วิถีทางของสายพิราบ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’

cover

เรื่อง: อาทิตย์  เคนมี และกองบรรณาธิการ

ภาพ: อนุช  ยนตมุติ

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ในคอลัมน์ Interview นิตยสาร WAY ฉบับที่ 63 ทางกองบรรณาธิการได้ยกบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่อีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านทำความรู้จักกับ ‘บก.ลายจุด’ ‘หนูหริ่ง’ หรือในชื่อจริง สมบัติ บุญงามอนงค์ ว่าชายผู้นี้เป็นใคร และมีบทบาทอย่างไรต่อภาคสังคมและแวดวงนักกิจกรรม

———————————————————————————

หากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์กันจริงๆ การอุบัติของปรากฏการณ์ ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ ที่ลุกโชนเหมือนไฟลามทุ่งอย่างที่เห็น ส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีความชอบ (รวมถึงความไม่ชอบ) ให้กับชายผู้นี้ ในฐานะผู้ริเริ่มใช้สีแดงเป็น ‘สัญลักษณ์’ แทนการเคลื่อนไหว

ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงก่อนการผ่าคลอดรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็มีเขานี่แหละเป็นผู้จุดกระแส ‘แดงไม่รับ’ เป็นแคมเปญรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญท็อปบู๊ท ก่อนที่เครือข่าย นปก. (ขณะนั้น) จะปั๊มเสื้อแดงออกมาจนกลายเป็นสีเสื้อยอดฮิตติดลมบนที่ใส่กันทั่วบ้านทั่วเมืองในเวลาต่อมา

แม้ว่า สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือหนูหริ่ง หรือ บก.ลายจุด จะดำรงหลายสถานะ ทั้งประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ทั้งแกนนำหรือแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง หรือกลุ่มอะไรก็ตาม แต่ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว นักการละคร นักบริหารจัดการ นักออกแบบกิจกรรม เขาสามารถหลอมรวมเอาศาสตร์เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน แล้วร่อนตะแกรงออกมาเป็นกิจกรรมการแสดงออกต่างๆ นานาที่สร้างความฮือฮาได้ทุกครั้งไป

มองในแง่กลยุทธ์ พูดง่ายๆ ว่าจะจัดม็อบทั้งทีมันต้องสะเทือนเลื่อนลั่น กระแทกใจดำ สร้างความรับรู้แก่ผู้คนเป็นวงกว้าง – ในพื้นที่นี้ เราพูดคุยกับเขาเรื่องศิลปะการจัดการมวลชน ไม่ใช่การสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองของค่ายไหนสีใด

มองในแง่ศิลปะต้องมีความพอดี ไม่มากไม่น้อย ไม่ขาดไม่เกิน ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มิใช่เอะอะก็ตั้งเวทีปราศรัยลูกเดียว ซึ่งสมบัติมองว่าออกจะ ‘เชย’ เกินไปสำหรับยุคนี้

จนถึง พ.ศ.ปัจจุบัน ในวันที่หน้ากากขาว-หน้ากากแดง ถูกปลุกให้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้รอบใหม่ เชื้อเชิญให้ผู้คนลุกขึ้นมาห้ำหั่นกันอีกรอบ สมบัติพลอยโดนหางเลขไปด้วย เพราะดันไปแกว่งปากวิพากษ์วิจารณ์การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และเสื้อแดงลำพูน ว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง จนตัวเองถูกเหยียดหยันจากกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นแดงโลกสวย แดงโรแมนติก เพ้อเจ้อ

ไม่ว่าหนูหริ่งจะเป็นแดงประเภทไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเห็นด้วยกับเขาคือ ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก เขายังส่งสัญญาณเตือนไปยังเหล่านักรบเสื้อแดงด้วยว่า หากไม่หยุดพฤติกรรมอนาธิปไตย เขาอาจจำเป็นต้องเปิดแนวรบ! (บนสมรภูมิไซเบอร์)

 

+ ถามตรงๆเลยว่า ตอนนี้คนเสื้อแดงเขานับคุณเป็นพวกไหม

ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ทุกคนกำลังช่วงชิงนิยามของคำว่า ‘แดง’ ก็เป็นเรื่องของการช่วงชิงกันภายในขบวน เนื่องจากมันพัฒนามาจากกลุ่มที่หลากหลาย มาจากแรงบันดาลใจที่แตกต่างกัน ตัวผมออกมาเคลื่อนไหวหลังจากที่มีรัฐประหาร ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ออกเลย ผมไม่เคยไปเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ หรือพวกที่เป็นมวลชนคุณทักษิณที่ไปอยู่แถวจตุจักร ผมไม่เคยไปร่วม ก็ติดตามการเมือง แต่ยังไม่เลือกข้าง เพราะยังรู้สึกว่ามันยังงงๆ กับสองกลุ่มนี้อยู่ ผมก็เลยยังไม่ออก ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะต้องขนาดนี้ แต่พอรัฐประหารปุ๊บผมว่าขาด วันรุ่งขึ้นผมก็นัดเลย เปิดกลุ่มออนไลน์แชทกันในเอ็มเอสเอ็น

 

+ รัฐประหารนี่ถือเป็นจุดชี้ขาดเลยใช่ไหม

ใช่ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องออโตเมติกในทัศนะผม ผมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2534 คือหลังรัฐประหาร 1 สัปดาห์ผมเคลื่อนไหวเลย ผมลาออกจากกลุ่มละครมะขามป้อมแล้วมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย ต่อเนื่องจนถึงเหตุการณ์พฤษภา 2535 ผมก็เคลื่อนไหวไม่หยุดเลย แต่ตอนนั้นกลุ่มที่ผมทำกับเพื่อนๆ น้องๆ ที่รามคำแหงยังเป็นกลุ่มเล็กมาก

ปี 2535 ผมอยู่บนเวทีที่ลาน สวป. (ลานกิจกรรมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง) วันสุดท้ายผมขึ้นไปอ่านบทกวี หลังจากนั้นคุณฉลาด (วรฉัตร) ก็ออกมาเคลื่อนไหวให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยกร่างฉบับใหม่ ผมก็เคลื่อนไหวที่หน้ารัฐสภาทุกวัน จนออกรัฐธรรมนูญ 2540 ได้

แต่การเมืองมันก็ไม่ใช่ทางหลักของผม ความสนใจหลักของผมอยู่ที่งานทางสังคม แต่แน่นอนว่าสังคมกับการเมืองมันตัดไม่ขาดจากกัน เราสามารถเชื่อมโยงการใช้ชีวิตปกติกับการเมืองได้ เรื่องสังคมนี่ยิ่งชัดเจน ยิ่งเราอยู่ในบทบาทการทำงานทางสังคมเรายิ่งมองเห็นโครงสร้าง เพราะเราทำงานจุลภาคก็จริง แต่เราก็ถูกสอนให้มองเห็นมหภาค นี่คือสิ่งที่เราเป็น

 

+ ยกตัวอย่างชัด ๆ หน่อยว่าการเมืองมันเกี่ยวข้องกับสังคมและชีวิตเราอย่างไร

การเมืองเกี่ยวแน่นอน เกี่ยวกับทุกอย่าง จะเรียกว่าเกี่ยวทั้งหมดก็ได้ อย่างทรงผมก็เกี่ยวกับการเมือง เด็กนักเรียนยังต้องตัดผมเกรียนนี่ก็เกี่ยว หรือประเทศเกาหลีเหนือมีทรงผมให้ประชาชนตัดได้ 8 แบบ นี่ก็เป็นการเมือง

สมมุติคุณเป็นข้าราชการก็จะมีทรงผมบังคับคุณอยู่ หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็ห้ามใส่กางเกงเข้าไปในรัฐสภา แบบนี้มันไม่การเมืองได้ยังไง ทุกอย่างที่เรากินเราใช้ แม้แต่ข้าวที่เรากินกันอยู่ทุกวันก็เป็นการเมือง

กระทั่งกระจกที่คุณใช้ เมื่อก่อนมีบริษัทเดียวทำกระจกได้ คุณรู้ไหมว่าแต่ก่อนผูกขาดกันขนาดไหน กระจกไทยอาซาฮีคือตัวที่ทำให้ผู้ประกอบการกระจกมีมากกว่าหนึ่งราย เมื่อก่อนมันเป็นทุนสัมปทาน ทุนผูกขาด ซึ่งการเมืองสมัยใหม่ทำให้เศรษฐกิจเสรีมันเป็นไปได้จริง มันอยู่ในชีวิตเราเลย เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้มองเชื่อมโยงไปสู่มหภาคว่ามันเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง

 

+ ภารกิจหลักตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

ก็ทำงานเป็นเอ็นจีโออยู่ที่มูลนิธิกระจกเงา แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้ลงไปทำเอง เพราะมีน้องๆ หัวหน้าโครงการเขาทำอยู่ ส่วนผมจะดูในภาพรวม ทำเรื่องงานนวัตกรรม สร้างคนรุ่นใหม่ๆ

 

+ อะไรคือสาเหตุที่ต้องถอยตัวเองออกมาอยู่เบื้องหลัง

ก็เป็นธรรมดา เมื่อก่อนเราลงไปทำโปรเจ็คท์เองเลย แต่เมื่อองค์กรมันใหญ่ขึ้น โครงงานมันใหญ่ขึ้น ก็ต้องมีคนดูแลงานหลังบ้าน งานนโยบาย ผมเลยต้องขึ้นมาทำงานระดับนี้ โดยบทบาทจริงๆ ผมมักจะเป็นคนทำโครงการใหม่ เพราะต้องการสรรพกำลังในการเข็นมันออกมา ผมก็มักจะเข้าไปร่วมในการผลักดัน ลงไปคลุกกับมันพักหนึ่ง พอตั้งลำได้ เห็นทิศทาง เห็นวิธีการ ก็จะมีคนมารับไม้ต่อจากผม

