ความพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างถอนรากถอนโคน ถูกจุดประเด็นขึ้นมาเป็นกระแสหลักอีกครั้งในยุคสมัยปัจจุบัน โดยการขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ลุกขึ้นมาเป็นแรงผลักดันหลักในการสร้างกลุ่มพลังทางสังคมร่วมกับประชาชนในวงกว้าง เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ไปไกลทะลุเพดาน การเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดอยู่แค่การปฏิรูป แต่ต้องการการปฏิวัติโดยคนรุ่นใหม่ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์การต่อสู้ครั้งสำคัญของคนหนุ่มสาวในอดีตร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ในเวลานั้นถือเป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญในประเทศไทย
รายการ ‘ปั่นประสาท’ สัมภาษณ์ ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เขียนหนังสือ หลัง 6 ตุลาฯ: ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2552) เพื่อพูดคุยถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษายุค 14 ตุลาฯ ซึ่งเต็มไปด้วยบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยเผยแพร่ผ่าน YouTube เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา
WAY เก็บประเด็นสำคัญมาฝากผู้อ่าน และขอเชิญทุกท่านร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์การต่อสู้ครั้งสำคัญของขบวนการคนหนุ่มสาวที่แม้อาจพ่ายแพ้ แต่ก็แพ้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ไปต่อ
เมื่อ 14 ตุลาฯ ยังไม่ตอบโจทย์การปฏิวัติ เส้นทางการต่อสู้จึงมุ่งสู่ป่า
14 ตุลาคม 2516 วันมหาปิติ เป็นทั้งชัยชนะของคนหนุ่มสาวและเป็นจังหวะแห่งการทบทวนครุ่นคิดครั้งสำคัญ ถึงแม้จะไล่เผด็จการออกไปได้ แต่สังคมใหม่แห่งอุดมการณ์ยังไม่เกิดขึ้นจริง จึงจำเป็นต้องแสวงหาเครื่องมือทางความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม แต่ก่อนจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง นักศึกษาต้องรู้อย่างถ่องแท้ก่อนว่าโครงสร้างที่ว่านี้เป็นอย่างไร
เมื่อมีการตั้งคำถามต่อสภาพทางสังคมที่ยังไม่เปลี่ยนไป จึงเกิดสุญญากาศทางความคิดที่พร้อมเปิดรับแนววิเคราะห์และวิธีการการต่อสู้ใหม่ๆ ธิกานต์เล่าว่า นักศึกษาในตอนนั้น “โดยรวมแล้วอยากปฏิวัติให้ได้” อันเป็นจังหวะที่อิทธิพลทางความคิดของการปฏิวัติแบบ เหมาเจ๋อตุง กำลังร้อนแรงในหมู่นักศึกษา และในขณะนั้นองค์กรที่นำเสนอความคิดเกี่ยวกับสังคมและการปฏิวัติได้อย่างเป็นระบบที่สุดก็คือ พคท. ที่อิงการอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมแบบ ‘เหมาอิสต์’
“วิธีคิดแบบเหมาอิสต์ในเวลานั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจเหมือนในตอนนี้ มันใหม่มากสำหรับนักศึกษา”
อิทธิพลของกระแสความคิดแบบเหมาอิสต์ทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ทำหน้าที่กระจายความคิดของพรรคออกไปในหลายช่องทาง ผนวกรวมกับการที่งานเขียนของฝ่ายซ้ายไทยยุค 2490 อย่าง ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร, อุดม ศรีสุวรรณ, จิตร ภูมิศักดิ์ และ เปลื้อง วรรณศรี ถูกหยิบขึ้นมาศึกษาในหมู่นักศึกษาอีกครั้ง ทำให้นักศึกษาสั่งสมแนวคิดสังคมนิยมแบบเหมาอิสต์ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าป่า และมอง พคท. ในมุมที่โรแมนติกและอยากจะเข้าร่วม นักศึกษาบางคนอย่าง จรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เข้าไปเป็น ‘จัดตั้ง’ ของพรรคตั้งแต่ยุคแรกๆ และกลายเป็นคนที่ดูแลนักศึกษาที่ทยอยเข้าป่าในเวลาต่อมา การเข้าป่าของนักศึกษามีหลายระดับ บ้างเข้าไปเพราะชื่นชอบแนวคิดของ พคท. บ้างเข้าไปเพราะหนีตาย
และสิ่งสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว กัมพูชา และเวียดนามที่ปฏิวัติสำเร็จพร้อมกันในปี 2518 ส่งผลสะเทือนให้นักศึกษาไทยรู้สึกฮึกเหิมกับกระแสการปฏิวัติไปด้วย
ครองความเป็นใหญ่ทางความคิดแบบ ‘เหมาอิสต์’
การที่กระแสความคิดแบบเหมาอิสต์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นแนวความคิดหลักของนักศึกษาในขณะนั้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากการขับเคลื่อนของ พคท. ซึ่งชุดความคิดอื่นๆ อย่างของ อันโตนิโอ กรัมชี, ลีออน ทรอตสกี, โรซา ลุคเซมเบิร์ก, มาร์กซิสต์ และแนวคิดสังคมนิยมแบบ ปรีดี พนมยงค์ ล้วนถูกกีดกัดออกไปโดยการขึ้นมาเป็นใหญ่ของแนวคิดเหมาอิสต์ของ พคท.
