ตามรอยมือแปล ‘ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี’

pairat02

เรื่อง : อภิรดา มีเดช

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

ก่อนที่โลกรู้จักสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจของโลกใหม่ จะว่าไปไม่เกิน 200 ปีมานี้เอง ดินแดนต้นแบบแห่งเสรีชนแห่งนี้ก็ต้องมีพิธีการ ‘ชำระ’ ประวัติศาสตร์ชาติตนเองให้สะอาดเอี่ยมไม่แพ้รัฐชาติใดในโลก มีแต่เชิดชูวีรกรรมอันกล้าหาญ การต่อสู้อย่างลูกผู้ชาย บางอย่างที่ดูไม่เข้าท่าเข้าทาง จำต้องถูก ‘รีไรท์’ จัดระเบียบวรรคตอนใหม่ หรือไม่ก็กวาดไว้ใต้พรมก่อน…ชั่วคราว

ชะตากรรมของชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือที่โลกเรียกตามโคลัมบัสว่า ‘อินเดียน’ – เจ้าของผืนดินเสรีแต่เก่าก่อน ก็เข้าทำนองขยะใต้พรมที่ว่า ประวัติศาสตร์กระแสหลักให้เกียรติจารึกเรื่องราวของพวกเขาไว้ว่าเป็นอนารยชน เป็นคนป่าที่พกปืน ชอบความรุนแรง ไร้สมอง อย่างที่เรารับรู้กันมาจากสื่อและหนังคาวบอยส่วนใหญ่

32 ปีมาแล้ว เมื่อหนังสือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee) ของ ดี บราวน์ ฉบับแปลโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ ออกสู่สายตานักอ่านชาวไทย ถือเป็นกลุ่มเบิกนำและกรุยทางให้กับงานในแขนง Non-fiction ด้วยลีลาการร้อยเรียงโศกนาฏกรรมชนพื้นเมืองอเมริกันของบราวน์ ทำเอาหลายคนที่เกิดทันยุคนั้น ยกหนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์เรียนรู้ชีวิต และเสริมความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา

ระหว่างนั้น ไพรัช แสนสวัสดิ์ ยังผลิตงานแปลออกมาอีกเกือบ 10 เล่ม แต่ไม่นาน ชื่อของเขาก็ค่อยๆ เลือนไปจากวงการ คล้ายไม่มีตัวตน

แม้ในปัจจุบัน ไพรัชยังทำงานประจำเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่เขาเลือกแล้วว่า การเก็บเนื้อสงวนตัว ทำงานอยู่ในมุมคนเดียวเงียบๆ มีเหตุผลมากกว่าที่จะต้องปรากฏตัวให้สาธารณะเห็น

นอกจากงานแปลที่ทำให้เราได้ทึ่ง เรื่องราวการเลือกใช้ชีวิตของเขา รวมทั้งประสบการณ์หลังอานจักรยานที่เขาใช้เป็นพาหนะคู่ใจในชีวิตประจำวันตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็น่าสนใจจนไม่อาจมองข้ามไปได้

WAY เชื่อว่าการพานพบผู้แปลหนังสือดี พร้อมๆ กับวิถีสองล้อที่มาบรรจบกัน ย่อมไม่ใช่เหตุบังเอิญ

 

ที่ผ่านมาเราตามหาคุณไพรัชยากมาก ทั้งที่คนทำงานลักษณะนี้น่าจะพอถามหาตามตัวกันได้ไม่ยาก ก็เลยสงสัยว่า ทำไมถึงค่อนข้างเก็บตัว มีอะไรไม่พอใจคนในวงการนี้หรือเปล่า

จริงๆ แล้ว ไม่มีเลย พูดง่ายๆ ผมไม่ได้ขัดแย้งกับใครชนิดที่ว่าเป็นสาเหตุ แล้วก็ตรงกันข้ามนะ ถ้าผมอยากจะทำ หรือขยันจะทำ ก็มีคนยินดีพิมพ์ให้ แล้วลิงค์เก่าๆ ในสมัยที่ผมทำ เขาก็ยังทำกันอยู่ และเขาก็ยินดีจะรับ แต่ผมไม่ทำเอง

 

อยากทราบความเป็นมาที่ทำให้ตัดสินใจหยิบเรื่อง ‘ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี’ ขึ้นมาแปล

มันมียุคหนึ่งในเมืองไทยมีหนังคาวบอย เราก็ดูมาตั้งแต่เด็กๆ มันก็คล้ายกับเรื่องที่บราวน์เขาเล่า แต่บราวน์อยู่ในอเมริกาแล้วมีเพื่อนเป็นอินเดียน เราไม่ได้มีเพื่อนเป็นอินเดียน เราก็เข้าใจโลกของคาวบอย-อินเดียนตามแบบคนไทย

แต่พอได้อ่านเรื่องนี้ ก็คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่น่าจะทำให้เข้าใจดีขึ้นว่า แท้จริงแล้ว ฝ่ายที่ไปเบียดเบียนเขาเป็นฝ่ายรัฐบาลอเมริกันมากกว่า ไม่ใช่อยู่ดีๆ อินเดียนไปเที่ยวโจมตีรถม้า กองเกวียน ผู้ตั้งรกรากอะไรต่างๆ ตามที่เห็นมาในสื่อต่างๆ ทั้งการ์ตูนและภาพยนตร์ตั้งแต่เด็กๆ

เราคิดว่ามันน่าแปล เลยไปปรึกษาเพื่อนบางคน ต่อมาก็ไปคุยกับสำนักพิมพ์ว่าเขาเห็นด้วยไหมถ้าจะพิมพ์ สมัยนั้นส่วนใหญ่สำนักพิมพ์จะเลือกให้ผู้แปลทำ แต่เราเลือกเล่มนี้ไว้ตั้งใจว่าจะทำ แล้วจึงไปเสนอ เขาก็พิมพ์ให้

 

มันคือการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับผู้แพ้?

คือมันแทบจะเป็นครั้งแรกที่รวบรวมหลายๆ เหตุการณ์ แล้วเอามาแสดงต่อสาธารณชน ทำให้ทั้งนักวิจารณ์และคนอ่านอย่างเราๆ รับรู้รับทราบว่า ถ้าจริงแบบนี้ มันก็ไม่แฟร์ เพราะมันไปผิดสัญญากับเขาทุกสเต็ปเลย แต่เราก็ไม่ได้ว่าอินเดียนเป็นผู้วิเศษ หรือถูกรังแก มันเป็นเรื่องโต้ตอบกันทุกฝ่าย แล้วก็เหมือนกันทุกแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลกับปาเลสไตน์ หรือที่อื่นๆ ในโลก ในยุโรปก็รบกันเองมาก อินเดียนเผ่าต่างๆ ก็ทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ แต่กับชนพื้นเมืองในอเมริกา โลกมันค่อนข้างจะเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว มีชาวยุโรปเข้าไปอยู่ บังเอิญอำนาจของอเมริกามันรุนแรงมหาศาล ขณะที่ภูมิประเทศของอเมริกาเหนือ มันเป็นดินแดนที่อำนวยให้ทำอย่างนี้ได้

 

แล้วทำไมอินเดียนถึงได้เชื่อใจ ไว้ใจในคำสัญญา ทั้งที่อีกฝ่ายก็ผิดสัญญามาโดยตลอด

นั่นสิ…ทำไมซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ขนาดนั้น บราวน์เขาก็ประหลาดใจ แต่มันน่าจะมาจากที่ว่า อินเดียนโดยปกติ เขาไม่ได้คิดว่าใครจะมาโกหกกัน เพราะเขาถือว่ามันเป็นเรื่องใช้ไม่ได้ ยิ่งมาโกหกกันในเอกสาร หรือใช้ลูกเล่นต่างๆ เราจะเห็นว่าบางตอนในหนังสือ อินเดียนจะบอกว่า ตอนทำสัญญาไม่มีเรื่องนี้เลย แล้วตอนหลังมาบอกว่ามาเขียนไว้อย่างนี้ได้ยังไง

อันนี้มีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางศาสนาด้วย ในหลายๆ เผ่ามีศาสนาที่แตกต่างกันไปบ้าง วิธีคิดก็ต่างกัน แต่พื้นฐานจะคล้ายกัน คือเขาเคารพธรรมชาติ เคารพโลก เคารพมนุษย์ สัตว์ พืช แม่น้ำ ลำธาร พระอาทิตย์ และการที่เป็นอย่างนี้ ไม่ได้แปลว่าเขานับถือศาสนา แต่เป็นธรรมชาติของเขา เขาเกิดมาแล้วเป็นอย่างนี้

 

ซึ่งมันไม่ใช่ศาสนาแบบที่เราเข้าใจ?