 

+ ปัจจัยทางการเมืองมีส่วนไหม เพราะช่วงหลัง ๆ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ

ยอมรับว่ามีช่วงหนึ่งที่ผมต้องออกจากองค์กรเลย ออกไปเกือบ 2 ปี ช่วงนั้นมีเหตุผลทางการเมืองที่ผมต้องออกไปเคลื่อนไหว เพราะสถานการณ์มันร้อน

ยกตัวอย่างหลังเหตุการณ์พฤษภา 2553 ทางมูลนิธิกระจกเงาได้รายงานสถิติคนที่หายสาบสูญจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งก็ได้รับการประสานงานจากทหารใน ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ที่มาขอให้มูลนิธิเราซึ่งมีประสบการณ์เรื่องการจัดการข้อมูลคนหายช่วยรับผิดชอบเรื่องนี้ เราก็ทำ แต่พอเรารายงานออกไปปุ๊บ ชั่วโมงนั้นฝุ่นมันตลบ คุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ก็ไม่พอใจ ทั้งคุณสุเทพและทีมโฆษกประชาธิปัตย์ก็ทิ่มมาที่เราว่า มูลนิธิกระจกเงามีประธานเป็นเสื้อแดง พูดอย่างนี้เลย แล้วก็ตอบโต้ข้อมูลของเราผ่านท่วงทำนองของนักการเมือง พอพูดแบบนี้ก็เลยเป็นกระแส

ในวงการเอ็นจีโอก็มีทุกสี พวกแหล่งทุนอะไรทั้งหลาย ทั้งเพื่อนๆ พี่ๆ ในวงการก็มีปฏิกิริยาในลักษณะเดียวกัน คือตั้งคำถามต่อบทบาทของผมในองค์กร แต่ผมคิดว่ามูลนิธิเรามืออาชีพพอ และที่นี่มีทุกสี มีอดีตนักรบศรีวิชัย (แนวหน้าของกลุ่มพันธมิตรฯ) ทำงานในนี้ด้วยนะ คือไม่มีปัญหา เพราะในองค์กรเป็นประชาธิปไตยพอสมควร

ช่วงนั้นผมต้องรักษาแนวตัวเองอยู่ ไม่ออกไปข้างหน้า เวลาเขาชุมนุมก็ชวนเราขึ้นเวที แต่ผมไม่ขึ้นเลย พอผมเห็นว่ามีคนจ้องเข้ามาในมูลนิธิ ผมก็เลยเฟดออกมาเล่นบทบาทชัดเจน เพราะสวมหมวกหลายใบ พอสถานการณ์มันถึงจุดที่ต้องออกไปเคลื่อนไหว เมื่อไม่มีอะไรต้องพะวง ผมก็ลาออก แล้วก็เคลื่อนไหวเต็มที่ ฉะนั้นจะเห็นสิ่งที่ผมทำหลังผมออกจากมูลนิธิแล้ว ผมก็เป็นเสื้อแดงชัดเจน แล้วก็เคลื่อนไหวเต็มเวลาในนาม ‘กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง’

 

+ ทำไมไม่เคลื่อนไหวในฐานะแกนนำให้ชัดเจนไปเลย

ผมไม่พร้อมที่จะเป็นแกนนำ จริงๆ ก็มีบทบาทนำนั่นแหละ เพียงแต่ว่าถ้าผมขึ้นมาเคลื่อนในนามของแกนนำ ผมว่าผมคงไม่รอด ชีวิตผมไม่รอด หรือแม้แต่ทำกิจกรรมอะไรที่มีเครื่องเสียง หรือตั้งเวที ผมไม่คิดว่าผมรอด สิ่งที่ผมคิดก็คือ เราต้องเคลื่อนไหวโดยไม่อยู่ในรูปแบบที่สังคมมองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวขององค์กรนำ ดังนั้นผมจึงไม่มีมวลชนจัดตั้ง ไม่ต้องใช้เวที แต่จะอาศัยการหล่อเลี้ยงผ่านกิจกรรม และทำงานภายใต้วาทกรรมที่เรียกว่า ‘แกนนอน’

ผมเชื่อว่า ผมไม่สามารถนำแบบที่ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) นำได้ แต่เชื่อว่าโครงสร้างของขบวนการประชาธิปไตยต้องประกอบด้วยกลุ่มขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ค่อยๆ ร้อยกันขึ้นมา ซึ่ง นปช. ไม่ได้ทำโครงสร้างแบบนี้ไว้ เราไม่ได้มาจากกลุ่มขนาดเล็กจำนวนมาก ไม่เหมือนพันธมิตรฯ เขาจะมีกลุ่มขนาดเล็กจำนวนมาก มีองค์กรจัดตั้งแต่ละหน่วย แล้วค่อยมาประสานกันจนเกิดเป็นพันธมิตรฯขึ้น

แต่ นปช. มาจากหัวแล้วลงไปแมสเลย มันไม่มีองค์กรจัดตั้งของประชาชนในแต่ละหน่วย ดังนั้นเราจะเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์มันจะไม่ออก เพราะไม่มีหน่วยจัดการในระดับย่อย ผมมองเห็นโมเดลของการมีหน่วยย่อย มันจะจัดการได้ง่ายกว่านี้ และไม่ต้องไปรวมศูนย์กลางอยู่ที่จุดเดียว ซึ่งตอนนั้นผมไม่มีศักยภาพที่จะรวมศูนย์อย่างนั้นได้

 

+ โครงสร้างของม็อบแดงมีลักษณะท็อปดาวน์มากกว่าหรือเปล่า

กลุ่มนำค่อนข้างเป็นกลุ่มที่ไม่หลากหลายเท่าไหร่ แต่ช่วงหลังพันธมิตรฯก็ไม่หลากหลายแล้วนะครับ เขาก็สะเด็ดน้ำเหลือแค่ 5 แกนนำ แต่กลไกข้างในของพันธมิตรฯ จะมีอีก 3 วง เวลาเขาคุยงานกันจะมีซ้อนกันอยู่ 3 วง เวลาถกเถียงกันจนมีมติ เวลาขบวนเขาออกมา เขาเอาเรื่องนะ ถ้าพูดกันเรื่องโครงสร้าง พูดซื่อๆ ผมว่าในโครงสร้างเขามีความเป็นประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมมากกว่า ส่วนเรื่องเนื้อหาคงต้องถกเถียงกัน ขณะที่มติของ นปช. มันไปเบ็ดเสร็จอยู่ที่กลุ่มคนระดับนำ คือมันเป็นพวกเดียวกันมากไป ทำให้ขาดความหลากหลาย

 

+ การเป็นพวกเดียวกันมากไปนี่ถือเป็นผลเสียหรือ

โดยส่วนตัวผมว่ามันยืดหยุ่นไม่พอ มันไม่หลากหลายพอ ฉะนั้นเวลาคิดอะไรมันก็จะเหมือนเดิม มีแนวโน้มเหมือนเดิม คิดในแบบเดียวกันเกินไป ใกล้เคียงกันเกินไป แต่เขาก็ไม่ได้ไปปิดกั้นกลุ่มอื่นนะ อย่างผมทำอะไร เขาก็ไม่เคยมาก้าวก่าย ผมก็มีเสรีภาพในการทำของผมเต็มที่

เราเคยคุยเรื่องนี้กับระดับนำของเขา เขาก็เห็นว่านี่เป็นความสวยงาม แต่ละกลุ่มจะมีธรรมชาติบางอย่างอยู่ อย่างผมก็จะมีธรรมชาติของผม แล้วก็จะมีข้อจำกัดของตัวเองอยู่ ถ้าผมไปร่วมกับอะไรอีกแบบผมก็จะปลดปล่อยศักยภาพไม่ได้ ดังนั้นแต่ละกลุ่มต้องเป็นตัวของตัวเอง แล้วขับเคลื่อนในรูปแบบที่สอดคล้องกัน

 

IMG_5768

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

+ ย้อนกลับไปในวันรัฐประหาร19 กันยายน 2549 ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไร

ผมโกรธจนสั่นเลย โมโหมาก ตอนนั้นติดตามข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่ามันเรื่องอะไร ทุกคนก็เช็คข่าวกัน ผมก็ส่งเมสเสจเข้าไปในแชทกรุ๊ปของเอ็นจีโอนักกิจกรรม บอกว่าพรุ่งนี้ตอนเย็นอยากจะทำเวทีประเมินสถานการณ์ ก็มาคุยกันที่ทำงานผมหลายสิบคน ครึ่งหนึ่งเห็นว่าต้องเคลื่อนไหว ออกแถลงการณ์ทันที ส่วนหนึ่งก็สงวนท่าที จากนั้นเราก็รวบรวมคนที่เห็นด้วยแล้วก็ตั้งเครือข่าย ‘19 กันยา ต้านรัฐประหาร’ เราออกแถลงการณ์ในวันที่ 20 กันยายน เร็วกว่า ครป. (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย) 1 สัปดาห์

