ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่สร้างความมึนงงชวนเวียนหัวที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย WAY และเครือมติชน ชวนไปคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจภูมิหลังความเป็นมาของแนวคิดการมีสภาสูงหรือวุฒิสภา ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
นอกเหนือจากทำความเข้าใจภูมิหลังความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่จับตาและตั้งคำถามคือบทบาท หน้าที่ และทิศทางของวุฒิสภาในสังคมไทย ว่าเป็นไปโดยสอดคล้องกับการส่งเสริมแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน
ถ้าแนวคิดเบื้องต้นของการมีสภาสูงในประเทศไทย คือบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงสภาผู้แทนราษฎร
ผ่านไป 80 กว่าปี หากการเมืองไทยยังต้องมีพี่เลี้ยง สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ พี่เลี้ยงเหล่านั้นเขาเลี้ยงอะไรกันแน่ เลี้ยงระบอบประชาธิปไตย หรือเลี้ยงไข้ เลี้ยงเชื้อ เลี้ยงอำนาจชนชั้นนำ อันมีจุดยืนเป็นปฏิปักษ์กับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
บทบาทของ สว. 250 คนที่เพิ่งหมดอายุไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน ก่อให้เกิดคำถามเหล่านี้ และมีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ
ประวัติศาสตร์แนวคิดการมีวุฒิสภาหรือสมาชิกวุฒิสภามีที่มาอย่างไร
จริงๆ มันก็มีมูลเหตุทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยยุคกลางในยุโรป เวลาจะบริหารกิจการบ้านเมืองมันต้องประชุมสภาฐานันดร ซึ่งการประชุมสภาฐานันดรในสังคมของศักดินาแบบยุโรป แบ่งออกมาเป็น 3 ฐานันดร คือ อัศวินขุนศึก พระ และสามัญชน
แบ่งอย่างไม่เป็นทางการก็คือ ขุนนางกับพระซึ่งเป็นอีลีท (elite) จะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนสามัญชนก็มีผลประโยชน์อีกแบบหนึ่ง นานๆ ไปก็กลายเป็นแยกห้องประชุม อันหนึ่งกลายเป็น House of Lords ไม่ว่าจะเป็น Lords Temporal คือขุนนางทางโลก ขุนนางทางธรรมก็คือพระ ส่วนสภาของสามัญชนจะเป็น House of Commons มันเลยมีความคิดเรื่องการมี 2 สภามาตั้งแต่สมัยยุโรปยุคกลาง
ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกๆ ความสำคัญมันอยู่ที่ House of Lords เพราะมันคือระบบการปกครองของขุนนางของศักดินา จนกระทั่งมันเริ่มมาเป็นประชาธิปไตยขึ้นเรื่อยๆ ความสำคัญก็ถ่ายโอนไปที่ House of Commons กลายเป็นว่า House of Lords ก็ค่อยๆ หมดบทบาทลง คือเขาก็ยังคงไว้ในลักษณะของประวัติศาสตร์ อาจจะมี Hereditary Lords เป็นสภาขุนนางที่มาจากการตกทอดจริงๆ แล้วก็จะมีผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมาย ผู้พิพากษาที่แต่งตั้งเข้าไปด้วย แต่ว่าก็จะเห็นว่าความสำคัญในประเทศอย่างอังกฤษ House of Lords ก็ลดลง แต่พอความคิด 2 สภามันกระจายไปทั่วโลก อันนี้ก็แล้วแต่ดุลอำนาจ ความสัมพันธ์การออกแบบของแต่ละประเทศไป
ตอนนี้มีประมาณ 80 กว่าประเทศทั่วโลกที่ยังใช้ระบบ 2 สภา จาก 280 กว่าประเทศ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก
ยกตัวอย่างประเทศได้ไหม
สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สเปน แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ทั่วโลกใช้ระบบสภาเดี่ยว
การเกิดขึ้นของสองสภาในอดีตที่ผ่านมามันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนแปลงผู้คนอย่างไรบ้างครับ
ถ้าเราคิดว่าสภานิติบัญญัติมันเป็นตัวแทนของคนในสังคมมันก็ต้องเป็นให้ครบ เวลาเราออกแบบสภาแรกมันก็อาจจะไม่ครบ เราก็เลยไปทำสภาที่สองเอาไว้เพื่อให้มันมีความหลากหลายครบถ้วน เช่น สภาแรกส่วนใหญ่เราก็ตัดสินด้วยการเลือกตั้งจากพื้นที่ แต่นอกจากความต้องการในเชิญพื้นที่แล้ว อาจจะต้องการผู้แทนในเชิงความสนใจอื่นๆ ด้วย เช่น สมมติคุณอยากมีผู้แทนของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง สมมติคุณเป็นเผ่า อาจจะมีการกระจายอยู่หลายๆ พื้นที่ คือถ้าเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากในเชิงพื้นที่ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง โอเค คุณก็ได้ผู้แทนจากพื้นที่นั้น แต่ว่าคุณก็อยากจะได้ตัวแผ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ ของเผ่า หรือของศาสนา วรรณะ คุณอาจจะอยากได้ตัวแทนความพิเศษของคุณ ความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น มันก็เลยมีความคิดว่า มีสภาแรกอาจจะไม่ครบ เลยต้องมีสภาที่สองเพื่อช่วยสร้างความหลากหลายให้มันครบถ้วน อันนี้เป็นวิธีคิดหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการปกครอง
อีกแบบอาจจะเป็นผลจากการต่อรองทางการเมือง เช่น สหรัฐอเมริกาตอนเริ่มต้นการตั้งประเทศ มี 13 รัฐ มีรัฐใหญ่รัฐเล็ก ต้องมาตกลงกันว่าสภาต้องเลือกยังไง ทีนี้รัฐใหญ่เสนอว่าเอาตามสัดส่วน รัฐไหนมีประชากรมาก คุณก็มีสัดส่วนสส. มาก รัฐเล็กก็เลยรู้สึกว่าเสียเปรียบ รัฐเล็กบอกทุกรัฐมันมีสถานะทางกฎหมายเท่ากัน ทุกรัฐต้องมีจำนวนผู้แทนเท่ากัน รัฐใหญ่เลยรู้สึกเสียเปรียบ มันก็ตกลงกันว่าถ้างั้นเป็น 2 สภา สภาที่เราเรียก House of Representative บางที่เรียกสภาล่าง เป็นผู้แทนในเชิงสัดส่วน ก็คือรัฐใหญ่ก็จะได้เปรียบในสภาล่าง พอเป็น Senate สภาวุฒิสภา ให้มีรัฐละ 2 คน รัฐเล็กก็จะรู้สึกว่าเกิดความเท่าเทียม มันก็เป็นผลของการเจรจาต่อรองทางการเมือง ในเชิงการจัดสรรอำนาจ
แปลว่าจุดเริ่มต้นของวุฒิสภามาจากการต่อรองทางอำนาจเหรอครับ ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน
คือการออกแบบกติกามันมาจากการการต่อรองอยู่แล้ว แต่ว่าต่อรองเสร็จมันก็จะมีคำถามต่อมาว่า คุณอยากให้กลุ่มสภาที่ 2 มาจากไหน อย่างในอังกฤษ พอมันมีที่มาทางประวัติศาสตร์ว่ามาจากสังคมศักดินา ฐานันดรมันตกทอดตามฐานะอยู่แล้ว มันไม่มีการเลือก แต่อย่างในอเมริกา พอมีแนวคิดประชาธิปไตย เมื่อคุณสร้างสภาที่สอง มันก็ยังอิงอยู่กับการเลือกตั้ง ไปดูหลายๆ ประเทศที่ที่มีสองสภา มันมาจากวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน พอวิธีคิดไม่เหมือนกัน เขาก็จัดอำนาจและออกแบบการสรรหาไม่เหมือนกัน
บทบาทในอดีตของสภาที่ 2 มันสำคัญอย่างไรครับ เขาคุยอะไร ตัดสินอะไร เลือกอะไรจากเรื่องต่อรองทางอำนาจที่อาจารย์เล่าครับ
เวลาเราพูดว่าสว. มีไว้ทำไมเนี่ย อันแรกสุดเลยที่เราจะเคยได้ยินคือเป็นสภาพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงสภาที่ 1
เลี้ยงใครครับ พี่เลี้ยงที่ส่งนักมวยเข้าไปต่อย
(หัวเราะ) มันก็มีวิธีคิดว่า สภาล่างมันมาจากสามัญชน เขากลัวจะไม่รอบคอบ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยง อันนี้เป็นวิธีคิดแรกเลย ถ้าเราคิดว่าเป็นสภาพี่เลี้ยงมันก็จะมีคุณสมบัติจะต้องทรงคุณวุฒิ
ในอดีตคุณวุฒิคือต้องแก่กว่า มีความรู้มากกว่า ?
ครับ เช่น กำหนด สส. อายุไม่ต่ำกว่า 25 ส่วน สว. ก็ต้อง 40 อัป เพราะเราเชื่อว่าความรู้มาจากประสบการณ์ แต่อย่างอเมริกาบอก เป็นผลมาจากการต่อรองอำนาจ รัฐใหญ่รัฐเล็ก เพราะฉะนั้นเขาก็บอกว่า สส. สว. ของเขาคุณสมบัติเท่ากัน ขึ้นอยู่กับแนวคิด
อย่างของเรามาแรกสุดเลยก็บอกว่า สว. คือสภาพี่เลี้ยง จนถึงวันนี้เราก็ยังพูดถึง สว. ในเชิงของสภาพี่เลี้ยงอยู่
เริ่มต้นมานานแค่ไหนแล้วครับ
ตั้งแต่อภิวัฒน์ 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกก็บอกว่าให้มีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว แต่ว่ามีผู้แทนราษฎร 2 ประเภท ประเภทแรกคือ สส. อย่างที่เราได้เลือกกัน ประเภทที่สองก็จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหน่อย เป็นสภาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฏร
คำอธิบายว่าทำไมต้องมีการแต่งตั้งกรรมการราษฎรประเภทที่ 2 ก็เพราะสมัยนั้นราษฎรไทยยังด้อยการศึกษาอยู่ ถ้าให้เลือกก็อาจจะเลือกคนที่ไม่ดี เพราะคนที่ไปลงสมัครรับเลือกตั้งคือผู้มีกำลังทรัพย์ คล้ายๆ สมัยนี้ ถ้าปล่อยไปก็จะโดนซื้อ แต่ที่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ เขากำหนดเอาไว้ว่าตราบที่ระดับการศึกษายังไม่ดี แต่เขากำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี แปลว่าคณะราษฎรมองเห็นแผนการตัวเองว่ากรรมการชุดที่ 2 ที่เป็นพี่เลี้ยงจะไม่อยู่ตลอดไป ถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าสังคมไทยน่าจะพร้อมก็สลายตัว ถ้าพี่เลี้ยงดีจริง เราก็ต้องไปต่อได้เอง ถ้าเป็นพี่เลี้ยง 80 กว่าปีแปลว่าไม่ได้เรื่องนะ
