นิทานเรื่องข้าว 159 ปี : จากก่อนการอภิวัฒน์ ถึงรัฐประหารครั้งล่าสุด

01: ‘ข้าว’ ในเวลาก่อนการอภิวัฒน์ 2475

Picture

พ.ศ. 2398

ก่อนลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริง สยามส่งออกข้าวปริมาณร้อยละ 2 ของผลผลิตทั้งหมด รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการดำเนินการ หลังลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 การส่งออกข้าวระหว่างปี 2400-2403 มีปริมาณถึง 1,169,000 หาบ และเพิ่มเป็น 6,167,000 หาบในช่วงปี 2429-2433 การปลูกข้าวได้เปลี่ยนจากการบริโภคเองเป็นการผลิตเพื่อการค้าโดยสมบูรณ์

Picture

พ.ศ. 2414

หนังสือพิมพ์ Bangkok Calendar ฉบับปี พ.ศ. 2414 รายงานว่า มีการขุดคลองขนาดใหญ่จำนวน 5 คลอง คลองแต่ละสายมีความยาว 17 ไมล์ สายคลองตัดผ่านที่นาอันอุดมสมบูรณ์หลายหมื่นไร่

Picture

พ.ศ. 2417

ประกาศกฎหมายเลิกทาส ผู้เป็นทาสได้รับการปลดปล่อยให้เป็นไท โดยมีฐานะเป็น ‘ไพร่’ กฎหมายเลิกทาสส่งผลให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้นกว่าก่อน แต่ปัญหาของชาวนาคือการถือครองที่ดิน มีการศึกษาการถือครองที่ดินของชาวนาในช่วงต้นพุทธทศวรรษที่ 2470 พบว่า ชาวนาไม่มีที่ดินของตัวเองมีจำนวนร้อยละ 14 ในภาคใต้ของประเทศ ร้อยละ 27 ในภาคเหนือ และร้อยละ 36 ในภาคกลาง

Picture

พ.ศ. 2435-2449

ในช่วงที่ บริษัทคูคลองสยาม ทำการขุดคลองระหว่างปี พ.ศ. 2435-2444 บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการ ต่างซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร และปล่อยเช่าที่นา ในจำนวนเจ้าของที่ดินจำนวน 694 ราย มีที่ดินรวมทั้งสิ้น 235,822 ไร่ ขณะที่ร้อยละ 5 ของเจ้าของที่ดินมีที่ดินถึง 113,539 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 48.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด

ค่าเช่านาในขณะนั้น มีอัตราไร่ละ 9-10 บาทในที่ดินอุดมสมบูรณ์ ลดหลั่นตามคุณภาพที่ดินไปจนถึงไร่ละ 1-2 บาท อัตราค่าเช่าที่นาสมัยนั้นคิดเป็นร้อยละ 12-24 ของผลผลิตต่อไร่

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลระหว่างปี พ.ศ. 2437-2449 กระทรวงกลาโหมได้รับสัดส่วนงบประมาณที่ร้อยละ 17.3 กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 15 กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 12.7 ขณะที่กระทรวงเกษตรได้รับงบประมาณร้อยละ 3.4

Picture

พ.ศ. 2443

มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่นา ชาวนาที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าจะต้องถูกลงโทษในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้:

  • อาจถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการทำนาจนกว่าจะมีการชำระค่าเช่า
  • ทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องถูกยึดเพื่อขายเลหลัง เพื่อนำเงินมาชำระค่าเช่ารวมถึงค่าใช้จ่ายในการเลหลัง
  • อาจจะต้องทำงานเพื่อเป็นการหักเงินชำระหนี้โดยคิดค่าจ้างให้วันละ 25 สตางค์ จนกว่าหนี้ค่าเช่าจะได้รับการชำระ

Picture

พ.ศ. 2446

ฟาน เดอร์ ไฮเด (Van der heide) ผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานชาวดัทช์ ที่ปรึกษาที่รัฐบาลจ้างมาในปีก่อนหน้า ได้เสนอให้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เพื่อควบคุมปริมาณน้ำและส่งน้ำไปยังทุ่งนาต่างๆ โดยผ่านระบบคลองส่งน้ำเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด

แต่นาย ดับเบิลยู ดับเบิลยู เอฟ วิลแลมสัน (W.W.F. Willamson) ที่ปรึกษาการคลังต่อต้านโครงการนี้ เขาเป็นชาวอังกฤษ จึงมองว่าหากมีการสร้างเขื่อน อิทธิพลทางการเมืองของดัทช์ที่มีเหนือสยามจะมีเพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้น กลุ่มการเมืองสองกลุ่มคือฝ่ายกลาโหมและมหาดไทยไม่สนับสนุนโครงการนี้

Picture

พ.ศ. 2449

ชาวนาละแวกรังสิตละทิ้งการทำนาเป็นจำนวนมาก เพราะประสบปัญหาค่าครองชีพ ค่าเช่านา และภาษี ปัจจัยเหล่านี้เขยิบราคาขึ้นสูงกว่าราคาข้าว

Picture

พ.ศ. 2450

10 ธันวาคม 2450 รัฐบาลตัดสินใจเรียกประชุมชาวนาเป็นครั้งแรก มีชาวนาเข้าร่วมประชุม 33 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าที่ดินและคหบดีจากกรุงเทพฯ

ก่อนการประชุมวันที่ 10 ธันวาคม 2450 มีชาวนาบริเวณรังสิตจำนวน 36 คน เรียกร้องรัฐบาลปล่อยเงินกู้แก่ชาวนาครอบครัวละ 20-200 บาท คิดเป็นยอดรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,150 บาท กระทั่งเกิดการประชุมในวันที่ 10 ธันวาคม ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ชาวนามีหนี้สินเพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่มีการออมยามขัดสน และชอบเล่นการพนัน ดังนั้นจึงไม่ควรมีการตั้งสถาบันสินเชื่อให้ชาวนา

ภายหลังลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง รายได้ของรัฐบาลส่วนหนึ่งมาจากอากรฝิ่นและการอนุญาตให้เปิดบ่อนการพนัน คิดเป็นร้อยละ 44 ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล

Picture

พ.ศ. 2462

รัฐบาลพบว่า ชาวนาแถบรังสิตต้องนำที่นาไปจำนองกับนายทุนเงินกู้ ดอกเบี้ยร้อยละ 30 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยทางการในขณะนั้นอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น  สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น การส่งออกเริ่มมีผลกระทบต่อปริมาณข้าวในประเทศ รัฐบาลห้ามส่งข้าวออกนอกประเทศ

Picture

พ.ศ. 2470

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

Picture

พ.ศ. 2475

พรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้งในประเทศสยาม ร่างแถลงการณ์โน้มน้าวให้เห็นถึงอำนาจการปกครองของชนชั้นเจ้านาย แถลงการณ์ชี้ให้เห็นว่า บุคคลเหล่านี้เป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่