วันรุ่งขึ้นก็ขึ้นเว็บไซต์ มีเว็บบอร์ดให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน 4 วันต่อมา ผมทำแฟลชม็อบ (Flash Mob) ที่สยามเซ็นเตอร์ ใส่ชุดดำไปนั่งเฉยๆ แล้วก็เริ่มเดินสายไปจัดเวทีเล็กๆ ตามมหาวิทยาลัย ชวนศิโรตม์ (คล้ามไพบูลย์) กับอาจารย์ใจ (อึ๊งภากรณ์) ไปคุยที่จุฬาฯ เริ่มเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ งานใหญ่หน่อยก็วันที่ 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ เริ่มมีการเดินขบวนครั้งแรกจากธรรมศาสตร์

 

+ ตอนนั้นคิดไหมว่ามันอาจจะเป็นการเคลื่อนไหวที่จุดไม่ติด

ก็รู้สึกว่ามันยาก ผมจำได้วันที่ไปจัดปราศรัยที่ลานปรีดี ธรรมศาสตร์ คนที่มาฟังนั่งอยู่ไกลมาก ประมาณ 50-60 เมตรจากเวที ไม่กล้าเข้ามาฟัง พวกข้างหน้าก็มีไม่กี่คน มีนักศึกษากับนักกิจกรรมสิบกว่าคน เป็นภาพที่ตลกมากเลย คนไม่กล้ามานั่งฟัง เพราะเขาไม่เคยเคลื่อนไหวแบบเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐเผด็จการมาก่อน พอเห็นว่ามีสันติบาล คนก็กลัวกันมาก กลัวถูกจับ

 

+ หลังจากนั้นมีพัฒนาการจนกลายมาเป็นคนเสื้อแดงได้อย่างไร

มันเริ่มมาจากการการรณรงค์ที่เรียกว่า ‘แดงไม่รับ’ ตอนนั้นผมหาข้อมูลแล้วว่าเขาจะต้องลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญกันเมื่อไหร่ แล้วดูว่าถ้าเป็นของต่างประเทศเขาดำเนินการกันอย่างไร ดูไปดูมาก็พบว่า เขามีแคมเปญ 2 อย่าง คือ YES กับ NO ซึ่งมันก็จะมีสีกำกับที่ชัดเจนมากๆ คือ ถ้ารับก็สีเขียว ไม่รับก็สีแดง ซึ่งตอนรัฐธรรมนูญ 2540 ผมใช้ธงเขียวรณรงค์กัน

ผมเป็นนักรณรงค์ เป็นนักออกแบบกิจกรรม ฉะนั้นผมก็จะมีทัศนะเกี่ยวกับการรณรงค์อยู่ โดยเลือกที่จะใช้สีแดง ตอนนั้นผมออกจากกลุ่ม 19 กันยา มาร่วมกับ ‘กลุ่มพลเมืองภิวัตน์’ ซึ่งทำเรื่องรัฐธรรมนูญโดยตรง เตรียมการอยู่หลายเดือน จนเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการลงประชามติ ผมก็ออกแคมเปญเรื่อง ‘แดงไม่รับ’ ทำให้ทิศทางการรณรงค์ของปีกที่ไม่เอารัฐธรรมนูญเป็นสีแดง ก็ล็อบบี้กัน นั่งคุยกัน ตอนนั้นจำได้ว่าพรรคพลังประชาชนตอนปราศรัยครั้งแรกยังใส่เสื้อสีน้ำเงินอยู่เลย พอสักพักเขาก็เปลี่ยนเป็นเสื้อสีแดง ซึ่งมันยังไม่ได้กลายเป็นคนเสื้อแดงทันที ตอนนั้นมิติเรื่องคนเสื้อแดงยังไม่มี แต่คนก็เริ่มทำเสื้อสีแดง แล้วก็ทำให้ทุกอย่างเป็นสีแดง โดยคอนเซ็ปท์คือแดงไม่รับ ไม่ใช่เสื้อแดง

หลังจากนั้นปีสองปี จตุพร (พรหมพันธุ์) ไปจัดชุมนุมที่ธันเดอร์โดม เขาก็ให้คนพูดผ่านรายการ ความจริงวันนี้ นัดกันให้ใส่เสื้อสีแดงมา นั่นแหละจึงค่อยเกิดคนเสื้อแดง เป็นพัฒนาการสองขยักในเรื่องของสีแดง

 

+ พอพัฒนาการจนกลายเป็นมวลชนคนเสื้อแดงแล้ว จุดยืนของคุณอยู่ตรงไหน

ผมก็เป็นมวลชน เพราะตอนแรกผมออกมาด้วยเหตุที่มีการรัฐประหาร เมื่อคุณลงประชามติเสร็จและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ถือว่ามันเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้นผมก็ลดบทบาทตัวเองลงเป็นมวลชน ยังติดตามทางการเมือง แต่ถือว่าเป็นมวลชน กลุ่มที่ผมอยู่คือ กลุ่มของครูประทีป (อึ้งทรงธรรม) หมอเหวง (โตจิราการ) อาจารย์ธิดา (ถาวรเศรษฐ) และอาจารย์จรัล (ดิษฐาอภิชัย) นี่คือก๊วนประจำที่ผมนั่งคุยอยู่ เวลาเรามีวงประเมินสถานการณ์กัน ผมก็อยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งผมจะเด็กสุดเลย

 

+ เวลามีการจัดตั้งมวลชน จำเป็นไหมที่ต้องสร้างสัญลักษณ์ร่วมกัน เช่น การใส่เสื้อสีเดียวกัน

ไม่จำเป็น การใช้สัญลักษณ์เป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ซึ่งจริงๆ ทำง่าย ในภาคธุรกิจนี่เขาทำแน่นอน เพื่อให้มีอัตลักษณ์บางอย่างที่มองเห็นแล้วใช่ มันเป็นเรื่องที่น่าจะทำ ความรู้พวกนี้มันพื้นฐานมากเลย

แต่การเมืองบ้านเราก็ตลกดี คุณจะเห็นว่าปีกฝ่ายทางการเมืองไม่ค่อยใช้วิทยาการภายนอกในการต่อสู้ทางการเมือง ส่วนใหญ่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะระดับนำจะตลกมาก พวกนี้เขาจะชอบอ้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ในอดีต แล้วแต่จะลากไป ตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส จีน โซเวียต พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) 14 ตุลา พฤษภา 35 เวลาผมอยู่ในวงประชุมตอนเขาวางแผนกัน ผมนั่งฟังแล้วก็รู้สึกว่าเขาชอบใช้รูปแบบแบบนั้นในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว

ขณะที่ผมทำงานเอ็นจีโอ สิ่งที่ผมทำคือการใช้วิทยาการทุกอย่างในโลกนี้ ผมไม่สนใจนะ อะไรก็ได้ที่สามารถเอามาใช้ในการทำงาน แต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย ดังนั้นศิลปะก็ทำได้ เยอะแยะไปหมด นี่คือความแตกต่างอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า เมืองไทยเราเวลาเคลื่อนไหวทางการเมืองมันโคตรเชยเลย มันเชยบัดซบเลยว่างั้นเถอะ

 

+ เป็นเพราะช่องว่างระหว่างเจเนเรชั่นหรือเปล่าที่ทำให้คนรุ่นก่อนกับคุณคิดไม่เหมือนกัน

ผมก็คิดว่าอย่างนั้นนะ พวกนี้เขาศึกษาลึกไปจนไม่มีพื้นที่เหลือ คือลึกมาก เวลาถกกันทีเขาจะอ้างยุทธการนั้นยุทธการนี้ แล้วจะลงรายละเอียดกันยิบเลย ผมก็รู้สึกว่ามันไม่มีพื้นที่เหลือเลย แต่อย่างเรามันก็มีส่วนนั้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีมาก เราก็ไปดูรูปแบบอื่นๆ บ้าง อีกอย่างผมเป็นเอ็นจีโอที่สนใจขบวนการทางตรง (Direct Action) ทั้งหลาย อย่างกรีนพีซ ผมถึงขนาดส่งนักศึกษาฝึกงานที่นี่ไปดูงานที่กรีนพีซ ผมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกรีนพีซนะ ผมชอบองค์กรนี้ มันดี

 

+ วิทยาการและนวัตกรรมต่างๆ ที่เอามาใช้ มันจะทรงพลังกว่าเรื่องของหลักการจริงหรือ

เรื่องบางเรื่องคุณสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้หลายวิธีการ แล้วคุณต้องคิดว่านี่คือการต่อสู้ที่ยืดเยื้อนะ ไม่เบื่อเหรอ จัดเวทีขึ้นไปร้องเพลง พูดก็พูดเรื่องเดิมๆ โดยรูปแบบมันน่าเบื่อ ใหม่ๆ ก็ตื่นเต้นดี แต่พอคุณร้องไปสักพักก็ไม่มีใครอยากฟังแล้ว หรือคุณจะปราศรัยแบบ TED Talks (Technology, Entertainment and Design) ได้ไหม เวลาผมจะปราศรัยผมคิดเลยว่าน่าจะทำทอล์คโชว์ไปเลยดีกว่า อย่าง ‘วอนนอนคุก’ ที่ผมเคยจัด

ตอนผมทำละคร มีกฎอยู่ข้อหนึ่งที่ครูสอนผมมาก็คือ เราจะไม่ทำสิ่งที่เราเคยทำแล้ว เวลาทำงานศิลปะ ถ้าคุณจะทำสิ่งที่คุณเคยทำแล้ว คุณบ้าหรือเปล่า หรือถ้าคนอื่นทำแล้ว คุณไปทำเหมือนเขาเด๊ะเลย มันก็เชยสิ เป็นเรื่องที่เสียฟอร์มมากๆ ถ้าคุณไปก็อปปี้คนอื่นมาแบบนั้น ยกเว้นว่าคุณจะต่อยอดได้นะ ผมคิดว่าในทางการเมืองก็เช่นกัน

