เรื่อง : อภิรดา มีเดช ภาพ : อนุช ยนตมุติ
บทสัมภาษณ์ ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์มืออาชีพ ใน WAY 77 ยูโทเปียแห่งนักวิจารณ์ เคยว่าไว้
“อุดมคติสำหรับผมก็คือ สังคมที่ไม่มีนักวิจารณ์อาชีพเลย ทุกคนเป็นนักวิจารณ์กันหมด”
แต่ช้าก่อน กว่าประเทศไทยจะไปไกลถึงขั้นนั้น อาจต้องร้องเพลงรอกันไปพลางๆ
ระหว่างรอให้สังคมแห่งนักวิจารณ์เซ็ตตัวได้ที่ WAY ซึ่งถูกมองว่าเป็นนิตยสารเนื้อหาหนักหน่วงแต่สามารถย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ก็มีพื้นที่ให้กับความบันเทิงแขนงนี้อยู่เนืองๆ กับคอลัมน์ ‘เรื่องเล็กในหนังใหญ่’ ที่มีคอนเซ็ปต์ว่าด้วย รีวิวก็ไม่ใช่ วิจารณ์ก็ไม่เชิง แต่เป็นการหยิบเอาแง่มุมบางอย่างในหนังมาขยายหรือต่อยอดในมุมของคนเขียน แล้วแต่ว่าจะสามารถนำไปสู่อะไรได้บ้าง
ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ไม่จำกัดนี้เอง ถือเป็นอีกรสชาติของงานเขียนเกี่ยวกับหนังที่คุณไม่อาจหาได้จากหน้านิตยสารหนังมืออาชีพ
เมื่อถึงคราวต้องคัดเลือกคอลัมน์สายบันเทิงเช่นนี้ คนแรกที่เรานึกถึงก่อนใครคือ บรรณาธิการสาวแห่งนิตยสาร Bioscope ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
สำหรับคอหนัง น่าจะรู้จัก Bioscope กันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึง Cinemag แล้วคุณรู้จักด้วย ก็แสดงว่าอายุคุณต้องได้ เพราะ Cinemag มีลมหายใจอยู่บนแผงหนังสือตั้งแต่ก่อนปี 2540
นอกจากความรักหนังและชอบงานขีดเขียน คงมีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้บัณฑิตจากสถาปัตย์ จุฬาฯคนนี้ตัดสินใจที่จะทำมันเป็นงานจริงๆ
เมื่อปีที่ผ่านมา เธอขยับขยายเส้นทางของหนังสารคดีให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น ด้วยการเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีและผู้ผลักดันโครงการ ‘Documentary Club’ โครงการระดมทุนเพื่อจัดฉายสารคดีหลากแนวที่ดูสนุกไม่แพ้หนังทั่วไป และกำลังจะไปไกลกว่านั้น กับโครงการ ‘Doc on Demand’ ที่จะพาคนรักหนังก้าวข้ามข้อจำกัดด้านพื้นที่และเวลา ไปหาสารคดีคัดสรรสุดคมชัดพร้อมบทบรรยายไทยที่พวกเขาสามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา
—————————
ในวันที่หญิงสาวร่างเล็กเดินลงจากรถมาพร้อมลูกๆ และชายหนุ่มอีกคนที่ร่วมปลุกปั้นนิตยสารสำหรับคนดูหนังด้วยกันกับเธอ WAY รู้สึกเสียใจที่มีส่วนในการพรากช่วงเวลาพักผ่อนของครอบครัวในเย็นวันศุกร์ต้นเดือนกันยายน เพราะเป็นวันนัดถ่ายภาพหมู่บรรณาธิการเฉพาะกิจฉบับนี้
สำหรับคุณ การพบกับบรรณาธิการสาวแว่น ใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา หน้าตาเดาอายุไม่ถูก ล้อมหน้าล้อมหลังด้วยลูกสาวและลูกชาย คงไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอะไร แต่สำหรับฉัน การพบกันวันนั้นทำเอาฉันทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้เจอตัวจริงของ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ คนทำนิตยสารหนังที่เคยอุดหนุนไม่ขาดมาตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย
นอกจากบทบรรณาธิการที่มักจะเปิดอ่านก่อนคอลัมน์อื่นๆ คอลัมน์ที่ประทับใจใน Bioscope คงหนีไม่พ้น ‘หนังไม่ได้มีทางเดินเดียว’ เป็นซีรีส์บทความอ่านสนุกที่ให้ข้อมูลและบอกเล่าประสบการณ์การนำพาหนังนอกกระแสของคนทำหนังทั่วโลกไปสู่คนดูในวงกว้างที่สุด
เพราะเชื่อว่า เส้นทางนำหนังไปสู่คนดูแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์และไม่เข้ายุคเข้าสมัยอีกต่อไป การกรุยทางใหม่ๆ สำหรับหนังที่ไม่ได้มีทุนหนาๆ คอยรับไว้ไม่ให้ร่วงหล่น อาจจะต้องอาศัยความพยายามและเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกนิด เพื่อให้เงินในกระเป๋าจำนวนเท่าเดิม สามารถสร้างสรรค์อะไรๆ ได้มากกว่าที่เคย
แม้จะติดข้อจำกัดมากมาย แต่หนังนอกกระแสที่มักถูกแปะป้ายว่า เป็นหนังไม่สนุก หรือดูยาก ก็พยายามฝ่าข้ามกระแสสตูดิโอที่เชี่ยวกราก เพื่อมาให้ถึงความรับรู้ของคุณๆ สำหรับฉันแล้ว แม้ไม่ได้เป็นคนขวนขวายขนาดที่จะต้องไปดูหนังนอกกระแสหรือหนังทางเลือกขนาดนั้น แต่ถ้าเมื่อก่อนไม่ได้ Bioscope มาเติมสมองทุกๆ เดือน คงรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปแน่ๆ
ความน่าสนใจยังไม่หมดแค่นั้น เพราะสกู๊ปส่วนหนึ่งที่ธิดานำเสนอ มักไม่ได้มาจากตัวหนังแบบโดดๆ แต่ผูกโยงกับบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ไปจนถึงเศรษฐกิจและสังคม เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจกรีซลุ่มๆ ดอนๆ เพราะพิษวิกฤติยูโรโซนเมื่อปี 2009 เธอก็สามารถเชื่อมโยงมันเข้ากับกราฟขาขึ้นของหนังสัญชาติกรีกที่มาแรงในวงการหนังโลกได้อย่างเหมาะเจาะ
เพราะเชื่อว่า การเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย เป็นพื้นฐานสำคัญในการบ่มเพาะรสนิยมการดูหนัง และเป็นกลยุทธ์ที่จะถางทางให้หนังบ้านเกิดพอยืนหยัดอยู่ได้แม้ในกระแสฮอลลีวูดพัดถล่ม การสนับสนุนหนังไทยให้มีที่ยืน ไม่ว่าจะเป็นหนังสตูดิโอหรือหนังทางเลือก จึงเป็นอีกภารกิจที่ Bioscope ทำมาโดยตลอด
สุดท้ายแล้ว สังคมไทยจะสามารถเข้าสู่สังคมที่เปิดกว้างทางการวิจารณ์ได้หรือไม่นั้น อาจไม่ใช่ประเด็นที่เราต้องถกเถียงกันในที่นี้ (เดี๋ยว นี่คอลัมน์บันเทิงนะ!)
*******************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ90 ตุลาคม 2558)