ThisAble Talk: ความพิการปราศจากน้ำตา

ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ

ถ้าจุดประสงค์ของงาน ThisAble Talk คือการ ‘ทอล์ค’ ประเด็นคนพิการอย่างไม่น่าสงสาร ไม่หดหู่ ไม่ดราม่า งานนี้ก็ตอบโจทย์ และกลับไปตั้งคำถามต่อภาพจำของเราอีกหนึ่งทอด

เริ่มตั้งแต่สถานที่จัดงาน ThisAble Talk ครั้งแรกนี้จัดที่ร้าน Syrup The Space  ย่านทองหล่อเลยนะ

ไม่ใช่ว่าคนพิการจะไปร้านฮิปๆ กับเขาบ้างไม่ได้ แต่… ไปอย่างไร ถ้าปวดห้องน้ำจะเข้าตรงไหน ถ้าต้องขึ้นบันไดแล้วจะมีทางลาดไหม หรืออย่างคำถามง่ายๆ ว่า ประตูร้านจะกว้างพอให้เคลื่อนวีลแชร์เข้าไปหรือเปล่า?

แอบถามทีมจัดงานอย่าง หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.Me และหนึ่งในสปีคเกอร์งานวันนั้น เธอว่า

“เรากับทางร้านเพิ่งปรับปรุงพื้นที่ห้องน้ำใหม่เลย และทำทางลาดด้วย เผื่อคราวหลังมาจัดอีก” โปรยดอกไม้และหัวใจให้กับความ ‘ยืนยันจะจัดงาน’ ของเธอ

หันไปมองรอบๆ ร้าน ดอกไม้ที่ตกแต่ง เก้าอี้หวาย ผลเชอร์รี่ในจานวางคู่เวเฟอร์และคุกกี้ช็อกโกแลต ไม่นับรวมเสียงหัวเราะและการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ สอบถามตรวจวัดระดับความตื่นเต้นของสปีคเกอร์ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ที่หลอมรวมกัน กลับมาย้อนคิดอีกที… ณ จุดที่ยืนอยู่ตรงนั้น เรามองไม่เห็นความน่าสงสาร อันเป็นเป้าประสงค์งานที่อยากขจัดทิ้งเลย

จริงอยู่ว่าเราเลือกยืนยันที่จะไม่สงสาร แต่เราเข้าใจข้อจำกัดของเขาจริงๆ หรือ?

แสงไฟถูกหรี่ลงแล้ว เราเดินขึ้นแสตนด์ไปเตรียมนั่งฟัง

 


‘คน’ พิการ

“ในที่นี้มีใครที่อาบน้ำทุกวันบ้างครับ?” สันติ รุ่งนาสวน ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพุทธมณฑล ตั้งคำถามสวนสป็อตไลท์ที่ฉายทับเขา

เขายิ้ม นับฝ่ามือผู้ฟังที่ยกขึ้น ก่อนพูดต่อว่า “แต่ผมไม่นะ”

เขาอาบน้ำตอนที่อากาศหนาว อาบตอนที่แขกมาบ้าน อาบตอนที่กำลังหลับอยู่ หรือตอนไหนก็ได้ที่ผู้ดูแลว่าง ซึ่ง… นั่นเข้าใจได้และไม่ใช่ความผิดของผู้ดูแลเลยสักนิด เขาย้ำความหมายนั้นตลอดเวลา

เพียงแต่จะบอกว่าการอยู่บนความพิการ ในจุดหนึ่ง เขาเชื่อว่าตัวเองไม่มีอิสระ ดูแลตัวเองไม่ได้ และยังต้องอยู่บนความคาดหวังของผู้อื่นที่ว่า ‘เดี๋ยวก็หาย’ อีกด้วย

บนเวที สันติเล่ากระบวนการ IL-Living Independence ที่ทำให้เขากลับมาเข้าใจระดับความพิการของตัวเอง เข้าใจขีดระดับการพัฒนากล้ามเนื้อและออกแบบการใช้ชีวิตใหม่ ไม่ใช่ ‘ให้หาย’ แต่เพื่อเป็นอิสระ ยืนยันสิ่งที่เชื่อและดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ต้องเป็นผู้รอคอย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เขากลับมารู้สึกว่า เขายังเป็น ‘มนุษย์’