 

IMG_5801

 

+ อย่างที่เสื้อเหลืองมีมือตบ เสื้อแดงก็เลยใช้ตีนตบ นี่ถือเป็นการต่อยอดไหม

ก็เป็นการต่อยอด แล้วก็กึ่งๆ จะเป็นการบลัฟใส่ เป็นเรื่องเดียวกับพวกหน้ากากขาว-หน้ากากแดง

 

+ รูปแบบของการชุมนุมที่มักจะตั้งเวทีแล้วมีแกนนำขึ้นปราศรัย แบบนี้เป็นเรื่องเชยไหม

คือผมไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่เดิม แต่ถามว่าแล้วเรามีอะไรใหม่ ที่สำคัญมันบรรลุเป้าหมายไหม ต่อให้คุณทำเวทีจำนวนมหาศาล แต่ไม่มีข่าวลงให้ เสื้อแดงจัดชุมนุมใหญ่แต่ละจังหวัดใหญ่มากนะ แต่ไม่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ แสดงว่าคุณชิงพื้นที่ข่าวไม่ได้เลย ขณะที่ผมไปผูกผ้าแดงที่แยกราชประสงค์ ผมชิงพื้นที่หนังสือพิมพ์ได้ทุกฉบับ รวมไปถึงสื่อต่างประเทศ

สิ่งที่คุณต้องชิงมาให้ได้ ไม่ใช่เอาแค่จำนวนคนมาร่วม มันขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถใช้สื่อขยายสิ่งที่คุณทำ แล้วมันต้องมีสารด้วยนะ คุณต้องส่งเมสเสจผ่านภาพถ่ายออกไปให้เกิดพลังมากที่สุด วัตถุประสงค์มันคือตรงนี้ วัตถุประสงค์ของคุณไม่ใช่แค่จัดเวที การจัดเวทีไม่ใช่วัตถุประสงค์ เป็นแค่วิธีการหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

 

+ ถ้าอย่างนั้นวิธีการทำม็อบก็คือ ต้องพยายามสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุด

‘ม็อบ’ กับ ‘แมส’มีหลักการและเหตุผล 2 ประการ หนึ่ง-เวลาคุณต้องการจะสื่อสารออกไปสู่มวลชน คุณต้องมีเมสเสจที่จะส่งออกไปเพื่อให้สังคมเห็นด้วยและยอมรับการเคลื่อนไหวของคุณ สอง-ม็อบจะต้องสร้างความกดดัน อาจจะทำให้เกิดความฉุนเฉียว โมโห หรือหวาดกลัว ซึ่งกิจกรรมที่คุณทำต้องมีพลังพอที่จะสามารถกดดันฝ่ายตรงข้ามได้ อย่างตอนนี้ที่รัฐบาลกลัวหน้ากากขาว แบบกลัวเว่อร์ อย่างนี้ก็ถือว่าเขาทำสำเร็จสิครับ เขาเล่นจนคุณมีอาการ

 

+ แสดงว่าถ้าจะจัดม็อบให้ดัง ต้องจัดแบบมีศิลปะ?

ผมว่ามันเป็นศาสตร์และศิลป์เลย

 

+ แบบนี้การชุมนุมทุกม็อบก็ต้องมีการออกแบบกันเลยใช่ไหม

ควรจะมีนะ แต่ทุกวันนี้ไม่มี เพราะมันมักง่าย กระบวนการในการทำม็อบบ้านเรามันค่อนข้างมักง่าย แค่คุณมีอาการไม่พอใจแล้วคุณก็แสดงออก เป็นแค่ตัวแสดงออกถึงความไม่พอใจ แต่เราขาดการออกแบบ

ในต่างประเทศ คำว่า‘Direct Action’มันไปถึงจุดที่มีสถาบันสอนกันเลย แล้วก็มีนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ ไปเรียนกัน ผมโคตรอยากทำมากเลยในเมืองไทย สังเกตดูสิ เวลาเขากดดันกันในต่างประเทศ โคตรมันเลย อย่างการเข้าไปประท้วงการเหยียดเพศที่สามของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ด้วยการขนวงออร์เคสตราเข้าไปเล่น แล้วก็มีคนไปร้องไปเต้นรำกัน มีเนื้อร้องเป็นชื่อห้างนี้ คือมันทั้งสนุกทั้งขำ

เวลาคุณจะสร้างกระแสอะไรสักอย่างคุณต้องอาศัยทักษะเหล่านี้ อารมณ์ขันเป็นหนึ่งในการทำให้มันฟุ้ง เกิดการบอกต่อ ขำแล้วบอกต่อ ก็กดแชร์กันออกไปเรื่อยๆ ยิ่งสังคมไทย ‘ความขำ’ นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าคุณสามารถทำให้มันมีความขำอยู่ในนั้นได้ คุณก็จะสามารถส่งเมสเสจทางสังคมหรือการเมืองที่ขำลงไปได้

จริงๆ สังคมไทยเป็นสังคมโคตรเสียดสี เรามีต้นทุนเรื่องนี้มหาศาลถ้าเราสามารถส่งและรับเรื่องเหล่านี้ออกไปได้ แต่บางครั้งการเสียดสีก็อาจจะเสร่อนะ อย่างกรณีคุณชัย ราชวัตร แกเขียนการ์ตูนน่ะได้ แต่พอมาเขียนข้อความเสียดสี ผมว่าอันนี้พลาด ต้องระวังว่าการเสียดสีมันต้องพอดี ศิลปะมันคือความพอดีในเรื่องนั้นๆ

 

+ ในต่างประเทศเขามักจะรณรงค์หรือประท้วงด้วยการแก้ผ้า ไม่เคยสนใจแนวทางนี้บ้างหรือ

ผมคิดจะทำหลายทีแล้วนะ (หัวเราะ) แต่ไม่รอด เกือบแก้แล้วนะ ตอนนั้นผมคิดจะแก้ผ้าเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ชวนคนมาแก้ผ้ากัน แต่ไม่มีใครเอาด้วยกับผม ก่อนหน้านี้ผมก็เคยทำอะไรลักษณะนี้ เช่น ตอนเหตุการณ์พฤษภา 2553 ผมอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำกิจกรรม ‘เปลือยเพื่อชีวิต’แต่ไม่ได้ถอดหมด เหลือแค่ยกทรง แล้วก็ชูมือเปล่า มีคนร่วมประมาณ 40-50 คน แต่เรื่องแก้ผ้านี่เรื่องใหญ่ เมืองไทยก็พอมีให้เห็นบ้าง อย่างการเปิดอกแบบฝ่ามืออากงของ คำ ผกา

 

+ ถ้าให้วิพากษ์กิจกรรมรณรงค์ที่ตัวเองเคยทำมาช่วงปี 2535 เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นรู้สึกว่ามันก็แข็งอยู่ แข็งมาก ตอนนั้นผมอายุ20 เศษๆ ยังกร้าวมาก คนเห็นผมเป็นพิราบ แต่สมัยที่ผมเคลื่อนไหวปีนั้น ผมนี่เหยี่ยวเลยนะ ผมเคยขึ้นไปอ่านบทกวี ไปปราศรัยที่หน้าเวทีรัฐสภาตอนไล่สุจินดา (คราประยูร) พอจับไมค์ได้ผมด่าแม่สุจินดาเลย ไม่น่าเชื่อนะ คิดแล้วก็น่าตกใจชีวิตตัวเอง

 

+ ที่บอกว่าอ่านกวีนี่ประมาณไหน

กวีที่อ่านไม่หยาบนะ แต่ภาษาดุมากเลย หลังจากนั้นผมก็ถูกไล่ลงจากเวทีแล้วห้ามขึ้นไปอีก ผมเลยหาทางทำหุ่นเป็นรูปสุจินดา บิ๊กตุ๋ย (พล.อ.อิสรพงศ์ หนุนภักดี) บิ๊กเต้ (พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล) ฯลฯ เอาหัวหุ่นใส่ แล้วก็ไปซื้อวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาต่อ วิธีเล่นก็ทำเหมือนปาเป้า แต่เปลี่ยนเป็นปารองเท้าแทน ถ้าเขวี้ยงโดนหัว หุ่นจะหัวเราะแก๊กๆๆๆ นี่คือความสร้างสรรค์ของผม แต่สุดท้ายผมต้องเลิกทำ เพราะมีผู้หญิงคนหนึ่ง ปายังไงก็ไม่โดนสักที แกโมโห เลยถือรองเท้าเดินเข้าไปตบหุ่นไม่ยั้งจนคอหลุดเลย ผมเห็นแบบนั้นแล้วตกใจมาก ผมก็เลยเลิก แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันไม่ใช่การเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เป็นแค่การระบายออกถึงความเกลียดชัง

 

+ หมายความว่ากิจกรรมแบบนี้มันนำไปสู่ความแค้น ความรุนแรง?

