จากกรณีที่สื่อจำนวนมาก ไม่ว่าจะสื่อโทรทัศน์หรือออนไลน์ เข้าไปทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ชุมนุม จนเป็นเหตุให้หลายครั้งได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะช่วงที่เจ้าหน้าที่มีการสลายการชุมนุม
นอกจากสื่อจะได้รับอันตรายจากการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา หลายกรณียังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่อีกด้วย เช่น ถูกห้ามให้มีการถ่ายทอดสด (live) กระทั่งถูกมองว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่ ‘สื่อแท้’ อาจเนื่องจากเป็นสื่อสังกัดใหม่ที่รัฐไม่เคยรู้จัก ไม่มีบัตรสื่อที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ หรือไม่มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมนักข่าวฯ ทั้งยังพบกรณีที่ว่าแม้จะมีปลอกแขนยืนยันแล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับให้เหตุผลว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่สื่อ
คำถามจึงเกิดขึ้นอีกครั้งว่า สื่อคืออะไร แค่ไหนถึงจะเรียกว่าสื่อ จำเป็นต้องได้รับการประทับตราจากรัฐด้วยหรือไม่ บัตรสื่อหรือปลอกแขนมีความหมายแค่ไหน ไปจนถึงบทบาทของสมาคมวิชาชีพสื่อควรเป็นอย่างไร
หากเปิดวงสนทนาว่าด้วยเรื่องสื่อ มุมมองของ ฐิตินบ โกมลนิมิ นับว่าแหลมคมไม่น้อยในฐานะคนที่ผ่านสนามข่าวทั้งบทบาทการเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักผลิตสารคดีโทรทัศน์ นักวิจัย กระบวนกรและหลักพิงของนักข่าวพลเมือง คลุกวงในทั้งเวทีสื่อสารมวลชนระดับชาติ จนถึงพื้นที่ขัดแย้งชายแดนใต้
กล่าวให้ชัดกว่านั้น พรมแดนแห่งการงานและประสบการณ์ของฐิตินบนั้นกว้างคูณยาวตามความสนใจของเธอเอง หากจะมองหาสื่อมวลชนที่ยืนหลังตรงและมีความคิดก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ชื่อของเธอมักถูกจัดไว้ในลำดับแรกๆ
ความหมายของสื่อและสื่อมวลชน
ฐิตินบแยกสื่อออกเป็น 2 ประเภทหลัก ประเภทแรกคือ สื่อในความหมายอย่างกว้างที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้
“ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ เพียงแค่คุณเขียนเรื่องที่คนอยากอ่าน นั่นก็เป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจแล้ว หมายความว่า ถ้าคุณเขียนหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป คุณก็เป็นสื่อแล้ว”
ฐิตินบย้ำว่า แม้แต่ในแง่กฎหมายเองทุกคนก็สามารถเป็นสื่อได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ในมาตรา 34 และ 35
“ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2540 และ 2550 ให้คำจำกัดความไว้ชัดเจนมากว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ใช้ข้อความเดียวกันคือ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ดังนั้น ทุกคนสามารถใช้ช่องทางในการสื่อสารของตัวเองได้ ทุกคนสามารถเป็นสื่อพลเมืองได้”
ส่วนสื่ออีกประเภทหนึ่งคือ ‘สื่อมวลชน’ ซึ่งเป็นการทำงานที่มากกว่าการขายเนื้อหาเพื่อสร้างกำไรให้แก่องค์กร เป็นกลุ่มคนที่ร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ หรือที่ฐิตินบเรียกว่า ‘หมาเฝ้าบ้าน’ ที่ติดตามตรวจสอบรัฐและผลประโยชน์ของประชาชน และที่สำคัญคือ ต้องนำเสนอทางออกของปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่
จุดร่วมของสื่อทั้งสองประเภทนี้ต่างอยู่ที่ ‘สายสัมพันธ์กับประชาชน’ เพราะต่างต้องนำเสนอเรื่องราวที่ประชาชนให้ความสนใจ ส่วนความต่างจะอยู่ที่ว่า การเป็นสื่อมวลชนจะเรียกร้อง ‘ความเป็นมืออาชีพ’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ มากกว่าสื่อทั่วไป
