The Last Czars: 101 ปี ปิดฉากราชวงศ์โรมานอฟ

คฤหาสน์อิปาเตียฟ (Ipatiev House) เป็นคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองเยคาเตรินบูร์ก (Yekaterinburg) บริเวณเทือกเขาอูราล ด้วยอาณาเขตที่กว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 2 ทวีปของจักรวรรดิรัสเซีย เยคาเตรินบูร์กจึงเป็นเส้นแบ่งเขตทวีประหว่างยุโรปและเอเชีย อีกทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านเมืองแรกที่ตั้งอยู่ในเขตทวีปเอเชีย คฤหาสน์อิปาเตียฟ เดิมเป็นของเศรษฐีชาวรัสเซียผู้หนึ่ง ก่อนจะกลายมาเป็นที่พำนักของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวของพระองค์

เรื่องของคฤหาสน์หลังนี้ แม้จะฟังดูคล้ายกับเรื่องเล่าธรรมดา แต่มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะคฤหาสน์หลังนี้ถูกใช้สำหรับภารกิจเฉพาะ (The House of Special Purpose)

คฤหาสน์อิปาเตียฟ คือสถานที่สุดท้ายก่อนปิดฉากราชวงศ์โรมานอฟอันเกรียงไกร – อิปาเตียฟคือสถานที่สังหารหมู่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซารินาอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Tsarina Alexandra Feodorovna) พร้อมทั้งพระธิดาและพระโอรสทั้งครอบครัว

พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งจักรวรรดิรัสเซีย พระองค์มีบุคลิกไม่ค่อยจะเป็นผู้นำที่ดีเท่าใดนัก นักประวัติศาสตร์เล่าถึงความไม่เด็ดขาด และการขึ้นสู่ตำแหน่งในเวลาที่ทรงไม่มีความพร้อม พระองค์นำพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และนั่นคือการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดครั้งหนึ่ง ในอีกหลายๆ เหตุการณ์ก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้ ได้กลายสภาพเป็นเหมือนน้ำมันราดลงบนไฟแห่งความเคียดแค้นและความต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนของผู้คนในรัสเซีย

พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงต่างชาติจากแคว้นเฮสเสอ (Hesse and by Rhine) รัฐหนึ่งในจักรวรรดิเยอรมัน เจ้าหญิงอลิกซ์ (Princess Alix of Hesse and by Rhine) ก่อนจะเปลี่ยนพระนามเป็น จักรพรรดินี หรือ ซารินาอเล็กซานดรา เฟโดโอรอฟนา (Alexandra Feodorovna) ตามธรรมเนียมแบบรัสเซีย

ซาริน่าอเล็กซานดร้า เฟโดโอรอฟนา
ซารินาอเล็กซานดรา เฟโดโอรอฟนา

เจ้าหญิงอลิกซ์ทรงเป็นหลานยายของสมเด็จพระราชนีวิคเตอเรียแห่งอังกฤษ พระมารดาของพระองค์คือพระราชธิดาของราชินีวิคตอเรีย และสายสัมพันธ์นี้เอง ทำให้เกิดความวุ่นวายและซับซ้อนจนกลายเป็นปัจจัยในการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟในภายหลัง

ซาร์และซารินา เป็นคู่รักที่พิเศษและแตกต่างที่สุดในเวลานั้นของราชวงศ์ยุโรป เนื่องจากการแต่งงานยุคนั้นเป็นลักษณะของการคลุมถุงชน ไม่ได้เกิดจากความรัก แต่ไม่ใช่กับซาร์และซารินาแห่งรัสเซีย สองพระองค์ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน ทั้งคู่เขียนจดหมายรักนับหมื่นฉบับ ซึ่งปัจจุบันยังถูกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุ (ปัจจุบันจดหมายบางส่วนถูกนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต)

ภายหลังการแต่งงาน ซารินาให้กำเนิดแกรนด์ดัชเชสทั้งหมด 4 พระองค์ โอลกา (Olga), ทาเทียนา (Tatiana), มาเรีย (Maria) และ อนาสตาเซีย (Anastasia) ซึ่งการที่พระองค์ให้กำเนิดพระราชธิดาทั้งหมด 4 พระองค์ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้เอง นำไปสู่ความกดดันและความตึงเครียดเกี่ยวกับรัชทายาทเพื่อสืบราชสันตติวงศ์ พระองค์เอาแต่สวดมนต์วิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า และทำทุกวิถีทางเพื่อมีรัชทายาทสืบราชวงศ์ต่อไป

