สร้างความมั่นคง ร่วมมือร่วมใจ สไตล์อาเซียน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ไม่นานมานี้ ประเด็นร้อนอย่างการปิดเฟซบุ๊ค ควบคุมสื่อออนไลน์ตาม พ.ร.บ.สื่อฉบับใหม่ ต่างถูกหยิบยกมาพูดทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์อย่างไม่มีสิ้นสุด การโต้เถียงในประเด็นดังกล่าวลามไปถึงว่า ไทยเรากำลังปิดกั้นเสรีภาพทางการสื่อสาร ตามรอยจีนและเกาหลีเหนือหรือเปล่า

แต่หากมองย้อนดูดีๆ ไทยแลนด์ไม่โดดเดี่ยวเหมือนที่คิด และไม่ต้องหามิตรประเทศที่ไหนไกล เพราะแนวทางรัฐบาลเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ความมั่นคง สร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติ ป้องกันความแตกแยก นำมาสู่สันติสุข ผ่านมาตรการต่างๆ กลับเป็นสิ่งที่มีร่วมกันมากกว่าวัฒนธรรมอันดีงามอย่างบังเอิญในกลุ่มประเทศอาเซียน – เพื่อนบ้านของเราทั้งหลาย ด้วยซ้ำ

WAY เชื้อเชิญชวนดูความบังเอิญที่มีร่วมกันตามแบบฉบับอาเซียนร่วมใจเพราะ…

 

รอบบ้านเราอยู่ติดกัน ขอบรั้วชนกัน เป็นบ้านพี่เมืองน้อง

ตะวันออกเฉียงใต้เรืองรอง แผ่นดินสีทองสาดส่องบ้านเรา

เพราะบ้านเราอยู่ติดกัน สุขทุกข์ร่วมกัน แบ่งปันบรรเทา

ฝนรั่ว ฝนแล้งก็แบ่งเบา บ้านเธอบ้านเขาเรามาช่วยเหลือกัน

อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ

 

เวียดนาม

การเรียกร้องปิดสื่อออนไลน์ดูจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงของตนเอง รวมถึงเป็นการปราบปรามผู้เห็นต่างที่แสดงความเห็นเปิดเผยผ่านพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้เรียกร้องให้สื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คและยูทูบ ลบเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงต่อประเทศออก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากบริษัทแม่ของสื่อยักษ์ใหญ่เหล่านั้นกลับมา

เมื่อควบคุมเนื้อหาสื่อผ่านบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นไม่ได้ รัฐบาลเวียดนามก็กลับมาใช้วิธีคุ้นเคย เมื่อ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลตัดสินให้ถอดถอนสัญชาติเวียดนามจากนายฟาม มินห์ ฮอง (Pham Minh Hoang) ซึ่งเป็นลูกครึ่งเวียดนาม-ฝรั่งเศส ทันทีที่ประธานาธิบดี เจิ่น ดั่ย กวาง (Tran Dai Quang) เซ็นยินยอม ในข้อหาสร้างความแตกแยกในประเทศ ตามมาตรา 88 และ 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้ว่า ฟาม มินห์ ฮอง จะใช้ชีวิตทั้งชีวิตอาศัยอยู่ในเวียดนาม และปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไซ่ง่อน (Saigon University of Science and Technology) ก็ตาม

เขาเคยถูกจับกุมในข้อหาปลุกระดมสร้างความแตกแยกในประเทศเวียดนามมาแล้ว และต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกนานกว่า 17 เดือน ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อเดือนมกราคมปี 2012 ส่วนการถูกถอดถอนสัญชาติครั้งนี้มีสาเหตุจากการเผยแพร่บทความ ‘สันติภาพ’ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเวียดนาม ตั้งแต่ช่วงที่เขาถูกจับกุมครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ลงบนโซเชียลมีเดีย

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Right Watch ได้ออกมาประณามการกระทำของรัฐบาลเวียดนาม พร้อมทั้งกล่าวว่า รัฐบาลกำลังฉุดมาตรฐานเพดานขั้นต่ำสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ลดลงมากกว่าเดิม พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติกดดันรัฐบาลให้ยกเลิกการถอดถอนสัญชาติของนาย Pham Minh Hoang

อ้างอิงข้อมูลจาก: rfa.org
tcijthai.com

 