มันไม่เหมือนที่ชาวคริสต์ไปโบสถ์วันอาทิตย์ ชาวมุสลิมไปสุเหร่า หรือชาวพุทธไปไหว้พระ แต่ศาสนาของอินเดียนคือ การดำรงชีพอยู่ในธรรมชาติ มันคือการใช้ชีวิต และเขาก็นับถือความมีเกียรติในคำพูด พูดอะไรแล้วต้องรับผิดชอบ

นอกจากนั้นก็มีคุณธรรมอื่นๆ อย่าง ความกล้าหาญ รักเพื่อนมนุษย์ ความเผื่อแผ่ สุภาพอ่อนโยน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ วัฒนธรรมอื่นอาจจะไม่เข้าใจ

ในด้านที่เขาสุภาพ หรือมาเชื่อเรา คนที่เจริญกว่าก็จะดูถูกเอาว่า ทำไมโง่นัก ใครจะเชื่อ คนที่เหนือกว่า หรือจิตใจไม่ดีกลายเป็นไปตำหนิเขา แต่พอเขาถูกกระทำแล้วโต้ตอบเอาบ้าง ก็บอกว่าเขาป่าเถื่อน ดุร้าย เรียกว่าเป็น savage ซึ่งชนพื้นเมืองถูกเรียกแบบนี้อยู่พักใหญ่ แต่เขาบอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรเกินไปกว่าที่ศาสนาเขายอม ถ้าคุณถูกบีบบังคับในการดำรงชีพคุณก็ต้องใช้วิธีโต้ตอบที่อยู่ในเกณฑ์ และใครจะโต้ตอบได้ก็ต้องมีความกล้าหาญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันส่งต่อกันมาเป็นพันๆ ปีก่อนที่คนขาวจะไปยุ่งกับเขาเสียอีก

 

ช่วงที่เกิดเหตุการณ์อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่วูนเด็ดนีนั้น คนที่คิดเห็นต่างไปจากคนส่วนใหญ่ พูดง่ายๆ คนที่เห็นใจอินเดียน เจอผลลัพธ์อย่างไร

โลกปลายศตวรรษที่ 19 วรรณกรรมมันก็มาในแนวเห็นแก่หมู่คณะเยอะ คนขาวก็เขียนเข้าข้างคนขาว ถ้าใครไปเขียนแหวกแนวออกไปก็อาจจะถูกมองว่าเป็นคนอื่น ฉะนั้น ใครที่จะแหวกขึ้นมาหน่อยก็อาจจะได้รับผลไม่ดี อย่าง จอห์น คลัม (ในหนังสือวูนเด็ดนี) เขาเป็นคนที่เห็นใจอินเดียน พอเห็นใจปั๊บ กลายเป็นว่าชีวิตนักหนังสือพิมพ์ก็ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ ถ้าอยากอยู่กับหมู่คณะ ก็ต้องเข้ากับชาวเมือง ถ้าไม่เข้าก็หุบปากไว้เฉยๆ คิดอะไรก็คิดไป แต่ถ้าคิดแล้วเขียนชีวิตยุ่งแน่ มันก็มีลักษณะนั้นเยอะเหมือนกัน

ไม่เหมือนทุกวันนี้ในอเมริกา ไม่มีใครไปปิดกั้นอะไรใครได้ หลังจากยุค 50 เป็นต้นมา การต่อสู้เรื่องนี้ มันผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมาก จนกระทั่งมันกำหนดได้เลยว่า ความคิดและคำพูดของคน ไม่มีใครไปทำอะไรได้ นอกจากคุณไปก่อการร้าย วางระเบิด ไปโจมตีทางกายภาพ อย่างนี้มันไม่ได้ อันนี้พูดกว้างๆ นะ พูดชนิดที่ไม่ได้คำนึงถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ อะไร แต่ถ้าเกิดเหตุที่ประเทศเป็นอันตรายเมื่อไหร่ อย่างเช่น 9/11 ถ้ามีหนังสือพิมพ์ไปคิดแบบเห็นใจนักก่อการร้าย คงโดนเล่นทุกทางเหมือนกัน

 

แล้วความรับรู้ในเชิงประวัติศาสตร์อเมริกาของคนไทยเมื่อ 30 ปีก่อน เป็นพล็อตที่ถูกครอบงำโดยหนังคาวบอยหรือเปล่า

ก็หนังเป็นส่วนใหญ่ หนังสือมีไม่มากนัก เช่นในหนังสือเก่าๆ อย่างชาวกรุง ของค่ายสยามรัฐ หนังสือเล่มเล็ก แล้วก็หนังสือการ์ตูน นอกจากนั้น โทรทัศน์ก็มีหนังซีรีส์เก่าๆ อย่าง คิต คาร์สัน เราก็ดูอยู่

หนังคาวบอยที่เป็นชุดๆ สมัยนั้นก็มีเยอะ อย่างมาเวอริค ในหลายๆ ตอนของเมืองคาวบอย จะมีเหตุการณ์ที่อินเดียนเป็นผู้ร้ายทั้งนั้น คือมีการเข้าโจมตี หรือทำร้ายคน ซึ่งพื้นฐานในเรื่องจะเป็นคนขาวทั้งหมด เราก็เข้าใจว่าอินเดียนเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด แต่ถ้าได้อ่านอย่างอื่นบ้างก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว ผู้ตั้งรกรากนั่นแหละเป็นฝ่ายไปรุกไล่ที่ของเขา

 

ช่วงที่หนังสือเล่มนี้ออกมาเมื่อปี 1970 ความรับรู้ของอเมริกันชนส่วนใหญ่คล้ายกับของบ้านเราไหม

คล้ายกัน คิดว่าด้วยความจงใจของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ หรือนักวรรณกรรม มักจะจัดให้อินเดียนเป็นฝ่ายผิดอยู่ตลอดเวลา กระทั่งสาธารณชนอเมริกันหลายคนก็เข้าใจแบบนั้น เมื่อหนังสือเล่มนี้ออกมามันก็เลยเปลี่ยนความคิดคนได้ไม่น้อย

 

ตอนหนึ่งในหนังสือวูนเด็ดนี บราวน์เล่าถึงชีวิตของอินเดียนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นอเมริกัน ซึ่งมันดูขัดแย้งในตัวเอง

คือบทหนึ่งเป็นของเขาเลยนะ เขาชื่อ อีไล ปาร์คเกอร์ เป็นอินเดียนแท้ๆ แต่พยายามจะเรียนหนังสือและใช้ชีวิตแบบคนขาว คือทั้งเรื่องมันกดอินเดียนทุกๆ บท แต่มีบทนี้ที่อินเดียนอยากเป็นคนขาว นี่แหละคือชั้นเชิงทางวรรณกรรมของผู้เขียนที่เขาแทรกบทนี้เข้ามา พูดถึงปาร์คเกอร์ทั้งที่ไม่ได้มีบทบาทกับเหตุการณ์ วูนเด็ด นี โดยตรง แต่มีบทบาทในประวัติศาสตร์อเมริกัน คือเขาได้รับเลือกจากนายพลยูลิสสิส เอส. แกรนต์ ผู้บัญชาการทัพฝ่ายสหภาพ ให้เป็นผู้ร่างคำประกาศยอมแพ้ของนายพลรอเบิร์ต อี. ลี ผู้บัญชาการฝ่ายใต้ เพื่อยุติสงครามกลางเมือง

 

เท่าที่เห็นงานแปลส่วนใหญ่ของคุณไพรัชเป็นงานประเภท Non-fiction ทำไมถึงสนใจงานประเภทนี้มากกว่างานแบบอื่น อย่างเช่นนิยาย เรื่องสั้น

คิดว่างาน Non-fiction อย่างน้อยมันเป็นความจริง ที่พูดว่า ‘ความจริง’ ไม่ใช่ว่ามัน ‘จริงๆ’ อย่างนั้นแน่ๆ แต่อย่างน้อยคนที่เขาบอกเล่า เขาได้ข้อบอกเล่ามาว่า มันเกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ เราก็ฟังไว้ชั้นหนึ่งก่อน แต่ชั้นเชิงที่จะบอกเล่าให้น่าสนใจเป็นอย่างไร มันเป็นอีกปัญหาหนึ่ง