วิธีหนึ่งนอกจากการขุดหนังสือตามร้านหนังสือเก่ามาอ่านเองของนักศึกษา ก็คือ การที่ พคท. ทำงานความคิดกับนักศึกษาในเมืองในหลายระดับ อาทิ งานจัดตั้งแบบการสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้กว้างขวางมากนัก ที่สำคัญกว่าคือการผลิตสิ่งพิมพ์ของ พคท. ผ่านสำนักพิมพ์ ‘แสงตะวัน’ เป็นต้น การผลิตหนังสืออย่าง สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง หรือหนังสือที่เกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเรื่องราวชีวิตและความคิดของจิตรสามารถดึงดูดนักศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะจิตรเองก็เป็นนักศึกษาที่เข้าร่วมการปฏิวัติกับ พคท. จิตรจึงเป็นต้นแบบของปัญญาชนคนหนุ่มสาวที่สละชีวิตเพื่อการเปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ของจิตรที่ พคท. สร้างขึ้นนั้นละม้ายคล้ายคลึงกับ เช เกวารา นักปฏิวัติผู้ที่ในเวลานั้นกำลังดังสนั่นโลก การสร้างต้นแบบของวีรบุรุษที่นักศึกษาอยากเจริญรอยตาม คือยุทธวิธีสำคัญของ พคท. ในการชักนำความคิดของนักศึกษาให้เข้ามาใกล้พรรคมากขึ้น
การปลุกกระแสดีเบตเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คืออีกหนึ่งสนามการประลองทางความคิดที่ช่วยให้ พคท. เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษา คำถามที่ว่า แนวทางแบบ 14 ตุลาฯ ถูกต้องหรือไม่ เราควรจะให้ความหมายกับเหตุการณ์นี้อย่างไร เป็นเรื่องที่ปัญญาชนถกเถียงกันอย่างจริงจัง
หนึ่งในอิทธิพลทางความคิดที่ปลุกให้การดีเบตเรื่องนี้ร้อนระอุขึ้นไป คือผลงานของ ผิน บัวอ่อน อดีตผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ที่ออกจากพรรคมาในราวๆ ปี 2510 ที่เคยผลิตงานเขียนที่โด่งดังอย่าง แนวทาง 14 ตุลาฯ จงเจริญ ทำให้เกิดการช่วงชิงความหมายของเหตุการณ์นี้ งานชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาอย่างมาก และนักศึกษาต่างก็เข้าใจว่านี่คือผลงานของ พคท. แต่หลังจากนั้นก็มีการผลิตงานเขียนจาก พคท. ออกมาเพื่อโต้เถียงความคิดของผิน โดยปัญญาชนคนสำคัญของพรรคที่ออกมาโต้แย้งคือ นายผี-อัศนี พลจันทร ที่ใช้นามปากกาว่า ‘อุทิศ ประสานสภา’ เขียนงานที่ชื่อว่า โต้ลัทธิแก้ไทย เพื่อยืนยันว่าเราควรเชิดชูเพียงแค่จิตใจของวีรชน 14 ตุลาฯ ไม่ใช่แนวทาง เพราะแนวทางที่ถูกต้องคือการปฏิวัติแบบ ‘ชนบทล้อมเมือง’ ของ พคท.