ใช่ ผมก็ไม่คิดว่ามันจะขนาดนั้น ตอนแรกมันก็อยู่ในตัวผม แต่ยังไม่ชัด แต่พอถอยออกมาและมองคนอื่น เหมือนกันเลย ผมไม่คิดว่าทำอย่างนี้แล้วมันจะนำไปสู่อะไร รู้สึกเลยว่ามันมีปัญหาในเชิงรูปแบบ พอเริ่มคิดได้ผมก็ยุติกิจกรรม ตอนนั้นยังเด็ก ก็ยังคิดอะไรได้ไม่มาก

หลังจากนั้นจึงได้กลับมาทบทวนในภาพรวมทั้งหมด ผมไปเข้าคอร์สเรื่องสันติวิธี พออารมณ์นิ่ง ได้เรียน ได้ทบทวน สิ่งเหล่านี้มันก็สอนเรา ฉะนั้นเวลาที่ผมจะเคลื่อนไหวอะไร ผมต้องระวังในเรื่องแบบนี้มากๆ เพราะถือว่าตอนนี้ผมโตแล้ว มีบทเรียนแล้ว แต่ผมก็เข้าใจคนที่ร้อนแรงนะ อย่างน้อยที่สุดคุณต้องมีทางเลือก

หลังสลายการชุมนุมปี 2553 เขาก็ลงใต้ดินกันหมด ส่วนหนึ่งก็หนีออกไป แต่ก็ยังมีคนที่เชื่อว่าถ้ามึงยิงกู กูก็ต้องยิงมึง แต่ยังไงผมก็ไม่เชื่อว่านี่จะนำไปสู่ทางออก สิ่งที่ผมพยายามทำให้สังคมเห็น แม้จะอยู่ในภาวะที่คนยิงกันแล้ว คุณก็ยังมีทางเลือกที่จะสู้ในทางการเมือง ผมเริ่มเปิดพื้นที่ในทางการเมือง เปลี่ยนยุทธการทางการทหารกลับมาอยู่ในแนวรบทางการเมือง และเพื่อจะสื่อสารต่อขบวนการว่าอย่าลงใต้ดิน ให้ขึ้นมาสู้กันแบบอารยะ เพราะมันยังมีพื้นที่อยู่ ยังดีที่พื้นที่ทางการเมืองตอนนั้นคุณยังสามารถกลับมาได้ทัน ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะได้เจอขบวนการแบบภาคใต้ก็ได้

 

 

IMG_5777

 

+ กับกรณีล่าสุด ที่มีการตะลุมบอนหน้ากากขาวที่เชียงใหม่ มองเรื่องนี้อย่างไร

ในทุกขบวนมันจะมีอย่างนี้แหละ ในเมืองนอก แถบยุโรป หรืออเมริกา เวลามีการเคลื่อนไหวภาคประชาชน อย่างการประท้วงการประชุม G8มันจะเกิดคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘Anarchist’ (อนาธิปไตย) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาในการเคลื่อนไหว และผมคิดว่าเคสนี้เป็นอนาคิสต์ คือเวลาเคลื่อนไหวอะไรใหญ่ๆ มันจะมีคนจำนวนหนึ่ง เมืองไทยเราจะเรียกว่า ‘ฮาร์ดคอร์’ แต่ในทางสากลพวกนี้คือ Anarchist ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ นึกจะทำอะไรก็ทำ แล้วก็ทำลายขบวน คือเขายังไม่เรียนรู้ เขารู้สึกว่านี่เป็นเสรีภาพที่เขาทำได้ แล้วเขาจะมีชุดความชอบธรรมบางอย่าง นี่เป็นเรื่องภายในขบวนเสื้อแดงที่ต้องอภิปรายและต้องต่อสู้ในขบวน

การที่ผมออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นกรณีม็อบเสื้อแดงลำพูนก็ดี จริงๆ ผมพยายามแตะเรื่องนี้มาพอสมควร แต่ครั้งนี้ผมไม่ยอมแล้ว หมายความว่าผมต้องเปิดแนวรบในขบวน ต้องรบกัน เพราะมันเป็นการช่วงชิงแนวทางในขบวน คือทุกขบวนย่อมมีแนวทาง ทุกฝ่ายต่างมีเหยี่ยว มีพิราบ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะขึ้นนำ ทีนี้เหยี่ยวมันก็จะก้าวร้าวหน่อย ซึ่งชุดความคิดอันหนึ่งที่เราผิดก็คือ เราคิดว่าเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีการแตกต่างกัน แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ผมคิดว่าใช้ไม่ได้กับทุกกรณี เพราะบางครั้งวิธีการมันสะท้อนถึงวิธีคิด ดังนั้น มันไม่ได้ต่างแค่วิธีการ แต่ต่างกันที่วิธีคิด แล้วมันต่างเป้าหมายด้วย

ในเมื่อวิธีคิดต่าง เป้าหมายต่าง คุณก็ต้องสู้กันในขบวนเพื่อแย่งชิงแนวทาง ผมไม่ได้แย่งชิงเพื่อผมจะนำ เมื่อจังหวะหนึ่งพร้อม ผมจะถอย ไม่เคยมานั่งเคลมตัวเองในเรื่องพวกนี้ เพราะผมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลากบทบาทตัวเองให้อยู่ในกระแสตลอดเวลา แต่แนวทางเป็นเรื่องสำคัญ ผมต้องส่งสัญญาณไปว่า คุณอย่าโปรแนวทางนี้ เพราะนี่จะเป็นแนวทางที่ล้มขบวน

 

+ หมายความว่าถ้าขบวนจะพังก็คือมันจะระเบิดมาจากข้างใน?

มันจะเดินสะดุดขาตัวเองอย่างงี่เง่าเลย มันจะล้มแบบนี้เลย คุณไปดูนะ พันธมิตรฯยังเดินสะดุดขาตัวเอง พอเราทำไปเรื่อยๆ เขาเรียกการสู้รบพัวพัน มันจะทำให้คุณสะสมความร้อนเอาไว้ แล้วคุณจะเผาตัวเอง ซึ่งนี่เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าคุณเข้าใจธรรมชาติของการเคลื่อนไหวว่ามันมีสิทธิ์เผาคุณได้ ทีนี้พอคุณไหม้แล้ว คุณก็จะทำอะไรบ้าๆ บอๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย แล้วคุณเองก็จะไม่รู้ตัวด้วย อันนี้เป็นศาสตร์เลยนะ เพราะถ้าต่อสู้ต่อไปคุณก็จะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์

ฉะนั้นต้องเอาคนออกมายืนในปีกที่เป็นหลักการให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต้องเข้าใจว่าคนพวกนี้เขาจะไม่เปลี่ยนหรอก เพราะพลังมันเกิดจากการที่มวลชนไปสนับสนุนเขา ถ้ามวลชนถอยออกจากเขาจนหมด เขาก็จะไม่มีพลังในทางการเมือง

 

+ ความเห็นต่างในขบวนเสื้อแดงตอนนี้ถึงจุดที่จะต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองหรือยัง

มวลชนบอกว่าเหมือนจะทะเลาะ ขัดแย้งกัน แต่ผมไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย เป็นธรรมดาที่ในขบวนต้องต่อสู้กัน ถ้าคุณดูฝรั่งเศส หลังจากที่ปฏิวัติประชาชนได้ เขาก็ฆ่ากันไม่น้อย ที่จีนก็พวกเรดการ์ด น่ากลัวมาก ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าผมเห็นปัญหานี้มานานพอสมควร แต่ศักยภาพผมไม่สามารถส่งสัญญาณได้ ผมพูดแล้วคนยังไม่ฟัง เวลาผมอยู่ในที่ประชุมท่ามกลางบรรดาผู้ใหญ่หรือพี่ๆ ผมกลายเป็นเด็กน้อยนะ เขาก็ชอบเรียกผมว่าเป็นมนุษย์โรแมนติก ผมโดนข้อหานี้ตลอด คือโอเคว่าผมโรแมนติก แต่ผมไม่เพ้อฝัน ผมยอมรับคำว่าโรแมนติกในความหมายที่ดูโลกสวยนิดหน่อย

 

+ หลังจากโพสต์ข้อความวิจารณ์เสื้อแดงในเฟซบุ๊ค มีเสียงสะท้อนกลับมาอย่างไรบ้าง

มันก็เป็นวิธีการรบกันเรื่องวาทกรรม เมื่อก่อนที่ผมยังไม่มีกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง คำว่าโลกสวยจะมีอิทธิพลกับผมมากหรือทำลายผมได้เลย คนพร้อมที่จะใช้คำนี้กับผม แล้วผมก็อาจจะไปไม่เป็น แต่เอาเข้าจริง ผมได้ทำให้ปฏิบัติการโลกสวยไปปรากฏในพื้นที่สาธารณะมาแล้ว แล้วก็นำพาขบวนให้ฟื้นขึ้นมาได้

ตัวอย่างเช่นกิจกรรมผูกผ้าแดงหรือสารพัดแฟลชม็อบที่ผมทำ คือแทบพลิกตำราไม่ทันเลย เพราะมันไม่มีอยู่ในตำรา สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการด้นสด (Improvise) ฝ่ายตรงข้ามจะไม่สามารถจับทางคุณได้เลย เพราะตัวคุณเองก็ยังไม่รู้ว่าอาทิตย์หน้าจะทำอะไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้และถอดบทเรียน แล้วประเมินสถานการณ์ทุกระยะอย่างภววิสัย คุณจะทำงานโรแมนติกหรือพลังบวกก็ไม่เป็นไร แต่เวลาคุณประเมินต้องประเมินแบบภววิสัย ซึ่งจะทำให้รู้ว่าคุณจะสามารถเขยิบได้อีกสักคืบไหม

คุณบอกว่าผมโลกสวยก็โอเคนะ แต่ผมก็พาขบวนกลับมาได้ คุณจะบอกว่าโลกสวยแต่มันใช้ไม่ได้เหรอ…ไม่จริง แล้วพอเสื้อแดงไปตีเขา ก็เสียหายทางการเมือง ตีเชียงใหม่สะเทือนถึงดอนเมือง (การแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมือง) คุณลองประเมินหรือเปล่าว่าส่วนหนึ่งมันมาจากเหตุการณ์ที่เชียงใหม่

