เรื่องของเรื่อง ต้องเริ่มต้นจากการบ้านชิ้นหนึ่งในวิชาเรียนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ในวันนั้น บรรยากาศของเมืองเชียงใหม่อบอวลไปด้วยเรื่องราวการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ร้านรวง โรงหนัง และบ้านเรือนปิดเงียบเชียบ ‘เด็กหญิงเมนู’ สุพิชฌาย์ ชัยลอม ขณะนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่
ในห้องสี่เหลี่ยม คุณครูยืนเด่นอยู่หน้าชั้นเรียน มอบหมายโจทย์การบ้านให้เด็กๆ กลับไปทำรายงานในหัวข้อ ‘โครงการในพระราชดำริและประวัติโดยย่อของในหลวงรัชกาลที่ 9’
“หนูไปค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำรายงาน แล้วดันไปอ่านเจอบทความเกี่ยวกับหนังสือที่ชื่อว่า The King Never Smiles: A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulyadej” เมนูนิ่งนึกเพื่อย้อนความทรงจำ เธอเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนโพล่งขึ้นว่า
“ครูน่าจะลืมสั่งให้ไปค้นคว้าในหนังสือเรียน แกคงลืมว่า ความรู้ของเด็กยุคเรามันอยู่ในจอมือถือ อยู่ในทุกๆ ที่แล้ว”
หากเปรียบเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง นี่คงเป็นจุดที่ผู้เขียนบทกำลังสร้างเงื่อนไขให้ตัวละครหลักเดินทางหาคำตอบเพื่อไปสู่จุดไคลแม็กซ์ ทว่านี่คือชีวิตจริง ความใคร่รู้ของเมนูจึงไม่อาจคลี่คลายได้ในเร็ววันนัก เธอยกเรื่องราวการบ้านชิ้นนั้นมาเพื่ออธิบายถึงสะพานที่เชื่อมเธอไปสู่สภาวะ ‘ตาสว่าง’ ในระบบการศึกษาที่พยายามซุกซ่อนความจริงทางประวัติศาสตร์ให้เผยออกมาเพียงเสี้ยวที่เล็กที่สุด
ชื่อของ ‘เมนู’ ปรากฏครั้งแรกบนเวทีปราศรัย #มอชองัดข้อเผด็จการ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การปราศรัยครั้งแรกของเธอถูกบันทึกเป็นวิดีโอและส่งต่อในโลกออนไลน์ด้วยอัตราเร็วเพียงชั่วข้ามคืน
“หนูคือสิ่งที่ระบบการศึกษาเรียกว่าความผิดพลาด!”
เธอประกาศกร้าวบนเวที ก่อนไล่เลียงปัญหาของการศึกษาที่ช่วงชิงความฝันไปจากนักเรียนคนหนึ่ง ภาพของหญิงสาวร่างเล็ก รวบผมเป็นหางม้า ใส่ชุดนักเรียนมัธยมปลาย และปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ฉะฉาน ด้วยบุคลิกที่ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว นั่นทำให้ผู้คนจำจดเธอได้เพียงครั้งแรกที่ได้ฟัง
จากวันนั้น เมนูปราฏตัวบ่อยครั้งในหน้าสื่อและบนเวทีการชุมนุมหลายแห่ง การถูกสปอตไลท์ในฐานะเยาวชนผู้เป็นแอคทิวิสต์ทางการเมืองไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายนัก หากแต่ต้องแลกกับเบี้ยบ้ายรายทางที่เธอต้องจ่าย ทั้งในฐานะลูกตำรวจ นักเรียนมัธยม ประชาชน และผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่อความอยุติธรรมใดๆ อีกแล้ว
คุณเติบโตมาในครอบครัวและสังคมแบบไหน
หนูโดนเลี้ยงมาแบบลูกตำรวจ คุณพ่อเป็นตำรวจ เขาจึงมีวิธีคิดค่อนข้างยึดติดกับกฎระเบียบและรูปแบบ เช่น ต้องอยู่ในกฎ ในความคาดหวัง ถ้าทำผิดก็ต้องโดนลงโทษ ซึ่งเป็นการลงโทษแบบ domestic violence (ความรุนแรงในครอบครัว) ค่อนข้างเป็นความทรงจำที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราไม่ค่อยสนิทกับพ่อแม่ มองย้อนกลับไป เราว่ามันคือการที่ไม่สื่อสารและไม่ปรับตัวเข้าหากัน เลยไม่เข้าใจกัน
การเติบโตมาในแวดล้อมของกฎระเบียบและการลงโทษด้วยความรุนแรง มองเป็นความปกติไหม
เราไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยมองว่ามันคือเรื่องปกติ และตั้งคำถามกับการเลี้ยงดูเช่นนี้อยู่เสมอ รู้สึกว่ามันไม่ใช่การเลี้ยงดูที่เราในฐานะลูกควรเจอ ไม่ว่าจะเป็นการทำโทษรุนแรง การด่ากัน มันควรมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้
เราจึงกลายเป็นเด็กดื้อในนิยามของผู้ใหญ่ ด้วยความที่เราแทบไม่เดินตามเส้นทางที่ครอบครัววาดไว้ให้เลย
ครอบครัวคาดหวังให้เป็นอะไร แล้วคุณอยากเป็นอะไร
คาดหวังให้เป็นผู้นำครอบครัว ต้องเข้มแข็ง ต้องเก่ง ต้องแกร่ง ต้องเลี้ยงดูครอบครัวได้ เขาพยายามให้เราทำหน้าที่ผู้นำแทนเขาได้ในวันที่เขาไม่พร้อม ถามว่ามันตรงกับสิ่งที่เราอยากทำไหม มันตรงกันค่ะ เพียงแต่วิธีการที่ครอบครัวตั้งใจสื่อสารกับเรา มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้เลย มันมีหลายกระบวนการ หลายวิธีการที่เขาสามารถปลูกฝังเราได้ ไม่ใช่การเลี้ยงดูแบบกดดันอย่างที่เจอมา
แล้วสังคมในโรงเรียนล่ะ คือพื้นที่แบบไหน
เราพยายามลื่นไหลไปกับสังคมของโรงเรียน แต่เราไม่ค่อยสนใจการศึกษาในโรงเรียนเท่าไหร่ เรียนๆ ให้มันมีเกรด ให้ผ่านๆ ไปเท่านั้น เพราะเรารู้ตัวแล้วว่า เราสนใจอะไร อยากเรียนรู้อะไร แต่โรงเรียนให้เราไม่ได้ เราจึงเน้นไปที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
อะไรทำให้คุณหันหลังให้กับการศึกษาในระบบ
เรื่องแรกคือ อำนาจนิยมในโรงเรียนที่เราทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับทุกอย่าง เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วง ม.ต้น เป็นวัยที่เรากำลังค้นหาความสนใจตัวเอง และพบว่า เราชอบเกมมาก ชอบถึงขั้นอยากเรียนต่อด้านนี้ ช่วงนั้นเราติดเกม ผลที่ตามมาคือ เราขาดส่งงานหนึ่งในวิชานาฏศิลป์ ครูท่านนั้นโกรธมาก ปัญหานี้เราไม่ได้เจอคนเดียว นักเรียนทุกคนเจอแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า ครูท่านนั้นแสดงออกอย่างไม่ถูกต้องกับนักเรียนบ่อยครั้ง เพียงแต่วันนั้น หวยมาลงที่เรา เขาโมโหมาก เขาด่าเราต่อหน้าเพื่อนในห้อง เรียกมาด่าหลังไมค์อีก เรียกผู้ปกครองมา แล้วให้เรากราบเท้าขอโทษพ่อกับแม่ที่เราไม่กตัญญู ไม่ตั้งใจเรียน
ซึ่ง… มันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเลยกับการโยงเอาความกตัญญูซึ่งเป็นค่านิยมของสังคมไทยมาเชื่อมโยงกับการที่เด็กไม่ส่งงาน 1 ชิ้น เรารู้สึกว่ามันคือการบ้าอำนาจ
อีกเรื่องคือหลักสูตรในโรงเรียน เราสงสัยว่าสิ่งที่หลักสูตรออกแบบมา ทุกคนต้องเรียนแบบนี้เหรอ เช่น วิชาพลศึกษา วิชานี้ไม่ควรมีเกณฑ์หลักมาวัดแล้วตัดสินนักเรียน หลายคนที่เขามีสภาพทางกายภาพที่ไม่เอื้อกับกีฬาจริงๆ แต่เขาต้องเจอกับเกณฑ์มาตรฐานเดียวในการวัดผล มันไม่ตอบโจทย์เขาเลย นี่คือหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เราไม่โอเค
ในบรรยากาศแบบนั้น มันทำให้เกิดคความรู้สึกแบบไหน
ตอนเด็กๆ เราทั้งกลัว พร้อมๆ กับเริ่มตั้งคำถาม แต่ด้วยความที่เป็นเด็ก เราจึงไม่ได้เอาคำถามนั้นมาหาคำตอบอย่างแท้จริง จนเริ่มโตมาอีกหน่อย เราเริ่มตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น จึงมีการเอาเรื่องราวนั้นมาทบทวนอีกรอบ
คำว่า สิทธิและเสรีภาพ ปรากฏขึ้นตอนไหน