อีกอย่างเพราะการเรียบเรียงของบางคนเขาทำได้ดี ยากเหมือนกันที่จะรวบรวมออกมาแล้วน่าสนใจ และบางทีเรื่องจริง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นประวัติศาสตร์ สามารถจะบอกจะสอนกันได้ อาจจะเป็นตัวอย่างหรือเป็นข้อเตือนใจให้กับผู้คนในยุคปัจจุบันได้

 

พูดได้ไหมว่า ชะตากรรมรูปแบบนี้ของชนพื้นเมือง ยังคงถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์โลก เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่และตัวแสดงไปเท่านั้น

จะว่าไปการรุกรานกันและแย่งดินแดนมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก แต่การที่ไปกลืนกินแล้วสร้างอารยธรรมใหม่ทับลงไปก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เกิดในสงครามสมัยใหม่ไม่ค่อยมี ใกล้เคียงหน่อยก็มีพวกอิสราเอลไปสร้างประเทศในดินแดนปาเลสไตน์ โดยอ้างพันธะสัญญา แต่อิสราเอลก็ไม่ได้คิดจะไปเปลี่ยนแปลงชาวปาเลสติเนียนถึงขั้นนั้น

แต่ที่น่าจะเทียบเคียงกับชะตากรรมของอินเดียน คิดว่าเป็นเรื่องของทิเบต เพราะจีนเข้ารุกรานดินแดนในขณะที่คนทิเบตยังไม่ค่อยเจริญ แต่จีนอ้างว่าเป็นของเขา ในทางประวัติศาสตร์จีนอาจจะเคยรบชนะมาจริง แต่การครอบครองของจีนไม่ใช่ครอบครองดินแดนหรือทรัพยากรอย่างเดียว จีนทุกวันนี้พยายามจะส่งคนเข้าไปอยู่และครอบงำทางวัฒนธรรม และพยายามถึงขั้นที่ว่าให้คนทิเบตกลายมาเป็นคนจีนนั่นแหละ

 

 

pairat05หลังจากวูนเด็ดนีฉบับแปลออกมาแล้ว ทราบว่าคุณไพรัชยังมีผลงานแปลออกมาบ้าง แต่เรียกได้ว่า 20 ปีมานี้ คุณหายหน้าหายตาไปจากวงการแปลเลย ซึ่งถ้าคุณไม่ได้มีเรื่องผิดใจกับใคร แสดงว่าต้องมีบางอย่างที่ดึงความสนใจไปจากงานแปลได้?

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะความสนใจด้านอื่นๆ มันมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ใจยังคิดอยากจะทำ แต่การจะลงมือทำ บางทีต้องฝ่าออกไปจากชีวิตประจำ ฝ่าออกไปจากความสบายๆ ทอดหุ่ยของเรา ทำงานแปลมันต้องขยัน เอาใจใส่ ต้องค้น แล้วยุคก่อนมันไม่มีอินเทอร์เน็ต จะค้นเราก็ต้องไปตามห้องสมุดต่างๆ ถามผู้รู้ ถามอาจารย์บ้าง ปริมาณปกหนังสือในท้องตลาดตอนนั้นกับตอนนี้ก็ต่างกันมาก ปัจจุบันมีหนังสือออกแทบทุกวัน สมัยก่อนออกมาเล่มหนึ่งก็เป็นข่าวแล้ว

ที่ไม่ได้ทำ ไม่ใช่เพราะเบื่อหน่าย หรือค่าตอบแทนไม่ดี แต่เพราะความสนใจของเรามันหลากหลาย แต่การอ่านไม่ได้ทิ้งนะ ความอยากทำก็ไม่ได้หายไปไหน แต่พอไม่ได้ทำก็เลยติดนิสัย

อีกอย่าง พูดไปก็เหมือนกับไปว่าวงการ ช่วงนั้นหนังสือบางเล่มก็ออกมาแบบสุกเอาเผากิน ซึ่งเวลาทำงานแปลไม่เอาใจใส่ไม่ได้ ซึ่งมันก็เอาเวลาไปจากชีวิตเราเยอะเหมือนกัน

 

แล้วหลังจากนั้น เอาความสนใจไปให้กับอะไรอีกบ้าง

ไม่ว่าจะทำอะไร ผมมักจะสนองความอยากรู้อยากเห็น และความชอบของตัวเอง ช่วงหนึ่งได้ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ แต่ทำเฉพาะช่วงที่ว่างนะ ผมไปแปลเอกสารให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอยู่หลายปีเหมือนกัน เป็นโครงการทรัพยากรชายฝั่งของสำนักงานสิ่งแวดล้อม ได้ทุนมาจากอเมริกา

หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องถ่ายรูป ผมถ่ายรูปเยอะ ในยุคนั้นยังไม่มีกล้องดิจิตอล ก็ถ่ายสไลด์ ถ่ายไว้เยอะมาก

 

ถ่ายภาพนี่ไม่ใช่ในงานข่าวใช่ไหม

ไม่เลย…ผมว่ามันคนละโลกกันเลยนะ ไม่ใช่ไม่ดี คือการถ่ายภาพมันมีด้านของมันมากมายมหาศาล การเป็นช่างภาพนักข่าวก็เป็นอาชีพที่มีอนาคต เติบใหญ่ไปเป็นช่างภาพชื่อดังได้ แต่ที่แย่ที่สุดคือ เขาต้องไปรอเหตุการณ์ รอเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ใช่โลกของเรา

ช่วงที่ถ่ายภาพ ผมได้ร่วมงานกับองค์การแคร์ (care.org) เขาจ้างผมเป็นช่างภาพในประเทศไทย ก็ทำอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้งานในไทยเขาลดลง เนื่องจากเห็นว่าเราเจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ลดความช่วยเหลือลง

นี่เป็นด้านหนึ่งในการถ่ายภาพสารคดี กับอีกด้านที่เป็น Street Photography ก็ชอบ เชื่อไหมว่า ศึกษาเรื่องกล้องจนสร้างกล้องเอง ใช้ฟิล์ม 120 เอามาถ่ายเป็นภาพพาโนรามา

 

สรุปแล้วคือเป็นคนที่เล่นอะไรแล้วต้องเล่นให้สุดๆ เลยใช่ไหมคะ

ใช่ ก็สร้างกล้องเองเลย เอาไม้ แผ่นโลหะ มาทำ ต้องวัดระยะละเอียดมากๆ เสร็จแล้วออกมาก็ใช้งานได้ดี ขณะที่คนอื่นจะเจอปัญหาเวลาเลื่อนฟิล์มแล้วขอบมันทับกัน ก็เล่นกับมันอยู่นาน จนเข้ายุคดิจิตอลถึงค่อยๆ คลายลง

 

แล้วรูปส่วนใหญ่ที่ถ่ายมาเก็บไว้ที่ไหน

เก็บเป็นสไลด์ เก็บไว้บ้าง หายไปบ้าง ช่วงหลังๆ ถ่ายเป็นฟิล์มพรินท์ เก็บไว้เป็นตู้ มีอยู่วันหนึ่งเปิดเข้าไปดูมีปลวกเดินทางทะลุจากซ้ายมาขวา ขวามาซ้าย โคตรเสียดายเลย คิดว่าจะเก็บไว้ดูตอนแก่เสียหน่อย (หัวเราะ)

 

ทราบมาว่า นอกจากเล่นกล้องอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว งานเขียนภาพก็เป็นงานอดิเรกอีกอย่างด้วย

มันเริ่มจากการพิจารณารูปถ่าย แล้วได้อ่านหนังสือถ่ายภาพของฝรั่งเยอะ แต่เราเองก็ไม่ได้เรียนมาทางถ่ายภาพเป็นศิลปะจริงๆ ก็เลยมาคิดๆ ดูว่า น่าจะลองเพนท์รูปดู เพราะอย่างน้อยรูปเพนท์พวกนี้มันดูได้นานกว่า ดูแล้วมันให้ความคิดความอ่าน ให้จินตนาการ ก็เลยหาทางไปเรียน ทุกวันนี้ก็ยังมีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่ แต่ต้องทำตอนว่างจากงานจริงๆ

 

