ต้นเดือนกันยายน 2565 หนังสือ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok (ช่วงขณะแห่งความเงียบงัน: สภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลงของเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่กรุงเทพฯ) ของ ธงชัย วินิจจะกูล ได้รับรางวัลหนังสือชนะเลิศสาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี 2022 โดย European Association for Southeast Asian Studies (EuroSEAS)
รางวัลนี้มิได้เป็นเพียงหลักฐานบ่งชี้สถานะทางวิชาการบนเวทีสากลของธงชัย หากแต่เป็นคำยืนยันว่าเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (1976) เป็นหนึ่งในบาดแผลฉกรรจ์ทางประวัติศาสตร์ เป็นฉากเหตุการณ์สำคัญที่คนรุ่นปัจจุบันทั้งในประเทศและนอกประเทศให้ความใส่ใจใคร่รู้ เนื่องจากมันเปิดเปลือยความมืดมิด โหดเหี้ยม อัปลักษณ์ของสังคมไทย และช่วยรื้อถอนยากล่อมประสาททั้งปวงที่รัฐไทยพยายามยัดเยียดเรื่องเล่า ให้พลเมืองเคลิบเคลิ้มไปกับภาพฝันสังคมไทยอันงดงาม
ธงชัย วินิจจะกูล และคณะทำงาน ดำเนินโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online Archives) ต่ออายุความทรงจำของเหตุการณ์นี้ โดยหวังว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา จะช่วยทำหน้าที่เป็นประตูบานแรกให้กับผู้สนใจ เปิดออกไปเพื่อก้าวเดินสู่พื้นที่ทางความรู้ใหม่ๆ และความรู้ใหม่ๆ นั้นอาจช่วยให้ประเทศนี้ดีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง
หาก 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ผู้คนที่ร่วมในเหตุการณ์ย่อมมีบาดแผล ด้านหนึ่งของการทำงานจึงเป็นการต่อสู้กับบาดแผล และไม่ได้แปลว่าธงชัยจะชนะทุกครั้ง เขายอมรับว่าหลายครั้งเขาไม่สามารถรับมือสภาพจิตใจ ไม่สามารถทำงานต่อได้ ต้องมอบหมายไว้วางใจให้คณะทำงานคนอื่นช่วย
ยังไม่ต้องพูดถึงความทรงจำมักเล่นตลกกับคำบอกเล่าของคน ชุดข้อมูล คำให้การ บทสัมภาษณ์ และหลักฐานอื่นๆ สับสนวุ่นวายเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจหาข้อสรุปโดยง่าย การใช้แนวทาง ‘ความทรงจำศึกษา’ ของธงชัยจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการย้อนกลับไปสู่การก้าวขาครั้งแรกของโครงการ แนวคิด วิธีการ และการก้าวข้ามปัญหา ที่อาจจะทำให้ผู้ที่สนใจในอนาคตรู้ได้ว่า ควรจัดการกับข้อมูลหรือสร้างแนวทางการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบใดได้บ้าง
ไม่ใช่เพียง 6 ตุลา การคิดอ่านหาหนทางทำให้เรื่องราวอยุติธรรมดำมืดในหลายกรณี ผลักไปสู่การรับรู้ในสังคมอย่างกว้างขวาง ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสาร หลักฐาน สบตากับข้อเท็จจริงเพื่อเรียนรู้ความผิดพลาด ย่อมเป็นอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับจัดการปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทย
ธงชัยกล่าวว่าโครงการบันทึก 6 ตุลา จะมีประโยชน์อย่างมากหากถูกพัฒนาต่อไปใช้กับประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะหลายเหตุการณ์ที่ยังคลุมเครือ ไม่สามารถหาความกระจ่าง แต่ดำรงอยู่ได้ภายใต้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ใช้ปี ค.ศ. อ้างอิง ทั้งตามถ้อยคำผู้ให้สัมภาษณ์ และเพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบค้นเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน
แนวคิดแรกเริ่มของการเก็บข้อมูลที่กลายเป็นหนังสือ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok และข้อมูลบนเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ของอาจารย์มีกระบวนการทำงานอย่างไร เก็บอะไรไว้บ้าง มีคำถามแนวคิดการทำวิจัยอย่างไร และระหว่างการทำงานประสบปัญหาใดบ้าง
ผมไม่คิดว่าเอกสารส่วนใหญ่ของ บันทึก 6 ตุลา เป็นของผม หมายถึงว่า เอาเข้าจริงส่วนที่คนเข้าดูส่วนมากอย่างหนังสือพิมพ์ บันทึกการสัมภาษณ์ คลิปการสัมภาษณ์ญาติของผู้เสียชีวิต หรือว่าสารคดีสองเรื่องที่คุณ ภัทรพร ภู่ทอง กับอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ทำ ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย แม้หนังสือพิมพ์ที่ผมเคยเห็น ผมก็ถ่ายเอกสารบ้าง ขอการเข้าถึงเอาเป็นครั้งๆ บ้าง ไม่ใช่เอกสารที่ผมเก็บเองทั้งหมด จะเป็นส่วนข้างมากหรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่ว่าผมคิดว่าส่วนที่คนเข้าถึงหลายบทความ หรืออย่างบทความของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่คนเข้าไปดูเยอะๆ ก็ไม่ใช่ของผมแน่
ในส่วนที่ผมสมทบเข้ามาก็เยอะพอสมควร หลายร้อยแผ่น หลายร้อยไฟล์ เพราะส่วนใหญ่ผมได้มาก็จัดการสแกนเก็บไว้ ตัวเอกสารจริงๆ ไม่ได้เป็นเอกสารชั้นต้นที่มีค่าแบบที่เรียกว่าหายากยิ่ง ในเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา ผมเริ่มเก็บประมาณปี 1995-1996 โดยตอนนั้นยังไม่คิดที่จะเขียนหนังสือ ตอนนั้นคิดจะเขียนบทความ พอเขียนบทความเสร็จปี 1996 ตีพิมพ์ปี 2000 ผมก็มีข้อมูลจำนวนหนึ่งแล้ว แล้วพอเริ่มคิดจะทำเป็นหนังสือประมาณปี 2000 ถึงได้กลับมาดูอีกครั้งว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง จะเก็บอะไรเพิ่มเติมบ้าง
