WAR IS A TENDER THING: ความทรงจำจากมินดาเนา ก่อเงาจางจางที่ชายแดนบ้านเรา

 

Poster1

เรื่อง: ณัฐกานต์ ตำสำสู

บทสัมภาษณ์เศร้าสร้อยของคนรอบตัวผู้กำกับสาวชาวฟิลิปปินส์ บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำส่วนตัวแต่กลับสะท้อนบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ ผ่านมุมมองของคนในแต่ละยุคสมัยได้ออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ ทั้งภาษาพูดในตัวละคร และภาษาภาพที่ตัวหนังได้ถ่ายทอดออกมา

War is a Tender Thing ภาพยนตร์สารคดีจากประเทศฟิลิปปินส์ กำกับโดย อัดจานี อารุมปัก นำเสนอเรื่องราวผู้คนในครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้กำกับในการผ่านช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ นั่นคือการแบ่งแยกดินแดนและการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในมินดาเนา

ประเด็นปัญหาคือความขัดแย้งระหว่างคริสเตียนและมุสลิม สงครามระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกบฏชาวโมโรที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ได้สร้างความเจ็บปวดระหว่างผู้คนสองศาสนาตลอดมา อีกทั้งหนังยังพูดถึงกระบวนการสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการลงนามสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อัดจานี อารุมปัก ผู้กำกับภาพยนตร์และคนเขียนบทภาพยนตร์อิสระจากเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้เธอมีผลงานกำกับภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว เช่น Walai (2006) ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงท่ามกลางความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนา และ Nanay Mameng (2012) ภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยชีวิตของนักกิจกรรมเพื่อคนจนในฟิลิปปินส์

War is a Tender Thing เป็นภาพยนตร์ที่เธออยากจะทำมาตั้งแต่ต้น เพราะมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเธอที่สุด เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและญาติพี่น้องของเธอ

อัดจานีมีพ่อเป็นมุสลิม แม่เป็นคริสเตียน ความเจ๋งของอัดจานีคือการที่สามารถเล่าเรื่องความซับซ้อนผ่านตัวละครร่วมสมัย ตั้งแต่บรรพบุรุษรุ่นทวด บอกเล่าประวัติศาสตร์เป็นขั้นๆ ออกมา โดยผ่านคำพูดของคนธรรมดา

 

IMG_0018_for_web

อัดจานี อารุมปัก ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง War is a Tender Thing

War is a Tender Thing หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ “อันสงครามนั้นเปราะบาง” ในตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ของหนัง แทบไม่มีภาพของความรุนแรงปรากฏขึ้นเลย อัดจานีใช้วิธีการเล่าอย่างนุ่มนวล เรียบง่าย ไม่พูดถึงความรุนแรง แต่พูดถึงจิตใจอันเปราะบางของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในมินดาเนา หากมองย้อนกลับมายังภาคใต้ของไทย จะพบความคล้ายคลึงกันในหลายๆ เรื่อง อาจจะด้วยบรรยากาศในหนัง วิถีชีวิตผู้คน และสำเนียงภาษาที่ผู้เขียนได้สัมผัสหลังจากการดูหนัง ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ที่จะย้อนกลับมามองถึงการพูดถึงกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

“ประวัติศาสตร์มันอยู่ในที่ที่ผู้คนนึกไม่ถึง มันอยู่ในอารมณ์ของคน ถ้าเราอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์ จะรู้สึกว่ามันมีแต่ข้อเท็จจริง มีแต่ข้อมูล แต่มันมีบางอย่างหายไป เพราะประวัติศาสตร์มันถูกเก็บใว้ในอารมณ์ของผู้คนเหล่านั้น ไม่ได้ถูกเก็บใว้ในหนังสือ” อัดจานีพูดถึงประเด็นในหนังของตัวเอง