ต้องมีพื้นฐานด้านนี้มาก่อนหรือเปล่าคะ

ที่ผมสนใจเรื่องเพนท์ก็มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือสอนเพนท์สีน้ำมัน เหมาะกับคนที่ยังจดๆ จ้องๆ ว่าจะลงมือกับมันเสียทีดีไหม พอได้เห็นเขาเพนท์แล้วสวยงาม เราก็หลงใหล ไม่ว่าจะเพนท์ให้เหมือนจริง เพนท์แบบ Expressionism หรือ Impressionism สุดท้ายก็เลยได้ลงมือเสียที

 

แล้วฮ็อบบี้นี้ ถือว่าไปสุดทางหรือเปล่า

อ๋อ ไม่หรอก หลายคนเราก็มองเห็นว่าเขาไปได้ดี เราก็ไม่ได้เก่งเท่าไหร่

 

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่งานยังชีพเลยใช่ไหม

ไม่เลย (หัวเราะ)

 

ฟังๆ ดูแล้ว พลังล้นเกินไปหรือเปล่า

น่าจะเป็น care-free มากกว่า ไม่ค่อยห่วงอะไร บางคนต้องสะสมเพื่ออนาคตจะได้สบาย แต่ผมไม่ค่อยคิดเรื่องพวกนั้น หลายคนที่ทำงานมาขนาดนี้ เขาเก็บตังได้เยอะกว่าเราเยอะ ของเราหมดไปกับเรื่องเดินทาง เดินทางตอนถ่ายรูปเป็นสิบๆ ปีก็ไม่ใช่น้อย เพราะขับรถไปเองแทบทั่วประเทศ

 

จากที่ได้อ่านบล็อกส่วนตัวของคุณไพรัช มีแต่ภาษาอังกฤษ ถ้าไม่ได้เจอตัวจริง อาจจะเข้าใจว่าฝรั่งเขียนด้วยซ้ำ

ที่ทำแบบนั้นเพราะมีพรรคพวกต่างชาติอยู่บ้าง บางคนไม่ได้คุยกันบ่อยก็บอกให้เขาคอยอ่านบล็อก ภาษาอังกฤษผมเป็นประเภทขาดการฝึกฝน คือไม่ได้เขียนเป็นอาชีพ นานๆ เขียนที แต่ขณะเดียวกัน เราจะไปทำในแบบเหมือนฝรั่งเลยก็ไม่ใช่ ฝรั่งจะมารู้ภาษาไทยอย่างเราก็ไม่ใช่ คงมีน้อยคน เห็นคนที่ทำได้ดีก็อย่าง ไมเคิล ไรท์ และ บ๊อบ ฮอลิเดย์ พวกนี้เขาเก่งทั้งไทยทั้งอังกฤษ

เรื่องที่เห็นมันก็เป็นความพยายามนะ ไม่ได้มาถ่อมตัวหรืออะไร เพราะเราไม่ได้เขียนเป็นอาชีพ คนอื่นที่เราเห็นเขาเก่งๆ และเขียนไม่ขัดหู อย่างคนไทยหลายคนในหนังสือพิมพ์เช่นเนชั่นและบางกอกโพสต์ก็เขียนหนังสือภาษาอังกฤษได้ดี แต่จับตัวได้ ถ้าเราถึง เวลาเราอ่าน จะรู้ว่าเขาถึงหรือไม่ถึง เหมือนยกตัวอย่างคนพูดว่า “ผมได้ยินนาย ก เขาพูดภาษาเยอรมันเก่ง” มันก็ต้องแล้วแต่ว่าผู้ที่พูดรู้ภาษาเยอรมันแค่ไหน ไม่ใช่ทุกคนจะไปบอกใครก็ได้ว่าใครเป็นอย่างไร “It takes a thief to catch a thief.” คือมันก็ต้องอาศัยขโมยมาจับขโมยนั่นแหละ เพราะมันรู้ทันกัน

 

สังเกตได้อีกอย่างว่า คุณไพรัชไม่ค่อยทิ้งร่องรอยอะไรบนโลกออนไลน์ไว้ให้คนอื่นๆ ตามถึงตัวได้เลย ไม่ว่าจะเป็นงานแปล หรือแม้แต่เรื่องราวในสังคมจักรยาน

จริงๆ ก็ไม่เชิงตั้งใจนะ สำหรับเรา การปรากฏตัวในขณะที่เราไม่ได้คิดจะไปหาชื่อเสียงอะไร มันก็เป็นเรื่องแปลกๆ บางคนอาจจะชอบบอกว่าตัวเองเป็นใครทำอะไร แต่เราไม่คิดจะพูดเรื่องพวกนี้ อีกอย่างโลกออนไลน์ความคิดเห็นมันหลากหลายเสียจนเราไม่รู้เราพูดกับใคร แล้วในโลกออนไลน์ก็มีตั้งแต่เด็กไม่ประสีประสาไปกระทั่งแก่มากๆ อีกอย่างเขาก็ทะเลาะกันเยอะแยะไปหมด แต่ที่รักกันออนไลน์ก็คงมี แต่งงานกันออนไลน์ ออกลูกออนไลน์ (หัวเราะ) หรือตายไปแล้ว ก็ยังมีฝังศพออนไลน์ ซึ่งในโลกออนไลน์ เราคงไม่ทำอะไรถึงขั้นนั้น แล้วก็ไม่เคยใช้นามปากกาอะไรในการเขียนหนังสือ ใช้แต่ชื่อจริง นามสกุลจริงมาตลอด

ในโลกของจักรยานก็เหมือนกัน ผมก็ไม่เคยไปเขียนชื่อที่อยู่ แล้วก็ไม่เคยปรากฏตัวอะไรมากมายนัก แต่จะไปปิดใครได้ ถ้าคุณอยู่ในเว็บไซต์จักรยาน จะซื้อของก็ต้องบอกชื่อจริง ที่อยู่จริง ก็แค่นั้นเอง ไม่ใช่ความลับใหญ่หลวงอะไร เพียงแต่ไม่นิยมที่จะไปทำท่าแบบ ผมหน้าตาอย่างนี้ ทำงานอะไร ไปไหนมา ทำอะไรอยู่ อย่างรูปจักรยานที่เอาลงบล็อก ผมคิดว่าถ่ายแต่ตัวจักรยานก็น่าจะพอแล้ว แต่ผมก็มีเพื่อนจักรยานหลายคนนะ ไม่ว่าจะเป็นนักปั่นหรือเจ้าของร้าน หรือช่างจักรยาน ไม่ได้ปิดกั้นตัวตน เพียงแต่ไม่ได้คุยเรื่องตัวเองมากนัก

 

พูดถึงจักรยาน ไม่ทราบว่า คุณไพรัชปั่นจักรยานมากี่ปีแล้ว ทำไมถึงเลือกใช้มันเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน

ก็ปั่นมาประมาณ 5 ปี ที่เริ่มปั่นจักรยาน เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างในชีวิตมันทับถมกันสร้างความเคยชินให้เราในการอยู่กับที่ เพนท์รูปก็เพนท์อยู่กับที่ ถ่ายภาพบางอย่างก็ไม่ได้ไปไหนไกล วนเวียนอยู่กับอะไรสักอย่าง อ่านหนังสือ หาความรู้ ทำงานก็อยู่กับที่ กลับบ้านก็อ่านอินเทอร์เน็ต

ถึงจุดหนึ่ง รู้สึกว่าร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวมากๆ มันไม่ดี เหมือนกับเราอยากจะกระโดดออกจากร่างกายของเรา เพื่อไปโลดเต้น หรือไปทำอะไรอย่างอื่น ขณะที่ตัวเองง่อยเปลี้ยอยู่ แต่จิตวิญญาณมันโลดไปแล้ว

ก็เลยมาคิดว่า จริงๆ แล้ว ชีวิตไม่ควรเป็นอย่างนี้ มาคิดได้หลังจากทำผิดกับร่างกายมานาน

 

อาศัยแรงกระตุ้นจากอินเทอร์เน็ตด้วยหรือเปล่า ช่วง 4-5 ปีก่อนรู้สึกว่ากระแสจักรยานเริ่มเป็นที่สนใจขึ้นมาบ้างแล้ว

ไม่เลย ผมไม่ได้อ่านเว็บจักรยานมาก่อนปั่น ครั้งแรกอยากปั่นออกกำลัง ประมาณปี 50 ตอนนั้นไม่รู้เรื่องขนาดจักรยานเลย ก็ถามเพื่อนคนหนึ่งแถวเกษตร เขาบอกมีรถที่ซื้อมาถูก แล้วเอาไปซ่อม ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเลยว่า ล้อมันขนาดไหน มันก็บอกยินดีจะยกให้ ผมก็เอา

