ยามเจ็บ ยามป่วย

หลายคนที่ทราบว่า ผมไปอยู่กินข้างถนนในมะนิลานานข้ามปี มักถามผมว่าเคยเจ็บป่วยหรือไม่

ผมต้องบอกว่า แม้จะเคยป่วยอยู่บ้างสองสามครั้ง เช่น เป็นไข้ช่วงอากาศแย่สุดๆ คือฝนตกสลับกับอากาศร้อน ร่างกายปรับตัวไม่ทันทำให้เป็นไข้ แต่ก็ยังพอนอนข้างถนนได้ ผมไม่เคยป่วยหนัก

มีอยู่ครั้งเดียวที่ผมป่วยจนอยู่ข้างถนนไม่ได้ ต้องกลับมาพักที่ห้องเช่า ทั้งๆ ที่มาจากเรื่องเล็กมากคือ ผมไปเตะเศษไม้ข้างถนน ทำให้มีแผลเล็กๆ ที่เท้าประมาณ 1-2 เซนติเมตร แต่แผลอักเสบติดเชื้อ ขาบวม เจ็บปวด

ตอนแรกผมฝืนไม่ยอมกลับห้อง หาซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง แต่สุดท้ายก็ไม่ไหว เพราะปวดจนเดินแทบไม่ได้ พลอยทำให้คนอื่นลำบากเป็นห่วงไปด้วย ผมจึงต้องกลับห้องเช่าไปพักอยู่ 4-5 วัน เหตุการณ์นั้นทำให้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตข้างถนน ความสกปรก และเชื้อโรค

ต่อจากคำถามว่า ผมเคยป่วยหรือไม่ คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ ถ้าคนไร้บ้านป่วย พวกเขาทำอย่างไรกัน

คำตอบของคำถามนี้ จะช่วยสะท้อนระบบ (ไร้) สวัสดิการด้านสุขภาพของฟิลิปปินส์ได้ชัดเจนมากว่า เมื่อคนจนป่วยโดยไม่มีระบบสวัสดิการนั้น เขาเดือดร้อนจนถึงตายกันได้อย่างไร

ครั้งแรกที่ผมไปโรงพยาบาลในมะนิลา ผมแทบช็อกกับระบบที่เพิกเฉยต่อความเจ็บป่วยของคนได้ขนาดนี้ มันเป็นคืนที่บาร์ตโตเรเม เพื่อนห่ามๆ ของผมถูกรถชน รุนแรงขนาดกระเด็นไปเป็นสิบเมตร แล้วก็ได้พรรคพวกของเขาช่วยกันกลุ้มรุมรถที่ชน ให้พาบาร์ตโตเรเมไปส่งโรงพยาบาลในสังกัดของเมืองมะนิลา

ที่แผนกปฐมพยาบาล ซึ่งควรเป็นแผนกเร่งด่วน กลับไม่มีแม้แต่สำลี แอลกอฮอล์ ยาใส่แผลสด หรือผ้าพันแผล สิ่งที่พยาบาลทำก็คือ เขียนใบสั่งว่า เราต้องไปซื้อของสำหรับปฐมพยาบาลมาให้เขา  แล้วก็บอกว่า มีร้านขายยาเปิด 24 ชั่วโมงอยู่หน้าโรงพยาบาลให้ออกไปซื้อที่นั่น

ผมพยายามทวงถามว่า คนชนต้องรับผิดชอบ แต่อยู่ๆ เขาก็หายไปจากโรงพยาบาล กระทั่งนักเรียนพยาบาลคงเวทนาเต็มทน จึงบอกผมว่า

คุณจะเอาเงินมาจากไหนก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่มีแอลกอฮอล์มา ต่อให้ฉันเห็นใจคุณแค่ไหน ฉันก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะโรงพยาบาลไม่มีงบประมาณซื้อเวชภัณฑ์ ญาติจึงต้องซื้อมาเอง

สุดท้าย เราก็ต้องรวบรวมเอาเศษเหรียญที่บาร์ตโตเรเมได้มาจากการโบกเรียกคนขึ้นรถโดยสาร ไปซื้อยามาจ่ายเอง (ผมเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ใน วารสารของสิทธิและสันติศึกษา ของมหาวิทยาลัยมหิดล บาร์ตโตเรเม คือ ‘เปโดร’ ในบทความชิ้นนั้น

ผมยังเก็บงำความสงสัยว่า เรื่องที่โรงพยาบาลไม่ดูดำดูดีบาร์ตโตเรเม เป็นเพราะเขามีอาการเมานิดๆ บวกกับท่าทางเอะอะโวยวายของเขาหรือไม่ แต่อีกสองเหตุการณ์คือ อุบัติเหตุของเจฟฟรีและเพื่อนทอมของคาเรล ยืนยันได้ว่า การที่คนเจ็บจากอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการรักษาหากไม่มีเงินซื้อยาและเวชภัณฑ์มาให้พยาบาล นั้นเป็นเรื่อง ‘ปกติ’

