มติประชุมสภา 431 เสียง ยื้อตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ รธน. ด้านฝ่ายค้านไม่ขอสังฆกรรม

ประชุมรัฐสภายังไม่เคาะ รับ-ไม่รับร่าง รธน. ฝ่ายรัฐบาลยื้อ โยนประชุมสมัยหน้า

24 กันยายน 2563 เวลา 18.00 น. หลังจากที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดำเนินมาเป็นเวลา 2 วัน เพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งหมด 6 ญัตติ โดยเป็นญัตติที่เสนอจากฝ่ายรัฐบาล 1 ญัตติ และเสนอจากฝ่ายค้าน 5 ญัตติ ได้แก่

หนึ่ง-ญัตติแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เสนอโดย สส. ฝ่ายรัฐบาล

สอง-ญัตติแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการปลดล็อคเกณฑ์การพิจารณาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น และเพิ่มหมวดว่าด้วยตั้ง ส.ส.ร. ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เสนอโดย สส. ฝ่ายค้าน

สาม-ญัตติยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจ สว. ต่อการติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะการปฏิรูปประเทศและพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป

สี่-ญัตติยกเลิกมาตรา 279 ว่าด้วยการนิรโทษกรรมการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ห้า-ญัตติฉบับแก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา

หก-ญัตติฉบับว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้ง

สำหรับวาระแรกนี้ เป็นขั้นตอนการพิจารณารับหลักการให้ใช้วิธีขานชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในส่วนของวุฒิสมาชิกต้องมีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง จากทั้งหมด 250 เสียง

ก่อนหน้านี้เป็นที่คาดว่า ญัตติที่มาจากฝ่ายค้านอาจจะไม่ผ่านการลงมติ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก สส. ฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้ง 250 คน และอาจจะรับเฉพาะญัตติที่เสนอจากฝ่ายรัฐบาล

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนอภิปรายสรุปของฝ่ายค้าน ชี้ให้เห็นความสำคัญของกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความสำคัญของการรับญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยบางช่วงบางตอนระบุว่า

“ผมเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภาที่เคารพผ่านท่านประธานรัฐสภาว่า เราต้องตัดสินใจ เพราะขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติที่พึ่งที่หวังอยู่ที่รัฐสภาของเรา ผมไม่ได้ไปคาดคั้นหรือข่มขู่ แต่ถ้าเราไม่ตัดสินใจในการเลือกทางที่ดีที่สุด เป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ถ้าเกิดปัญหาเกิดขึ้น มันก็จะเป็นตราบาปที่เกิดในใจของพวกเรา เป็นเพราะการตัดสินใจพลาดของพวกเรานิดเดียวที่ทำให้เกิดปัญหา

“ผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 บทปรารภในรัฐธรรมนูญเขียนว่า เกิดจากการเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีหลายคนที่ต้องสูญเสียชีวิตไป ถ้าเขียนอย่างนั้นในรัฐธรรมนูญ 2564 พวกเราเองในฐานะที่มีความรับผิดชอบโดยตรง เราไม่ทำหน้าที่ตอนนั้น มันจึงเกิดเหตุการณ์ตรงนั้น ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างนั้น พวกเรามาช่วยกันเถอะครับ หาทางออกให้กับประเทศ หาทางออกให้กับลูกหลานเยาวชน”

ขณะที่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ สส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวแทนอภิปรายสรุปของฝ่ายรัฐบาล ระบุว่า

“บางคนบอกว่าประวิงเวลาหรือเปล่า หรือถ้าเรียกกันง่ายๆ ว่า อู้หรือเปล่า ในรายละเอียดทั้งหมดถ้าเราได้คุยกัน สิ่งที่ผมได้เสนอลงไปในร่างรัฐธรรมนูญ ผมก็เรียนท่านประธานตรงๆ ว่า อาจจะไม่สมบูรณ์ อาจจะไม่ครบถ้วน แต่ตลอดระยะเวลาสองวันที่ผ่าน ผมก็ได้รู้ว่าผมยังทำไม่ครบอีกหลายๆ อย่าง บางครั้งก็ยังอยากถามท่านวุฒิสมาชิกว่าอะไรบ้างที่ยังขาดในส่วนไหน ผมจึงเรียนท่านประธานว่า ถ้าเดินไปข้างหน้าวันนี้ตันครับ แต่ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการตามข้อบังคับที่ 121 วรรคสาม ผมคิดว่าเดือนพฤศจิกายน เราจะได้ผ่านร่างทั้ง 6 ร่าง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

หลังนายวิรัช รัตนเศรษฐ อภิปรายจบ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายต่อ เสนอให้รัฐสภายังไม่ลงมติญัตติแก้ รธน. และให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) 3 ฝ่าย ไปศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วเลื่อนลงมติ 1 เดือน

