รู้จัก ‘คนเดือนตุลา’ ผ่านหนังสือ ‘The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand’

เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี

 

นอกเหนือไปจากหนังสือ ‘และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ’ เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญในการทำความเข้าใจขบวนการนักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2510

‘The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand: Power and Conflict Among Former Left-Wing Student Activists in Thai Politics (2016)’  หรือในภาคภาษาไทยคือ ‘การเติบโตของคนเดือนตุลา: อำนาจและความขัดแย้งของนักศึกษานักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในการเมืองไทยร่วมสมัย (2559)’ เป็นอีกหนึ่งในหนังสือที่เหมาะสำหรับผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับคนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ระหว่างที่เธอศึกษาที่ London School of Economics and Political Science สหราชอาณาจักร ตีพิมพ์โดย Yale Southeast Asia Studies

และสำหรับนักศึกษาหรือนักวิจัย งานชิ้นนี้ยังเป็นตัวอย่างของการใช้ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มาอธิบายคนเดือนตุลาได้เป็นอย่างดี ได้แก่ แนวคิดโอกาสทางการเมือง (Political Opportunity Structure) ทฤษฎีโครงสร้างระดมทรัพยากร (Resource Mobilization Theory) และ กระบวนการกำหนดกรอบโครงความคิดร่วมกัน (Framing Process)

อะไรคือ ‘คนเดือนตุลา’

หนังสือเล่มนี้ช่วยสำรวจความเป็นมาของ ‘คนเดือนตุลา’ ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยราว 30 ปีที่ผ่านมา เพื่ออธิบายกลุ่มคนที่เคยร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์สังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

โดยหลังจากนั้นมีนักศึกษาที่รอดชีวิตและหนีภัยจากการปราบปรามกว่า 3,000 คน เดินทางเข้าป่าร่วมจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ขึ้นสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ก่อนที่จะทยอยออกจากป่าพร้อมๆ กับความพ่ายแพ้ของพรรค และการถดถอยของฝ่ายซ้ายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ต่อจากนั้น เมื่อนักศึกษาเหล่านั้นเติบโตขึ้น หลายคนได้กลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นนักการเมือง นายแพทย์ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ ศิลปิน นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ฯลฯ และมีบทบาททางสังคมตลอดพุทธทศวรรษที่ 2530 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่หลายคนเองก็ไม่ได้มีชะตาชีวิตเช่นนั้น

ศึกษาคนเดือนตุลาอย่างไร

หนังสือเล่มนี้ ศึกษาบุคคลที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันคือ ชุดประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยอาศัยคำถามหลักสองประการ คือ

หนึ่ง ทำไมคนเดือนตุลาจึงประสบความสำเร็จในการกลับมามีบทบาททางการเมือง ทั้งที่เป็นคนที่พ่ายแพ้ในการต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และสอง ทำไมคนเดือนตุลาจึงต่อสู้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ท่ามกลางวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในการเมืองไทยร่วมสมัย

ผู้เขียนได้ค้นคว้าผ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์และเดินทางไปสัมภาษณ์คนเดือนตุลาร่วม 100 คน ก่อนจะพบว่า ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอดีตนิสิตนักศึกษาเหล่านี้หรือที่รู้จักกันในนามคนเดือนตุลา ประสบความสำเร็จในการขยายบทบาททางการเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก และจากการศึกษาเปรียบเทียบ ผู้เขียนกลับพบว่า อดีตนิสิตนักศึกษานักกิจกรรมฝ่ายซ้ายทั่วโลกส่วนใหญ่ กลับประสบความล้มเหลวในการต่อสู้เพื่ออยู่รอดและกลับมามีบทบาททางการเมืองหลังการล่มสลายลงของขบวนการและรัฐบาลสังคมนิยม

ในไทยเอง คนเดือนตุลาได้กลายเป็นผู้นำและผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยใหม่ครั้งสำคัญหลายครั้ง เช่น การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เพื่อต่อต้านการแทรกแซงการเมืองของทหาร การขยายตัวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมตลอดช่วงพุทธทศวรรษ 2530 และการปฏิรูปการเมืองในช่วงท้ายของพุทธทศวรรษ 2530