แกรนด์ดัชเชสทั้งหมด 4 พระองค์
แกรนด์ดัชเชสทั้งหมด 4 พระองค์

ในที่สุด ซาร์และซารินาก็มีพระราชโอรส อเล็กเซย (Alexei) แกรนด์ดยุคองค์สุดท้ายของครอบครัว แต่เรื่องราวกลับไม่ราบรื่น เมื่อสายสัมพันธ์ยายหลานระหว่างซารินาและพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษเริ่มสำแดงเดช เจ้าชายอเล็กเซยในวัยทารกถูกตรวจพบว่าเป็นโรคฮีโมฟีเลีย (hemophilia) หรือ ‘โรคเลือดไหลไม่หยุด’ โรคทางพันธุกรรมของราชวงศ์ยุโรป ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากยีนที่กลายพันธุ์ของพระราชินีวิคตอเรียเอง ทารกเพศชายที่สืบเชื้อสายจากพระราชินีวิคตอเรียส่วนใหญ่มักจะเลือดออกและเสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่ทารกเพศหญิงมักจะเป็นพาหะของโรคเท่านั้น

จากสาเหตุนี้เอง เจ้าชายน้อยอเล็กเซยจึงได้รับโรคดังกล่าวผ่านทางมารดา ทันทีที่ซาร์และซารินาทรงรับรู้ ราวกับโลกจะดับสูญ เพราะพระองค์ไม่เคยคาดการณ์ถึงภาพเหล่านี้ แกรนด์ดยุคอเล็กเซยเคยหกล้มและเลือดออกไม่หยุดจนเกือบตายไปหลายครั้ง ทำให้ครอบครัวโรมานอฟต้องเก็บเรื่องดังกล่าวไว้เป็นความลับและไม่ยอมออกจากวัง โดยมีข้ารับใช้คอยระแวดระวังไม่ให้องค์ชายน้อยหกล้มหรือแม้แต่มีรอยฟกช้ำใด เพราะนั่นหมายถึงความเป็นความตาย ทั้งของพระองค์และอนาคตของราชวงศ์โรมานอฟ

ซารินาเครียดและอมทุกข์มากยิ่งขึ้น จนวันที่สวรรค์เห็นใจคำร้องขอของพระองค์มาถึง เมื่อซาร์และซารินาได้รู้จักกับนักบวชนอกรีตอย่าง กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin) นักบวชบ้านนอกจากดินแดนไกลโพ้นอย่างไซบีเรีย จุดเริ่มต้นของหายนะก็ได้เริ่มขึ้น

ไม่ใช่คำสาปและไม่ใช่มนต์ดำอย่างที่ใครเข้าใจ แต่มันคือความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ และความไร้เดียงสาต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนไปข้างหน้าของซาร์และซารินา รัสปูตินเข้ามามีบทบาทในฐานะ ‘คุณพ่อ’ (นักบวช) เพื่อน หมอ ที่คอยรักษาบรรเทาอาการให้รัชทายาทองค์น้อยหายเจ็บปวดจากโรคฮีโมฟีเลีย บ้างก็ว่าเขาใช้เวทมนตร์คาถา บ้างก็ว่าเป็นพลังลึกลับ บ้างก็ว่ามันคือการสะกดจิต

แต่ข้อเท็จจริงเดียวที่ซารินารับรู้ได้ คือการที่องค์รัชทายาททรงหายจากประชวร และมีเพียง กริกอรี รัสปูติน ผู้เดียวที่ทำได้ นั่นเพียงพอแล้ว…

เพียงพอสำหรับความเป็นแม่ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเป็น ‘ซารินา’ มารดาแห่งจักรวรรดิรัสเซียอันยิ่งใหญ่ พระองค์ถูกรัสปูตินครอบงำจากสายสัมพันธ์ส่วนตัว เวลานั้นรัสปูตินคือทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นคนเดียวที่จะสามารถรักษาชีวิตพระโอรสองค์เดียวได้ แล้วเหตุใดกันที่ซารินาจะต้องยอมเสียรัสปูตินไป

ชีวิตของแกรนด์ดยุคอเล็กเซยคือความมั่นคงของราชวงศ์โรมานอฟ – ซึ่งพระองค์คิดผิดและเข้าใจผิดอย่างยิ่ง แทนที่จะเอาแต่ขลุกตัวอยู่แต่พื้นที่ปลอดภัยอย่างในพระราชวัง การปรับตัวของราชวงศ์และการพบปะประชาชนต่างหาก คืออนาคตของราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งพระองค์ก็เขวี้ยงมันทิ้งด้วยความไร้เดียงสา

