เอเลียร์ ฟอฟิ: ขอเผด็จการจงพ่ายแพ้แก่อารมณ์ขันของประชาชน

“คุณคิดถึงพล็อตหนังแบบไหน ถ้ามองจากการต่อสู้ครั้งนี้”

เราถาม เอเลียร์ ฟอฟิ ในฐานะที่มีวิชาชีพการทำภาพยนตร์ และเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในนาม ‘ราษฎร’

“หนังเรื่องนี้…” เขานิ่งคิด “ขอแบบฝันๆ เลยนะ หนังม้วนนี้จะมีทุกคนเป็นตัวเอก มันจะไม่ใช่หนังเรื่องเดียวแล้ว ทุกคนจะคือตัวละครเอกที่กำลังเดินทางสู่สังคมที่เท่าเทียมจริงๆ ซาวด์ประกอบหนังจะเฟี้ยวหน่อย แบบเพลงรถบั๊มอะ โจ๊ะๆ หน่อย”

จากคำตอบนี้ เราจึงลองมาดูบทภาพยนตร์ที่เขียนจากเหตุการณ์จริงที่ เอเลียร์ ฟอฟิ เป็นตัวละครเอก

 

ฉากที่ 1 กลางคืน / 16 ตุลาคม / แยกปทุมวัน

คืนวันนั้น ‘เอเลียร์ ฟอฟิ’ ยืนจังก้าระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจหลายกองร้อย สถานการณ์ขณะนั้นเริ่มตึงเครียด รถฉีดน้ำแรงดันสูง กระบองเหล็ก โล่ และเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบตบเท้าเรียงแถวประชิดกินพื้นที่ของกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณถนนพระราม 1 ขยับเรื่อยมาจนถึงแยกปทุมวัน

5 4 3 2 1… เสียงตำรวจประกาศนับถอยหลัง น้ำแรงดันสูงผสมสีจะถูกฉีดตรงมายังผู้ชุมนุมที่มีร่มและเสื้อกันฝนเป็นอาวุธคู่กาย 

ชายหนุ่มไม่ชักช้า อาศัยร่างที่สูงเด่นและใบหน้าคล้ายชาวตะวันตก คว้าโทรโข่งตัวเขื่อง เดินหน้าเพื่อเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงเวลาแห่งความชุลมุน อาจด้วยใบหน้าอันแสดงอัตลักษณ์เชื้อชาติที่ไม่คุ้นตาและภาษาไทยที่ชัดคำ จึงดึงความสนใจมวลชน ณ ขณะนั้นให้หยุดฟังเขา

แผนของเอเลียร์คือแยกขบวนมวลชนบริเวณแยกปทุมวันออกเป็นสองทาง หนึ่ง ฝั่งทางทิศสะพานหัวช้าง และสอง ฝั่งหน้า MBK 

“ผมพูดช้าๆ ใช้คำให้น้อย และชัดถ้อยชัดคำ เพื่ออธิบายให้มวลชนฟังว่า นี่คือแผนที่เราจะทำนะ การทำอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับสอนให้รู้ว่า การตะโกนโหวกเหวก พูดเร็วและกำกวม เป็นการสื่อสารที่แย่ คนฟังไม่รู้เรื่อง

“ผมยืนตรงกลาง และเดาได้ว่าตำรวจจะต้องตรงไปทางจุฬาฯ เลยพยายามจะแยกตำรวจเพื่อไม่ให้เขาขนทั้ง 3 กองร้อยไปที่จุฬาฯ ได้ กลายเป็นว่าตำรวจแตกขบวน เราจึงแซนด์วิชได้ง่าย ตำรวจเคลื่อนต่อไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมทำวันนั้น”

ผลจาก ‘น้ำสีน้ำเงิน’ ประชาชนเริ่มถอยร่นไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำรวจ 3 กองร้อยที่มุ่งหน้าประชิดผู้ชุมนุมก็เริ่มแตกขบวน กองร้อยหันเหไปทางสะพานหัวช้าง อีกกองไปยังหน้า MBK และกองร้อยสุดท้ายมุ่งตรงไปทางจุฬาฯ

ความโกรธของประชาชนที่พุ่งสูงกลบกลืนความกลัวชั่วขณะหนึ่ง คล้ายว่าความกลัวที่เคยฝังรากกำลังถูกถลกถอน ชะตากรรมของ ‘ผู้ตาสว่าง’ ไม่เคยง่าย ในบรรยากาศที่ความเป็นเหตุและผลถูกทำให้เป็นอัมพาต

“วันนั้นผมไม่กลัวเลย รู้สึกเสียใจเหมือนกันที่ตัวเองไม่กลัว ยืนปากหมาอยู่ข้างหลังตำรวจนานมาก จนพอยุติม็อบไปแล้ว สุดท้ายกองร้อยที่อยู่หน้า MBK หันหลังวิ่งกระโจนใส่ผมนับ 10 คน ผมยกมือขึ้น แล้วก็ถูกจับขึ้นรถคุกไปเลย

“ผมได้ใช้ทักษะผู้ช่วยผู้กำกับอย่างเต็มที่ ​วันนั้นคือหนึ่งในชัยชนะเล็กๆ ของผม เพียงแค่มันจบไม่ดีไปหน่อย”

ฉากที่ 2 กลางคืน / ตชด.1

เอเลียร์ถูกจับยัดเข้ารถควบคุมตัว ที่เขามักเรียกว่า ‘รถคุก’ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับการต้องคดีความ ก่อนหน้านี้ เขาถูกตั้งข้อหาคดีฉายโฮโลแกรม #ตามหาความจริง บนผนังและอาคารสำคัญหลายจุดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภา 2553 ทั้ง วัดปทุมวนาราม สยามพารากอน กระทรวงกลาโหม ซอยรางน้ำ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ในรถคันนั้น เขาพบมิตรสหายที่คุ้นตา ทั้ง ฟอร์ด เส้นทางสีแดง และ เติ้ล ณัฐนนท์ แห่ง SPACETH.CO ปลายทางของรถคันนั้นคือกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 มันคือค่ำคืนที่ยาวนาน บนถนนและรายทางที่ระงมไปด้วยเสียงตะโกนก้อง ‘ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา!’

