บทสนทนาในค่ำคืนสุดท้าย

​“บุน นายสัมภาษณ์พวกเรามาหลายคนแล้ว วันนี้ฉันจะสัมภาษณ์นายบ้าง” บาลพูดกับผม ค่ำคืนสุดท้ายของผมกับคนไร้บ้านในมะนิลา เดือนเมษายน ปี 2557 ก่อนจะเดินทางกลับเมืองไทยในวันรุ่งขึ้น หลังจากอยู่มะนิลาร่วม 14 เดือน

​“นายคิดยังไงกับคนไร้บ้าน” คือคำถามสั้นๆ ง่ายๆ จากบาล แต่ไม่ง่ายคนตอบ

บาลเป็นคนไร้บ้านที่สนิทกับผมมากที่สุดคนหนึ่ง ขณะนั้นบาลไม่ได้นอนข้างถนนแล้ว เขาทำงานในร้านขายอาหารที่ย่านเคียโปะและกินอยู่กับเจ้าของร้าน แต่วันนั้นเขาตั้งใจมา ‘ปาร์ตี้’ สั่งลาที่ข้างถนนกับเพื่อนๆ คนไร้บ้านที่นอนอยู่ตรงนั้นประจำ

ผมซาบซึ้งในความตั้งใจของบาลที่เดินไกลร่วม 3 กิโลเมตรจากเคียโปะมาร่วมดื่มกันที่ข้างถนน แต่คำถามของเขาก็ทำให้ต้องนึกทบทวนว่าจะสังเคราะห์ความคิดตัวเองออกมาให้กระชับได้ความอย่างไรดี

คืนนั้นผมดึงคำตอบที่มีอยู่ในหัวคร่าวๆ มาคุยให้บาลและคนอื่นๆ ฟัง เพื่อจะได้รับฟังเสียงสะท้อนด้วยว่า ข้อสังเคราะห์ของผมผิดถูกมากน้อยเพียงใด

ผมเริ่มต้นว่า ผมมาศึกษาคนไร้บ้านเพื่อเข้าใจว่าทำไมคนจึงมาเป็นคนไร้บ้าน ก่อนมาที่นี่ผมก็คิดไว้ล่วงหน้าว่าเพราะตกงาน แล้วอยู่ที่บ้านไม่ได้ เลยมาเป็นคนไร้บ้าน แต่พอผมมาอยู่ที่นี่ ก็มีคนไร้บ้านนี่แหละบอกผมว่าไม่ใช่เพราะคนตกงานหรอก งานน่ะมี แต่เพราะคนไม่ยอมทำงานมากกว่า ผมจึงต้องใช้เวลานานกว่าจะทำความเข้าใจมันได้

พอผมพูดได้เท่านี้ บาลก็ยืนยันความคิดเดิมที่เขาเคยบอกว่า “ถ้าคนอยากจะทำงาน ไม่ยากที่จะหางานได้ อย่างฉันนี่ ตอนนี้มีงานทำแล้ว พอทำงานแบบ stay-in พักอยู่กับนายจ้าง ก็ไม่ต้องเป็นคนไร้บ้าน”

บาลยังพูดต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยนึกโกรธองค์กรที่บอกว่าจะช่วยหางานให้คนไร้บ้าน แต่ไม่ได้ช่วยจริง ตอนนี้เขาเปลี่ยนความคิดใหม่แล้วว่า “มันถูกต้องแล้วที่ไม่ต้องหางานให้คนไร้บ้าน ไม่อย่างนั้นจะเคยตัว ต้องให้คนไร้บ้านหางานเอาเอง”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สนทนาเรื่องนี้กับบาล ผมเคยคุยและแย้งกับเขามาแล้ว แต่วันนี้ ผมปล่อยให้ คาร์ลอส คนไร้บ้านเกย์สูงวัยที่รู้สึกคันปากพูดแทน คาร์ลอสบอกว่าโครงการพวกนี้ก็แค่ให้ความหวังกับคนไร้บ้าน แต่ไม่ได้ช่วยให้ได้งานจริงๆ หรือถ้ามีงานก็เป็นงานที่ได้ค่าแรงต่ำ