ส่วนเรื่องที่ว่าผมมีไอเดียก่อนล่วงหน้าไหม ไม่เชิงครับ เวลาเราทำวิจัยก็ไม่ได้มีไอเดียล่วงหน้าทั้งหมดหรอก ผมไปเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘ความทรงจำศึกษา’ (Memory Studies) ในช่วงครบรอบ 50 ปีสงครามโลกครั้งที่ 2 ครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว (Holocaust) ตอนนั้นผมเรียนรู้เรื่องพวกนี้เยอะ แล้วผมก็คิดกลับมาเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บ่อยจนกระทั่งก่อร่างเป็นไอเดีย ชวนเพื่อนฝูงจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
เมื่อปี 1995-1996 ผมมีไอเดียตั้งต้นแค่ชุดนั้น แต่ถามว่าการมีไอเดียตั้งต้นเป็นฐานสำคัญสำหรับการเก็บรวบรวมเอกสารใช่ไหม ใช่ แต่พอคิดจะทำเป็นหนังสือก็ต้องคิดเพิ่ม ต้องดูว่าจะเพิ่มส่วนไหนอีก หลังจากนั้นก็อ่านเพิ่ม มีไอเดียเพิ่ม มีคำถามเพิ่ม ก็นำไปสู่การแสวงหาหลักฐานเพิ่ม
ผมยกตัวอย่างชุดเดียวแต่หลายร้อยหน้าอยู่ในโครงการบันทึก 6 ตุลา เป็นชุดที่ผมตามหาฝ่ายขวา เวลาเราตามหาฝ่ายขวา เราคิดง่ายๆ หนึ่ง ไปหาคำให้การของเขาที่ให้กับตำรวจไว้หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งตอนนั้น ธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้ช่วยวิจัยให้ผม เขาก็ไปเจอคำให้การที่สำนักอัยการสูงสุดแล้วเราก็ไปดูกัน ดูทั้งรูปถ่าย ดูอะไรต่ออะไร ได้เห็นคำให้การชุดนี้ของฝ่ายขวา ตอนนั้นผมก็ตั้งข้อสังเกตคร่าวๆ ไว้เบื้องต้นว่าไม่มีกระทิงแดงสักคน กระทิงแดงผมพอรู้จักอยู่ เราโตมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรารู้จักเพื่อนฝูง… อย่าเรียกเพื่อนฝูงเลย เอาว่ารู้กันมาก่อนว่าใครเป็นใคร อยู่โรงเรียนไหน ไม่มีคนเหล่านี้สักคนเดียว ผมก็ติ๊กไว้
ขณะเดียวกันเราก็ได้รายชื่อของฝ่ายขวาที่ให้การ คือคนที่ให้การไม่ใช่ฝ่ายขวาทั้งหมด แต่มีคำให้การอยู่ในสำนักงานอัยการที่เราก็สามารถอ่านได้ ผมก็นั่งอ่านทั้ง 200 กว่าคนก็พอจับได้ว่าใครบ้างที่เราสนใจจะติดตามพูดคุยด้วย หลังจากนั้นก็ทำรายชื่อออกมา จำนวนเกินครึ่งไม่อยู่ในที่อยู่เดิมในคำให้การ และอีกจำนวนหนึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ (Public Figures) หมายถึงเป็นสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บ้าง อยู่องค์กรต่างๆ บ้าง คนเหล่านี้หาตัวง่ายแต่ไม่น่าสนใจ เพราะหลังจากผมตามไปสัมภาษณ์ได้สองสามคนก็รู้ว่า เขาจะพูดในสิ่งที่เขาจะปลอดภัย พูดกลางๆ ให้สอดคล้องกับความนิยมหรือค่านิยมตอนนั้น ซึ่งไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับผม
บางคนอย่าง สมศักดิ์ ขวัญมงคล เขาพูดเหมือนเดิมเป๊ะเลย แทบจะไม่มีอะไรออกนอกลู่นอกทางจากที่เคยพูด คนเหล่านี้ผมก็คุ้ยอีกทีหนึ่งแต่ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร ผมก็เลยดูชื่อที่คนยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในปี 2000 แทน
ผมต้องศึกษาฝ่ายขวาในประเทศอาร์เจนตินากับประเทศบราซิลเพื่อจะได้ไอเดียบ้าง ไม่ได้ถึงขนาดเลียนแบบเขามาเพราะไม่เหมือนกัน พอผมมาเจอเอกสารชุดนี้ ตอนเขียนบทความที่ตีพิมพ์ปี 2000 ผมยังไม่มีเรื่องฝ่ายขวาอยู่ในหัวเลย พอได้เอกสารชุดนี้มา ทั้งไอเดีย ทั้งหลักฐาน และการสืบหาก็สะสมเข้ามาเรื่อยๆ
ถามว่าเอกสารชุดนี้ยกให้ บันทึก 6 ตุลา ใช่ไหม ไม่ใช่ครับ เนื่องจากตอนที่ผมทำวิจัยเราไม่สามารถจะเข้าไปไปถ่ายเอกสาร ผมให้ธนาพลจ้างนักเรียนไปนั่งพิมพ์ ก็เหมือนไปค้นหอจดหมายเหตุ ทุกวันนี้คุณก็ยังต้องใช้ดินสอนั่งจดอยู่ บางชิ้นเขาให้คุณถ่ายเอกสารได้ บางชิ้นคุณต้องไปนั่งจด เพราะฉะนั้น เวลาผมไปนั่งจดผมก็ไม่ได้ไปนั่งจดทั้งหมด ผมจดเฉพาะส่วนที่ผมสนใจ แต่เวลาจะมาเข้า ‘บันทึก 6 ตุลา’ เราต้องการเอกสารทั้งชิ้น เพราะเราไม่ได้มีคำถามล่วงหน้าสำหรับคนที่จะมาใช้เอกสาร เราต้องสามารถทำให้เขาเห็นเอกสารทั้งชิ้นได้ด้วยตัวของเขาเอง
พอทำ บันทึก 6 ตุลา เอกสารหลายๆ ชิ้นเราก็ต้องทำขึ้นมาใหม่ อย่างนี้คุณจะเรียกว่าเป็นเอกสารจากผมหรือเปล่า ก็ไม่เชิง เพราะว่าเขาต้องได้มา (acquired) ใหม่ แต่ส่วนที่มีของผม ผมก็มีของผมสิ เป็นส่วนที่จดออกมา เป็นตัวหนังสือแล้วพูดให้คนพิมพ์เป็นตัวอักษรก่อนจะส่งให้ผม อะไรอย่างนี้จะไม่ครบถ้วนทั้งหมด เช่น ผมจะไม่มีข้อมูล 214 คน เพราะผมจะมีเฉพาะคนที่ผมสนใจ บางชิ้นมีไม่ครบ หน้าไหน คนไหน ส่วนไหนให้การแล้วน่าสนใจผมจะใช้ นี่เป็นตัวอย่างเดียวของชุดเดียวนะครับ เอกสารพันกว่าหน้าเป็นตัวอย่างเพื่อที่จะบอกว่า ไอเดียและคำถามมันเกิดขึ้นได้ ส่วนหลักฐานเวลาที่ไม่มีอยู่ หมายถึงมีอยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง ไม่มีอยู่จริงๆ ต้องหาทางค้นหากันใหม่ และ สอง มีอยู่แล้วแต่เรายังไม่รู้จัก พอเรารู้จัก เรามีคำถาม ก็จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา
แต่เมื่อวัตถุประสงค์ของผมกับใน บันทึก 6 ตุลา ไม่ได้เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะ บันทึก 6 ตุลา ต้องการเป็นแหล่งข้อมูลให้คนใช้ ขณะที่วัตถุประสงค์ของผมคือการใช้ไปเขียนหนังสือ ซึ่งผมมีคำถามเรียบร้อยแล้ว อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามันมีขั้นตอน ที่เอาเข้าจริงก็เป็นขั้นตอนปกติของงานวิจัย
ที่อาจารย์บอกว่าคำถามเริ่มจากการมองหาฝ่ายขวา เอกสารที่อาจารย์พบในบันทึก 6 ตุลา มันสามารถเล่าเรื่องฝ่ายขวาในช่วง 6 ตุลาได้มากน้อยแค่ไหน
การค้นคว้าประวัติศาสตร์มีสิทธิที่บางคำถามจะตอบด้วยเอกสารตรงไปตรงมาชุดเดียว แต่บ่อยครั้งมัน ไม่ใช่ เพราะหัวข้อคำถามมันใหญ่ และต่อให้ได้หลักฐานก็หนีไม่พ้นการตีความ การวิเคราะห์ของเรา การปะติดปะต่อของเรา ด้วยเหตุนี้ความรู้ประวัติศาสตร์มันจึงเปลี่ยนแปลงได้เพราะเราอาจตีความผิด อาจเข้าใจผิด อาจได้หลักฐาน ต่อมามีหลักฐานที่เราค้นคว้าใหม่ๆ หรือเริ่มต้นจากการที่เราถามคำถามแบบหนึ่ง คนอื่นถามคำถามเรื่องฝ่ายขวาจะถามอีกแบบหนึ่ง แล้วเห็นตรงที่ผมไม่สนใจในแหล่งหลักฐานชุดเดียวกัน ขณะที่ผมตั้งคำถามอย่างหนึ่งของผม ผมก็เห็นตรงที่ผมสนใจ เพราะฉะนั้นชุดเดียวมันไม่พอหรอกครับ แต่เอกสารชุดนั้นเป็นจุดตั้งต้นให้เราไล่ตามได้ เป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้ผมรู้ว่ากระทิงแดงไม่เคยให้การสักคน เพราะฉะนั้นเวลาไล่ตามก็ไล่ตามคนเหล่านั้น เช่น ไปถึงนาวาเอกอมร สุวรรณบุปผา ไปถึงคุณอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขาให้การด้วย ไปถึงอีกบางคน ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อเพราะเขาเป็นบุคคลธรรมดาๆ ทำมาหากิน ซึ่งไปให้การในครั้งนั้น ซึ่งยังต้องตามไปคุยสัมภาษณ์
พอสัมภาษณ์เราเจออะไรอีกหลายอย่าง เช่น สิ่งที่พวกเขาพูดหลายคนเลยนะครับมันไม่เหมือนสิ่งที่เขาให้การกับตำรวจ ไม่เหมือนเยอะมาก ในกรณีนี้อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขาโกหกวันนั้นเมื่อหลัง 6 ตุลาคม หรือโกหกวันนี้เมื่อ 32 ปีต่อมา ไม่แน่อาจจะโกหกทั้งคู่ หรืออาจจะไม่โกหกทั้งคู่ก็ได้ หรือความทรงจำอาจจะพร่าเลือนโดยสุจริตใจก็ได้ เราสรุปไม่ได้ทั้งนั้น เพียงแต่เราก็มีจุดตั้งต้นให้ทำงานต่อ ให้ไปสัมภาษณ์ แล้วเอามาเทียบกัน
ขณะเดียวกันคนที่ให้สัมภาษณ์คนหลายคนเขาระบุว่าเขาไม่ต้องการมีชื่อมีเสียง ผมจึงไม่สามารถระบุได้ นั่นหมายถึงส่วนที่เขาสัมภาษณ์กับผม ผมใช้ได้วิเคราะห์ตีความได้ แต่เขาไม่อนุญาตให้ผมเผยแพร่ อันนี้ถือเป็นเรื่อง fair game ฉะนั้นถามว่า ผมอาจจะเขียนโดยที่ผมเข้าใจคำสัมภาษณ์ผิดใช่ไหม เป็นไปได้ ประวัติศาสตร์มันก็เลยมีความรู้ใหม่ๆ มีการค้นคว้า มีการถกเถียงใหม่ๆ ได้เสมอเพราะเหตุนี้
อาจารย์บอกว่าญาติของผู้ถูกกระทำบางคนปฏิเสธว่าอย่าสัมภาษณ์เขาเลย กรณีนี้ส่งผลต่อการเก็บข้อมูลแค่ไหน และจัดการแก้ปัญหาอย่างไร
มันก็ส่งผลแน่ ๆ แต่ว่ามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคำถามตั้งต้น ขึ้นอยู่กับการหาทางออก เช่น ในกรณีนี้ เรามีคำให้การของญาติที่เปิดเผยเรียบร้อยแล้วจำนวนหนึ่ง เรามีคำให้การของญาติซึ่งยินดีพูดคุยกับเราแล้วจำนวนหนึ่ง ใช่ไหมครับ แล้วก็อยู่ที่คำถาม สมมุติเล่นๆ นะ ผมต้องการเขียนหนังสือสักเล่ม เอาแต่เรื่องญาตินี่เลย มี reaction ต่างกันอยู่ประมาณ 10 ประเภท 10 เฉด สมมุติอย่างนี้นะ อันนั้นการที่ไม่ได้สัมภาษณ์คนจำนวนอาจจะสัก 30 เปอร์เซ็นต์อาจจะมีผลสะเทือน แต่สำหรับโปรเจ็กต์ที่ผมทำตั้งแต่ต้น และก็เป็นทางออกด้วย อย่าลืม แม้แต่เรื่องฝ่ายขวาก็เถอะที่เมื่อกี้ว่าไปหรือเรื่องญาติทำนองเดียวกัน ทุกคนมีเหตุผลที่จะไม่อยากให้สัมภาษณ์ ไม่อยากพูดคุยด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป
แม้แต่ผมเองยังมีเหตุผลเลย การสัมภาษณ์คนถ้าทำครั้งเดียวถือเป็นการกระทำที่ไม่พอ ผมเขียนไว้ชัดเจนในหนังสือนะ ผมสัมภาษณ์ฝ่ายขวาคนละหนึ่งครั้ง ขออภัย ผมทนไม่ได้ที่จะกลับไปนั่งคุย มีโอกาสที่เอาเข้าจริงมันขึ้นอยู่กับเราตีความอยู่เยอะนะ แต่ผมขอบอกตามตรงผมไม่ขอทนไปนั่งคุยนานมากกว่านี้ ผมสัมภาษณ์อมร สุวรรณบุปผา กับกลุ่มที่ผมคิดว่าเป็นคนลงมือจริงๆ สองครั้ง เป็นกลุ่มเดียวที่ผมสัมภาษณ์สองครั้ง และทั้งสองครั้งก็คอนเฟิร์มว่าเขายังภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ แล้วก็อวดว่าเขาน่ะทหาร ไม่ใช่กระทิงแดง เขาน่ะเป็นผู้ลงมือ
ฉะนั้นในกรณีญาติ ผมพอจับแพทเทิร์นเขาได้ และผมตั้งแต่แรกผมไม่คิดที่จะลงไปให้ละเอียดกว่านั้น ผมไม่คิดจะเขียนหนังสือว่าด้วยเรื่องญาติ เอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าผมทำมีสิทธิ์ว่าข้อมูลเท่าที่ได้อาจไม่พอ แต่ผมไม่ได้เน้นจุดนั้น ผมคิดว่าพอเราได้ข้อมูลที่คิดว่าพอจะอธิบายได้ก็อธิบายไปเถอะ ถ้าหากใครหยิบงานชิ้นนั้นออกมาเป็นงานที่จะศึกษาต่อไปก็ดูให้ดี อาจจะต้องการเพิ่ม
ตอนอาจารย์ไปสัมภาษณ์ เห็นว่ามีฝ่ายขวาบางคนพูดสั่งสอนอาจารย์ด้วย?