เจฟฟรี อายุ 40 ต้นๆ แต่แข็งแรงทะมัดทะแมง คนไร้บ้านในมะนิลารู้จักเจฟฟรีดี เพราะนอกจากเขาจะเป็นคนไร้บ้านมาเกิน 20 ปีแล้ว เขายังเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิที่แจกอาหารที่โบสถ์ปาโกะที่เป็นมิตรมากกว่าคนอื่นๆ ตรงที่ไม่เคยตวาดคนไร้บ้านด้วยกัน

เจฟฟรีมีเมียขี้หึงอยู่คนหนึ่ง และมักจะทะเลาะกันอยู่เสมอ ตามคำบอกเล่าที่ผมได้ยินเกี่ยวกับวันเกิดเหตุคือ ประมาณสองทุ่ม ที่ย่านเคียโปะอันจอแจของมะนิลา เจฟฟรีกับเมียทะเลาะกันเรื่องหึงหวงตามเคย แล้วอีท่าไหนไม่แน่ชัด บ้างว่าเมียเจฟฟรีตั้งใจผลักเขาให้ถูกรถชน บ้างว่าไม่ได้ตั้งใจผลัก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เจฟฟรีตกจากฟุตบาทลงไปที่ถนน ถูกรถที่วิ่งมาด้วยความเร็วชนแล้วหนี ยังดีที่มีคนช่วยพาเขาส่งโรงพยาบาลที่เดียวกับที่บาร์ตโตเรเมถูกพาไป

เนื่องจากเจฟฟรีเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิที่ปาโกะ พอถึงโรงพยาบาลเมียเขาโทรหาเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิดังกล่าว เพื่อเล่าเหตุร้ายให้ฟัง เรื่องไปถึงฟาร์เธอร์ประธานมูลนิธิผู้อารีที่รับรองว่า จะดูแลเจฟฟรีเพราะถือเป็นคนของมูลนิธิ จากนั้นก็ให้พี่สาวคนหนึ่งในองค์กรไปดูเจฟฟรีในคืนวันนั้น

พี่คนนี้เล่าว่า ทันทีที่ทราบเรื่องจากฟาร์เธอร์ เธอรีบไปโรงพยาบาล แต่บ้านเธออยู่ไกลถึงมนตาลิบัน (Montaliban) ซึ่งอยู่ในเขตรอบนอกของเมโทรมะนิลา จึงต้องนั่งรถหลายต่อกว่าจะไปถึงโรงพยาบาล ภาพที่เธอเห็นก็คือ

“ตอนที่ฉันไปถึงโรงพยาบาล หมอยังไม่ได้รักษาอะไรเจฟฟรีเลย แผลเขายังมีเลือดไหลเต็มตัว ผ้าปูเตียงของเขาโชกไปด้วยเลือด กระทั่งฉันบอกว่ามูลนิธิจะดูแลค่ารักษาของเจฟฟรีเอง เขาถึงออกใบสั่งยาให้ฉันไปซื้อยามา แล้วจึงเริ่มรักษาเจฟฟรี คิดดูสิมันกี่ชั่วโมงแล้ว เขาถูกชนตอนสองทุ่ม แต่กว่าฉันจะไปถึงโรงพยาบาล เกือบจะเที่ยงคืนแล้ว ยังไม่ได้รักษาอะไรเลย”

เจฟฟรีนอนโรงพยาบาลอยู่สักอาทิตย์กว่าๆ ตอนนอนอยู่โรงพยาบาลเมียเขาต้องรอรับข้าวที่เพื่อนของเจฟฟรีเอาไปแบ่งให้ เพราะที่โรงพยาบาลไม่มีอาหารให้คนไข้ จากนั้นเจฟฟรีออกจากโรงพยาบาล ด้วยสภาพขาหักข้างหนึ่ง ต้องเข้าเฝือกอยู่ 3-4 เดือน มีผ้าพันแผลปิดที่หน้าและหัวอยู่หลายแห่ง พร้อมทั้งเสียฟันหน้าไปอีกสามซี่ สภาพเหล่านี้น่าจะบอกได้ว่าเขาถูกรถชนหนักขนาดไหน แต่พยาบาลก็ยังไม่ได้ปฐมพยาบาลเขาในทันทีที่เขาไปถึงโรงพยาบาล

ยังนับว่าดี ที่เจฟฟรีเป็นอาสาสมัครและมีองค์กรสังกัด แต่สำหรับคนไร้บ้านทั่วไป หากเจออุบัติเหตุหนักและไม่มีญาติรับรองเรื่องค่ารักษา การเสียชีวิตโดยไม่ได้รับการรักษา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