“พอถึง ตชด.1 ผมยังยิ้มแย้มอยู่ จังหวะที่ต้องนั่งให้ปากคำ กรอกรายละเอียด ตอนนั้นในหัวผมคิดว่ากลุ่มของ ไผ่ ดาวดิน ถูกปล่อยออกจากคุกแล้ว คิดว่าโดนจับแล้วก็ปล่อย ไม่ถูกฝากขัง ก็หันไปถามทนายว่าพวกขอนแก่นเป็นยังไงบ้าง ทนายตอบว่า ‘ยังไม่ได้ออกมา ติดคุกจะอาทิตย์นึงแล้ว’

จากใบหน้ายิ้มกลายเป็นความคร่ำเครียดในทันที ไม่ใช่เพราะเขาอาจต้องถูกจองจำจากการไม่จำยอม แต่เพราะความไม่จำยอมต่ออำนาจ กำลังเล่นงานชีวิตและอาชีพที่เขายังต้องรับผิดชอบ

“อาทิตย์ที่จะถึงผมต้องถ่ายภาพยนตร์ 3 คิว มันคือความเสียใจที่งานผลักดันทางการเมืองของผมไปกระทบกับงานหลัก  ด้วยตำแหน่งผมคือผู้ช่วยผู้กำกับ มันกระทบทั้งขบวนกองถ่าย การประสานงาน ติดต่อนักแสดง …ผมรู้สึกผิด มันไม่ควรเป็นแบบนี้

“ผมกลับมาคิดนะว่า ถ้าต้องติดคุกจริงๆ เราพร้อมแค่ไหน”

คืนนั้นเขานอนไม่หลับ พะวงหน้าหลัง แม้เจตจำนงของเขายังแจ่มแจ้ง แต่ภายใต้เงื้อมมือของรัฐบาลผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และความโกรธจนต้องเปิดหน้าสู้ เขาพร้อมแค่ไหนกับราคาที่ต้องจ่ายหลังจากนั้น

“จากเหตุการณ์นี้ ก่อนจะชวนใครขึ้นเวทีปราศรัย เราต้องคุยกันให้เคลียร์ ว่าไม่ใช่เรื่องตลก การโดนคดีภายใต้รัฐอำนาจเบ็ดเสร็จมันไม่สนุก หลายคนไม่ได้ประเมินเหตุการณ์และความพร้อมจริงๆ จังๆ จนกว่าจะโดนจับ”

ฉากที่ 3 กลางวัน  / ศาลแขวงปทุมวัน

‘อย่าให้ความหวังตัวเองเลย ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แล้วสู้ด้วยกัน’

คือบทสนทนาสั้นๆ ของมิตรสหายขณะยืนหน้าบัลลังก์พิพากษา

ในใจของเอเลียร์ยังคงห่อเหี่ยว เขาไม่เผื่อใจมากนักว่าจะกลับคืนสู่อิสรภาพ การตั้งความหวังในห้วงเวลาเช่นนี้ อาจทำร้ายเขาไม่น้อยไปกว่าการถูกตีตรวน 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลังการอ่านรายละเอียดของคดี ตำรวจยื่นขอฝากขังจำเลยเพราะเกรงหลบหนี ผู้พิพากษาหญิงบอกว่า ‘อยากให้รู้ว่าผู้พิพากษาอยู่ข้างประชาชน พยายามอย่างเต็มที่เพื่อสู้ไปกับประชาชนนะ แต่ต้องเข้าใจว่ามันมีความกดดันมากในการทำสิ่งเหล่านี้’  

เรารับรู้ได้ในน้ำเสียงที่สั่น ว่าเขากำลังทำสิ่งที่กล้าหาญ ท้ายที่สุดผู้พิพากษาตัดสินใจปฏิเสธการฝากขังจากตำรวจและพูดทิ้งท้ายว่า ‘ไม่ต้องขอบคุณผู้พิพากษาคนเดียวนะ ให้ขอบคุณหัวหน้าผู้พิพากษาด้วยที่เขาจะต้องรับความเสี่ยงมหาศาล โดนตั้งคณะกรรมการสอบสวน และอาจจะถูกไล่ออกในที่สุดได้’  

เอเลียร์เงยหน้ามองตรง ย้ำอีกครั้งด้วยน้ำเสียงที่ฉะฉาน เขาฝากฝังเรื่องราวในบทสนทนา เพื่อขอบคุณความกล้าหาญนี้อีกครั้งอย่างเป็นทางการ 

“ผมดีใจมาก ความรู้สึกมันพลิกไปเลย อยากขอบคุณเขา อยากขอบคุณผู้พิพากษาทุกคนที่ยังยืนอยู่ข้างประชาชนตอนนี้”

Behind the Scenes

ช่วยเล่าถึงชีวิตและครอบครัวให้ฟังหน่อย คุณเป็นใคร มาจากไหน

ผมชื่อเอ ชื่อเต็มๆ คือ เอเลียร์ ฟอฟิ เป็นลูกครึ่งอิตาลี แม่เป็นคนไทย แต่ได้เชื้อพ่อที่แรงหน่อย หน้าจึงออกไปทางฝรั่ง ไม่มีความเป็นไทยเหลืออยู่เลย เดินไปไหนคนไทยก็คิดว่าเป็นฝรั่ง เราก็ชอบเนียนเป็นฝรั่ง

ผมเกิดที่อิตาลี โตที่ภูเก็ต ไม่ใช่นานาชาตินะ พ่อแม่ไม่ได้มีฐานะดีขนาดนั้น สังคมที่โตมาก็ไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เห็นหน้าตาผมฝรั่ง พูดอังกฤษยังไม่ชัดเลย เวลาเขากล่าวหาว่าเป็น CIA จะได้รู้ว่า ผมแม่งไม่สามารถส่งข้อมูลไปทางอเมริกาได้เลยเพราะภาษาอังกฤษผมยังไม่เเข็งแรงพอ (หัวเราะ)

ผมเกิดที่อิตาลีและเรียนจนจบอนุบาล 3 พูดอิตาลีได้ การที่เราได้โตในอิตาลีมาประมาณหนึ่งแล้วพอจะมีความทรงจำช่วงอนุบาลอยู่ เรารับรู้สภาพสังคมประมาณหนึ่ง ยังจำความเป็นอิสระของวัยเด็กช่วงนั้นได้บ้าง