ก็ธรรมดา เขาคิดว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ในจำนวนคนที่สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ยังพอจำชื่อผมได้ คุณคิดว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่สมัยนั้นจะมองพวกเรายังไง นอกจากเป็นฝ่ายศัตรูแล้ว เขายังมองว่าเราเด็ก ถึงแม้ตอนนี้เราจะคุยกับเขา เราไม่เด็กแล้ว แต่ในอิมเพรสชันเขาเราก็ยังเด็กอยู่ เขาก็อบรมสั่งสอน
ปกตินักวิชาการจะหวงข้อมูลที่ตัวเองเก็บมา เหตุใดอาจารย์จึงยกข้อมูลเหล่านี้มาให้โครงการบันทึก 6 ตุลา
วัตถุประสงค์ของการทำแหล่งข้อมูลที่เรียกว่าหอจดหมายเหตุ ซึ่งตรงนี้ขออนุญาตนิดหนึ่งนะ เพราะเป็นศัพท์ที่ตลก คำว่า archives หรือแหล่งเอกสาร กับคำว่าหอจดหมายเหตุ เป็นคำที่มีความหมายพอๆ กัน แหล่งเอกสารเป็นคำที่เป็นกลาง แต่เรากลับใช้หอจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นคำศัพท์หลวงสำหรับเอกสารสมัยโบราณ
จุดประสงค์ของแหล่งเอกสารที่เรียกว่า ‘บันทึก 6 ตุลา’ ผมกับเพื่อนๆ คิดตั้งแต่ต้นว่าเป็นวิธียืดอายุของความทรงจำ อย่าลืมว่าตอนที่คิดกันการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีมากขึ้นตั้งแต่ปี 1996 แม้ว่ายังไม่ถึงกับเป็นบรรยากาศงานรำลึกต่อเหตุการณ์ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นถัดไปและคนเข้าร่วมกลับมีจำนวนมหาศาล มีการพูดถึงอย่างมาก ตอนที่ทำ บันทึก 6 ตุลา บรรยากาศยังไม่ถึงขนาดนั้น
โดยส่วนตัวของผมเองอาจจะเป็นความเชื่อของนักประวัติศาสตร์ในภาวะที่เราพูดได้จำกัด พูดไปคนก็ยังไม่ค่อยสนใจ เรารวบรวมเอกสารและหลักฐานให้เขาซะ สักวันหนึ่งก็จะมีคนมาศึกษา เพราะว่าเรามักจะเข้าใจว่านักประวัติศาสตร์หรือคนที่สนใจไปหาข้อมูลก่อนใช่ไหม ผมคิดว่าความเป็นจริงคือการมีข้อมูลมาก่อน จะทำให้ค้นพบคนที่อยากจะศึกษามัน ผมก็ไม่รู้ว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่ขั้นตอนมักจะเป็นอย่างนี้
พอมีข้อมูลอยู่ก็จะมีคนที่คิดคร่าวๆ ยังไม่ชัดนัก มาจ๊ะเอ๋กับข้อมูลเหล่านั้นแล้วจมดิ่งลงไปจนสามารถศึกษาออกมา ทำนองเดียวกับที่ผมมีส่วนตั้งหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ผมก็เอาข้อมูลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อะไรต่อมิอะไรเข้าไป ก็เป็นการต่ออายุให้ พคท. ในแง่ของการศึกษาหาความรู้ ด้วยความเชื่อว่าการมีเอกสาร มีหลักฐานอยู่ สักวันหนึ่งจะเจอคนที่ศึกษา บันทึก 6 ตุลา ทำนองเดียวกัน
อย่างที่บอกไปแล้ว ผมไม่ใช่ที่มาของบันทึกทั้งหมด ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเกินครึ่งหรือเปล่า แต่ว่าพอมีความคิดว่าอยากจะทำก็ต้องเสาะหาหนังสือพิมพ์เข้ามา ทั้งอาจารย์พวงทอง คุณภัทรพร คุณธนาพล ก็ระดมเข้ามาทั้งหนังสือพิมพ์และบทความต่างๆ รวมถึงเราก็ตั้งโครงการขึ้นมาตามสัมภาษณ์ญาติ เราก็ใช้วิธีทำนองไล่ตามสืบค้นหา ไล่ตามสัมภาษณ์ ถ้าเขาไม่ให้เราก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังตามตัวไม่พบอยู่ดี แต่ว่าสำหรับคนที่ได้เราก็ทำทั้งถ่ายคลิป บันทึกภาพ บันทึกเสียง แล้วถอดความออกมาเผยแพร่ ทั้งหมดนี้เราเชื่อว่าจะเป็นการยืดอายุความทรงจำ จุดประสงค์มีแค่นี้ ถ้าถามว่าส่วนของผมมีแค่ไหน ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้แหละ มีเท่าไรก็ยกให้ไม่เห็นเป็นเรื่องต้องเก็บ เพราะมันไม่ใช่เอกสารลึกลับ ผมคิดเพียงแค่ว่าผมมีความตั้งใจจะทำ มีความมุ่งมั่นว่าจะทำ ว่าจะศึกษาเรื่องนี้ในมุมที่จะไม่แก้ตัวหรืออธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงความทรงจำของมันต่างหาก
ดังนั้นเมื่อเสร็จก็ยกให้โครงการ ถ้าคนอื่นมีเอกสารอื่นที่คิดว่าเกี่ยวข้องและคิดว่าตัวเองไม่ใช้ ผมก็ยังยินดีรับนะครับ แต่เพียงว่าสำหรับ บันทึก 6 ตุลา สิ่งที่เราทำก็คือ เราจะทำในรูปดิจิทัล เราจะสแกนเก็บ เอกสารตัวจริงถ้าดูแล้วซ้ำซาก เป็นสิ่งที่หาจากที่อื่นได้ เราก็อาจจะไม่เก็บ แต่ถ้ามีค่าเราก็จะยกไปฝากไว้ที่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
ถ้าคนที่จ๊ะเอ๋กับข้อมูลนี้เหล่านี้เป็นฝ่ายขวา สามารถเข้ามาใช้ข้อมูลได้ไหม จะยังตรงกับเจตจำนงของคนทำหรือไม่
เจตจำนงของเราไม่ได้จะทำไว้ให้เฉพาะคนที่ไม่ใช่ฝ่ายขวา ใครก็ได้ ใช้ไปเถอะ อย่างมากที่สุดก็สู้กัน เรามีสิทธิที่จะใช้ข้อมูลเดียวกันต่อสู้กันได้ คุณจะใช้ข้อมูลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ เพื่อจะบอกว่ามีคอมมิวนิสต์มีแผนการร้ายอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ทำมา อย่างมากที่สุดคนอื่นเขาอาจจะคิดต่างกัน ก็สู้กันไป กรณี 6 ตุลาก็ทำนองนั้นเช่นกัน คำถามนี้ทำให้ผมนึกได้ว่า เราได้เซ็นเซอร์ข้อมูลที่จะก่อความเสียหายให้นักศึกษาตอน 6 ตุลาหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ผมรู้ไม่มี
มีข้อมูลใดที่พอค้นเจอแล้วน่าสนใจมาก แต่ไม่ได้ถูกหรือไม่สามารถนำมาใช้ได้บ้างหรือไม่
ว่าไปแล้วก็มีนะ บางจุดซึ่งผมเว้นไว้สำหรับให้คนอ่านได้ไปคิดต่อเอง เช่น หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องฝ่ายขวาโดยเฉพาะ ผมไม่ได้ลงไปค้นคว้าต่อมากพอที่จะเขียนหรือสรุป อย่างมากที่สุดผมก็ทิ้งเป็นคำถามไว้ ซึ่งก็หลายจุดที่มีคำถามหรือข้อสังเกตไว้ แต่ถามว่าผมมั่นใจไหม ยังหรอก ทิ้งเป็นคำถามไว้แค่นั้น