เรื่องต่อมา เป็นเรื่องที่ผมได้ยินมาตั้งแต่ไปลงภาคสนามใหม่ๆ ว่า ช่วงที่คนไร้บ้านไปรอรับอาหารแจกที่วัดซิกข์นั้น จังหวะที่คนไร้บ้านเห็นสัญญาณมือจาก รปภ. ให้ข้ามฝั่งไปเข้าคิวรอรับอาหารได้ พวกเขาวิ่งข้ามถนนอย่างไม่คิดชีวิต ไม่กลัวรถที่วิ่งขวักไขว่ จนมีคนถูกรถชนตายมาแล้ว

คนหนึ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้คือ คาเรล คนที่ผมเล่าไว้ใน ‘สายสตรีท’ ตอนที่ 13 เธอบอกว่า คนที่ถูกชนเป็นทอมบอยเพื่อนสนิทของเธอ เรื่องราวไม่ใช่เพราะเธอรีบวิ่งข้ามถนนไปต่อคิวรับข้าว แต่เป็นเพราะขณะกำลังข้ามถนนอยู่นั้น เหมือนเธอจะเปลี่ยนใจวิ่งกลับมากะทันหันทำให้ถูกรถเอสยูวีที่วิ่งมาด้วยความเร็วชนเข้าอย่างจัง อย่างไรก็ดี รถคันนี้ก็พาเพื่อนทอมเธอไปโรงพยาบาล

เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลแทบจะเหมือนกับเจฟฟรี คือหมอและพยาบาลไม่ได้ทำอะไรเลย

“พยาบาลเขาดูออกว่า พวกเราเป็นคนไร้บ้าน ไม่มีทางมีเงินค่ารักษา เขาไม่ทำอะไรเลย” คือคำบอกเล่าของคาเรล

คาเรล จึงรีบโทรศัพท์บอกครอบครัวของเพื่อนทอมบอย แต่ไม่ทันการณ์ กว่าครอบครัวของเขาจะมาถึงโรงพยาบาล ทอมบอยผู้นี้ก็เสียชีวิตแล้ว

กรณีอุบัติเหตุ มีเลือดไหลนอง แขนขาหักตรงหน้า โรงพยาบาลยังสามารถเพิกเฉยได้ขนาดนี้ กรณีเจ็บป่วยที่เป็นโรคภายใน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะยังไม่ตายต่อหน้าต่อตา หมอก็แค่เขียนใบสั่งยา ให้คนไข้ไปหาซื้อยาเอาเองแล้วก็กลับบ้านไปพักก่อน

สำหรับคนไร้บ้าน ‘บ้าน’ ของพวกเขาก็คือที่ข้างถนนนั่นเอง

ถ้าคนไร้บ้านป่วยจริงๆ ที่พึ่งของพวกเขา จึงกลายเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น หรือไม่ก็โบสถ์ ด้วยการเอาใบสั่งแพทย์ ไปเป็นหลักฐานว่าป่วยจริง เพื่อขอเงินไปซื้อยา ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์เป็นหนี้บุญคุณตามมา เคยมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า นักการเมืองใหญ่ในฟิลิปปินส์ไม่เห็นด้วยกับการต้องเสียภาษีมากๆ อ้างว่าเสียไปรัฐบาลก็เอาไปคอร์รัปชัน ส่วนพวกเขานั้นเสียภาษีทางตรงให้สังคมอยู่แล้ว ด้วยการช่วยคนจน

บาลก็เคยเล่าให้ผมฟัง ราวกับเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องช่วยเหลือคนท้องในการคลอดลูก ไม่ใช่ด้วยการเป็นหมอตำแยนะครับ แต่หมายถึงช่วยติดต่อมูลนิธิให้ วันหนึ่งเขาเล่าให้ผมฟังว่า สาวท้องโตที่ข้างถนนซึ่งผมเองก็รู้จัก เจ็บท้องจวนจะคลอด เขาจึงช่วยพาไปโรงพยาบาล ในสถานการณ์เช่นนี้ โรงพยาบาลจะรับไว้และทำคลอดให้ก่อน แต่ก่อนที่คุณแม่จะออกจากโรงพยาบาล จะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 2,000 บาท

ผมสงสัยว่า คนไร้บ้านไม่มีเงินจะทำอย่างไร บาลบอกว่าไม่ต้องห่วง เขารู้จักมูลนิธิแห่งหนึ่งที่เน้นการช่วยเหลือเรื่องนี้โดยเฉพาะ มูลนิธิจะจ่ายเงินให้หญิงที่คลอดลูกแต่ไม่มีเงิน เพราะถือว่าการช่วยให้เด็กเกิดเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ตามคำสอนของคาทอลิก (ส่วนเด็กจะโตมาอดๆ อยากๆ ลำบากอย่างไร ยังไม่ต้องคำนึงถึง)