 

+ การใช้สัญลักษณ์หน้ากากขาวกับหน้ากากแดง ถือเป็นแนวทางต่อสู้แบบโรแมนติกไหม

ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีสีสัน จริงๆ ผมชอบหน้ากากขาวในเชิงรูปแบบนะผมชอบตรงที่ฝ่ายตรงข้ามใช้วิธีการที่อารยะ ผมชอบมากกว่าตอนที่เขาขอมาตรา 7 หรือขอนายกฯพระราชทาน พอคุณเล่นหน้ากากขาว ผมรู้สึกว่ามันสนุกนะ ผมก็คอยตามว่าเขาจะทำอะไรกัน เอาสิ…เล่นเลย เอาเลย เขาก็พลิกแพลง เราก็ถือโอกาสศึกษาวิธีการของเขา ศึกษาปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น

 

+ กรณีหน้ากากขาวถือเป็นการบิดเบือนความหมายทางสัญลักษณ์ไหม

เขาเรียกปฏิบัติการนี้ว่าการทำ Culture Jammingเป็นหนึ่งในวิชาต่อสู้ทางการเมือง ในหนังสือ สามัญชนเปลี่ยนโลก(โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์) ไม่ใช่เรื่องของความเสร่อ เพราะหน้ากากขาวก็ไม่ได้มีเนื้อหามาจากรากของ ‘กาย ฟอว์คส์’ จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของหน้ากากขาวปรากฏอยู่ทั่วโลก มันมีสีสัน แล้วมันชิงพื้นที่สื่อได้เวลาคุณสวมหน้ากาก

แต่นอกจากสีสัน คุณต้องเข้าใจธรรมชาติของกิจกรรมรณรงค์ ถ้าคุณใส่เนื้อหาไม่ได้ สิ่งนั้นก็จะเป็นแค่สีสันแล้วก็จบ เพราะวันรุ่งขึ้นมันจะกลายเป็นความเคยชินแทน ฉะนั้นคุณต้องรีบใส่เนื้อหาหรือความหมายเข้าไป ทีนี้พอเขาไม่ได้มีความหมายอะไรใส่เข้าไป เขาแค่บอกว่าไม่เอาระบอบทักษิณ ซึ่งมันเป็นของเก่า เมื่อหน้ากากที่เป็นของใหม่มาเจอกับระบอบทักษิณที่เป็นของเก่า ความผิดพลาดของเขาก็คือเอาคนหน้าเก่ามาใส่หน้ากากใหม่ มันก็จบ มีหลายเรื่องที่เป็นการเดินทางผิด ซึ่งมันจะกลายเป็นสิ่งสกัดกั้นพัฒนาการของหน้ากากขาวในที่สุด ซึ่งตอนนี้เขาทำสิ่งนั้นอยู่โดยไม่รู้ตัว

ขณะที่พวกหน้ากากแดง คือการไปบิดเมสเสจหรือความหมายของเขา เป็นการทำให้เมสเสจนั้นป่วน เขาเรียกการป่วน ทำให้คนสับสน เอ๊ะ…ยังไงกันแน่ ตกลงเป็นพวกล้มเจ้าหรือเปล่า ฝ่ายหน้ากากขาวก็งง อยู่ดีๆ กลายเป็นพวกล้มเจ้า ซึ่งการป่วนก็เป็นเทคนิคหนึ่งในการต่อสู้ คุณต้องป่วนทางวัฒนธรรม ทำให้มันรวน จนไปไม่เป็น แน่นอนว่าเมื่อทำให้ป่วน แต่ผลลัพธ์อีกด้านก็คือเป็นการต่อชีวิตให้มันอยู่ต่อ

 

+ กลายเป็นว่าหน้ากากแดงไปต่อยอดให้หน้ากากขาวโดยไม่รู้ตัว?

พอผมได้ยินข่าวหน้ากากขาวที่เชียงใหม่ ผมนิ่งเลยนะ เพราะถ้าเราเงียบเดี๋ยวมันก็จบไปเอง

ผมขอเล่าเรื่องขำที่สุดที่ผมเคยเคลื่อนไหวก็คือ ตอนที่ผมจะไปผูกผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์ วันนั้นผมงงมาก เอ๊ะ…ป้ายนี้มันเป็นวัตถุโบราณหรือเปล่า ถึงขนาดเอาตำรวจ 2 กองร้อยถือโล่มาล้อมป้ายไว้เลยเหรอ ลองคิดดูว่ามันฮาไหม ถ้าเห็นภาพจะโคตรฮาเลย แต่ดีนะที่ผมไม่บ้าจี้ เพราะมวลชนเสื้อแดงโกรธมาก ผมก็เบรกมวลชนไว้ บอกว่าใจเย็นๆ นะ ผมจะเข้าไปผูกคนเดียวก่อน เสร็จแล้วผมก็ข้ามฝั่งไปเจรจากับตำรวจ เขาก็ไม่ยอม ทำหน้าดุใส่ผมแล้วก็ทำท่าแข็งขันเลย ผมก็เลยแค่ชูผ้า แล้วก็ผูกไว้ตรงรั้ว คืนนั้นผมก็ไปกินข้าว แล้วกลับมาอีกที 4 ทุ่ม ไม่มีตำรวจสักคน ผมก็เข้าไปผูกได้ พอผูกเสร็จก็กลับบ้านนอน วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าเขาย้ายป้ายหนีเลย (หัวเราะ) ผมว่ามันบ้าแล้ว การที่คุณมาติงต๊องกับผม แต่ผมได้พื้นที่สื่อมหาศาลเลย แล้วเรื่องย้ายป้ายหนีนี่ก็เลยเป็นเรื่องที่อำกันไม่เลิกเลย

 

+ การยืนอยู่จุดนี้ต้องมีความเป็น Master Mind อยู่พอสมควรใช่ไหม คือต้องวางแผนว่าจะทำอะไรและต้องคาดการณ์ไว้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

คือเวลาคุณทำอะไรคุณต้องคิดให้สุด แล้วก็ประเมินแผนสองแผนสามไว้ ในกระเป๋าผมจะพกแปรงสีฟันกับยาสีฟันตลอดนะ เพราะอาจโดนจับอีกรอบ ผมโดนจับไป 3 รอบแล้ว ติดคุก 11 วัน นอนค่ายตำรวจ 2 อาทิตย์ นอนค่ายทหาร 1 วัน มีคดีการเมือง 3 คดี

 

 

IMG_5760

 

+ ถ้ามองภาพรวมขวนเสื้อแดงตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็น ‘แดงประชาธิปไตย’ หรือ ‘แดงทักษิณ’

ตอนนี้คนมักมองว่าแดงประชาธิปไตยเป็นแดงส่วนน้อย ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมพยายามชิงภาพนี้อยู่ มันต้องสู้กัน ในความเป็นจริงแล้วแดงเป็นพลวัต มันเคลื่อนตัวและมีชีวิต มีการเรียนรู้และพัฒนา ผมมั่นใจว่าวันหนึ่งมันจะเป็นแดงประชาธิปไตย ส่วนที่ยังมีปัญหาเกาะติดทักษิณ มันเป็นความเชื่อมโยงระหว่างการที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง มันเลยทำให้เรื่องนี้มีความสลับซับซ้อน เพียงแต่ว่ามวลชนไม่ได้ถอดรหัสเหล่านี้ออกมาอย่างเป็นระบบ

ผมเชื่อว่าการที่เขาบอกว่ายังรักทักษิณกันอยู่ แท้จริงแล้วนั่นก็คือประชาธิปไตย เพียงแต่คุณทักษิณเป็นสัญลักษณ์ในมุมมองของเขา เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย เป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถยังประโยชน์แก่ประชาชนได้

 

+ หมายความว่าเสื้อแดงก็ยังข้ามไม่พ้นทักษิณเหมือนกัน เพราะยังใช้ทักษิณเป็นสัญลักษณ์อยู่?

ต้องยอมรับว่าคนจำนวนหนึ่งเขาโปรทักษิณเลย อีกเรื่องก็คือคุณทักษิณไม่ยอมเฟดออกไป ถ้าผมเป็นคนจัดเวทีนะ ผมจะไม่ให้ทักษิณพูดเลย

 

+ คิดเห็นอย่างไรกับกลุ่มเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายก้าวหน้า แต่เชียร์รัฐบาลอย่างเลยเถิด กระทั่งมองข้ามเรื่องปัญหาทุจริต

จริงๆ ถ้าไม่มีพวกเสื้อเหลืองอยู่ตอนนี้ พวกเสื้อแดงก็คงสลายหมดแล้ว หรือไม่ก็เหลืออยู่นิดเดียว จะเหลือก็แค่มวลชนเพื่อไทย มันจะไม่ใหญ่โตขนาดนี้ ปัญหาของคนพวกนี้เขามองว่าต้องปกป้องรัฐบาลเพราะอีกฝ่ายยังรบอยู่ มันยังเคลื่อนไหวอยู่ เสื้อแดงจึงยังรวมตัวกันอยู่ คุณสลายเสื้อแดงง่ายมาก เพียงแค่คุณหยุด เสื้อแดงก็ต้องตีกันเองแล้ว

ผมเห็นว่าพวกที่ก้าวหน้าจะต้องมีหลักการที่คุณต้องยึดถือคือ หนึ่ง-เปิดพื้นที่ให้อีกฝ่ายแสดงออก สอง-ต้องยอมรับให้มีการตรวจสอบ สาม-คุณต้องกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในกรณีที่พรรคหรือรัฐบาลดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หลักการควรจะเป็นเช่นนั้น ที่จริงแล้วก็มีการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกันลับหลังนะ วิจารณ์กันเยอะมาก เยอะมากจริงๆ มีกระแสภายในสูงมาก บ่นวิจารณ์กันภายใน แต่ทางสาธารณะแล้วเราจะไม่เปิด

 

+ เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพเอาไว้?