ลาว

กระแสการจับกุมเหล่านักกิจกรรมทางการเมืองที่เห็นต่างจากรัฐบาล ดูจะเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ผู้นำอาเซียนร่วมใจกันทำโดยไม่ได้นัดหมาย

สมพอน พิมมะสอน (Somphone Phimmasone) วัย 29 ปี และแฟนสาว ลอด ทำมะวง (Lod Thammavong) วัย 30 ปี รวมถึง สุเคน ไชทัด (Soukane Chaithad) วัย 32 ปี คือ แรงงานชาวลาวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย พวกเขามักโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลลาวบนเฟซบุ๊คเป็นประจำ เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ทั้งสามคนได้เดินทางกลับบ้านเกิดตัวเองเพื่อต่ออายุหนังสือเดินทาง แต่กลับถูกตำรวจเข้าคุมตัวทันทีโดยไร้หมายจับใดๆ

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไร้สุ้มเสียงจากภาครัฐ ทั้งในประเทศไทยและลาว ยกเว้นแต่กลุ่มผู้สนับสนุนและเพื่อนๆ ของพวกเขาที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาวปล่อยตัว

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวเพื่อนของพวกเรา พวกเขาไม่ควรถูกจับเพียงแค่เห็นต่าง พวกเขาไม่ได้ทำอะไรรุนแรงต่อประเทศชาติ เราจะยื่นจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติในไทยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาวปล่อยตัวพวกเขา” เพื่อนสนิทของแรงงานทั้งสามคนกล่าวกับสำนักข่าว Radio Free Asia

อ้างอิงข้อมูลจาก: rfa.org

 

สิงคโปร์

หนึ่งเดียวในอาเซียนที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่กฎหมายของสิงคโปร์กลับเข้มงวดไม่แพ้ประเทศไหนๆ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงว่า ขาข้างหนึ่งของคุณอาจก้าวเข้าไปในตารางเรียบร้อยแล้ว

หลายคนอาจจดจำภาพการจับกุมตัวนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่อย่าง เอ มอส ยี (Amos Yee) วัยเพียง 16 ปี ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ลี กวน ยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ หลังการเสียชีวิตของบิดาแห่งสิงคโปร์เมื่อเดือนมีนาคมปี 2015 ผ่านช่องยูทูบของตัวเอง พร้อมจั่วหัวคลิปวิดีโอว่า ‘Lee Kuan Yew Is Finally Dead!’  สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาล รวมถึงชาวสิงคโปร์อย่างยิ่ง ส่งผลให้เขาต้องโทษจำคุกนานสี่สัปดาห์ ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมา และถูกจำคุกอีกครั้งเป็นเวลาหกสัปดาห์เมื่อปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลอ้างว่า เอมอส ยี ได้โพสต์คลิปวิดีโอดูหมิ่นชาวมุสลิมและคริสเตียน

การกล่าวหาและคาดโทษ เอมอส ยี สร้างกระแสความไม่พอใจให้กับประชาคมโลกและองค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นระบอบการเมืองของสิงคโปร์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกควบคุม การทำงานของรัฐบาลและชนชั้นผู้นำถือเป็นสิ่งที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เอมอส ยี ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักกิจกรรมทางการเมืองสิงคโปร์อีกจำนวนไม่น้อยยังคงถูกคุมขัง อยู่ในห้องเล็กๆ ที่ไม่เห็นแม้แต่แสงอาทิตย์

ส่วนในประเด็น LGBT ในสิงคโปร์ แม้สังคมสิงคโปร์จะเปิดกว้างและยอมรับกลุ่มดังกล่าวมากยิ่งขึ้น แต่การใช้ชีวิตของพวกเขายังคงเต็มไปด้วยความยากลำบาก สืบเนื่องจากกฎหมายมาตรา 377A ของประมวลกฏหมายอาญา ที่กำหนดโทษความผิดทางอาญาต่อความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชาย กล่าวคือ มองว่าความรักระหว่างชาย-ชาย เป็นอาชญากรรม

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกฎหมายมาตราดังกล่าวว่า “การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คู่รักชาย-ชาย แต่งงานกันยังคงเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันอยู่ แม้แต่ในกลุ่มประเทศตะวันตก ขนาดกรุงปารีสยังมีการเดินขบวนเพื่อประท้วงกลุ่มดังกล่าวอยู่เลย ในความคิดของผม ถึงแม้ว่าจะยกเลิกกฎหมายนั้นไป แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นแล้ว ผมคงจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันต่อไป จนกว่าแนวคิดของสังคมจะเปลี่ยนแปลงเอง”