ตอนนั้นวิธีแต่งตั้ง มาจากคณะราษฎรเป็นคนเลือกเองใช่ไหมครับ
อันนี้ในทางรัฐธรรมนูญ แต่ในทางการเมือง มันคือการเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำที่ถูกแย่งอำนาจไปให้กลับมานั่ง ในทางรัฐธรรมนูญเรียกว่าพี่เลี้ยง ในทางการเมืองคือการเปิดโอกาสให้คนในกลุ่มที่เคยกุมอำนาจที่หมดอำนาจไปแล้วได้กลับมา
ทำไมตอนนั้นถึงมีเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมคนที่หมดอำนาจไปแล้วยังกลับมาได้ครับ
มันยังต้องให้สภานิติบัญญัติเป็นผู้แทนของคนทุกกลุ่ม ยังต้องมีตัวแทนของทุกกลุ่มอำนาจเข้ามา แต่เราเพิ่มกลุ่มอำนาจของราษฎรเกิดขึ้นใหม่เป็นประเภทที่ 1 ชนชั้นนำต่างๆ ก็ต้องมีที่นั่งของเขา เป็นการจัดสรรปันส่วนอำนาจ การตัดคนกลุ่มใหญ่ๆ จากสังคมเลยมันเป็นไปไม่ได้
ผมฟังแล้วงงนิดนึงครับ ทำไมเราต้องเอาคนที่หมดอำนาจแล้วกลับมานั่ง พูดกันแบบบ้านๆ คือทำไมจึงทำแบบนั้นครับ
มันคือการพยายามเปลี่ยนผ่านแบบประนีประนอมที่สุด
บทบาทหน้าที่ของผู้แทนที่มาจากการแต่งตั้งในเวลานั้น ทำอะไรบ้างครับ
ช่วยกลั่นกรองงานนิติบัญญัติ ถ้าเราดูมันก็เป็นแบบนี้มาตลอด จะพูดเรื่องหน้าที่กลั่นกรองตลอด ความสำคัญเราให้ที่สภาล่าง สส. แปลว่า สว. มีสิทธิมาอภิปราย มาตรวจ ยกมือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายก็ได้แต่ว่ารัฐสภาผู้แทนราษฎรยืนยันกลับไปด้วยเสียงข้างมาก
พูดง่ายๆ คือมีอำนาจวีโตอยู่บ้าง แต่อำนาจวีโตมันไม่เด็ดขาด ถ้า สส. ยืนยันก็จะเอาตามนั้น เพราะเป็นตัวแทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีความชอบธรรมมากกว่า ก็คือช่วยชะลอการตัดสินใจ
แต่พอถึง 2489-2490 ก็เปลี่ยนเป็นพฤฒสภา จุดเริ่มต้นของระบอบ 2 สภา ให้สมัครเข้ามาแล้วให้ สส. เป็นคนเลือก สว. ยังยืนยันหลักการเดิมคือความสำคัญอยู่ที่ สส. กำหนดคุณสมบัติพฤฒสภาสูงกว่า สส. ก็จริง แต่พอถึงเวลาเลือก สส. เป็นคนเลือก แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนไปอีก ให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนเลือก คือแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ยาวจนถึง 2539
หลัง 2539 เกิดอะไรขึ้นครับ มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นภายใต้กระแสปฏิรูปการเมือง คือในช่วงที่ให้นายกฯ แต่งตั้ง สว. เราก็ยังพูดว่าเป็นสภาพี่เลี้ยง ถามว่านายกฯ ตั้งใคร ก็ถูกครหาว่าเวลาตั้งไม่ได้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาจริงๆ แต่ตั้งพวกพ้องคนสนิท เป็นการตบรางวัลทางการเมือง มันก็ดูยากเหมือนกัน
ช่วงนั้นข้อครหาว่าคุณภาพ สส. ไทยแย่ มันเริ่มมาแล้ว พอเป็นสภาพี่เลี้ยงมันก็ตั้งคนที่เรียกว่าชนชั้นนำ ซึ่งชนชั้นนำในประเทศไทยก็กระจุกตัว เพราะฉะนั้นมันก็ครึ่งครึ่งข้อครหาว่าเป็นการตบรางวัลทางการเมืองจริงไหม จริง แต่มันก็มีข้ออ้างได้เหมือนกันว่ามีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมี สว. เข้ามานั่งถ่วงอำนาจ สส.
ถามซื่อๆ ครับ ถ้ามองประวัติศาสตร์ย้อนหลัง ผลงานการถ่วงอำนาจของพี่เลี้ยงที่เป็นรูปธรรม เวิร์กจริงๆ มีอะไรบ้างครับ
ผมก็คิดไม่ออก ต้องบอกอย่างนี้ก่อนว่า เวลาให้นายกฯ เป็นคนแต่งตั้ง มันมาซ้อนกับอีกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เรื่องเผด็จการทหารในประเทศเรา หลัง 2490 มันเข้าสู่สงครามเย็น มีเผด็จการทหารฝ่ายขวาเข้ามาเป็นระยะ ทีนี้ในช่วงที่เป็นเผด็จการทหารเต็มรูปก็จะเป็นสภาเดี่ยว พอการเลือกตั้งกลับมาก็เลือกตั้งสภาล่าง
สภาปฏิวัติมันก็แปลงรูปเป็น สว. สภาสูงนี่แหละ ก็คือมานั่งคุม โดยเฉพาะตั้งแต่ 2521-2539 ประมาณช่วง 3 นายกฯ ก็คือ คุณเกรียงศักดิ์ คุณเปรม คุณชาติชาย สว. มันถูกพาวเวอร์อัปให้มีอำนาจเท่า สส. มาร่วมโหวตนายกฯ ได้
สภาวะตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นครับ ทำไมเขาถึงมีอำนาจเท่ากับ สส.