02: ข้าวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

Picture

พ.ศ. 2476

ราคาข้าวตกลงเหลือหาบละ 2.75 บาท ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลจีนเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวไทย 5 เท่า เพื่อตอบโต้รัฐบาลสยามที่เป็นปฏิปักษ์กับคนจีนในสยาม

ปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ ข้อเสนอที่ถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวนา เช่น การยกเลิกการเก็บภาษีอากรบางประเภท ลดภาษีที่ดินสำหรับปลูกข้าวลง 50 เปอร์เซ็นต์ และการเสริมสร้างระบบสหกรณ์ให้มีความมั่นคง แต่ข้อเสนอเหล่านี้ได้รับพระราชวิจารณ์จากสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระยามโนปกรณนิติธาดาในทางที่ไม่เห็นด้วย ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ ถูกปัจจัยทางการเมืองบีบให้ออกนอกประเทศด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

Picture

พ.ศ. 2480

ดับเบิลยู เอ เอ็ม ดอลล์ (W.A.M.Doll) ที่ปรึกษาด้านการคลังของรัฐบาล ประเมินว่า จากราคาข้าวส่งออก ผลประโยชน์เพียงครึ่งเดียวที่ตกถึงมือชาวนา ผลประโยชน์อีกครึ่งเป็นของโรงสี ผู้ส่งออก และพ่อค้าคนกลาง ซึ่งพ่อค้าคนกลางเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

Picture

พ.ศ. 2481

รัฐบาลตั้งบริษัทข้าวไทยโดยรวมโรงสีขนาดใหญ่ 10 แห่งที่เป็นของคนจีน โดยหวังลดอำนาจผูกขาดของโรงสีและผู้ส่งออก แต่ไม่ประสบผลเท่าใด ห้วงเวลานั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

Picture

พ.ศ. 2482

ข้าวที่ผลิตได้ในประเทศมีจำนวน 4.5 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ปริมาณการส่งออก 1.2 ล้านตันข้าวสาร

Picture

พ.ศ. 2484-2487

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งในปี 2487

Picture

พ.ศ. 2489

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตรในเดือนมกราคม ซึ่งบังคับให้ประเทศไทยส่งข้าวปริมาณ 1.5 ล้านตัน แก่สหราชอาณาจักรและอินเดีย เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม

รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมสองฉบับ 1.ห้ามกักตุนข้าว 2.ควบคุมการค้าข้าว เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายข้าวภายในประเทศ และสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลจะมีข้าวเพียงพอในการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม

Picture

พ.ศ. 2490

ข้าวที่ผลิตได้ในประเทศมีจำนวน 5.5 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการส่งออกมีจำนวน 384,000 ตัน จำนวนประชากรในปี 2490 เพิ่มขึ้นเป็น 17,400,000 คน จาก 14,400,000 คนในปี 2480 มีการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการส่งข้าวเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม เพราะรัฐบาลไทยไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว กระทั่งเดือนสิงหาคม ประเทศไทยได้รับอนุญาตจากฝ่ายสัมพันธมิตรโดยจ่ายเงินแทนการส่งมอบข้าวในราคาที่ผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ ขายให้สัมพันธมิตร

มีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินปอนด์ โดยกำหนดอัตรา 40 บาทต่อ 1 ปอนด์ ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทในขณะนั้นสูงเกินความเป็นจริงถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้มีการค้าขายเงินในตลาดมืด รัฐบาลตัดสินใจใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา สำหรับสินค้าส่งออกที่ไม่ใช่สินค้าหลัก ผู้ส่งออกจะได้รับอนุญาตให้ขายเงินตราต่างประเทศในตลาดทั่วไปในอัตราปอนด์ละ 60 บาท หากเป็นพ่อค้าส่งออกข้าว จะต้องนำเงินตราต่างประเทศทั้งหมดที่ได้จากการขาย ส่งมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อ 1 ปอนด์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 33.3 จากชาวนา สาเหตุที่รัฐบาลออกมาตรการเช่นนี้ เพราะประเทศต้องการเงินตราต่างประเทศมาก

รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนข้าว ประชาชนต้องต่อแถวซื้อข้าวคุณภาพต่ำ หนังสือพิมพ์รายงานในเดือนสิงหาคม มีคนงานประมาณ 2,000 คน เดินขบวนไปขอข้าวที่สำนักนายกรัฐมนตรี

ราคาข้าวในประเทศมีราคากระสอบละ 170-190 บาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจากราคากระสอบละ 8-10 บาทในปี 2484

รัฐบาลตั้ง ‘ธนาคารเพื่อการสหกรณ์’ แต่การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ทำให้รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์หมดอำนาจ ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะรัฐประหาร ให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้าวขาดแคลนได้

Picture

พ.ศ. 2491

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายใต้คณะรัฐประหารเมื่อปี 2490 ประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ขายข้าวให้ทุกประเทศได้ในราคาตลาดโลก มีการวิเคราะห์กันว่า ช่วงเวลานี้ รัฐบาลควรจะยกเลิกมาตรการที่เคยประกาศใช้ก่อนหน้านี้สองมาตรการ ได้แก่ 1.สำนักงานข้าว 2.ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้นกว่าในช่วงเกิดสงคราม

มีโครงการสร้างระบบชลประทานในภาคกลาง 15 โครงการ โครงการเขื่อนที่จังหวัดชัยนาทได้รับการดำเนินการเป็นครั้งแรกหลังจากที่ ฟาน เดอร์ ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานชาวดัทช์ เคยเสนอไว้เมื่อปี 2446 และมีการออกกฎหมายกำหนดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรได้ไม่เกิน 50 ไร่ ป้องกันไม่ให้มีการรวบที่ดินของเจ้าที่ดินรายใหญ่

Picture

พ.ศ. 2493

เกิดการทุจริตติดสินบนในการออกใบอนุญาตให้ส่งออกข้าว เนื่องจากสำนักงานข้าวไม่สามารถส่งออกข้าวเองได้ทั้งหมด จึงมีการออกมาตรการ ‘พรีเมียมข้าว’ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าว มีการวิเคราะห์ว่า พรีเมียมข้าวส่งผลกระทบต่อชาวนาอย่างรุนแรง

Picture

พ.ศ. 2497-2499

มีการจัดระบบการจัดเก็บค่า ‘พรีเมียมข้าว’ โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องอัตราต่างๆ ในการเรียกเก็บ หากอัตราเปลี่ยนไปก็จะมีการประกาศจากทางการเสมอ

ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราซึ่งเป็นรูปแบบภาษีที่เรียกเก็บจากชาวนาอีกรูปแบบหนึ่งได้ถูกยกเลิก เนื่องจากรายได้จากภาครัฐได้รับการทดแทนด้วยการขึ้นค่าพรีเมียมข้าว  มีการควบคุมปริมาณการส่งออกข้าว มีการเก็บอากรขาออกในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ของมูลค่าการส่งออก

Picture

พ.ศ. 2500

ช่วงก่อน 2500 กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ มีหลักฐานว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ วางแผนขอความสนับสนุนจากประเทศจีนและสหภาพโซเวียต เพื่อถ่วงอิทธิพลของสหรัฐ ทั้งความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำและการเมืองระหว่างประเทศ ท้ายที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถยึดอำนาจในเดือนกันยายน

03: ข้าวร้อนๆ ในยุคสงครามเย็น

Picture

พ.ศ. 2501-2510

ธนาคารโลกส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย และได้เสนอแนวทางในการพัฒนาประเทศในปี 2502 รัฐบาลไทยใช้เอกสารดังกล่าวเป็นแนวทางสำหรับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งร่างขึ้นในปี 2504 ประกอบด้วยแผน 2 ช่วง คือ 2504-2506 และ 2507-2509 สำหรับแผนฉบับที่ 3 ครอบคลุมช่วงระหว่างปี 2510-2519 แผนทั้งสามฉบับเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า

แผนฉบับที่ 1 เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อน และถนน อย่างแรกเพื่อผลิตไฟฟ้าจากน้ำ ส่วนการสร้างทางหลวงเป็นเหตุผลทางการทหาร การสร้างถนนในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 มีผลทำให้ชาวนารายย่อยต้องสูญเสียที่ดิน เป็นสถานการณ์คล้ายคลึงกับการขุดคลองบริเวณทุ่งรังสิตในช่วงปี 2431-2457 ที่ดินสองข้างทางที่ถนนตัดผ่านจะถูกจับจองหรือซื้อไว้ด้วยราคาถูกโดยราชการระดับสูง นักธุรกิจ หรือเจ้าที่ดินท้องถิ่น ชาวนารายย่อยถูกบังคับให้โยกย้ายไปบุกเบิกที่ดินที่ยังไม่มีคนครอบครอง

ช่วง พ.ศ. 2502-2506 มีการประมาณการว่า ชาวนาสูญเสียที่ดินจากการฝากขายและจำนองไม่ต่ำกว่า 172,869 ไร่ จากเอกสารสิทธิ์ 7,016 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 347.3 ล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ดำเนินนโยบายตามข้อเสนอของสหรัฐ นโยบายที่ชัดเจนของสหรัฐคือการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ยุทธศาสตร์ที่สหรัฐนำมาใช้คือการเพิ่มกำลังทหาร และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยอุตสาหกรรม การจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้สำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับอุปทานแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ค่าแรงจะต่ำได้ก็ต่อเมื่อสามารถกดราคาข้าวให้ต่ำ ในขณะเดียวกัน ชาวนาถูกเรียกเก็บภาษีหลายรูปแบบ เช่น ค่าธรรมเนียมการส่งออก อากรขาออก ระบบโควตา

ในปี 2503 พบว่า ชาวนามีรายได้ประมาณ 16,000 บาท จะต้องเสียค่าธรรมเนียมส่งออก 3,600 บาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของรายได้ ซึ่งมีการศึกษาว่า ภาษีอัตรานี้ควรนำไปใช้กับผู้มีรายได้ 10,000-150,000 บาท

กฎหมายกำหนดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรได้ไม่เกิน 50 ไร่ที่ถูกประกาศในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ แต่หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตในเดือนธันวาคม 2506 มีการเปิดเผยว่า เขาสะสมที่ดินไว้หลายพันไร่ระหว่าง 5 ปีที่อยู่ในอำนาจ ขณะที่อัตราสำรองข้าวถูกนำมาใช้ปลายปี 2504 ช่วงต้นปี 2505 ปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกสูงมาก ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงตาม รัฐเข้าแทรกแซงตลาดข้าวโดยการควบคุมการส่งออก มีการขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมการส่งออก กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องสำรองข้าวให้รัฐบาลในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนข้าวที่จะส่งออกทั้งหมด

มาตรการอัตราสำรองข้าวถูกยกเลิกในเดือนธันวาคม 2505 ก่อนจะนำกลับมาใช้อีกในปี 2509 เมื่อผลผลิตในปีนั้นต่ำ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนข้าวในประเทศ ซึ่งอาจกระทบค่าครองชีพได้

Picture

พ.ศ. 2510-2519

พุทธศตวรรษที่ 2510 การจำหน่ายข้าวสำรองได้ขยายวงกว้างออกไป ข้าวครึ่งหนึ่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ ข้าวอีกครึ่งถูกส่งกลับไปยังเมืองในจังหวัดต่างๆ มาตรการการสำรองข้าวทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ในที่สุดต้นทุนดังกล่าวก็ตกเป็นภาระของชาวนา

ต้นปี 2510 การส่งออกข้าวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้น ผลผลิตส่วนเกินที่มีไว้สำหรับส่งออกลดปริมาณลง รัฐบาลเตรียมห้ามเอกชนส่งออก แต่กลับดำเนินนโยบายทำสัญญาแบบจีทูจี (G to G: Government to Government) กับรัฐบาลอินโดนีเซียในปริมาณข้าวจำนวนมาก เมื่อข่าวนี้แพร่ไปยังตลาดข้าว ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการนำข้าวสำรองออกจำหน่ายในราคาต่ำกว่าตลาด

ปลายปี 2515 ในช่วงที่ข้าวเก่าเริ่มหมดจากตลาด ข้าวใหม่ก็ยังไม่เก็บเกี่ยว และบางส่วนอยู่ในโรงสี เริ่มเกิดวิกฤติข้าวรุนแรง ประชาชนต่อแถวซื้อข้าวในราคาถูก รัฐบาลประกาศห้ามส่งออกข้าว และปรับอัตราข้าวสำรองให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 100 ในเดือนมิถุนายน ก่อนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 200 ในเดือนถัดมา ทำให้อุปทานข้าวสำรองหยุดชะงักทันที และจำนวนข้าวสำรองก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ผู้บริโภคตื่นตระหนกเมื่อข้าวสารหายไปจากตลาด เริ่มมีการกักตุนสินค้าข้าวสารโดยหันไปซื้อจากตลาดเสรีเพื่อกักตุนไว้บริโภค พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ใช้อำนาจฉุกเฉินตามมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญ เข้าจับกุมและยึดข้าวจากผู้ทำการกักตุน ขณะที่สถานการณ์ทางด้านอื่นๆ ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เมื่อนิสิตนักศึกษาและประชาชน เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นจุดจบของรัฐบาลในห้วงเวลานั้น