พอผมย้ายมาไทย สิ่งแรกที่เจอคือโดนตัดผม ซึ่ง… เราไม่เคยเจอมาก่อน แต่ก็ไม่ได้ตั้งคำถามมาก รู้สึกประหลาดมากกว่า เพราะตอนเด็กเราอยู่ในจังหวัดเล็กๆ ชื่อ เปรูจา ของอิตาลี เป็นจังหวัดที่มีแรงงานจากฝั่งแอฟริกัน จีน โมร็อคเคี่ยน ทำงานจำนวนมาก โรงเรียนที่อยู่ก็จะมีคนหลายชาติมาก มันคือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ สังคมมันเปิดรับความหลากหลาย เคารพความแตกต่าง และไม่มีใครมายุ่มย่ามกับสรีระของเรา 

จากความรู้สึกประหลาด เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการตั้งคำถามตอนไหน

ความขัดแย้งจากตอนเรียนที่อิตาลีมันฝังอยู่ในตัวผม พอมาอยู่ไทย มันจึงเกิดความขบถลึกๆ กับการเติบโตขึ้นมาภายใต้สังคมไทย  

เอาจริงๆ ช่วงวัยนั้นผมถูกวัฒนธรรมที่ครอบงำผ่านโรงเรียนปลูกฝังความคิดมาจนผมเองก็มีชุดความคิดและความเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่ง ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร โรงเรียนไม่เคยสอนให้เราตั้งคำถามกับชุดความคิดของเรา เพราะเขาต้องการเพียงให้เราท่องจำและทำตาม ผมโตมาเป็นเด็กทั่วไปครับ จนกระทั่งผมได้กลับไปเรียนต่อที่อิตาลี 

ผมสอบชิงทุนโรงเรียนภาพยนตร์ที่อิตาลี ในมหาวิทยาลัยภาพยนตร์ที่ถูกก่อตั้งโดยเผด็จการมุโสลินีที่กรุงโรม ไปอยู่ที่นั่น 3 ปี เมื่อผมโยกกลับไปสู่รากเหง้าของความเป็นอิตาลี ไปด้วยชุดความคิดของอนุรักษนิยมไทย ไปเจอชุดความคิดที่ยอมรับความหลากหลายและเคารพในสิทธิของมนุษย์เหมือนตอนที่เรียนอนุบาล หนึ่งคือ ผมรู้สึกแปลกแยก เพราะตัวผมเป็นไทย หน้าผมเป็นอิตาลี พอไปเรียนที่นั่น ทุกคนจะคิดว่าผมเป็นอิตาลี แต่ภายในผมเป็นคนไทย 

เคยรู้สึกไหมว่าที่ยืนของคุณแคบมาก

ใช่ ผมว่าลูกครึ่งทุกคนจะมีคำถามนี้ในหัวว่า ‘เราเป็นใครกันแน่’ แล้วทำให้เราตั้งคำถามถึงความเป็นชาติด้วยว่า ชาติคืออะไร เพราะยุคเรามัน globalization ไปเรียบร้อยแล้ว ทุกคนคือมนุษย์ร่วมโลก พอเราเป็นลูกครึ่ง เราไม่ได้ belong ประเทศใดประเทศหนึ่งจริงๆ จังๆ 

ด้วยชุดความคิดแบบอนุรักษนิยมที่ถูกปลูกฝังมาจากประเทศไทยแล้วผมไม่เคยตั้งคำถามทางการเมืองหรือสิ่งที่เป็นไปรอบข้าง พอย้ายไปอิตาลี ผมได้เจอคนรุ่นเดียวกัน สิ่งที่พบคือ ความล้าหลังทางการศึกษาที่ผมได้รับมาทั้งหมดจากประเทศไทย มันปรากฏทันทีเลยว่า ผมไม่รู้อะไรเลย เทียบกับคนรุ่นเดียวกัน 

คุณไม่รู้อะไร เพื่อนรู้อะไร

ผมเรียนภาพยนตร์ที่ไทย 1 ปีก่อนย้ายไปเรียนอิตาลี กลายเป็นว่า ความรักภาพยนตร์หรือความรู้ทางศิลปะ แม้แต่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและภาพยนตร์ เราแม่งแทบจะไม่มีเลย เราสู้คนรุ่นเดียวกันของอิตาลีไม่ได้เลย ผม แม่ง ไม่ รู้ อะ ไร เลย! 

ทำให้ผมตั้งคำถามว่า กูเสียเวลาไปกับอะไรมาวะ ทำไมคนรุ่นเดียวกันที่อยู่อีกประเทศถึงรู้มากกว่าเราได้ขนาดนี้ ทำไมเขามีแพชชั่นและลงลึกกับสิ่งที่ทำได้ขนาดนี้ สะพานไหนมันหายไปในช่วงเวลาที่เราได้รับการศึกษาที่ไทย ด้วยสภาพนั้นทำให้เราต้องขยันกว่าเพื่อน พยายามตามเขาให้ทัน เรียนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ใหม่ตั้งแต่ต้นด้วยตัวเอง ตามอ่านหนังสือใหม่ทั้งหมด อ่านไฟไหม้เลย 

สะพานเส้นไหนที่ขาดหาย ได้กลับไปสำรวจมันไหม

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผมได้อ่านหนังสือเยอะมากที่อิตาลี เช่น ปรัชญาทางการเมืองของ โธมัส เพน เช่นเรื่อง Common Sense จังหวะที่อ่าน เหมือนสมองมันจะระเบิด มันเกิดการตั้งคำถามทันทีกับชุดความคิดที่เรามีมาตลอดจากการเติบโตในประเทศไทย มันกระแทกใส่หน้าเลย

ประกอบกับช่วงนั้น ประเทศไทยกำลังนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เกิดการตั้งคำถามและพยายามกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างจริงจัง กลับมาหาหนังสือต่างๆ อ่าน เพราะอยากรู้ว่า จริงๆ แล้ว ชุดความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่ได้มาจากโรงเรียนไทย กลับอีกชุดประวัติศาสตร์หนึ่งในหนังสืออย่างฟ้าเดียวกันหรือหนังสืออื่นๆ มันต่างกันอย่างไร ก็ไปหาอ่าน 

