ธงชัย วินิจจะกูล: 6 ตุลา 19 อาชญากรรมโดยรัฐที่ยังไม่ถูกสะสาง

ความทรงจำบางอย่างทรงพลัง แต่หลายครั้งความทรงจำอาจถูกเล่าออกมาไม่เหมือนกัน หล่อเลี้ยงวาทกรรมที่ตามมาภายหลังในอีกหลายโอกาส การกระโดดกลับไปยังความทรงจำที่มืดดำที่สุดของสังคมไทยอย่างเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 19’ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกลืม เพราะข้อเท็จจริงและความยุติธรรมยังส่องไปไม่ถึงความทรงจำของเหตุการณ์สังหารหมู่ในครั้งนั้น แม้ว่าจะผ่านมาถึง 46 ปีแล้วก็ตาม เหลือเพียงความเงียบที่น้อยคนจะอยากรื้อฟื้นกลับไปพูดถึง

หากปิดตำราแบบเรียนของรัฐแล้วร่วมขุดคุ้ยข้อเท็จจริงในอดีตไปกับนักวิชาการซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่าง ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน จะพบว่าคำสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ คำว่า ‘ฝ่ายขวา’ ‘ความเงียบ’ และ ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ ที่แม้แต่ในสนามการเมืองปัจจุบันตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านั้นก็ยังคงโลดแล่นอยู่ 

ต้นปี 2565 ในช่วงที่ธงชัยได้กลับมายังประเทศไทยเป็นระยะเวลาสั้นๆ WAY ถือโอกาสนี้สนทนาถึงประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อวาระครบรอบเหตุการณ์สังหารโหด 6 ตุลา กำลังจะวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง 

หลายข้อสงสัยที่ยังไม่ได้รับความกระจ่าง นำมาสู่หลายคำถามสำคัญที่เชื่อมโยงมาถึงยุคปัจจุบันว่า ความทรงจำได้ทำงานกับฝ่ายขวาอย่างไร วาทกรรมที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทรงพลังแค่ไหน และคนรุ่นปัจจุบันควรทำอย่างไรต่อความทรงจำของเหตุการณ์นี้ เพื่อยืดอายุของมันต่อไปจนกว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจะได้รับการสะสาง

คิดเห็นอย่างไรกับประโยคที่บอกว่า อาชญากรรมโดยรัฐเป็นแนวคิดที่ไปกันไม่ได้กับแนวคิดแบบนิยมเจ้า (Royalist) 

กรอบนี้ไม่อนุญาตให้มีอาชญากรรมโดยรัฐอยู่แล้ว ถ้าจะมีก็ต้องเปลี่ยนกรอบ แต่ถ้าคุณหมายความว่ากรอบแบบนิยมเจ้าต้องมีแบบเดียว ผมก็ขอบอกว่าไม่จำเป็น อาจจะมีแบบอื่นด้วยก็ได้ ส่วนที่คุณยกมาว่ากรอบนิยมเจ้าแบบปัจจุบันทำให้เราไม่เห็นเรื่องรัฐลงมือฆ่าคน ถ้าเป็นกรอบนี้ก็ไม่มีทางเห็นสิ่งที่รัฐทำ คำตอบอยู่ในคำถามแต่แรกแล้ว

แต่ถ้าคุณถามต่อว่า ไม่ใช่มีแค่กลุ่มนิยมเจ้าแบบเดียวเท่านั้นใช่ไหม อันนี้ในทางทฤษฎียังพอรับได้นะ คือยังเป็นกลุ่มนิยมเจ้าอยู่ แต่เขาสามารถพูดได้ว่า การก่ออาชญากรรมโดยรัฐไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย คุณไปถามอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผมว่าแกรับนะว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ต้องเกิดการสะสาง แต่แกก็ยังเป็นกลุ่มนิยมเจ้าใช่ไหมครับ ดังนั้นไม่เห็นขัดกันเลย

แต่อุดมการณ์หลักของรัฐก็ไม่ได้รับความคิดแบบอาจารย์สุลักษณ์ ฉะนั้น ถามว่าต้องออกจากกรอบคิดปัจจุบันที่รัฐยึดถืออยู่ให้ได้ก่อนใช่ไหม เพื่อจะได้รับรู้ว่ามีอาชญากรรมโดยรัฐ คำตอบก็อยู่ในคำถามคุณแล้ว คือ ใช่ เพราะแนวคิดนี้คับแคบเกินไป รัฐมองว่าตัวเองไม่เคยกระทำผิด รัฐเป็นมหากรุณาธิคุณตลอดเวลา ซึ่งความคิดนี้โบราณมากนะ เพราะรัฐไม่ได้มีมหา รัฐไม่ได้มีกรุณา รัฐไม่ได้มีอธิคุณ คุณต้องออกจากกรอบตรงนี้ให้ได้ก่อน

ถ้าเช่นนั้น แนวคิดของฝ่ายขวาจัดในยุคนั้น กับแนวคิดของกลุ่ม ‘คลั่งเจ้า’ (Ultra-Royalist) ในปัจจุบัน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ขวาจัดยุค 6 ตุลาคม 2519 เป็นขวาจัดยุคสงครามเย็น ขณะที่ขวาจัดในปัจจุบันเป็นยุคหลังสงครามเย็น สิ่งที่จะดูคล้ายกันหรือเป็นจุดร่วมมีเพียงเรื่องแนวคิดนิยมเจ้า ซึ่งถ้าคุณดูจริงๆ แนวคิดนี้สมัยนั้นกับสมัยนี้ก็ไม่ใช่อย่างเดียวกัน คือมีรากเดียวกัน มีวิวัฒนาการร่วมกัน แต่มีความสัมพันธ์กับจุดอื่นๆ ไม่เหมือนกัน เช่น ความสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์นี่ต่างกันสุดขั้ว สมัยก่อนต่อต้านคอมมิวนิสต์ สมัยนี้ไม่ใส่ใจจะต่อต้านคอมมิวนิสต์เลย จูบปากคอมมิวนิสต์เลยก็ยังได้

หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับทหารเองก็เถอะ ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเหมือนกันไหม อย่าลืมว่าสมัยนั้นไม่มีทหารพระราชา หรือถ้ามีก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น ยุคนี้มีแค่ทหารพระราชา เพราะทหารพระราชาเริ่มปลูกฝังโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทหารสมัยก่อนส่วนใหญ่เราคงไม่เรียกว่าเป็นทหารพระราชา ถึงแม้จะปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหมือนกัน ยุคนั้นมีแต่ทหารแบบที่อาจจะไม่ประกาศตนเองว่าเป็นทหารพระราชาก็ได้ แล้วถ้าคุณจะถามต่อว่าหมายความว่ายังไง ขอไว้แค่นี้แล้วกันนะ เดี๋ยวจะไปอีกเรื่องหนึ่งไปเสียก่อน

กลับมาที่คำถามว่า วาทกรรมฝ่ายขวาเก่าๆ สมมุติเอาวิทยุยานเกราะมาเปิด “วิญญาณปู่จะร้อง ไอ้ลูกหลานจัญไร” ในปัจจุบันผมว่าอาจจะไม่เวิร์ก ยุคก่อนการชื่นชมคนดีหรือจิตอาสา อาจจะไม่เท่านี้นะ ผมคิดว่าทั้งสองยุคอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่เป็นขวาจัดนี่ใช่แน่ๆ เพราะไม่ต้องการให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง

อนุรักษนิยม (Conservatism) มีอีกหลายเฉด หลายคน หลายกลุ่ม หลายกระแส ซึ่งด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ พวกเขาไม่ส่งเสียง หรือไม่ก็ถูกทำให้ไม่ส่งเสียง หรือถูกทำให้กลัว ไม่กล้าที่จะส่งเสียง อันนี้คุณก็ลองไปหาดู ผมเองไม่มีคำตอบ ผมแค่สงสัยเท่านั้นเอง แต่ผลก็คือเสียงที่ดังมาจากเสียงที่สุดโต่ง ซึ่งอันนี้เหลือเชื่อมาก เพราะอย่าว่าแต่ย้อนกลับไปหลายสิบปีถึงสมัยเดือนตุลาคม 2519 เลย ผมเชื่อว่าเอาแค่กลับไปประมาณทศวรรษที่ 90 ในยุคที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่ขวาจัดเท่าปัจจุบันเลย ยังเปิดช่องต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อการพูดคุยสารพัดเรื่อง ไม่ตกอกตกใจตื่นตูมกระดี๊กระด๊าเพียงแค่คนแตะเรื่องเจ้าแม้แต่นิดเดียว 

คือมีความดัดจริตผิวบางจนเหลือเชื่อ ผิวบางแต่หน้าหนานะ แตะเรื่องเจ้าไม่ได้แม้แต่นิดเดียว แต่กระทำสิ่งที่ไร้ยางอายได้โดยไม่รู้สึกอะไร ความไร้ยางอายสมัยก่อนมีมากกว่านี้ แต่ปัจจุบันจงใจกระทำในสิ่งที่ไม่ต้องสนใจสาธารณชนเลย รู้ทั้งรู้ว่าสังคมรับไม่ได้ก็ยังทำ เพราะมีอำนาจอื่นที่ให้คุณให้โทษ หรือทำให้เขาเดือดร้อนได้มากกว่า อาจจะมาจากเพียงแค่ไม่กี่คนหรือคนคนเดียวก็ได้ ผมไม่ทราบ แต่กลับมีพลังอำนาจมากที่ผลักให้สังคมไทยขวาสุดกู่ได้ขนาดนี้

แต่ที่เหมือนกันทั้งสองยุคคือ การอยู่ในอำนาจได้ ด้วยการทำให้คนกลัว

สิ่งที่พูดมา เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในไทยหรือไม่

ในระบบกฎหมายไทย วัฒนธรรมตัวนี้คืออภิสิทธิ์ซึ่งเกี่ยวข้องกัน วัฒนธรรมมันคือการดำรงชีวิตโดยที่เราต้องจำยอมให้รัฐและคนจำนวนหนึ่งอยู่ในฐานะได้เปรียบที่จะคว้าอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด แล้วมันทำจนเป็นวัฒนธรรม เป็นความเคยชินของเรา และเป็นความเคยชินของคนเหล่านั้นที่คิดว่าตัวเองจะมีคนปกป้อง อย่างล่าสุดกรณีค้ามนุษย์ (โรฮิงญา) นี่มันทุเรศจังเลย เห็นกันอยู่ชัดๆ

อาจารย์เคยระบุว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็น powerful counter narrative อยากให้ช่วยขยายความตรงนี้สักหน่อย

เป็น counter narrative ในแง่ที่ narrative ปัจจุบันเป็นอุดมการณ์ประวัติศาสตร์ ที่กลายเป็นฐานของความคิดขวาจัดสุดโต่งแบบราชาชาตินิยม พอเป็น counter narrative ก็หมายความว่าเป็น narrative ที่แตกต่าง ตรงกันข้าม หรือสวนทางกับ narrative อันนี้ออกไป ผมเห็นว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อยู่ในสถานะนั้น คือมันสวนทางตรงข้าม คุณว่ามาอย่างนี้ อีกฝ่ายก็ปะทะเปรี้ยงเลยว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น

ในแง่ที่ว่าเป็นทรงพลังหรือ powerful ก็อย่างที่ว่าไปแล้ว คือ ความทรงจำ 6 ตุลาคม 2519 อยู่ในสภาวะที่ปัจจุบันยังมีชีวิต การที่มี narrative ที่สวนทาง แล้วยังมีชีวิต สำหรับผมถือว่ามันเพียงพอที่จะพูดว่าทรงพลังแล้ว ปัจจุบันผมว่ามันได้ถูกทำให้กลายเป็นปฏิบัติการทางสังคม ถูกทำให้กลายเป็นความสนใจ เรื่องนี้ถูกขยายต่อกลายเป็นความใฝ่รู้ ตั้งคำถาม และแสวงหาความเข้าใจ ควบคู่ไปกับการแสวงหาการวิพากษ์วิจารณ์และหาทางออกในสถานการณ์ที่มันดีขึ้นกว่านี้

