นำประเทศ ทันทีที่คุณเป็นคนดัง คุณก็จะได้รับการประเมินค่าด้วยสิ่งพิเศษ คอลัมน์ซุบซิบในสื่อจึงกลายเป็นกลไกสำคัญในการประเมินค่าคนต่อสาธารณะ
แต่คุณจะสังเกตเห็นว่า การประเมินค่าที่ว่านั้นก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา เช่น เราคงบอกไม่ได้ว่า อีนี่ไปเสพยา ไอ้นั่นไปเข้าม่านรูด ฯลฯ ถูกมั้ย…มันตรงไปตรงมาไม่ได้ แต่ความหมายของมันก็คือ…แก เรื่องแบบนี้ฉันไม่ทำหรอก…ซึ่งโดยความหมายของมันก็คือสะท้อนให้เห็นถึงสถานะที่เหนือกว่าหรือดีกว่า คล้ายๆ กับว่า เฮ้ย กูดีกว่ามึงว่ะ หรือ กูมีศีลธรรมสูงส่งกว่ามึงนะโว้ย
ขณะเดียวกันหน้าที่ของพื้นที่ซุบซิบนินทาตามหน้าสื่อ มันก็เป็นเครื่องมือที่พยายามสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วตัวตนของคนคนนั้นเป็นอย่างไร เป็นพวกรักร่วมเพศ เป็นพวกนิยมยาเสพติด เป็นตุ๊ดแก่ หรือเป็นอะไรก็ตามที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองแสดงออก
พูดง่ายๆ การนินทาคือกลไกอันหนึ่งในการให้ข้อมูลและเช็คว่า มึงเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ในที่สุดแล้วคุณจะเห็นว่า มึงน่ะ ไม่ได้รักเด็ก ไม่ได้อ่อนโยนเห็นอกเห็นใจคนยากจนแบบที่ตอบๆ กันเวลาประกวดนางงาม คุณดูในโทรทัศน์ทุกคนรักเด็กหมดแหละ แต่ไปดูคอลัมน์ซุบซิบสิ แม่งตรงกันข้ามกันเลย แล้วตกลงคุณจะเชื่อใคร
กระบวนการซุบซิบนินทามันจึงเป็นการผลักคนที่ถูกกล่าวถึงนั้นให้กลายเป็นคนนอก…เป็นคนอื่น…ไม่ใช่พวกเรา เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะไม่ใช่ความรุนแรงเชิงกายภาพ แต่มันก็ทำให้คุณฟกช้ำดำเขียวในเชิงจิตใจได้ นี่ก็คือการกดคนอื่น เพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง คุณจะเห็นว่าบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งวงการซุบซิบนินทาจึงกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลไปโดยปริยาย เพราะอย่างน้อยคนก็เชื่อกันว่า พวกเขาเป็นเจ้าแห่งข้อมูล ส่วนจะจริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
คือไม่เกี่ยวกับโจทย์เดิมที่ว่า การนินทามักถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนที่มีอำนาจต่ำกว่าคนที่ถูกนินทา?
ก็อย่างที่ผมบอกไง การซุบซิบนินทามันก็คือการประเมินคน แล้วเวลาคุณประเมินคน มาตรฐานในการประเมินมันก็ไม่ได้มีมาตรฐานเดียว แล้วไม่ใช่แค่ดับเบิลด้วย แต่แม่งเป็นเฮกตะ เป็นนาโน สแตนดาร์ด (หัวเราะ) ซึ่งในแง่หนึ่งแล้ว ศีลธรรมมันก็มีเอาไว้ให้คุณใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงคนที่คุณเกลียด
ทัศนคติที่ว่าข่าวลือและเสียงซุบซิบนินทาเป็นเรื่องผิดนั้น ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาโดยผ่านเครื่องมืออะไรเป็นสำคัญ เช่น พิสูจน์กันด้วยหลักฐานความรู้ใหม่ หรือด้วยเครื่องมือทางศาสนา ทำให้คนรู้สึกว่าการนินทาเป็นเรื่องบาปกรรม
ในทางศาสนาการซุบซิบนินทาการปล่อยข่าวลือถือเป็นบาปอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยศาสนาก็เป็นคำของศาสดา บาปกรรมเป็นกลไกสำคัญของการควบคุมมนุษย์อย่างหนึ่ง ถ้าคุณปล่อยให้นินทา แล้วถ้าคนเริ่มนินทาศาสดาคุณจะทำไง
ทีนี้เวลาเราถามว่าพิสูจน์ยังไง ในทางศาสนานั้นเราไม่ต้องการการพิสูจน์ ศาสนาต้องการความศรัทธา ตรรกะแบบว่า if you’re not with me, you’re against me. ที่คุณเคยได้ยินจากปากจอร์จ บุช น่ะ มันอยูในวิธีคิดของศาสนาคริสต์ แถมฐานะของศาสดาในบางศาสนายังอยู่ในฐานะพ่อ ก็ยิ่งชัดเจน คุณกล้าเถียงพ่อคุณหรือเปล่าว่า เฮ้ย ที่พ่อพูดมานั้นไม่ถูกว่ะ พ่อพูดมาผิดหมดเลย
ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นนะครับ ข่าวลือคำซุบซิบจำนวนมากมันไม่ได้ต้องการการพิสูจน์หาความจริง โดยเฉพาะพวก conspiracy theory เช่น คุณจะไปพิสูจน์ยังไงว่าพระเจ้าตากไม่ได้ถูกประหาร พระเจ้าตากหนีไปได้ หรือ เอลวิส เพรสลีย์ ยังไม่ตาย คุณไม่มีวันพิสูจน์เรื่องพวกนี้ได้ แล้วต่อให้พิสูจน์ได้คุณก็ไม่สามารถล้มล้างความเชื่อของคน เช่น พวกที่บอกตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์มันระเบิดจากภายใน เป็นเรื่องที่ไอ้กันทำขึ้นมาเองเพื่อหาเรื่องอิสลาม ความคิดแบบนี้คุณสามารถหาดูได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต การเมืองไทยก็เยอะแยะ…ไม่ต้องเอ่ยถึงดีกว่า อย่าไปยุ่งกับมันเลย