เพราะความอ่อนแอของซารินาที่ต้องการรัสปูติน การตัดสินใจทางการเมืองของซาร์นิโคลิสก็มักเกี่ยวพันกับรัสปูตินด้วยเช่นกัน ซารินาเชื่อใจและเชื่อมั่นในตัวของรัสปูติน เหตุบ้านการเมืองหลายอย่างพระองค์จึงไม่ยอมฟังคำทัดทานจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ หลายๆ ครั้งที่พวกเขาตัดสินใจผิดพลาด ก็มีการปลดและโยกย้ายผู้คนออกจากตำแหน่งตามคำแนะนำของรัสปูติน นั่นทำให้เกิดความไม่พอใจ จนสถานการณ์ทางการเมืองยิ่งตึงเครียดมากขึ้นกว่าเดิม

ผนวกเข้ากับประวัติศาสตร์ในระยะยาว ที่มีเหตุและผลต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน รัสปูตินเข้ามาในราชสำนักในปี 1905 ก่อนหน้านั้นไม่นาน รัสเซียทำสงครามกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังไปเสียท่าพ่ายให้กับญี่ปุ่น นัยหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่บกพร่องของซาร์นิโคลัส สภาพอากาศที่เลวร้าย บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ความทุกข์ยากก่อตัวขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง

ปี 1905 เกิดการปฏิวัติของประชาชนขึ้น พวกเขามารวมตัวกันในวันอาทิตย์ เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อพระเจ้าซาร์ แต่กลายเป็นว่าทหารของพระองค์ใช้ปืนยิงไปยังประชาชนที่เดินทางมาเสนอข้อเรียกร้อง ภายหลังเหตุการณ์ในวันนั้นถูกเรียกว่า ‘Bloody Sunday’

พอเหตุการณ์ไม่เข้าท่าเกิดขึ้นซ้ำหลายๆ ครั้ง สถานการณ์ตึงเครียดก็มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสตัดสินพระทัยพระราชทานอำนาจให้กับประชาชนผ่านสภาดูมา (Duma) แต่สภากลับไม่มีอำนาจเท่าที่ควร หลังจากนั้นสภาพการณ์ทางการเมืองของรัสเซียก็ไม่เคยเข้าสภาวะปกติอีกเลย

ซาร์นิโคลัสตัดสินใจผิดพลาดอีกครั้ง โดยการนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม ผู้คนอดอยาก สภาพอากาศที่หนาวจัดยากต่อการทำเกษตรเพื่อเก็บผลผลิต ขณะที่เจ้านายในวัง ทั้งซารินา แกรนด์ดัชเชสและแกรนด์ดยุคกลับมีชีวิตสุขสบาย นับถือ เชื่อฟังนักบวชนอกกรีตอย่างรัสปูติน

ภายหลังมีคนที่อดรนทนไม่ไหวต่อพฤติกรรมของรัสปูติน อาสาเข้ามา ‘เก็บ’ รัสปูตินให้พ้นหูพ้นตา แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว ภาพของเชื้อพระวงศ์ที่กินอิ่มนอนหลับ มีอาหารให้ทรงได้เสวยครบทุกมื้อ เทียบกับประชาชนที่ต้องไปตายเพราะสงคราม ต้องทุกข์ยากขาดแคลนอาหาร

สายไปแล้ว…เพราะปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ไม่ได้มีแค่รัสปูตินที่เข้ามายุ่มย่ามกับราชสำนัก แต่มันมาจากศักยภาพการเป็น ‘พระเจ้าซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซีย’ ของซาร์นิโคลัสที่ 2 และคนในราชวงศ์ด้วย

หลังปี 1905 หน่อเนื้อของการปฏิวัติได้ก่อตัวขึ้น ปี 1917 วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำการปฏิวัติจากพรรคบอลเชวิค (Bolșevic) ทำการปฏิวัติประเทศ เปลี่ยนจักรวรรดิรัสเซียอันยิ่งใหญ่เป็น ‘สหภาพโซเวียต’ ที่ใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ มีค้อนและเคียวเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนความยากจน แร้นแค้น และการถูกกดขี่ ที่เกิดภายใต้รัชสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัส เป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิรัสเซียและราชวงศ์โรมานอฟอันมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปี พระองค์ประกาศสละราชสมบัติและถูกส่งตัวออกไปนอกเมือง ก่อนเดินทางไปยังสถานที่สุดท้ายในชีวิต – เยคาเตรินบูร์ก

17 กรกฎาคม 1918 บริเวณเทือกเขาอูราล กองทัพขาว (กลุ่มต่อต้านการปฏิวัติรัสเซียและต้องการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่) ได้บุกมาประชิดเมืองเยคาเตรินบูร์ก เมืองอันเป็นที่ตั้งของสถานที่พำนักของพระเจ้าซาร์และครอบครัว กองทัพขาวอยู่ในจุดเข้าใกล้ชัยชนะ นั่นเป็นสถานการณ์อ่อนไหว และทำให้คนของพรรคบอลเชวิคบางส่วน ‘ตัดสิน’ ชะตาชีวิตของพระเจ้าซาร์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟและครอบครัว

กลางดึกวันนั้น พระองค์และครอบครัวถูกสั่งให้เตรียมตัวเพื่อเตรียมย้ายสถานที่อยู่ เนื่องด้วยเหตุผลการบุกโจมตีของกองทัพขาว ซารินาสั่งให้ลูกๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ซ่อนเอาเพชรและอัญมณีไว้ภายใน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างการหลบหนี ด้วยความหวังว่าจะมีใครสักคนมาช่วยเธอและครอบครัว แต่ซารินากลับไม่รู้เลยว่า แทนที่จะเป็นค่าหลบหนี อัญมณีเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาตายอย่างทรมานมากขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น

พระเจ้าซาร์นิโคลัสและครอบครัวถูกสั่งให้ไปรออยู่ในห้องใต้ดินของคฤหาสน์อิปาเตียฟ ก่อนนายทหารของพรรคบอลเชวิคจะอ่านคำพิพากษาประหารชีวิตพระองค์และครอบครัว ลูกกระสุนจำนวนมากจากปลายกระบอกปืนของนายทหารพรรคบอลเชวิคยิงทะลุร่างของพระเจ้าซาร์ ซารินา พระธิดา พระโอรส ทีละพระองค์ และเพราะเพชร อัญมณีที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกซึ่งอยู่ภายใต้เสื้อผ้าของเจ้านายแต่ละพระองค์ กระสุนที่ออกจากปลายกระบอกปืนของพวกทหารบอลเชวิคจึงต้องกระหน่ำลงซ้ำๆ เพื่อให้แน่ใจว่าลมหายใจของเจ้านายแต่ละพระองค์หมดลงแล้วจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่สุนัขทรงเลี้ยงของแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย เมื่อเสียงกรีดร้องและเสียงปืนค่อยๆ สงบ ราชวงศ์โรมานอฟอันเกรียงไกรที่มีประวัติยาวนานกว่า 300 ปีก็ถูกปิดฉากลง

ไม่มีผู้รอดชีวิตในค่ำคืนวันนั้น คฤหาสน์อิปาเตียฟถูกกลุ่มกองทัพขาวเข้าบุกยึดและตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ทั้งหมดก็สายไปเสียแล้ว ร่างของผู้เสียชีวิตถูกนำไปฝังห่างจากบริเวณคฤหาสน์ ข่าวการสังหารหมู่ราชวงศ์โรมานอฟกระจายไปทั่วประเทศ จากนั้นไม่นาน คฤหาสน์ก็กลับคืนสู่เจ้าของเดิม และ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสเวียร์ดลอฟสค์ (Sverdlovsk) ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้รื้อถอนคฤหาสน์อิปาเตียฟในปี 1977

ด้านเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ของราชวงศ์โรมานอฟต่างหลบหนีออกจากเมืองหลวง แตกกระสานซ่านเซ็นออกไปคนละทิศละทาง พระราชชนนีมาเรีย ฟีโอโดรอฟนา (Maria Feodorovna / Dagmar of Denmark) พระราชชนนีของซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงเป็นพระมาตุจฉา (น้า) ของกษัตริย์จอร์จที่ 5 แห่งราชวงศ์อังกฤษ พร้อมทั้ง เจ้าชายเฟลิกซ์ (Felix Yusupov) มือสังหารที่อาสา ‘เก็บ’ นักบวชรัสปูติน ได้รับการช่วยเหลือจากเรือรบอังกฤษให้หลบหนีจากไครเมียได้สำเร็จ

เนื่องในวันครบรอบ 80 ปีการสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟ 17 กรกฎาคม 1998 ทางการรัสเซียได้ทำพิธีย้ายพระอัฐิสัณฐาน (โครงกระดูก) ของซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว ยกเว้นแกรนด์ดัชเชสมาเรีย มายังวิหาร Saints Peter and Paul Cathedral ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg) ต่อมาคริสตจักรออร์ธอดอกซ์แห่งรัสเซีย ประกาศให้ทุกพระองค์เป็นนักบุญในปี 2000

 

หมายเหตุ: คำศัพท์ภาษารัสเซียถูกถอดเสียงจากภาษาอังกฤษ และพยายามออกเสียงให้คล้ายภาษารัสเซียมากที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
netflix.com
aljazeera.com
romanov-memorial.com
bbc.com
themoscowtimes.com

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า