เธอยังบอกต่ออีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เพียงเพราะเราอยากรักษาบ้านตัวเอง ไม่ว่าใครๆ ก็อยากรักษาบ้านของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนต้องต่อสู้กับนโยบายของรัฐบาล เพราะการต้องการสันติภาพของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน

หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็พบว่า คนที่อินกับประวัติศาสตร์ และคนที่เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์นั้นมีใครบ้าง คนเหล่านี้ก็คือคนที่มีชีวิตผ่านช่วงเวลาของสงครามมา ได้รู้ ได้เห็น ได้พลัดพราก ได้มีความรู้สึกร่วมกับประวัติศาสตร์ ซึ่งมันเป็นบาดแผลที่สะท้อนออกมาได้ดีมากๆ และอัดจานีทำให้อารมณ์ร่วมเหล่านี้มันสวยงาม ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องเศร้า

 

poster2

ช่วงหนึ่งของหนัง อัดจานีพาคุณย่าของเธอกลับไปเยี่ยมบ้านเก่าภายในเกาะมินดาเนา ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นเคยมีสงครามเกิดขึ้นในอดีต ภาพหญิงชราสองคนร้องเรียกหา และโผเข้ากอดกัน หลังจากไม่ได้เจอกันมาหลายสิบปี น้ำตาของตัวละครแทบจะดึงน้ำตาของคนในโรงออกมาด้วย ณ ขณะนั้น แน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นน้ำตาที่เกิดจากการบิ้วท์อารมณ์เพื่อแสดงออกมา แต่มันคือน้ำตาที่เกิดจากความรู้สึกจริงๆ ข้างใน

“เค้าเคยเป็นพี่สะใภ้ของฉัน เราเคยรักกันมาก ฉันจะไปเกลียดเค้าได้ยังไง เค้าเป็นพี่สะใภ้ฉัน” หญิงชราคนหนึ่งพูดกับย่าของอัดจานีด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

เราต่างเข้าใจความรู้สึกของหญิงชราคนนี้ดี แต่มีสิ่งหนึ่งที่กระตุกต่อมในใจขึ้นมาคือ ทำไมความสัมพันธ์ของผู้คนเหล่านี้ถึงต้องสะบั้นลงในช่วงเวลาหนึ่ง ทำไมผู้คนเหล่านี้ต้องพลัดพราก อะไรทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับพวกเขา หรือเพียงแค่พวกเขาต่างศาสนากัน สุดท้ายเรื่องราวที่อัดจานีนำเสนอมันก็เฉลยให้เราได้เห็น

บางทีสิ่งนี้ที่เรียกว่า ‘บาดแผล’

การที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้พูดถึงสันติภาพในรูปแบบของความทรงจำ มากกว่าจะพูดในรูปแบบของเสียงคำรามจากปืน หรืออาวุธ ทำให้เราต้องย้อนกลับมามองถึงกระบวนการสันติภาพทางภาคใต้ ทางออก และฟังกันมากขึ้น ในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงการรับฟังข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่มันหมายถึงการฟังเสียงภายในจิตใจที่เปราะบางของผู้คนที่ยังต้องดำเนินชีวิตต่อไป ภายใต้ความขัดแย้งที่ยาวนาน.

 

หมายเหตุ:

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deepsouth) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) และ Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน) คือส่วนหนึ่งขององค์กรร่วมจัดและพยายามนำหนังเรื่องนี้เข้ามาฉายให้ผู้ที่สนใจได้ชมและร่วมพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านสันติภาพ ในงานยังมีการฉายภาพยนต์สั้นจากไทยหนึ่งเรื่อง คือ สันติแค่ภาพ โดย กูยี อิแต และไฮไลท์ของงานคือการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง War is a Tender Thing ของ อัดจานี อารุมปัก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่ายังไม่ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างมากนัก เพราะตัวหนังยังมีความละเอียดอ่อนในด้านประเด็นอยู่มาก ซึ่งต้องรอดูกันว่าหนังจะออกมาสู่สายตาของคนที่เฝ้ารอดูอีกครั้งเมื่อไหร่

 

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า