เผด็จการทหารมันไปต่อไปไม่ได้ ก็แปลงรูปมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ส่วนหนึ่งของการครึ่งใบก็คือ มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญบอกว่า สว. มีอำนาจเท่า สส. นายกฯ เป็นคนเลือก สว. กลายเป็นว่าในช่วงหนึ่งนายกฯไม่ต้องแคร์ สส. เท่าไร เพราะมี สว. เป็นคนค้ำ
ในช่วงหนึ่งหรือในช่วงนี้ด้วยครับ ก็คือมันหายไปช่วงหนึ่ง ช่วงที่หายไปมันเกิดอะไรขึ้นครับ สังคมไทยเป็นอย่างไร
เราพยายามจะปฎิรูปการเมืองช่วง 2540 เราก็ย้อนกลับไปดูการปกครองในช่วงที่ผ่านมา เราก็รู้สึกว่ายังอยากคง สว. แต่ต้องทำให้มีความเกี่ยวโยงกับประชาชนมากขึ้น ประชาธิปไตยมากขึ้น
ตอนนั้นให้เหตุผลว่าอะไรครับที่ยังคง สว. ไว้
ก็ช่วยกลั่นกรองกับอีกอย่างคือมีหน้าที่ใหม่เข้ามา คือหน้าที่ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนหน้าที่เราพูดว่าเป็นสภาพี่เลี้ยงก็คือมาช่วยกลั่นกรองนิติบัญญัติ ยกมือไว้วางใจนายก แต่หลัง 2540 จะมีหน้าที่ใหม่เข้ามาซึ่งมันจะสำคัญมากขึ้น อย่างที่ยกมือกลั่นกรองกฎหมายเป็นหน้าที่ที่บางเบามาก เพราะ สส. ยืนยันกลับได้ตลอด แต่อำนาจอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่หลักคือให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ที่บอกว่าไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร ไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมือง แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยทางใดทางหนึ่ง คือไม่เอานายกฯ ครม. สส. ก็ต้องไปลงที่ สว. เพราะ สว. มาจากการเลือกโดยตรงของประชาชน
เขาบอกว่าให้เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง เป็นกลางทางการเมือง เลยให้ สว. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น กกต. ปปช. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด พวกนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของ สว. เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งในการสรรหา
อันนี้คือในทางกฎหมาย แล้วในทางการเมืองเกิดอะไรขึ้นครับ
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ช่วงหนึ่งก็ดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งช่วงปี 2547-2548 เป็นต้นมาจะเริ่มมีข้อครหาแล้วว่า สว. ที่บอกว่าเป็นกลางไม่ฝักใฝ่การเมืองเนี่ย จริงๆ แอบสังกัดพรรคนะ มีการรับเงินเดือนจากพรรคการเมือง อยู่ในบัญชีจ่ายเงินเดือนของพรรคบางพรรค พอไปเลือกองค์กรอิสระก็เลยเลือกผู้สมัครที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน จึงไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จะเห็นว่าช่วงนั้น ปปช. กกต. ติดคุกเพราะไปโดนเรื่องจัดการเลือกตั้งเข้าข้างพรรคการเมือง หรือว่าปปช. ไปขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง
ตั้งแต่ประมาณปี 2548-2550 คนก็มองว่า สว. นั่นแหละที่เป็นต้นทางของปัญหา คือไปสังกัดพรรคแบบลับๆ ทำให้องค์กรอิสระเอียงไปทั้งหมด คือ สว. ไม่อิสระ องค์กรมันก็เลยเอียง คนก็เลยมองว่า สว. ยุครัฐธรรมนูญ 2540 มาจากไหน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มันก็เลยมาถึงว่า ถ้างั้นเราต้องไม่เลือกละ กลับไปแต่งตั้งไหม เป็นโจทย์ใหญ่เลยตอนนั้น ถ้าคุณจะลงเลือกตั้ง คุณทำงานหาเสียงเองมันยากนะ สุดท้ายคนที่จะชนะคือคนที่มีความช่วยเหลือจากเครือข่ายหัวคะแนนและพรรคการเมืองที่มีเครือข่ายพวกนี้อยู่แล้ว อันนี้เป็นเพราะ สว. เรายังตกอยู่ในความคิดว่าเป็นพี่เลี้ยงที่ต้องเป็นกลางทางการเมือง ต้องไม่สังกัดพรรค ในบางประเทศ สว. ก็เป็นอย่างนั้น แต่ในบางประเทศ สังกัดพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องปกติ
แล้วเขาจัดการกันยังไงครับ