Picture

พ.ศ. 2516-2519

รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นบริหารประเทศ ในช่วงเวลานั้นโลกได้เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปลายปี 2515 ราคาข้าวอยู่ที่ 2,101 บาท/ตัน ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 4,235 บาท/ตันในปี 2516 และ 9,500 บาท/ตันในปี 2517

ปี 2517 ชาวนาถูกเก็บภาษีในรูปแบบของค่าธรรมเนียมส่งออกและอากรขาออกสูงเป็นประวัติศาสตร์ อากรขาออกตันละ 5,727 บาท ธรรมเนียมค่าส่งออกอยู่ที่ 5,100 บาทต่อตัน อัตราการเก็บภาษีเหล่านี้อยู่ในช่วงที่ราคาข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯมีราคา 3,773 บาท/ตันเท่านั้น

รายได้จากค่าธรรมเนียมส่งออกในปี 2517 คิดเป็นร้อยละ 8 ของรายได้รัฐบาลในปีนั้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศใช้ระบบโควตาเพื่อควบคุมการส่งออก ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวนา ชาวนาเริ่มเคลื่อนไหวโดยความร่วมมือของนิสิตนักศึกษา

1 มีนาคม 2517 ชาวนาจำนวนมากชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวง แต่แทนที่ชาวนาจะเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกค่าธรรมเนียมส่งออก ชาวนากลับเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 3,000 บาท ซึ่งราคาที่ชาวนาเรียกร้องนั้นนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาข้าวสารในตลาดโลก และค่าปุ๋ยที่ราคาสูงขึ้นผลจากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น การผลิตของชาวนายังขาดทุนอยู่ดีแม้รัฐบาลจะตั้งราคาประกันข้าวเปลือกที่ 3,000 บาท

เดือนพฤษภาคม 2517 ชาวนารวมตัวประท้วงอีกครั้ง ข้อเรียกร้องคราวนี้คือให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินและให้ช่วยจัดการปัญหาที่ดินที่ถูกนายทุนเงินกู้ยึดไปอย่างไม่เป็นธรรม

รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาที่ชาวนาร้องเรียน คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวนา 12,800 คน เมื่อเข้าสู่เดือนกันยายนในปีเดียวกัน จำนวนเรื่องร้องเรียนเพิ่มเป็น 52,015 ราย คณะกรรมการสามารถพิจารณาคำร้องของชาวนาได้เพียง 1,635 ราย และแถลงว่า ปัญหาที่ชาวนาร้องเรียนเข้ามามีมูลความจริง แต่คณะกรรมการสามารถช่วยเหลือชาวนาให้ได้รับที่ดินของตนคืนได้เพียงหนึ่งราย

ชาวนารวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 และได้ก่อตั้ง ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ขึ้น

การรวมตัวกันของชาวนาชาวไร่ในนาม สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย สร้างปัญหาเสถียรภาพแก่รัฐบาล รัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวนาโดยตั้ง ‘กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร’ แต่การออกมาตรการต่างๆ กลับไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาให้ชาวนา มิหนำซ้ำกลไกเหล่านี้กลับสร้างผลประโยชน์ให้ข้าราชการและนักการเมือง โดยหน่วยงานที่มีอำนาจในการเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวเป็นของ ‘กรมการค้าต่างประเทศ’ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสามารถเรียกเก็บได้ตามอัตราที่กรมเห็นสมควร

ต่อมากรมการค้าต่างประเทศได้ตั้งหน่วยงานแสวงผลกำไรขึ้นภายในกรมชื่อ ‘หน่วยบัญชีข้าว’ เพื่อดำเนินการทางการเงิน เนื่องจากได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมส่งออก หน่วยบัญชีข้าวจึงมีกำไรจากการค้า ดังนั้น นโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์จึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล และข้าราชการในกรมการค้าต่างประเทศ สนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างแข็งขัน เพราะเครื่องมือในการดำเนินนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับผลประโยชน์ของหน่วยงาน

เงินที่มาจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวภายใต้การดูแลของกรมการค้าต่างประเทศ ได้ถูกนำมาอุดหนุนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ภายหลังมีการผ่าน พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเมื่อปี พ.ศ. 2517 เงินก้อนดังกล่าวถูกส่งเข้ากองทุนโดยไม่ผ่านการคลัง ผู้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกองทุนคือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เงินกองทุนดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเงินนอกงบประมาณ กระทรวงเกษตรฯสามารถนำไปใช้ได้ตามดุลยพินิจและความเหมาะสม

มาถึงตรงนี้ เราพอจะเห็นภาพร่วมกันแล้วว่า เหตุใดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นที่ต้องการของพรรคการเมือง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ในช่วงต้นปี 2518 รัฐบาลคึกฤทธิ์ออกนโยบาย ‘ผันเงินสู่ชนบท’ หรือโครงการพัฒนาชนบทและส่งเสริมการจ้างงานในฤดูแล้ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2,500 ล้านบาท เงินช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าวตกอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ผู้รับเหมาท้องถิ่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เงินจำนวนน้อยที่ถึงมือชาวนา

ชาวนาและเจ้าหน้าที่บางคนถูกสังหาร เพราะเข้าไปขัดขวางหรือเปิดโปงการทุจริตในโครงการดังกล่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้คือพรรคกิจสังคม พรรคกิจสังคมได้รับคะแนนนิยมจากโครงการดังกล่าวในการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2519 พรรคกิจสังคมในเวลานั้นถูกมองว่า ใช้เงินสำรองคงคลังเพื่อหาเสียง เพราะการแก้ปัญหาที่ตรงกับความเดือดร้อนของชาวนา น่าจะเป็นการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวมากกว่า ขบวนการชาวนามีกรรมกรและนักศึกษาเป็นพันธมิตร หรือเรียกกันในนาม ‘สามประสาน’ + ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม มองว่า รัฐบาลคึกฤทธิ์อ่อนแอในการจัดการปัญหาของชาวไร่ชาวนา กลุ่มขวาจัดเริ่มปฏิบัติการนอกกฎหมาย มีผู้นำชาวไร่ชาวนาถูกลอบสังหาร 17 คน

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2522 มีชาวไร่ชาวนาถูกสังหารทั้งสิ้น 48 ราย รัฐบาลชุดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ประกาศห้ามส่งออกข้าวชั่วคราวระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2519 เนื่องจากข้าวในประเทศมีราคาสูงขึ้น ผลจากการส่งออกข้าวในปริมาณมากในช่วงรัฐบาลก่อนหน้า นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