คำว่าซุบซิบนินทาว่าร้าย แยกไม่ออกจากอารมณ์อิจฉาริษยาจริงหรือไม่
ถ้าเรามองในกรอบของคริสต์ศาสนา ในบาปเจ็ดประการนั้นคุณคงหลีกเลี่ยงการอิจฉาไม่ได้ เหมือนกับคุณห้ามการซุบซิบนินทา แต่สองสิ่งนี้มันจะสัมพันธ์กันยังไงก็ขึ้นอยู่กับกรณี
เบื้องต้นความอิจฉาริษยาเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกัน เช่น เขาได้ทำไมเราจึงไม่ได้ หรือสมมุติว่าถ้าคุณรวยเท่าเขาคุณเก่งเท่าเขา คุณจะอิจฉาเขามั้ย อย่างคุณอิจฉาขอทานมั้ย (ทำท่าคิด) เอ่อ…คุณอาจอิจฉาขอทานเพราะว่า ไอ้ห่า มันนอนตรงไหนก็ได้ แต่กูนอนไม่ได้ ซึ่งผมอยากรู้เหมือนกันว่าจะมีใครอิจฉาบ้าง
ความไม่เท่าเทียมกันจะปรากฏชัดเจนที่สุดตรงไหน…ก็ในครอบครัว เพราะอย่างน้อยที่สุด ในโครงสร้างอำนาจนั้นไม่มีสังคมไหนที่ลูกเท่ากับพ่อแม่ แม้กระทั่งเสรีนิยมในครอบครัว เพราะหลักการของครอบครัวมันวางอยู่บนพื้นฐานความไม่เท่าเทียม ประการต่อมาคือ พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน และลูกก็รักพ่อแม่ไม่เท่ากัน คนไทยยิ่งชัดเจนใหญ่บอกเลยว่า ห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลย
เมื่อความอิจฉาเกิดในสังคมที่ความสัมพันธ์ไม่เท่าเทียมทั้งที่ตกลงไว้แล้วว่าควรเท่าเทียม เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกที่ว่า เฮ้ย ทำไมคนคนนั้นถึงได้ร่ำรวยขึ้นมา เพราะมันโกงเขามามันเอาเปรียบเขามาหรือเปล่า คำถามต่อมาก็คือ แล้วทำไมมันถึงโกงหรือเอาเปรียบคนอื่นได้ คำตอบคือเพราะมันไม่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ของสังคม สังคมที่วางกรอบอยู่บนความเท่าเทียม แต่เอาอย่างนี้มั้ยล่ะ ให้คุณไปอยู่ในสังคมวรรณะ คุณอาจตอบว่าช่างมัน อยากรวยก็รวยซะให้เข็ด ทักษิณจะรวยจะจนก็เรื่องของมึงไม่เกี่ยวกับกู
แต่ในขณะเดียวกันปราการทางศีลธรรมของเราก็จะทำให้ เราเสนอและตอบกับตัวเราว่า… เฮ้ย ถ้าร่ำรวยขึ้นมาได้ กูจะไม่ทำแบบนั้นเพราะกูเป็นคนดี นี่คือประโยค if clause นักการเมืองทุกคนก็บอกแบบนี้
การซุบซิบนินทาอาจไม่ใช่เรื่องอิจฉาริษยาเสมอไป เพราะกรณีคุณนินทาพฤติกรรมทางเพศของใครสักคนที่เป็นคนดัง หลายคนอาจไม่ได้ทำเพราะอิจฉา แต่เพราะคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่คุณไม่ควรทำ เช่น ถ่ายรูปการร่วมเพศของตัวเองคิดว่าจะเก็บไว้ดูเอง แต่มันดันหลุดออกมา เรื่องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอิจฉา แต่สิ่งที่ควรสนใจคือสำนึกและกิจกรรมทางเพศของมนุษย์สมัยใหม่นั้นมันเปลี่ยนแปลง และซับซ้อนมากครับ
การมีเรื่องซุบซิบนินทาทำให้คนเรียนรู้ที่จะลดอัตตาได้จริงมั้ย อัตตากับการนินทาเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ผมกลับคิดว่า การซุบซิบนินทาน่าจะเป็นการแสดงอีโก้ของตัวเองมากกว่า เพราะมันแสดงนัยยะของการประเมินค่า แสดงสถานะที่สูงส่งกว่า คือเมื่อคุณประเมินคุณจะไม่บอกหรอกว่าคุณเลวกว่าเขา (หัวเราะ) ถึงแม้ว่าเขาจะรวยกว่าคุณ แต่คุณมีศีลธรรมสูงกว่าเขา คุณจะต้องมีดีกว่าคนอื่นในแง่ใดแง่หนึ่ง คุณจะไม่นินทาว่า เฮ้ย ไอ้เบื๊อกนั่นเคร่งศาสนา นั่งสวดภาวนา หรือไปตักบาตรทุกวันอยู่ได้ คุณไม่นินทาคนแบบนี้
ทีนี้การเล่าเรื่องใดๆ ก็ตาม มันเป็นการตีความไปในตัว ตีความโดยคนเล่า เรื่องเล่าในวันนี้จึงเป็นเรื่องเล่าที่ตนเองเล่าผ่านการตีความ เมื่อตีความมันก็ต้องเปลี่ยนความหมายอยู่แล้ว อย่างน้อยๆ คุณก็เชื่อมสองความคิดเข้าด้วยกัน คือสิ่งที่เป็นความคิดและความเชื่อของตน ผนวกกับเรื่องราว มันมีความคิดของคุณอยู่แล้ว
ยังไม่ต้องพูดถึงลีลา น้ำเสียง ท่าทางประกอบการเล่า เหมือนอย่างผมบอกคุณ ผมเขียนตอบสัมภาษณ์ให้เสร็จแล้ว แต่คุณบอกไม่เอาคุณจะให้ผมพูด เพราะการพูดมันได้น้ำเสียงที่แตกต่างจากการเขียน
ในแง่นี้การซุบซิบนินทาจึงน่าเชื่อถือกว่าสิ่งที่คุณเรียกว่าความจริง เพราะมันทำให้ทั้งคนฟังและคนพูดสัมผัสได้ถึงสิ่งที่จริงกว่า
ยิ่งได้คุยในที่ลับ ยิ่งทำให้ข้อมูลนั้นดูศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น?