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่ผมเขียนเกี่ยวกับนวพล ผมคิดว่านวพลเป็นเสือกระดาษ เป็นจัดตั้งที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ใครคือสมาชิกนวพลกันแน่ ที่บอกว่านวพลมีมวลชนเป็นล้าน ผมเชื่อว่าคนทั้งหลายอยู่ในเครือข่ายจัดตั้งต่อต้านคอมมิวนิสต์ของ กอ.รมน. อันนี้ในงานของอาจารย์พวงทองชี้ว่า คนพวกนี้มีเต็มไปหมด ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนในท้องถิ่นอะไรต่างๆ แต่ทั้งหมดคือจัดตั้ง หลายคนรับเงินปฏิบัติการให้ กอ.รมน. แล้วนวพลเป็นใคร นวพลบอกเขามีสมาชิกจำนวนมาก แต่ที่จริงนวพลไม่ได้มีสมาชิก เนื่องจาก กอ.รมน. จะปรากฏตัวเปิดเผยว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในรัฐบาล ใช้เงินภาษีประชาชน จึงมาจัดตั้งขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ มาเล่นงานนักศึกษา’ ทำได้ไหม มันทำไม่ได้
ดังนั้นจึงจัดตั้งองค์กรหน้าฉากขึ้นมา ให้มีตัวหน้าฉากอยู่แค่ไม่กี่คน มีคุณวัฒนา เขียววิมล กับมีคนมีชื่อเสียงที่คนรู้จักอยู่จำนวนหนึ่ง แค่นั้นพอ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรจัดตั้งอะไร เพราะเขาไม่จำเป็นต้องมีเป็นของนวพลเองต่างหาก ซึ่งถามว่านี่เป็นความมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ไหมที่ผมเสนอแบบนี้ ขอตอบว่าไม่ แต่ผมเสนอและลองไปคิดดู ให้คนอื่นแย้งมาสิ คนอื่นเจอหลักฐานก็ว่ามา เพราะผมดูอย่างอื่น เช่น ตกลงมีการประชุมนวพลโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มอื่นเลยกี่ครั้ง สองครั้ง ไม่เยอะ แถมหนึ่งในสองครั้งนี่ก็สมาชิกที่มาประชุมเป็นแกนนำผู้ใหญ่บ้านซะเยอะ จะบอกว่าเป็นสมาชิกนวพล หรือเป็นองค์กรจัดตั้ง กอ.รมน.ผมว่าก็พูดยาก นอกนั้นเป็นการชุมนุมที่ทำกับกลุ่มอื่น จนเราแยกแยะไม่ได้ว่าคนไหนสมาชิกนวพล คนไหนสมาชิกกระทิงแดง คนไหนไม่ใช่สมาชิกแค่เห็นด้วยกับกลุ่มทางฝ่ายขวา แยกไม่ออก ก็เป็นการชุมนุมรวมไป
วิธีการพวกนี้ผมก็เขียนไว้แล้วว่าในฝ่ายนักศึกษาเราก็ใช้ ไม่ใช่ไม่ใช้ แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาตินี่ยังไม่ใช่มวลชนของตัวเองเลย ก็เป็นบรรดากลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนี่แหละ ตั้งพวกองค์กรหน้าฉากขึ้นมา ฟังดูใหญ่โตสำหรับการเคลื่อนไหวชั่วคราว
นี่เป็นตัวอย่างที่บอกว่า จุดที่ผมเห็นและสงสัยต่อบทบาทของ กอ.รมน. แต่หลักฐานผมไม่ได้มีมากพอ คือเมื่อคุณไปสัมภาษณ์ นาวาเอกอมร สุวรรณบุปผา ก็จะเจอว่าแกเป็น กอ.รมน. แต่ไม่ชัดว่าแกทำด้วยตัวเองหรือทำด้วย กอ.รมน. แต่แกบอกว่าแกทำด้วยตัวแกเอง หรือเมื่อคุณดูบทสัมภาษณ์ของบางคนที่พูดถึงการประชุมฝ่ายขวา ซึ่งเขาไปเจอกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ประกอบกับเรื่องที่มีคนบอกว่าคุณจำลองเคยไปควบคุมดูแลการชุมนุมบริเวณลานพระรูปทรงม้า ซึ่งคุณจำลองเองก็ปฏิเสธ อย่างนี้เราจะเชื่อคำปฏิเสธเขาแล้วก็หยุด หรือเราจะไม่เชื่อ เราจะผนวกเรื่องนี้เข้ากันยังไง มีอะไรอีกล่ะ มีเรื่องกลุ่มกระทิงแดง ก็เป็น กอ.รมน. ใช่ไหม ถึงแม้ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าไม่จริง เป็นเรื่องที่พวกเขาทำกันเอง คุณจะเชื่องั้นเหรอ ตกลงเคยมีใครโยง กอ.รมน. กับ 2-3 เรื่องนี้เข้าด้วยกันไหม จะชี้ยังไงว่าคนที่ควรถูกคิดบัญชีเพื่อหาความยุติธรรมที่สุดคือ กอ.รมน. และใครก็ตามแต่ที่อยู่เบื้องหลัง กอ.รมน. ในยุคนั้น
เผลอๆ กอ.รมน. ยังทำแบบเดียวกันในยุคปัจจุบันอยู่ก็เป็นได้ ข้อมูลเหล่านี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าจริงแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันน่าสงสัยมาก ผมก็ทำได้เพียงแค่หยอดคำถามกับความเห็นของผมไว้ ผมไม่กล้าวิเคราะห์มากไปกว่านี้เพราะข้อมูลไม่เพียงพอ
มันมีประเด็นทำนองนี้อีกจำนวนหนึ่งแต่ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายขวา เป็นประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์เช้าวันนั้น เช่น เรื่องที่ผมเขียนเกี่ยวกับกรณีคุณพ่อของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่สุดท้ายแล้วผมไม่ทราบว่าทำไมแกไม่ได้ไปโรงพยาบาลตำรวจ หรือได้ไป เพราะแกพูดอะไรบางอย่างซึ่งผมไม่ได้บันทึกเนื่องจากผมไม่ชัด ผมไม่ชัดว่าแกพูดแล้วหมายความว่าไง พูดอะไรบางอย่างราวกับว่าแกไปเห็น แต่แกไม่คิดว่าเป็นลูกแก แม่แกเห็นยังบอกเลยว่าคนนั้นลูกแกๆ แสดงว่าแกต้องเคยเห็นอะไรบางอย่าง แต่มันไม่ชัด มีคำถามเหล่านี้อยู่เต็มไปหมด กรณีอย่างนี้จะเรียกว่าคำถามเล็กหรือคำถามใหญ่ ประเด็นในแง่ fact เล็กนิดเดียว ความใหญ่หรือไม่ใหญ่อยู่ที่ความผูกพันที่เรามีกับจารุพงษ์ใช่ไหม แต่ไม่ใช่ในตัวข้อมูลข้อเท็จจริง ผมก็คิดว่าหยุดแค่นั้น ผมไม่อยากจะถาม ไม่อยากจะวิเคราะห์ต่อ ไม่อยากจะกลับไปถามท่านอีกด้วยซ้ำไป รู้สึกมันมากเกินไปแล้ว ผมก็ปล่อยไว้ตรงนั้น