อ้างอิงข้อมูลจาก: forbes.com
prachachat.net
theonlinecitizen.com

เมียนมาร์

เป็นประเทศที่มักถูกนานาชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก โจมตีในประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่าง โดยเฉพาะรัฐบาลทหาร ที่แม้จะถอยไปหลังฉาก แต่ก็ยังยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาชน แม้แต่สื่อเองก็ไม่มีข้อยกเว้น จึงมักปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ว่า รัฐบาลเมียนมาร์ เข้าควบคุม กดดัน และแทรกแซงให้เนื้อหาของแต่ละข่าวเป็นไปตามที่รัฐบาลทหารต้องการ ซึ่งปัจจุบันลามไปถึงเนื้อหาในโซเซียลมีเดียส่วนบุคคลของประชาชน

ปี 2014 นักข่าวชาวเมียนมาร์ 10 คน ถูกโทษจำคุกถึง 10 ปี ด้วยข้อหา ‘เปิดโปงความลับของชาติ’ หลังจากพวกเขาได้รายงานว่า เมียนมาร์มีโรงงานผลิตอาวุธเคมี และเมื่อเดือนตุลาคมปี 2016 หนังสือพิมพ์ MyanmarTimes ในเมียนมาร์เปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาร์จัดการทำลายรายงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงชาวโรฮิงญาที่ถูกข่มขืน โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่พอใจที่มีข่าวแบบนี้ปรากฏออกมาสู่สาธารณชน

ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน ศาลเมียนมาร์ปฏิเสธการให้ประกันตัวนายจ่อ มิน ส่วย (Kyaw Min Swe) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ The Voice Daily หลังจากตีพิมพ์บทความกล่าวหาและดูถูกกองกำลังติดอาวุธ โดยใช้นามปากกาว่า ‘British Ko Ko Maung’ ส่งผลให้เขาโดนข้อหาหมิ่นประมาทตามกฎหมายโทรคมนาคมมาตรา 66 และต้องโทษจำคุกถึงสามปี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มขั้วตรงข้ามที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารกลับมองว่า กฎหมายดังกล่าวมักถูกหยิบมาใช้เพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทหาร หรือหัวหน้าสงฆ์เท่านั้น โดยปัจจุบันมีผู้โดนจำกุมด้วยข้อหาดังกล่าวแล้ว เจ็ดคน

นอกจากชาวเมียนมาร์จะไม่มีสิทธิ์พูดอะไร สิทธิ์ในการนับถือศาสนาของชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์ก็เป็นปัญหาเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เมียนมาร์จับกุมชาวมุสลิมสามคน ที่ทำการละหมาดหน้าโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือที่เรียกว่า มัดดารอซะฮ์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงย่างกุ้ง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ห้ามทำการละหมาดในพื้นที่สาธารณะ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ชาวมุสลิมต้องทำการละหมาดหน้าสถานที่ดังกล่าว เนื่องจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวพุทธในเมียนมาร์ได้ยื่นฟ้องร้องว่า มัดดารอซะฮ์เป็นสถานที่ผิดกฎหมาย จึงส่งผลให้สถานที่ดังกล่าวต้องปิดลงชั่วคราว

อ้างอิงข้อมูลจาก: forbes.com
rfa.org

 

อินโดนีเซีย

แม้จะเป็นหนึ่งในสมาชิก G20 กลุ่มสมาชิกประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซียในสายตาองค์กรมนุษยชนยังคงอยู่ในระดับวิกฤติเช่นเดียวกับชาติอื่นๆ

รายงานจาก Human Right Watch ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทำการรุนแรงต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในอันดับต้นๆ ตั้งแต่ระดับนโยบายภาครัฐ ไปจนถึงระดับวัฒนธรรม

ล่าสุด ศาลชารีอะห์ ซึ่งเป็นศาลศาสนาที่ใช้กฎหมายชารีอะห์ของอิสลามหนึ่งเดียวที่ยังคงเหลือในอินโดนีเซีย ในจังหวัดอาเจะห์ สั่งลงโทษชายรักชายด้วยวิธีการโบยต่อหน้าสาธารณชน ท่ามกลางเสียงประณามของ Human Right Watch ที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