จุดเริ่มต้นไม่ได้คิดอะไร คืออะไรก็เอา มันเป็นรถล้อ 24 นิ้ว ซึ่งเป็นรถที่ไม่เข้าท่าที่สุดในบรรดาจักรยานทั้งหลาย เพราะถ้าใครใช้ 24 ได้ ทำไมไม่ใช้ 26 เสียเลย แล้วคนที่ใช้ 26 จะใช้ 24 ไปทำไม เมื่อต้องการใช้จักรยานที่มีขนาดเล็ก ก็น่าจะไปใช้ล้อ 20 ซึ่งแพร่หลายกว่า ฉะนั้น รถล้อ 24 จึงเป็นรถประหลาดของโลกจักรยาน

พอมาปั่นก็ปรากฏว่ามันผิดขนาด ปั่นแล้วปวดหัวเข่า ทนปั่นอยู่หลายอาทิตย์เหมือนกัน สุดท้ายก็ไม่ไหว ซื้อใหม่ดีกว่า ก็เลยไปซื้อเสือภูเขามือสองมาคันหนึ่ง เกือบๆ สองหมื่น

 

แล้วพัฒนาจากปั่นออกกำลังเป็นปั่นไปทำงานได้อย่างไร

พอได้คันใหม่มาก็ปั่นออกกำลังทุกวัน แต่เราทำงานตอนเย็น เที่ยงหรือบ่ายโมงเราก็ต้องออกไปปั่น สัก 1-2 ชั่วโมง แล้วกลับมาอาบน้ำแต่งตัวเพื่อจะขับรถไปทำงาน เป็นอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ถึงจุดหนึ่งก็ไม่ไหว มาคิดได้ว่า ปั่นไปทำงานมันซะเลยดีกว่า

เลยมาหาทางว่า การออกถนนนี่มันอันตรายแค่ไหน เราเคยออกก็แค่ใกล้ๆ บ้าน แต่ถ้าไปทำงาน ระยะทางก็ยังไม่ไกลเกินไป ประมาณ 12 กิโลเมตร พอดีผมต้องทำงานวันอาทิตย์ เลยเป็นฤกษ์เริ่มต้นที่ดี ก็เลยตัดสินใจปั่นแม่งเลย ทีแรกก็คิดเรื่องที่จอดรถ ถ้าต้องจอดข้างนอกไม่ได้อยู่แล้ว ก็เลยเอาไปจ่อมไว้ตรงไม่ไกลจากโต๊ะตัวเอง เพราะวันอาทิตย์มีคนมาทำงานน้อยหน่อย เรื่องเอารถไปไว้ใกล้โต๊ะตัวเองนี่ ผมทำคนแรกในออฟฟิศเลย ทำไปทำมาก็กลายเป็นนิสัยที่จะต้องปั่นไปทำงานเป็นส่วนใหญ่

 

ปั่นไปทำงานตอนบ่ายๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ตอนกลางคืนต้องปั่นกลับคนเดียว เคยเจออะไรแปลกๆ มาบ้าง

ตอนปั่นกลับ มันก็ไม่ดึกดื่นอะไรมาก แค่สี่ทุ่มกว่า รถก็ยังคับคั่งอยู่ แต่ก็เคยมีประสบการณ์อยู่บ้างเหมือนกัน วันนั้น มีมอเตอร์ไซค์ซ้อนสองคนมาขี่ไล่หลัง ค่อยๆ ตามเรามาในซอย พอเลยเราไป เขาก็เลี้ยวกลับมาชลอดูเราอีก เราก็เดาไม่ถูกว่าคิดยังไง แล้วในซอยมันจะมืดสลับสว่าง คิดว่าชักไม่ดี ก็เลยจอดตรงร้านขายของ ไม่ได้กลัวนะ แต่ลักษณะอย่างนี้มันไม่เข้าท่า แง่มุมพวกนี้ก็ต้องระวังไว้บ้าง

ส่วนในแง่ความปลอดภัยของตัวเองในการขี่ เราก็ต้องประดับไฟโน่นนี่ให้คนอื่นเห็นชัดเจน และต้องไม่หาอันตรายให้ตัวเอง จะเลี้ยว จะเปลี่ยนเลนก็ต้องแน่ใจ ถ้าไม่มีอะไรมากก็เลียบซ้ายไปเรื่อยๆ

 

ปั่นไปทำงานวันแรกตัดสินใจยากไหมคะ เพราะบางคนจะมีข้อแม้ค่อนข้างเยอะ กลัวโน่นกลัวนี่

แน่นอน ตอนเริ่มต้นมันจะเต็มไปด้วยคำถาม มันจะเกิดอันตรายได้ง่ายไหม เจ็บไปจะทำยังไง

อย่างผมขับรถมา 30 ปี แล้วไปขี่จักรยาน ก็คิดเยอะเหมือนกัน พรรคพวกที่รู้จักกันมาเห็นเราย้อกแย้กขี่จักรยานจะคิดยังไง แต่เราก็เอาชนะความคิดเหล่านี้หมด เพราะประโยชน์ของจักรยานเราได้กับตัวเอง

สิ่งที่เราทำ คนอื่นเขาไม่ได้กับเรา คนอื่นก็ไม่ควรมากำหนดอะไรเรา

การมอง ทุกคนในโลกก็มองทุกสิ่งต่างกันไปหมด บางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องกระจอกงอกง่อย ไม่ค่อยมีสตางค์ หรือมองว่าพวกนี้บ้าคลั่งรักษาสิ่งแวดล้อม หรือเป็นพวก health-freaks ความคิดเหล่านั้นก็จะอยู่กับคนคิด แต่ตัวเรารู้ว่าตัวเราองเป็นยังไง กำลังทำอะไร ฉะนั้น เรื่องนี้จะต้องยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองคิด พอปั่นมากๆ เข้า มันก็ไม่เหลือแล้วเรื่องที่จะกังวลอะไรน่ะ คนรู้จักหลายคนเอาข้อเสียมาอ้าง ถามผมว่า “นายปั่น ไม่กลัวเหรอ” ก็กลัวแหละ แต่ก็ค่อยๆ ไป

เปอร์เซ็นต์อุบัติเหตุบนถนน ที่เจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดคือมอเตอร์ไซค์ ถัดมาเกิดขึ้นกับคนเดินถนน ถัดไปอีกคือจักรยาน

 

เพราะสัดส่วนของคนใช้มอเตอร์ไซค์หรือคนใช้ถนนมากกว่าจักรยานหรือเปล่า

ก็ใช่ แต่จริงๆ แล้ว อย่างตัวมอเตอร์ไซค์เขามีความเร็ว ฉวัดเฉวียนได้ แต่จักรยาน ถ้าจะตัดหน้าใคร แค่คิดก็บ้าแล้ว นอกจากรถมันติดบนถนนอยู่นิ่งกันหมดอยู่แล้ว เราค่อยไปซ้ายขวาได้

 

เคยได้ยินคำกล่าวหนึ่งว่า อุบัติเหตุที่เกิดกับจักรยาน พอๆ กับคนที่ถูกฟ้าผ่าตาย

อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ไม่ว่าที่ไหน เหมือนเรื่องนักจักรยานออกทัวร์แล้วถูกฆ่าตาย มันก็คล้ายๆ กับนักท่องเที่ยวที่ถูกจี้ปล้น แต่มันจะเป็นเหตุให้เราไม่ต้องไปเที่ยวไหนหรือ เช่นเดียวกัน จักรยานเองก็มีคนถูกทับตายอยู่เรื่อย แต่ทำไมเราถึงจะต้องคิดว่าไม่น่าเริ่มปั่นจักรยาน เหมือนเหตุที่เกิดไม่นานมานี้ตรงแยกพระโขนงฝั่งเข้าเมืองที่ผมปั่นผ่านทุกวัน คือคนปั่นเขาไม่รู้ว่ารถ 3 เลน เลนขวาสุดมันไปตรงได้เลย แต่เลนกลางถัดมาจะตรงก็ได้ และมีลูกศรให้เลี้ยวซ้ายได้ด้วย