“เมื่อคุณมีอาชีพเป็นสื่อมวลชน คุณต้องรับผิดชอบว่าการนำเสนอข่าวสารของคุณไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลทั่วไป แต่ยังต้องระมัดระวังที่จะไม่ขยายความขัดแย้ง และสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา นั่นคือความรับผิดชอบ” เท่านั้นยังไม่พอ สื่อมวลชน “ยังต้องมีการนำเสนอทางออกให้แก่สังคมด้วย ไม่ใช่เสนอแต่ปัญหา”
พลเมืองเน็ต เครือข่ายปัจเจกกับพลังการสื่อสารที่ไม่ต้องพึ่งพาสถาบันวิชาชีพ
เพื่อทำความเข้าใจความหมายของการเป็นสื่อมากขึ้น ฐิตินบยังเล่าถึงภูมิศาสตร์และนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะ 20 ปีมานี้ จากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตที่กลายเป็นโลกคู่ขนานกับโลกกายภาพ ทำให้เกิดประชากรที่เรียกว่า ‘พลเมืองเน็ต’ (netizen)
การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารอันเป็นตัวแปรที่พลิกโฉมภูมิทัศน์สื่อให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ยังดำเนินไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมืองที่โน้มไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยในสายตาของฐิตินบ การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตคือ การเวนคืนอำนาจการสื่อสารให้กับประชาชน
“ช่องทางการสื่อสารหรือเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้ช่วยเพิ่มอำนาจของพลเมือง ทั้งการรับข้อมูลและการสื่อสาร ท้ายที่สุดเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต มันเข้ามาเวนคืนอำนาจการสื่อสารให้กับประชาชน เวนคืนอำนาจการสื่อสารจากสื่อมวลชนอาชีพให้เข้ามาอยู่ในมือประชาชนและพลเมือง ให้เขาสื่อสารได้ด้วยตัวเอง สื่อสารเรื่องราวของเขา สื่อสารเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะจากพลเมืองเอง”
ในแง่นี้ประชาชนจึงสามารถกลายเป็นสื่อพลเมืองได้ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ไปเพิ่มอำนาจการสื่อสาร (communicative power) ให้แก่พลเมือง เมื่อพลเมืองในอินเทอร์เน็ตมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเองก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เครือข่ายปัจเจก’ (network individual)
การเกิดขึ้นของเครือข่ายปัจเจกยังท้าทายระเบียบการสื่อสารแบบเดิมอยู่ไม่น้อย เพราะมันทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงทางเลือกใหม่ๆ ไม่ว่าจะด้านข้อมูลข่าวสาร หรือการเข้าถึงบุคคลและแหล่งทรัพยากร รูปแบบของเครือข่ายนี้ได้ก้าวข้ามขอบเขตของความเป็นสถาบันหรือความเป็นองค์กร การเป็นสื่อจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งอีกต่อไป สื่อบางสำนักอาจนำเสนอข่าวได้แม้ทั้งสำนักจะมีคนเพียงคนเดียว
“เครือข่ายนักข่าวพลเมือง ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งเป็นองค์กร เป็นสมาคม หรือเป็นอะไร ไม่ต้องเลย เราอยู่กันอย่างเป็น network เป็นเครือข่ายปัจเจก แล้วการเกิดขึ้นทั้งหมดของนักข่าวพลเมือง สื่อภาคประชาชน เครือข่ายปัจเจกทางอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย ถือเป็นการท้าทายอำนาจและอิทธิพลของอำนาจเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด เพราะเครือข่ายปัจเจกทางอินเทอร์เน็ตก็สามารถตรวจสอบสื่อมวลชนได้ด้วย”
เมื่อการสื่อสารเป็นเครื่องมือทางการเมือง การต่อสู้ช่วงชิงนิยามสื่อจึงเกิดขึ้น
การท้าทายอำนาจเดิมของการดำรงสถาบันสื่อ ดูเหมือนจะเป็นคำตอบว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ชอบถามหาสังกัดของผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อในพื้นที่การชุมนุม โดยทัศนะของฐิตินบมองว่า เหตุที่สื่อมักเป็นจำเลยในการต่อสู้ทางการเมือง “เพราะการสื่อสารเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญ เป็น soft power ในทุกสมรภูมิของคู่ขัดแย้ง