นอกจากประเด็น LGBT แรงงานเด็กอินโดนีเซียก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน แม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะออกมาประกาศว่า จะทำให้แรงงานเด็กที่มีมากกว่า 1,600,000 คนในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม หมดไปภายในปี 2020 ก็ตาม แต่ในตัวนโยบายเพื่อแก้ไขในประเด็นดังกล่าวกลับยังไม่ชัดเจน

อ้างอิงข้อมูลจาก: bbc.com
coconuts.co/jakarta

 

บรูไน

บรูไนเป็นประเทศที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 5 ของโลกจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ปี 2012 แต่ในด้านสิทธิมนุษยชนกลับล้าหลังอย่างน่าตกใจ

เมื่อปี 2014 ประเทศบรูไนได้ยกประมวลกฎหมายของศาสนาอิสลาม ชารีอะห์ ให้กลายเป็นกฎหมายประจำชาติ โดยยังคงบทลงโทษประหารชีวิตด้วยการปาหิน สำหรับผู้กระทำความผิดในทางศาสนาอิสลาม เช่น การข่มขืน การคบชู้ ความสัมพันธ์นอกสมรส การลบหลู่ศาสนา เป็นต้น

รูเพิร์ท โคลวิลล์ (Rupert Colville) โฆษกประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCR) ได้แสดงความเห็นว่า “การลงโทษด้วยการปาหิน เป็นการกระทำที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณและลดคุณค่าความเป็นคน ชัดเจนว่ามันควรถูกห้ามให้เกิดขึ้นอีก”

นอกจากการเพิ่มบทลงโทษที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและลดทอนความเป็นมนุษย์ การนำกฎหมายอิสลามขึ้นมาเป็นกฎหมายประจำชาติยังส่งผลโดยตรงถึงประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นในบรูไน เช่น ชาวจีน ชาวพุทธ และชาวคริสต์ซึ่งมีจำนวน 23 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด 415,000 คนในประเทศบรูไน ซึ่งพวกเขาต้องจำยอมทำตามกฎหมายอิสลามอย่างไม่เต็มใจนัก

อ้างอิงข้อมูลจาก: thedailybeast.com
theguardian.com

 

กัมพูชา

สำหรับกัมพูชา ความมั่นคงแห่งชาติถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าวิธีการดังกล่าวจะละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทั้งการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อออนไลน์ และการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

ในปี 2016 นายคง รายา (Kong Raya) นักศึกษาวัย 24 ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 18 เดือน จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “change the vulgar regime” หรือแปลเป็นไทยประมาณว่า “เปลี่ยนรัฐบาลห่วยนี่ซะที” และยังได้เชิญคนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมในเฟซบุ๊คชื่อ ‘Colour Revolotion’ เพื่อต่อต้านรัฐบาลในปี 2015

คง รายา ถือเป็นประชาชนกัมพูชาคนแรกที่ถูกจับกุมจากการใช้สื่อออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างไรก็ตามการ การจับกุมเขาถือเป็นสัญญาณเตือนจากรัฐบาลต่อประชาชน ไม่ให้แสดงความคิดเห็นใดๆ ในแง่ลบต่อรัฐบาล

การกีดกันคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลกัมพูชายังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นการถอนรากถอนโคนพรรคคู่แข่งให้หมดสิ้น โดยเฉพาะพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party: CNRP)

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างน้อย 16 คนจากพรรคสงเคราะห์ชาติ ถูกตัดสินคดีความทางการเมืองอย่างไม่โปร่งใสจำนวน 14 คนจากทั้งหมด ด้วยข้อหากบฏ หลังจัดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2014 ในกรุงพนมเปญ ส่วนอีกสองคนที่เหลืออยู่ระหว่างการตัดสิน และมีอีก 13 คนที่อยู่ระหว่างการส่งฟ้องคดี