มันทำให้ผมเกิดอาการ ‘ตาสว่าง’ บวกกับการที่เราได้มาเจอศิลปวัฒนธรรมที่ต่างประเทศ แม้แต่การคุยเรื่องการเมืองกันอย่างเปิดเผยกับเพื่อนร่วมรุ่น มันคือโลกคนละใบกับที่ผมจากมา

โธมัส เพน พาคุณไปเจอคำถามแบบไหน

โธมัส เพน เป็นคนอังกฤษที่ไม่พอใจกับระบบกษัตริย์ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นมันมีมูฟเมนท์ในเพนซิลเวเนียที่ยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ โธมัส เพน ย้ายไปอยู่ที่นั่นในบรรยากาศที่เพนซิลเวเนียต้องการต่อสู้ทางการเมือง โธมัสมองว่า การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดคือเอา ‘ผู้กดขี่’ ออกไป ซึ่งก็คือสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่ไม่ควรจะเข้ามายุ่มย่าม ปกครองดินแดนที่แม่งโคตรไกล 

การที่ประเทศหนึ่งอยู่ห่างไกลมาก กว่าจะมีการช่วยเหลือจากอังกฤษส่งมายังเพนซิลเวเนีย ระบบกฎหมาย ระบบสภา มันใช้ช่วงเวลาที่นานมาก โดย common sense แล้วมันไม่มีความจำเป็นใดเลยกับการที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งรวมตัวเป็นสังคมขึ้นมาแล้วจะต้องรอการตอบรับจากกษัตริย์ที่อยู่คนละทวีปเพื่อสั่งการมายังพื้นที่ของตน สิ่งสุดท้ายที่ โธมัส เพน พูด คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อปลดแอกเพนซิลเวเนียออกจากอังกฤษ ไม่อย่างนั้นมันแก้ปัญหาไม่ตรงจุดสักที

พอกลับมามองมูฟเมนท์ตอนนี้ ผมจึงเคารพคนที่ออกมา เพราะมันตรงประเด็นที่สุดแล้ว มันคือการคุยกับเจ้าของอำนาจจริงๆ ต้องมีการเจรจาเกิดขึ้นเพื่อรีเซ็ตโครงสร้างใหม่ได้จริงๆ เพื่อให้สังคมเท่าเทียมจริง 

คุณเห็นอะไรก่อนที่จะ ‘ตาสว่าง’

ต้องยอมรับว่าในยุคนั้นฝั่งขวาเก่งมาก เขามีทรัพยากรในมือทั้งหมด ดูแลสื่อทั้งหมด แล้วสามารถสร้างชุดความคิดหนึ่งเพื่ออัดเข้าไปในแชนแนลต่างๆ ทำให้คนมีความเชื่อรูปแบบหนึ่งร่วมกันได้

สิ่งนั้นแหละหล่อหลอมผมผ่านวาทกรรม ‘คนโกง’ ผมก็เชื่อ มันเป็นวาทกรรมที่เขาคิดมาดีแล้ว แล้วเราในฐานะของคนที่อยากเห็นสังคมที่ยุติธรรมเหมือนกัน ทำให้เมสเสจที่เขาส่งมามันโน้มน้าวเราทันที ‘เออว่ะ ประเทศนี้แม่งเจริญไม่ได้ถ้ายังมีคนโกงอยู่’ วาทกรรมที่เขาเล่นกับเรามันทำให้รู้สึกว่า เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศเหมือนกัน เราจึงไปตกอยู่ในหลุมพรางของชุดความคิดนั้นทันที 

หนังสือเล่มไหนที่ทำให้คุณค้นพบความแตกต่างของประวัติศาสตร์ที่เคยรับรู้จากตำราเรียน

เล่มแรกที่ได้อ่านคือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ของ คริส เบเคอร์ และ คุณผาสุก พงษ์ไพจิตร ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนกับในหนังสือนอกโรงเรียน แม่ง คนละอย่างกัน เราเคยเจอแต่ประวัติศาสตร์ที่สมาทานคนดี พยายามสร้างตัวบุคคลขึ้นมาเป็นฮีโร่มาโดยตลอด 

หนังสือเล่มนั้นพูดถึงยุคทักษิณ ตอนนั้นเรามีชุดความเชื่อแบบ กปปส. พอเราเห็นอีกมุมหนึ่งทางประวัติศาสตร์ระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ ประชาชนกับรัฐ มันไปไขความกระจ่างหลายๆ อย่างได้ว่า ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วแม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์ของรัชกาลต่างๆ ที่เราไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ซึ่งอำนาจ มันก็เปิดข้อมูลให้เราในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

สถาพแวดล้อมในกรุงโรมเป็นอย่างไร

พอเข้าไปอยู่ในโรงเรียนภาพยนตร์ที่อิตาลี สภาพแวดล้อมของศิลปะและวัฒนธรรมของที่นู่นมันเบ่งบานมาก แม้แต่กลุ่มละคร ก็มีแอคทิวิสต์ทางการเมืองที่ไปยึดโรงละครของรัฐไว้ เพราะรัฐไม่ใช้งานและปล่อยทิ้งรกร้าง แอคทิวิสต์เขายึดมันมาใช้แล้วจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนที่จะเข้ามาดูศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจริงๆ เป็นยุคที่ศิลปะขบถในกรุงโรมกำลังเฟื่องฟู ปาร์ตี้เยอะแยะมากมาย LGBTQ+ ที่เรากำลังต่อสู้กันนั้น เขาไปไกลมาก 

ผมไปเจออีกโลกที่เสรี มัน culture shock จริงๆ ‘เชี่ย พวกเขาไปอยู่จุดไหนกันแล้ว แล้วกูยังอยู่จุดนี้อยู่เลยยังต้องมาเสียเวลาต่อสู้กับคนที่เห็นแก่ตัวอยู่เลย’

คุณย้ายประเทศได้นะ คุณมีทรัพยากรเพียงพอที่จะไป ทำไมยังอยู่ ทำไมยังมีหวัง

ผมรู้ตัวว่าหน้าอิตาลี แต่ในใจผมยังเป็นคนไทย ผมรู้ว่าถ้าจะต้องทำงานทางภาพยนตร์หรืองานที่ต้องสื่อสารตัวตนออกมาจริงๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังเป็นประเทศไทยที่อยู่ในตัวผม 

