นับตั้งแต่ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ตามมาด้วยปฏิบัติการเอาคืนของอิสราเอลอย่างฉับพลัน โลกก็ได้เห็นความโหดร้ายที่สุดอีกครั้งที่มนุษย์กระทำต่อกันและกัน
ภาพเหยื่อผู้บริสุทธิ์ ทั้งเด็ก คนแก่ หญิงสาว ชายหนุ่ม ชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกอาวุธฝ่ายอิสราเอลยิงถล่ม รวมถึงภาพความรุนแรงที่เกิดกับบรรดาตัวประกันชาวอิสราเอลและประเทศต่างๆ ที่ถูกฮามาสจับตัวไป ทั้งที่ไม่มีความข้องเกี่ยวใดการสู้รบครั้งนี้ ถูกเผยแพร่ต่อสายตาชาวโลกผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกวัน เช่นเดียวกับภาพขบวนรถบรรทุกที่ขนอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งของจำเป็นที่มีจุดหมายอยู่ที่ฉนวนกาซา แต่ติดค้างอยู่ที่จุดผ่านแดนบริเวณชายแดนอียิปต์ เพราะอิสราเอลปิดกั้นการเดินทางเข้าออกปาเลสไตน์ในทุกเส้นทาง ล้วนเป็นภาพสร้างความสะเทือนใจต่อโลก
มีตัวเลขบันทึกไว้ว่า ตั้งแต่การโจมตีที่โลกไม่คาดคิดในวันที่ 7 ตุลาคม มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 5,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงกว่า 1,100 ราย และเด็ก 2,000 ราย โดยมีนักข่าวและบุคลากรด้านการแพทย์รวมอยู่ด้วย อีกทั้งชาวปาเลสไตน์นับล้านคนต้องพลัดถิ่น บ้านเรือนมากกว่าร้อยละ 42 ถูกทำลาย ขณะที่ความช่วยเหลือและสิ่งจำเป็นพื้นฐานมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่สามารถเดินทางไปถึงพื้นที่ฉนวนกาซา
แม้รัฐบาลหลายชาติจะออกมาประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมในสงครามครั้งนี้ แต่การประณามส่วนใหญ่ก็ยืนอยู่บนฐานของการเลือกข้างหรือประณามฝ่ายหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ในการจัดประชุมใหญ่วันที่ 24 ตุลาคม ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ แม้จะเปิดพื้นที่ให้ชาติสมาชิกถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ชั่วโมง แต่ก็ไม่มีมติใดออกมา นอกจากการรับรู้ร่วมกันว่าประชากรบนแผ่นดินปาเลสไตน์กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างยิ่งยวด และการรับรู้ร่วมกันว่าทั้งฮามาสและอิสราเอลต่างกำลังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม
และแม้วันที่ 27 ตุลาคม สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ จะลงมติเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย หยุดยิงชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมส่งไปถึงฉนวนกาซาได้ แต่การลงมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ก็เป็นเพียงการแสดงท่าทีทางการเมืองโดยที่ไม่มีผลผูกพันบังคับอิสาราเอลและฮามาสได้ และที่สำคัญเป็นมติที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเห็นต่างของโลกในการแก้วิกฤตครั้งนี้
การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสระลอกใหม่นี้จึงถูกมองว่าเป็นภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เป็นภาวะสงครามที่โลกไม่อาจชี้ชัดได้ว่าฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด เพราะทั้งสองฝ่ายต่างใช้ข้ออ้าง ‘มนุษยธรรม’ เป็นเครื่องมือในการทำสงคราม จนทำให้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อะไรคือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) เป็นการเชื่อมโยงแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสงคราม 2 ประการ คือ หลักการสู้รบทางการทหารและหลักมนุษยธรรม ซึ่งหลายศตวรรษที่ผ่านมา โลกได้ช่วยกันผสานแนวคิดทั้ง 2 ด้านนี้เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นกฎกติกาที่ทั้งโลกให้การยอมรับว่าต้องมีขึ้นในระหว่างการทำสงคราม
หลักการทั้ง 2 ประการ เกิดขึ้นจากความต้องการหาสมดุลระหว่างความจำเป็นทางทหารและความจำเป็นด้านมนุษยธรรม เป็นหลักการที่แยกคน 2 กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามต่างกันคือ ประชากรทหารที่เกี่ยวข้องกับการรบ และพลเรือนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบ แต่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ
ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง (ผู้ที่กำลังทำสงครามกัน) ต้องแยกแยะระหว่างพลเรือนกับทหารที่เกี่ยวข้องกับการรบนั้นตลอดเวลา การโจมตีต้องมุ่งเป้าไปที่วัตถุประสงค์ทางการทหารเท่านั้น ดังระบุในมาตรา 48 พิธีสารฉบับที่ 1 ปี 1977 ของอนุสัญญาเจนีวา อันเป็นกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศฉบับสำคัญของโลก ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 ฉบับ และมีพิธีสารเป็นส่วนเสริมอีก 3 ฉบับ
ฮามาส-อิสราเอล ใครอยู่ตรงไหนบนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ วันที่ 24 ตุลาคม อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวถึงการโจมตีของฮามาสต่ออิสราเอล และการจับพลเรือนจำนวนเป็นตัวประกันในวันที่ 7 ตุลาคม ว่าไม่ได้เป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจากสุญญากาศ แต่เป็นผลจากการที่ชาวปาเลสไตน์ถูกกระทำเหยียบย่ำจากการถูกยึดครองมานานกว่า 56 ปี เป็น 56 ปีที่พวกเขาต้องทนเห็นแผ่นดินถูกกลืนกินโดยการรุกคืบเข้ามาตั้งถิ่นฐานของอิสราเอล เศรษฐกิจหยุดชะงัก บ้านพักอาศัยถูกรื้อทำลาย ความหวังถึงการแก้ปัญหาทางการเมืองมลายหายไป
แม้จะเข้าใจรากแห่งปัญหา แต่กูเตอร์เรสก็มองว่า ฮามาสไม่สามารถนำความเจ็บปวดของประชาชนตนเองมาเป็นข้ออ้างในการเปิดฉากก่อความรุนแรงกับอิสราเอลในครั้งนี้ได้
เหตุการณ์ที่ฮามาสสังหารพลเรือนของอิสราเอล และการโจมตีอย่างคาดไม่ถึงบนแผ่นดินที่อยู่ในเขตแดนของอิสราเอล ถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนในช่วงสงคราม บทบัญญัติเหล่านี้ครอบคลุมถึงมาตราทั่วไป 3 ของอนุสัญญาเจนีวา (Common Article 3 of the 1949 Geneva Convention) ซึ่งกำหนดให้มีการปฏิบัติต่อพลเรือนและผู้ที่ไม่ได้มีบทบาทในการสู้รบนั้นๆ อย่างมีมนุษยธรรม และพิธีสารที่ 1 (Protocol I) ของมาตรา 51 แห่งอนุสัญญาเจนีวา ที่ให้การคุ้มครองประชากรที่เป็นพลเรือนจากการถูกโจมตี และยังมีบทบัญญัติมากมายเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มาตรา 7 และ 8 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ซึ่งการโจมตีด้วยจรวดอย่างต่อเนื่องและไม่เลือกปฏิบัติต่อเป้าหมายของฮามาส ทำให้พลเรือนจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง และละเมิดบทบัญญัติระหว่างประเทศเหล่านี้
ส่วนปฏิบัติการทางทหารหรือการทำสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซาที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทำลายกลุ่มฮามาส และเพื่อช่วยเหลือตัวประกันพลเรือนที่ถูกฮามาสจับตัวไป ถือเป็นปฏิบัติการทางทหารที่มีการต่อสู้ขนาดใหญ่ต่อเนื่องที่ต้องถูกควบคุมโดยกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเช่นกัน
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรม อิสราเอลจะสามารถใช้กำลังเข้าช่วยตัวประกันได้ เมื่อเข้าเงื่อนไข 4 ประการ
- ตัวประกันจำนวนมากถูกจับและควบคุมตัวไประหว่างการโจมตีด้วยอาวุธ (การกระทำของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม เข้าข่ายนี้)
- มีสิ่งบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องใช้กองกำลังติดอาวุธเข้าช่วยตัวประกัน เช่น กรณีนี้ฮามาสขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงต่อตัวประกัน
- มีความเร่งด่วน กรณีนี้คือการเจรจาปล่อยตัวประกันไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และชะตากรรมของตัวประกันมีแนวโน้มเลวร้ายลงทุกวัน
- การใช้กองกำลังติดอาวุธช่วยตัวประกันต้องใช้เท่าที่จำเป็น
จะเห็นได้ว่าการโจมตีของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม และการปฏิเสธปล่อยตัวประกัน สร้างความชอบธรรมให้อิสราเอลในการใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือตัวประกันได้ แต่สิ่งที่อิสราเอลกำลังทำและปรากฏต่อสายตาโลกนั้นเกินกว่าคำว่า ‘ช่วยตัวประกัน’ ไปสู่ ‘การป้องกันตนเอง’ ซึ่งมีขนาดของกองกำลังและระดับของความรุนแรง เกินกว่าความจำเป็นต้องใช้เพื่อการช่วยเหลือตัวประกันอย่างมาก และก้าวเข้าสู่ ‘การทำสงคราม’ มากขึ้นเรื่อยๆ
