พลังงานใต้พิภพจากภูเขาไฟที่ไอซ์แลนด์

ไอซ์แลนด์ขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาเป็นหัวหอกในสนามการต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของไอซ์แลนด์มาจากพลังน้ำ 75 เปอร์เซ็นต์ และ 25 เปอร์เซ็นต์จากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งดินแดนแห่งภูเขาไฟและทุ่งหิมะแห่งนี้เริ่มใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพตั้งแต่ช่วงวิกฤติราคาน้ำมันในทศวรรษที่ 1970

โปรเจ็คท์ล่าสุดของไอซ์แลนด์คือ การเจาะภูเขาไฟเพื่อใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพมาเติมเต็มสัดส่วนของพลังงานทดแทน

โครงการทดลอง Iceland Deep Drilling Project (IDDP) เริ่มต้นเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว และเจาะได้ระยะทางสูงสุดผ่านความลึก 4,659 เมตรเมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา จากนั้นจะใช้เวลาราวสองปีเพื่อทำให้ขั้นตอนทุกอย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ก่อนจะนำมาใช้งานจริงต่อไปในอนาคต

ขั้นตอนสำคัญของการนำพลังงานความร้อนจากภูเขาไฟมาใช้คือ การขุดเจาะ ทีมวิศวกรออกแบบเครื่องขุดเจาะที่ตั้งตามชื่อเทพในตำนานนอร์ดิกว่า ‘ธอร์’ (Thor – เหมือนในฮีโร่ค่าย Marvel นั่นแหละ) เพื่อทะลวงชั้นหินและดินไปยังใจกลางภูเขาไฟ

คุณสมบัติความแข็งแรงระดับเทพของธอร์คือ ทนความร้อนได้มากกว่า 427 องศา รับแรงดันจากของไหลยิ่งยวด (supercritical fluid) เพื่อนำไอความร้อนมหาศาลที่ได้จากใต้ผิวโลกมาขับเคลื่อนกังหันเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด

อัลเบิร์ต อัลเบิร์ตส์สัน (Albert Albertsson) วิศวกรจากบริษัท HS Orka หนึ่งในทีมขุดเจาะ บอกว่า หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าก๊าซธรรมชาติหรือพลังงานฟอสซิลอื่นๆ มากถึง 5-10 เท่า

เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าหล่อเลี้ยงประชากร 212,000 ในเรกยาวิก อัลเบิร์ตส์สันเปรียบเทียบว่า “เราต้องมีหลุมผลิตพลังงานความร้อนอุณหภูมิสูงแบบเก่าประมาณ 30-35 แห่ง” ขณะที่หลุมของไหลยิ่งยวดอาจมีแค่ 3-5 หลุมเท่านั้น

พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลังงานฟอสซิลก็จริง แต่มันก็ไม่ได้กรีนไปเสียทุกด้าน

มาร์ติน นอร์แมน (Martin Norman) จากกรีนพีซนอร์เวย์ กล่าวว่า การขุดเจาะพลังงานความร้อนใต้พิภพ “เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สมบูรณ์และไม่มีปัญหาใดๆ แต่ทันทีที่คุณเริ่มขุดจริง คุณจะต้องเจอปัญหาแน่ๆ เช่น มลพิษจากก๊าซกำมะถัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วคุณก็ต้องหาทางแก้เพื่อรับมือกับมัน”

แม้ไอซ์แลนด์จะประสบความสำเร็จด้านพลังงานหมุนเวียน แต่ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของ The Institute of Economic Studies จากมหาวิทยาลัยไอซ์แลนด์ (University of Iceland) ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ไอซ์แลนด์ไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 เนื่องจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อยๆ จากระบบเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ทุกระดับ – ยกเว้นการประมงและเกษตรกรรม

นอร์แมนย้ำถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังเป็นปัญหาว่า “มันยังห่างไกลจากการประชุมกำหนดเป้าหมายระดับนานาชาติ ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง”


อ้างอิงข้อมูลจาก: phys.org
futurism.com
inhabitat.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า