ผมคิดว่ามาจากวิธีคิดว่ามันหนีการเป็นพรรคไม่ได้ พอหนีไม่ได้ก็ต้องเอาขึ้นมาข้างบน ทีนี้คุณจะทำยังไง ถ้าออกแบบไม่ดี สว. กับ สส. จะหน้าตาเหมือนกันคือเป็นสภา 1 และ 2 ที่หน้าเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นมันก็จะไม่สามารถกลั่นกรองหรือตรวจสอบการใช้อำนาจได้ คุณก็ต้องไปลองออกแบบดู เช่น จัดการเลือกตั้งให้เหลื่อมกัน พอเป็นแบบนี้ในช่วงหนึ่งพรรคนี้อาจจะได้รับความนิยม อีก 2 ปีให้หลัง จัดการเลือกตั้งสภาสูง มันก็จะเกิดการคานอำนาจ หรือคุณเลือกคนละแบบ หรือคุณเลือกคนละแบบ ที่ยกมือ ใครได้เสียงข้างมากก็ชนะไป วิธีนี้จะมีเสียงตกน้ำเยอะ สมมติ ในห้องมี 100 คน ยกมือ 60 คนชนะ อีก 40 คนที่แพ้เสียงตกน้ำหมด ทีนี้สมมติคุณออกแบบสภาล่างเป็น first past the post คือเสียงข้างมากธรรมดา ใครชนะได้ไป คุณออกแบบสภาที่ 2 ให้มาจากสัดส่วน พอมันออกมา สภาแรกบางพรรคอาจจะกุมอำนาจ สภาที่ 2 มันอาจจะหลากหลาย คานอำนาจกันได้ เพราะฉะนั้นต่อให้สังกัดพรรค มันก็มีวิธีการออกแบบนะ
กลับมาปี 2550 ตอนนั้นเขาแต่งตั้งกันยังไงครับ
รัฐธรรมนูญปี 2550 จะปวดหัวขึ้นอีก คนที่ยึดอำนาจรัฐประหาร 2549 ไปเอานักนิติศาสตร์รัฐศาสตร์มาประชุมกันร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เอาเลือกตั้งแล้ว แต่การเลือกตั้ง สว. ช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นมรดกหนึ่งที่คนประทับใจมากที่สุด ได้มีส่วนร่วมกับการเลือกสภาที่ 2 รัฐธรรมนูญ 2550 เดี๋ยวจะต้องไปผ่านประชามติ มันก็ไม่สามารถปฏิเสธการเลือกตั้งได้ เลยออกมาในระบบที่ออกจะแปลกๆ หน่อย 77 คนมาจากการเลือกจังหวัดละคน ที่เหลือมาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช้นายกฯ แล้ว เขาก็กังวลเรื่องข้อครหาว่ามันเป็นการตบรางวัลโดยนายกรัฐมนตรีใช่ไหม เขาเลยตั้งกรรมการมาชุดหนึ่งเป็นการสรรหา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระมานั่งด้วยกันแล้วก็สรรหา จะเห็นว่าครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง อีกครึ่งมาจากการสรรหา ไม่เรียกแต่งตั้งแล้ว
แต่เขาก็แต่งตั้งทีมสรรหามาอีกที
เป็นทางอ้อม ทีนี้คนมันก็คิดไม่เหมือนกัน คนที่ชอบการเลือกตั้งก็บอกการเลือกตั้งเนี่ยประชาธิปไตยที่สุด เพราะเราเลือกคนเข้าไปโดยตรง คนที่ไม่ชอบการเลือกตั้งก็บอกว่า แต่การเลือกตั้งเนี่ย คุณถูกซื้อนะ ไม่ใช่เสียงบริสุทธิ์ สรรหาดีกว่าเพราะการสรรหามันรอบคอบ เป็นกลาง คนที่ไม่ชอบการสรรหา อยากได้การเลือกตั้งก็บอก สรรหาก็วิ่งเต้น เหมือนเราอยู่ระหว่างทางเลือก 2 ทางซึ่งมันก็ลำบากทั้งคู่ การไปเลือกตั้ง ต้องไปเสี่ยงกับเครือข่ายหัวคะแนนหรืออิทธิพลของพรรคการเมือง ถ้าไปแต่งตั้งหรือสรรหาก็ตาม คุณก็ต้องไปเผชิญกับการวิ่งเต้น
ตอนที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ง่อนแง่น ยุบสภารักษาการ จะเห็นว่า สว. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบาทมากในการกดดัน เพราะสภาที่ยุบคือสภาล่าง สภาสูงยังอยู่ รักษาการก็พยายามถอดถอนหรือดำเนินการเลือกนายกฯ ใหม่แทนคุณยิ่งลักษณ์เลย พอบอกว่าสภาล่างไม่เหลือแล้วมันก็เหลือสภาสูง แต่ว่าทั้งหมดนี้ยังไม่ทันทำอะไร ก็โดนรัฐประหาร 2557 ไปก่อนเพียงแต่ว่าก็จะเห็นว่าช่วงปี 2550 โดยเฉพาะ สว. พื้นที่กรุงเทพกับ สว. ที่มาจากการสรรหามีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะมันเข้าสู่ยุคการเมืองที่รังเกียจนักการเมืองเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญปี 2540 เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งเยอะมาก การเมืองเลือกตั้งแต่เข้มแข็ง พอมาเจอวิกฤตการเมืองคุณทักษิณขึ้นมาแล้วมีอำนาจอะไรต่างๆ คนส่วนหนึ่งก็อาจจะไม่ชอบคุณทักษิณ เลยพาลไม่ชอบระบบการเลือกตั้งทั้งหมด พูดประมาณว่าคนไทยยังโง่อยู่ ถูกซื้อ เพราะฉะนั้นพอทำ สว. ปี 2550 มันก็เลยหวาดระแวงเสียงข้างมากว่าเป็นเสียงไม่มีคุณภาพ