พอผมเรียนจบ ผมเริ่มเห็นสังคมเริ่มระอุแล้ว เราย้ายกลับมาช่วงที่มีการทำรัฐประหารของ คสช. ได้ 1 ปี ผมเห็นทุกอย่างจากอิตาลี เลยคิดว่า โมเมนต์นี้ดีที่สุดแล้วถ้าผมจะทำโปรเจ็คต์อะไรสักอย่างที่ไทย 

เล่าให้ฟังหน่อย คุณกลับมาทำอะไรบ้าง

ผมไม่รู้จักใครเลย คลิปแรกที่ทำคือ ‘โหวต No ประชามติ’ จำได้ว่าพวก คุณรังสิมันต์ โรม เขารณรงค์โหวต No แล้วโดนจับกัน รัฐเล่นงานหมด ผมนั่งอยู่ที่บ้าน คิดในใจ ‘กูต้องทำอะไรสักอย่าง’ นั่งตัดคลิป ตัดๆๆ แล้วส่งคลิปส่วนตัวไปให้กลุ่ม ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM’ ไม่นานเขาก็แสดงความสนใจว่าอยากจะร่วมพัฒนางานนี้ต่อ กลายเป็นคลิปที่เปิดผ่านเพจหนึ่งวันก่อนการประชามติ 

ฟีดแบ็คเป็นยังไง พอใจไหม

คลิปนั้นมันไม่ได้สำเร็จมาก แต่อย่างน้อย ภาพยนตร์คือเครื่องมือหนึ่งของมวลชนฝั่งเราที่อยากแสดงความคิดเห็นของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย ผมแบ่งมวลชนออกเป็น passive กับ active เวลาเขาอยู่บนโซเชียล บางทีเขาก็ไม่กล้าแอคทีฟเพราะกลัวคนที่เห็นต่างในพื้นที่ของเขา เขาจึงเลือกนิ่งดีกว่า แต่ถ้าเรามีเครื่องมือทางวัฒนธรรมบางชิ้นไปให้เขา เขาเห็นแล้วรู้สึกว่ามันตั้งคำถามกับสังคมได้ มันพูดแทนเขาได้ในทางที่ซอฟต์กว่า เครื่องมือนี้จะช่วยให้เขาแสดงความคิดของเขาออกมา จาก passive เขาก็สามารถเป็น active ได้ จาก soft power ที่เราผลิตขึ้นได้ 

หลังจากคลิปนั้น คุณไปต่อกับงานอดิเรกทางการเมืองยังไงบ้าง

งานเคลื่อนไหวทางการเมืองผมทำอยู่สองอย่าง เวลาไม่มีคนรันสเตจผมก็ไปรันให้ อีกด้านคืองานทางวัฒนธรรม ล่าสุดคือคลิปพี่สุกัญญา มิเกล และ พี่เอ็ม สุรศักดิ์ ผมทำหน้าที่ในการเป็นข้อต่อระหว่างผู้กำกับ แหล่งข่าว และช่องทางการปล่อย ให้มาเจอกัน เป็นคนคอยเชื่อมต่อให้งานเกิดขึ้นได้ ให้มันมีพลัง เพราะผมเชื่อว่า soft power สำคัญมาก ทำเรื่อยๆ ทำอย่างสม่ำเสมอ 

อะไรทำให้คุณเชื่อมั่นในพลังของเครื่องมือ Soft Power ขนาดนี้

ต้องเข้าใจว่า ศิลปะไม่ใช่ปืน ไม่ใช่การเอาศิลปะมายิง ปั้งงงง! แล้วชนะ ไม่ใช่แบบนั้น 

ถ้าศิลปะบอกเล่าเพียงชุดความคิดด้านเดียว อาจจะเรียกว่ามันคือศิลปะก็ได้ แต่มันยังไม่ครบ มันคือ propaganda งานที่ดีคืองานที่ทำให้คนได้ตั้งคำถามจริงๆ แล้วย้อนกลับมามองตัวเอง ศิลปะไม่ทำให้ชนะในเร็ววันหรอก เพราะมันคือการทำงานระยะยาว คือการปลุกและปักธงทางความคิด เราต้องทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ให้คนเห็นมุมมองที่แตกต่างจากที่เขาเคยมองเห็น การที่ฝั่งขวาสามารถช่วงชิงอำนาจได้ นั่นเพราะเขามีสื่ออยู่ในมือทั้งหมด แต่ ณ วันนี้ วันที่อินเทอร์เน็ตมันมา เราต้องผลักทุกอย่างเพื่อที่จะเอาอำนาจนำทางสังคมกลับมาอยู่ฝั่งเรา

จากผู้คนที่มาม็อบ แน่ล่ะว่าเขาโกรธ แต่อีกมุมหนึ่ง เขาก็มาฟังเพื่อน มาทำความเข้าใจในความโกรธของตัวเองและตอบตัวเองให้ได้ว่า ฉันออกมาทำไม คุณมองกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ที่เกิดขึ้นอย่างไร

ปัญหาใต้พรมที่รัฐซุกไว้ทำให้คนโกรธ ตอนแรกมันต้อง develop เป็นความโกรธเพื่อที่คนจะผลักตัวเองออกมาแอคทีฟทางการเมือง พอความโกรธเริ่มซาลง เขาก็ต้องเริ่มหาอะไรที่มันตอบคำถามเขาให้ได้ว่า ‘ทำไมฉันโกรธขนาดนี้วะ’ ตรงนี้คือกระบวนการเรียนรู้จริงๆ มันต้องเกิดภาวะที่แบบ ‘เชี่ย กูอธิบายไม่ได้ว่ะ ชีวิตกูเป็นเ-ี้ยไรวะเนี่ย เ-็ดแ-่ทำไมกูต้องไปถึงต่างประเทศกูถึงจะได้เดินฟุตบาธดีๆ ทำไมกูกินเบียร์แทนน้ำที่เกาหลีได้ ทำไมที่ไทยมันแพงจังวะ ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นไม่ได้สักทีวะ อุปสรรคห่าเหวมันอยู่ตรงไหน’ มันต้องเริ่มจากการตั้งคำถามก่อน เขาจึงโกรธ แล้วจึงจะเห็นโครงสร้างที่กดทับลงมา