กระทั่งคำถามที่ผมถามฝ่ายขวาคนหนึ่ง คำให้การเขาต่างลิบลับเลยกับเมื่อตอนเขาให้การกับตำรวจ เช่น การที่เขาบอกว่าเพื่อนเขายิง ขณะเดียวกันเพื่อนกลับบอกว่าเขาต่างหากที่ยิง ผมก็ไม่คิดจะกลับไปถามให้ชัด ผมตัดสินใจบอกคนที่ไปสัมภาษณ์ว่า ผมตัดสินใจไม่ถามนะ เพราะสุดท้ายแล้วผมไม่รู้จะหาคำตอบไปทำไม คิดบัญชีเขาเป็นคนคนเหรอ ผมกลับคิดได้ว่า กรณีที่ความทรงจำสามารถเล่นตลกกับเราได้ ก็อาจจะเล่นกับตัวของเขาด้วย ดังนั้นความเป็นไปได้ทั้งหลายก็เก็บไปคิดเอาอาจจะมีประโยชน์กว่ามั้ง น่าจะมีประโยชน์มากกว่าที่จะลงไปหาว่าความจริงในแต่ละกรณีของคนคนนั้นคืออะไร
กลับไปเรื่อง กอ.รมน. ผมคิดว่ากรณีอย่างนี้ความผูกพันที่เรามีต่อเรื่องนั้นค่อนข้างใหญ่ ข้อมูลที่ยังไม่เคลียร์ก็เยอะ ผมไม่คิดจะทำหนังสือเรื่อง กอ.รมน. ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เพราะผมคิดว่า ผมเก็บให้คนที่มีความสนใจอยากจะหาต่อก็ลองไปหาดูแล้วกัน แต่ผมคงไม่ทำ
กรณีข้อมูลไม่เพียงพอ ทางโครงการบันทึก 6 ตุลา จะขยายการเก็บข้อมูลในอนาคตหรือไม่
โดยในทางหลักการแล้วจะไม่มีสิ้นสุดนะ แต่ในแง่ปฏิบัติเรามีเงินพอที่จะเริ่มโครงการถัดไปไหม โครงการที่กล่าวมาอย่างการตามสัมภาษณ์ การสืบหาญาติ ก็เป็นโครงการที่ตั้งใจและเราเป็นฝ่ายริเริ่ม พยายามบุกเข้าไปทำไม่ใช่รอให้คนส่งมา แต่ถ้าถามว่าพยายามอย่างนั้นมีอีกไหมตอนนี้ พอต้องใช้เงิน ต้องใช้คนที่มีความมุ่งมั่น ตอนนี้สารภาพตามตรงว่ายังไม่มี เพราะเหนื่อย เหนื่อยและเงินก็ไม่ได้เยอะ สิ่งที่ทำมาก็อยู่ไปได้อีกพักหนึ่ง แต่ถามว่าในทางทฤษฎีและทางหลักการต้องทำต่อไหม ผมคิดว่าก็ต้องทำ เพราะในทางหลักการแล้วควรจะต้องเปิดไว้ แต่ว่าต้องมีเงินพร้อม คนพร้อม ตกลงร่วมกันที่จะลงมือทำ และต้องมีไอเดียด้วยนะ
เรื่องไอเดียก็มีคนเสนอมาบ้างนะ เราศึกษากลุ่มนักเรียนนักศึกษาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็น่าสนใจแต่ก็ไม่ได้มีความพิเศษ ไม่มีการนำเสนอภาพใหญ่ ไม่ชัดพอว่าจะทำไปทำไม ก็เลยอยากจะพักไว้ก่อน จึงไม่ได้ตอบเขาว่าจะให้เงินให้ทอง แต่สมมุติเรามีโครงการว่า ต่อไปหากมีเงินและมีความสนใจมากพอ หากอยากจะทำวิทยานิพนธ์เสนอเข้ามาได้นะ เราคงรับปากไม่ได้ว่าจะต้องให้เสมอไป แต่อาจจะมีบางอย่างน่าสนใจที่เราอยากจะขอร่วมมือด้วย เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้คุณได้ทำมัน
ที่สำคัญอย่าลืมว่า บันทึก 6 ตุลา มีจุดประสงค์คือเก็บข้อมูล เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักว่าจะเป็นตัวผู้ผลิตความรู้ หรือผู้ผลิตการวิเคราะห์ประเด็นโดยตรง เราเป็นผู้เก็บข้อมูล ผมคิดว่าเราต้องเกาะหลักการนี้ไว้ เพราะหากว่าเราเน้นเรื่องการผลิตความรู้หรือว่ามีจำนวนประเด็นเยอะ เราจะจัดการไม่ได้ว่าแค่ไหนสำคัญมากน้อยกว่ากัน แต่น่าจะมีบางเรื่องที่ทำให้เราได้เห็นข้อมูลที่เรามีในมุมที่เราไม่เคยเห็น หรือคำถามช่วยให้เกิดการค้นพบข้อมูล นึกออกไหม นักประวัติศาสตร์รุ่นที่ฝึกใหม่ๆ หรือนักเรียนมักจะคิดว่า ถ้าค้นข้อมูลจะเจอคำถาม บางทีไม่แน่เพราะอาจจะกลับกัน บางทีคำถามต่างหากทำให้เราไปเจอและค้นพบข้อมูล ในความหมายว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่แล้วในโลก แต่มันอยู่เฉยๆ ของมัน จนกระทั่งเรามีคำถามบางอย่าง เราจึงรู้จักไปประมวลมันเข้ามา เป็นกลุ่ม เป็นคลังชุดหนึ่ง เพื่อจะอธิบายคำถามบางอย่าง
ยกตัวอย่างเช่น ที่ผมตามเก็บข่าวกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ประมาณปี 2000 ผมไล่ย้อนหลังและหลังจากนั้นพอพ้นปี 2000 บางอันยาวเป็นร้อยหน้า พอถึงตอนนี้ผมตามเก็บของผมเองบ้าง จ้างผู้ช่วยวิจัยที่เมืองไทยบ้าง ได้ข้อมูลมาเยอะจึงใช้ไม่มากเท่าไร เพราะผมต้องการเก็บข่าวงานรำลึกเพื่อติดตามทำเข้าใจบรรยากาศของความทรงจำในแต่ละปี ผมไม่ได้ศึกษาเรื่องการรำลึก 6 ตุลาอย่างละเอียดโดยเฉพาะ ไม่มีบทที่ว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง ผมต้องการภาพใหญ่ ผมนั่งอ่านรายงานว่าเขารำลึกอะไรกัน คนไปกี่คน นั่งอ่านบทความอีกสารพัดที่มักจะเขียนกันช่วงนั้น กี่สิบปีก็นั่งอ่านไป พอจะจับได้ว่าจำนวนมากอ่านแล้วก็เท่านั้น แต่จำนวนไม่น้อยที่อ่านแล้วเข้าใจอะไรบางอย่าง ปีนี้มีประเด็นนี้ ปีนี้สนใจประเด็นนี้ ทำนองนี้ ทำให้ถึงข้อมูลเยอะจนผมใช้ไม่มาก แต่มันกลับให้พื้นฐานที่ดีกับผม ว่าความทรงจำเปลี่ยนไปอย่างไร
ในแง่การเก็บข้อมูล มันจำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลาด้วยหรือไม่ เนื่องจากผู้คนในยุคนั้นก็เริ่มถึงอายุขัยโรยรากันแล้ว
มันก็มีส่วน เป็นปัญหาปกติของงานประวัติศาสตร์ เพียงแต่เราไม่ได้คิดว่าโครงการบันทึก 6 ตุลา จะเป็นข้อมูลแหล่งเดียว เป็นผู้ครอบครองสารพัดเรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลาแต่เพียงผู้เดียว เอาเข้าจริงแหล่งเอกสารที่ประสบความสำเร็จคือเป็นฐานให้คนนึกออกว่าจะตั้งต้นที่ไหน หลังจากนั้นเขาก็ไปต่อของเขาได้
อย่างที่ผมบอกว่าผมตามอ่านบรรยากาศงานรำลึก 6 ตุลาในแต่ละปี มันจะจุดประเด็นให้รู้ว่า อ้าว เผลอๆ ธงชัยเก็บไม่ครบ คุณสงสัยว่าธงชัยไม่เก็บหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา คุณก็ไปตามเองต่อ เพราะฉะนั้นการที่แหล่งเอกสารไม่สมบูรณ์ก็ต้องถือว่าดีแล้ว ดีแล้วในแง่ที่ว่าเป็นคำเตือนว่าไม่มีแหล่งข้อมูลเอกสารใดในโลกที่สมบูรณ์ครบถ้วน แต่เราจำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานมากพอให้คนเห็นประเด็น ขอบข่าย เค้าโครงเบสิกความรู้พื้นฐาน แล้วคนที่เข้ามาศึกษาจะเกิดคำถาม และคำถามนั้นจะนำไปสู่การค้นหาค้นพบข้อมูลใหม่ๆ