narrative ที่ทรงพลังขึ้นมาได้ ประการหนึ่งเป็นเพราะผลพวงของโลกดิจิทัลด้วยหรือไม่

ใช่ เพราะรัฐควบคุมได้ยากขึ้นพอมีโซเชียลมีเดีย แต่ขณะเดียวกัน อย่าคิดว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวจะทำให้มี content นะ ในกรณีนี้ content ก็ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวโซเชียลมีเดียเอง ถ้าผมจะเคลมเครดิตสำหรับ ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ คือ โครงการบันทึก 6 ตุลา กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้เกิด content แล้วเมื่อคุณมีเทคโนโลยีก็ช่วยกันเผยแพร่ออกไป ถ้าไม่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา เราก็คงใช้วิธีแบบเดิมๆ ซึ่งก็ยากที่จะเข้าถึง แต่โลกดิจิทัลช่วยทำให้ content แพร่ขยายและช่วยทำให้ content นี้ถูกผลิตซ้ำได้ง่ายขึ้น อันนี้แน่นอนว่ามีผลทำให้รัฐควบคุมความทรงจำนี้ได้ลำบากขึ้น

เราจะเห็นตัวอย่างอีกหลายกรณี กรณีนี้ก็ชัดว่าความเข้าใจเรื่อง 6 ตุลา มีมากขึ้น เคยมีคนแซวผมว่า ปัจจุบันหนังสือ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok (2020) ของผมล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้วทันทีที่พิมพ์ออกมา เพราะเราอยู่ในยุคที่เรื่องราวไม่เงียบแล้ว ผมถึงบอกว่าผมอยากเขียนบทที่ 11 เพิ่ม จากที่มีแค่ 10 บท เพื่ออธิบายว่าทำไมถึงล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผมก็ยังเชื่อว่ามันจะไม่ล้าสมัย เพราะยังสามารถใช้อธิบายสังคมไทยได้อยู่ แม้จะบอกว่าเพดานถูกทะลุไปเรียบร้อยแล้ว ก็ยังเหลือเพดานสุดท้ายคือทำให้ความทรงจำหรือประวัติศาสตร์นำไปสู่ความยุติธรรม ซึ่งอันนี้ยังไปไม่ถึง แต่ใช่ รัฐควบคุมความทรงจำนี้ลำบากแล้ว

ถามว่ารัฐมีสิทธิ์ตอบโต้ได้ไหม มีสิทธิ์สิ วิธีปัจจุบันที่เขาทำคือ เขาไม่สนใจ ซึ่งเป็นวิธีปกติในสังคมไทยเหมือนกันนะ เวลาเจอสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ถ้าคุณไม่กำจัดมัน คุณก็ไม่ต้องไปสนใจมันซะ เป็นการทำให้มันด้อยค่า พอคุณคุมไม่ได้ก็ทำให้มันเบี่ยงเบนไป ทำให้มันเป็นเหมือนเรื่องปกติ (generalize) ไป แต่อย่างนี้ก็เป็นการต่อสู้ เพราะว่าถ้ารัฐทำแบบนี้ได้ก็หมายความว่าเราก็มีการต่อสู้ได้ เป็นเรื่องที่ต้องสู้กันไป

หากถึงจุดที่คืนความยุติธรรมได้ อาจารย์เคยบอกไว้ว่าการให้อภัยเป็นแนวคิดของศาสนาพุทธ แต่ว่าในระยะเปลี่ยนผ่าน คนรุ่นใหม่ค่อนข้างที่จะเอนเอียงออกจากศาสนาพุทธมากขึ้น คิดว่าในอนาคตเราจะสามารถให้อภัยกันได้ไหม

ทำไมผมกลับได้ยินว่า คนรุ่นใหม่ยิ่งเป็นพุทธหรือยิ่ง ‘มูเตลู’ กันใหญ่ อันนี้ไม่ประหลาดใจนะ เพราะคนที่มีความคิดทางการเมืองที่รู้สึกว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง กับการที่คนยิ่งไปสนใจหมอดู ไม่จำเป็นต้องขัดกันนะ ซึ่งผมกลับรู้สึกว่าส่วนหนึ่งเพราะผู้คนหมดหวัง หาช่องทางปกติไม่ได้ เขาก็ต้องไปหวังอย่างอื่น เลยอาจจะยิ่งสอดคล้องกันด้วยเหตุผลแปลกๆ อีกแบบหนึ่งแทน

ผมคิดว่าการสะสางเรื่องนี้ให้เกิดความยุติธรรมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ พูดอย่างกว้างๆ ในระบอบปัจจุบัน ซึ่งผมก็ไม่ชัดว่าระบอบที่ไม่ใช่ปัจจุบันหมายถึงอะไร เอาเป็นว่าก็อย่างที่คนเขามักจะพูดกันว่า ‘ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน’ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยใช้ผิดทั้งหมด คือไปมองถึง ‘ระยะเปลี่ยนรัชกาล’ ที่จริงแล้วระยะเปลี่ยนผ่าน หมายถึง การเปลี่ยนผ่านจากยุคไม่เป็นประชาธิปไตย สู่ยุคที่เป็นประชาธิปไตย แต่สังคมเรากลับใช้นัยยะการเปลี่ยนผ่านรัชกาลแทน คนละเรื่องสุดกู่เลยนะ เพราะเปลี่ยนรัชกาล ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่าน

การทำให้เกิดความยุติธรรมในกรณี 6 ตุลา ผมค่อนข้างเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าหากระบอบการเมืองไม่เปิดให้มีการสะสาง ไม่ใช่แค่เพียงระบอบการเมือง แต่ต้องสะสางระบบกระบวนการยุติธรรมด้วย ไม่อย่างนั้นไม่มีทางหรอก ก็ลูบหน้าปะจมูก แล้วให้อภิสิทธิ์แก่การกระทำผิดของรัฐอีกนั่นแหละ แปะๆ กันไป ผ่านๆ กันไป สมานฉันท์กันไป อย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ สุดท้ายไม่เคยเกิดการสร้างบรรทัดฐานว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรห้ามทำ อะไรที่เรารู้ว่ามีแนวโน้มที่จะผิดจะได้ตัดไฟแต่ต้นลม 