 

มนุษย์… เสาว์-เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ พูดถึงคำนี้อีกครั้งในคิวของเธอ

“ถ้าให้เวลาสิบวิ แวบแรกที่พวกคุณเห็นพี่ พวกคุณคิดว่าพี่เป็นใคร”

นักข่าว นักการเมือง ทนาย คนพิการ หลายเสียงโยนคำตอบขึ้นเวที

“ใช่ไหม ถูกต้องเลย คุณเห็นพี่เป็นคนพิการ ซึ่งไม่ผิดนะ ก็พี่เป็นคนพิการนี่” ไม่มีน้ำเสียงติติงหม่นเศร้า เธอพูดด้วยน้ำเสียงติดตลกและหนักแน่นด้วยซ้ำ

เธอเล่าว่าทันทีที่เพื่อนๆ รู้ว่าเธออยู่บนความพิการ สิ่งที่ตามมาคือ

เงาะกระป๋อง ซึ่งเน่า
เสื้อผ้าที่เพื่อนไม่ใส่แล้ว ซึ่งเสาว์ใส่ไม่ได้ (และไม่ใช่จริตด้วย)
หนังสือมือสอง ซึ่งสภาพยับเยิน และส่วนใหญ่เป็นหนังสือธรรมะ
และอื่นๆ ซึ่ง… ถ้า เราไม่ได้มองว่าคนพิการเท่ากับการต้องสงเคราะห์ สิ่งของที่มอบให้ อาจหลากหลายและไม่มีแพทเทิร์นเดียวกันเช่นนี้

ทั้งหมดนั้นมาด้วยความรัก ไม่ใช่ว่าเขาไม่หวังดีกับเราเลย และเราทำลายความปรารถนาดีของเขาไม่ได้ เพียงแต่มันมาพร้อมความคิดที่ว่า ‘เธอเป็นผู้พิการ เป็นผู้ที่ต้องได้รับการสงเคราะห์'” เสาว์กล่าว

ชีวิตหลังอายุ 27 ปีที่ต้องอยู่บนความพิการ เธอต่อสู้มาอย่างสุดเหวี่ยง แต่ไฮไลท์อยู่ที่ประสบการณ์ต้องดื่มน้ำมนต์ขับไล่ปัดรังควาน ล้างซวย และขจัดเจ้ากรรมนายเวร

“นี่เป็นวิทยาศาสตร์นะ ความพิการเนี่ย” เหมือนตัดพ้อ แต่เธอหัวเราะร่วน

เธอบอกว่าขอย่นย่อประวัติชีวิต ข้ามไปชีวิตหลังจากเธอได้ทุนเรียนภาษาอังกฤษที่พัทยา เมื่อเรียนจบ เธอมั่นใจมากว่าชีวิตหลังจากนี้เธอจะมีอาชีพที่มั่นคง ผู้คนให้การยอมรับ และไม่จ้องมองแค่ความพิการของเธอ ไม่มีทางที่จะถูกมองว่าเป็นแค่คนพิการธรรมดาๆ

แต่วันนั้น เธอก้าวออกจากบ้านด้วยความมั่นใจ เพื่อจะพบว่า เธอเข็นวีลแชร์ขึ้นฟุตบาธไม่ได้

“บางทีมันมีเสาขวางทางขึ้นด้วยนะ”

นี่ใครทำให้คนพิการ เป็นคนพิการกัน?

ไปให้ไกลกว่าฟุตบาธ โส-โสภณ ฉิมจินดา พิธีกรรายการท่องเที่ยว ‘ล้อ เล่น โลก’ ผู้โบกรถพร้อมวีลแชร์ ทั่วประเทศไทย เริ่มทอล์คบนเวทีด้วยการเล่าว่า ชีวิตก่อนอยู่บนความพิการ เขาคือนักเที่ยวตัวยง เขาโบกรถไปทุกที่ก่อนจะประสบอุบัติเหตุ

หากคนเคยได้เปลี่ยนที่ยืน เปลี่ยนอากาศหายใจอยู่แทบตลอดชีวิต เขาคงจมจ่อมสูดอากาศในที่เดิมไม่ได้

