The Lost King: อีกครั้งที่ปุถุชนธรรมดาคือผู้ชำระประวัติศาสตร์ราชวงศ์

“ประวัติศาสตร์แบบทิวดอร์มันหลอกลวง!”

ถ้อยคำข้างต้นมาจากสมาชิกสมาคมริชาร์ดที่ 3 สาขาเอดินบะระ (สมาคมที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่ตั้งคำถามกับกษัตริย์หลังค่อมในประวัติศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3,000 คนทั่วโลก) ซึ่งบอกว่า ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ทิวดอร์แปะป้ายให้พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งราชวงศ์ยอร์ก ถูกจดจำในฐานะผู้สังหารหลานชาย ทรราช อัปลักษณ์ ขี้ขลาด และเป็นผู้ช่วงชิง

เหตุการณ์ขุดค้นพบอัฐิและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับริชาร์ดที่ 3 สะท้อนออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Lost King (2022) กำกับโดย สตีเฟ่น เฟรียร์ส จากเรื่อง The Grifters (1990) และ The Queen (2006) นำแสดงโดย แซลลี่ ฮอว์กินส์, สตีฟ คูแกน และ แฮร์รี่ ลอยด์ (ในบทราชาตกอับอีกครั้ง)

โดย The Lost King (2022) อิงเรื่องจริงจากการทำงานขุดค้นประวัติศาสตร์ของ ฟิลลิปปา แลงก์ลีย์ นักเขียนบทภาพยนตร์ชาวเอดินบะระแห่งสกอตแลนด์ นักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่น และผู้เขียนหนังสือ The King’s Grave: The Search for Richard III (2013) เคียงคู่กับเหตุการณ์ขุดพบพระอัฐิสัณฐานของริชาร์ดที่ 3 ในปี 2012 ภายใต้ลานจอดรถของเทศบาลเมืองเลสเตอร์ หลังสูญหายกว่า 500 ปี

-1-

ความเลวระยำจนหาความดีไม่ได้ในยุคสมัยของริชาร์ดที่ 3 ทำให้เฮนรีที่ 7 ขุนนางผู้มีเชื้อสายแลงคาสเตอร์ สามารถอ้างสิทธิ์และมีความชอบธรรมในการสังหารริชาร์ดที่ 3 จากนั้นจึงสถาปนาราชวงศ์ทิวดอร์ขึ้นมา เฮนรีที่ 7 ยังอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก ลูกสาวของเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ผู้เป็นพี่ชายของริชาร์ดที่ 3 นับเป็นการรวมเชื้อสายยอร์กและแลงคาสเตอร์ ทำให้การสวรรคตของริชาร์ดที่ 3 ณ ยุทธการทุ่งบอร์สเวิร์ธบริเวณเลสเตอร์เชียร์ นับเป็นจุดสิ้นสุดราชวงศ์แพลนแทเจเนต สงครามดอกกุหลาบ และยุคกลางของอังกฤษ

ข้อมูลจาก royal.uk (เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของราชวงศ์อังกฤษ) ระบุว่า สาเหตุที่ริชาร์ดที่ 3 ปลดเอ็ดเวิร์ดที่ 5 หลานชายของเขาออกจากบังลังก์ เพราะพบหลักฐานว่า เอ็ดเวิร์ดที่ 4 สมรสกับเลดี้เอลินอร์ บัตเลอร์ ก่อนสมรสกับเอลิซาเบ็ธ วูดวิลล์ ทำให้เฮนรีที่ 5 ยุวกษัตริย์มีสถานะเป็นลูกนอกสมรส ทว่าไม่มีหลักฐานวันตายที่แน่ชัดของเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และริชาร์ด น้องชายของเขา

ความคลุมเครือของหลักฐาน เป็นจุดที่นักประวัติศาสตร์สายทิวดอร์อ้างว่า ริชาร์ดที่ 3 ‘สั่งเก็บ’ หลานชายของเขา และนั่นจึงช่วยเพิ่มพูนความชอบธรรมให้แก่เฮนรี ทิวดอร์

สำทับกับบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ เรื่อง ‘Richard III’ ที่นอกจากจะบรรยายถึงริชาร์ดที่ 3 ราวกับสัตว์ประหลาดแล้ว ตลอด 5 องก์ ยังย้ำเตือนว่า ริชาร์ดที่ 3 เลวบัดซบ ขี้ขลาด จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ในองก์ 5 ฉาก 4 ริชาร์ดผู้ช่วงชิงล้มกองไปกับพื้นก่อนตะโกนว่า “A horse! a horse! my kingdom for a horse!” ก่อนถูกสังหารและถูกนำศพแห่ประจานไปทั่วเมืองตามตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์