เออ ใช่ๆ…เพราะในที่สุดคุณก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริง ถึงแม้คุณจะมีความจริงมาบอก คนก็ไม่เชื่อ คุณไม่มีทางเลือก ในที่สุดเขาคิดว่าคุณเป็นแบบนี้ คุณก็ต้องเป็นแบบนี้
โลกที่ผลิตคนดังขึ้นจำนวนมากๆ จำเป็นที่จะต้องมีข่าวซุบซิบมากตามไปด้วยหรือไม่
คือผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญก็คือ เราอยู่ในโลกของการสื่อสาร และข่าวสารก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง พอมันเป็นธุรกิจหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ เมื่อคุณมีข้อมูลมากๆ ปัญหาคือ คุณจะเชื่อใครดี ทุกคนที่ตกเป็นข่าวซุบซิบนินทาล้วนเป็นคนดัง อย่างที่ผมบอก…คุณไม่ซุบซิบนินทาขอทานหรอก ไล่ตั้งแต่บิล คลินตัน จนถึง เดวิด เบ็คแฮม หรือจะเป็นดาราตบตีแย่งรถกัน ขนาดไม่ใช่เฟอร์รารีนะ เป็นแค่ออสติน มินิ มันก็ยังเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะทั้งหมดมันทำให้ธุรกิจสื่อสารอยู่ได้
ทีนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่า คอนเซ็ปต์คำว่าสังคมหรือโซเชียล (social) ตั้งแต่ในอดีตไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือคนไทยในยุครัชกาลที่ 6 เราตกลงกันว่า สังคมคือการสมาคมกันของชนชั้นสูง เพราะฉะนั้นการนินทาคนดังของสังคม จึงทำหน้าที่เพิ่มความบันเทิงแก่มนุษย์ จากเรื่องหนักๆ ก็กลายเป็นเรื่องบันเทิง ยิ่งถ้าเกี่ยวกับวงการบันเทิงอยู่แล้วก็ยิ่งบันเทิงเข้าไปใหญ่
ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ละครจำเลยรัก จะกลายมาเป็นสปอตโฆษณาในการเลือกตั้ง การเมืองคุณก็ใช้ดาราดังๆ มาเป็นหัวหอกในการโฆษณา ดาราก็กลายมาเป็นหัวหอกในการใช้สินค้าและโฆษณา อันนี้ผมคิดเล่นๆ นะ เคยฟังโฆษณาลักส์มั้ย ดารา 9 ใน 10 คนใช้สบู่ลักส์ ผมว่าต่อไปมันอาจจะมีโฆษณาว่า ดารา 9 ใน 10 คน ‘เลือก’ (เน้นเสียง) พรรคการเมือง จุด จุด จุด จุด เพราะฉะนั้นโลกของธุรกิจสื่อสารการเมืองจำเป็นที่จะต้องเชื่อมกับความบันเทิง ถ้าจะให้สนุกยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คุณได้มีส่วนร่วมด้วยการส่งเอสเอ็มเอสไปลงคะแนน
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับสำนึกของการมีส่วนร่วมในทางการเมือง คือจาก political participation มาจนถึง participatory art ถึง reality TV เพราะการมีส่วนร่วมไม่ได้แสดงพลังของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำให้เจ้าของรายการโทรทัศน์ เจ้าของสัมปทานโทรศัพท์ มีรายได้เพิ่มด้วย คือถือว่า win-win ถึงกูเสียเงิน แต่กูได้แสดงออก มันไม่ได้หยุดนิ่งเพียงแค่การเมืองเท่านั้นนะครับ ทุกอย่างอยู่ภายใต้โครงสร้างความคิดแบบนี้ทั้งหมด
ถามว่า แล้วผู้คนสนใจข่าวพวกนี้ตลอดเวลาหรือเปล่า คำตอบคงไม่ใช่ คุณก็ต้องถามต่อไปด้วยว่า ใครหรือชนชั้นไหนสนใจติดตามข่าวคนดัง แล้วก็ต้องแยกประเภทด้วยนะ เช่นข่าวคาวโลกีย์ของนักการเมืองหนุ่มแก่ นักการเมืองคนนั้นหล่อหรือไม่หล่อ นี่เป็นแค่ความน่าสนใจในระดับชีวิตประจำวัน แต่ถ้าคุณจะเอาความหล่อของหัวหน้าพรรคการเมืองไปเชื่อมโยงกับตัวแปรทางการเมืองอื่นๆ เช่น ความหล่อของนักการเมืองคนนั้นน่ะ ไปด้วยกันได้กับภาพลักษณ์การเมืองของพรรคมั้ย คือมันไม่ใช่แค่หล่ออย่างเดียวแล้ว เหมือนเวลาผู้หญิงจะมีผัว ก็ยังพูดกันว่าหล่ออย่างเดียวกินไม่ได้นะโว้ย มันก็พอกันกับความรักกินไม่ได้นั่นแหละ
ทีนี้พูดถึงวัยรุ่น เรื่องราวที่พวกเขาสนใจมีอะไรล่ะ มันก็ต้องแฟชั่น เพลงพ็อพ อินเทอร์เน็ต แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บางยุคเด็กวัยรุ่นก็สนใจการเมือง เช่นช่วงปี 1960 แต่พอ 1980 ความสนใจแบบนี้มันหมดไป ถ้าเป็นผู้หญิงก็บอกไว้ในเพลงของ ซินดี้ ลอเปอร์ (Cindi Lauper) อยู่แล้วว่า ‘Girl Just Wanna Have Fun’
แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม ทั้งคนดัง ทั้งดารา และนักการเมือง ต่างก็เป็นสินค้าสำคัญของธุรกิจสื่อสาร ยิ่งเป็นคนที่กำลังจะเริ่มดังก็ยิ่งดี เด็กใหม่ควบคุมง่าย นี่ไงคุณถึงต้องการเรียลลิตี้ ทีวี เพราะเด็กใหม่ที่มาจากเรียลลิตี้ ทีวี มันคุมง่ายกว่าคนที่ดังแล้ว