ในวีดิทัศน์ของโส ปรากฏภาพในมุมกล้องเดิมแต่เปลี่ยนฉากเปลี่ยนสถานที่ และบางรูปมีผู้ร่วมเฟรมมาพอให้ ‘เซลฟี่’ เห็นหน้ากัน ฉากหลังสลับเปลี่ยนรวดเร็วมาจนครบ 100 สถานที่ เราอดอมยิ้มบางๆ ไปกับเขาด้วยไม่ได้

“ผมตั้งเป้ากับตัวเอง ถึงจะพิการ แต่ผมต้องใช้ชีวิต ต้องเที่ยวให้ได้เหมือนเดิม”

หากินกับคนพิการ

“ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าคนพิการ คือต้องได้รับการสงเคราะห์”  คือประโยคสำคัญที่เสาว์-เสาวลักษณ์พูดขึ้นในคิวตัวเอง

มีใครเคยไปบ้านเด็กพิการบ้างครับ ก่อนที่เด็กๆ จะกินข้าว เขาต้องท่องบทสวดที่ว่า ‘ฉันเกิดมา มองไม่เห็น อยู่ในโลกอันมืดมิด ขอขอบคุณผู้ใจกรุณาทุกคนที่มาช่วยสนับสนุน’ คิดดูว่าถ้าเด็กต้องท่องแบบนี้ 3 ครั้งต่อวัน อย่างน้อยๆ เป็นเวลา 6 ปี คิดว่าเขาจะรู้สึกมีค่าไหมครับ

ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เจ้าของบริษัท กล่องดินสอ ผลิตอุปกรณ์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตา และผู้ริเริ่มโครงการ ‘วิ่งด้วยกัน’ กิจกรรมที่ให้คนพิการและไม่พิการออกมาวิ่ง เพื่อทำความรู้จัก เรียนรู้ และอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง มาช่วยขยายความให้เห็น ‘บทสวด’ ชัดขึ้น

เขาชี้ว่ามันคือกระบวนการตอกย้ำกับตัวเองว่า “เราเป็นคนผิดปกติ น่าสงสาร และต้องได้รับการสงเคราะห์” ซึ่งฉัตรชัยนิยามว่าคือ ‘การเสพติดการให้’

ก่อนจะกระแทกประเด็นนี้อีกครั้ง ด้วยสไลด์ที่ชี้ข้อมูลว่า ปี 2015 จัดอันดับโดย Charities Aid Foundation (CAF) ประเทศไทยติดอันดับ 12 ของโลกใน World Giving Index หรือดัชนีการให้ ซึ่งวัดพฤติกรรมที่สะท้อนการให้และความใจบุญของประชนในแต่ละประเทศ

ผลผลิตของทัศนคติและวิธีคิดนี้เอง คือส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจัดงานต้องยกขึ้นให้เป็นประเด็นหลักและต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่

และความคิดว่า คนพิการ เท่ากับ การบริจาค ไม่ใช่แค่ธุรกิจอุปกรณ์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตาของเขาจะขายไม่ได้ (เพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่ามันต้องบริจาคสิ) แต่ในวัฒนธรรมของคนพิการเอง ก็เห็นว่ากิจกรรมใดๆ ก็ตามที่สร้างขึ้นเพื่อผู้พิการ ต้องฟรี และต้องได้เงินด้วย

ฉัตรชัยยกตัวอย่าง ‘งานวิ่งด้วยกัน’ กิจกรรมที่ให้คนพิการและไม่พิการออกมาวิ่งด้วยกัน เขาเล่าด้วยน้ำเสียงของผู้ชนะว่า

“ครั้งแรกที่จัดงานวิ่งด้วยกัน มีคนพิการถามว่าถ้าเข้าร่วมกิจกรรมแล้วเขาจะได้อะไรบ้าง เข้าใจได้นะครับ เพราะมันเป็นเช่นนี้ตลอดมา แต่กิจกรรมครั้งล่าสุด ผมเก็บเงินคนพิการได้สำเร็จ