การสังหารพลเมือง การตัดน้ำ ตัดไฟ ปิดกั้นการส่งเสบียงอาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ ไม่ให้เข้าถึงประชาชนในฉนวนกาซาได้ นับเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างชัดเจน เพราะในระหว่างสงคราม ต้องไม่นำปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง การสนับสนุนและช่วยเหลือแก่พลเรือนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ดังระบุในมาตรา 23 ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 ที่กำหนดว่า “การขนส่งยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ใดๆ ที่อยู่ระหว่างการขนส่งไปยังรัฐภาคีอื่น หรือแม้แต่รัฐที่เป็นศัตรู จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตให้ผ่านได้อย่างเสรี” ซึ่งกฎเกณฑ์นี้อิสราเอลก็ละเมิดทั้งหมด
ฮามาสได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วยหรือไม่
ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่รัฐบาลและนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กฎหมายในสาขาต่างๆ กับผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐ เช่น กลุ่มฮามาส รวมถึงคำถามเกี่ยวกับพันธกรณีทางกฎหมายของรัฐที่ผู้มีบทบาทในปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้ขัดแย้งอยู่ด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นคือ การกระทำของรัฐบาลจอร์จ บุช(George W. Bush) แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ยกระดับข้อโต้แย้ง ‘หลุมดำทางกฎหมาย’ ในระหว่างการทำสิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ หลังเหตุการณ์ 9/11 โดยอ้างว่าอัลกออิดะห์และกลุ่มตะลิบันไม่ใช่รัฐ จึงไม่ได้รับการปกป้องตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีเปรียบเทียบ (ภายหลังศาลฎีกาของสหรัฐเองมีข้อโต้แย้งต่อมุมมองของรัฐบาลบุช โดยศาลฎีกาตัดสินว่ามาตราทั่วไป 3 ของอนุสัญญาเจนีวา มีผลบังคับใช้กับสงครามระหว่างสหรัฐกับอัลกออิดะห์ด้วย)
แต่ความต่างระหว่างอัลกออิดะห์และรัฐปาเลสไตน์คือ ปาเลสไตน์ให้สัตยาบันพิธีสารทั้ง 3 ฉบับ ของอนุสัญญาเจนีวา ดังนั้นในฐานะรัฐภาคีจึงไม่อาจปฏิเสธการผูกพันกับข้อกำหนดดังกล่าว กลุ่มฮามาส ในฐานะผู้มีอำนาจปกครองรัฐปาเลสไตน์ (ฉนวนกาซา) ในเชิงพฤตินัย ที่ควบคุมกองกำลังติดอาวุธของตนเอง จึงมีพันธกรณีในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐบาลปาเลสไตน์ที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา และพิธีสารเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ
การดำเนินมาตรการป้องกันตนเองของอิสราเอล คือความพยายามของรัฐบาลที่จะยุติปฏิบัติการของกลุ่มฮามาส ไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งหรือต้องห้ามของกฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมดที่กล่าวมา แต่การใช้กำลังของอิสราเอลให้บรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องปฏิบัติตามสิทธิในการป้องกันตนเองภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการทำสงครามและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
อิสราเอลมีพันธกรณีตามกฎหมายขั้นพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติตามในระหว่างปฏิบัติการทางทหารต่อต้านกลุ่มฮามาส ดังนี้
- ต้องไม่ใช้ความอดอยาก ซึ่งรวมถึงการขาดแคลนน้ำ อาหาร และปัจจัยจำเป็นอื่นๆ เพื่อการอยู่รอดของประชากรพลเรือนในกาซา เป็นเครื่องมือในการทำสงครามกับฮามาส ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม
- ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายของการทำสงครามไปที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสและโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของกลุ่มให้มากที่สุด ลดความสูญเสียของพลเรือนให้มากที่สุด ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- ต้องอนุญาตให้พลเรือนที่อพยพออกจากกาซาชั่วคราวสามารถกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมได้ การขับไล่พลเมืองออกจากถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างถาวรเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