การขาดแคลนยาสำหรับระบบสาธารณสุขในฟิลิปปินส์ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นเฉพาะกับโรคทั่วไปเท่านั้น แม้แต่กับโรคติดต่อก็ยังขาดแคลน ในทางระบาดวิทยา เป็นที่ยอมรับว่าการควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อ เป็นวิธีการที่ ‘ถูก’ กว่าการปล่อยให้โรคแพร่กระจายและมารักษาตามหลังอย่างบ้านเรา การควบคุมวัณโรคมีประสิทธิภาพขึ้นมาก ผมเคยทำงานในชุมชนแออัดในไทย ทราบว่าชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคปอด รู้ว่าพวกเขาจะไปที่ไหน และโรงพยาบาลจะให้ยามากินฟรี พร้อมกำชับเรื่องการกินยาให้ตรงเวลา และหากยาหมดให้กลับไปโรงพยาบาลรับยาเพิ่ม

แต่ในฟิลิปปินส์ ดูเหมือนจะยังไม่ตระหนักถึงหลักการนี้ดีพอ ด้วยเหตุนี้การตายด้วยวัณโรคยังพบเห็นได้ทั่วไป

ครั้งหนึ่ง บาร์ตโตเรเมมีอาการไอมาก กระทั่งไอออกมามีเลือดปน เขาสงสัยว่าตัวเองจะเป็นวัณโรคหรือไม่ จึงมีคนแนะนำให้เขาไปโรงพยาบาลที่ขึ้นชื่อว่ารักษาโรควัณโรคเป็นการเฉพาะ สิ่งที่โรงพยาบาลนี้มีดีกว่าที่อื่นก็คือ มีเครื่องเอกซเรย์เพื่อเช็คปอด แต่ไม่มียาให้เช่นกัน หมอได้แต่เขียนใบสั่งยา แล้วต้องไปหาซื้อยากินเอง บาร์ตโตเรเมก็เที่ยวเดินไปตามแผนกสงเคราะห์ของเมืองมะนิลาเพื่อขอรับยา หรือไปดักรอเจอกับฟาร์เธอร์ที่หน้าโบสถ์บ้าง เพื่อขอเงินไปซื้อยา

คนที่ประสบชะตากรรมแบบบาร์ตโตเรเมคงมีไม่น้อย เมื่อพวกเขาเข้าไม่ถึงยาและการรักษา นอกจากจะเจ็บป่วยแล้ว พวกเขายังกลายเป็นผู้แพร่เชื้อให้ระบาดไปไกลอีกด้วย เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงอีก เป็นวงจรของความเลวร้ายทบทวีคูณที่ไม่ได้แย่เฉพาะกับคนป่วยเท่านั้น แต่คนทั้งสังคมได้รับผลกระทบหมด

จากฟิลิปปินส์ชวนให้ผมนึกเปรียบเทียบระบบสุขภาพของบ้านเรา แล้วก็ต้องยอมรับว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘โครงการ 30 บาท’ ของไทย ต้องถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก นอกจากช่วยคนเจ็บคนป่วยให้ได้เข้าถึงการรักษา ไม่ต้องตายก่อนวัยอันควร ยังช่วยไม่ให้คนต้องเป็นหนี้บานตะไทจากการป่วยหนักครั้งหนึ่งอีกด้วย

ได้แต่หวังว่า โครงการดีๆ เช่นนี้ จะไม่ควรถูกแปลงร่าง ถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่ การช่วยคนจนเป็นเรื่องสงเคราะห์อนาถา ก่อนจะเข้าถึงการรักษาฟรี ต้องถอดเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออก แล้วก็ไปพร่ำพรรณนาบรรยาย ความยากจนข้นแค้นสิ้นไร้ไม้ตอกให้กับฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลฟัง

คนรุ่นใหม่บางคนอาจเกิดไม่ทันยุคคนไข้อนาถา แต่สมัยที่ผมยังทำงานกับชาวชุมชนใต้สะพาน ผมเคยต้องแบกหน้าไปกับชาวบ้านในชุมชนพบกับแผนกสงเคราะห์ของโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ

ได้แต่หวังว่า รัฐบาลที่อ้างว่ามาเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน จะไม่พาเรากลับไปสู่ยุคนั้นอีก ยุคที่คนจนเวลาเจ็บป่วยก็ลำบากอยู่แล้ว ยังจะพรากศักดิ์ศรีของพวกเขา ให้ต้องไปอ้อนวอนขอความสงเคราะห์ให้น่าเวทนาอีก

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า