การต่อสู้ทางความคิดของ พคท. เพื่อขึ้นมามีอิทธิพลเหนือชุดความคิดอื่นในช่วงเวลานั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคต้องผลิตชุดวิเคราะห์ทางสังคมต่างๆ ออกมายึดกุมจิตใจของนักศึกษา และ พคท. ก็ทำได้
การปฏิวัติไม่ใช่แค่เรื่องทฤษฎี แต่คือชีวิตและจิตใจ
การปฏิวัติสำหรับ พคท. มิอาจบรรลุได้โดยการเผยแพร่เพียงทฤษฏี แต่จำเป็นต้องปลูกฝังให้มวลชนมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะผลักดันกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ การเผยแพร่ความคิดเรื่องชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ก้าวหน้า ความรักที่ก้าวหน้า การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างหมู่มิตร จึงเป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการของ พคท. นอกจากแนวทางปฏิบัติการทางการเมืองที่มักถูกเขียนออกมาในรูปของบทกลอน อย่างเช่น “สามัคคีสหาย ขยายก้าวหน้า โดดเดี่ยวปฏิกิริยา ช่วงชิงฝ่ายกลาง” แล้ว พคท. ยังมุ่งสร้างแนวทางการใช้ชีวิตที่ก้าวหน้าให้กับนักศึกษาด้วย โดย พคท. ตระหนักถึงสภาพชีวิตทั่วไปของนักศึกษาที่มักเกี่ยวข้องกับ ‘สัมภาระสี่ห่อ’ คือ ชีวิตการเรียน การงาน ครอบครัว ความรัก พคท. จึงผลิตงานเขียนที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเรื่องเหล่านี้ออกมาไม่น้อย อย่างเช่นหนังสือ เสริมทฤษฎี ซึ่งชื่อหนังสือก็บอกว่า รู้แค่ทฤษฎีการปฏิวัติยังไม่พอ ยังต้องมีหนังสือเสริมหลักสูตรในการใช้ชีวิตด้วย ณ จุดนี้ พคท. คือ ไลฟ์โคช (life coach) แบบดั้งเดิมเลยก็ว่าได้ ดังเห็นได้จากหนังสือประเภท ‘โลกทัศน์’ ‘ชีวทัศน์’ ที่ถูกผลิตออกมาโดยปัญญาชนของพรรคเป็นจำนวนมาก
ธิกานต์เล่าว่า เขาเองเคยนำหนังสือ เสริมทฤษฎี ไปใช้ในการทำงานทางการเมืองกับหมู่มิตรเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัย “ผมโดนรุ่นน้องด่าเยอะเลยว่าซ้ายจัด” เนื่องจากในสมัยปัจจุบันผู้คนอาจมองไม่เห็นความสำคัญของการทำงานจัดตั้งทางความคิดแบบล้วงลึกเข้าไปถึงชีวิตจิตใจของผู้คน เพราะการชักชวนเพื่อนฝูงให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่กระแสกำลังขึ้น อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากมาก แต่ในยุคก่อนนั้น การจะสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าไปกุมจิตใจของมวลชนให้ได้
“ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยจนหมดโอกาส”
คำถามที่ว่าทำไม พคท. จึงไปไม่ถึงเส้นชัย เป็นเรื่องที่ถกกันไม่มีวันจบ อย่างที่ธิกานต์ยอมรับว่า “เป็นปัญหาโลกแตก” เพราะมีหลายปัจจัย ทั้งจากภายนอกและภายในพรรค
ปัจจัยภายนอกที่ธิกานต์ให้ความสำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง พคท. กับพรรคพี่น้อง และบรรยากาศการเมืองโลกที่กำหนดให้กระแสการปฏิวัติโค่นล้มระบบทุนนิยมทั่วโลกต้องสิ้นสุดลง การสูญเสียแรงสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ลาวและเวียดนาม ในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามเย็นที่หันเข้าไปซบสหภาพโซเวียต ทิ้ง พคท. ไว้ท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘เดินตามก้นจีน’ การปฏิเสธข้อเสนอของลาวที่จะเข้ามาช่วยปฏิวัติ และอีกหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการล่มสลายของ พคท.