ถ้าจักรยานจะไปตรงในแยกเช่นนี้ แล้วรถกำลังไหล เราก็จะออกเลนขวาแล้วมองดูว่า รถอื่นจะไม่มาตัดหน้าเรา แต่ขณะที่รถติดไฟแดง แล้วรถทางซ้ายไปได้ เราต้องหยุด และแสดงให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้ไปซ้าย เพราะบางครั้งรถเมล์มันสูง และอยู่เลนกลาง เมื่อจะเลี้ยวซ้าย จึงไม่เห็นว่าจักรยานกำลังจะตรงไป นี่คือเหตุที่มันเกิดขึ้น และถึงตาย

 

จริงไหมที่คนส่วนใหญ่พูดกันว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ของจักรยานเป็นพวกจักรยานแม่บ้าน

อาจเป็นได้ แต่ผมว่าน่าจะเรียกจักรยานชาวบ้านมากกว่า ถ้าพวกนี้เกิดเหตุ มักจะมีสองอย่าง คือ เขาไม่ค่อยได้ออกในสถานการณ์แบบนี้เท่าไหร่ พอเขาออก มันถึงเกิดเหตุ ไม่รู้จังหวะว่าควรไปควรหยุด ส่วนอีกอย่าง คืออุบัติเหตุจริงๆ อย่างรถเมล์เบรคแตกไปทิ่มใส่คนขายล็อตเตอรี่ ซึ่งเขาปั่นเก่งกว่าเราอีก เพราะชีวิตเขาอยู่กับจักรยานตลอด ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขา แสดงว่าเป็นอุบัติเหตุจริงๆ

 

นอกจากอันตรายประเภทโดนดักจี้ปล้น ยังมีอันตรายอื่นๆ ที่ควรระวังอีกไหม

เคยมีคนมาโพสต์ไว้ในเว็บไซต์จักรยานว่ามีเด็กแว้นที่หมั่นไส้จักรยาน เห็นใครใส่หมวกกันน็อก แต่งตัวแบบจะไปแข่ง ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ไม่ได้ เขาก็จะเข้ามาถีบ หรือตีหัว แล้วก็ไป แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

 

ปั่นมา 5 ปี ต้องเคยเจออุบัติเหตุบ้าง

 

แน่นอน…เคยเจอหมากัด รถล้ม มอเตอร์ไซค์ชนท้าย แล้วก็เคยตีลังกาในออฟฟิศด้วย วันนั้นเขาดับไฟข้างล่าง เราปั่นผ่านลูกระนาดอันแรกไป แล้วลืมว่ายังมีอีกอัน มันมืด แล้วเราปั่นเร็ว มารู้ตอนที่ชนพอดี เราก็กดเบรกทั้งหมดทันที คำว่าตีลังกาของคนอื่นเป็นยังไงไม่รู้ แต่ของเราคือหมุนเป็นครึ่งวงกลม 180 องศาเลย แล้วตัวก็ถลาลงมา หัวโขกพื้น แต่ใส่หมวกอยู่ ดีที่ไม่เป็นไร ยังปั่นกลับได้ พรรคพวกฝรั่งมันจึงบอกผมว่า “You must be crazy to bike to work!”pairat04

 

สำหรับกรณีหมวกกันน็อก จำเป็นมากไหมในการปั่นจักรยาน

มันก็มีแง่มุมอีก ต้องพูดว่า ใครอยากจะป้องกัน ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่บางคนเขารำคาญ ไม่ชอบ จะไปว่าอะไรเขา

 

เวลามีคนเปิดประเด็นเรื่องหมวกกันน็อกในเว็บไซต์จักรยานทีไร เห็นเถียงกันเป็นซีรีย์ยาวมาก

ก็มีคนเขียนไว้ว่า ตราบใดที่ผมรับผิดชอบตัวเอง ถ้าผมไม่ใส่หมวก ใครจะเป็นอะไรไหม แต่เราอยากจะตอบไปว่า สมองคุณก็เป็นของคุณ แต่ถ้าคุณไปตัดหน้าใครขึ้นมา คนผิดไม่ใช่คุณ แต่เขาต้องไปรับโทษมากกว่าถ้าคุณตาย มันยุติธรรมกับสังคมหรือ ถ้าเราไม่ใส่หมวกแล้วกลิ้งลงไปข้างทาง หัวไปกระแทกสะพาน ก็โอเคทำตัวเอง แต่บางทีสะกิดกันแล้วเราล้ม รถเขาไม่ได้ผิดอะไรมาก แต่เราสมองเละเพราะไม่สวมหมวก คนขับรถยนต์ก็เลยซวย คิดดูแล้วกันว่า มันมีผลต่อคนอื่นหรือเปล่า

 

ถ้าคนอ่าน WAY อยากเริ่มปั่นบ้าง ในฐานะคนปั่นมาก่อน มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

ถ้าอยากปั่นก็ต้องลองดู ขั้นตอนที่อยากแนะนำคือ หนึ่ง ใจของคุณอยากทำตรงนี้จริงๆ หรือเปล่า ตัดเรื่องฐานะ ความเคยชินเก่าๆ ทั้งหลายออกไป ชีวิตบางคนอาจมีภาระมากมายหรือมีภาพลักษณ์ต่างๆ ค้ำอยู่ จนไม่อาจทำได้ง่ายนัก

จากนั้นก็ต้องถามตัวเองว่า ทำใจกับสภาพของคนขี่จักรยานได้ไหมว่า จักรยานต้องเสียเปรียบทุกยานพาหนะที่เคลื่อนไหวบนถนน ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ สามล้อ แท็กซี่ รถเมล์ รถบรรทุก จักรยานมาเป็นอันดับสุดท้าย ทั้งความเร็วและสิทธิ์บนถนน สิทธิ์นี่หมายถึงสิทธิ์ที่คนคิดกัน ไม่ใช่สิทธิ์ตามกฎหมาย ทำใจเรื่องนี้ไว้หรือยัง

ข้อถัดมาคือ สู้ทนต่อสภาพอากาศ ฝุ่น ควัน ระยะทาง ที่จะปั่นไปได้ไหม การสู้กับอากาศ คือ แดด ฝน ลมหนาว รถเปียก น้ำกระเซ็นใส่ ข้าวของเปียก เตรียมรับมือได้ไหม เพราะบางทีตอนออกจากบ้านฟ้าแจ่มใส แต่ปั่นๆ ไปฝนเทใส่ก็ได้

ถัดมาคือความสะดวก เมื่อถึงจุดหมายแล้ว มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราไหม เช่น อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า จอดรถ รถต้องอยู่ในที่ปลอดภัย ต้องดูส่วนประกอบต่างๆ แล้วตัดสินใจว่าตัวเองเหมาะที่จะทำอย่างนั้นหรือเปล่า

ถ้าพร้อมในเรื่องเหล่านี้ เรื่องเส้นทาง ถนน จราจร มารยาทคนขับรถ อุปสรรคต่างๆ จะเป็นเรื่องถัดมาที่จะต้องหาทางรับมือกับมัน การฝึกฝนไม่มากนักจะช่วยให้ผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ไม่ยาก นานไปก็คล่องเอง

รางวัลสำหรับการผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านี้ ที่สำคัญสำหรับผม คือ การมีอิสรภาพในการเคลื่อนไหวไปไหนต่อไหนก็ได้ด้วยแรงของตนเอง

 

ที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์การปั่นในเมือง แล้วการปั่นทางไกลล่ะคะ มีความแตกต่างไหม

ปั่นทางไกล ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งของการใช้จักรยาน มันก็มีรูปแบบ จุดประสงค์ต่างกันอยู่บ้าง มาสรุปรวมกันตรงคำว่า ‘ไกล’ พวกปั่นไกลประเภทแรก ปั่นเป็นร้อยๆ กิโลต่อวัน หรือมากกว่านั้น เป็นพวกเสือหมอบ เอาความเร็วเข้าว่า เขาก็ไปของเขาได้ ใช้รถที่มันเบาและเร็ว แต่การปั่นไกลอีกประเภท เป็นการจับกลุ่มไปไหนไกลๆ จะเป็นพวกท่องเที่ยว มีคนดูแล และมีจุดอำนวยความสะดวก ที่พัก มีรถบริการขนของให้และเก็บคนที่ปั่นไม่ไหว จัดโดยเอกชนหรือสมาคม ไปกันทีหลายวัน หลายจังหวัด พวกนี้ก็นับเป็นพวกปั่นทางไกล แต่ก็ยังไม่ใช่ทัวริ่ง