“จะบอกให้หางานเอง อย่างฉันนี่ อายุ 50 กว่าจะ 60 แล้ว จะหางานอะไรได้ ไม่เหมือนแกนี่ ยังหนุ่มอยู่ยังหางานได้ ก่อนหน้านี้ฉันเคยเป็นพ่อครัวทำกับข้าวมาก่อน เคยได้เดือนละ 6,000-7,000 เปโซ แต่ตอนนี้แก่แล้ว งานที่เขาหาให้ก็จะจ่ายฉันเดือนละ 2,000-3,000 เปโซ ใครจะทำ” คาร์ลอสเถียงกับบาลอย่างออกรส

ถ้าพูดเป็นภาษามวยก็ต้องบอกว่าคาร์ลอสปล่อยหมัดฮุคได้ตรงเป้ามาก เพราะผมเข้าใจมากขึ้นจากประสบการณ์ภาคสนามว่า ที่คนไร้บ้านไม่อยากทำงานก็เพราะค่าแรงที่ได้ต่ำมากจนไม่จูงใจให้คนอยากทำงาน อย่างงานที่บาลทำได้ค่าแรงแค่วันละ 100 เปโซ (75 บาท) ทั้งๆ ที่ค่าแรงตามกฎหมายคือ 466 เปโซ นั่นเพราะในฟิลิปปินส์มีคนตกงานมากมาย นายจ้างจึงฉวยโอกาสกดค่าแรง เพราะรู้ว่าหากคนนี้ไม่ทำ ก็จะมีคนตกงานอื่นๆ ยอมมาทำงาน แต่ส่วนใหญ่ทนทำได้ไม่นาน พอเหนื่อยก็ออกจากงานมาเป็นคนไร้บ้าน

ประสบการณ์สนามทำให้ผมสามารถเชื่อมโยงว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคอัตราการว่างงานสูง มันกระทบกับชีวิตคนชั้นล่าง จนกลายมาเป็นคนไร้บ้านได้อย่างไร

สิ่งที่ผมคิดอยู่ในใจแต่ไม่ได้พูดออกมาก็คือ ประเด็นที่ว่า แม้แต่คนไร้บ้านหลายคน ไม่ใช่เฉพาะบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นเหยื่อของระบบการขูดรีดแรงงาน แต่กลับคิดว่า ระบบนี้ถูกต้องแล้ว ทำนองว่ามันเป็นปกติเช่นนั้นแล ลักษณะเช่นนี้ นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ ปิแอร์ โบร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) เรียกว่า ‘ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์’ (Symbolic Violence) หรือเข้าใจง่ายๆ ว่า เป็นการครอบงำเชิงความคิดก็ได้ ที่ขนาดคนตกเป็นเหยื่อยังเห็นดีเห็นงามไปกับโครงสร้างของการกดขี่ สิ่งหลังนี้ พอล ฟาร์เมอร์ (Paul Farmer) นักมานุษยวิทยาชื่อดังอีกคนเรียกว่า ‘ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง’ (Structural Violence)

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมชวนบาลและคนไร้บ้านคนอื่นๆ สนทนาก็คือ ผมสนใจที่คนไร้บ้านหลายคนในมะนิลามักบอกว่า ชีวิตข้างถนนก็มีความสุขดี ดังที่ชอบพูดว่า “mahirap pero masaya” (ลำบากแต่มีความสุข หรือ จะแปลว่า จนแต่มีความสุขก็ได้ เพราะคำว่า mahirap แปลได้ทั้งยากจนและลำบาก)

บางทีผมก็สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกัน ที่คล้อยไปว่าคนไร้บ้านเขามีความสุขดีที่ข้างถนน ผมเองก็เห็นดีเห็นงามไปกับการยอมรับให้คนนอนข้างถนน โดยไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขโครงสร้างหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ผมก็น่าจะรู้ว่า คุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ที่ข้างถนนนั้นแย่ขนาดไหน

ช่วงหนึ่งที่อยู่ข้างถนน ผมเคยไร้เดียงสาถึงขนาดคิดว่า ผมจะเสนอข้อโต้แย้งว่าชีวิตข้างถนนสามารถเป็นไลฟ์สไตล์ที่เป็นทางเลือกได้สำหรับคนที่ต้องการหลีกหนีจากการถูกกดขี่โดยระบบทุนนิยม ตอนนั้นนึกว่า มันคงเท่ท้าทายน่าดู