เดือนธันวาคม ปี 2016 แซม เรนซี (Sam Rainsy) อดีตหัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติและสมาชิกพรรคอีกสองคน ถูกศาลสั่งจำคุกห้าปี ในคดีร่วมสมคบคิดกับสมาชิกวุฒิสภา ฮง ซก อาว (Hong Sok Hour) ในคดีปลอมแปลงเอกสาร และยุยงให้เกิดความแตกแยก จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับพื้นที่เขตแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและเวียดนามในเฟซบุ๊คส่วนตัว ส่งผลให้ ฮง ซก อาว ถูกสั่งจำคุกนานถึงเจ็ดปี นอกจากนั้น คำตัดสินของศาลยังทำให้ แซม เรนซี และพรรคพวกต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศฝรั่งเศสอย่างไม่มีกำหนดกลับ

ด้านนายเข็ม สุขา (Kem Sokha) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ ก่อนหน้านี้ที่ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค เขาถูกศาลสั่งจำคุกห้าเดือน จากการปฏิเสธเป็นพยานในคดีการจัดหาโสเภณีของสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ อย่างไรก็ตาม เข็ม สุขา ก็ได้รับการอภัยโทษเมื่อเดือนกันยายน ปี 2016

หลังจากนั้นหนึ่งเดือน นายอัม ซัม อัน (Um Sam An) หนึ่งในสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ ถูกศาลสั่งจำคุกสองปีหกเดือน ในข้อหายุยงให้เกิดความแตกแยก จากนโยบายของพรรคเกี่ยวกับการรุกล้ำดินแดนกัมพูชาของเวียดนาม

ไม่มีใครรู้ว่า คดีดังกล่าวที่ทางรัฐบาลดำเนินการกับพรรคฝ่ายค้านเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม แต่ดูเหมือนศาลกัมพูชากำลังรับภาระหนัก เนื่องจากมีการตัดสินคดีความทางการเมืองถี่่ขึ้นเรื่อยๆ

อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk
amnesty.org

 

ฟิลิปปินส์

หลังจาก โรดริโก ดูเตอร์เต ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ก็เป็นประเทศที่เกือบจะปราศจากอาชญากรรมโดยพลเมือง แต่กลับกลายเป็นรัฐบาลเองที่กระทำการรุนแรงต่อประชาชน ภายใต้การประกาศสงครามกับยาเสพติด

องค์กรสิทธิมนุษยชนฟิลิปปินส์ (The Philippines Official Commission on Human Rights: CHR) เปิดเผยความผิดพลาดจากนโยบายต่อต้านยาเสพติดของประธานาธิบดีดูเตอร์เต โดย CHR นำกองทัพสื่อมวลชนไปยังคุกลับที่ซ่อนอยู่หลังสถานีตำรวจเขต Tondo ในกรุงมะนิลา ซึ่งชาวฟิลิปปินส์ทั้งหญิงและชายถูกคุมขังอย่างแออัด ทุกคนมีสภาพร่างกายย่ำแย่ และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริงหรือไม่

พวกเขาบอกกับองค์กรสิทธิมนุษยชนฟิลิปปินส์ว่า ถูกลักพาตัวและถูกขังที่นี่เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้ว โดยไม่สามารถติดต่อญาติหรือทนายได้ นอกจากนั้นพวกเขายังถูกทรมาน และหากต้องการเป็นอิสระ ก็ต้องจ่ายสินบนให้ตำรวจ ตั้งแต่ 800-4,000 ดอลลาร์

นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมในสถานที่ดังกล่าวยังไม่เหมาะสมต่อจำนวนคนที่ถูกยัดเข้าไปอยู่อย่างแออัด ไม่มีทั้งไฟฟ้า การระบายอากาศและห้องน้ำ พวกเขาจำเป็นต้องขับถ่ายในถุงพลาสติก

อย่างไรก็ตาม ตำรวจกลับปฏิเสธข้อกล่าวหาจากกลุ่มผู้ถูกคุมขังว่าไม่เป็นความจริง และปฏิเสธที่จะปล่อยตัวพวกเขาเหล่านั้น ส่งผลให้พวกเขาจำต้องใช้ชีวิตอย่างไร้ทางเลือกต่อไป

การค้นพบคุกลับแสดงให้เห็นว่า ตำรวจฟิลิปินส์ใช้อำนาจละเมิดกฎหมายและสิทธิมุษยชนจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลเอง

ตั้งแต่ดูเตอร์เตขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2016 ตำรวจและกองกำลังที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ทำการสังหารผู้ต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไปแล้วมากกว่า 7,000 คน