ฉากเดียวกันนี้ ยังเป็นจุดที่ทำให้ฟิลลิปปา แลงก์ลีย์ (แสดงโดย แซลลี่ ฮอว์กินส์) เริ่มสืบเสาะหาความจริง

-2-

ในภาพยนตร์เรื่อง The Lost King (2022) เริ่มด้วยละครเวที ผูกโยงด้วยความหมกมุ่นและการต่อสู้กับอัตตาของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัย สมาชิกสภาเมือง นักโบราณคดี ฝ่ายบุคคล ฯลฯ ซึ่งไม่เพียงนำเสนอ เหตุการณ์การค้นพบโครงกระดูกของริชาร์ดที่ 3 แต่ยังนำเสนอความคลื่นเหียนของวัฒนธรรมความสอพลอในงานวิชาการที่แอบอ้าง ‘ความรักในความรู้’ เพื่อใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจ

แต่สไตล์หนังฟีลกู๊ดแดนผู้ดี ก็ไม่ลืมที่จะเน้นย้ำว่า การมีครอบครัวที่ดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะตลอดเวลาที่ตัวละครฟิลลิปปาต้องเผชิญแรงกดดันมหาศาลภายนอกเคหะสถาน ก็มีจอห์น (แสดงโดย สตีฟ คูแกน) อดีตสามีของเธอคอยจัดแจงธุระภายในบ้านให้อย่างเต็มใจ นั่นจึงทำให้ตลอด 108 นาทีของหนังมีความรู้สึกอบอุ่นเสมอ

แม้หนังจะถูกโจมตีจากสื่อในอังกฤษว่า มีข้อมูลหลายอย่างไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ยังเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ทั้งยังถูกวิจารณ์ว่า การนำเสนอสภาพมหาวิทยาลัยที่ตัดบทบาทของผู้นำหญิงออกทั้งหมด อาจไม่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หากแต่ตัวละคร ดร.ริชาร์ด บัคลีย์ (แสดงโดยมาร์ค แอดดี้) ผู้ยืนเคียงข้างฟิลลิปปา ก็ไม่ได้ปฏิเสธความจริงที่ว่า “มหาวิทยาลัยจ้องจะปิดแผนกโบราณคดี” จึงกล่าวได้ว่า The Lost King (2022) เล่าเรื่องในศตวรรษที่ 15 ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และยังเล่าเรื่องของศตวรรษที่ 21 อย่างจิกกัดแสบสันโดยไม่ต้องพยายาม

-3-

เมื่อฟิลลิปปาต้องให้เหตุผลใครต่อใครว่า เหตุใดประเด็น ‘ริชาร์ดที่ 3’ จึงทำให้เธอรู้สึกซ่านหัวใจอีกครั้ง เธอยกตัวอย่างว่า มีหลักฐานจากภาพใบหน้าของริชาร์ดที่ 3 ที่ดูเลวชาติ ถูกปรุงแต่งรีทัชตามคำสั่งของราชวงศ์ทิวดอร์ รวมถึงหลักการในปัจจุบันที่เชื่อว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา ก็มาจากราชาผู้ครองราชย์เพียง 2 ปีเท่านั้น

ไม่ว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น ชีวิตของริชาร์ดที่ 3 ดูเป็นเรื่องที่ตลกไม่ออก และการ ‘สู้จนสุดทาง’ ของฟิลลิปปาในฐานะคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ยังเป็นการบอกกลายๆ ว่า ถ้าริชาร์ดที่ 3 เป็นกษัตริย์โดยชอบธรรมแล้ว คนที่อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของเขาในปัจจุบัน คงมีความชอบธรรมลดลงไม่มากก็น้อย มากไปกว่านั้น ยังสั่นคลอนต่อการมีอยู่ของการศึกษาในฐานะสถาบันแห่งวิชาการด้วยเช่นกัน

ท้ายสุด ด้วยการแสดงชั้นเซียนของแซลลี่ ฮอว์กินส์ บรรยากาศหนังสำเนียงบริติช และงานภาพมาตรฐานชวนผ่อนคลาย ตลอดจนเนื้อหาที่ไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป อาจเป็นอีกรสที่เหมาะแก่ช่วงเวลาปีใหม่ หากต้องการดูหนังสักเรื่องในโรงภาพยนตร์

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า