จนมาสู่พุทธทศวรรษที่ 2540 คนเดือนตุลาเริ่มแสดงให้เห็นความแตกแยกทางการเมืองและระเบิดออกมาเป็นรูปธรรมผ่านความขัดแย้งการเมืองสีเสื้อในพุทธทศวรรษที่ 2550 อะไรคือปัจจัยความขัดแย้งเหล่านั้น

ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นภาพเลือนรางดังกล่าว ที่ประวัติศาสตร์ของคนเดือนตุลายังเป็นที่สับสนอยู่หลายประการ ข้อมูลหนึ่งแสดงให้เห็นว่า นักศึกษาในปัจจุบันสามารถอธิบายเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่าหมายถึงเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ในทางตรงข้าม เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาส่วนใหญ่กลับอธิบายว่า นักศึกษาในเวลานั้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นกัน ทั้งที่ประวัติศาสตร์สองเหตุการณ์มีความแตกต่างกัน  

หนังสือเล่มนี้เสนออะไร

มีคำอธิบายที่ได้จากการวิเคราะห์อันน่าสนใจอยู่หลายเรื่องปรากฏในหนังสือเล่มนี้ คือ 1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เงื่อนไข และโอกาสทางการเมืองที่ทำให้คนเดือนตุลากลับมามีบทบาททางการเมืองและขัดแย้งกัน 2.การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคนเดือนตุลา ก็เป็นทั้งจุดแข็งจุดอ่อนที่ทำให้กลับมาขัดแย้งกันเอง และ 3.ทรัพยากรทางการเมือง ทักษะการทำงานทางการเมือง เครือข่าย และภาษาแบบก้าวหน้า ก็ทำให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จหลังจากออกจากป่า

โครงสร้างของหนังสือ

ในบทแรก เป็นการสำรวจงานเขียนที่ฉกฉวยโอกาสหรือหลีกเลี่ยงที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องการฟื้นคืนของคนเดือนตุลาในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

บทที่ 2 เป็นการสืบเสาะกำเนิดของคนเดือนตุลา และพัฒนาการช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยผู้เขียนวางคนเดือนตุลาเข้าไว้กับบริบททางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาผลกระทบและเข้าร่วมการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหาร ตามแนวทางสังคมนิยม ระหว่างปี 2516-2519

นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยอธิบายผ่านกระบวนการทางอุดมการณ์ที่ต้องการทลายต้นตอปัญหาของระบอบเผด็จการ

ถึงกระนั้น ในบทที่ 2 นี้ ไม่ได้เพียงฉายให้เห็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของคนเดือนตุลาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานในการเข้าใจเกี่ยวกับมรดกทางการเมืองและปัญหาที่ทำให้คนเหล่านี้กลับมาและเปลี่ยนสภาพไปในการเมืองร่วมสมัย ที่ทำให้คนเดือนตุลามีประสบการณ์และการมีส่วนร่วมในขบวนการต่อต้านอำนาจนิยม เช่น การรณรงค์ร่วมกับพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม การระดมพลร่วมกับชาวบ้านรากหญ้า และการเคลื่อนไหวร่วมกับฝ่ายซ้าย ทำให้คนเดือนตุลาสามารถสร้างเครือข่ายและยกระดับทักษะทางการเมืองในด้านต่างๆ แต่ทว่าด้วยความขัดแย้งรุนแรงภายในพรรคคอมมิวนิสต์เองและการที่อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในระดับสากลถดถอย เบื้องหลังประวัติศาสตร์ของฝ่ายซ้ายเช่นนี้ ก็ทำให้พวกเขากลับเข้าเมืองด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และยุติอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายลงไป หลังการพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