ดังที่ธิกานต์ขีดเส้นใต้ว่า “แค่การถูกตัดขาดเส้นทางและแหล่งพักพิงจากพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้าน แค่นี้ก็แพ้แล้ว ยังไม่ต้องสู้กับใคร”
ในขณะเดียวกัน การปลุกกระแสการปฏิวัติของ พคท. ในไทยก็เรียกได้ว่า ‘จุดไม่ติด’ เพราะ พคท. วางศัตรูหมายเลขหนึ่งให้เป็นอเมริกา แต่ภาพของอเมริกาในฐานะจักรวรรดิที่ชั่วร้าย ก็ไม่ได้ชัดเจนสำหรับคนไทยที่อยู่นอกขบวนการ พคท. “เผลอๆ อเมริกายังมาช่วยพัฒนาเสียอีก” ธิกานต์ย้ำ
สภาวะแบบนี้แตกต่างกับลาวและเวียดนามที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลกับเจ้าอาณานิคมมาก่อนหน้า ส่วนไทยนั้นเป็นได้อย่างมากก็แค่กึ่งๆ อาณานิคม แม้สหายนำหลายคนของ พคท. ยังยึดคำอธิบายสังคมไทยว่าเป็น ‘กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา’ ความเป็นเมืองขึ้นแม้แต่เพียงกึ่งเดียวก็เลือนราง ศักดินาอยู่ตรงไหนก็หาไม่เจอ นี่เป็นอีกหนึ่งจุดแตกร้าวสำคัญภายใน พคท. เพราะสหายสำคัญหลายคนมุ่งเสนอว่าไทยเป็นทุนนิยมแล้ว แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค อีกทั้งความแข็งแกร่งของรัฐไทยและเอกภาพของชนชั้น หลังปี 2500 เป็นต้นมา ก็เป็นอุปสรรคสำคัญของ พคท. ปัจจัยภายนอกพรรคเหล่านี้ทำให้ พคท. ต้อง ‘ซุ่มซ่อนยาวนาน’ ‘รอคอยโอกาส’ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สิ้นสุดประวัติศาสตร์ หรือ The End of History เสียแล้ว
ปัจจัยภายในพรรคอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือ ประสบการณ์การต่อสู้ของผู้นำพรรค ซึ่งเทียบกันไม่ติดกับคนอย่าง โฮจิมินห์ ของขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม หนำซ้ำภายใน พคท. ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มฝ่ายนำอยู่เสมอ แต่ความขัดแย้งภายใน พคท. ก็ยังอยู่ในสภาพที่ประคองตัวได้ จนกระทั่งปัญหาเรื่องการถลำตัวลงไปอยู่ข้างพรรคคอมมิวนิสต์จีนของ พคท. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยฝ่ายนำคนสำคัญหลายคน รวมทั้งนักศึกษา ปัญญาชนในพรรค ที่สะสมความขัดแย้งกับพรรคในเรื่องของชุดการวิเคราะห์สังคมไทย
ความคิดที่แตกแยกกันระหว่างพรรคกับปัญญาชน ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนเมื่อปัญญาชนยุคนั้นอย่าง ธีรยุทธ บุญมี ประกาศลาออกจากพรรค ดังที่ธิกานต์เล่าว่า
“ความขัดแย้งที่ทำให้เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) ออกจาก พคท. เป็นความขัดแย้งระดับท้องถิ่น คือเขาทะเลาะกับผู้นำในเขตภาคเหนือ แต่ธีรยุทธทำงานกับแนวร่วมสังคมนิยม พอธีรยุทธออก มันเท่ากับว่านักศึกษาออกด้วย”
เช่นนี้แล้ว จุดจบของ พคท. ส่วนหนึ่งที่สำคัญจึงมาจากการแตกหักระหว่างคนรุ่นใหญ่ในพรรคกับนักศึกษา
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์สหาย
“จักแก้แค้น แทนสหายคนกล้า
จักต่อสู้ เพื่อประชาไปตลอดกาล
จักสร้างสรรค์ สังคมแห่งอุดมการณ์
อีกไม่นาน จะเอาธงแดงปักกลางนคร”