มันปรากฏขึ้นในหัวมานานแล้ว เพียงเรายังหาคำนิยามอย่างชัดเจนไม่ได้ มันเริ่มจากปัญหาในสถาบันครอบครัวเป็นหลัก ในการที่เราถูกวางทิศทางไว้แล้ว เมื่อเราพยายามออกนอกทาง ครอบครัวก็พยายามตบให้เรากลับมาที่เดิม มันมีทั้งการบังคับให้เราเรียนพิเศษ บังคับที่เรียน จนมาแตกหักช่วง ม.ต้น ที่เราอยากเรียนโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เราสอบติด แต่ไมได้เรียนด้วยเหตุผลที่เขาไม่อยากให้เราอยู่ไกลบ้าน
ส่วนตัวเรามองว่า มันคือสิทธิและเสรีภาพของเราที่จะเลือกอนาคต เลือกที่ที่เราจะพัฒนาตัวเอง เรารู้ตัวตั้งแต่ ม.2 ว่าเราอยากพัฒนาทักษะด้านการออกแบบเกม ส่วนตัวเราเข้าใจพ่อแม่นะ แต่เราก็เริ่มตกผลึกได้ว่า เอ๊ะ เราไม่มีสิทธิเลือกเส้นทางชีวิตของเราเหรอ มันกลายเป็นสิทธิของพ่อแม่ที่จะกำหนดเส้นทางให้เราหรือ? พอเราตกผลึกได้ ตั้งคำถามได้ ประเด็นนี้มันจึงไปต่อยอดกับเรื่องอื่นๆ ด้วย
ในเมื่อการศึกษาในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ชีวิตที่อยากเป็นนักออกแบบเกม คุณเลือกที่จะหาความรู้จากที่ไหน
เราเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อที่จะได้เรียนรู้สิ่งที่อยากเรียน เริ่มเสิร์ชหาเลยว่า ถ้าอยากเริ่มต้นสร้างเกม ต้องเริ่มยังไง ทำอะไรบ้าง มันมีแหล่งการเรียนรู้ในอินเทอร์เน็ตที่ไหนบ้าง มีออนไลน์คอร์สไหนบ้าง ยูทูบช่องไหนบ้าง เราก็ไปเจอหลายแหล่ง เจอคอมมิวนิตี้ที่แลกเปลี่ยนข้อมูลมหาศาลในโลกโซเชียล ข้อมูลที่ไม่เคยมีสอนในโรงเรียน มันคือสิ่งที่เราต้องการ สนใจ และได้ประโยชน์จริงๆ
ในโลกของเกม อะไรที่ทำให้คุณสนใจถึงขั้นอยากเป็น Developer
หนูเล่นเกมเยอะมาก Undertale, League of Legends, CSGO, Minecraft, Misfortune, Dead by Daylight สิ่งที่เราค้นพบคือ เกมคือศิลปะอย่างหนึ่งที่เรามีสิทธิจะออกแบบเองได้ กำหนดคาแรคเตอร์ กำหนดจุดจบของมันได้ เหมือนเราได้รับสารจากผู้สร้างเกมที่ตั้งใจสื่อมา แล้วมันมีเมสเสจบางอย่างให้เรา อยู่ที่ว่าเราจะเก็บเกี่ยวอะไรได้ หรือแม้เกมแนวแข่งขัน พอเราเล่นกันหลายๆ คน เราเจอคอมมิวนิตี้ เจอการทำงานเป็นทีม ซึ่งเมื่อมันคอมพลีทไปด้วยกัน มันจะเกิดกระบวนการตกผลึกบางอย่างกลับมา
ตอนไหนที่เรารู้สึกว่าอยากเอาดีด้านนี้
ตอน ม.ต้น เราติดเกมหนักมาก และโดนคำครหาว่า ติดเกมแบบนี้ไม่มีอนาคตหรอก เราก็คิดว่าอยากค้นหาบางอย่างเพื่อหาเป้าหมายในชีวิต จึงเริ่มอยากเปลี่ยนจากคนเล่นเกมเป็นคนทำเกมบ้าง
จากเด็กติดเกมในวันนั้น เราก็พยายามหาวิธีสร้างเกมขึ้นมาบ้าง จนเรามีเกมเป็นของตัวเอง ไปแข่งทำเกมในแคมป์ต่างๆ ก็ได้รางวัลกลับมา
การติดเกมในช่วงนั้น มันเปิดโลกใหม่ให้เรามากๆ เราเจอสังคมใหม่ การเรียนรู้คำศัพท์รูปแบบใหม่ เจอชุมชนเล็กๆ ในเกม เราได้มาตกผลึกอีกครั้งคือ เราสามารถทำให้ความชอบกับการเรียนรู้มันไปด้วยกัน เราจึงอยากทำเกมขึ้นมา ซึ่งจุดประสงค์หลักคือเราอยากสร้างเกมที่ทำให้ผู้เล่นได้ประสบการณ์ดีๆ กลับไป
อยากแนะนำผู้หลักผู้ใหญ่ในระบบการศึกษาในการใช้เกมมาส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างไร
อยากให้มองว่า เกมคือสื่ออย่างหนึ่ง การศึกษาสามารถเอาเกมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ที่ดีได้ ต่อยอดได้มากมาย ปัจจุบันเรามีสื่อการเรียนรู้แนวเกมที่ใช้กระบวนการที่เรียกว่า Gamification (กระบวนการในการสร้างหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของคนด้วยกลไกของเกม) มันคือสื่อเชิงโต้ตอบ (interactive) เพราะการศึกษาไทยมักเป็นไปในรูปแบบ ฟัง จด แต่ถ้าเรานำเกมมาประยุกต์ใช้ให้มีการโต้ตอบกัน จะช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนได้มากกว่านี้