คนพิการจ่ายเท่าไรก็ได้ แต่คนไม่พิการจ่าย 300 บาท ที่ว่าแบบนี้ เพราะเขามีข้อจำกัดในชีวิตที่มากกว่าคนพิการจริงๆ แต่ในกิจกรรมนั้น คนพิการส่วนใหญ่จ่าย 300 บาท เพราะเห็นว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องจ่ายน้อยกว่า

สำหรับฉัตรชัยความสำคัญไม่ได้อยู่ที่มูลค่าเงิน หากคือมูลค่าความคิดที่ว่า ‘เราก็เท่ากัน’

ยังมี ท็อฟฟี่-โสภณ ทับกลอง นักศึกษาการละครผู้ร่วมเล่นละครใน The Blind Theatre Thailand และ หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักการละครผู้ก่อตั้ง The Blind Theatre Thailand ขึ้นร่วมเวทีด้วย

เริ่มที่ท็อฟฟี่  เขาเปิดทอล์คด้วยคำถามว่า

คุณคิดว่าผู้พิการทางสายตา กลัวอะไรมากที่สุด” เราคิดในใจว่า ‘เสียง’ แต่เขาตอบว่า ‘ความเคลื่อนไหว’

เขาถามต่อทันทีและถามอย่างเจ็บปวดว่า

“คุณเห็นคนพิการ เดินห้าง ดูหนัง ช็อปปิ้ง โดยที่ไม่ใช่คนร้องเพลงที่ถนน หรือขายล็อตเตอรี่ คนพิการที่ใช้ชีวิตปกติในชีวิตจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?”

นั่นสินะ… คิดไม่ออก (โว้ย)

กลับไปที่โสภณ เพราะไม่เห็น จึงไม่รู้ว่าการขยับแต่ละครั้ง อาจนำความอันตรายอะไรมาให้บ้าง นี่จึงเป็นเหตุตั้งต้นให้เขาสนใจศาสตร์ด้านการแสดง

ที่นิ้วชี้และนางทั้งสองข้างของเขามีแหวนไฟ จากนั้นเขาเคลื่อนไหวร่างกาย เพลงดังขึ้น แต่เสียงพูดคุยในห้องเงียบลง แสงไฟสาดเป็นลำแข็งๆ พาดไปมาตามการเคลื่อนไหวของเขา เมื่อเพลงจบ โปรเจ็คเตอร์ฉายภาพที่จับขณะเขาเคลื่อนเต้น เห็นแสงไฟนีออนแข็งค้างอย่างที่สายตาคนปกติจับไม่ทัน

เขายังคงสนุก เชิญผู้พิการทางสายตาขึ้นเวทีเต้นรำด้วย เขาเตรียมพร้อม แอบจับมือหญิงสาว (ถึงสองคน) สวมแหวนให้ แล้วตั้งตนเป็นผู้นำการเต้นรำ

ส่งไมค์ต่อให้ หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Blind Theatre Thailand ทั้งที่เขาเคยประสบความสำเร็จในละครเวทีเพื่อคนตาบอดมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2014  ได้รับความชอบจากผู้ชม-สายตาปกติ แต่เขากลับเลิกและทิ้งไปเพราะเห็นว่า

ทั้งๆ ที่ผู้ชมชอบ ทุกคนรู้สึกว่าสนุกและแปลกใหม่ แต่กับคนเล่นคือคนพิการ สุดท้ายแล้วในทางกระบวนการมันไม่ได้ตอบโจทย์กับพวกเขาเท่าที่เราคาดคิด

อาจไม่ต้องถามซ้ำ เพราะคงชัดเจนอยู่แล้วว่าวัฒนธรรมจำเริญใจในบ้านเรา ไม่เคยไปถึงคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง และมันเป็นสิ่งที่หลุยส์ยังครุ่นคิดและหาคำตอบ

เขาทำการบ้านอย่างหนัก ถามตัวเองว่าสิ่งที่เขาทำจะส่งผลต่อใครและอย่างไรบ้าง กลับมาคราวนี้ เขาต้องการทำละครเวทีที่ไปไกลกว่าเดิม ด้วยการชวนคนทุกอาชีพ ทุกความหลากหลาย เข้ามาร่วมกันออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนามันต่อไป