พวกทัวริ่ง ตามชื่อ คือเอาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ไปหลากหลายที่ แวะที่โน่นที่นี่ ทัวริ่งเองก็ยังแบ่งเป็นหลายประเภท หนึ่ง คือทัวร์เบาแรง ไม่ต้องขนของมาก ไปแล้วพักโรงแรม ไปได้ทั่วประเทศ โดยที่ไม่ต้องแบกอะไรมากมาย พวกนี้เรียกว่า เครดิตการ์ดทัวริ่ง เขาอยากพักไหน อยากกินอะไรก็ได้ อีกประเภทคือ ทัวริ่งแบบแบกของไปเอง พึ่งตนเอง หาที่พักตามหมู่บ้าน วัด แบกเครื่องนอน เครื่องมือเครื่องไม้ ทำอาหาร อาจจะไปเดี่ยวหรือหมู่คณะก็ได้

ที่เหลือก็เป็นประเภทตุหรัดตุเหร่พเนจร จาริกแสวงบุญด้วยจักรยานไปเรื่อย ค่ำไหนนอนนั่น แต่ต้องมีจุดหมายหน่อย เพราะถ้าไม่มีมันจะเหมือนคนบ้านะ (หัวเราะ) ฉะนั้น ถ้าเรียกจักรยานจาริกทัวริ่ง แสดงว่าต้องมีจุดหมาย อย่างบางคนที่เขาปั่นไปปักกิ่ง คือ จะไปทางไหน ยังไงก็ต้องถึงปักกิ่งภายในเวลาที่กำหนด แต่ระหว่างทางจะได้ประสบพานพบฉากต่างๆ หมู่บ้าน ผู้คน อารยธรรม วัฒนธรรมแปลกๆ ค่อยว่ากันอีกที

 

แล้วอย่างคุณไพรัชนับเป็นทัวริ่งกลุ่มไหน

ก็เป็นทั้งแบบเป็นกลุ่มและไปคนเดียว ตอนนี้ผมถือว่า จักรยานคือการใช้ชีวิต ไม่ใช่เครื่องมือมาอวดกัน หรือเอาไปโลดโผน เราถือว่าจักรยานอยู่คู่กับเรา ส่วนใหญ่ถ้าอยากไปไหน ถ้าไม่มีภาระต้องพาใครไป หรือซื้อของ ขนของ ก็จะเอาจักรยานไป ถ้าเวลาไปไกลๆ ก็จะชอบแบบพึ่งตนเอง อาจจะแบกของหนักหน่อย แต่รวมๆ แล้ว ต้องบอกก่อนว่า ตัวเองก็ไม่ใช่นักจักรยานที่เก่งอะไรสักอย่าง ปั่นก็ไม่เร็ว เจอเนินชันก็เข็นเอา เพียงแต่ใช้จักรยานเพราะมันถูกเรื่องกับการใช้ชีวิตของเรา

 

ระหว่างปั่นในเมืองกับปั่นทัวริ่งทางไกล อย่างหลังนี่ถือว่าต้องใช้ใจที่ใหญ่กว่าไหม

แน่นอน ถ้าปั่นหลายคนก็อุ่นใจหน่อย แต่ปั่นคนเดียวก็ต้องตั้งใจพอสมควร

 

หลังๆ มา รู้สึกว่าเวลามองจักรยาน เหมือนความมีตัวตนของชาวจักรยานมีมากขึ้น

การมีตัวตนที่ว่า มันก็ต้องสร้างเหมือนกัน ถ้าคุณไม่ค่อยๆ คิดมันขึ้นมา คุณก็ปั่นแบบซังกะตายไปอย่างนั้น ถึงเวลาอะไรนิดหน่อยก็ไม่ใช้จักรยาน อยากไปเที่ยวไหน ไม่ไกลเท่าไหร่ ถ้าไปคนเดียวก็ขับรถไป แต่ถ้ามีธุระก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เราคงหนีรถยนต์ไปไม่พ้นหรอก ฉะนั้น การใช้ให้ถูกเรื่องมันก็โอเค แต่ใครที่เลือกมาทางนี้ ก็คือเลือกแล้วว่าจะสร้างตัวตนขึ้นมากับสิ่งเหล่านี้ และถ้าไปกันได้ดีนั่นก็แสดงว่า เขาทำได้

เมื่อ 20 ปีก่อน เคยทึ่งกับพวกบิ๊กไบค์ ได้ยินเสียงหึ่มๆ แล้วมันก็น่าเล่นเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เชื่อไหมว่า หมดความนับถือพวกบิ๊กไบค์เลย เพราะมันแพงก็แพง กินน้ำมันก็ไม่ใช่น้อย แล้วยังเสียงดังรบกวนชาวบ้านอีก มันคนละโลกกับจักรยานทัวริ่งที่ไปกันเป็นกลุ่ม อาจมีถึง 40-50 คน แต่ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใครเลย อาจจะแค่สั่งอาหารที่ร้านแล้วแม่ค้าทำไม่ทัน ก็เป็นเรื่องน่าดีใจที่ได้เห็นภาพคนเขาทำได้แบบนี้ เราก็อยากทำและอยากสนับสนุนให้คนอื่นทำ เพราะมันเป็นเรื่องที่ใช้พลังกายและใจคู่กันในการที่จะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ

 

การที่ปั่นไปแล้วได้สัมผัสชีวิตผู้คนตามรายทาง เป็นผลพลอยได้ หรือเป็นอีกวัตถุประสงค์หนึ่งในการปั่นจักรยาน

ทีแรกไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย เพราะชีวิตที่ผ่านมา 20 กว่าปี เวลาไปต่างจังหวัด ไปเจอร้านค้า ก็ได้พูดคุยกันบ้างนิดหน่อย แต่พอมาปั่นจักรยาน เรารู้เลยว่ามันไปอีกขั้น คือเราไปได้ทุกซอกทุกมุม ไม่รู้ใช้คำถูกหรือเปล่านะ แต่รู้สึกว่ามันเป็นการสัมผัสมวลชน เพราะเป็นมวลชนจริงๆ ที่เขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเรา อย่างปั่นผ่านตลาดพระโขนง เราก็หยุดดูนู่นซื้อนี่ ทักแม่ค้า เมื่อคืนก็ซื้อไก่ปิ้งแถวถนนเพชรบุรีไปฝากหมา บางทีก็หยุดคุยกับแม่ค้าหน่อยนึง แม่ค้าน้ำท่วมไหม บ้านอยู่ไหน แล้วคนแถวนี้เขายังไงกัน แม่ค้าบอก บางคนเขาเอารถมาจอดบนสะพานคลองตันแล้วตำรวจมาไล่ไป นี่แหละ สัมผัสมวลชน เพราะข่าวเหล่านี้ เราไม่มีวันที่จะได้รับรู้หรอก

คือเราทำตัวพื้นๆ เราก็ได้เรื่องทุกอย่าง แต่ก็มีทั้งดีทั้งร้าย ไม่ใช่ว่าโลกจะโรแมนติกไปหมดนะ ก็มีที่เขาไม่อินังขังขอบอะไรกับเรา บางครั้งเจอยามไล่ ปั่นในสวนลุมแล้วทะเลาะกับยามบ้าง นั่นก็เป็นมวลชน แต่เราต้องเข้าใจ มันเป็นธรรมดาของโลก แต่การได้อยู่กับยานพาหนะนี้ ได้สัมผัส ได้รู้เห็นอะไรแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าเราดีเด่น หรือทำตัวอ่อนน้อม มันแค่เป็นความจริงของชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา เพียงแต่เราจะไปรับรู้มันหรือเปล่าเท่านั้นเอง

 

เรื่องตัวตนของคนปั่นจักรยาน ความหมายคือว่า มันเป็นอีโก้อีกชนิดหนึ่งหรือเปล่า เพราะคนปั่นก็จะมีลำดับขั้น มีพรรคมีพวก แล้วบางกลุ่มก็ไม่ยุ่งเกี่ยวสมาคมกัน       

อันนี้เข้าใจว่า ในระดับหนึ่งของโลกจักรยาน ความเข้าใจจะต่างกันไปหมด บางคนจะเห็นว่า จักรยานในเซ็คเตอร์ที่ตัวเองอยู่ มันคือสุดๆ ของชีวิตจักรยาน คนอื่นหรือสิ่งอื่นจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของเขา ยกตัวอย่าง เสือหมอบ เสือภูเขา หลายกลุ่มจะอยู่ในโลกของเขา