การละเมิดกฎหมายของตำรวจภายใต้นโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป จำนวนประชาชนที่เสียชีวิตยังคงมีอยู่เรื่อยๆ และจะยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ จนกว่าจะมีองค์กรระดับนานาชาติยื่นมือมาจัดการอย่างจริงจัง

อ้างอิงข้อมูลจาก: hrw.org

 

มาเลเซีย

ในมาเลเซีย การข่มขืนในสถานะสมรสไม่ถือว่าเป็นความผิด จึงมีผู้ต้องหาคดีข่มขืนจำนวนมากพยายามหลุดจากข้อกล่าวด้วยการแต่งงานกับเหยื่อ หากแต่งงานกันแล้ว คดีข่มขืนจะกลายเป็นเพียงเรื่องของสามีภรรยา ราวกับการข่มขืนไม่เคยเกิดขึ้น กรณีดังกล่าวจึงมีให้เห็นบ่อยครั้งในมาเลเซีย โดยเฉพาะในกรณีที่เหยื่อเป็นเด็กผู้หญิง

ในกฎหมายมาเลเซีย ผู้หญิงต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี จึงจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 16 ปี สามารถสมรสได้หากได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าการรัฐ ดังนั้น ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จึงมีเด็กสาวอายุ 16-18 ปีจดทะเบียนสมรสจำนวนสูงถึง 9,000 ราย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า พวกเธอบางคนอาจถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ข่มขืนตนเอง

ล่าสุด รัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาโต้แย้งว่า ตัวเลขดังกล่าวลดลง แต่ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ ประเทศมาเลเซียจึงกลายเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่ยอมส่งสถิติจำนวนการแต่งงานในเด็กให้กับองค์การสหประชาชาติ

ในขณะที่ช่องโหว่ของกฎหมายส่งผลให้การข่มขืนเป็นเรื่องโมฆะ มาเลเซียยังมีกฎหมายไว้ใช้กับผู้เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยเฉพาะ เรียกว่า กฎหมาย Sedition Act ซึ่งอยู่คู่กับมาเลเซียตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ

การตัดสินใจใช้กฎหมายดังกล่าวขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจเพียงเท่านั้น นั่นหมายถึงว่า ตำรวจสามารถจับผู้เห็นต่างกับรัฐบาลได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับ เมื่อปีที่ผ่านมา ฟาห์มี เรซา (Fahmi Reza) ศิลปินนักวาดรูปกราฟิก ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์รูปหัวตัวตลกหน้าตาคล้ายประธานาธิบดีนาจิบ ราซัค ที่มีเลือดไหลออกมาจากปาก

นอกจากการปิดปากประชาชนไม่ให้พูดอะไร ประเด็นการควบคุมสื่อโดยอ้างว่า ทำเพื่อปกป้องภาพลักษณ์และความมั่นคงของรัฐบาลก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่สนใจเสียงประณามจากประชาคมโลก

สำนักข่าว The Malaysia Insider ถูกบีบให้ต้องปิดตัวลงโดยรัฐบาลในปีที่ผ่านมา หลังจากบรรณาธิการสามคนถูกจับด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงตามกฎหมาย Sedition Act เมื่อปี 2015 จากการรายงานเรื่องความไม่โปรงใสของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย (1MDB) โดยพวกเขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น 681 ล้านริงกิตในบัญชีส่วนตัวของประธานาธิบดีนาจิบ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีได้ออกมาปฏิเสธ และอธิบายว่า เงินก้อนนั้นเป็นเพียงของขวัญจากกลุ่มผู้สนับสนุนเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังได้สั่งปิดนิตยสารการเงินสองหัว ได้แก่ the Edge Weekly และ the Edge Financial Daily ซึ่งทั้งสองอยู่ในเครือเดียวกันกับ The Malaysia insider ซึ่งการกระทำตามใจฉันโดยอ้างเพียง Sedition Act ได้รับเสียงประณามจากนานาชาติว่า เป็นการทำลายเสรีภาพของสื่อเพียงเพื่อปกป้องประธานาธิบดีนาจิบจากข่าวลือเรื่องความไม่โปร่งใสเท่านั้น


อ้างอิงข้อมูลจาก: freedom.ilaw.or.th
washingtonpost.com
hrw.org
theguardian.com
forbes.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า