แล้วโลกของการเมืองล่ะ เริ่มสนใจตอนไหน
สนใจมานานและแอบๆ ดูข่าวการมืองบ้างแม้ไม่ค่อยเข้าใจมากนัก เริ่มสนใจจริงๆ จังๆ ก็เมื่อมีการประท้วงช่วงปลายปี 2562 จนถึงปีนี้ เป็นม็อบประท้วงไล่ประยุทธ์ เราก็สงสัยว่า ทำไมต้องไล่ เขาทำผิดอะไร เริ่มคิดตาม หาข้อมูลดู เริ่มเห็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์เยอะแยะเลย ทั้งประเด็น เสือดำ, นาฬิกายืมเพื่อน, ป่ารอยต่อ, CPTPP, บอส อยู่วิทยา เราเอาประเด็นในทวิตเตอร์ไปค้นต่อ นั่งอ่านข้อมูลเรื่อยๆ ช่วงนั้นยังเป็นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น ไม่ได้สนใจถึงขั้นอยากเป็นแอคทิวิสต์ขนาดนั้น
สนใจกรณีไหนเป็นพิเศษ
ตื่นตัวกับข่าวเสือดำเป็นพิเศษเพราะเราเป็นคนรักสัตว์ แล้วรู้สึกว่า มันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพ่อของเราซึ่งมีอาชีพเป็นตำรวจ เพราะในข่าวเสือดำมันว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม มันเอื้อประโยชน์กับนายทุนใหญ่ กับผู้มีอิทธิพล จนผลลัพธ์ที่ได้คือคนที่ทำผิดลอยนวล มันมีรูปแบบคดีที่ไม่ชัดเจน ทำให้เราโยงมาถึงอาชีพของพ่อเราที่มีหน้าที่รักษาความยุติธรรม พอเจอข่าวแบบนี้ เรากลับมาตั้งคำถามกับอาชีพที่พ่อของเราทำอยู่
เรื่องราวเริ่มต้นยังไง ทำไมถึงได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีที่เชียงใหม่
ก่อนหน้านั้น เราทักเข้าไปในเพจประชาคมมอชอว่า ‘อยากไปม็อบแล้วนะคะ อยากให้มีม็อบแล้ว’ เขาบอกมาว่า กำลังรับสมัครสตาฟอยู่นะ พร้อมกับส่งรายละเอียดมาให้ดู หนึ่งในนั้นคือ คนปราศรัย เราตัดสินใจสมัครไปเพื่อปราศรัยเลย ใช้เวลาคิดไม่ถึง 1 นาที เรามีความเชื่อว่าเราพูดได้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงความเสี่ยงที่จะตามมาเท่าไหร่
บรรยากาศวันนั้น วันที่ปราศรัยครั้งแรก เล่าให้ฟังหน่อย
วันนั้นเราตื่นเต้น จังหวะที่ยืนบนเวที รู้สึกเลยว่า โอกาสมันอยู่ตรงหน้าแล้วที่เราจะได้พูดสิ่งที่เราต้องการ เราพูดออกไปทั้งหมดเลยค่ะ ทั้งเรื่องความผิดพลาดของระบบการศึกษา สิทธิเสรีภาพของเยาวชน
คำพูดบนเวทีวันนั้น มันคือเรื่องราวของเราที่ประกอบด้วยหลายความรู้สึก ทั้งเจ็บปวด ความไม่ยุติธรรม ความต้องการอยากเปลี่ยนแปลง และอารมณ์ของการตัดพ้อสังคม ประโยคหนึ่งที่เราพูดไปคือ ‘หนูคือสิ่งที่ระบบการศึกษาเรียกว่าความผิดพลาด’ ซึ่งมาจากเหตุการณ์ที่เราเคยเจอ และนักเรียนทุกคนต่างมีประสบการณ์ร่วมเช่นกัน มันชวนให้คิดไปว่า ‘แล้วอะไรล่ะคือการศึกษาที่แท้จริง’
‘การศึกษาทำร้ายฉัน’ อย่างไรบ้าง
การศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราในฐานะผู้เรียนเลย เราเห็นคนที่เลือกหันหลังให้กับการศึกษา เราเห็นคนที่ยอมแพ้กับการศึกษาไทย เราอยากเป็น Developer แต่ยังต้องมาถูกเคี่ยวเข็ญเรียนนาฏศิลป์ พลศึกษา ซึ่งเราเอาไปประยุกต์ใช้กับความสนใจไม่ได้เลย ซึ่งมันล้าหลังมากๆ ความเชื่อบางอย่างที่ถูกปลูกฝังในเนื้อหาการเรียนมันไม่อัพเดท จึงรู้สึกว่า เราควรออกมาพูด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
หลังจากเวทีปราศรัยครั้งแรก คุณทำอะไรต่อ