สุดท้ายเวลาคุณแอคทีฟออกมา สังคมรอบข้างก็จะถามว่า ทำไมคุณมีความเชื่อแบบนี้ คุณก็ต้องตอบเขาให้ได้ นั่นทำให้คุณที่ออกตัวไปแล้วต้องมาเรียนรู้ มาหาข้อมูลให้กับตัวเอง เพื่อพูดคุยและบอกต่อเมสเสจนี้ในสังคม

ในขบวนการเองมีความขัดแย้งกันทางความคิดแบบนี้บ้างไหม

เยอะแยะเลย คือคนฝั่งซ้ายประชาธิปไตยก็มีหลายเฉด วิธีการที่จะได้มาซึ่งชัยชนะในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เขามีชุดความเชื่อว่า ‘มึงทำอย่างนี้สิ มึงจะชนะ’ มันมีทุกทางให้ไป

แต่สุดท้ายคือ มันต้องมีทางใดสักทางที่ต้องเลือก ลำพังตัวผม ผมเชื่อว่า การต่อสู้ครั้งนี้ไม่จำเป็นต้อง only one way แต่มันต้องป่าล้อมเมือง โอเคเรามีขบวนนำที่ตีเรื่องการปฏิรูปสถาบันที่เป็นศูนย์รวมอำนาจที่ต้องทลายลงเพื่อให้เกิดมิติใหม่ๆ ทางสังคม ตรงนี้โอเค

แต่ขบวนอื่นๆ ระหว่างทางนั้น จะต้องไม่ถูกกลบ ยังต้องมีอยู่ อย่างนักเรียนเลวที่พูดเรื่องการศึกษา ขบวนสมัชชาคนจน ขบวนสามจังหวัดชายแดน เราต้องโอบอุ้มประเด็นยิบย่อยเหล่านี้ไม่ว่าสิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์​ LGBTQ+ sex worker แรงงานฟรีแลนซ์ เยอะแยะมากมายที่เขามีปัญหากับโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ ถ้าเราไม่มีพื้นที่ให้กับเขาเลย มันน่าเสียดาย เพราะปัญหานั้นมีทุกหย่อมหญ้า ภาพเหล่านี้ควรออกมาเพื่อสร้างแนวร่วม

เรามักเห็นความกวนตีน แสบสัน จากการดีไซน์ม็อบ คุณมองอาวุธที่ชื่อว่า ‘อารมณ์ขัน’ นี้ยังไง

การใช้อารมณ์ขันคือการแปลงข้อมูลที่ยาก คนบางคนอาจไม่มีแพชชั่นในการไปนั่งอ่านอะไรหนักๆ อารมณ์ขันมันช่วยเปิดประตูทุกมิติให้ทุกคนสามารถรับรู้ร่วมกันได้ เอ็นจอย สนุกกับมัน แล้วอารมณ์ขันมันไปทำงานกับสมองของคนได้ดีกว่า พอคนมีอารมณ์ขันกับมัน คนก็จำได้ทันที เขาสามารถเอามุกนี้ไปเล่นต่อได้ มันกลายเป็นการเมืองที่ไม่เครียด เป็นอาวุธที่ทรงพลังมาก

ยกตัวอย่างเช่นคลิปที่เป็นคู่รักสองคนบอกเลิกกันแล้วชวนกันไปวิ่งไล่ลุง มันก็มีอารมณ์ผ่านการล้อเลียนการเป็นสลิ่มสมัยก่อน คลิปจะ flash back แฟนของผู้หญิงที่บอกว่า เขาเป็นคนดีมากเลยนะ เขารักประเทศชาติ ไปเป่านกหวีดกัน การเอาอดีตที่เคยมีชุดความเชื่ออย่างหนึ่งมาเป็นปัจจุบันที่เราล้อเลียนกับมันได้ มันก็คือทลายบางอย่าง

พอคนได้ดูหนังสั้นเรื่องนั้น หนังที่เอาสัญลักษณ์นกหวีดกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งในพื้นที่สาธารณะ แล้วมันมีอารมณ์ขันของมัน ทุกคนพอเห็นนกหวีด เขาจะหวนย้อนไปยังชุดความเชื่อในอดีตของตัวเองทันที แล้วหัวเราะกับมันได้ มันเหมือนเป็นน้ำแข็งที่แตกลงเมื่อเราหัวเราะกับสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อ มันไม่ได้เครียดขนาดนั้น คนเราเปลี่ยนความคิดกันได้ อารมณ์ขันมันคือเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงความคิดนั้นเป็นไปอย่างซอฟต์และสนุก เราไม่อยากสร้างสังคมที่มาฆ่าฟันทางความคิดกัน

คุณได้รับผลกระทบจากวงการโฆษณาและภาพยนตร์ไหมจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ความเชื่อหนึ่งของผมคือ ต่อให้เป็นควายแดง พวกล้มเจ้า ขวาจัด ยังไงก็ตามแต่ สนามการทำงานนี้ ถ้าคุณกากก็ไม่มีใครจ้างคุณ

ยิ่งเป็นฝั่งซ้าย คุณต้องทำงานให้เก่งฉิบหาย มาตรฐานต่ำไม่ได้เลย ไม่อย่างนั้นจะโดนว่าทันทีว่า ‘บ้าแต่การเมือง งานกระจอกฉิบหาย’ งานหลักและงานอดิเรกอย่างม็อบ ผมถึงทำควบคู่กันไปได้ ทุกคนทำควบคู่ไปได้

คุณเคยได้ฟังหรือได้คุยกับคนที่เขากลับใจไหม

ผมนั่งอยู่ตอนสัมภาษณ์พี่มิเกลในวิดีโอของกลุ่มเยาวชนปลดแอก บทสนทนาตอนนั้นต้องยกความดีความชอบให้ผู้กำกับที่ตั้งคำถามดี ได้มาซึ่งเนื้อหาการสนทนาที่ดี ผมเซอร์ไพรส์มาก ไม่คิดว่าพี่มิเกลจะเปิดตัวว่ารักเจ้า โมเมนต์ที่เขาบอกว่า ได้ไปอ่าน 10 ข้อเรียกร้องของธรรมศาสตร์ เพื่อจะรีเช็คว่า เด็กพวกนี้จะล้มเจ้าจริงหรือเปล่า? เขาไม่ได้ล้ม เขาหวังดีกับสถาบัน