เป็นไปได้ไหมว่า เหตุที่ข่าวลือน่าเชื่อถือกว่าข่าวทางการ เนื่องจากเราสามารถไล่ลำดับความสัมพันธ์ ความน่าเชื่อถือของผู้กระจายข่าวได้ แทนที่จะเป็นใครก็ไม่รู้ที่สวมอ้างความเป็นทางการของข่าว
ปัญหาคือคุณคิดว่าคนที่น่าเชื่อที่สุดควรได้รับความเชื่อถือที่สุดมั้ยล่ะ ผมอยากจะยกตัวอย่างอันหนึ่ง ฝรั่งในแถบเมดิเตอร์เรเนียนทั้งอิตาลีและสเปนมีประโยคหนึ่งที่บอกว่า ‘อย่าบอกนะว่าคุณไม่มีโอกาสที่จะเป็นลูกของพระ‘ ความหมายของประโยคนี้ก็คือ Never Say Never Again คือพระคาทอลิกแต่งงานไม่ได้-ถูกมั้ย แล้วพระจะมีลูกได้ยังไง คุณอย่าบอกนะว่าคุณไม่มีโอกาสที่จะเป็นลูกของพระ ก็หมายความว่าพระนั้นแอบไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับแม่คุณด้วย นี่ยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก เพราะว่าเป็นแม่คุณ คำกล่าวแบบนี้แสดงให้เห็นว่า คนที่น่าเชื่อถือที่สุด คือคนที่ไม่น่าไว้ใจที่สุด ใช่มั้ย
หรือกรณีของ วอลเทอร์ ครอนไคท์ (Walter Cronkite) ผู้สื่อข่าว CBS ของอเมริกา ในปี 1968 แกไปเวียดนาม แล้วก็กลับมาบอกว่า สงครามเวียดนามน่ะ เป็นสงครามที่อเมริกาไม่มีวันชนะ ขณะที่ก่อนหน้านั้นประธานาธิบดีจอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) บอกว่าจัดการได้ ปรากฏว่าไม่มีใครเชื่อประธานาธิบดีสหรัฐเลย คนไปเชื่อวอลเทอร์ ครอนไคท์หมด จนประธานาธิบดีจอห์นสันบอกว่า ฉิบหายแล้วถ้ากูสูญเสียครอนไคท์ไป เท่ากับกูสูญเสีย Middle America เพราะฉะนั้นคนที่น่าเชื่อถือที่สุดไม่จำเป็นต้องน่าเชื่อถือที่สุด
เรื่องแบบนี้ธรรมดามากในสังคมการเมือง ผมถามหน่อยมีใครเชื่อรัฐและนักการเมืองบ้าง ยิ่งในสังคมเสรีประชาธิปไตยเน้นความเท่าเทียม ไม่มีลำดับชั้นทางสังคม หรือระหว่างคนชั้นต่ำกับคนชั้นสูงคุณคิดว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากันในสังคมที่เน้นความไม่เท่าเทียม หรือเอาง่ายๆ นะครับ สำหรับสังคมที่เน้นชาติวุฒิ ระหว่างศาสนาที่มีศาสดาเป็นคนยากจนแร้นแค้น กับศาสดาที่มาจากชนชั้นสูง คุณคิดว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน
ดังนั้นการไม่เชื่อทางการก็แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เช่น ผู้มีอำนาจต่างหากที่ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนระดับคนกลางๆ นั้นก็อาจจะน่าเชื่อถือมากกว่า ในแง่นี้ ดาราจึงมีโอกาสที่จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้าราชการระดับสูง ไม่อย่างนั้นเขาไม่เอาดารามาเป็นพรีเซนเตอร์ในทางการเมืองหรอก ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นนะครับ ดาราให้ voice ในทางการเมืองด้วย คุณดูการรณรงค์เกี่ยวกับเด็กของแองเจลินา โจลี หรือการเป็นแอมบาสเดอร์ของใครต่างๆ สิ
หรือผมยกตัวอย่างง่ายๆ นะ คุณคิดว่า แอ๊ด คาราบาว นั้นน่าเชื่อถือมั้ย ผมคิดว่า แอ๊ด คาราบาว อาจจะทำให้คนเชื่อถือได้มากกว่า ‘แอ้ด’ อีกคนหนึ่งที่เคยออกมาแสดงปาฏิหาริย์อยู่ 10 กว่าเดือนแล้วก็หมดอิทธิฤทธิ์ เพราะอย่างน้อยที่สุดในสายตาของหลายคน แอ๊ด คาราบาว นั้นเท่กว่าแอ้ดอีกคนหนึ่งตั้งเยอะ ข้อนี้อาจยกเว้นเมียที่บ้านของแอ้ดอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอายุปูนนี้แล้วจะยังเห็นว่าเท่อีกหรือเปล่า
คุณกลับไปดูได้เลยว่าทำไมเขาจึงต้องใช้ดารา เพราะนักการเมืองออกมามันไม่มีใครฟัง คุณจะเห็นว่าดาราจำนวนมากมันมีจุดยืนในทางการเมือง เมื่อออกมาพูดแล้วคนก็ฟังคนก็เชื่อ แต่ถามว่ามันน่าเชื่อมั้ย…ไม่รู้ล่ะ คุณลองให้ แอ๊ด คาราบาว ออกมาพูดอะไรบางอย่างช่วงนี้สิ เทียบกับอีกแอ้ดหนึ่ง คุณคิดว่าคนแม่งจะฟังแอ๊ดไหนล่ะ