จะเห็นได้ว่าแม้ทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอลจะมีพันธะผูกพันกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายฉบับ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ละเมิดบทบัญญัติของกฎหมายเหล่านั้น ภายใต้ข้ออ้างเพื่อ ‘มนุษยธรรม’ ของพลเมืองตนเอง ซึ่งหากจะว่ากันตามความเป็นจริง การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มติหรือความพยายามใดๆ ของนานาชาติในการสร้างสันติภาพบนดินแดนนี้แทบไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย การลงนามหยุดยิงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีอียิปต์เป็นคนกลาง ในวันที่ 26 สิงหาคม 2014 เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะภายหลังลงนามแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังคงทำสงครามกันอยู่เช่นเดิม การลงนามหยุดยิงจึงเท่ากับเป็นสัญญาที่ไม่เคยมีผลบังคับใช้
มติที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ บนความหวังลมๆ แล้งๆ
การลงมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 27 ตุลาคม ที่ให้มีการหยุดยิงชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเดินทางไปถึงชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งถิ่นฐานในฉนวนกาซาได้ อาจเป็นมติที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะนอกจากจะเป็นมติของนานาชาติที่ไม่มีผลผูกพันว่าต้องมีการนำไปปฏิบัติจริงแล้ว สัดส่วนการออกเสียงของนานาชาติต่อมติดังกล่าวยังสะท้อนถึงมุมมองของนานาชาติต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาอีกด้วย กล่าวคือ มีสมาชิกองค์การสหประชาชาติเพียง 121 ชาติ จาก 193 ชาติ เท่านั้นที่สนับสนุนมติให้มีการหยุดยิงชั่วคราว อีก 12 ชาติ รวมทั้งอิสราเอลและสหรัฐ ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางลงมติคัดค้าน และ 44 ชาติ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นงดออกเสียง ส่วนรัฐปาเลสไตน์ แม้จะมีผู้แทนอยู่ในที่ประชุมด้วย แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติให้มีการหยุดยิง อิสราเอลก็ออกมาประกาศเตรียมเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดินที่หนักหน่วงและยาวนานกับกลุ่มฮามาสอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น แม้เสียงของ ริยาร์ด มันซูร์ (Riyad Mansour) เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ ที่กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันนั้นว่า “ผมขอเรียกร้องให้พวกคุณทุกคนลงคะแนนเสียงเพื่อหยุดการสังหาร โหวตให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อเข้าถึงผู้คน เพราะความอยู่รอดขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือนั้น โปรดลงคะแนนเสียงเพื่อหยุดความบ้าคลั่งนี้” จะถูกได้ยินและได้รับการตอบสนอง แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดยืนยันได้ว่า เสียงโหวตนั้นจะถูกแปรไปสู่การปฏิบัติจริงจากฝ่ายอิสราเอล
วันนี้โลกจึงเต็มไปด้วยเพรียกหามนุษยธรรมให้กับเหยื่อสงครามฮามาส-อิสราเอล แต่กลับไม่มีใครลงมือทำให้มันเกิดขึ้นจริง
อ้างอิง:
- Amid Increasingly Dire Humanitarian Situation in Gaza, Secretary-General Tells Security Council Hamas Attacks Cannot Justify Collective Punishment of Palestinian People
- What International Law Has to Say About the Israel-Hamas War
- Never in Oxfam’s history have we seen a humanitarian crisis like the one in Gaza
- Humanitarian needs spiral amid the crisis in Israel and Gaza
- Israel-Hamas war: A blow to international humanitarian law