อาจารย์พอจะช่วยยกตัวอย่างการมีคำถามจึงนำไปสู่การค้นพบข้อมูลได้ไหม
ผมและคนรุ่นผมจำนวนมากมีขีดจำกัดในการเข้าหาข้อมูล ในการสัมภาษณ์คนเหล่านั้นหลายครั้งผมไม่อยากไปสัมภาษณ์ซ้ำ ผมไม่อยากเจอหน้าพวกเขาอีก ผมไม่เคยดูวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลาจบสักครั้ง ดูไม่ไหว เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงจำนวนคนเสียชีวิต ผมก็ต้องอาศัยข้อมูลจากอาจารย์พวงทอง จากคนทำงาน เพื่อตอบคำถามว่าตกลงคนตายกี่คน คนถูกแขวนคอกี่คน
อาจารย์พวงทองกับคุณภัทรพรเป็นคนทำงานสืบค้นข้อมูล ผลชันสูตร ว่ามีคนถูกแขวนคอมากกว่า 2 คนแน่ๆ อาจจะเป็น 4 หรือ 5 คน แต่ผมไม่ทำเอง ผมทำไม่ไหว ผมไม่สามารถตั้งคำถามว่าคนเหล่านั้นตายเพราะถูกแขวนคอ หรือตายก่อนแล้วจึงถูกแขวนคอ คนทำงานคนอื่นสามารถตั้งคำถามแล้วนำไปสู่การค้นพบข้อมูลใหม่ๆ เช่น การค้นพบว่าคนที่ถูกแขวนคอจนตายน่าจะมีคนเดียว ส่วนอีก 3-4 คนถูกยิงถูกฆ่าแล้วจึงนำมาแขวนคอ ผมไม่รู้ว่าจะเทียบความโหดได้ไหมว่าอะไรโหดกว่ากัน แต่ความหมายของมันคนละอย่าง และสังคมไทยยังไม่เคยศึกษาเรื่องนี้อย่างเพียงพอ
การที่คนรุ่นปัจจุบันให้ความสนใจที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มากขึ้นอย่างชัดเจน อาจารย์คิดว่าความสนใจของพวกเขามาจากอะไร เอาจริงเอาจังแค่ไหน และมันสะท้อนความหมายอย่างไร
คุณต้องถามเขาสิ ไม่ใช่ถามผม แต่สำหรับผมในฐานะที่เป็นคนสังเกตการณ์พวกเขา แล้วเอาเข้าจริงคำว่ารุ่นก็เป็นคำรวมๆ ซึ่งผมคิดว่า Generation เป็นคำที่กว้างกว่า ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ากว้างกว่าหรือแคบกว่าชนชั้น คือก็บอกอะไรได้บางส่วน แต่ก็ไม่ได้บอกอะไรชัดเจน
ผมไม่ทราบว่าอะไรไก่อะไรไข่ แต่ผมรับรู้ความรู้สึกไม่ค่อยมีความหวังอะไรกับอนาคต เหตุการณ์ 6 ตุลา มันฟ้องมันประท้วงการกรอกหูกรอกสมองพวกเราทุกรุ่นว่าประเทศไทยดีอย่างนั้นวิเศษอย่างนี้ แต่ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์และเป็นชุดเรื่องเล่า (narrative) ที่ฟ้องอยู่ชัดๆ ว่าสังคมไทยไม่ได้สวยหรู เหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้พวกเขาหมดหวังไหม ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมกลับคิดว่ายิ่งช่วยในการให้เขาเข้าใจมากขึ้น ผมชอบใช้คำว่ามันเป็นประตูไปสู่เรื่องที่พวกเขาอยากรู้อย่างจริงจัง และอยากที่จะสร้างอนาคตใหม่อย่างจริงจัง
6 ตุลา โดยตัวมันเองไม่ใช่คำตอบ ในตัวมันเองไม่ได้เป็นการวิเคราะห์ทั้งหมด ในตัวมันเองไม่ได้นำไปสู่ประตูทางออก แต่ทำให้พวกเขาเห็นและเป็นช่องที่ทำให้พวกเขาสนใจ อยากจะรู้จัก อยากจะค้นคว้า อยากจะเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น เพราะมันมีเรื่องราวในอดีตที่ฟ้องอยู่ว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นอย่างที่รัฐสร้างขึ้นและอยากให้เรารับรู้เช่นนั้น มันสอดคล้องกับความอึดอัดคับข้องที่พวกเขามี ด้วยเหตุนี้คำถามคุณถ้ามันมีความหมายว่าเป็นความสนใจแฟชั่นชั่วครั้งชั่วคราวหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมคิดว่าพวกเขาซีเรียส ซีเรียสมากด้วย
6 ตุลา เป็นประตูบานหนึ่ง คนเรามีประตูพวกนี้อยู่ร้อยแปด ไม่ได้มีประตูเดียว หลังจากเมื่อเข้าประตูไปแล้ว พวกเขายังอยู่กับ 6 ตุลาในแบบเดิมไหม หรือต่อไปอาจจะเจอว่าตอนนั้นที่พวกเขาสนใจเรื่อง 6 ตุลา เพราะเคียดแค้นสังคมไทย ตอนนั้นเขายังเด็กๆ ต่อไปอาจจะเปลี่ยนก็ได้ หรืออาจจะตอกย้ำว่าไม่เปลี่ยนไปเลยก็ได้ อาจจะเข้าใจว่าสังคมไทยมีปัญหาเรื้อรังมากว่า 30-40 ปี จากนี้ไปจะพยายามศึกษาแก้ปัญหาสังคมไทย พูดง่ายๆ ว่าพ้นจากประตูบานนี้ไปแล้ว มุมมองของพวกเขาจะเป็นยังไงต่อ มีปัจจัยอื่นอีกเยอะ แต่ผมคิดว่าพวกเขาจริงจังกับการศึกษาเหตุการณ์นี้
ถ้าหากเราไม่อยากให้เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นความเงียบที่น่าอึดอัด เราควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์นี้อย่างไร
ในสภาวะปัจจุบันก็อย่างที่ทำอยู่ เราเรียบเรียงเก็บข้อมูลเพื่อจะกรองความทรงจำ แต่สุดท้ายก็เจอจริงๆ เจอคนที่ยินดีตอบรับมาเป็น…ผมไม่อยากใช้คำว่าเป็น ‘เจ้าของความทรงจำ’ นั้นนะ เพราะเจ้าของอาจจะเป็นคนที่ผ่านประสบการณ์นี้แล้วนำมาตีความ แต่ผมเจอคนที่ยินดีที่จะฟัง ได้ยิน และเข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนของความทรงจำนี้ ในฐานะคนรุ่นหลังหรือคนที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์โดยตรง
คนเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของความทรงจำได้สารพัด ความทรงจำที่ว่าด้วยประเทศไทยนี้ยาวนานมา 800 ปี เราก็รับรู้ด้วยกันมาเยอะแยะ ถึงเราไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของความทรงจำเดียวกันได้ ในแง่นี้เหมือนกัน ผมคิดว่าขั้นแรกคือพยายามต่ออายุด้วยการให้คนจำนวนพอสมควรเข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนที่รู้จักความทรงจำนี้ มันก็จะพอช่วยสืบทอดอายุต่อไปได้ แต่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คนทำโครงการบันทึก 6 ตุลาคิด และนี่คือสิ่งที่เราต้องการ โดยที่เราไม่เคลมเครดิต เรารับเครดิตแค่ว่า เราทำเพื่อให้ความทรงจำนี้มีที่มีทางให้คนเข้ามาหา มาเจอ มาพบข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลาได้ แต่ด้วยเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขาผลักเข้ามาสู่ประตูบานนี้ ก็เป็นเรื่องอื่นอีกเยอะ
ผมคิดว่าอีกวิธี คือการทำให้บันทึก 6 ตุลามันแอคทีฟ คือเมื่อให้พวกเขามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของความทรงจำแล้ว ผมก็หวังว่าพวกเขาจะสามารถเอาไปใช้ ให้ความทรงจำยังมีชีวิต ในแง่หนึ่งก็ยังเป็นอดีต แต่การแอคทีฟของมันมีได้หลายแง่ คุณอาจจะบอกว่าแอคทีฟแบบนี้น่ากลัวนะ ฝ่ายขวาอาจจะกลับมาเข่นฆ่าอีกครั้ง ซึ่งถ้าหากมันจะทำก็ลองดูแล้วกัน
อย่างเมื่อครู่ที่คุณถามถึงเด็กรุ่นนี้ เห็นไหมว่ามันแอคทีฟเรียบร้อยแล้ว คือเมื่อพวกเขาเปิดประตูบานหนึ่งเข้าไปพวกเขาสามารถนำไปสู่การตั้งคำถามต่อทหาร ต่อความรุนแรง ต่อระบอบอำนาจนิยม ต่อสถาบันกษัตริย์ ต่ออะไรอีกเยอะแยะไปหมด มันเปิดประตูทำให้เขาคิดได้ ผมอยากจะกล่าวถึงขนาดว่า ความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือ บันทึก 6 ตุลา ที่เรากำลังทำกัน ผมขออนุญาตเคลมก็แล้วกันว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง ผมไม่กล้ากล่าวมากไปกว่านี้นะว่าเป็นส่วนมาก ส่วนใหญ่ หรือส่วนไหน ผมไม่ทราบ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาคิดว่าสังคมไทยควรจะต้องมีอนาคตดีกว่านี้ คือที่เป็นอยู่มันแย่น่ะ ฆ่ากันถึงขนาดนั้น แต่สุดท้ายไม่ได้รับรู้ ไม่ได้ให้ค่าความทรงจำนี้ด้วยซ้ำไป ยังไม่ต้องพูดถึงความอยุติธรรม ไม่มีความยุติธรรมให้กับคนที่เสียชีวิต กับญาติมิตรเขา สังคมไทยนี่… มันระยำ มันไม่ไหว
แต่แน่นอน ไม่ใช่แค่เรื่อง 6 ตุลาเรื่องเดียว มันมีเรื่องอื่นประกอบกันเข้ามาด้วย มันได้เวลาที่ทุกคนต้องรู้ อย่างนี้ผมเคลมได้ว่า 6 ตุลา มีส่วน นี่คือหลักฐานว่าเหตุการณ์นี้ยังมีชีวิตและยังแอคทีฟ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์จะมีคุณค่าที่สุดก็คือตรงนี้
มีเหตุการณ์อะไรอีกบ้าง ที่ภาคประชาชนจะพอทำได้ในลักษณะเดียวกันกับบันทึก 6 ตุลา
ควรมีอีกเยอะ ความโหดร้าย (atrocity) จากการสังหารโหดอย่างอยุติธรรมในเมืองไทย หากคุณนึกดูเร็วๆ หรือถ้าคุณจะนับออกมาให้คนเห็นก็ได้ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ส่วนมากหรือแทบทั้งหมดยังไม่กระจ่าง
แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่รัฐดูเหมือนจะรับได้และร่วมเฉลิมฉลองด้วยได้ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือเหตุการณ์พฤษภาคม คุณคิดว่ากระจ่างแล้วเหรอ รายงานเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ก็ยังมีจุดบอดอยู่เต็มไปหมด เหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ดูเหมือนดีแล้ว วีรชนสร้างประชาธิปไตยแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าสุดท้ายมีการสะสางไปถึงกลไกรัฐทั้งหลายที่มีส่วนในการก่อเหตุครั้งนั้นหรือไม่ เพื่อที่ว่าบอกว่าต่อไปอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก ก็ไม่มี สุดท้ายมันจึงมีเหตุหลัง 14 ตุลา อีกตั้งอีกกี่ครั้ง ก็เพราะว่าไม่ได้สะสางกัน
เพราะฉะนั้นแทบทุกเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ยังต้องการการยืดอายุความทรงจำ เพียงแค่ว่าไม่ง่าย เพราะสังคมไทยไม่ได้มีพื้นที่ แรงสนับสนุนกิจกรรม หรือมีโครงการแบบนี้มากเท่าที่ควร สังคมไทยยังเห็นเรื่องทำนองนี้ว่าเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ ไม่มีฉันทามติว่าควรจะทำ อย่างน้อยที่สุดยังมีความกลัว อาจจะเห็นด้วย แต่กลัวถ้าจะต้องทำ
ดังนั้นไม่ง่าย แต่ผมเห็นว่าแทบทุกกรณีควรต้องทำ แต่จะทำได้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ในแง่นี้คนที่บอกว่าเราไม่โชคดีอย่าง บันทึก 6 ตุลา มันไม่มีโชคดีหรือโชคร้าย เราเหนื่อยนะกว่าจะบุกเบิกมาได้ขนาดนี้ ไม่ใช่ไม่เหนื่อย ไม่ใช่ว่าไม่มีการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่ว่าไม่มีการหาจังหวะจะโคน หรือหาทางเลือกที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเราไม่คิดว่าเราต้องทำอะไรได้แค่ไหนในบางจังหวะ เราคิด ผมคิด หลายคนคิด กว่าจะทำให้ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ หมายถึงต้องจำกัดตัวเองในบางจังหวะไหม ต้องมีส่วนที่ประนีประนอมตรงนั้นตรงนี้ มีครับ ไม่ได้มีอะไรที่สมบูรณ์แบบแล้วได้มาง่ายๆ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์
ในเมื่อคุณพูดถึงกรณีอื่นๆ กรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ กรณีเหตุการณ์ตากใบ กรณีเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ทุกเหตุการณ์มีอุปสรรคมีเงื่อนไข ทำได้มากทำได้น้อย แตกต่างกันไปเฉพาะตัว แต่ผมอยากเห็นมาก