ทีนี้ถ้าคิดจะหาข้อโต้แย้งกับข่าวลือ วิธีที่ได้ผลที่สุดคือควรจะทำอะไรให้มันโปร่งใสซะ ให้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่านี้ ปัญหาก็คือแล้วรัฐและข้าราชการที่ไหนในโลกที่ทำอะไรๆ ด้วยความโปร่งใส บอกทุกอย่างให้ชาวบ้านรับรู้ กิจการลับๆ ของรัฐนั้นมันโปร่งใสได้มั้ย ซีไอเอโปร่งใสได้มั้ย MI5 หน่วยต่อต้านข่าวกรองภายในประเทศของอังกฤษ โปร่งใสได้มั้ย ของแบบนี้ถ้าโปร่งใสมันก็ไม่เรียกว่า ‘ลับ’ แล้ว มันถึงต้องมี conspiracy theory ขึ้นมาไง เหมือนผีเน่ากับโลงผุ
เวลาเราเห็นผู้คนใช้การซุบซิบนินทาในฐานะที่มันเป็นความบันเทิงชนิดหนึ่ง เช่น ผู้หญิงเมาท์กันหลังอาหารเที่ยงหรือผู้ชายนินทากันในวงเหล้า โดยทุกคนบอกว่าไม่ได้มีเจตนาห้ำหั่นเอาเป็นเอาตาย เราควรเข้าใจพฤติกรรมหรือสภาพจิตคนแบบนี้อย่างไร
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้หญิงมักถูกศาสนาเพ่งเล็งว่าเป็นพวกชอบซุบซิบนินทา แต่จริงๆ แล้ว จะผู้ชายหรือผู้หญิงแม่งก็ขี้นินทากันทั้งนั้นแหละ ใครบ้างไม่นินทา มันไม่เลือกเพศ ไม่เลือกชนชั้น เจ้านายแม่งยังนินทาคนใช้ที่บ้านเลย
อย่างที่ผมบอกน่ะครับ การซุบซิบนินทาแสดงให้เห็นถึงการร่วมมือกันในระดับหนึ่ง อาจไม่ถึงขั้นตั้งพรรคการเมือง (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยๆ มันคือการร่วมมือกัน การแลกเปลี่ยนข่าวสารที่ไม่เป็นทางการ คุณจะเห็นว่าการนินทาซุบซิบมันเป็นการพูดคุยกันอย่างสบายๆ กินกาแฟไป คุณจะนุ่งกางเกงลิง หรือคุณจะนุ่งผ้าเช็ดตัวคุณก็นินทาได้ทั้งนั้น คนอาบน้ำตามหอมายืนหน้าห้องส้วมก็นินทากันได้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่ทั้งหมดนี้มันมีนัยยะทางศีลธรรม มีการประเมินค่า ประเมินทั้งคนที่ถูกพูดถึงและคนที่กำลังพูด
คือศีลธรรมแบบพระมันน่าเบื่อไง แต่พอมาเป็นเรื่องซุบซิบที่อิงศีลธรรมมันสนุก คุณสังเกตวงนินทาสิ มันเต็มไปด้วยมุกตลก มีอรรถรส มีความสนุกสนาน คุณดูสิแม้กระทั่งสื่ออย่างแคทรียาจ๊ะจ๋ายังต้องมีแก๊กเลย เพียงแต่คนที่ถูกพูดถึงอาจไม่อยากหัวเราะไปกับคุณด้วย เหมือนคุณเหยียบเปลือกกล้วยล้มหัวฟาด คนอื่นหัวเราะฉิบหาย แต่เราไม่หัวเราะ ไอ้ห่าเลือดหัวกูออก กูจะหัวเราะได้ไง
ถ้าเราขยายแบบนี้มาสู่ระดับสังคม เช่น มองดูแผงหนังสือที่เต็มไปด้วยแทบลอยด์ข่าวซุบซิบ หรือข่าวลือตามสื่อออนไลน์ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ กรณีแบบนี้เราควรมองมันด้วยท่าทีอย่างไร
คือผมคงไม่สามารถบอกกับใครๆ ได้ว่าเราควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องแบบนี้ เพราะแต่ละคนย่อมมีท่าทีไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่โดยคำอธิบาย ผมคิดว่าการซุบซิบนินทาในสื่อต่างๆ มันคือแผนที่ทางสังคมแบบหนึ่ง อย่างน้อยๆ มันก็บอกตำแหน่งทางสังคมของคนที่ถูกกล่าวถึง ถือว่าเป็น Social GPS อย่างที่ผมบอก คงไม่มีสื่อใดซุบซิบคนขายฝรั่งดองริมทางรถไฟยมราชหรอก คุณจะต้องเป็นใครสักคนในสังคม เป็นที่สนใจและขายได้ เป็นสินค้าได้ ยิ่งเป็น global ยิ่งดี คือผมคิดว่าเราทั้งหมดในห้องนี้คงขายยากล่ะนะ (หัวเราะ) คงไม่มีใครเอาไปซุบซิบนินทา มันขายไม่ได้(เสียงสูง) เจ๊งแน่นอน (หัวเราะสะใจ)
เพราะฉะนั้นคุณต้องเข้าใจว่าคนดังในสังคมมันคือสินค้า ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณต้องยอมรับว่ามันเป็นสินค้า สำหรับสมาชิกในสังคมที่จะเสพที่จะบริโภค คนเหล่านี้ก็เป็นเพียงภาพ (image) ที่ดำเนินไปตามตรรกะของทุนนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์มากกว่าการผลิตแบบเดิม เพียงแต่ว่าการผลิตสัญลักษณ์ภาพต่างๆ ที่ให้คุณเสพบริโภคนั้น มันทำให้คนอ่านเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของคนดัง
คุณต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบันคือโลกของพ่อค้า แล้วพ่อค้าต้องการอะไร เขาก็ต้องการขายของ และการซื้อของเขาไม่มาบังคับให้คุณซื้อหรอก ไม่มีพ่อค้าคนไหนเอาปืนมาจี้หัวให้มึงต้องซื้อของกู แต่เขาจะหาหนทางชักจูงคุณ หว่านล้อมคุณ พ่อค้าจึงเป็นชนชั้นที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ที่เราเรียกว่าความสุภาพ คุณไปดูขุนนางชนชั้นสูงตั้งแต่ระบบฟิวดัลสิ มันเคยสุภาพที่ไหน
สรุปคือไม่มีอะไรต้องไปกังวล?