“ทุกฝ่ายจะแย่งชิงอำนาจการนิยามความหมาย ทั้งทางบวกและลบให้แก่ขั้วตรงข้าม ดังนั้น สถานการณ์ความไม่สงบในการชุมนุมที่ดินแดง รัฐจึงเริ่มด้วยการขีดเส้นก่อนเลยว่า ใครเป็นสื่อ ใครเป็นผู้ชุมนุม เพื่อที่จะเลือกใช้อำนาจทางกฎหมาย หรืออำนาจเชิงปฏิบัติการด้วยอาวุธ ในการจัดการกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน จึงไม่แปลกที่รัฐหรือตำรวจพยายามจะนิยามว่าใครเป็นสื่อจริงหรือสื่อปลอม หรือใครเป็นผู้ชุมนุมที่แฝงตัวมาเป็นสื่อ …นิยามก่อน นิยามเสร็จแล้วเขาก็ใช้อำนาจ”
เมื่อสื่อกำลังถูกช่วงชิงความหมายผ่านการนิยามของรัฐ คำถามที่ตามมาคือ แล้วสื่อควรมีปฏิกิริยาอย่างไร คำตอบสำหรับฐิตินบคือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่สื่อจะต้องยืนยันว่าตัวเองเป็นสื่อ
“ไม่ต้องรอให้ใครมายืนยันว่าเราเป็นสื่อ เราต้องนิยามกลับไปด้วย หรือไม่คุณก็เปิดพื้นที่กลางให้ทุกคนมาช่วยกันนิยามบทบาทของแต่ละคน” เพราะหน่วยรัฐก็ใช่ว่าจะไม่รู้ภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันเสียทีเดียว แต่สิ่งที่รัฐทำดูจะเป็นปฏิบัติการทางอำนาจ มากกว่าจะเป็นการยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“รัฐก็รู้นะคะ ในเชิงทฤษฎี ในเชิงความเป็นจริง รัฐก็รู้ว่ามันมีสื่อพลเมือง มีสื่อภาคประชาชนอะไรทั้งหมดแล้ว แต่รัฐกำลังต่อสู้แย่งชิงและสร้างความหมายเพื่อที่จะใช้กฎหมาย”
เมื่อถามถึงกลไกของการมีปลอกแขนสื่อ ฐิตินบตอบว่า การมีปลอกแขนสื่อไม่ได้รับประกันความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่เสมอไป ผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อจะต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากทุกฝ่าย โดยทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือผู้ชุมนุมก็จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้สื่อได้ทำงานด้วย
การคุกคามสื่อโดยรัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ ประสบการณ์และการตอบโต้เมื่อสื่อถูกกระทำ
ฐิตินบเล่าว่า ปรากฏการณ์ที่ ‘โอปอ’ จากสำนักข่าวราษฎรถูกจับขณะปฏิบัติหน้าที่สื่อ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด เพราะจากประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ 15 ปี นักข่าวหรือสื่อที่นำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับรัฐ ณ ตอนนั้น มักตกเป็นเป้าของอำนาจรัฐอยู่เสมอ
“ไม่ต่างจากสำนักข่าวทางเลือกต่างๆ ในชายแดนใต้ที่เคยโดนกระทำเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แม้กระทั่งปี 2550-2551 ที่ไทยพีบีเอสอบรมเครือข่ายนักข่าวพลเมืองไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นักข่าวเหล่านั้นก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงหรือทหาร ปิดล้อมตรวจค้น ถูกเชิญตัวไปที่ค่ายทหารหลายครั้ง สำนักข่าวสื่อทางเลือกที่พยายามสื่อสารปัญหาการละเมิดสิทธิของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ สื่อพลเมือง หรือสื่อภาคประชาชนในพื้นที่ก็ถูกรัฐเข้ามาติดตาม ควบคุม ปิดล้อม หรือพยายามตั้งข้อหาให้ ไม่ต่างจากสิ่งที่คุณโอปอโดน มันเป็นปฏิบัติการกับคนที่สื่อสารในสิ่งตรงข้ามกับรัฐมักจะโดนแบบนี้”
คำถามต่อมาคือ เมื่อสื่อถูกคุกคามจากรัฐแล้ว สื่อตอบโต้ด้วยวิธีใดได้บ้าง
“ตอนนั้นเราตอบโต้ด้วยการจัด ‘วันสื่อทางเลือก’ แล้วก็จัดตั้งเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม แล้วเชิญรัฐมาร่วมงาน แล้วบอกเขาว่าบทบาทของสื่อ นอกจากสื่อมวลชนแล้ว ยังมีสื่อภาคประชาชน สื่อของเครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ สื่อเด็ก สื่อพลเมือง ก็ educate เขา ซึ่งเราจัดงานสื่อทางเลือกแบบนี้ 3-4 ปีติดต่อกัน”
ฐิตินบยังยกตัวอย่างการตอบโต้ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ที่คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ถูกจำกัดสิทธิอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าถ้าใครไม่ใช่สื่อมวลชนก็แทบจะถือกล้องในพื้นที่สาธารณะไม่ได้