มันคือสิ่งที่ผู้กำกับคลิปนั้นมาคุยกับผมว่า ‘คอนเทนต์ที่เราตามหาจะสัมภาษณ์คนในสังคมก็ได้ เยอะมากเราจะสัมภาษณ์คนฝั่งซ้ายไหม หรือสัมภาษณ์คนทั่วไป อดีตสลิ่ม CIA (รถขายลูกชิ้น)’ ตัวเลือกในมือเรามีเยอะมาก แต่เวลาเราเลือก เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไปเพื่อเป้าหมายใด ต้องการอะไรจากการทำ

คลิปสัมภาษณ์ สุกัญญา มิเกล สร้างพลังแบบไหนในบรรยากาศแบบนี้บ้าง

พี่มิเกลชัดมาก มันคืองานชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้กำลังพูดกับคนฝั่งม็อบนะ แต่กำลังพูดตรงไปยังคนฝั่งขวา พี่มิเกลเป็นตัวแทนที่เปิดประตูหนึ่งให้คนที่รักสถาบันจริงๆ ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และต้องการให้สถาบันฟังเด็กรุ่นใหม่บ้าง รีแอคชั่นจากโซเชียลหลังปล่อยคลิปพี่มิเกลมันอิมแพคมากนะ บางคนเอาคลิปไปปล่อยในไลน์ครอบครัวเพื่อเปิดพื้นที่การสนทนา เพราะพี่มิเกลคือตัวแทนของยุคพ่อแม่เขาจริงๆ พอพ่อแม่เขาเห็นพี่มิเกลที่เป็นเหมือนกระจก ที่บางทีเขาไม่เคยได้ตั้งคำถามกับชุดความเชื่อของตัวเองด้วยซ้ำ เขาไม่รู้ว่าจะอยู่จุดไหนทางการเมือง เพราะบางคนที่รักเจ้า เขาไม่เจอคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา มีแต่เนื้อหาที่พูดถึงเด็ก การปฏิรูป การต่อสู้ แต่ไม่มีอะไรที่ยึดโยงกับเขา ผมเชื่อว่าคลิปของพี่มิเกลได้ไปทำงานกับคนเยอะมาก

ในการต่อสู้ครั้งนี้ คุณมองว่ามันคืองานระยะยาว คือการสร้างขบวน แล้วตัวแปรแบบไหนที่จะทำให้ขบวนใหญ่ขึ้น

การ empower ต่างจังหวัดให้พูดเรื่องปัญหาของตัวเองครับ ตอนทำม็อบที่ภูเก็ต ปัญหาคือเราชูเรื่อง 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก คือหนึ่ง หยุดคุกคามประชาชน สอง ยุบสภา สาม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนทำม็อบที่ภูเก็ต คีย์ที่วางไว้คือพูดเรื่องนี้ แต่สปีกเกอร์ที่ลงไปเห็นได้ชัดว่า ความที่ภูเก็ตเป็นเกาะ นั่งรถ 12 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ความห่างไกลจากรัฐของประชาชนบนเกาะ มันไกลมาก เขารู้สึกว่า 3 ข้อเรียกร้องมันไม่ค่อยตอบโจทย์เขา

ผมพยายามเคลื่อนเมสเสจบนโปสเตอร์ให้เข้าถึงเขามากกว่า ไม่ใช่การบอกว่า ‘ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย!’ คนภูเก็ตไม่เข้าใจ เราเปลี่ยนเป็น ‘ภาษีกูอยู่ไหน’ เขาจะรู้สึกทันทีว่า ‘เหยดแหม’ เราต้องหาแนวร่วมด้วยข้อมูลที่เขารู้สึกจริงๆ มันเกี่ยวข้องกับเขาจริงๆ คำว่า ภาษีกูอยู่ไหนมันโยงไปได้ถึงการกระจายอำนาจ

ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีปัญหาของตัวเอง เมสเสจต่างๆ จึงควรยืดหยุ่นและพลิกแพลงได้?

ใช่ สุดท้ายขบวนการที่รายรอบอยู่ทั่วประเทศ ต้องพยายามฟังชุมชนของตัวเองให้เยอะๆ หาจุดแข็ง หาปัญหาจริงๆ ของชุมชน และผลักดันภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านะ แต่ต้องเล่นในเชิงการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนมามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่อย่างนั้นมันไปต่อไม่ได้ ถ้ามันคือการเมืองของกรุงเทพฯ อย่างเดียว คนต่างจังหวัดจะไม่มีวันรู้สึกอิน ต้องทำให้เขารู้สึกให้ได้ว่าการเมืองจะเกี่ยวข้องกับเขายังไงถ้าอำนาจไปอยู่ที่เขา

อะไรทำให้รุ่นคุณต่างจากรุ่นก่อน

รัฐไม่สามารถมากำกับดูแลข้อมูลทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ตได้ ฝั่งเราผลิตคอนเทนต์จำนวนมหาศาล โอเคแหละ ตามทฤษฎีของอัลกอริธึม สุดท้ายเราต่างเสพแต่สิ่งที่เราชอบ คนฝั่งขวาก็ได้ชุดข้อมูลฝั่งขวาที่เขาอยากอ่าน นี่คือกระบวนการของอัลกอริธึม

แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น คือวอลุ่มคอนเทนต์ของฝั่งซ้ายสเกลมันใหญ่มาก ทุกคนทำสื่อ ประชาชนทำกันเอง ศิลปินทำโปสเตอร์เอง วาดรูปเอง ทำเพลงแร็ปเองเยอะแยะมากมาย ปริมาณเนื้อหาจึงเยอะมาก