ถูก จริงๆ มีการวิจารณ์ภายในกันเยอะ ผมกำลังหาทางว่าเราจะทำยังไงให้พลังพวกนี้กดดันให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไข ผมเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีหลายคนจะต้องถูกปรับออก คนที่เรารู้สึกว่าเขามีปัญหา ถ้าไม่ปรับออกไม่ใช่แค่ว่าตอบปัญหาสังคมไม่ได้ แต่มันก็ตอบปัญหาให้เสื้อแดงไม่ได้ เพราะเสื้อแดงก็ลุ้นให้ปรับออก

 

+ ปรากฏการณ์ Arab Spring ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกันโดยไม่ต้องจัดตั้งเป็นทางการใช่ไหม ถ้าเปรียบเทียบกับของไทยแล้วมันมีความแตกต่างกันอย่างไร

อาหรับเป็นประเทศเผด็จการ คุณไม่สามารถออร์แกไนซ์ให้คนมาได้ เขาไม่เปิดให้มีเอ็นจีโอ ถ้าคุณเคลื่อนไหวก็โดนยิง โดนหิ้วเข้าคุกหมด ดังนั้นมันจึงเป็นแรงกดเก็บในสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก เวลามันออกมาปุ๊บมันจึงกระเพื่อมเลย ซึ่งเมืองไทยจะไม่เกิดอาหรับสปริง ไม่เกิดไทยสปริง เพราะเมืองไทยอยู่ในช่วงวิวัฒนาการของประชาธิปไตย

คุณจะบอกว่าประเทศตอนนี้เป็นประชาธิปไตยก็พูดไม่ได้ จะบอกว่าเราเป็นเผด็จการคุณก็บอกไม่ได้ ที่ผ่านมาเรามีการปลดปล่อยพลังงานไปเยอะ และวิวัฒนาการเรื่องประชาธิปไตยมาแล้วระดับหนึ่ง เราไม่มีเหตุผลอย่างอาหรับสปริง แต่ถ้าย้อนกลับไปอยู่ในยุค 30 ปีที่แล้ว ถ้าผมพูดแบบนี้ สันติบาลต้องลากผมไปยิง ถีบลงเขา หรือถูกอุ้มไปแล้ว

แต่ที่อาหรับ คุณแค่เขี่ยไฟนิดเดียวมันลามเลย เพราะหญ้ามันแห้งมาก มันพร้อมจุดอยู่แล้ว พอสะเก็ดไฟกระเด็นเข้าไปอยู่ในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ นิดเดียวมันก็กลายเป็นอาหรับสปริงเลย แต่สังคมไทยไม่ใช่แบบนั้น และมันก็ไม่ได้กดดันถึงขั้นนั้น ผมเลยไม่เชื่อเรื่องที่มีคนบอกว่าจะเกิดปฏิวัติประชาชน แต่แกนนำทั้งสองฝ่ายเชื่อเช่นนั้น ฝ่ายโน้นก็บอกว่าจะปฏิวัติครั้งสุดท้าย ฝ่ายนี้ก็บอกว่าจะปฏิวัติประชาชน

ผมจะบอกให้ แกนนำทั้งสองฝ่ายเมื่อก่อนเขาก็อยู่วอร์รูมเดียวกัน เป็นเพื่อนกัน เคยรบร่วมกันมา มีสำนักคิดเดียวกัน ถึงจะแยกกันไปแล้วก็ยังคิดเหมือนกัน พวกฮาร์ดคอร์เสื้อแดงก็ไม่ต่างกับพวกฮาร์ดคอร์เสื้อเหลือง เพราะคุณทำทุกอย่างเหมือนกันหมด ยกเว้นคุณใส่เสื้อกันคนละสี นอกนั้นเหมือนกันทุกประการ

 

+ หมายความว่าวิธีคิดของคนเจเนเรชั่นนั้นถูกแช่แข็งจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว?

ต้องเข้าใจว่าเขาหลอมกันมาอย่างนั้น เขาเติบโตกันมาอย่างนั้น เขาจับปืนสู้กันนะ แล้วนี่มันเป็นช่วงท้ายในชีวิตเขาแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ นะคุณ เขาสะสมจนเป็นอัตลักษณ์เขาแล้ว คนอายุ 60 นี่คงปรับยากแล้วล่ะ ต่อให้เราอธิบายยังไงเขาก็เถียงกลับ เพราะเขามีโลกทัศน์แบบนั้น เขาเคยเห็นเลือดจริงๆ ยิงจริงๆ ตายกันจริงๆ ผมโชคดีหน่อยที่เป็นเอ็นจีโอ ผมจึงมีโลกทัศน์แบบอื่น

 

+ ถึงที่สุดแล้วม็อบไทยก็ยังไม่ได้มีแรงกดดันถึงขีดสุด จนประชาชนต้องลุกฮือขึ้นมาเองใช่ไหม

ผมเห็นว่านี่เป็นพัฒนาการประชาธิปไตยนะ เป็นความขัดแย้ง เพราะกำลังดีเบตกันเรื่องประชาธิปไตย วันก่อนผมคุยกับอาจารย์จรัล (ดิษฐาอภิชัย) แกบอกว่าชนชั้นกลางไทยนี่มันตลก คือลักษณะตามธรรมชาติของชนชั้นกลางคือเสรีนิยม แต่ชนชั้นกลางไทยกลับมีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยม คือเราจะบอกว่าชนชั้นกลางเป็นอนุรักษ์นิยมไม่ได้เสียทีเดียว มันมีหลายปัจจัยที่ซ้อนอยู่หลายชั้น เขาเสรีนิยมมากเลย ใครไปยุ่งกับเขาไม่ได้ แต่บางเรื่องเขาก็อนุรักษ์นิยม ซึ่งมันมาจากกลไกการปลูกฝังกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน และการปลูกฝังเหล่านั้นมันได้ผลก็เท่านั้นเอง และเราไม่เคยดีเบตกันอย่างนี้ และผมเชื่อว่าหลังจากเราดีเบตไปสักระยะหนึ่งมันจะคลี่คลาย สุดท้ายชนชั้นกลางก็จะกลับมาสู่จริตของชนชั้น และกลับมาเป็นเสรีนิยมเช่นเดิม

 

+ การขับเคลื่อนงานมวลชนหลังจากนี้จะมีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ อีกบ้าง

ผมคิดว่าต้องกลับไปที่โซเชียลเน็ตเวิร์ค ตอนนี้ นปช. มาถึงขีดสุดแล้ว ผมไม่คิดว่า นปช. จะทำอะไรได้มากกว่านี้อีก มันติดเพดานแล้ว สิ่งที่สามารถทำได้คือสิ่งที่ผมเรียกว่า นปซ. หรือ ‘แนวร่วมประชาธิปไตยไซเบอร์’ ผมคิดว่าสนามรบจะย้ายจากบนถนนมาอยู่บนโลกไซเบอร์แทน สังเกตได้ว่าพวกหน้ากากขาวตอนแรกจะไปอยู่ตามม็อบต่างๆ ซึ่งเล่นแล้วจุดไม่ติด แต่พอคุณไปเล่นในไซเบอร์แล้วมันกลับมาเกิดใหม่ ผมจึงมองว่าการล้มรัฐบาลในครั้งสองครั้งหน้า ถ้าจะล้มก็คงล้มกันในไซเบอร์

 

+ ถ้ารบกันในไซเบอร์ คนเสื้อแดงอาจเสียเปรียบกว่าไม่ใช่หรือ

ในเชิงปริมาณเราเสียเปรียบมาก แต่ในเชิงเนื้อหา ในหลักการ ถ้าคุณไปอิงแอบอยู่แค่พรรคการเมืองหรือปกป้องพรรคการเมือง แบบนี้คุณจะลำบาก แต่ถ้าคุณยืนหลักการเรื่องประชาธิปไตย จริงๆ พรรคไหนก็ได้ รักษาไว้เท่านั้นก็จบ

กรณีที่อี้ (แทนคุณ จิตต์อิสระ) ชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดอนเมือง ผมยังชื่นชมเลย มันไม่เกี่ยวกับพรรคไหนแพ้ชนะ แต่มันเกี่ยวในแง่ที่ว่าประชาธิปไตยมันได้ทำหน้าที่ เห็นไหม คุณไม่ต้องขอมาตรา 7 คุณไม่ต้องปฏิวัติ คุณก็ชนะได้ ถ้าสู้กันในเกม น่าชื่นชมน่ารักจะตาย ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันลดอุณหภูมิทางการเมืองลง บรรยากาศแบบนี้ผมว่ามันสำคัญ