04: ข้าวเต็มเม็ดในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

Picture

พ.ศ. 2521

ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผู้คนในชนบทโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตั้งงบประมาณจำนวน 1,600 ล้านบาทจากเงินคลังสำรองเป็นงบประมาณพิเศษเพื่อใช้จ่ายในโครงการ ‘การบูรณะฟื้นฟูชนบทบริเวณที่ได้รับภัยพิบัติจากธรรมชาติ’

Picture

พ.ศ. 2522

การต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐ จึงมีการวิเคราะห์กันว่าจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาทางการเมืองมากกว่าที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับชีวิตชาวนา

Picture

พ.ศ. 2523

รัฐบาลประกาศห้ามส่งข้าวไปจำหน่ายแก่ประเทศอิหร่านและสหภาพโซเวียตในวันที่ 30 มกราคม 2523 เนื่องจากกรณีขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ ประเทศสหรัฐร้องขอประเทศไทยร่วมประท้วงสหภาพโซเวียตที่รุกรานอัฟกานิสถาน พลเอกเกรียงศักดิ์ถูกโจมตีว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2523

Picture

พ.ศ. 2525-2526

กลไกที่รัฐบาลเปรมใช้สำหรับการรับซื้อและขายข้าวในช่วงแรก คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ ‘กรมการค้าภายใน’ กระทรวงพาณิชย์ ในการเข้าไปรับซื้อข้าวจากโรงสี เพื่อจำหน่ายผู้บริโภคในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกเก็บไว้ตามแต่โอกาสเมื่อมีประกาศนโยบายพยุงราคา อีกกลไกหนึ่ง รัฐบาลใช้ ‘องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร’ (อ.ต.ก.) ที่ก่อตั้งในปี 2517 สังกัด ‘กระทรวงเกษตรและสหกรณ์’ ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางให้เกษตรกร อ.ต.ก. เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า ทำหน้าที่ดำเนินการพยุงราคาผลิตผลเกษตรกรรม รวมทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร

จากการศึกษาการปฏิบัติงานของ อ.ต.ก. ในฤดูเพาะปลูกปี 2525/26 โดย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พบว่า ผู้ส่งออกและโรงสีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดประมาณร้อยละ 54 จากการค้าข้าว เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายได้รับผลตอบแทนร้อยละ 27 ชาวนาได้รับผลตอบแทนที่เหลือร้อยละ 19

หลังปี 2524 เป็นต้นมา ราคาข้าวตกต่ำลงเรื่อยๆ รัฐบาลในขณะนั้นจึงหันมาผลักดันโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในปีการผลิต 2525/26 โดยให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำกับ ธ.ก.ส. ข้าวเปลือกที่นำมาจำนำ เกษตรกรต้องนำไปฝากไว้ที่หน่วยงานขององค์การคลังสินค้าในพื้นที่ เกษตรกรจะได้รับเงินกู้ยืมร้อยละ 80 ของมูลค่าข้าว แต่มีการจำกัดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยเกษตรกรสามารถไถ่ถอนข้าวก่อนกำหนดได้พร้อมจ่ายอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 แต่ถ้าเกษตรกรไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด ข้าวเปลือกที่จำนำไว้จะตกเป็นขององค์การคลังสินค้าเพื่อการจำหน่ายออกต่อไป

Picture

พ.ศ. 2527

การนำมาตรการการกำหนดโควตาถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2527 โดย นายโกศล ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น ผลจากการนำระบบโควตากลับมาใช้ในปี 2527 สร้างความไม่พอใจให้กับโรงสี คนกลุ่มนี้มองว่าจะเป็นผลเสียต่อการค้าข้าวทั้งระบบของประเทศ ในช่วงเวลานั้นราคาข้าวลดต่ำลงมาเหลือตันละ 5,616 บาท นอกจากนั้นก็มีการเก็บรักษาข้าวไว้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้โควตาส่งออก แต่มาตรการนี้กลับฉุดลากให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำลงไปอีก เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดให้กับพ่อค้าส่งออกซึ่งได้กำไรจากส่วนเกินที่เรียกว่า ‘ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ’ และทำให้เกิดการทุจริตในหมู่ข้าราชการ

Picture

พ.ศ. 2528

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกได้หยุดชะงักไปในปี 2528 เพราะรัฐบาลกำลังเตรียมการเพื่อจะนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาของภาครัฐในขณะนั้น รัฐบาลพลเอกเปรมประสบกับปัญหาเรื่องข้าวและเสถียรภาพทางการเมือง หลังจากความล้มเหลวในการทำรัฐประหารของกลุ่มกบฏ 9 กันยา พลเอกเปรมเดินทางไปเยือนสหรัฐและยุโรปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ได้มอบหมายให้นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นเตรียมหาหนทางแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกและข้าวสาร

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้ส่งออกเรียกร้องให้รัฐบาลลดอากรขาออก และยกเลิกค่าธรรมเนียมส่งออกสำหรับข้าวสารบางประเภท รวมทั้งยกเลิกระบบโควตาและการเก็บรักษาข้าว พูดได้ว่าข้อเรียกร้องของผู้ส่งออกคือ การเปิดการค้าข้าวเสรีคณะกรรมการข้าวของสภาหอการค้าไทยได้ประชุมกันในวันที่ 18 กันยายน 2528 มีมติเสนอต่อคณะกรรมการรักษาระดับราคาข้าวของรัฐบาล ให้ยกเลิกมาตรการกีดกันการค้าข้าวทั้งหมด แต่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ผู้เป็นประธานคณะกรรมการรักษาระดับราคาข้าว ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของคณะกรรมการข้าวของสภาหอการค้าไทย การประชุม ครม. ในวันที่ 23 กันยายน 2528 มีมติให้ยกเลิกเฉพาะอากรขาออกข้าว แต่ให้คงมาตรการค่าธรรมเนียมส่งออกข้าว และการเก็บรักษาข้าวไว้ดังเดิม

ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ฐานเสียงของพรรคชาติไทย พรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดนั้นเคลื่อนไหวร่วมกับคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกร 8 จังหวัด พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มชาวนาใน 8 จังหวัด แสดงความวิตกต่อราคาข้าวเปลือกนาปรังตกต่ำลงเหลือเพียงเกวียนละ 1,800-1,900 บาท ราคาข้าวนาปีตกลงมาจากเกวียนละ 3,300 บาท เหลือเพียงเกวียนละ 3,000 บาท ความเคลื่อนไหวอีกฟากของฝ่ายการเมือง รัฐมนตรี 11 คน ของพรรคกิจสังคมมาพบปะหารือกันที่บ้านพักของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนจะได้ข้อสรุปเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำของปีการผลิต 2528/29 โดยที่การเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกฤดูใหม่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2528 พวกเขาทั้ง 11 คน ขู่ว่าจะถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหากข้อเรียกร้องได้รับการเพิกเฉย