และที่สำคัญการปกป้องคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของรัฐให้ลอยนวลพ้นผิดต้องยุติลง ระบอบปัจจุบันมี impunity (วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด) เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทยมาหลายสิบปี การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกหนึ่งปัจจัยคือ ผมจะดูตัวบ่งชี้นี้ว่า สังคมไทยยังปล่อยให้เกิด impunity อยู่ไหม ผมขอให้จับตา ไม่จำเป็นต้องสะสางคน มันอาจจะไม่ขนาดนั้น แต่ต้องสะสางว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ยังปล่อยให้การลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่หรือไม่ การช่วยกันลูบหน้าปะจมูกให้การกระทำผิดได้รับการคุ้มครองยังดำรงอยู่หรือไม่ ถ้ายังดำรงอยู่ ผมถือว่าสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนผ่าน

ในแง่นี้กลับมาที่เรื่องเดิม การเปลี่ยนแปลงกับความยุติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นในรุ่นไหน จะ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ หรือจบในอีกสามรุ่น ผมไม่ทราบเหมือนกัน

การจะกดดันให้รัฐเลิกใช้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด อาจารย์เคยกล่าวว่าควรเริ่มจากกรณีเล็กๆ ก่อนขยายผลเป็นแรงกระเพื่อมต่ำๆ ไปก่อน อันนี้เป็นเพราะหากเริ่มจากกรณีใหญ่ๆ อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาจจะยังยากเกินไปใช่หรือไม่

คำถามนี้อย่าพูดเป็นนามธรรมดีกว่า เพราะว่าพูดเป็นนามธรรมแล้วจะไม่รู้เรื่อง คำถามนี้เป็นคำถามเชิงปฏิบัติ (action) เป็นคำถามเชิงการเมือง ไม่ใช่คำถามเชิงวิชาการ ถ้าคำถามนี้เป็นคำถามวิชาการผมจะเชิญคุณไปบรรยายเลย เพราะพูดได้แค่เป็นนามธรรม ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลย เป็น academic จริงๆ ซึ่งแปลได้สองอย่าง หนึ่งคือเกี่ยวกับวิชาการ อีกอย่างหนึ่งคือเลื่อนลอยไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดกันแบบนี้ 

กรณีเล็กๆ ผมใช้ในความหมายที่ไม่ใช่เรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ผมใช้ในความหมายว่าคนเรามักจะนึกถึงการปฏิวัติถอนรากถอนโคนแล้วเริ่มกันใหม่ แต่ผมสงสัยว่า ถ้าจะปฏิวัติถอนรากถอนโคนแล้วเริ่มกันใหม่จริง คุณรู้หรือเปล่าว่าคุณจะเริ่มที่ตรงไหน การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ก็คิดที่จะขุดรากการศึกษา สุดท้ายคุณจะไปหาครูใหม่ที่ไหน ก็ต้องใช้ครูที่มีอยู่เดิม ถึงขนาดเจ้ากระทรวงก็ยังใช้คนเดิม เพราะไม่รู้จะไปหาคนใหม่จากที่ไหน คุณคิดอยากจะรื้อฟื้น ทำให้ระบบกระบวนการยุติธรรมถูกสะสาง คุณจะเอาแบบเขมรแดงเลยไหมล่ะ ก็ฉิบหายกันไปอีกยาว แล้วมันแก้ปัญหาไหม ก็ไม่แก้ 

คือพูดกันง่ายเรื่องถอนรากถอนโคน พูดกันจนเป็นสโลแกน แต่ถามว่าถ้าพูดให้เป็นรูปธรรม คุณก็จะเจอว่าจริงๆ ไม่รู้แปลว่าอะไร ในทางกลับกัน สิ่งที่บางครั้งเราดูเหมือนการเจาะลงไปที่บางจุด ผมใช้คำว่า small case คือหมายถึงเมื่อเทียบกับการถอนรากถอนโคน เพราะถอนรากถอนโคนเราไม่รู้แปลว่าอะไร พูดกันได้ง่ายๆ แล้วสุดท้ายพอเกิดขึ้นเราก็ควบคุมไม่ได้ อย่างที่บอก ผู้คนทั้งหลาย แล้วก็มนุษย์ที่เกิดมายุคนี้ เราทุกคนจะรีเซ็ตทั้งชุดเหรอ เราก็เป็นคนเดิมที่โตมากับระบบสังคมนี้ จะเข้าใจมากหรือน้อย จะพอใจสังคมนี้มากหรือน้อย สุดท้ายแล้วไง จะเอาแบบเขมรแดง เอาแต่พวกที่คิดแบบเดียวกัน แล้วฆ่าคนอื่นให้หมด ก็เห็นอยู่ว่าพินาศ สังคมก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี

ผมเลยกลับคิดว่า เป็นไปได้ไหมว่าปัญหาหลายอย่างสะท้อนไอ้สิ่งที่อยู่ในลู่ในทางว่ามันเละ แล้วผมก็ไม่อยากใช้คำว่า case แต่อยากใช้คำว่า issue แทน โดยไม่ได้บอกว่าต้องเป็นเรื่องที่ small หรือ big หรือต้องเป็นแค่ issue ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันอย่างเดียว แล้วอย่าปัดออกไปง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องคนยังดีไม่พอ เป็นเรื่องทางเทคนิค เป็นเรื่องความเข้าใจผิด เป็นเรื่องความผิดพลาด เป็นเรื่องบังเอิญ เรื่องชั่วคราว เรื่องเฉพาะคน เรื่องอะไรอย่างนี้ พูดง่ายๆ ว่ามันสะท้อน systemic problem (ปัญหาเชิงระบบ) จับให้มั่นแล้วขุดลงไปแก้ให้ถึง