ท่อนท้ายของเพลง ‘สหาย’ ประพันธ์โดย พคท. ที่แม้ว่ากาลเวลาผ่านมาเนิ่นนาน เพลงนี้ก็ยังถูกขับร้องโดยนักต่อสู้รุ่นใหม่ ธิกานต์เล่าว่า “ผมจำได้ว่าเคยเห็น เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ร้องเพลง ‘สหาย’ ในม็อบ ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจที่เพลงเก่าๆ แบบนี้ยังเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่”
บทเพลงนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า สหายบางคนในวันนั้น เหตุใดจึงเปลี่ยนไปคนละทิศคนละทางเช่นในวันนี้ จากสหาย บ้างก็เปลี่ยนไปเป็นพันธมิตรฯ (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย – พธม.) บ้างก็ไปเป็นแนวร่วมฯ (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ – นปช.) สหายบางคนสูญหายไปพร้อมประวัติศาสตร์ที่ยังถูกปิดเงียบ แต่สหายบางคนกลับได้ดิบได้ดีถึงขั้นนั่งเก้าอี้รองประธานรัฐสภา
อะไรคือสาเหตุการกลายพันธุ์ของบรรดาสหายที่เคยร่วมภารกิจปักธงแดงกลางนคร สหายเปลี่ยนไปเพราะผลประโยชน์ที่ยั่วเย้าให้สหายอยากกลายเป็นคนที่ถูกเยินยอ อย่างตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ หรือเป็นเพราะผู้อ่านประวัติศาสตร์เองที่คาดหวังในตัวสหายมากเกินไป เพราะแท้จริงแล้ว สหายอาจมิเคยถูกหล่อหลอมโดยอุดมการณ์แห่งพรรคอย่างถึงแก่นแท้? ปฏิกิริยาแรกของธิกานต์ต่อคำถามนี้คือ การกุมขมับและพึมพำว่า “ยากฉิบหาย”
ธิกานต์ให้น้ำหนักกับเรื่องผลประโยชน์ ในฐานะที่เป็นเรื่องสามัญที่สุด แต่ธิกานต์ได้เพิ่มอีกสองคำอธิบายก็คือ หนึ่ง – การเติบโตของความคิดทางการเมืองของเหล่าสหายเมื่อออกจากป่าและเข้าสู่องค์กรใหม่ๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าถูกจัดตั้งใหม่
ธิกานต์ยกตัวอย่างตัวละครที่เขาเคารพเป็นพิเศษอย่าง สุวิทย์ วัดหนู นักต่อสู้ผู้เมื่อออกจากป่าก็เข้ามาทำงานกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาบนเวทีพันธมิตรฯ ในเวลาต่อมา
“พี่สุวิทย์ช่วยชาวบ้านต่อสู้กับนักการเมืองมาตลอด คุณคิดเหรอว่า เขาจะไม่เกลียดนักการเมือง?” ธิกานต์กล่าวพร้อมสะท้อนว่า ตัวเขาเองก็ไม่ต่างกัน ถ้าหากไม่ได้เข้ามาเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ถ้าไม่ได้มาเจอกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ผมก็คงเป็นผู้ปฏิบัติงานที่กระตือรือร้นมากคนหนึ่งของพันธมิตรฯ เพราะผมสนิทกับพวกเขา”
เส้นทางชีวิตที่สหายเลือกเดินหลังป่าแตก ย่อมมีส่วนกำหนดแนวคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนไป สุวิทย์ วัดหนู นักต่อสู้ที่แม้มีจุดยืนแตกต่าง ธิกานต์ก็ยังให้ความเคารพจนถึงปัจจุบัน แต่สำหรับเส้นทางที่ธิกานต์ได้เลือกนั้น เขาบอกพร้อมเสียงหัวเราะว่า “รอด! โชคดีฉิบหาย”
คำอธิบายที่สอง – สหายหลายคนที่เราเห็นว่าเปลี่ยนไป มักเป็นเราเสมอที่บอกว่าเขาเปลี่ยนไป จริงๆ ตัวเขาเองอาจไม่รู้สึกว่า เขาทอดทิ้งเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ เพียงแค่ว่าเขาเลือกที่จะหยิบใช้เครื่องมือแบบใหม่ เพราะอุดมการณ์เก่ามันไม่ถูกต้องสำหรับเขาอีกแล้ว ใครจะหาว่าเขาผิดแปลกไปจากอุดมการณ์เก่าที่เขาไม่เชื่อว่าดีอีกต่อไป เขาก็ไม่สนใจ