แอ็คชั่นของ 11 รัฐมนตรีพรรคกิจสังคม ถูกมองจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคชาติไทย ว่ามีเจตนาหาเสียงกับชาวนา ระหว่างพลเอกเปรมเดินทางไปสหรัฐและยุโรปเป็นเวลาสองสัปดาห์ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคมประมาณ 30 คน เดินสายพบปะผู้แทนสมาคมโรงสี มีการพูดคุยกันว่าโรงสีจะรับซื้อข้าวเปลือกในราคาเกวียนละ 3,300 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าโรงสีจะต้องได้รับเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาล พลเอกเปรมเดินทางกลับประเทศวันที่ 10 ตุลาคม 2528 ก่อนจะมีการประชุม ครม. ฝ่ายเศรษฐกิจในวันที่ 14 ตุลาคม 2528 แต่ไม่มีข้อสรุปในดีลที่พรรคกิจสังคมคุยไว้กับโรงสี มีเพียงการตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเสนอของพรรคกิจสังคม

17 ตุลาคม 2528 คณะกรรมการนโยบายข้าวปีการเพาะปลูก 2528/29 ได้ประชุมกันที่กระทรวงพาณิชย์ มีมติเสนอให้มีการประกันราคาข้าวเปลือก 3,000 บาท/เกวียน และพร้อมที่จะใช้มาตรการบังคับ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด และ พ.ร.บ.การค้าข้าว โรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี แทนอัตราเดิมที่ร้อยละ 15.5 ต่อปีจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปซื้อข้าวเปลือก กติกาคือหากปฏิเสธรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาประกันขั้นต่ำ จะต้องถูกจำคุกและปรับ

21 ตุลาคม 2528 ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการยกระดับราคาข้าว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคม 2528 โดยเงินทั้งหมดที่ใช้ในการนี้ไม่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์เหมือนดีลที่พรรคกิจสังคมคิดไว้ แต่นำมาจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร คาดการณ์กันในช่วงเวลานั้นว่า ชาวนาจะสามารถขายข้าวได้ประมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือกในราคาประกันที่ 3,000 บาทต่อเกวียนสำหรับข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม ที่ต้องการเห็นตัวเลขที่ 3,300 บาทต่อเกวียน

มาตรการประกันราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำถูกประกาศใช้ในเดือนธันวาคม แต่ปัญหากลับไม่ถูกแก้ วันที่ 9 ธันวาคม 2528 ชาวนาจำนวนกว่า 1,500 คนจากจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี รวมตัวกันที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อประท้วงราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

ปลายปี 2528 ต้นปี 2529 กลุ่มเกษตรกรได้ทำการเคลื่อนไหวประท้วงราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ผู้แทนชาวนา 70 คน รวมตัวกันที่บ้านนายประภัตร โพธสุธน สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคชาติไทย วันที่ 6 มกราคม 2529 ชาวนาประมาณ 3,000 คน ชุมนุมประท้วงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ท่ามกลางความอลหม่าน ชาวไร่สับปะรดบรรทุกสับปะรดเทเกลื่อนไปทั่วบริเวณ

มีคำอธิบายว่า ชาวไร่สับปะรดถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อขัดขวางการประท้วงที่พรรคชาติไทยให้การสนับสนุน ซึ่งพยายามจะทำให้พลเอกเปรมเสียชื่อ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเทสับปะรดคือ พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอุทัยธานี ผู้เป็นเจ้าของโรงงานสับปะรดกระป๋องในเพชรบุรี ซึ่งสังกัดพรรคชาติไทยในเวลานั้น

ในบางพื้นที่ราคาข้าวเปลือกตกลงมาอยู่ที่เกวียนละ 2,300-2,400 บาท ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ เขาประกาศยกเลิกมาตรการทั้งหมดของรัฐมนตรีคนเก่าทันที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ประกาศยกเลิกโครงการพยุงราคาข้าวเปลือก ยกเลิกการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับที่ทำให้โรงสีข้าวลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ (พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด และ พ.ร.บ.การค้าข้าว) ยกเลิกระบบโควตาส่งออก ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวสำหรับข้าวคุณภาพต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ผ่อนปรนข้อกำหนดให้มีการเก็บรักษาข้าวที่กำหนดไว้ 2,000 ตัน ลดเหลือปริมาณต่ำกว่านั้น แต่กลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ 4 กลุ่มที่ได้รับอภิสิทธิ์ที่จะขายข้าวในตลาดที่รัฐบาลกำหนด ยังต้องเก็บรักษาข้าวไว้ในจำนวนรวมทั้งสิ้น 80,000 ตัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ผู้นี้บอกว่า มาตรการทั้งหมดเท่ากับการปล่อยให้มีการค้าข้าวโดยเสรี

05: วิวัฒนาการโครงการจำนำข้าว

Picture

พ.ศ. 2529-2530

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2529/30 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโครงการภายในของ ธ.ก.ส. มาเป็นโครงการของรัฐและเป็นโครงการหลัก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำด้วยการชะลอการขายของเกษตรกร

ธ.ก.ส. ให้ร้อยละ 80 ของมูลค่าข้าวเปลือก ในปีการผลิต 2529/30 มีเกษตรกรมาขอกู้จำนวน 360,269 ราย มียอดเงินสินเชื่อรวม 3,809.6 ล้านบาท และมีปริมาณข้าวเปลือกที่นำมาจำนำประมาณ 2.27 ล้านตัน

Picture

พ.ศ. 2530-2531

คณะกรรมการนโยบายและมาตรการข้าว (กนข.) เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของอัตราดอกเบี้ยใหม่ โดยกำหนดให้เกษตรกรเสียดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีตลอดระยะเวลาจำนำ โดยที่ ธ.ก.ส. จะได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สำหรับงบประมาณที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะอยู่ในวงเงินประมาณ 2-3 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปีการผลิต 2531/32 ถึงปีการผลิต 2533/34

Picture

พ.ศ. 2534-2535

รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนงานกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรที่ตั้งขึ้นในปี 2517 มาเป็นคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และได้จัดตั้ง ‘กองทุนรวมเพื่อเกษตรกร’ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระบบครอบคลุมสินค้าเกษตรทุกชนิด ทำให้โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแทรกแซงระดับราคาข้าวได้ขอใช้เงินจากกองทุนรวมฯนี้ รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกภายใต้การดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ด้วย

มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จำนวนเงินสินเชื่อจากร้อยละ 80 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นร้อยละ 90 ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับสินเชื่อในจำนวนที่สูงขึ้น