แต่ฉากหนึ่งที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนใจก็คือ ภาพของ ลุงตาตายโจเอล วัย 63 ปี ที่ตาบอดเกือบสนิท กำลังข้ามถนนในคืนวันหนึ่ง ภาพที่แกยืนเก้ๆ กังๆ จะข้ามก็ข้ามไม่ได้ เพราะตาแกเห็นแค่แสงสลัวเท่านั้น ไม่สามารถกะระยะทางได้ ทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิด

ภาพนั้นทำให้ตระหนักว่า ชีวิตข้างถนนไม่ควรเป็นทางเลือก คนที่บอกว่าชีวิตข้างถนนเป็นทางเลือกก็เพราะเขาไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ต่างหาก มันจึงเป็นหน้าที่ของเรา รวมทั้งตัวผมด้วย ที่ต้องบอกว่า เพราะระบบมันแย่ ทำให้ทางเลือกอื่นๆ มันไม่มี คนเลยต้องอยู่สภาพนี้ ครั้นเมื่ออยู่แล้ว จะบอกว่าฉันล้มเหลว ก็ยิ่งตอกย้ำให้ชีวิตตัวเองดูตกต่ำ พวกเขาจึงแสวงหาความสุขเท่าที่พอจะหาได้ ท่ามกลางเงื่อนไขชีวิตที่ยากลำบาก

ต่อมาผมต้องขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาของผมคือ อาจารย์แคเธอรีน บาววี (Katherine Bowie) เป็นอย่างมากที่ช่วยตั้งชื่อวิทยานิพนธ์ให้ผมว่า Structural Violence and Homelessness: Searching for Happiness on the Streets in Manila, the Philippines หรือแปลได้ว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้างกับการไร้บ้าน: การค้นหาความสุขบนท้องถนนในเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตอนที่อาจารย์แคทเขียนชื่อเรื่องลงกระดาษ ด้วยความตื้นเขินทางภาษา ผมยังไม่แน่ใจว่าชื่อนี้ตรงกับประเด็นที่อยากสื่อหรือไม่ ผมจึงย้ำกับที่ปรึกษาว่า ผมไม่ได้บอกว่าคนไร้บ้านเขามีความสุขจริงๆ นะ

อาจารย์แคทส่ายหน้านิดหน่อย ก่อนจะอธิบายว่า “ฉันก็ไม่ได้บอกว่าเขามีความสุขนี่ ฉันบอกว่าเขาค้นหา (searching) ความสุขต่างหากเล่า” ผมนี่กราบอาจารย์เลย ช่างเป็นชื่อที่สื่อความคิดผมได้ตรงที่สุดแล้ว

สรุปความคิดสุดท้ายเกี่ยวกับคนไร้บ้านของผมก็คือ คนไร้บ้านไม่ได้มีความสุขมากมายอะไรดอก แต่พวกเขาดิ้นรนหาความสุขตามเงื่อนไขที่พอจะหาได้จากข้างถนน กระบวนการที่คนไร้บ้านแสวงหาความสุขบนท้องถนน รวมถึงการบอกตัวเองว่าชีวิตของพวกเขาไม่ได้แย่อะไร เป็นการปรับตัวเข้ากับชีวิตข้างถนนและก็ชินกับมัน ดังที่คนไร้บ้านมักพูดว่า พวกเขาชินกับข้างถนนแล้ว รวมถึงผมด้วย เวลาใครถามผมว่าอยู่ข้างถนนลำบากมากไหม ผมก็ตอบว่าชินเสียแล้ว ไม่ได้ยากลำบากอะไรมากมาย แล้วก็มีบางจังหวะที่มีความสุขสนุกสนานได้ แต่ก็ไม่ใช่สุขอะไรลึกซึ้ง

ดังนั้น ผมยังให้น้ำหนักกับระบบโครงสร้างที่ว่า การจ้างงานต้องดีขึ้น สวัสดิการจากรัฐต้องดีกว่านี้ ชีวิตคนชั้นล่างจึงลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ จำนวนคนไร้บ้านจะได้ลดน้อยลง

บรรยากาศค่ำคืนสุดท้ายของผม ความรู้สึกมันระคนปะปนกัน ทั้งยิ้มแย้ม สรวลเส และก็เศร้าอยู่ลึกๆ