พวกเสือภูเขาจ๋า บางพวกก็ไม่ได้ใช้ท่องเที่ยวไปไหน เพราะเขาต้องการขี่เพื่อออกกำลังเท่านั้น ลงแทร็คเพื่อขี่ฉวัดเฉวียน ลุยโคลน ขึ้นลงเนิน เขาถือว่าเป็นหน้าที่ของเสือภูเขา พอสมประสงค์ก็โอเค ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี

หรือพวกเสือหมอบ เขาก็เอาความเร็วกับมัน แล้วก็เป็นกีฬาแพร่หลายทั่วโลก ที่เอาจริงเอาจังก็มี ตูร์ เดอ ฟรอง การแข่งจักรยานที่เป็นสุดๆ ของโลก ที่กระตุ้นใจคนให้มุ่งไปทางนั้น ซึ่งก็เป็นความเข้าใจในโลกแบบนั้น ซึ่งเราไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย โดยพื้นฐานที่ใช้ในปัจจุบันก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนั้น

นักจักรยานที่รู้จักกันบางคนยังไม่ยอมเข้าใจว่า ทำไมจึงมีพวกปั่นทัวร์แบกของพะรุงพะรังเป็นไอ้บ้าหอบฟางลักษณะที่เขาเรียก ‘ซำเหมา’ ออกปั่นไปไกลๆ หาที่พักกางเต๊นท์นอน ทำอาหารกินเอง เป็นการหาเรื่องยุ่งยากให้ชีวิต ทำไมไม่ปั่นรถเบาๆ หาที่พักดีๆ นอน ของกินก็หาซื้อได้ไม่ยากเย็นอะไร แต่ผมว่าสองพวกนี้อยู่ในโลกการใช้จักรยานคนละฟากกันเท่านั้น

ฉะนั้น การที่ใครจะมีอีโก้ของตัวอย่างไรกับจักรยาน มันก็ตอบไม่ค่อยถูก เพราะเรามัน simple เสียจนไม่รู้จะพูดว่ายังไง

 

 

pairat03คล้ายๆ กับซามูไรที่เข้าถึงเซนจนไม่ต้องพึ่งดาบแล้วอย่างนั้นหรือเปล่า

พูดตรงๆ ผมอาจจะใช้รถที่มันมีราคาหน่อย ในบรรดาประเภทเดียวกัน แต่จริงๆ โดยจิตวิญญาณของคำว่าทัวริ่ง มันคือการออกเดินทางในลักษณะทัวริ่ง คือใช้อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถจักรยานทัวริ่ง เพราะรถทัวริ่งไม่มีหรอก ที่ว่าไม่มีเพราะจุดประสงค์ของมัน คุณจะไปช้าไปเร็ว แบกหนักแบกเบา อะไรก็ไปได้ แต่จักรยานทัวริ่งเขาออกแบบมาเพื่อให้ขี่ได้นานและสบายหน่อยแค่นั้นเอง แต่ถ้าคุณใช้เสือภูเขาแล้วแบกของไปได้ก็ไม่มีใครว่าอะไรหรอก ซึ่งเขาก็ใช้กันทั่วโลก แม้กระทั่งเสือหมอบ แรกๆ อาจจะเป๋ๆ หน่อย แต่ทนเอาก็ไปได้เหมือนกัน

 

เวลาจอดจักรยานแวะซื้อของ มีวิธีไหม ทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุดคะ

สิ่งแรกๆ ที่คิดคือที่จอดจักรยานที่ปลอดภัย เพราะจักรยานมันเบา หยิบยกง่าย มีล็อกก็ตัดง่าย ไม่เหมือนมอเตอร์ไซค์ที่มีชั้นเชิงในการล็อก หรือถ้าจะยกเอาไปก็ไม่ง่าย ถ้าขาดที่จอดจักรยาน ก็จะเป็นอุปสรรคให้กับคนที่ใช้จักรยานแหนงหน่าย ไม่อยากเอาจักรยานไปห้าง

ทุกวันนี้ วันไหนที่ปั่นจักรยาน ก็คือวันนั้นไม่มีการไปแวะที่ไหน จักรยานอยู่กับตัว ไปทำงานก็จอดไว้ข้างๆ ตัว ถ้าที่จอดจุดไหนเราล็อกแล้วมองเห็นได้ก็โอเค แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่อย่างนั้น ซึ่งมันคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้การใช้จักรยานจริงๆ เป็นเรื่องยาก แล้วจักรยานหายนี่ก็ปัญหาใหญ่ที่เป็นกันทั่วโลก ไม่เฉพาะเมืองไทย

 

เคยเห็นในหนังฝรั่ง เขาถอดล้อหน้าหิ้วเข้าตึกไปด้วย แบบนี้พอได้ไหม

ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่กับคนที่จะขโมยจริง ก็เอาจักรยานไปได้อยู่ดี

 

ในฐานะคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มีข้อแนะนำไหมว่า ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น

มี…แต่อาจจะรุนแรงหน่อยนะ คือ หนึ่ง ขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน ต้องขึ้นอย่างน้อย 2-3 เท่า สอง กั้นเขตในกรุงเทพฯ เก็บค่าผ่านเมือง ต้องเก็บอย่างไม่เกรงใจใคร เข้าเมืองนี่เก็บเลย 100-200 บาท แล้วต้องกั้นให้รอบกรุงเทพฯเลย ใครเอารถเข้าเก็บ 200 บาท ปีหน้าขึ้นราคาไปเรื่อยๆ คนที่คิดจะซื้อรถคงคิดหลายรอบหน่อย สาม ทางจักรยานผสมทางคนเดินในเมืองควรทำระดับเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส อาจจะใช้เงินหลายหมื่นล้าน แต่ต้องทำให้ทั่ว และ สี่ ต้องพัฒนารถขนส่งมวลเบาที่เบากว่าบีทีเอส เลี้ยวซ้ายขวาได้มากกว่า เพื่อลดการขับรถมาคนเดียวจอดในที่จอดรถแล้วก็ขับกลับ เพราะที่จอดรถหลายแห่งเป็นอย่างนั้น เช้ามาจะเข้าไปจอดอัดกันแน่นเลย ตกเย็นถึงค่อยๆ สางออก

 

คือตอนนี้ถึงเวลาต้องยอมรับกันว่า รถมันเยอะเกินไปแล้ว?

ผมก็สงสัยเหมือนกันว่า ทำไมเมืองเราต้องรับเทคโนโลยีเขามาทำรถ แล้วบริษัทขายรถก็โปรโมทขายรถสารพัด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเอง ห้างสรรพสินค้าเขาไม่สร้างที่จอดรถนะ เขาโปรโมทให้ใช้รถไฟ ขนส่งมวลชนอื่นๆ และจักรยาน ทั้งที่ประเทศเขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีรถ ส่งออกรถ ทำไมประเทศเขาจึงไม่สนับสนุนการใช้รถ ทำไมประเทศเราทำไม่ได้

ความจริงเรื่องนี้ บริษัทเหล่านี้มีอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศไทย เพราะยอดขายรถยนต์ในเมืองไทยมันเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศเรามันแย่ตรงนี้ คือด้วยอิทธิพลอะไรบางอย่าง มันมากลบสิ่งที่ถูกที่ควรได้

ทางการของเราอาจทำผิดไปก็ได้ที่คล้อยตามผู้เชี่ยวชาญตะวันตกซึ่งมาแนะนำเมื่อสามสี่สิบปีก่อนว่า กรุงเทพฯต้องขยายถนนรองรับการจราจรด้วยการสร้างทางด่วน หลังจากนั้นเราจึงมุ่งสร้างเครือข่ายทางด่วนเพื่อความสะดวกของรถยนต์ ความจริงน่าเป็นการสร้างเครือข่ายขนส่งมวลหนักและมวลเบากระจายไปให้ทั่วเมือง เพื่อขนส่งคน ไม่ใช่เพื่อรองรับรถเก๋งขึ้นไปติดกันเป็นแพ รวมทั้งสร้างทางจักรยานรวมทางคนเดินทั้งบนดินและเหนือพื้นดิน เอาแบบมีหลังคาก็ยังได้ถ้ายอมทุ่มสักหน่อย คุณภาพชีวิตของผู้คนน่าจะดีขึ้น เมืองใหญ่ที่กำลังเติบโตในภูมิภาคก็น่าเตรียมการสำหรับเรื่องนี้อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายท่านว่าไว้ แต่ไม่ค่อยมีใครฟัง

 

*******************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์  #WAY46 กุมภาพันธ์ 2555)

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า