Picture

พ.ศ. 2535-2536

มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการรับจำนำข้าวเปลือก เกษตรกรสามารถยืมยุ้งฉางของเกษตรกรรายอื่นเพื่อเก็บรักษาข้าวเปลือกได้ ทำให้จำนวนการมาใช้สินเชื่อภายใต้โครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นเป็น 10,550 ล้านบาท และธนาคารได้รับจำนำข้าวเปลือกเป็นจำนวนถึง 3.34 ล้านตัน มีเกษตรกรที่มาใช้บริการสินเชื่อจำนวน 465,744 ราย

Picture

พ.ศ. 2536-2537

มีการกำหนดวิธีการรับจำนำขึ้นเป็น 2 รูปแบบ คือการรับจำนำข้าวเปลือกที่ยุ้งฉาง และการรับจำนำใบประทวนสินค้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง

Picture

พ.ศ. 2540

ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มลดต่ำลงลงไปจากเดิม เนื่องจากการขยายการผลิตของเกษตรกร โดยใช้ข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงที่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีและให้ผลผลิตสูงในพื้นที่ชลประทาน การแพร่กระจายของข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงทำให้สามารถปลูกข้าวได้มากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปี ปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงกดดันต่อราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรตามมา

Picture

พ.ศ. 2541-2543

เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. โดยใช้ข้าวเปลือกเป็นหลักประกันเงินกู้ รัฐบาลได้ปรับเพิ่มราคาจำนำให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินได้สูงถึงร้อยละ 95 ของราคาเป้าหมายในปีการผลิต 2541/42 และ 2542/43

Picture

พ.ศ. 2543-2544

สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีไปพร้อมกับโครงการรับจำนำข้าวสารและมาตรการเสริมอื่นๆ ในปีนี้เองไม่ได้กำหนดราคาเป้าหมายแต่ใช้กำหนดราคารับจำนำแทน นั่นหมายความว่าเกษตรกรสามารถนำข้าวเปลือกมาจำนำและกู้เงินได้ร้อยละ 100 ของราคาที่ กนข. กำหนด สำหรับหลักเกณฑ์อื่นๆ ยังคงถือปฏิบัติเช่นเดียวกับโครงการในปีที่ผ่านมา

พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 มีการออกแบบกลไกและมาตรการใหม่ โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกในกลุ่มของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง และให้ อคส. เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกในกลุ่มของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางของตนเอง ทั้งนี้ อคส. จะเป็นผู้ออกใบประทวนสินค้าให้กับเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกนาปรังปี 2544 ไปฝากไว้กับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการแล้วนำใบประทวนไปจำนำกับ ธ.ก.ส.

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2544 ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของโครงการรับจำนำใบประทวนสินค้าข้าวเปลือกนับแต่นั้นมา เพราะได้มีมาตรการให้โรงสีเอกชนเข้ามาเป็นกลไกที่สำคัญในกระบวนการรับจำนำข้าวเปลือก เพิ่มเติมจากการใช้กลไกของ ธ.ก.ส. และสถาบันสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกและฝากข้าวเปลือกไว้กับยุ้งฉางของเกษตรกรแต่ละรายหรือสถาบันเกษตรกรในแหล่งการผลิต

Picture

พ.ศ. 2546-2549

ในช่วงปีการผลิต 2546/47 และ 2547/48 นโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในขณะนั้นนอกจากจะคงเป้าหมายของขนาดโครงการการรับจำนำข้าวเปลือกไว้ที่ 9 ล้านตันแล้ว ยังปรับเพิ่มระดับราคารับจำนำให้สูงกว่าระดับราคาตลาด

การปรับเพิ่มราคารับจำนำดังกล่าวได้ส่งผลให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่ผลิตได้มาเข้าโครงการรับจำนำเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 2.7 ล้านตันในปีการผลิตปี 2546/47 เป็น 9.4 และ 9.5 ล้านตัน ในปีการผลิต 2547/48 และปีการผลิต 2548/49 ตามลำดับ

มูลค่าการรับจำนำได้เพิ่มจาก 12,429 ล้านบาทในปีการผลิต 2546/47 สูงขึ้นเป็น 71,773 ล้านบาท ในปีการผลิต 2548/49 อย่างไรก็ตาม การที่ราคารับจำนำได้ปรับเพิ่มสูงกว่าระดับราคาตลาดทำให้เกษตรกรไม่มาไถ่ถอนคืนและมีข้าวหลุดจำนำตกเป็นของรัฐในจำนวนที่มากตามมา

การศึกษาช่องทางการตลาดข้าวเปลือก โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รายงานว่านับจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากการที่รับจำนำในราคาต่ำกว่าตลาดหรือใกล้เคียงกับราคาตลาด ไปสู่การยกระดับราคาจำนำให้สูงกว่าระดับราคาตลาด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่องทางตลาดข้าวเปลือกจากเดิมที่เกษตรกรเคยขายผ่านพ่อค้าในหมู่บ้านและตลาดกลาง ไปสู่การนำข้าวมาจำนำที่โรงสี ตลาดกลางข้าวเปลือกทั้งที่เป็นของเอกชนและของสหกรณ์การเกษตรที่ได้เคยมีนโยบายการพัฒนาไว้ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 6 (2530-2534) และ 7 (2535-2539) ก็ไม่สามารถพัฒนาให้ดำเนินการได้ต่อไป และต้องปิดกิจกรรมของการเป็นตลาดกลางลงและหันไปทำหน้าที่อย่างอื่นแทนการเป็นตลาดกลางข้าวเปลือก

06: ข้าว พลังนกหวีด และอำนาจ คสช.

Picture

พ.ศ. 2549

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารในเดือนกันยายน รัฐบาลปรับลดเป้าหมายปริมาณการรับจำนำลงจาก 9 ล้านตัน มาเป็น 8 ล้านตัน พร้อมปรับราคารับจำนำเป้าหมายในฤดูนาปรังให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด พร้อมกับมีการจัดทำแผนการระบายข้าวในสต็อกออกเป็นระยะและสามารถระบายข้าวสารคงเหลือในสต็อกได้ลดลงเหลือเพียงจำนวน 2.1 ล้านตัน

Picture

พ.ศ. 2551

พรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศ ช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมปี 2551 ระดับราคาข้าวในตลาดต่างประเทศได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติอาหารและพลังงานโลก

เดือนมิถุนายน เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศราคารับจำนำในฤดูนาปรัง 2551 ให้เท่ากับราคาตลาดซึ่งในขณะนั้นราคาข้าวเปลือกที่ระดับฟาร์มได้ขึ้นไปสูงถึงตันละ 15,000 บาท ทำให้มีการปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังความชื้นไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ไปที่ตันละ 14,000 บาท จากเดิมที่เคยรับจำนำที่ราคา 7,100 บาทต่อตันหรือราคาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 97.18