จากวันนั้น เราถูกเชิญให้ไปเข้าร่วมจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าไปคุยกับทางฝั่งราชการ นั่งพูดให้ผู้ใหญ่รับฟัง ตอนนั้นเราไม่ได้หวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงในทันที แต่มันคือก้าวแรกที่พิสูจน์ว่า เรามีสิทธิพูด เพราะเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง
พอคิดได้แบบนั้น เราเริ่มวางแผนต่อว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ เราต้องค้นไปให้เจอกับต้นตอของปัญหา ซึ่งต้นตอมันก็คือการเมือง จากจุดนั้นทำให้เราออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เพราะปัญหามันเชื่อมโยงกันเป็นใยแมงมุม จะแก้เรื่องเดียวไม่ได้
จากต้นตอปัญหาการศึกษาที่ค้นพบมันมีขนาดใหญ่มาก ท้อไหม
ไม่ค่อยท้อค่ะ เพราะคิดมาแล้วว่าสิ่งที่ทำไปไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในทันทีหรอก ด้านหนึ่งคือสิ่งที่เราทำนั้นค่อยๆ ทำงานกับความคิดของคนในสังคม อีกด้านคือ เราทำงานสร้างแนวร่วม สังเกตว่า ทุกครั้งหลังการปราศรัยในที่ต่างๆ มันจะมีการเคลื่อนไหวของนักเรียนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีหลายขบวนการของนักเรียนนักศึกษาผุดขึ้นมามากมาย
ทำไมการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไม่ได้เสียที
หนูเคยตั้งคำถามนี้ และคิดว่าคำตอบคือการที่เรายึดติดกับระบบความคิดที่ล้าหลัง สิ่งที่เราต้องเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องประชาธิปไตย คือการต่อสู้กับระบบทางความคิดที่ให้ค่ากับอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส ที่ไม่เปิดกว้างต่อความคิดของคนรุ่นใหม่ให้มีที่ยืนมากนัก ความล้าหลังนี้มันกัดกร่อนและชะงักไม่ยอมให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง
หลายคนกลัวการเปลี่ยนแปลง อาจเพราะเขากลัวว่าตนจะไร้ที่ยึดเหนี่ยว หรือไร้ที่ยืนเมื่อสูญเสียอำนาจ พอเขากลัว เขาจึงทำได้ทุกอย่างที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
เพื่อนร่วมทางเยอะไหมกับการต่อสู้ครั้งนี้
ตอนนี้เรามีเพื่อนทั่วประเทศเลย พวกเราสร้างกลุ่มนักเรียนล้านนา และเชื่อมคอนเนคชั่นกับกลุ่มของภาคกลาง อีสาน ใต้ ตอนนี้มีครบทุกภาค เรามีความคิดอยากทำให้กลุ่มต่างๆ กลายเป็นก้อนกลมก้อนเดียวกัน และผลักดันสิ่งที่เราเรียกร้องให้เกิดขึ้น
เวลาไปม็อบ คุณสนใจประเด็นไหนเป็นพิเศษ
ความรุนแรงในครอบครัว และการยกเลิก ‘คดีอุทลุม’ (ห้ามฟ้องบุพการี) เราเคยปราศรัยเรื่องนี้ เราอินมากๆ เพราะวัยเด็กเราได้รับผลกระทบเต็มๆ เรามองว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไข ถ้ารัฐบาลยื่นมือมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ มันจะช่วยคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไปได้เยอะ เช่น การจัดให้มีสวัสดิการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต หรือการจัดคอร์สให้ความรู้แก่พ่อแม่ เป็นสวัสดิการแก่ครอบครัวที่มีลูก เหล่านี้มันจะช่วยลดปัญหาไปได้เยอะเลย
เรามองว่า ความรุนแรงในครอบครัวต้องแก้ที่ระบบความคิดของคนที่ยังยึดติดกับจารีต ความเชื่อ ประเพณีที่ผูกค่านิยมจากศาสนามาใช้ ทำให้เกิดค่านิยมของ ‘ความกตัญญู’ เช่น เกิดเป็นลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตอนแก่ เราไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะคะ แต่วิธีคิดเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาขึ้น
ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย
มีเคสหนึ่งเขาเล่าให้เราฟัง พ่อแม่พูดกับเขาตรงๆ ว่า ‘ลูกเกิดมาเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่’ เขารู้สึกไม่มีอิสระในการใช้ชีวิตของตัวเองเลย ความคิดนี้มันไปทำลายคนคนหนึ่งที่เกิดมาโดยไม่ได้ร้องขอ มันเลยทำให้เรากลับไปคิดว่า ประโยคเหล่านี้มันเกิดจากอะไร เราจึงไปหาข้อมูลและค้นพบกรณีคดีอุทลุม คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า ‘ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้…’ พูดง่ายๆ ว่า ในมาตรานี้หากลูกฟ้องร้องพ่อแม่ แปลว่าเป็นคนผิดประเพณี ไม่มีศีลธรรม และไม่รู้จักบุญคุณ ไม่สามารถฟ้องร้องได้
กฎหมายข้อนี้ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ซึ่งมันมีการประยุกต์เอาหลักศาสนามาใช้กับกฎหมาย เรามองว่ามันไม่แฟร์เลย ทำไมกฎหมายนี้ยังไม่ถูกแก้ไข ทั้งที่เราก็เห็นแล้วว่า ปัจจุบันนี้สถาบันครอบครัวไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่รักลูก
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คุณมองว่าตัวเองเป็นฟันเฟืองส่วนไหนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้
เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ของนักเรียนทั่วประเทศ เหมือนเราเป็นตัวเปิด เป็นคนดันเพดาน แล้วหันไปบอกเพื่อนๆ นักเรียนว่า ‘เธอพูดเรื่องนี้ได้นะ เราพูดได้ เธอก็พูดได้นะ’
จริงๆ หนูไม่ค่อยมีความรู้เท่าไหร่ในเรื่องกฎหมาย ประวัติศาสตร์ การเมือง แต่สิ่งที่เราทำได้จากการประเมินตัวเองคือ เราปลุกใจคนได้ เราพาเพื่อนมาเป็นแนวร่วมได้ เราพูดให้คนที่มีความรู้มากกว่ามาพูดในประเด็นของเขาได้ หรือทำให้เขามีความกล้าที่จะพูดมากขึ้น เช่นเราจั่วหัวเรื่องแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมา ปรากฏว่ามีเด็กหลายๆ คนออกมาพูดเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเขามีความรู้ มีข้อมูลที่แน่นกว่าเราอีก นั่นคือสำเร็จแล้ว
อีกหน้าที่คือเรามีสกิลของการออร์แกไนซ์ และการช่วยเทรนเพื่อนๆ ว่าถ้าอยากปราศรัยปังๆ ต้องประมาณไหน (หัวเราะ) เพื่อช่วยทำให้เมสเสจที่เขาสื่อออกไปตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจเขาที่สุด
เคยทำความเข้าใจผู้คนที่อยู่อีกคนละฝั่งทางความคิดบ้างไหม
หลังปราศรัยครั้งแรก เราพยายามทำความเข้าใจมากๆ เพราะเรามองว่า ทุกคนคือเหยื่อ ทุกคนต่างโดนกดทับ มีช่วงหนึ่งเราจึงโหมอ่านงานหลายอย่าง ทั้งงานวิจัยที่ว่าด้วยความแตกต่างของคนแต่ละเจเนอเรชั่น เพื่อที่เราจะหาจุดตรงกลางในการสื่อสาร สิ่งที่พบคือ เราได้เข้าใจแบ็คกราวด์ของคนรุ่นเก่าว่าเขาเผชิญอะไรมาบ้าง จนกลายมาเป็นระบบคิดแบบนี้ นำมาสู่วิธีการในการแสดงออกรูปแบบต่างๆ
สิ่งที่พบก็เช่น คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เขาเติบโตมาในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ เขาโตมาด้วยความคิดที่ว่า เขาต้องขยันทำงาน ต้องอดทน ต้องเข้าระบบราชการถึงจะยกระดับชีวิต มีความมั่นคง
เราศึกษากระทั่งงานจิตวิทยาของคนฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาว่าเขามีวิธีคิดต่างกันอย่างไร อย่างฝ่ายซ้าย เขาจะกลัวที่จะสูญเสียอิสรภาพและสิทธิในการแสดงออก ส่วนฝ่ายขวา เขากลัวที่จะไม่มีอะไรปกป้องเขา อะไรประมาณนี้ค่ะ รวมถึงเราพยายามศึกษาอีกว่า ในฐานะที่เราเป็นเยาวชน เป็นคนรุ่นใหม่ เราจะมีวิธีอย่างไรในการพูดคุยกับเขา