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง สส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดมหาสารคาม ได้เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องยืดเวลาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกแล้ว โดยชี้ว่า การเสนอให้ตั้ง กมธ. 3 ฝ่าย โดยให้วุฒิสภาไปศึกษาในรายละเอียด และให้เหตุผลว่า การโหวตรับ-ไม่รับในวันนี้ เป็นเพียงการรับ-ไม่รับในหลักการเท่านั้น ส่วนรายละเอียดสามารถตั้งอนุกรรมการถกกันต่อได้ เชื่อว่าวันนี้สมาชิกสภาทราบเนื้อหาเพียงพอที่จะพิจารณาในเบื้องต้นได้

ต่อมา 20.10 น. หลังจากพักการประชุมสภาเสร็จสิ้นแล้ว นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้มีการนับองค์ประชุม เพื่อที่จะลงมติ มาตรา 121 วรรค 3 ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ โดยสมาชิกเห็นด้วย 431 เสียง ไม่เห็นด้วย 255 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเสรีรวมไทย ไม่ประสงค์เสนอรายชื่อเป็นคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ สว. และ สส.พลังประชารัฐ เสนอ

‘ประชาชนปลดแอก’ ขีดเส้นตายไล่ สว.

บรรยากาศการประชุมร่วมของรัฐสภาในวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ดำเนินไปอย่างเร่าร้อน ท่ามกลางสถานการณ์กดดันของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา โดยเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมได้ใช้รถขยายเสียงเคลื่อนไปยังประตูทางเข้าหน้ารัฐสภา มีการนำผ้ามาผูกไว้ที่ประตูรั้วคล้ายสัญลักษณ์โบว์สีขาว พร้อมป้ายข้อความว่า ‘เป็นกำลังใจให้ สว. กลับบ้านเลี้ยงหลาน’

ขณะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้จัดกำลังพล 5 กองร้อย และเตรียมรถฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม

เวลาต่อมา กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการพ่นสีสเปรย์รูปหมุดคณะราษฎร รุ่น 2563 ลงบนถนนหน้ารัฐสภา เพื่อแสดงเจตจำนงว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน แม้หมุดคณะราษฎรที่จัดทำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะถูกรื้อถอดออกจากสนามหลวงแล้ว แต่สัญลักษณ์นี้กลับยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

จากนั้นเวลา 17.35 น. คณะประชาชนปลดแอกได้อ่านข้อเสนอ 3 ประการ ดังนี้

ข้อที่ 1 สว. จะต้องให้ความร่วมมือกับ สส. ใช้กระบวนการทางรัฐสภายกมือสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. รวมทั้งสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 269-272 เพื่อแก้ไขที่มาและปรับลดอำนาจต่างๆ ของตนเองเสีย เพราะมาตราเหล่านี้เองที่ทำให้ สว. นั้น เป็นความอัปยศและความวิปริตของประชาธิปไตยไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์

ข้อที่ 2 ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเริ่มเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้งหมด ปราศจากการแต่งตั้ง และต้องไม่มีการสอดไส้เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจของเผด็จทรราช รวมถึงรักษาไว้ซึ่งอำนาจของบุคคลผู้สนับสนุนการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ ไม่ให้มีที่ยืนอีกต่อไป เพื่อให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ข้อที่ 3 เพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย เราจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไม่ให้ล้นเกินระบอบประชาธิปไตย ผ่านการเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทุกหมวด ทุกมาตรา ไม่เว้นแม้แต่มาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเสมอหน้ากับประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ได้อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยอย่างมั่นคง สถาพร และงดงาม

หากไม่มีการดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น จะทำให้ประเทศไทยยังคงปกคลุมด้วยความมืดมิด เยาวชนและประชาชนจะไม่อาจมองเห็นแสงสว่างของประเทศ และหากผู้ที่มีอำนาจยังคงฝืนกระแสธารแห่งกาลเวลาเช่นนี้ต่อไป เราก็มิอาจรับประกันได้ว่า กระแสธารแห่งกาลเวลานี้จะไม่กลืนกินท่านในที่สุด

หากไร้ซึ่งการตอบสนองตามเส้นตายที่คณะประชาชนปลดแอกได้ตั้งไว้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายน หากยังมี สว. อยู่ในสภา หรือข้อเรียกร้องของประชาชนยังถูกเมินเฉย ภายในเดือนตุลาคมนี้ ประชาชนจะกลับมา

ภายหลังอ่านข้อเสนอเสร็จสิ้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนพร้อมกันด้วยเสียงอันดังว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

ต่อมาในช่วงย่ำค่ำ หลังปิดการประชุมร่วมของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บรรดา สว. สส. ผู้ทรงเกียรติได้ทยอยเดินทางกลับบ้าน โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแถวรอรับ พร้อมพากันเปล่งถ้อยคำ “ไอ้เ_ี้ย…ไอ้เ_ี้ย…ไอ้เ_ี้ย” โดยพร้อมเพรียง ขณะที่ผู้ทรงเกียรติอีกจำนวนหนึ่งเดินทางกลับด้วยการลงเรือเพื่อหนีหน้ากลุ่มผู้ชุมนุม

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า