ต้องมองว่ามีปัญหาในหลาย issue เช่น ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ ปัญหาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ปัญหาผู้พิพากษา ท่านคณากร เพียรชนะ ฆ่าตัวตาย เป็นต้น ถ้าขุดผมว่าถึงนะ อย่างคดีนี้เล็กไหม ผมว่าก็ไม่เล็กนะ แต่การขุดจะไม่ใช่การปฏิวัติถอนรากถอนโคน ขุดลงไปจาก issue เหล่านี้ ถ้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สายเกินไป ก็ยังมีเรื่องอื่นในปัจจุบันอีก ต่อให้เรื่องท่านคณากร เพียรชนะ อาจจะผ่านไปแล้ว คนอาจจะไม่ขุดแล้ว ก็เอาเรื่องอื่นสิ ผมเชื่อว่าหลายเรื่องที่เรายังได้ยินอยู่ อย่างการหายตัวไปของคุณสมชาย นีละไพจิตร ขุดลงไปสิ อย่าไปมองว่าเป็นแค่เรื่องจับตัวคนผิด คนโน้นคนนี้สามสี่คนผิด ไม่ใช่ มันเป็นปัญหาที่สะท้อนปัญหาเชิงรากและเชิงระบบ ซึ่งสังคมไทยมีความสามารถที่จะอยู่กันโดยปัดให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องนอกลู่นอกทาง เป็นเรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องคนดีไม่พอ แล้วก็เจ๊าๆ กันไป เพราะฉะนั้นสังคมมี issue เยอะมากที่สามารถจะขุดลงไป แทนที่จะมัวรอวันปฏิวัติถอนรากถอนโคน ลงมือเลย จับให้มั่น อย่ายอมให้มันหลุดมือ 

ที่พูดมานั้นแทบทุกกรณีเกี่ยวข้องกับเรื่อง impunity หมดเลย แต่คำถามคือว่า การขุดแก้เฉพาะกรณีอาจจะส่งแรงกระเพื่อมที่จำกัด ก็ต้องสู้ต่อ ยิ่งสังคมนี้มีความสามารถที่จะทำให้ปัญหาเชิงระบบกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยชั่วคราว แล้วก็ลืมๆ กันไปได้ อย่างนี้เรายิ่งต้องสู้ จนถึงวันไหนจะสำเร็จผมก็ไม่ทราบ แต่ผมยังอยากจะเชื่อว่า การต่อสู้ด้วยวิธีการแบบนี้น่าจะมีผลสะเทือน รวมทั้งการผลักดันให้ระบบกฎหมายที่ผมเคยวิจารณ์ไว้ว่า มันไม่ใช่ระบบนิติธรรม (rule of law) ด้วย

โครงการบันทึก 6 ตุลา เข้าใกล้รากของปัญหาที่พูดถึงหรือยัง

ยังห่างไกล โครงการบันทึก 6 ตุลา มีภารกิจที่แคบ แต่มันมีความหมายทางสังคม ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลยที่จะทำ ภารกิจของโครงการก็มีส่วนช่วยทำให้คนเห็นปัญหารากลึกในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มากกว่าที่คิด โครงการบันทึก 6 ตุลา พร้อมไหมที่จะเป็นฝ่ายชูธง เดินหน้า ขุดไปถึงราก ผมว่าคนทำคงไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยถ้าจะมีผลก็คือสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมที่ทำให้คนเห็นรากในวันนี้ ทำให้เขาเห็น อาจจะไม่ได้มีผลโดยตรง แต่สักวันหนึ่งสมมุติคนเริ่มเข้าใจเรื่อง impunity มากขึ้นถึงจุดที่จะกลับมาพลิกฟื้นคดี ก็น่ายินดีสิครับ แต่จะไปทางไหน อันนี้ไม่ใช่ปัญหาวิชาการแล้ว เป็นปัญหาปฏิบัติ เป็นปัญหาการเมือง คุณรู้ได้ยังไง อาจจะเป็นเรื่องเสื้อแดงที่ทำให้เกิดการขุดไปถึงรากก่อนก็ได้ หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องของคนเสื้อแดงก็ได้ หรืออาจจะเป็นกรณีตากใบ กรณีการค้ามนุษย์ หรืออาจจะเป็นกรณีอื่นอีกตั้งเยอะ อันนี้ผมบอกไม่ได้ 

มันไม่ใช่ปัญหาทางวิชาการ ถ้าเป็นปัญหาวิชาการก็ดี นักวิชาการจะได้เลิกงานแล้วไปทำพวกนี้ให้หมด มันไม่ได้หรอก เราก็มีความรู้ความสามารถที่จะทำได้อย่างจำกัด โครงการบันทึก 6 ตุลา ผมว่าคนทำคงดีใจนะ คงไม่มีใครสักคนในกลุ่มพวกเราที่เพ้อเจ้อ คิดว่าเราจะได้แตะ ได้ช่วยขุดลงไปถึงรากเรียบร้อยแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทันทีหรอก

อาจารย์เคยกล่าวว่า ไม่ต้องปิดบังอดีต แล้วปล่อยให้ข้อเท็จจริงทำงานไป ถ้าพูดให้ไกลกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา มาถึงยุคปัจจุบัน การที่ศิลปินหรือคนดังในไทยที่เคยไปเข้าร่วมการชุมนุมของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) จนถูกขุดอดีตขึ้นมาเป็นกระแส Cancel Culture อยากทราบว่า อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการทำงานของความทรงจำในกรณีเหล่านี้

ต้องระบุก่อนว่า คำที่ผมเคยพูดไว้อย่างนี้เกี่ยวพันกับเรื่องการรำลึกอดีต ผมเห็นว่า อย่าไปปิดกั้น รวมทั้งการจำผิดๆ ด้วย ปล่อยให้มันทำงานของมันเอง ไม่ได้แปลว่าห้ามวิจารณ์ ก็คือคุณก็วิจารณ์กันไป เถียงกันไป สิ่งต้องระวังคือด้านของการปิดกั้นตัวเอง ด้านหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความกลัว อีกด้านหนึ่งก็เกิดจากการเคลมว่า ข้าพเจ้าถูกที่สุดในกลุ่มความถูกต้อง แต่นี่อุดมคติมากนะ ในสังคมไทยทำไม่ค่อยได้ ความกลัวมีอยู่ แล้วเราก็ห้ามเขากลัวไม่ได้ด้วย ขณะที่การควบคุมความถูกต้องก็เป็นนิสัยปกติของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนในสังคมที่มีรากมาจากศาสนา ศาสนากับฝ่ายซ้ายสุดโต่งจะคล้ายๆ กัน คือ ผูกขาดความถูกต้องเวอร์ชั่นเดียว สำหรับผมคืออย่าไปปิดกั้นตัวเอง ปล่อยให้ถกเถียงกันไป แต่เวลาจัดการกันไปไม่ได้แปลว่าความเห็นทุกอย่างถูกเท่ากันหมด ไม่ใช่ปล่อยให้ถกเถียงแล้วทำให้ความเห็นผิดๆ ขึ้นมามีบทบาทนำ ถ้าสังคมเป็นอย่างนี้ เราก็ทำได้แต่ถกเถียงต่อไป