ส่วนตัวผมเองขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่มีน้ำจิตน้ำใจให้ผม โดยซื้อไก่ย่างมากินกัน เนื้อไก่ชิ้นใหญ่ๆ นี่แหละ คืออาหารพิเศษแล้ว กลั้วคอด้วยเอ็มเพอราดอร์ (Emperador) บรั่นดีสีอำพัน โดยมีบุหรี่กรองทิพย์จากเมืองไทยที่ อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถือมาฝาก เป็นเครื่องเคียง บางคนก็นั่งมองซองบุหรี่จากเมืองไทย คงคิดสงสัยว่าทำไมที่ซองต้องมีรูปชวนขยะแขยงขนาดนี้

หลังจากบรั่นดีขวดที่หนึ่งหมดไป ลิโต คนที่ผมเคยตวาดเขาฐานที่เขาชอบพูดภาษาอังกฤษกับผม ก็พูดขึ้นมาว่า “บุน ปกติฉันไม่เคยดื่มเหล้า แต่วันนี้ฉันจะดื่ม ฉันมีเงินอยู่เท่านี้ ฉันจะไปซื้อเอ็มเพอราดอร์มาเพิ่ม” พลางควักเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงการเก็บของเก่าออกมาด้วยความจริงใจ

คูยะเรย์มอนด์ คนไร้บ้านคนแรกที่ชวนให้ผมมานอนที่หน้าตึกแถวโอติสแห่งนี้ เขียนความทรงจำดีๆให้ผมว่า ผมสุภาพและมีน้ำใจ ส่วนบาลบอกว่า เขาภูมิใจที่มีเพื่อนชาวต่างประเทศอย่างผม เขารู้ดีว่าเวลาเขาเดินเก็บของเก่า คนฟิลิปปินส์ด้วยกันยังมองเขาอย่างดูถูกเลย แต่ผมเป็นคนต่างประเทศกลับไม่ดูถูกและยังมาคลุกคลีกับเขาได้ ส่วนคนอื่นต่างกอดคอถ่ายรูปกันเรียงคนตามธรรมเนียม ทั้ง อาร์ทูร โจอี้ ราอูล โตโต้ ราฟาเอล เฮมี่ และ ตาตายโฮเซ่


อย่างไรก็ดี ไม่มีคำสัญญาในค่ำคืนนั้นว่าเราจะเจอกันอีกเมื่อไหร่ วันไหน เป็นคืนสั่งลาเงียบๆ หงอยๆ อยู่ในที กินเหล้า หรือว่าชีวิตของคนไร้บ้านก็เป็นเช่นนี้ เคยชินกับการพบปะและจากจร จนพวกเขาอาจจะรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า วันหนึ่งการจากลาจะต้องมาถึง

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมไปที่โบสถ์ปาโกะ ที่ที่ผมเป็นอาสาสมัครทำอาหารมาร่วมปี แต่เมื่อคืนผมไม่ได้มาร่วมทำอาหาร เช้าวันนี้ผมมาแค่อยากใช้เวลาอยู่กับคนไร้บ้านนานที่สุด ก่อนจะกลับห้องไปเก็บของ และบินกลับเมืองไทยในตอนเย็น

ผมจำความรู้สึกวันนั้นได้ มันวังเวง ใจหาย บอกไม่ถูก เราอยู่มานานพอที่จะผูกพันเชิงความรู้สึกกับใครหลายคน แต่มันก็ไม่ได้มีความรู้สึกฟูมฟายอะไรมากมาย คนไร้บ้านที่ผมสนิท ไม่มีเวลามากนักที่จะอาลัยอาวรณ์ สายวันอาทิตย์เป็นแค่วันเดียวในหนึ่งสัปดาห์ที่พวกเขาจะได้ซักผ้า

ผมให้เสื้อผ้าที่ใส่ประจำกับคนไร้บ้าน โดยเฉพาะเสื้อดำที่ผมมีอยู่สามสี่ตัว มันเป็นสีโปรดของคนไร้บ้าน แล้วก็หมวกแก๊ป ส่วนกระเป๋าแบ็คแพ็ค เจอาร์ ที่นอนหน้าตึกแถวเดียวกันกับผม ขอจองไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วว่า เขาขอไว้ใช้เวลาผมกลับเมืองไทย