อีกข้อครหาหนึ่งของ สว. 2540 ที่คนมักจะลืมคือในทางการเมือง สว. เคยเป็นพื้นที่ของชนชั้นนำมาโดยตลอด อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการระดับสูง นายพล นายธนาคาร ปัญญาชนต่างๆ ปี 2540 พอเลือกตั้งโดยตรงมันก็ทำให้คนพวกนี้หลุดออกไปเลย ได้คนอีกอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามา ใกล้เคียงกับ สส. เพียงแต่ว่าเลือกด้วยวิธีการแต่งตั้ง ทำให้มีคนวิเคราะห์ว่าคนกลุ่มนี้แหละที่เคยเป็น สว. แล้วหลุดออกไปก็คือชนชั้นกลางระดับสูง ชนชั้นนำของสังคมไทยรู้สึกว่าพื้นที่ในการแสดงออกของตัวเองน้อยลง เลยเป็นพลังร่วมในการสนับสนุนรัฐประหาร 2549 คนพวกนี้ก็จะกลับมาผ่าน สว. สรรหารในปี 2550 ยาวไปจนถึง 2557
หลังจาก 2557 เกิดอะไรขึ้นครับ การเลือกสภาสูงมีการเปลี่ยนแปลงไหมครับ
มันก็เถียงกันเยอะนะ คือยังไงก็ไม่เอาเลือกตั้งทางตรง ปัจจุบันมันก็เลยซับซ้อนหน่อย คือเป็นระบบสรรหากันเอง คือในตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 บอกว่าให้มี สว. มาจากหลากหลายอาชีพ แล้วก็มาเลือกกันเองเรื่อยๆ ใน 3 ระดับ จนเหลืออยู่แค่ 200 เพียงแต่ว่าที่มันพิเศษคือ ภายใน 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ ให้ สว. มาจากกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ตั้งกรรมการ กรรมการชุดนี้ไปเลือก สว. คือสรรหา หน้าตา สว. ออกมาก็คือคนหน้าตาคุ้นเคย เป็นทหารเก่า อย่าลืมนะ สว. ชุดที่เพิ่งหมดเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากจะมาจากสรรหาโดยกรรมการเลือกตั้งโดย คสช. แล้วยังมีที่นั่งสำรองล็อกเอาไว้เลยให้กับผู้นำเหล่าทัพ 6 ที่
เพราะฉะนั้น 2560 เหมือนมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับใช้ 5 ปีแรกเป็นอย่างนี้ ถ้าผ่าน 5 ปีแรกค่อยใช้บทปกติ ตอนนี้เรากำลังจะใช้บทปกติที่มันเขียนมาตั้งแต่ 2560 แล้วแต่ยังไม่เคยใช้จน 2567
บทบาทหน้าที่ของ สว. ตลอด 5 ปีที่ทำงานมาเป็นอย่างไรบ้างครับ
ก็ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลย สว. ก็คือสภาปฏิวัติที่แปลงมานั่งคุม ที่น่ากังวลก็คือมันก็กลับไปเหมือนเดิม คืออำนาจนิติบัญญัติมีนิดเดียว ไม่เคยเยอะ แต่งานนอกอำนาจนิติบัญญัติมันเยอะ ก็คือเลือกนายกฯ ก็ได้ เลือกผู้ดำรงตําแหน่งในองค์กรอิสระ เราก็ยังยืนยันหลักว่าให้ สว. เป็นคนให้ความเห็นชอบกับผู้ดำรงตําแหน่ง แต่ที่เปลี่ยนไปคือปี 2540 สว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง หลังปี 2550 เป็นต้นมา สว. หลุดจากการเลือกตั้งโดยตรงไปแล้ว แต่เราก็อยากให้ทำฟังก์ชันนี้อยู่ มีการเสนอผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไป มีการไม่เอาบ้างก็มี แต่ว่าการไม่เห็นชอบเนี่ย เวลาไปดูแล้วมันก็จะไม่ใช่เรื่องของการกลั่นกรองคุณสมบัติ เพียงแต่ว่า ไม่ชอบแนวคิด มีความบาดหมาง คือเราก็เห็นว่าความฝันที่เราจะได้ สว. เป็นสภาของคนที่มีวุฒิภาวะ คุณวุฒิ มันไม่เกิดขึ้นจริง มันก็เป็นพื้นที่ต่อรองอีกแบบแหละ แต่รู้สึกมันน่าเกลียด เพราะคนที่มาต่อรองมันไม่เกี่ยวกับประเทศชาติหรือเสียงประชาชนส่วนใหญ่เลย มันคือการต่อรองเพื่อพวกพ้อง ผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ สว. ไทยมันดูน่าเกลียด
อย่างการเลือก สว. ครั้งใหม่นี้ อาจารย์คิดเห็นยังไงครับ
หนึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ อย่างน้อยที่สุดอันที่คนไม่เคยคิดว่าก่อน ฝ่ายประชาธิปไตยก็มีสิทธิสู้ มันก็คงได้บ้างไม่ได้บ้างแหละ แต่ก็เป็นโอกาสหนึ่ง อีกประเด็นที่ผมอยากให้ไปดูตัวเลข ผมคิดว่ามันเป็นระบบที่แพง ต้องคัดตั้ง 3 รอบ
กลับมาที่เรื่องความชอบธรรม ความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าคุณมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ถามว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อไปก็ตอบว่าต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่พอมาจากการเลือกซับซ้อนอย่างนี้ คำถามว่าคุณจะรับผิดชอบกับใคร มันก็พูดยากเพราะประชาชนไม่มีสิทธิได้โหวตเลย เป็นการสมัครเข้าไปโหวตกัน พอถึงจุดหนึ่งที่ไม่เหลือใครก็เหลืออยู่ 200 คน จะรับผิดชอบต่อใครก็พูดได้ยาก เพราะฉะนั้นสมมติมีการขัดแย้งกันถึงขึ้นเกิด deadlock ทางการเมือง สมมติไม่ยอมแต่งตั้งประธานศาลปกครอง ก็ยกมือไม่ให้กัน มันบล็อกกันอย่างนี้ มันก็จะมีคำถามว่าคุณต้องฟังเสียงใคร รับผิดชอบกับใครก็ไม่มี เพราะคุณไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง
ขอถามซ้ำอีกรอบครับ ถึงอาจารย์จะตอบไปแล้วเมื่อตอนต้นที่คุยกัน จริงๆ สว. มีไว้ทำไมครับ
อันนี้ก็แล้วแต่ บางประเทศเป็นมูลเหตุประวัติศาสตร์เขาก็เก็บไว้ เพียงแต่มีอำนาจแต่น้อย มาประชุมก็แค่นั่งให้ครบแต่ไม่ได้เข้าไปขัดขวางกระบวนการการเมือง เพราะเขารู้ว่าเขาไม่มีความชอบธรรม บางที่เป็นที่ต่อรองอำนาจหลายๆ แบบ รัฐใหญ่รัฐเล็ก กลุ่มชาติพันธุ์ เพราะ สส. คือเสียงข้างมาก คือ สว. มีลักษณะนำเสนอเสียงข้างน้อย เพราะถ้าใช้เสียงข้างมากในสภาล่าง เสียงข้างน้อยมันจะหาหาย เลยต้องเอาขึ้นมาไว้ข้างบน อันนี้ก็เป็นการต่อรองอำนาจแบบหนึ่ง
มันก็วนอยู่แค่ไม่กี่ฟังก์ชันนี้แหละ แต่ของเราก็จะไปเพิ่มอีกอันหนึ่งคือ การมีส่วนในการสรรหาองค์กรอิสระ เพื่อช่วยให้การเมืองโปร่งใส ตรวจสอบการใช้อำนาจ เพราะฉะนั้นก็วนอยู่ประมาณ 4 ข้อนี่แหละ เหตุประวัติศาสตร์ ต่อรองอำนาจ พี่เลี้ยง แล้วก็ช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจ
ถามแบบซื่อ ๆ เราไม่มี สว. ได้ไหม
ได้
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
กระบวนการนิติบัญญัติมันจะเร็วขึ้น อาจจะมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าเร็วมากมันก็อาจจะมีความผิดพลาดได้ ถึงให้มี สว. แต่เราก็ต้องมาถามว่า สว. ไทยเคยมีผลงานกลั่นกรองนิติบัญญัติรอบคอบจริงไหม เราก็ยังไม่เคยเห็นอะไรที่เอามาคุยกันในเชิงนี้ กระบวนการนิติบัญญัติก็จะเร็วขึ้น ความผิดพลาดทั้งหมดในกระบวนการนิติบัญญัติ สภาล่างก็ต้องเป็นคนรับไว้ เพราะเหลือสภาเดียวแล้ว มันไม่มีใครให้โยนความรับผิดชอบ หน้าที่ต่าง ๆ ของ สว. สภาล่างจะต้องเป็นคนรับไว้ สมมติเลือกผู้ดำรงตําแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย สภาล่างก็ต้องเป็นคนรับ
มันก็จะมีคำถามว่าแล้วเขาไม่เลือกคนของเขาเองหมดหรอ อาจจะต้องคิดกลับว่าถ้าเกิดคุณต้องเป็นคนรับผิดชอบในการเลือกจริงๆ คุณอาจจะต้องเลือกให้ดีที่ไม่ค้านสายตาประชาชน จะเลือกคนของพรรคคุณจ๋าเลยก็ไม่ได้ มันไม่เหมือน สว. คือคำว่า สว. เป็นกลางทางการเมือง เราพูดถึงการเมืองแบบไม่ฝักใฝ่พรรค เราก็จะไปดูว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหม
แต่จริงๆ สว. ก็มีค่ายการเมือง ตอนนี้การเมืองไทยใหญ่ๆ มีค่ายเอาประชาธิปไตยกับค่ายเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย คือค่ายที่ไม่ไว้วางใจเสียงข้างมากถูกไหม สว. คือค่ายหลังนี่แหละ เขายืนยันว่ามันมีหลักการบางอย่างที่สูงกว่าเสียงข้างมาก เรื่องชาติ เรื่องความมั่นคงของชาติ เรื่องคนดี เรื่องพวกนี้มันก็เป็นการเมืองหมด
ทีนี้เวลาเราบอก สว. ต้องเป็นกลางทางการเมือง เรารู้ว่าไอ้คำว่าเป็นกลาง จริงๆ สว. อยู่ค่ายนี้ แล้ว สว. ก็ไปเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหมด แล้วเวลาเราบอกองค์กรอิสระเหล่านี้มันขัดขวางประชาธิปไตย สว. ไม่ต้องรับผิดชอบ สว. บอกว่านี่เลือกมาแบบเป็นกลางแล้ว ความผิดพลาดทั้งหมดถูกซ่อนอยู่ภายใต้ข้ออ้างว่า เป็นกลางทางการเมือง ผมก็เลือกคนที่ผมว่าเป็นกลาง แต่ถ้าเกิดคุณให้สส. มาเลือกบ้างเนี่ย สส. มันต้องรับผิดชอบ ก็จะเลือกได้ดีกว่า รับผิดชอบกว่า คือสส. จะดีจะชั่วก็ตาม ผลก็ยังรู้สึกว่าก็ยังเป็นคนธรรมดาซึ่งเราก็ด่าได้ เขาก็ต้องมารับผิดชอบชี้แจง สว. คือผู้ทรงคุณวุฒิ คือเขาชี้หน้าด่าเรา สั่งสอนเรา
เราก็จะเห็นว่า สว. ทำหน้าที่ขู่รัฐบาลตลอด เดี๋ยวก็ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมาบอกว่าเป็นกลางทางการเมือง มันไม่ใช่ จริงๆ คุณเป็นปฏิปักษ์แล้ว คุณมี agenda ทางการเมืองอยู่ เพราะฉะนั้นเอาอคติทางการเมืองขึ้นมาอย่างเปิดเผยว่าคุณอยู่พรรคไหน รับผิดชอบไป ตอนนี้ทุกคนไม่ได้สังกัดพรรคแล้วบอกเป็นกลาง เลยรอดหมด