กับการเปิดหน้าสู้ คุณต้องแลกมากับอะไรบ้าง
สารภาพตามตรงว่าหนูวางแผนก่อนปราศรัยครั้งแรกแล้วว่า ถ้าเรายังอยากขับเคลื่อนต่อ อยากดันเพดานให้สูงขึ้นไปอีก หนูต้องมีเกราะป้องกัน ซึ่งสปอตไลท์ของสื่อคือหนึ่งในเกราะนั้น กลายเป็นว่า ผลที่ได้คือหนูไม่ถูกคุกคามจากรัฐบาล ในขณะที่มีแกนนำเยาวชนหลายคนโดนหมายเรียกแล้ว มันคือผลจากการที่เราให้สัมภาษณ์ทุกที่เลย ให้คนได้รู้จักเรา อ่านสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ เพื่อป้องกันตัวเองในการเคลื่อนไหวต่อจากนี้
ซึ่งสปอตไลท์จากสื่อที่เราใช้เป็นเกราะ มันแลกมากับการที่เราโดนโจมตีได้ง่ายขึ้น เช่นที่เคยเจอคือ เราโดนคุกคามจากช่องทางออนไลน์และการสแปมคอมเมนต์ ส่วนตัวเราคิดว่า มันคือราคาที่ต้องจ่าย ที่เราไม่สมควรจ่าย ไม่มีใครควรจ่าย ไม่ยุติธรรรมเลย
เล่าให้ฟังหน่อย เหตุการณ์ไหนที่ถูกคุกคาม
มีการคอมเมนต์ข้อความในรูปรูปหนึ่งว่า ห อ ม, ข อ บ คุ ณ ค รั บ และมีการคอมเมนต์ข้อความนี้รัวๆ กลายเป็นว่ามันดึงคอมเมนต์อื่นๆ ในเชิงคุกคามมาด้วย รวมทั้งมีการเอารูปภาพนั้นไปใช้ในเชิงคุกคามทางเพศต่อ เรารู้สึกไม่โอเคเลย จึงออกมาพูดว่า เราไม่โอเคนะ
เราแอคชั่นโดยการที่บอกว่า เราจะฟ้องร้อง มันทำให้หลายๆ คนไม่พอใจด้วยเหตุผลว่า ‘คุณกำลังทำลายฝั่งเดียวกันนะ’ โดยพยายามสื่อว่า ‘คนที่มาคอมเมนต์เหล่านี้หลายคนต้องการประชาธิปไตยเหมือนกันนะ เป็นคนฝั่งเดียวกันนะ ฟ้องไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร’
ซึ่งในขณะนั้น เราในฐานะของเหยื่อมองว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เราสมควรได้รับ แล้วการฟ้องคือวิธีเดียวที่จะเยียวยาเราในฐานะเหยื่อ ไม่ใช่ในฐานะแอคทิวิสต์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแกนนำเยาวชน
กระแสตอนนั้นตีกลับเราแรงมาก และมันไปกระทบกับคนอื่นๆ ด้วยที่โดน hate speech เพราะเรื่องนี้ เราไม่โอเค เริ่มโทษตัวเอง เริ่มมีปัญหากับคนรอบข้าง เพราะเราควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จนกระทั่งก๊อกแตก ร้องไห้ต่อหน้าเพื่อนๆ เลย จนเริ่มกลับมาตั้งสติ ตกผลึกและรับฟังเสียงของตัวเองจนได้ข้อสรุปว่า เราไม่ควรได้รับสิ่งเหล่านี้ในการเป็นคนสาธารณะ กับการโพสต์รูปรูปเดียวซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองด้วยซ้ำ แต่โดนคุกคามเช่นนั้น
จากบุคลิกภายนอกที่ดูเด็ดเดี่ยวและห้าวหาญ คุณมองว่าตัวเองเป็นคนเข้มแข็งไหม
มากค่ะ มากๆ เลยค่ะ ถึงแม้ว่าเรื่องที่เจอช่วงที่ผ่านมาจะทำให้เราเซเลย แต่เราดึงตัวเองกลับมาได้ทุกครั้ง หนูมีพื้นที่ให้ตัวเองได้พลาด ได้ยอมรับ และโอบรับด้านมืดของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา รู้สึกว่าตัวเองมีกระบวนการป้องกันตัวเองค่อนข้างดี อาจเพราะอดีตตอนเด็ก มันสร้างภูมิคุ้มกันให้เราไปในตัว หนูคือคนที่เข้มเเข็งมากๆ คนหนึ่ง และหนูอยากเป็นคนที่ดีขึ้น ตอนนี้ก็สภาพจิตใจดีขึ้นเรื่อยๆ
เรียนรู้อะไรบ้างจากหลายเดือนที่ผ่านมาในฐานะแอคทิวิสต์