สำหรับผมไม่ต้องไปกังวลกับมัน นี่คือมองแบบเป็นธุรกิจแบบหนึ่ง ก็ขายสินค้าไป ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ ถ้าคุณบอกว่าเขาก้าวล้ำเส้น สมมุติว่าเขาไปแอบถ่ายคุณร่วมเพศกันอยู่ ก็ฟ้องไปสิ ก็จบแค่นั้น กฎหมายหมิ่นประมาทอะไรต่างๆ ก็มี ก็ว่ากันไป แต่คุณอย่าลืมว่าในเวลาเดียวกัน ดาราเขาก็ได้ประโยชน์จากแมกกาซีนพวกนี้ไม่น้อย
แต่ทีเวลาได้ประโยชน์ไม่เห็นคุณโวยวาย?
ถูกต้อง! เวลาคุณได้คุณไม่เห็นพูดอะไร คุณจะแถลงข่าวแต่ละที โอ้โห คุณเรียกเขามาใช้งาน แต่เวลาไม่พอใจคุณก็ด่าเขาฉิบหายเลย
ประเด็นต่อมา สื่อพวกนี้ก็ได้ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงคนดังได้ เรามีโอกาสเห็นชีวิตปกติธรรมดาของคนดัง กรณีเลดี้ ไดอานา เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเรื่องชีวิตต่างๆ ของเขาถูกเปิดเผย คุณก็มีความรู้สึกร่วมกันกับเขาถ้าคุณอกหัก ถูกผัวทิ้ง แอบไปมีชู้ ไปมีกิ๊ก คุณก็เข้าใจร่วมกันได้ คุณสามารถแสดงตนร่วมกับเลดี้ ไดฯ ว่า เราหัวอกเดียวกัน…แฮปปี้มั้ย โอ้โห แฮปปี้
หรือคุณเปิดช่อง Discovery Channel ดู Forensic Science (นิติวิทยาศาสตร์) ที่นักโบราณคดีเที่ยวไปสำรวจตรวจตราโรงศพ ซากศพมนุษย์ ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ถามว่าละเมิดความเป็นส่วนตัวของศพมั้ย ก็คนตายไม่ลุกขึ้นมาด่าคุณนี่ใช่มั้ย ข้ออ้างของคุณคืออะไร เพื่อการศึกษา วิชาโบราณคดีคือวิชาที่คุณเข้าไปทำอะไรก็ได้กับสารพัดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย วิชามานุษยวิทยาคือการเข้าไปเสือกเรื่องราวต่างๆ ของชาวบ้าน เหมือนเรื่องโจ๊กที่เขาบอกว่า ครอบครัวเดี่ยวของชนเผ่าปาปัวนิวกินี ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก และนักมานุษยวิทยา 1 คน
ระบบทุนนิยมก็เหมือนกัน มันเสือกเรื่องชีวิตคุณ แล้วมันก็ขายได้ เพราะมีคนชอบเรื่องแบบนี้ ตรรกะเหมือนกันเลย ฝ่ายหนึ่งบอกว่าความรู้คืออำนาจ ฝ่ายหนึ่งบอกเงินคืออำนาจ ผมจึงไม่คิดว่ามีใครสูงส่งกว่าใคร
ทีนี้การซุบซิบนินทานั้นทำให้เรื่องราวส่วนตัวสุดๆ ของบุคคลอย่าง เลดี้ ไดอานา หรือคนอย่างมาดอนนา กลายเป็นเรื่องที่คุณรู้ได้ราวกับคุณไปยืนอยู่เหนือเตียงเขา หรือไปแอบถ่ายรูปในโรงแรมม่านรูด ทั้งหมดเห็นได้จากไหน คุณเห็นได้ในเรียลลิตี้ ทีวี และการซุบซิบดารา แต่สังเกตว่ากระบวนการเข้าถึงเรื่องส่วนตัวแม้จะเป็นการละเมิด แต่การเป็นคนดังที่ถูกรุกล้ำความเป็นส่วน ในแง่หนึ่งมันก็เป็นความโปร่งใสของโครงสร้างทางชนชั้นและสถานะของคนดังที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ เป็นสภาวะคู่ขัดแย้งของคนดัง
ผมไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี แต่นี่คือพาราดอกซ์ สภาวะลักลั่นที่คุณต้องเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบัน คุณบอกเข้าถึงไม่ได้ อ้าวเฮ้ย นี่มันเป็น public figure นะ ใช่มั้ย มึงแอบไปทำอะไร ตกลงธุรกิจกับใครแล้วมึงบอกว่านี่เรื่องส่วนตัว อ้าว กูจะไปรู้ได้ไง ผมว่ามันยุ่งน่ะ มันยุ่งในแง่ที่ว่าในที่สุดแล้วด้วยพลังของโลกสมัยใหม่ ทั้งธุรกิจ สำนึกบาป ความเท่าเทียมกัน เสรีประชาธิปไตย มันทะลุทะลวงทุกอย่างเข้ามา แล้วก็ไม่ได้มีมิติเดียวที่จะทำให้คุณพอใจ แต่มันทำให้คุณไม่พอใจด้วยในเวลาเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่ามาเป็นแพ็คเกจ คุณซื้อแพ็คเกจนี้ มันมาพร้อมของแถม คุณไม่อยากได้ของแถม แต่เขาก็บอก ไม่ได้ คุณต้องเอา…
อาจารย์มีคำแนะนำมั้ยครับว่าเราควรรับมือกับเรื่องทำนองนี้อย่างไร ควรกังวลมั้ยหรือต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมทุนนิยม
ผมว่าถ้าคุณจะตำหนิข่าวลือข่าวซุบซิบมันก็ตำหนิได้ แต่มันไม่ใช่แค่นั้นไง เพราะทั้งหนังสือ วรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือสื่ออะไรก็ตาม มันก็ส่งผลร้ายทั้งนั้นแหละ
อย่างล่าสุด ที่เป็นภาพยนตร์จากนิยายของ เอียน แมคอีวาน (Ian McEwan) เรื่อง Atonement เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในการชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าว จินตนาการหรือแฟนตาซีของคุณที่พร้อมจะคิดว่าเป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน นั่นเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย เพราะมันเอาคนเข้าคุกได้
ปัญหานี้ย้อนกลับไปอย่างน้อยๆ ก็คือความคิดของชาวยิวกับการปฏิเสธรูปเคารพหรือไอคอน (icon) เมื่อหลายพันปีก่อน ในตำนานของยิวนั้น โมเสสลงมาจากเขา รับบัญญัติ 10 ประการลงมา เห็นคนเต้นแร้งเต้นกาทำรูปเคารพก็เอาบัญญัติ 10 ประการทำลายรูปเคารพ นี่เป็นข้อห้ามสำคัญในทางศาสนา ไล่มาจนถึงอิสลามซึ่งคุณจะเห็นว่าอิสลามไม่มีรูปเคารพ คุณเคยคิดมั้ยว่ารูปเคารพทั้งหลายนั้นมันเป็นอันตราย
ในเวลาต่อมาความวิตกกังวลมันก็มีต่อภาษาเขียน งานของเพลโต เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว นี่กรีกโบราณนะครับ ตอนนี้ไม่มีใครวิตกกังวลใช่มั้ยว่าภาษาเขียนจะทำลายวัฒนธรรมภาษาพูด มีใครวิตกมั้ย ผมก็ไม่เห็นว่ามีใครวิตก ทุกคนแม่งก็โปรโมทให้มึงเรียนได้เขียนได้ คุณเคยคิดมั้ยว่านี่กำลังเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภาษาพูดให้กลายเป็นภาษาเขียน คุณคิดว่าคุณกำลังทำลายอะไรบางอย่างมั้ย
หรือเวลาคุณมาสัมภาษณ์ผม แล้วคุณเอาสิ่งนี้มาลงในกระดาษ มันก็ไม่ใช่ภาษาพูดแล้ว แต่เป็นภาษาเขียน (พูดเสียงดัง) คุณทำลายเนื้อหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ใช่มั้ย ผมคิดว่าคุณไม่มานั่งคิดให้เสียเวลา และผมเชื่อว่าคนอ่านก็ไม่คิด เพราะพวกคุณคงไม่มีทางเลือกมากภายใต้โครงสร้างของวัฒนธรรมการขีดเขียนและสิ่งพิมพ์ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่แค่ทุนนิยม
ตอนนี้คุณก็มาวิตกกังวลต่อประเด็นสื่อใหม่ๆ ลองย้อนกลับไปเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ผมเกิดและเติบโตมากับคำสั่งที่ว่าอย่าอ่านนิยายประโลมโลก จะทำให้เสียเด็กใจแตก ย้อนไปไกลกว่านั้นคุณยังเคยเป็นห่วงว่าจันทโครพ พระอภัยมณีที่ตอนนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติของชาติจะทำให้มนุษย์คิดอะไรเหลวไหล
อะไรที่คุณเรียกว่าเป็นวรรณคดีเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วถูกจัดให้เป็นสิ่งเลวร้าย ผลลัพธ์ก็คือการเซ็นเซอร์วรรณกรรม เช่น ขุนช้างขุนแผน การเซ็นเซอร์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในโลกสมัยใหม่และโลกสมัยเก่า เมื่อความคิดของผู้นำทางการเมืองเปลี่ยน ตราบใดก็ตามที่ถือว่าผู้นำประเทศรู้ดีที่สุดว่าอะไรดีสำหรับประชาชน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Father know the best พูดอย่างทุเรศๆ เลยนะ มีอะไรในโลกบ้างครับที่ไม่ทำร้ายใคร คัมภีร์ทางศาสนายังทำร้ายคุณได้เลย
ทีนี้ถ้าพูดเรื่องซุบซิบนินทาโดยเฉพาะข่าวลือในทางการเมืองนะ โดยประวัติศาสตร์เราก็เห็นมาโดยตลอด 10 ปีก่อนโกหกกันกลางวันแสกๆ กลางสภา ว่านักการเมืองบางคนปลอมแปลงเอกสาร พูดออกโทรทัศน์เลยนะ ย้อนประวัติศาสตร์ไกลกว่านั้นอีก ก็มีสิ่งที่เรียกว่ามีอีกาคาบข่าว อีกาที่ไหนคาบข่าวได้ล่ะ นกพูดได้เองหรือไง ฉะนั้นอย่าไปวอร์รี่กับมัน
ข้อนี้ถามสนุกๆ นะครับ มีคนบอกว่าถ้าธรรมศาสตร์เปิดเลือกตั้งอธิการบดีทางตรง อาจารย์จะได้เป็นอธิการบดีทางตรงคนแรก เนื่องจากได้คะแนนจากนักศึกษา อาจารย์คิดว่าที่มาของคำพูดนี้คืออะไร แล้วถือเป็นคำชมมั้ยครับ?
