ชาวออสเตรเลียทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองสิทธิพลเมืองสำหรับชาวพื้นเมือง และให้มีคณะที่ปรึกษาชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ‘เดอะ วอยซ์’ (The Voice) เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่รัฐสภาในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมือง โดยผลการโหวตออกมาเป็นเอกฉันท์ทั้ง 6 รัฐ จากจำนวนผู้ออกเสียงทั้งหมด 60 เปอร์เซ็นต์ ปฏิเสธไม่ให้มีการแก้ไข
หัวข้อคำถามของประชามติระบุว่า
“ข้อกฎหมายที่เสนอ: ปรับแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรับรองสิทธิสำหรับคนพื้นเมืองของออสเตรเลีย โดยการก่อตั้งกลุ่มวอยซ์ในนามของชาวอะบอริจินและชาวหมู่เกาะช่องแคบตอร์เรส
คุณเห็นด้วยกับการเสนอปรับแก้หรือไม่?”
(“A Proposed Law: to alter the Constitution to recognise the First Peoples of Australia by establishing an Aboriginal and Torres Strait Islander Voice.
Do you approve this proposed alteration?”)
หากการทำประชามติผ่านจะทำให้รัฐธรรมนูญของออสเตรเลียมีเนื้อหาเพิ่มขึ้นมา 3 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่
- สิทธิในฐานะพลเมืองจะถูกเรียกว่า สิทธิของชาวอะบอริจินและชาวหมู่เกาะช่องแคบตอร์เรส
- กลุ่มวอยซ์ในนามของชาวอะบอริจินและชาวหมู่เกาะช่องแคบตอร์เรสสามารถตั้งคณะที่ปรึกษาต่อรัฐสภา และต่อรัฐบาลในเครือจักรภพ ในประเด็นที่เกี่ยวกับชาวอะบอริจินและชาวหมู่เกาะช่องแคบตอร์เรส
- รัฐสภาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอำนาจในการออกกฎหมายบนหัวข้อที่เกี่ยวกับชาวอะบอริจินและชาวหมู่เกาะช่องแคบตอร์เรส โดยคำนึงถึงองค์ประกอบการทำงาน อำนาจ และระเบียบขั้นตอน
การทำประชามติครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญอายุ 122 ปีของออสเตรเลียจะมีบทบัญญัติที่กล่าวถึงสิทธิของชนพื้นเมืองอย่างเป็นทางการเสียที แม้ว่าสัดส่วนประชากรของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียจะมีเพียง 3.8 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 980,000 คนต่อประชากรทั้งหมดประมาณ 26 ล้านคนก็ตาม แต่ผลประชามติก็เผยให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหัวข้อดังกล่าว
ทางด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโธนี อัลบานีส (Anthony Albanese) จากพรรคแรงงาน (Labor Party) กล่าวยอมรับว่า “เป็นเรื่องยากเสมอในการทำประชามติโดยไม่มีแรงสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมมีเพียง 8 ครั้ง จาก 45 ครั้งเท่านั้นที่การทำประชามติ (ในออสเตรเลีย) ผ่าน” และยังกล่าวอีกว่า ยินดีรับผิดชอบต่อการตัดสินใจครั้งนี้ ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคเสรีนิยม ปีเตอร์ ดัตตัน (Peter Dutton) ออกมาให้ความเห็นว่า “ผลประชามตินี้เป็นเรื่องที่ดีแล้วสำหรับประเทศออสเตรเลีย”
ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการทำประชามติ มีความเห็นแย้งกันทั้งจากฝ่ายสนับสนุนวอยซ์และฝ่ายที่ปฏิเสธวอยซ์ในหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ ฝ่ายปฏิเสธมองว่า การให้สิทธิชนพื้นเมืองมีมาตั้งแต่การทำประชามติในปี 1967 แล้ว ส่วนฝ่ายสนับสนุนเห็นว่า ในครั้งนั้นรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจแก่รัฐสภาในการออกกฎหมายพิเศษแก่ชนพื้นเมืองจริง แต่ผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการให้สิทธิแก่พวกเขา ในทางปฏิบัติจึงไม่ส่งเสริมสิทธิในชนพื้นเมืองได้จริง
นอกจากนี้ ฝ่ายที่ปฏิเสธวอยซ์มองว่า ในปัจจุบันมีตัวแทนชนพื้นเมืองมีที่นั่งในสภาอยู่แล้ว พวกเขาสามารถใช้กลไกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่อีกฝ่ายมองว่า นั่นเป็นคนละบทบาทกัน เพราะผู้แทนราษฎรที่เป็นชนพื้นเมือง ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของทุกคน ไม่ใช่แค่กับชนพื้นเมือง และพวกเขาก็ไม่ได้การันตีเก้าอี้ในสภา เพราะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ฉะนั้นกลุ่มวอยซ์จึงการันตีสิทธิและเสียงในสภาของชนพื้นเมืองได้ในฐานะที่ปรึกษารัฐบาล
ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ปฏิเสธวอยซ์ยังมีความกังวลว่า การเพิ่มสิทธิให้ชนพื้นเมืองจะทำให้เกิดอภิสิทธิชนขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ความเท่าเทียมในฐานะพลเมืองออสเตรเลีย ส่วนฝ่ายสนับสนุนวอยซ์มองว่า การเพิ่มสิทธิให้ชนพื้นเมืองเป็นเรื่องที่มีมานานแล้วในกลุ่มประเทศที่มีประวัติศาสตร์การรุกรานอาณานิคม เช่น นิวซีแลนด์ แคนาดา และนอร์เวย์ ก็ทำมาร่วม 30 ปีแล้ว แต่ในออสเตรเลียยังไม่เกิดขึ้น
ถึงอย่างไรจากการสำรวจความเห็นก่อนหน้าที่จะมีการทำประชามติพบว่า คนส่วนมากก็ยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือชนพื้นเมืองอย่างแท้จริง และอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองแอบแฝงอยู่ ทว่าท่ามกลางความสับสนในข้อมูลก็มีกลุ่มคนที่ออกแคมเปญ ‘ไม่ชัวร์เหรอ โหวตโนสิ’ (Don’t know? Vote No)
ทั้งนี้ ชาวพื้นเมืองทั้งอะบอริจินและชาวหมู่เกาะช่องแคบตอร์เรส เป็นที่เชื่อว่าพวกเขามีบรรพบุรุษอาศัยอยู่ที่นี่มาไม่ต่ำกว่า 60,000 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1788 กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) ชาวบริทิชคนแรกได้มาเยือน ทำให้วันดังกล่าวของทุกปีจะถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ของออสเตรเลีย และผู้คนจำนวนหนึ่งมักออกมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชนพื้นเมือง
อ้างอิง:
- The Voice: Australians vote No in historic referendum
- Referendum question and constitutional amendment
- Australia’s Albanese takes share of blame for Indigenous referendum failure
- A majority of First Nations people support the voice. Why don’t non-Indigenous Australians believe this?
- With 11 Indigenous politicians in parliament, why does Australia need the Voice?
- Linda Burney says Australia is the only first world nation with a colonial history that doesn’t recognise its first people in its constitution. Is she correct?
- Timeline: Indigenous Voice, treaty and truth in Australia