บทที่ 3 ถึง 7 ผู้เขียนได้สำรวจการฟื้นตัวและพัฒนาการของคนเดือนตุลา ท่ามกลางความแตกต่างทางด้านมุมมองการเมือง บทนี้ได้วิเคราะห์จากงานเขียนที่สะท้อนขบวนการการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะในบทที่ 3 ที่ได้สำรวจว่าคนเดือนตุลาเรียกคืนพื้นที่ทางการเมืองกลับมาได้อย่างไร ภายใต้บริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป โดยผู้เขียนเสนอว่า คนเดือนตุลาได้มีการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่และเปลี่ยนภาพลักษณ์จากฝ่ายซ้ายที่พ่ายแพ้สู่การเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

บทที่ 4 และ 5 ผู้เขียนได้บรรยายอย่างพิสดารให้เห็นว่า คนเดือนตุลากลายมาเป็นคนที่กระตือรือร้นทางการเมืองทั้งบทบาทในรัฐสภาและบทบาทนอกสภาอย่างไร ซึ่งบทบาทเหล่านั้นได้ทำให้คนเดือนตุลาหลายคนประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของการเป็นนักการเมือง นายแพทย์ นักหนังสือพิมพ์ เอ็นจีโอ นักวิชาการ นักร้อง ศิลปิน นักธุรกิจ

ความสำเร็จเหล่านั้นมาจากทักษะและเครือข่ายจากในอดีตและปัจจุบันของพวกเขา ซึ่งเปิดโอกาสทางการเมืองให้พวกเขากลับมีบทบาทสำคัญทางการเมืองผ่านเหตุการณ์สำคัญสามเหตุการณ์ คือการต่อสู้ในเดือนพฤษภาคม 2535 การเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในกลางพุทธทศวรรษที่ 2530 และการปฏิรูปการเมืองในช่วงปลายพุทธทศวรรษที่ 2530

ขณะเดียวกันโครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่ ก็ส่งผลให้พวกเขามีลักษณะเสรีนิยมมากขึ้น เป็นสายปฏิรูปมากขึ้น

บทที่ 6 และ 7 เป็นการวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับการที่คนเดือนตุลามีความเชื่อทางการเมืองที่เปลี่ยนไป และแตกแยกเป็นสองฝ่าย พวกเขาใช้อัตลักษณ์ของความเป็นคนเดือนตุลาโฆษณาชวนเชื่อให้ตนเอง ก่อนที่บทสุดท้าย จะเป็นการสรุปการศึกษาคนเดือนตุลาทั้งหมดของหนังสือ

คนเดือนตุลาในการเมืองเหลือง-แดง

ดังที่ทราบกันว่า ในวิกฤติการเมืองสีเสื้อตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา คนเดือนตุลามีบทบาทอยู่ในการเมืองทั้งเหลืองและแดง พวกเขาเริ่มขัดแย้งกันตั้งแต่ช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้ยังให้คำตอบว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อาทิ มาจากความแตกต่างของคนเดือนตุลาในกลุ่มต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นหลังยุคเดือนตุลา การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเมืองจากรัฐบาลอ่อนแอที่ประกอบไปด้วยพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก มาสู่รัฐบาลที่มีความเข้มแข็งของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และสุดท้าย อัตลักษณ์ความเป็นคนเดือนตุลา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ล้มเหลวในการเยียวยาความแตกต่างและความขัดแย้งที่พัฒนาขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุสำคัญในความแตกแยกทางการเมืองเหลือง-แดงในปัจจุบัน

สำหรับคนที่สนใจหาความรู้การเมืองร่วมสมัย และประวัติศาสตร์ยุคใกล้ หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เห็นภาพชนชั้นกลางยุคแรก ที่มีลักษณะเด่นต่างออกไปจากชนชั้นกลางทั่วไป (unique middle class group) คนเหล่านี้คือคนที่มีทักษะและความสามารถสูง ขณะเดียวกันพวกเขาก็ผ่านบทเรียน ความเจ็บปวด ความขัดแย้ง ที่แสนเศร้า ยากที่คนกลุ่มไหนจะ ‘เป็น’ ได้

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า