เอ่อ…ข้อความที่เรียกว่าคำชมหรือนินทาในคำถามของคุณนั้น ผมขอเริ่มต้นว่า หนึ่ง มันเริ่มจากสมมุติฐานที่ว่า ธเนศ วงศ์ยานนาวา นั้นมีความพ็อพ แต่จริงหรือเปล่าที่พ็อพน่ะ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไหนพ็อพบ้าง ผมคิดว่าแค่นี้มันผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว นักศึกษาจำนวนหนึ่งในคณะนี้ ไม่ต้องพูดถึงคณะอื่นๆ เลย ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเป็นใคร ไอ้ที่เดินๆ อยู่นี้ แม่งแตกต่างจากคนขายฝรั่งดองตรงไหน เด็กปริญญาโทหลายคนเห็นผมเดินเข้าคณะ เขาบอก – ตายห่านึกว่าเด็กส่งกาแฟ
โอเค ผมถือว่านั่นเป็นคำชมนะครับ ประเด็นพวกนี้คงเป็นเรื่องของการตลกเสียดสี คือตลกกับผม แต่เสียดสีคนอื่น เสียดสีโครงสร้างอำนาจ หรือเสียดสีใครผมไม่รู้… แต่คนพูดน่ะคงไม่ได้คิดอะไรมาก พูดเอามันให้มันขำๆ ไปอย่างนั้น แต่ลองนึกภาพตลกๆ ให้มันยิ่งไปกว่านั้นดูนะ เขาว่าประเทศเรากำลังเครียดใช่มั้ย คุณลองเอาพวกเชิญยิ้มมาเป็นพวกรัฐมนตรีดูสิ มันจะแก้ความเครียดได้มั้ย รับรองไม่มีใครหัวเราะออกแน่
แล้วเรื่องของความพ็อพนะ ผมขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ครั้งหนึ่งรายการเกมทศกัณฑ์เขาเอาหน้า อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาออก คนเล่นเกมยังตอบไม่ได้เลยนะครับว่าเป็นใคร แล้วไหนใครบอกว่านิธิดัง ผมว่ายังไงๆ ก็สู้หม่ำ จ๊กมก ไม่ได้ ตอนเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญช่วงปี 40 มีผู้หญิงมีการศึกษาคนหนึ่ง สวยเลยนะครับ ยังไม่รู้เลยว่าใครคือ หมอประเวศ (นพ.ประเวศ วะสี) คือเรา พูดถึงหมอประเวศ เธอยังไม่รู้เลย เธอนึกว่าพวกเรากำลังพูดถึงคลอง…คลองประเวศ
อีกกรณีหนึ่งนะ ตอนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จะให้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์กับนักปรัชญาอย่าง ฌาร์ก เดอริดา (Jacques Derrida – นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรีย โดดเด่นจากผลงานระเบียบวิธีการเชิงวิพากษ์และปรัชญาเกี่ยวกับการรื้อสร้าง) ปรากฏว่ามีคนประท้วงออกเลยนะครับ เป็นครั้งแรกในรอบไม่รู้กี่ร้อยปีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ปกติไม่มีใครสนใจหรอกว่ามหาวิทยาลัยมันจะให้กิตติมศักดิ์กับใคร ปรากฏว่าเรื่องราวนั้นลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งอังกฤษ แต่ก็มีคนอังกฤษสงสัยว่าทำไมต้องลงหน้าหนึ่ง อีตาแก่นี่มันเป็นใครกันวะถึงต้องลงหน้าหนึ่ง
ประเด็นคือว่ามหาวิทยาลัยมันดัง ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยธรรมดาๆ ก็อาจไม่มีใครสนใจ แต่ถึงเวลาพอลงหน้าหนึ่งปุ๊บเดอริดาก็ดังในอังกฤษในวันนั้นเลย คนขายฟิชแอนด์ชิพหรืออะไรต่างๆ มันไม่เคยรู้จักว่าเดอริดาคือใคร ก็ได้รู้จักในวันนั้นน่ะว่า อ๋อ ไอ้เบื๊อกนี่แม่งเป็นนักปรัชญาฝรั่งเศส
เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าเราอย่าได้คิดอะไรเลยเถิดไปขนาดนั้น เดอริดาก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวบ้าน แม้ว่าในช่วง 1990 นิตยสาร The Economist จะเคยลงว่าเขาเป็น 1 ใน 10 ของบุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อโลกขณะนั้นก็ตามที นี่เป็นปัญหาของกบที่เกิดอยู่ในสระจ้อย คุณจำได้มั้ยล่ะที่อีตาจอห์น เลนนอน เคยเลยเถิดไปถึงขนาดคิดว่าตัวแกเองดังกว่าพระเยซู…ซวยเลยคราวนี้
มีประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่ง เวลาเราพูดถึงการเลือกตั้ง การเป็นคนพ็อพนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณจะชนะเลือกตั้งนะครับ คุณอาจจะพรีเซนเตอร์ในทีวี อาจจะเป็นดารา ได้ลงหนังสือ Hello แต่อย่าคิดว่าทุกคนจะเป็น โรนัลด์ เรแกน หรือ อาร์โนลด์ ชวาเซเนเกอร์ นะครับ เพราะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมันต้องมีการจัดตั้ง มีองค์กร และมีอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ใช่อาฮุย (ตัวละครในนวนิยายฤทธิ์มีดสั้น) เที่ยวลุยเดี่ยวเข้าไปฆ่าได้ทั้งหมดนะครับ นี่ไม่ใช่หนังกำลังภายใน การเมืองเป็นเรื่องของการมีองค์กร มีการจัดตั้ง คะแนนกระแสมันไม่ได้ทรงพลังถึงขนาดนั้น
การให้ความสำคัญกับความเป็นพ็อพก็เป็นกรอบคิดในเชิงประชานิยมอีกแบบหนึ่งเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องมี ‘ใครรักใคร’ หรือ ‘พลังอะไร’ มาเป็นตัวช่วย
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ใน WAY ฉบับเดือนมิถุนายน 2551 |