เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊คบอกเล่าความเป็นมาในโอกาสที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครบรอบ 20 ปี1 ซึ่งเป็นวันที่ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศรับแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย จนเกิดเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
นโยบายนี้นับเป็นต้นแบบทางการเมืองที่พรรคการเมืองทุกพรรคประยุกต์เพื่อออกแบบนโยบายมาแข่งขันทางการเมืองในเวลาต่อมา ความสำคัญที่มากกว่านั้นคือ หัวใจของนโยบายนี้ อันเรียกกันว่า ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ยังได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางบนเวทีนานาชาติ
ในปี 2015 หนังสือพิมพ์ The Guardian รายงานว่า “อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ยกย่องหลักประกันสุขภาพไทย (30 บาทรักษาได้ทุกโรค) เซนระบุว่า (นโยบายนี้) ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวย แต่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้สำเร็จ อัตราการตายของทารกแรกเกิดลดลง ประชากรมีอายุขัยเพิ่มขึ้น เป็นเครื่องมือลดความยากจน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ยกไทยเป็นตัวอย่างส่งเสริมบริการสุขภาพปฐมภูมิ ป้องกันก่อนป่วยหนัก”2
ขณะที่ในปี 2017 ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้เป็นต้นแบบประเทศไม่รวย แต่สามารถทำให้ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพได้ ซึ่งไทยก็เข้าร่วมเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนนานาชาติเพื่อเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2030 (พ.ศ. 2573) และเป็นต้นแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ
ข้อคิดที่น่าสนใจตามมาคือ แม้ว่า 2-3 ปีให้หลังมานี้ ประเทศไทยจะร่วงหล่นจนกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก (จากการสำรวจของ Global Wealth Report) คำถามคือในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีกว่านี้นั้นมีเครื่องมืออะไรที่ทำให้ประเทศไทยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้บ้าง คำตอบจากงานวิจัยหลายชิ้นคือในช่วงทศวรรษ 2540 นโยบายทางการเมืองได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการผลิตและสร้างชนชั้นขึ้นมาใหม่ที่มีจำนวนกว่าร้อยละ 40 หรือ ‘ชนชั้นกลางใหม่’3
มีนโยบายทางการเมืองเศรษฐกิจจำนวนมากที่เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ขึ้นมาไล่กวดชนชั้นกลางเก่าหรือชนชั้นสูงที่ครอบครองปัจจัยการผลิตและดอกผลมหาศาลจากการพัฒนาประเทศมากว่า 60 ปี แต่โดยทั่วไปแล้วนักสังเกตการณ์หลายคนมักให้น้ำหนักว่านโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน คือ นโยบายอย่างกองทุนหมู่บ้าน นโยบายประกันราคาสินค้าทางการเกษตร นโยบายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของนักรัฐศาสตร์สายมาร์กซิสต์ อย่าง สุชาย ตรีรัตน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยและทุนนิยมในชนบทภาคกลาง โดยเลือกทำการศึกษาหมู่บ้านปลูกข้าวแห่งหนึ่ง ใกล้เขตอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2551 และสืบค้นพัฒนาการที่สำคัญก่อนหน้านั้น
งานศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปี 2554 ได้แสดงให้เห็นว่า นโยบาย ’30 บาทรักษาได้ทุกโรค’ ต่างหากที่เข้าไปลดภาระอย่างมหาศาลในครัวเรือนของชาวบ้านที่มีรายได้น้อย และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่านโยบายที่ดีเหล่านี้เป็นผลมาจากระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
แม้ว่างานชิ้นนี้จะเข้าไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านหนึ่ง แต่ก็ให้ภาพที่กว้างไกลกว่านั้น เมื่อพบว่าชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในสังคมหมู่บ้าน เช่น เป็นกรรมการวัด โรงเรียน กรรมการจัดงานประเพณี กรรมการในที่ประชุมต่างๆ และยังเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองการปกครองด้วย เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน-กรรมการหมู่บ้านในโครงสร้างการปกครองดั้งเดิมแบบรวมศูนย์ ได้ถูกท้าทายจากนายทุนในหมู่บ้านอีกกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาจากดอกผลของนโยบายทางการเมือง จนเป็นความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายที่มีการแข่งขันช่วงชิงอำนาจ ผลประโยชน์ และการสนับสนุนจากคนในหมู่บ้าน