อย่างหนึ่งคือ ถ้าเราอยากเปลี่ยน ขอแค่เราลุกขึ้นมา มันเปลี่ยนได้แน่นอน หากมองจากพัฒนาการของเราเอง คือเดือนสิงหาคม ปราศรัยเรื่องการศึกษา เดือนกันยา ออกมาหน้ากระทรวงให้คนในกระทรวงศึกษาฯ ฟัง เดือนตุลา เราพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันเราก่อตั้งกลุ่มนักเรียนเชียงใหม่เพื่อเคลื่อนไหวในพื้นที่ของจังหวัด จนมาถึงเดือนพฤศจิกายน เราออกมาเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาค ส่วนเดือนหน้า แพลนคือเราจะออกมาเคลื่อนไหวในระดับประเทศ
ที่ไล่เลียงมา มันคือพัฒนาการที่เห็นได้ชัดเจน และเป็นข้อพิสูจน์ว่า เราทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แค่คุณลุกขึ้นมาทำ
ในฐานะที่คุณพ่อเป็นตำรวจ คุณมองบทบาทของเจ้าที่รัฐจากสถานการณ์ชุมนุมที่ผ่านมาอย่างไร
เราเข้าใจว่าเขาต้องเจอกับโครงสร้างทางสังคมที่กดให้เขาต้องพึ่งพาระบบราชการ หลายคนมีทัศนะที่ตรงกับผู้ชุมนุมไม่น้อย แต่ด้วยสถานะของเขาที่ยากจะต่อต้านอำนาจได้ บีบให้เขาต้องทำตามคำสั่ง รวมไปถึงระบบโซตัสที่เขาเจอในค่ายทหาร ในโรงเรียนนายร้อย หรือในการทำงานของเขา ที่ทำให้เขากลัวและไม่กล้าขบถ
ถ้าตอนนี้มีกองกำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอยู่ตรงหน้าเรา เราคงปราศรัยให้เขาฟัง เพื่อย้ำให้เขารู้ว่า สิ่งที่เขาเจออยู่ ไม่ใช่สิ่งที่เขาควรได้รับ สิ่งที่เขาควรทำคือการยืนหยัดออกมาต่อต้านความไม่ถูกต้องนั้น เหมือนเราต้องทำให้เขาหายกลัวก่อน เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่อีกมากที่กำลังกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวการเป็นแกะดำ หน้าที่ของเราคือทำให้เขาหายกลัวแล้วมาอยู่ข้างประชาชน
คุณจะปราศรัยอะไรให้เขาฟัง หากตอนนี้มีกองกำลังทหารและตำรวจอยู่ตรงหน้า
หนูจะบอกว่า คุณคือประชาชนคนหนึ่งเหมือนกันนะ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ เมื่อคุณวางตำแหน่งหน้าที่นี้ คุณก็กลายเป็นคนคนหนึ่งที่ยังต้องกินข้าว เดินบนฟุตบาธ เดินทาง ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป การที่คุณออกมาต่อต้านอำนาจเผด็จการนั้น เรารู้ว่าคุณต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ถ้าคุณไม่ได้ทำมันคนเดียวล่ะ เราอยากให้คุณมั่นใจว่า เมื่อไหร่ที่คุณกล้า คุณจะไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว คุณไม่โดดเดี่ยว เมื่อไหร่ที่คุณถอดเครื่องแบบแล้วมายืนข้างประชาชน นั่นหมายถึงว่า คนที่ยืนเคียงข้างคุณคือประชาชนทุกคนที่ออกมาเรียกร้องตอนนี้
เราทุกคนจะทำให้คุณเห็นว่า การที่คุณเลือกตัดสินใจหันหลังให้อำนาจเผด็จการ มันไม่ใช่ทางเลือกที่ผิด
จริงๆ เรื่องนี้พูดยากมาก เพราะในฐานะของเรา ช่วยอะไรเขาไม่ได้เลยหากเขาถูกกระทำโดยอำนาจรัฐ มันจึงขึ้นอยู่ที่ใจของเขาล้วนๆ แต่เชื่อเถอะว่าเขาจะไม่โดดเดี่ยวแน่นอน
ถ้าการเมืองดี ตอนนี้ชีวิตคุณจะเป็นยังไง
หนูคงได้เป็นนักร้อง ได้ไปหาความรู้ในต่างประเทศ ได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากทำเพราะโครงสร้างสังคมจะเอื้อให้ความฝันของหนูเป็นไปได้
อยากร้องเพลงอะไรให้รัฐบาล
เพลง Do You Hear the People Sing ค่ะ มันคือเพลงที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า เจ้าของประเทศที่แท้จริงคือประชาชน ถ้าเราได้ร้องเพลงนี้ต่อหน้าคณะรัฐมนตรี มันคือการย้ำความจริงให้เขารู้ว่า ประเทศนี้คือของประชาชน แล้วเขาต้องฟังเสียงเรา
*หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563