​ความจริง เสื้อผ้าข้าวของเหล่านี้ เมื่อกลับไปเมืองไทยผมก็คงไม่ได้ใช้มันแล้ว ผมมีเสื้อผ้าที่ดูดีกว่านี้ มีแบ็คแพ็คที่แน่นหนากว่านี้ มีช่องใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คได้ ข้าวของเหล่านี้อาจจะมีคุณค่าบ้าง ถ้าจะเก็บไว้แทนความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยใส่เสื้อผ้าเก่าๆ นอนข้างถนน หรืออาจจะไปแขวนโชว์ ก็อาจทำให้ดูเท่ ดูขลังสมจริงดี แต่ตอนนั้นผมกลับไม่ได้คิดถึงมุมนี้เลย

ผมคิดแค่ว่า ถ้าเพื่อนๆ คิดว่าข้าวของผมพอจะมีประโยชน์ และพวกเขาอยากได้ ก็ให้ไปเถอะ

ระหว่างนั่งมองเพื่อนๆ ซักผ้า ตากผ้า ผมยังอดถามตัวเองไม่ได้ว่า “แค่นี้เองเหรอ” หลังจากมาอยู่กับคนไร้บ้านเป็นปีๆ ผมก็ได้ข้อมูลสมประสงค์แล้ว กลับไปนั่งเขียนงานอีกสักปีกว่าๆ ผมก็คงได้ปริญญาเอกกลับมาให้คนรอบข้างภูมิใจ ผมตอบแทนเพื่อนๆได้แค่นี้ใช่มั้ย ด้วยเสื้อผ้าข้าวของที่ผมเองก็แทบไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว

อดคิดถึงคำค่อนขอดที่เคยได้ยินจากเอ็นจีโอบางคนว่า พวกนักวิชาการมาเก็บข้อมูลแล้วก็ไป ส่วนชาวบ้านก็อยู่อย่างเดิม หรือผมเองก็ไม่ต่างกับนักวิชาการทั้งหลาย มาได้ข้อมูลแล้วก็จากไป ความแตกต่างก็แค่ ผมลงแรงลงใจมากกว่านักวิชาการทั่วๆ ไป

สุดท้ายผมก็ต้องยกเอาคำของนักมานุษยวิทยารุ่นใหญ่ของเมืองไทยมาปลอบใจตัวเองว่า อย่าคิดว่านักมานุษยวิทยาจะช่วยอะไรใครเขาได้ นักมานุษยวิทยาไม่ได้มีอำนาจออกนโยบายอะไรได้ สิ่งที่เราทำได้คือช่วยเปิดพื้นที่ให้คนเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้นต่างหาก แล้วอะไรๆ อื่นจะดีได้ตามมา

ถึงกระนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ ทำไมสิ่งที่คนไร้บ้านได้จากเราช่างเป็นนามธรรมนัก ไม่ว่าจะเป็นได้พื้นที่ ซึ่งก็ไม่รู้จะวัดยังไง ได้ทำให้เสียงของเขาปรากฏ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีใครสนใจมากน้อยแค่ไหน หรือไม่ก็ได้ความรู้สึกภูมิใจของพวกเขาที่ได้เป็นเพื่อนกับคนต่างชาติแบบเรา

แต่สิ่งที่เราได้ช่างเป็นรูปธรรมมาก กำลังจะกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาเอก แล้วจะได้กลับมาเป็นอาจารย์ด้วยวุฒิที่สูงขึ้น หน้าที่การงานมั่นคงขึ้น ผมอดรู้สึกแย่กับตัวเองไม่ได้

ชั่วขณะสุดท้ายที่รู้ว่าได้เวลาที่จะต้องกลับห้องไปเก็บของแล้ว ผมเดินออกมาเงียบๆ ไม่ได้ร่ำลาใครมาก แต่มีความรู้สึกอยู่ในใจลึกๆ ว่าการอยู่มาเป็นๆ ปี ก็ย่อมมีสายใยผูกพันกับคนที่นี่ มันอดใจหายไม่ได้ในยามที่เดินจากมา

ขอขอบคุณมิตรภาพที่ไม่เคยลืมเลือนของทุกคนที่ข้างถนนในมะนิลา เพื่อนทั้งหลายคือต้นฉบับที่มีชีวิตของเรื่องเล่าใน ‘สายสตรีท’ นี้

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า