นี่คืออีกหนึ่งคำอธิบายที่ธิกานต์นำเสนอ เพราะถ้าหากยกตัวอย่าง ตัวละครอย่าง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้เคยเป็นสหายเจ้าตำรับตำรา คงไม่มีทางที่เราจะอธิบายได้ว่าคนอย่างเอนกนั้นเป็น ‘คนไม่ได้เรื่อง’ ตั้งแต่แรก แต่วันนี้เขาไม่เชื่อในของเดิมแล้ว แนวการวิเคราะห์เปลี่ยนไป การวิเคราะห์สังคมเป็นเรื่องที่สหายทะเลาะกันมาตั้งแต่ในป่า เมื่อป่าแตกจึงมองต่างมุมกันไปอีก สหายปัญญาชนหลายคนที่มีความคิดความเชื่อแบบ ‘เอาเจ้า ล้มทุน’ ก็ไปเข้าพวกกับเสื้อเหลือง ส่วนพวกที่เชื่อแบบ ‘เอาทุน ล้มเจ้า’ ก็ไปเข้ากับเสื้อแดง
หลังอุดมการณ์ พคท. ล่มสลาย แนวคิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอื่นๆ ก็เข้ามาแทนที่ เช่น การผสมแนวคิดแบบพุทธ แบบวัฒนธรรมชุมชน หรือแบบเศรษฐกิจพอเพียง ยุคไหนแนวคิดไหนกำลังนำ ก็สามารถดึงดูดคนได้มาก แต่สำหรับสหายบางคนก็ต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้สนใจในอุดมการณ์ หรือตำราการปฏิวัติอย่างจริงจังแต่แรก “อย่าง หงา คาราวาน พอแกเข้าป่าไป แกไปยิงนกตกปลา ไม่ได้เข้มข้นอะไรมาก”
พคท. แพ้แล้ว ถึงคราวคนรุ่นใหม่ต้องไปต่อ
เมื่อธิกานต์ถูกถามว่า คนยุคนี้ยังต้องเรียนรู้เรื่องราวของ พคท. ไปทำไม “รู้ไว้บ้างก็ดี แต่ต้องรู้จริงๆ ด้วยนะ” คือคำตอบของธิกานต์
ประเทศไทยได้ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ในขบวนการต่อสู้ของ พคท. มีคนตายนับหมื่น คนเจ็บอีกไม่รู้เท่าไหร่ นี่คือประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนครั้งสำคัญอย่างมาก “พคท. เป็นขบวนการที่ต่อสู้ยาวนานด้วยข้อเสนอที่สูงมาก คือต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยอาวุธจริงๆ” ธิกานต์ย้ำ
หากเราจดจำประวัติศาสตร์ผิด ย่อมทำให้เราแสดงท่าทีต่อเรื่องราวที่เกี่ยวกับมันผิด เรื่องราวของ พคท. เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ซ้ำรอย แต่ข้อเสนอที่สูงลิ่วก็กลับมาอีกครั้งในช่วงเวลาของกลุ่มคณะราษฎรยุคปัจจุบัน ธิกานต์ชื่นชมขบวนการต่อสู้ของคนรุ่นนี้ ทั้งในแง่ความเป็นอิสระและความกล้าหาญ แต่ “ผมคิดว่า ยังขาดการเรียนรู้ประสบการณ์จากอดีต และผมไม่แน่ใจว่า คนที่คิดว่ารู้แล้วนี่ รู้จริงหรือเปล่า” อีกทั้งการกลับมาของคำว่า ‘จัดตั้ง’ ที่คนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจพากันร้องยี้เมื่อได้ยิน ซึ่งธิกานต์กล่าวว่า ไม่ว่า ‘จัดตั้ง’ จะดีหรือไม่ดี ขั้นแรกคือ ต้องรู้ให้จริงก่อนว่ามันคืออะไร
ธิกานต์ทิ้งท้ายต่อการสรุปบทเรียนของ พคท. ที่ยังขาดหายว่า “ผมท้าเลยนะว่า อันไหนของ พคท. ที่ใช้ได้ อันไหนที่ใช้ไม่ได้ เอามาพูดกัน แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น คุณต้องรู้ว่า พคท. คืออะไร”
พคท. เป็นขบวนการที่รู้แพ้ แพ้ได้ ถอยเป็น โจทย์สำคัญคือจะดึงข้อดีออกมาใช้อย่างไร “ถ้าหากมีนะ”