“พวกเราก็จัดตั้งเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ แล้วก็ติดปลอกแขนสีส้มขึ้นมา เพื่อไม่ให้รัฐผูกขาดภาพการจัดการความขัดแย้งในชายแดนใต้อยู่ฝ่ายเดียว
“การยอมให้รัฐปิดกั้นการสื่อสาร การไลฟ์สด หรือการนำเสนอภาพการชุมนุม จะเท่ากับการเปิดโอกาสให้รัฐผูกขาดการสื่อสารด้านเดียว สิ่งที่พลเมืองต้องทำคือ สื่อสาร ถ่วงดุล ตรวจสอบปฏิบัติการของภาครัฐ …ก็สู้กันต่อไป”
เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นทั้งหมุดและหมายของสังคม
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นเครือข่ายปัจเจกที่ก้าวข้ามความเป็นสถาบันไปแล้ว จึงน่าขบคิดต่อว่า บทบาทของสมาคมและสภาวิชาชีพสื่อควรเป็นไปในทิศทางใด
สำหรับฐิตินบ แม้สื่อในสถานการณ์ปัจจุบันจะมาถึงจุดที่สภาวิชาชีพไม่สามารถรับรองประเภทของสื่อได้ทั้งหมด แต่สมาคมหรือสถาบันสื่อต่างๆ ก็ควรต้องเป็นหลักประกันเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นให้ทั้งสื่อและประชาชน เพราะเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นจะเป็นฐานสำคัญในการทำงานสื่อ เธอยังบอกด้วยว่า แม้จะเห็นว่าสมาคมพยายามทำสิ่งนี้อยู่ แต่ก็ยังทำด้วยน้ำหนักที่น้อยไป
“อย่างน้อยสิ่งที่สภาวิชาชีพสื่อ หรือสถาบันสื่อ ควรต้องทำคือ คุณต้องเป็นหลักประกันเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นให้ทั้งสื่อและประชาชนตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
“พอถึงวันที่ 3 พฤษภาคม (วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก) คุณก็จะรณรงค์ว่า ‘การคุกคามสื่อเท่ากับการคุกคามประชาชน’ แต่พอถึงจุดที่ประชาชนถูกคุกคามด้านการสื่อสาร คุณก็ต้องออกมาสู้ด้วย คุณจะต้องเป็นหลักประกันด้านเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วย”
ข้อเสนอจากหมาเฝ้าบ้าน
ในตอนท้าย ฐิตินบยังได้ทำสิ่งที่พูดไว้ในตอนต้นให้ปรากฏเป็นรูปธรรม นั่นคือ การนำเสนอปัญหาและหาทางออกให้แก่สังคม อย่างที่สื่อมวลชน หรือ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ พึงกระทำ
ฐิตินบวิเคราะห์ว่า เฉพาะพื้นที่การชุมนุมที่ดินแดง คู่ขัดแย้งคือกลุ่มมวลชนอิสระที่ปฎิบัติการในนามทะลุแก๊ส กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจจะสูงกว่าตำรวจ โดยกำลังจะกลายเป็นสามเส้า ที่มี “ผู้ที่ได้รับผบกระทบจากการชุมนุมยืดเยื้อ บริเวณแฟลตดินแดงและใกล้เคียง” ถ้าไม่รีบแก้ไข วันหนึ่งคนในพื้นที่อาจตีกันเอง
“จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อเรื้อรัง มันบอกเราว่า สิ่งที่จำเป็นเพื่อไปสู่ทางออกร่วมกันของความขัดแย้ง มี 3 อย่าง คือ
- พื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย หมายความว่า ถ้าคุณจะขัดแย้งกัน ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปใช้ ถ้าคุณจะมีปฏิบัติการในการใช้ความรุนแรง ต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่นั้นๆ
- ควรมีพื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัย เช่น เป็นไปได้ไหมที่จะปิดถนนดินแดงทุกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีการแสดงออกทางการเมือง
- เป็นข้อที่จำเป็นมาก คือ ต้องมีพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งได้มีข้อเสนอของตัวเองขึ้นมาอย่างปลอดภัย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถหาทางออก หรือหาฉันทามติด้วยกันได้เลย”
สิ่งที่รัฐทำอยู่ “เป็นการหดพื้นที่ปลอดภัยของทุกฝ่าย แล้วรัฐผูกขาดการจัดการความขัดแย้งอยู่ฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้มวลชนอิสระที่ดินแดงได้แสดงความคิดเห็น พอคุณเริ่มใช้ คฝ. เข้ามาปราบปราม คู่ตรงข้ามเขาก็จะเริ่มใช้ปฏิบัติการที่ไม่น้อยไปกว่ากัน แต่ถ้ารัฐใช้ปฏิบัติการอื่นเข้ามา มวลชนที่ดินแดงก็จะปรับตัว”