เทียบกับอีกฝั่งนะที่คนทำไม่กี่คนแล้วเสียแรงเยอะมาก แต่คอนเทนต์น้อย สุดท้ายแล้วเวลาอัลกอริธึมมันฟีด มันก็จะต้องหาอะไรใหม่ๆ มาให้คนฝั่งขวาตลอด พอถึงจุดหนึ่ง คุณผลิตคอนเทนต์ขึ้นฟีดคนฝั่งขวาไม่ทัน สิ่งที่จะหลุดมาคือคอนเทนต์ของฝั่งเรา โอเค อาจจะหลุดไปซักคอนเทนต์เดียว แต่ครับ เมื่อใดก็ตามที่ฝั่งขวาเผลอไปกด มันคือการเปิดประตูให้คอนเทนต์ฝั่งซ้ายโยกเข้าไปในฟีดเขาเรื่อยๆ อัลกอริธึมก็จะทำงาน และมันจะเคลื่อนข้อมูลฝั่งซ้ายไปสู่ฝั่งขวาอัตโนมัติ ซึ่งคนคนนั้นที่พลาดเข้าสู่โลกของฝั่งซ้าย ก็จะถูกคอนเทนต์ปริมาณมากกรูเข้ามา นี่คือเหตุผลที่เราจะชนะ

อะไรที่ยากที่สุดกับการต่อสู้ครั้งนี้

เงินไม่มี

เพราะถ้าทำหนัง ผมต้องมีเงินในการโปรดักชั่น เอาไฟมา เอาทีมงานมา มันใช้เงินหมด ตอนนี้ทุกคนออกมาด้วยใจ แต่เเต้มบุญมันมีจำกัด ถ้าในระยะยาวจริงๆ ก็ต้องมีการหาวิธีการซัพพอร์ตขบวน ซึ่งผมเองพยายามอยู่ อาจต้องทำ proposal หานายทุน หรือเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนได้มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อไป

คุณจะโน้มน้าวผู้คนให้ร่วมสู้กันในระยะยาวยังไง ระยะยาวที่ก็ยังไม่รู้จะยาวแค่ไหน

ผมขอโน้มน้าวเขาเหล่านั้นอย่างนี้นะ เบื่อหรือยังกับผังเมืองที่มันไม่เอื้อให้เกิดคู่รัก ไม่เอื้อให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ เพราะโครงสร้างที่ไม่อำนวยให้เกิดผังเมืองที่ดี ไม่คิดถึงประชาชนให้เขามีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน

อย่างที่บอก ผมมีงานหลักและงานอดิเรก มันทำคู่กันได้ ทุกคนที่ออกมาวันนี้ คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรามาพบหน้าคนที่เขามีความคิดเห็นเหมือนกับเรา มาให้กำลังใจคนทำงาน แค่เรามาเพิ่ม 1 คน มันสำคัญมากกับขบวน ทุกคนสำคัญ เพราะม็อบจะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีมวลชน เพื่อให้ขบวนนี้มันมีความหมายและมีพลัง ทุกคนต้องเอาตัวเองเข้ามา ถ้าคุณไม่มีทักษะการเขียน ไม่มีทักษะสร้างงานศิลปะ คุณสามารถมาซัพพอร์ตได้ ยืนอยู่ร่วมกับเรา เหนื่อยก็พัก ว่างก็มา มาเจอหน้ากัน มาอุดหนุน CIA บางทีมันไม่จำเป็นต้องมาว่า การออกมาครั้งหนึ่งเราต้องชนะทันที คือเราชนะแล้ว ใจเย็นๆ

มีโมเมนต์ประทับใจอะไรบ้างในม็อบ

ผมไปห้าแยกลาดพร้าว สิ่งที่ผมเห็นนะ วัยรุ่นทุกคนพร้อมที่จะเป็นแนวหน้าในการกันไม่ให้ตำรวจเข้ามา เห็นแถวที่เรียงกัน ส่งหมวกส่งร่มเป็นทอดๆ ความสามัคคีที่เกิดขึ้นในขบวน สวยงามมาก

ขบวนการต่อสู้แบบสันติวิธีนี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับการก่อตัวของม็อบในช่วงต้น กลุ่มเยาวชนปลดแอก นักเรียนเลว แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จริงๆ วันที่ 19 กันยา นั้น สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้นะ แต่แกนนำชาญฉลาดพอที่จะไม่เอามวลชนไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เลือกที่จะเปลี่ยนยุทธวิธีไปทางอื่น นี่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อมวลชน

พอขบวนแรกๆ ที่เกิดขึ้นเขาแสดงความรับผิดชอบเช่นนี้ มันจึงเอฟเฟ็คต์กับทุกคนให้อยู่ในแนวทางสันติวิธี ชุดความคิดแบบนี้ถูกส่งต่อเรื่อยๆ และถูกปลูกฝังสู่คนที่เขาออกมา เพราะเราสร้างมาดีแล้ว เราทุกคนจึงไม่อยากให้มันพัง เราอยากชนะอย่างสะอาด

ถ้าขบวนเริ่มต้นมาพร้อมกับความเกลียดชังและรุนแรง มันก็จะเคลื่อนแบบนั้นมาเรื่อยๆ แต่ว่าเริ่มต้นมาดี และเรารักษาโมเมนตั้มนั้นต่อไป

กับการต่อสู้ครั้งนี้ คุณคิดถึงพล็อตหนังแบบไหน

หนังเรื่องนี้… อืมมม

ขอแบบฝันๆ เลยนะ หนังม้วนนี้จะมีทุกคนเป็นตัวเอก มันจะไม่ใช่หนังเรื่องเดียวแล้ว ทุกคนจะคือตัวเอกที่กำลังเดินทางสู่สังคมที่เท่าเทียมจริงๆ ซาวด์ประกอบหนังจะเฟี้ยวหน่อย แบบเพลงรถบั๊มอะ โจ๊ะๆ หน่อย

ถ้าการเมืองดี ชีวิตคุณตอนนี้จะเป็นยังไง

ผมจะอยู่ภูเก็ต เล่นเซิร์ฟ มีร้านกาแฟของตัวเอง … (นึก)

ถ้าการเมืองดี ผมจะมีเงินทำหนังที่เกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามกับสังคมได้เยอะขึ้น งบประมาณที่เขาใช้ทำสื่ออวย สามารถนำมาทำสื่อเพื่อตั้งคำถามต่อสังคมอีกภาพหนึ่งได้ ภาพของความเท่าเทียม ภาพที่คนเท่ากัน หรือกระทั่ง ทำสื่อในประเด็นชุมชนต่างๆ หรือเอาทรัพยากร ความรู้กระจายไปต่างจังหวัด ให้เด็กๆ พูดแทนบ้านตัวเองได้ ถ้าการเมืองดี รัฐจะสนับสนุนเครื่องมือให้ชุมชนสามารถแสดงออกได้

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า