อย่างผมจัดเสวนา กาแฟปฏิรูป ผมก็ชวนคุณอลงกรณ์ พลบุตร (รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) มากินกาแฟ หลังจากนั้นผมก็ไปกินกับคุณภูมิธรรม (เวชยชัย) เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผมไม่ได้ไปแนะนำอะไรเขา เพียงแต่ถามเขาว่าให้ช่วยบอกหน่อยว่าจะปรับปรุงตัวเองยังไง ผมว่ามันดีนะ ดีกว่าการที่คุณไปชี้ว่าคนนู้นคนนี้ไม่ดียังไง เรากลับมาพูดถึงจุดอ่อนของตัวเองเพื่อจะปรับปรุงกันดีกว่า ผมว่าการปฏิรูปแนวทางนี้มันดีนะ เสียดายว่ากลุ่มที่ทำงานด้านปฏิรูปอย่างหมอประเวศ (วะสี) ก็เป็นแนวเก่าไป นี่ผมพูดตรงๆ นะ ถ้าผมได้ทำเรื่องพวกนี้ผมป่วนทั้งประเทศได้เลย พลิกเกมเปลี่ยนสถานการณ์ประเทศไปเลย แต่อันนี้ผมก็ขี้คุยไปหน่อยนะ (หัวเราะ)

 

IMG_5773

 

+ หมายความว่างานปฏิรูปมันน่าจะทำให้มีสีสันกว่านี้ได้ใช่ไหม

เรื่องกีฬาสีมันยังเป็นเรื่องหลักอยู่ เพราะมันหาสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นมาเสนอไม่ได้ จริงๆ แล้วมันไปไม่ได้แล้วนะ แต่ที่มันยังไม่สลายเพราะไม่มีอย่างอื่นมาแทน สุดท้ายมันยังมีเหลืองมีแดง แต่มันก็ไปไหนไม่ได้ ปัญหาคือตอนนี้เราไม่มีขบวนอะไรสักขบวนหนึ่งที่จะพาเราออกไป ซึ่งที่เขาพูดถึงการปฏิรูปมันถูกทางแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขและรูปแบบการปฏิรูปการเมืองกับวิธีการมันใช้ไม่ได้ มันไม่ร่วมสมัย ซึ่งหมอประเวศก็ทำเหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือทำสมัชชา แล้วเข้าไปนั่งประชุมกันที่ไบเทค ซึ่งผมไม่เข้าร่วมเลย เพราะมันน่าเบื่อ

จริงๆ เรามีคนที่ตื่นตัวกับการเมืองมากกว่าประชาคมที่ทำกันมา 30-40 ปีเยอะแยะเลย ความตื่นตัวทางการเมืองมันสูงมาก แต่คุณไม่สามารถดึงคนพวกนี้ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองกับคุณได้ เพราะวิธีการที่คุณใช้มันใช้ไม่ได้

ต้องไปดูพวก Pirate Party พวกนี้มันบ้าดี ผมให้น้องๆ ทำวิจัยเรื่องนี้ ตอนนี้มีอยู่ 11 ประเทศ เริ่มต้นจากพวกเนิร์ด (Nerd) สมาชิกพรรคก็อายุ 20 กว่าๆ นโยบายพรรคช่วงแรกคือให้ประชาชนดาวน์โหลดทุกอย่างในอินเทอร์เน็ตฟรี นี่คือนโยบายของ Pirate Party ก็มันเป็นโจรสลัดไง คนก็ด่ากันว่าพวกนี้ไม่ได้สนใจเศรษฐกิจยุโรปเลย ทำตัวเป็นเด็กไปได้ พอโดนด่าเข้าไปถึงได้รู้สึกตัว คราวนี้มันเลยทำซอฟท์แวร์ Think Tank ขึ้นมา ให้คนในประเทศร่วมกันเสนอนโยบายสาธารณะของพรรคการเมืองผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม มีระบบโหวตขึ้นโหวตลง แบ่งฟอรั่ม แล้วมันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนได้ 1 ที่นั่งในเยอรมนี และกำลังพัฒนาเป็นพรรคการเมืองระดับแมส กำลังเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก้าวหน้าสูงสุดเลย แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ตอนนี้เราอยู่ในยุคประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ในอนาคตมันจะข้ามไปสู่ยุคประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสูงมาก ผมเรียกว่ายุคประชาชน 3.0 แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุค 2.0

 

+ สังคมยุคประชาชน 3.0 จะมีหน้าตาอย่างไร

แรกๆ อาจจะอีนุงตุงนัง เมืองไทยคงจะโกลาหลกันหน่อย เพราะเราอั้นไว้เยอะ แต่เมืองนอกการมีส่วนร่วมมันสูงมาก เพราะระบบมันลงตัวแล้ว แต่ประเทศเราระบบก็ไม่ลงตัว แถมยังสร้างปัญหาสารพัด วันที่เราเริ่มต้น 3.0 มันจะเสียงดังฉิบหาย มันจะเหมือนคอนเซ็ปต์ทวิตเตอร์ คือเสียงนกจุ๊บจิ๊บๆ เต็มไปหมด คนจะบ่นได้เต็มที่ มันจะเกิดปรากฏการณ์ที่คนรุ่นเก่าไม่เข้าใจเหมือนเวลาเข้าไปในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ก็จะบ่นฉิบหาย แต่คนยุคเราเข้าใจ เราไม่รู้สึกว่ามันไม่ซับซ้อน อาจจะโกลาหลหน่อย แต่ก็สื่อสารกันรู้เรื่อง

ถ้าคุณเป็นคนยุค 3.0 คุณจะเข้าใจเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าจะรู้สึกรำคาญ เพราะเป็นเจเนเรชั่นเดิม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ถ้าตัดตัวบุคคลออกไปให้หมดก็จะพบว่าเรากำลังเปลี่ยนยุคเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร เพียงแต่ว่าช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยมันเป็นอย่างนี้

จริงๆ มันก็เหมือนกล้องฟิล์มเปลี่ยนเป็นกล้องดิจิตอล จากพิมพ์ดีดมาเป็นคอมพิวเตอร์ สุดท้ายพิมพ์ดีดก็หายไปหมด กล้องฟิล์มก็หายไป ทิศทางทางการเมืองก็เช่นกัน เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนยุค ดังนั้นถ้าเรามองออกว่าพฤติกรรมของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป มันจะมีฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายที่นำเสนอสิ่งใหม่มาต่อสู้กัน พวกที่เป็นพวกก้าวหน้าต้องนำเสนอสิ่งใหม่แล้วก็พิสูจน์ให้พวกที่อยู่เดิมยอมรับ แต่เนื่องจากมันเป็นของใหม่ มันก็เลยอาจจะยังจูงใจไม่พอที่จะเปลี่ยนคนกลุ่มนี้ได้

 

+ ทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนผ่านมักมีความรุนแรงรอบใหม่เกิดขึ้นจริงหรือไม่

นี่เป็นเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการ อันนี้จะเป็นบทพิสูจน์เรื่องสติปัญญา คุณต้องคิดเรื่องต้นทุนกำไร ถ้าคิดอย่างนั้นแล้วเราจะไปจ่ายทำไมแพง ความรุนแรงมันทำให้เราเสียเวลา แต่ว่าบางคนก็บอกว่าหักไปเลยสิ กลายเป็นตัวปฏิกิริยาคอยเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง เพราะทำแบบนี้เรื่องมันถึงไม่จบ แทนที่จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วค่อยๆ นำพาสังคมขึ้นมามองภาพรวมให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ต่างหาก เราถึงจะเดินออกจากความขัดแย้งนี้ไปได้

 

+ ถ้าเราเข้าสู่ยุค 3.0 มันอาจจะยุ่งเหยิงไปหมดจนจับทิศทางไม่ถูก?

สักพักหนึ่งผมคิดว่ามันจะเกิดการกรุ๊ปปิ้ง ซึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์คมันมีเพจแตกต่างกันไป ใครสนใจเรื่องไหนก็ไปอยู่เพจนั้น แล้วประชาชนควรจะพัฒนาตนเองว่าคุณสนใจเรื่องอะไร คุณก็ควรจะทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ ไม่ใช่ทุกอย่างต้องรอให้รัฐบาลทำ อันนี้ไม่ใช่ ในประชาธิปไตยจริงๆ คุณมีสิทธิ์ทำเลย เราเชื่อในความเป็นพลเมือง เราเป็นพลังส่วนหนึ่งของการสร้างเมืองนี้ประเทศนี้ ถ้าคุณรวมตัวกันได้แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา วันหนึ่งเมื่อรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยแบบ 3.0 แล้ว รัฐบาลจะเป็นฝ่ายลงมาช็อปไอเดียจากประชาชนเอง ไม่ต้องไปเอามวลชนไปกดดันหน้ารัฐสภา

 

+ ด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้คุณเรียกตัวเองว่า ‘ซ้ายไซเบอร์’?

หลายคนชอบเรียกผมว่า ซ้ายมาสาย ซ้ายใหม่ ซ้ายโรแมนติก ซ้ายโน่นซ้ายนี่ ผมเลยขอเป็นซ้ายดิจิตอลดีกว่า คือผมรู้ว่าผมเป็นคนร่วมสมัย ผมกำลังเดินทางไปสู่อะไร ผมเห็นสิ่งเหล่านี้ และพลังที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงก็มาจากดิจิตอล รูปแบบการผลิตอารยธรรมของมนุษย์เราก็อยู่ภายใต้เทคโนโลยีดิจิตอล ถ้าจะให้ผมนิยามสิ่งที่ใกล้เคียงกับตัวผมมากที่สุดก็คงเป็นซ้ายดิจิตอล ซ้ายคือการเปลี่ยนแปลง ดิจิตอลคือยุคสมัย ดังนั้นผมก็ขอเป็นคนดิจิตอลที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดีกว่า

 

****************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร คอลัมน์ Interview นิตยสาร Way ฉบับที่ 63)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า