ทีนี้มันเกี่ยวยังไงกับ cancel culture ต้องขอบอกก่อนว่า ผมไม่ค่อยแน่ใจนะว่า คำที่คุณใช้ตรงกับที่ผมเข้าใจหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ตรงกันคุณอาจจะพูดถูก ผมอาจจะพูดผิดก็ได้ ทีนี้บอกก่อนว่า ผมกลับมาประเทศไทยรอบนี้แค่ประมาณ 2 เดือน ผมเจอคุณเป็นคนที่ 3 แล้วที่ถามคำถามนี้ แล้วพอผมถามคนที่ถามว่า พวกคุณกำลังพูดถึงอะไร สามคนนี้ตอบไม่ค่อยตรงกันนะ แล้วยังไม่ตรงกับผมด้วย คำที่ผมเข้าใจเป็นคำในความหมายของพวก Trumpions (กลุ่มผู้นิยมในแนวคิดของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์) แล้วผมก็ไม่รู้ว่ากลายเป็นแฟชั่นในประเทศไทยได้ยังไง เป็นแฟชั่นในหมู่คนที่ออกจะเรียกว่าเสรีนิยมด้วยซ้ำไป ผมก็เลยไม่รู้ว่าทำไมคุณถึงไปรับ Trumpions มา ผมอาจจะเข้าใจผิด แต่ต่อให้เป็น Trumpions การนำเข้ามาใช้แบบสังคมไทยก็มีสิทธิ์ เพียงแค่ทำให้ผมต่อไม่ติดเฉยๆ 

มาดูเฉพาะกรณีดีกว่า แทนที่จะดูนิยามของ cancel culture ที่ถูกต้องคืออะไร เพราะเผลอๆ อาจจะไม่มี แต่ละคนก็ให้ความหมายต่างกันไป สมมติไม่พอใจดาราที่ไปร่วม กปปส. ทำไมจะทำไม่ได้ มันเป็น cancel culture ตรงไหน เราต้องยอมรับทุกอย่าง ให้เชิดหน้าชูตา ลอยหน้าลอยตาในสังคมไทยได้โดยไม่มีการประท้วง ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์เหรอ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะประท้วงความคิดแบบนี้ ถ้าหากคนคนนั้นมีอยู่ไม่กี่คน ปล่อยเขาพูดไปเถอะ อย่าไปปิดกั้นเขา คนอื่นเขาไม่ร่วมด้วย แต่ถ้าสมมุติคนอื่นเข้าร่วมด้วย มีคนเห็นด้วยมาก ก็จะสะเทือนดาราคนนั้น ที่ผมว่าปล่อยไปในท่อนแรกมีความหมายอยู่ ให้เขาสู้กันไป ให้เกิดแรง ให้เกิดความสัมพันธ์ทางอำนาจในแบบต่างๆ กัน ทั้งจากรัฐ ทั้งต่อประชาชนด้วยกันเอง ในกรณีนี้ยิ่งเป็นต่อประชาชนด้วยกันเองยิ่งต้องปล่อย รวมถึงผลลัพธ์ที่อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คุณปรารถนา ซึ่งคุณก็พูดสิ อันนี้มันเกินไปแล้ว ไอ้นี่ไม่เห็นจำเป็นเลย แต่ถ้าคุณไม่อยากจะพูด อันนี้ก็เป็น choice ของคุณไป

ผมว่าการประท้วง ความเห็นต่าง มีเป็นปกติ โดยเฉพาะกรณีประชาชนต่อประชาชนด้วยกัน เพราะเขาไม่ได้ใช้อำนาจไปจับดาราเหล่านั้นเข้าคุก ถ้าใช้อำนาจรัฐ อำนาจกฎหมาย หรืออำนาจกำลัง ไปจับดาราเหล่านั้นเข้าคุก สงสัยคงมีคนค้านอีกเยอะ ผมก็คงค้านด้วย แต่การที่ไม่เห็นด้วย ประท้วง แล้วบอกว่าอย่าไปใช้กิจการนั้นนี้ การบอยคอตผิดตรงไหน เป็นการแสดงพลังประชาชน แล้วถ้าหากคนในสังคมไม่ร่วมด้วย คุณก็แพ้ไป คุณก็พูดอยู่แค่ในวงพวกคุณไป ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็ดี ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ แต่หากสิ่งนั้นเป็นบรรทัดฐานที่ผิด ถ้าผมกล้าพอหรือผมสนใจเรื่องนั้นพอ ผมก็คงจะประท้วง นี่เป็นตัวอย่างที่สังคมจัดการกันเอง

วิธีนี้ ทุกขั้นตอนในกระบวนการจะเกิดการถกเถียง เกิดการที่สังคม educate (ให้การศึกษา) กันและกัน ดีออก ใช่ไหมครับ แม้กระทั่งเมื่อผลของมันเป็นผลที่ยืนอยู่บนฐานของความเข้าใจผิด ก็ช่วยไม่ได้ ความรู้ทั้งหลายไม่ได้มีความถูกต้อง ความรู้ใหม่จึงเกิด ได้เรียนรู้ คิด ถกเถียงกัน แค่อย่าเอาอำนาจเข้ามาก็แล้วกัน อย่ามาจับคนเข้าคุกแล้วไม่ให้ประกัน อันนี้น่าละอาย อย่าใช้อาวุธ อย่าใช้ปืนฉีดพ่นน้ำแรงสูง อันนี้ผิดหมด ต้องให้เกิดการแสดงออกหรือเถียงกันให้หนักได้โดยที่ไม่ทำร้ายและทำลายกัน รัฐคุมแค่ว่า อย่าใช้ความรุนแรงต่อกันและกัน และที่สำคัญก็คือรัฐอย่าใช้ความรุนแรงเสียเอง รัฐมิใช่ผู้มีหน้าที่ทำตัวเป็นคนรู้ดีที่จะบอกว่าเจ้าทาสก็มีประโยชน์ต่อการเรียนประวัติศาสตร์นะ ถ้าผู้คนบอกว่าไม่มี มันก็คือไม่มี อย่างเก่งก็คือนักประวัติศาสตร์บอกว่า มันยังมีอยู่ เราก็ประท้วงสิ ไม่รู้สิ ผมเชื่อแค่นี้ 