ปิดท้ายที่เธอ นลัทพร ไกรฤกธิ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวเพื่อคนพิการ ThisAble.me กับ ประสบการณ์ของเธอ ในฐานะคนที่ทำเพจกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภท SMA (Spinal muscular atrophy)

แม้จะเคยพูดคุยกับเธอไปครั้งที่แล้ว (ทำความรู้จักเธอได้ที่: ออกไปในตู้เสื้อผ้า) แต่เราเพิ่งมารู้เดี๋ยวนี้เองว่า เธอเป็นเจ้าของเพจโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ว่า และทำตั้งแต่ยังเล็กๆ เลยด้วย (น่าอายจริงๆ)

เธอเล่าว่า รู้จักและพบว่าอาการของเธอคือ SMA ครั้งแรก เมื่อต้องกรอกใบสมัครเข้าโรงเรียนมัธยม ชื่อยากเสียจริง… เธอว่าเช่นนั้น ก่อนจะกูเกิลเสิร์ชว่ามันคืออะไร

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา เธอรู้จักกับเพื่อนที่มีอาการคล้ายกันจากโปรแกรมสื่อสารออนไลน์ เธอพูดคุยกับเขา อุ่นใจที่มีคนที่เป็นเหมือนกัน จากนั้นจึงนัดเจออย่างเป็นเรื่องเป็นราว

“เจอกันที่ดรีมเวิลด์ ทั้งที่เล่นเครื่องเล่นไม่ได้ (หัวเราะ) แต่หลังจากการเจอกัน เรามีรูปถ่ายจำนวนหนึ่ง ไม่อยากเก็บเอาไว้คนเดียว เลยทำเพจเพื่อเก็บความทรงจำของเราเอาไว้ จริงๆ ตั้งใจให้เป็นไดอารีด้วยซ้ำ”

แม้ไม่ได้ตั้งใจอยากสื่อสาร เป็นแค่การอัพรูปถ่ายและเรื่องราวแต่ละวัน แต่อย่างน้อยมันถูกบันทึก เผยแพร่ และเป็นพื้นที่ให้ ‘เพื่อน’ เข้ามารับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล เริ่มมีคนอินบ็อกซ์เข้ามาไถ่ถามประสบการณ์

คุณเรียนที่ไหน ไปเที่ยวได้ไหม อย่างไร มีแฟนหรือเปล่า?

“ก็มีแฟนเหมือนคนทั่วไปปะ?” เสียงเธอติดแววงอนๆ

“จากที่คิดว่าทำเพจเอาไว้เป็นไดอารีส่วนตัว เราก็ค่อยๆ เขียนเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มนี้มากขึ้น จนมาถึงตอนนี้ในที่สุด”

จะจบแล้ว ขอเขียนความในใจอีกนิด

ไม่รู้ว่าชอบใจที่ตรงไหน ได้เจอเพื่อน ได้มาปาร์ตี้ ขนมอร่อย หรือเพราะบทสนทนาสนุก หรือการได้พูดคุยกับคนที่เข้มแข็งหนักแน่น มีพลัง และไม่ใช่พลังที่มาจากคนพิการเพียงอย่างเดียว

แต่เห็นคนไม่พิการปีนขึ้นไปตอกตะปูติดผ้าขาวฉายโปรเจ็คเตอร์ คนทำงานเดินเหินได้ที่ไม่พอใจกับ ‘โครงสร้างถนน เมือง กระบวนการเข้าถึงอารยธรรมมนุษย์ และอื่นๆ’ ที่มันพิการ จนทำให้คนที่ เดินไม่ได้ มองไม่เห็น หรือมีพัฒนาการอันเป็นข้อจำกัดด้านร่างกาย ถูกนิยามว่า ‘พิการ’ ไปด้วย

เขียนเองยังรู้สึกซับซ้อนเลย

เดินขึ้นบีทีเอสด้วยหัวใจอุ่นๆ เคารพในพลังของนักเคลื่อนไหว และยังคิดถึงคำถามของโสภณที่ว่า เห็นคนพิการที่ใช้ชีวิตเดินอย่างเราๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไร ตัดสินใจว่าหลังจากนี้จะคอยมองหา

แต่จนถึงตอนนี้ ยังคงไม่เจอเลย

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า