ร่องรอยการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งมีทั้งรูปแบบแฝงเร้น ถูกบดบัง และอย่างเปิดเผย ก็มาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2540 ระหว่างทุนต่างฝ่าย และระหว่างชนชั้นนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือ แฝงเร้นในช่วงของการทำงานการผลิต ที่ผู้ใช้แรงงานไม่ค่อยมีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ เงื่อนไขการทำงาน และนำไปสู่การทำงานแบบ ‘ขอไปที’ ได้เข้าถึงโอกาสใหม่ๆ จากนโยบายทางการเมืองโดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ขณะที่ชาวบ้านบางคนไม่คิดว่า “ฟอกไตที่ต้องใช้จ่ายเงินระดับแสนบาท จะทำได้ด้วยเงิน 30 บาท ในชาตินี้”
อย่างไรก็ตาม ฝักฝ่ายต่างๆ ของนายทุนในหมู่บ้าน ซึ่งเริ่มมีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกัน โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งที่มีความหลากหลายในข้อเสนอของกลุ่มการเมืองได้เกิดหนักขึ้น เมื่อคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานคัดค้านและประณามการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยเหตุผลการรัฐประหารเป็นการพยายามทำลายนโยบายประชานิยมที่กินได้ของพวกเขา
งานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งศึกษาในช่วงเวลาที่การเมืองสีเสื้อกำลังปะทุขึ้นนั้นยังพบว่า หลายคนที่เป็นผู้สูงอายุของหมู่บ้านระบุตรงกันว่า ตั้งแต่พวกเขาเริ่มหันมาสนใจการเมืองการปกครอง กล้าพูดได้ว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดมีนโยบายที่ถูกอกถูกใจพวกเขาเท่านโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ส่วนอดีตนายกฯ ทักษิณจะไม่ดีอย่างไร จะกอบโกยคอร์รัปชันแค่ไหน อดีตนายกฯ ทักษิณก็ไม่ได้แตกต่างจากนักการเมือง ข้าราชการโกงๆ ทั้งหลายในแง่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ แต่ที่อดีตนายกฯ ทักษิณแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ รวมทั้งนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ แนวนโยบายที่จับต้องได้ กินได้ เกิดประโยชน์เด่นชัดกับชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยเฉพาะกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
ด้วยเหตุนี้ สุชาย ตรีรัตน์ จึงเสนอว่า นโยบายประชานิยมที่กินใจหรือซื้อใจประชาชนได้เช่นนี้ แสดงนัยสองประการ คือ
หนึ่ง เป็นแนวนโยบายที่ลดทอนช่องว่างระหว่างชนชั้น และก็อาจหมายถึงช่วยลดทอนความรู้สึกหรือความขัดแย้งทางชนชั้นได้ด้วย ทั้งนี้ การช่วยสร้างหลักประกันมีจุดเริ่มที่แนวนโยบายของพรรคการเมือง มีความแตกต่างมากจากจุดเริ่มเดิมๆ ที่เป็นเรื่องการสังคมสงเคราะห์หรือเมตตาธรรมในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์
สอง นโยบายประชานิยมได้เปลี่ยนคุณค่าของการเลือกตั้ง จากเดิมที่เริ่มต้นด้วยการมีคุณค่าไม่มากไปกว่าการได้รับของแจก-เงินแจก ซึ่งจะมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้ ไม่ต่างจากการ ‘คาดเข็มขัด’ มาเป็นคุณค่าของการแข่งขัน ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ที่เปิดช่องให้มีตัวเลือกและการสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
เราจึงไม่แปลกใจที่นโยบายทางการเมืองเช่นนี้ยังไม่ได้ถูกท้าทายอย่างเพียงพอ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ผันผวนตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา นโยบายที่เพดานทางความคิดไม่สามารถปิดกั้นความปรารถนาที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่านี้ได้ แม้กระทั่งช่วงเริ่มนโยบายนี้ ซึ่ง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ อดีตเลขาธิการ สปสช. มันสมองสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นผู้นำเสนอนโยบายให้หลายฝ่ายนำไปปฏิบัติก็ยังมีน้อยคนที่จะเชื่อว่าจะเป็นไปได้
ดังที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้ย้อนความกลับไปในวันที่เริ่มต้นนโยบายนี้ว่า “พรรคไทยรักไทยทำโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทุกครั้ง เรื่องนโยบายที่ต้องการให้พรรคการเมืองประกาศระหว่างการหาเสียง เรื่องสุขภาพเป็นปัญหาท้ายๆ ที่ประชาชนนึกถึง ตนแอบสังเกตเห็นสีหน้าผิดคาดระคนผิดหวังของหัวหน้าพรรคเมื่อเห็นผลโพลเกี่ยวกับสาธารณสุขที่ออกมา กลางปี 2543 การจัดทำแคมเปญเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเป็นไปอย่างคึกคัก นโยบายด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ SME OTOP และยาเสพติด ได้รับการจัดวางให้เป็นนโยบายหลัก เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้ชื่อนโยบายที่เตรียมใช้รณรงค์ให้เข้าใจง่ายๆว่า ’30 บาทรักษาทุกโรค’ แทบไม่มีใครพูดถึง”
กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การเริ่มต้นทางนโยบายที่ผู้คนเห็นว่าไม่สำคัญ หรือเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าในเวลาต่อมาสิ่งนั้นจะไม่สามารถเป็นจริงและมีประโยชน์มหาศาลในเวลาต่อมาได้