ไม่ผิดแกรมมาร์! พจนานุกรมอเมริกันบัญญัติสรรพนามเอกพจน์ ‘they’ เรียกกลุ่ม non-binary
เหล่าผู้จริงจังกับการใช้ภาษาได้เวลาอัพเดตข้อมูลใหม่อีกครั้ง เมื่อพจนานุกรมอเมริกันที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Merriam-Webster เพิ่มศัพท์คำว่า ‘they’ (พวกเขา) ที่เดิมอยู่ในรูปพหูพจน์ ให้สามารถใช้เป็นรูปเอกพจน์เพื่อแทนตัวตนของผู้ไม่ประสงค์ระบุเพศของตนว่าเป็นหญิงหรือชาย (non-binary) ได้โดยไม่ถือว่าผิดไวยากรณ์
ในหมู่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษแม้จะพบการใช้คำว่า they ในรูปเอกพจน์เรียกแทนคนหนึ่งคนในบทสนทนาสบายๆ หรือใช้ในการเขียนอย่างไม่เป็นทางการจนดูเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ผ่านมาผู้คนมักเคยชินกับการเรียกผู้หญิงว่า ‘she’ เรียกผู้ชายว่า ‘he’ ซึ่งสะท้อนความคิดเรื่องเพศแบบทวิลักษณ์ (binary) หรือการมองว่าโลกนี้มีสองเพศ คือมีชายก็ต้องมีหญิงเป็นขั้วตรงข้ามคู่กันเสมอ และจะใช้ ‘they’ ก็ต่อเมื่อเรียกกลุ่มคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป
แต่ในปัจจุบันความคิดแบบ non-binary หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่นิยามตนเองว่าไม่ใช่ทั้งชาย-หญิง แต่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วเริ่มได้รับความนิยมและถูกพูดถึงมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการคิดหาคำสรรพนามที่ไม่ระบุบ่งชี้เพศตรงๆ ในภาษาที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดของการแบ่งแยกว่าคนนี้คือ ‘she’ คนนั้นเป็น ‘he’
ที่ผ่านมามีความลำบากในการหาคำที่เหมาะสมในการเรียกแทนคนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย ในศตวรรษที่ 17 กฎหมายอังกฤษใช้คำว่า ‘it’ (มัน) แทนคนที่ไม่ใช่ทั้งหญิงและชาย ซึ่งฟังดูไม่ติดขัดอะไรในทางไวยากรณ์ แต่ก็เกิดปัญหาอีกว่าอาจเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ เนื่องจากปกติเป็นคำที่ใช้เรียกสัตว์และสิ่งของ ส่วนคำว่า they แม้จะฟังดูเป็นเรื่องใหม่ แต่มีหลักฐานว่ามีการใช้คำนี้เพื่อเรียกกลุ่ม non-binary ตั้งแต่ปี 1950 และล่าสุดนักร้องดังสัญชาติอังกฤษอย่าง แซม สมิธ (Sam Smith) ก็เพิ่งออกมาประกาศผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวว่าเขาอยากถูกเรียกว่า they (หรือ them ในรูปกรรมของประโยค) มากกว่า he/him
สุดท้าย Merriam-Webster ก็ตัดสินใจเพิ่มอีกหนึ่งความหมายของคำว่า they เข้าไปว่า อาจใช้ในรูปเอกพจน์เพื่อไม่ระบุเพศของผู้ที่ถูกกล่าวถึงได้ และบัญญัติคำใหม่อื่นๆ เช่น inclusive (เพิ่มความหมายเพื่อใช้ในการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่เคยถูกกีดกันเพราะเพศ เชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ หรือความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมอีกครั้ง), colorism (การเหยียดผิว), inspo (ย่อมาจาก inspiration หรือแรงบันดาลใจ), aphantasia (ความบกพร่องในทักษะการจินตนาการ), coulrophobia (โรคกลัวตัวตลก) รวมไปถึงคำที่ดูขำขันอย่าง dad joke (มุกแป้กที่บรรดาคุณพ่อชอบเล่น) หรือคำที่สายเกมรู้กันอย่าง escape room (เกมหนีจากห้องปิดตาย)
คำว่า they กลายเป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะในบรรดาคนอเมริกัน จากการสำรวจเมื่อปี 2018 พบว่าคนอเมริกันราว 1 ใน 5 มีคนรู้จักที่ต้องการถูกเรียกด้วยสรรพนามไม่ระบุเพศ ถึงขนาดที่คอลัมนิสต์คนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ New York Times เคยประกาศว่า เราทุกคนควรหนีจาก ‘กรงขังเรื่องความคาดหวังทางเพศสภาพ’ และหันมาเรียกกันด้วยคำว่า they แต่การเปลี่ยนสรรพนามจะช่วยแก้ปัญหาจริงๆ หรือ สำนักข่าว The Guardian ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าในอนาคตคำว่า they อาจเป็นการจำกัดกรอบการเรียกปัจเจกบุคคลและกลายเป็นปัญหาเสียเอง การปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพและอ่อนโยนต่างหากคือสิ่งสำคัญกว่าการเลือกใช้สรรพนามไม่ระบุเพศ
ลัล ซิมแมน (Lal Zimman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้ศึกษาการใช้ภาษาของกลุ่ม LGBT เตือนว่า การใช้คำว่า they สวนทางกับความคิดที่ว่า แต่ละคนควรมีอำนาจกำหนดได้ว่าต้องการถูกเรียกด้วยคำว่าอะไร เหมือนเรื่องชื่อของคน ที่บางครั้งเราอาจพบเจอชื่อที่ออกเสียงลำบาก จำยาก แต่การศึกษาชื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งทัศนคติของการเลือกใช้คำสรรพนามก็ควรไม่ต่างกัน