อาจารย์คาดหวังจะเห็นอะไรจาก สว. ชุดใหม่
สว.เองในเชิงหน้าที่นโยบายมันจำกัด มันไม่ใช่ สส. ที่จะแอ็กทิฟเรื่องนโยบายต่างๆ ได้ คุณอาจจะยื่นคำร้องนู่นนี่นั่นได้แต่ไม่เท่า สส. ถ้ามีโอกาสเรื่องผู้ดำรงตําแหน่งในองค์กรอิสระให้มันดี กลั่นกรองอะไรให้มันดีก็ดีครับถ้าเกิดทำได้
แต่ตอนนี้ที่เป็นประเด็นสูงสุดในสังคมไทยคือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันต้องใช้ สว. 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย ทีนี้เราก็คาดหวังว่า สว. ฝ่ายประชาธิปไตยจะช่วยยกมือให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะแก้แก้ไขอะไรบ้างนี่อีกเรื่อง
อีกเรื่องหนึ่งที่คนพูดกันคือ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปหรือการยุบ สว. ไปเลย ถ้ามีแล้วไม่ดีก็ไม่ต้องมี จะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องนี้พูดกันมาตลอด มันก็ต้องคิดเหมือนกันว่าวันหนึ่งคุณเข้าไปเป็น สว. นอกจากงานต่างๆ ที่คุณไปช่วยกัน สมมติมันมีเรื่องวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุบ สว. ขึ้นมา คุณพร้อมไหมที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง
มันเป็นไปได้ไหมครับ
มันขึ้นอยู่กับว่าการสรรหารอบนี้เราได้ใครเข้าไป เราก็หวังว่าไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง คิดเพื่อชาติแล้วว่าระบบที่ดีที่สุดคืออะไรก็ยกมือไปตามนั้น ไปปิดสวิตช์ตัวเอง ถ้ามันทำได้ เป็นการปิดสวิตช์องค์กรที่อยู่เหนือครอบ สส. อีกที มันก็เริ่มมีคนพูดแล้วคือ เป็นพี่เลี้ยงมา 80 ปีแล้ว ควรปล่อยให้สภาล่างเดินต่อด้วยตัวเอง สว. ตอนนี้หน้าที่มีนิดเดียว กลั่นกรองกฎหมายก็กลั่นกรองนิดเดียว หน้าที่หลักคือไปตั้งองค์กรอิสระซึ่งมันไปขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยเสียงข้างมาก
พูดง่ายๆ คนเริ่มเห็นว่าประโยชน์ที่ได้จาก สว. มันไม่คุ้มกับราคา ต้นทุน เงินเดือนต่างๆ ที่ต้องจ่าย
แต่ว่าในทางความใฝ่ฝันมันก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงอาจารย์ลองคาดคะเนได้ไหมครับว่าสุดท้ายแล้วเราจะต้องอยู่กับพี่เลี้ยงไปอีกนานไหม
ในความเป็นจริง ก็คงมีหน้าตาที่ดีขึ้นกว่า สว. ชุดนี้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งตามมรดกตอนนั้นมันแย่มาก ก็คงดีขึ้นแต่คงไม่ได้ดั่งใจเราทั้งหมด เพราะก็ต้องมีคนกลุ่มอื่นที่เข้ามา เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติเพราะมันมีตั้ง 20 กลุ่มจากแต่ละพื้นที่ สุดท้ายมันก็ต้องมีคนที่เห็นไม่ตรงกับเราหลุดเข้ามาด้วย
เอาแบบสมจริงสมจังที่สุดคือ แค่ สว. ชุดนี้ไม่ขัดขวางสภาล่างในการดำเนินนโยบายหลักๆ หรืออย่าไปอภิปรายอะไรที่มันน่าเกลียด ค้านสายตาชาวบ้านมาก ผมว่าก็โอเคแล้วนะ ช่วยประคับประครองรัฐบาลจริงๆ ตามหน้าที่ ไม่ใช่ขัดแข้งขัดขา ไม่ใช่เอะอะก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญท่าเดียว คุณก็ทำรัฐบาลทำงานเก้ๆ กังๆ เหมือนกันมันก็ไม่ถูกนะ
อย่างน้อยที่สุดคือให้เขาทำงาน อย่างมากที่สุดคือหยุดเป็นพี่เลี้ยง อาจารย์คิดว่าการจะเกิดสภาเดี่ยวในอนาคตมันยากไหมครับ
ผมคิดว่าไม่ง่ายแต่ก็เป็นไปได้ คือสมัยก่อนเรายุ่งกับการคิดว่าจะต้องออกแบบ สว. ยังไงดีให้มันรับผิดชอบแต่เป็นกลาง หลังๆ ก็มีบ้างนะที่คนคิดผ่าไปเลย มันไม่มีวิธีที่ดีแล้วก็คือออกไปเลย จริงๆ ระหว่างทางมันมีตัวเลือกอื่นอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ในหลายๆ ประเทศถ้ามันติดขัดทางการเมืองมาก นายกฯ ยุบ สว. ได้นะ แต่ว่ายุบคู่ ก็คือสลายไปเลย ของเรายุบได้แค่สภาล่าง ถ้ามีความตึงเครียดทางการเมือง นายกฯยุบสภา สว. ก็ยังนั่ง เราก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญอยู่ดี
ถ้าเอาเร็วที่สุดง่ายที่สุดก็คือไม่ต้องมี ออกไป จบ