เมื่อเข้าสู่ฤดูการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2551/52 สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกได้ผ่อนคลายจากภาวะวิกฤติและราคาได้อ่อนตัวลงอย่างมาก การกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกในฤดูนาปีปีการผลิต 2551/52 ได้ปรับระดับราคาข้าวเปลือกเจ้าลงจากระดับราคารับจำนำในฤดูนาปรังปี 2551 ทั้งนี้ ราคาที่รับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 15 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท แต่หากจะเทียบระหว่างฤดูนาปีด้วยกันระหว่างปีการผลิต 2550/51 กับปีการผลิต 2551/52 ระดับราคาข้าวเปลือกเจ้า 15 เปอร์เซ็นต์ ที่รับจำนำจะมีราคาสูงกว่าราคาข้าวในปีการผลิต 2550/51 ถึงร้อยละ 80 และประมาณร้อยละ 60 และ 66 สำหรับข้าวหอมมะลิและข้าวหอมจังหวัด

การปรับราคาจำนำเพิ่มขึ้นแม้จะเป็นเหตุผลด้านนโยบายเพื่อการยกระดับรายได้ให้เกษตรกรมีระดับรายได้ที่สูงขึ้นก็ตาม แต่การยกระดับราคาที่สูงกว่าระดับราคาตลาดพร้อมกับปริมาณที่รับจำนำย่อมสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมของตลาดกลางข้าวเปลือก ทั้งนี้เพราะรัฐได้กลายเป็นผู้รับซื้อข้าวเปลือกรายใหญ่ในท้องตลาด ในขณะเดียวกันการยกระดับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงกว่าราคาตลาดจึงเปรียบได้กับเป็นการประกันราคา

Picture

พ.ศ. 2552-2553

ในช่วงปีการผลิต 2552/53 ภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการแทรกแซงตลาดจากการรับจำนำข้าวเปลือกมาเป็นนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงโดยการรับซื้อข้าวเปลือกในกลไกตลาดข้าวเปลือกทั้งนี้รัฐจะเป็นผู้กำหนดราคาเป้าหมายพร้อมประกาศให้เกษตรกรได้รับทราบล่วงหน้า

Picture

พ.ศ. 2554

นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ถูกยกเลิกไปเมื่อสิ้นสุดโครงการประกันรายได้ฤดูนาปรังปี 2554 เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม

เดือนสิงหาคม 2554 เปลี่ยนแปลงนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปเป็นนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกอีกครั้งหนึ่งในฤดูนาปี ปีการผลิต 2554/55 ทั้งนี้ รัฐบาลได้ยกระดับราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ระดับความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิขึ้นเป็นตันละ 20,000 บาท ข้าวหอมจังหวัดตันละ 18,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 16,000 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถนำข้าวมาจำนำได้ไม่จำกัดจำนวน และมีเป้าหมายของการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีจำนวน 25 ล้านตันข้าวเปลือก

Picture

พ.ศ. 2556-2557

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556

กปปส. เริ่มชุมนุมประท้วงขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ลาออกจากรักษาการนายกฯ เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 ก็ได้ยกระดับสู่การปิดใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครในพื้นที่ 7 จุดด้วยกัน หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกติดต่อกันมาสามฤดูกาล (2554/55-2555/56 และ 2556/57) นักวิชาการ-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงผู้คนในวงการค้าข้าว ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้ ต่อมาปรากฏผลการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 250,000-300,000 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังคงค้างจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวอยู่อีก 1.3 แสนล้านบาทในเดือนมกราคม 2557

นายกสมาคมชาวนาไทย เดินทางมายังสภาทนายความใน กทม. เพื่อหารือแนวทางยื่นฟ้องทางแพ่งและอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กรณีผิดนัดชำระเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/2556 และ 2556/2557

ผู้ชุมนุม กปปส. ใช้ความผิดพลาดของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นเหตุผลหนึ่งในการประท้วงขับไล่รัฐบาลข่าวชาวนาในจังหวัดต่างๆ ชุมนุมประท้วงเพื่อขอรับเงินจากโครงการฯ ปรากฏขึ้นตลอดช่วงต้นปี 2557 ชาวนาบางส่วนเข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส. รัฐบาลพยายามหาเงินจำนวนนี้มาจ่ายหนี้ชาวนา แต่จากการยุบสภาทำให้รัฐบาลรักษาการมีอำนาจจำกัดตามที่กฎหมายบัญญัติ รัฐบาลหาทางออกโดยการทำหนังสือเชิญชวนให้สถาบันการเงินเข้าร่วมปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลวงเงิน 1.3 แสนล้าน โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกัน โดยให้เสนอวงเงินกู้ก้อนแรกจำนวน 20,000 ล้านบาทในวันที่ 30 มกราคม แต่ปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์หลายราย เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ ยื่นข้อเสนอเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาดมาก เนื่องจากเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นสูง

กุมภาพันธ์ 2557 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวบนเวทีปราศรัยเวทีแยกศาลาแดง ว่า การที่รัฐบาลติดหนี้ชาวนา 1.3 แสนล้านบาท คงไม่มีปัญญาหาเงินมาใช้หนี้ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจกู้หนี้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ แต่รัฐบาลกลับโยนความผิดให้ กปปส. ว่าขัดขวางไม่ให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ กปปส. ขอประกาศว่าธนาคารพาณิชย์ใดอยากปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลเชิญได้เลย นายสุเทพ ยังปราศรัยฝากให้รัฐบาลหยุดยุยงชาวนานาให้แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย เพราะชาวนาเดือดร้อนมากพอแล้ว ไม่ควรสร้างความเดือดร้อนเพิ่มให้อีก

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาที่มาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกในการเรียกร้องให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางการเมือง เขาขอร้องให้ กปปส. และผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ อย่ากดดันธนาคาร เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเป็นเอกภาพและสามารถนำเงินมาจ่ายในโครงการรับจำนำข้าวต่อไป รายงานข่าว ณ เดือนกุมภาพันธ์ รายงานว่า ชาวนาฆ่าตัวตายจำนวน 13 รายแล้ว

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงผลสรุปการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาลว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกข้าราชการ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตจำนำข้าว รวม 15 ราย ข้อหามีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังมีมติให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จากกรณีมีเหตุอันควรสงสัยตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเลยไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้งการทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช. เคยมีหนังสือท้วงติงและแสดงความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นแจ้งไปยังรัฐบาลให้ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

Picture

พ.ศ. 2560

บรรทัดต่อไปจะเกิดขึ้นหลังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีจำนำข้าว 25 สิงหาคม 2560

อ้างอิงข้อมูลจาก:

การเมืองเรื่องข้าว: นโยบาย ประเด็นปัญหา และความขัดแย้ง โดย อภิชัย พันธเสน และมนตรี เจนวิทย์การ
วิวัฒนาการของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดย รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ
prachachat.net
thaipublica.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า