กรณี Trumpions กับกลุ่มเคลื่อนไหว Black Live Matter ทำไมเดือดเนื้อร้อนใจกับการถูกล้มอนุสาวรีย์เพียงแค่ไม่กี่แห่ง ถ้าประชาชนเขาพร้อมใจจะรื้อ ก็รื้อกัน คนอย่าง Trumpions ก็บอกว่า “this is cancel culture” บอกว่านี่คือการจะลบล้างประวัติศาสตร์ ทำไมคุณไม่เรียกสิ่งนี้ว่าการประท้วงล่ะ คุณคิดว่าประวัติศาสตร์ยืนได้ด้วยอนุสาวรีย์แค่นั้นหรือ ทำไมคุณไม่เชื่อว่านั่นเป็น expression (การแสดงออก) อย่างหนึ่งล่ะ คนล้มอนุสาวรีย์ก็ควรถูกฟ้องข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งผมว่าเขาก็โดนนะ แต่คิดในแง่การแสดงออกแล้วเขามีสิทธิ์ แล้วถ้าสามารถทำให้คนในสังคมจำนวนมากเห็นด้วยได้ หรือส่งสัญญาณให้ ส.ส. ของเขารื้ออนุสาวรีย์นั้น หรือเปลี่ยนชื่อตึกที่มีปัญหาในมหาวิทยาลัยซะ ผมก็ว่าแฟร์ ถึงตรงนี้คนที่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นลูกหลานเจ้าของอนุสาวรีย์จะจัดการประท้วงก็มีสิทธิ์ทำได้ ถ้าคนเห็นด้วยกับเขานิดเดียวก็ประท้วงต่อไปเถอะ ถ้าคนเห็นด้วยกับเขาเยอะจนเกิดกระแสตีกลับ นำอนุสาวรีย์กลับมาตั้งใหม่ได้ ก็ให้มันเกิดขึ้นเถอะ 

พูดถึงการทำงานของความทรงจำ ถ้าต่างคนต่างมีความทรงจำต่อเรื่องเดียวกันคนละแบบ การค้นหา fact เมื่อถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมจะไม่มีปัญหาหรือ

fact ก็ยังอยู่ที่เดิม ความทรงจำที่ต่างกันก็ไม่ใช่ว่าทุกอันถูกหมด ไม่ใช่ว่าทุกอันควรมีคุณค่าหรือต้องทรงพลังเท่ากัน ความทรงจำที่อยู่บน fact อาจจะไม่มีอำนาจเลยก็ได้ ขณะที่ความทรงจำผิดๆ กลับทรงอำนาจมากกว่า เช่น พระนเรศวรชนช้าง เป็นความทรงจำที่ทรงพลังมากเลย ทั้งที่อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะเป็นเรื่องอำนาจ เป็นการเมืองของความทรงจำ

ผมคิดว่ามันมีการใช้ fact อย่างผิดๆ นะ โดยเฉพาะพวกฝ่ายขวาในอเมริกา ไอ้ที่บอกว่าไม่ได้มี truth หรือ fact เพียงหนึ่ง แล้วผลักให้กลายเป็นว่า fact ไม่มีความสำคัญ คนละเรื่องกันนะ ประวัติศาสตร์มีหลายเวอร์ชั่นไม่ใช่เพราะว่า fact ไม่มีความหมาย แต่เพราะว่าเหตุการณ์เดียวกัน คนที่ยืนหยัดอยู่คนละจุด คนละมุมมอง คนละผลประโยชน์ อาจจะรับ fact ที่ต่างกัน ทั้งสองอันอาจจะเป็น fact ทั้งคู่ แล้วขัดแย้งกันเองได้ด้วย แต่ไม่ใช่เท่ากับว่าอะไรๆ ก็เป็น fact ได้ อย่างที่ผมยกตัวอย่างหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ปกหน้าสีน้ำเงิน ปกหลังสีแดง ผมยกขึ้นมาถามว่า คุณเห็นปกหนังสือเล่มนี้สีอะไร คุณบอกสีน้ำเงิน ผมบอกผมเห็นสีแดง ถูกทั้งคู่ ขึ้นกับว่าเราดูปกหน้าหรือปกหลัง ซึ่งมีสิทธิ์ว่า fact จะขัดแย้งกัน แต่ไม่ใช่ว่าจู่ๆ มาบอกว่าปกสีเขียว ไม่ได้สิ มีแค่สีน้ำเงินกับสีแดง ถ้าสันหนังสือเป็นสีส้ม แล้วคุณบอกว่าปกคงจะเป็นสีส้ม เพราะเห็นแค่สันหนังสือ ก็มีโอกาสเป็น fact ได้ แล้วความเป็นจริงปรากฏการณ์ในสังคม จุดยืน ผลประโยชน์ ไม่ได้มีแค่หนึ่ง สอง หรือสามแน่

พอเป็นความทรงจำยิ่งปวดหัวเข้าไปใหญ่ เพราะความทรงจำเต็มไปด้วยความผิดพลาดเยอะแยะ ในแง่นี้ก็มีค่าเท่ากับความเชื่อ ถามว่าเราต่อสู้กันเรื่องความเชื่อต่างๆ สารพัดที่อยู่บนฐานความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกๆ ผิดๆ ปนเปกันหมด รวมทั้งพวกเราในที่นี้ด้วย เราทำได้แต่เพียงศึกษา เราเชื่อว่าอย่างนี้ต่างหากถูกต้อง เราก็พยายามเผยแพร่สิ่งที่เรารู้และเชื่อ แล้วก็สู้กันไป ทั้งหมดนี้อยู่บนฐานที่ว่าเรามีความเชื่อบางอย่างอยู่ ซึ่งตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าแต่ละคนจะมีมากน้อยต่างกัน แล้วมี commitment (ความมุ่งมั่น) กับมันสักแค่ไหน

คุณเชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้ได้ไหม ถ้าคุณคิดว่ามนุษย์น่าสิ้นหวัง เรียนรู้ไปก็เท่านั้น ก็ไม่ควรจะมาอยู่ในแวดวงวิชาการ ไม่ควรอยู่ในแวดวงการต่อสู้ทางการเมืองที่เห็นทิศทางศรัทธาว่า มนุษย์เรียนรู้ได้ พัฒนาได้ 

การทำลายความเงียบในความทรงจำทั้งหลาย จะนำไปสู่การระเบิดที่คาดเดาผลไม่ได้หรือไม่

เรื่องการปฏิวัติโค่นล้มใช่ไหม คุณคาดเดาว่าการทำลายความเงียบจะเกิด big bang ทีเดียวเหรอ จะเป็นไปได้ยังไง คุณไม่เดากลับล่ะว่าเป็นไปได้มากกว่าที่จะเป็น 

small bang ก็แค่นั้นแหละ ถ้ามัวรอ big bang ก็ต้องรอว่าจะมาเมื่อไร แล้วจะเกิดผลอะไร 

นี่ไง ความเงียบพรรค์นี้ เวลาดูหนังเรื่อง Memoria คือสิ่งที่อยู่ในหัวผม ในเมื่อผมเขียนหนังสือไปแล้ว ความทรงจำมันเงี๊ยบเงียบในประเทศไทย แล้วไม่ใช่แค่เรื่อง 6 ตุลาคม 2519 สารพัดเรื่องที่ถูกทำให้เงียบหมด บางทีผมอยากเห็นคนจัดการความเงียบทำให้เป็นเรื่องจริงจังว่า ความเงียบในสังคมไทยมันเวิร์กยังไงวะ ยากฉิบเป๋งเลย มันควรจะเสียงดังได้ แต่ไม่ดัง

สังคมไทยไม่ได้เต็มไปด้วยความทรงจำ หรือไม่ได้เต็มไปด้วยความอึกทึก ผมคิดถึงทันทีที่ผมนั่งดูทีวีอยู่ คำขวัญมาปลุกใจกันอีกแล้ว ปลุกใจกันอยู่นั่นแหละ ปลุกใจกันด้วยคำขวัญสั้นๆ แต่ว่าห้ามวิจารณ์นะ ถ้าอยากวิจารณ์ อย่าแตะปัญหานะ พอคิดอย่างนี้ผมเลยเริ่มประมวลความคิด มันยิ่งทุเรศเข้าไปใหญ่เลย ปลุกใจกันฉิบหาย แต่ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์เลย 

เราสามารถใช้ ‘ความเงียบ’ มาต่อสู้กับคำขวัญปลุกใจใน narrative ของรัฐไทยได้หรือไม่

ไม่รู้ ผมเพิ่งคิดมา 2 วัน คือผมคิดมาก่อนเรื่องความเงียบ ไม่ได้ประมวลเรื่องราวในแง่นี้ ดังนั้นผมรู้สึกว่า ความเงียบโดยตัวของมันเองมันมหาศาล ส่วนความอึกทึกครึกโครมในสังคมไทยมันน่าทุเรศ ผมรู้สึกว่าความอึกทึกครึกโครมในสังคมไทยเป็นความอึกทึกแบบงานวิ่งของนักร้องดังคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง เต็มไปด้วยการพูดถึง การปลุกใจ ผมเลยรู้สึกมันทุเรศ จนกระทั่งครั้งหลังสุดผมดูแล้วขยะแขยง เพราะเราเห็นด้านตรงข้าม เห็นความเงียบถูกกลบไปตลอด มีสิ่งที่ถูกทำให้เงียบแฝงอยู่ข้างหลังเสียงที่อึกทึกครึกโครม สร้างแรงบันดาลใจแทบตลอดเวลา ผมนึกถึงนักร้องคนนี้ทุกที เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีของความอึกทึกแบบมีความเงียบอยู่ข้างหลังตลอดเวลา ทุกก้าวที่เขาวิ่งมีความเงียบตามไปอยู่เสมอ

ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ความเงียบที่ดูเหมือนตั้งอยู่บนความประนีประนอม หรือการบอกว่าอย่ารื้อฟื้นอดีต พูดได้ไหมว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ไม่เกิดการปะทะขั้นรุนแรง เช่น สงครามกลางเมือง 

ไม่ เพราะการถูกกดให้เงียบด้วยอำนาจนี่แหละที่จะทำให้เกิดการปะทะรุนแรง การปล่อยให้เกิดการพูด เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เกิดการขุดลงไปให้ถึงระบบที่เป็นปัญหา ในระดับ issue เหล่านั้นต่างหากถึงจะไม่เกิดความรุนแรง การบังคับให้คนเงียบจนเป็นนิสัย โดยฝ่ายที่มีอำนาจทำให้ประชาชนเงียบได้ ทำให้ประชาชนที่ไม่ต้องคิดมากได้ นี่ไง ผลที่เราเห็นในสังคมไทย แปลว่าการที่ประชาชนเงียบ ไม่หือไม่อือ ไม่วิพากษ์วิจารณ์เลย เป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการเฉลิมฉลองนะ เอางั้นไหมล่ะ ประชาชนที่มีความสุข รู้สึกภูมิใจกับการได้เปล่งคำขวัญปลุกใจซึ่งกันและกัน นึกถึงนิยายฝรั่ง มัน robotic มากเลย

เพียงแต่ผมคิดว่า การกดให้เงียบกลับยิ่งทำให้อันตราย ถ้าไม่ใช้อำนาจกดเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ กดความพยายามที่จะแก้ปัญหาเชิงระบบในจุดต่างๆ สังคมก็คงพัฒนา เพราะปัญหาที่มันเกิดขึ้นในจุดต่างๆ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแรงฉุดที่ไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง กับแรงผลักที่ต้องการจะเปลี่ยน แรงผลักไม่ได้เกิดขึ้นจากคน แต่เกิดขึ้นเนื่องจากสังคมมันเปลี่ยน นำไปสู่จุดที่ว่า ทำไมมันถึงเป็นไปได้ยากที่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะกดไว้ได้ตลอดไป เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว คุณจะฉุดไปได้สักเท่าไรกัน

สนับสนุนโดย

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า