บ้านข้างถนนของครอบครัวคาเรล

 

“บุน นายมานอนที่คอนโดฉัน นายยังไม่ได้ขออนุญาตฉันเลย ค่าเช่าก็ยังไม่จ่าย”

คาเรล คนไร้บ้านสาวร่างอ้วน เอ่ยปากแสดงท่าเสมือนว่าเป็นผู้จัดการ ‘คอนโดมิเนียม’ ที่ผมเพิ่งย้ายมานอนได้สามสี่คืน พร้อมทำท่าแบมือรอ ‘ค่าเช่า’

ผมคุ้นเคยกับคาเรล เธอพูดภาษาอังกฤษได้ดี ตอนแรกๆ ที่ผมออกมาตระเวนเดินกินข้าวตามโครงการแจกอาหาร เวลาผมไม่เข้าใจอะไรก็อาศัยถามเธอ ซึ่งก็ยังชีพด้วยการไปกินข้าวตามโครงการแจกอาหารเหมือนกัน

คนไร้บ้านหลายคนที่นอนที่เดียวกันนี้ต่างยอมรับว่า คาเรล ผัว และลูก เป็นครอบครัวแรกๆ ที่มานอนหน้าตึกแถวแห่งนี้ จึงยอมรับให้เธอเป็นคนดูแลพื้นที่กลายๆ เช่น คอยเตือนไม่ให้ทิ้งขยะสกปรก ไม่ให้ฉี่หน้าตึกทิ้งกลิ่นเหม็น

“บุนไม่ต้องจ่ายค่าเช่าให้คาเรลหรอก เขาไม่ใช่เป็นผู้จัดการ เขาเป็นแค่ภารโรง” บาล ผู้แนะนำให้ผมมานอนที่นี่ ตอบมุกกลับ ทำเอาพวกเราฮาร่วน รวมทั้งคาเรลเองด้วย

ไม่ว่าจะเปรียบคาเรลเป็นผู้จัดการหรือภารโรงก็ตาม แต่สิ่งที่คนไร้บ้านสิบกว่าคนที่นอนอยู่หน้าตึกแถวนี้ รวมทั้งผมด้วยต่างเห็นตรงกันก็คือ ที่นี่คือ ‘คอนโดมีนุม’ (ตามการออกเสียงแบบคนฟิลิปปินส์) ให้ความรู้สึกสะดวกสบาย เนื่องด้วยมันอยู่ริมถนนโอติส (Otis) เราจึงเรียกมันอย่างโก้เก๋ว่า ‘โอติสคอนโดมีนุม’

‘โอติสคอนโดมีนุม’ ตั้งอยู่ชายคาหน้าตึกแถว มีพื้นที่สองช่วงตึก ตึกละแปดคูหา หากพูดถึงทำเล ต้องถือว่าไกลจากศูนย์กลางที่คนไร้บ้านแฮงเอาท์กันพอสมควร ตอนเช้าต้องใช้เวลาเดิน 40-50 นาทีกว่าจะถึงซางตาครูสที่มีข้าวแจกตอนเช้า แต่สะดวกตรงที่อยู่ใกล้ ‘บุมไบย์’ หรือวัดซิกข์ซึ่งแจกอาหารให้คนไร้บ้านทุกคืน โอติสยังสะดวกกว่าพิกัดอื่นอีกอย่างตรงที่มีชายคา สามารถนอนได้แม้ในเวลาฝนตก

“ฉันนอนมาหลายที่ ไม่มีที่ไหนเหมือนที่นี่ จะให้ฉันไปนอนที่อื่นฉันนอนไม่ได้แล้ว” คาเรลพูดกับผม หลังจากผมไปปักหลักนอนที่นั่นประจำอยู่เกินเดือน พร้อมขยายความว่า “ไปนอนที่อื่น กลัวของหาย เดี๋ยวมีคนเมาเสียงดัง ทะเลาะกัน แต่ที่นี่ไม่มี แล้วก็สะอาดด้วย”

คาเรลเคยพูดว่า สำหรับเธอ โอติส “feel at home” เพราะไม่ค่อยวุ่นวาย คนที่มานอนต่างรู้จักกันหมด หากใครจะชวนคนหน้าใหม่มานอนต้องบอกกติกาให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เช่น บาลเป็นคนชวนผมมานอน คืนแรกเขาบอกผมทันทีว่า อย่าฉี่ที่ข้างกำแพง ให้ฉี่ใส่แก้ว แล้วค่อยเอาไปเททิ้งที่ท่อระบายน้ำ พร้อมยื่นแก้วน้ำพลาสติกให้ผมไว้เผื่อจะลุกมาฉี่กลางดึก

ผมนอนหน้าตึกแถวนี้เกินเดือน ก็เริ่มรู้สึก ‘ติด’ ที่นี่เหมือนกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ‘โอติสคอนโดมีนุม’ แม้จะดูเหมือนเป็นพื้นที่เปิด แต่ความจริงแล้วไม่ได้เปิดเสียทีเดียว คนที่นอนอยู่ก่อนประจำ แสดงท่าทีเป็น ‘เจ้าของ’ อยู่พอสมควร ต่างคนต่างมีที่นอนของตัวเอง อย่างคาเรลกับครอบครัวของเธอ นอนอยู่ที่หัวมุมหลังแรกของตึกแถว เธอคุ้นเคยกับ รปภ. ของร้านค้า ขนาดฝากกระเป๋าใส่เสื้อผ้าไว้กับ รปภ. ได้ ไม่ต้องแบกติดตัวไปด้วย

โตโต้ คนขายบุหรี่แบบแบ่งเป็นมวน มักจะกลับมานอนช่วงดึกราวสี่ทุ่มห้าทุ่ม หากจะมีขาจรมานอนทับที่ของเขา คนที่นอนประจำจะบอกขาจรว่า นอนไม่ได้ เพราะตรงนั้นมีคนนอนแล้ว เช่นเดียวกับผม ซึ่งในตอนแรกยังเป็นคนหน้าใหม่ ยังไม่ได้ขึ้นไปนอนข้างบน กระทั่งคนที่นอนอยู่ก่อน ไม่กลับมานอนอีก ผมจึงขึ้นไปนอนแทน จนกลายเป็นที่นอนประจำของผม

การที่พวกเรานอนคอนโดเดียวกันประจำ ทำให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัย และตามมาด้วย ความรู้สึกผูกพัน หวงแหนอยากดูแลรักษา ‘บ้าน’ ของตัวเอง

คาเรลนอนที่นี่มาสองสามปียาวนานกว่าคนอื่นๆ จะเป็นผู้ออกปาก หากใครทิ้งขยะสกปรก หรือฉี่ข้างกำแพง เพราะเจ้าของตึกจะโกรธ ขับไล่ไม่อนุญาตให้อาศัยนอน ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องไม่ให้ใครสร้างปัญหา

ดูเหมือนทุกคนจะให้ความร่วมมือด้วยดี ทุกเช้าก่อนพวกเราจะแยกย้าย ต้องรอคิวใช้ไม้กวาดเก่าๆ กวาดขยะ ‘หน้าบ้าน’ ตัวเองให้สะอาด ขยะพวกเศษพลาสติกห่อขนม ไม่ใช่คนไร้บ้านทิ้งกันหรอก แต่ถูกลมพัดมาตอนกลางคืน สมาชิกที่โอติสต่างกวาดขยะเหล่านี้ไปทิ้งลงถัง เพื่อให้เจ้าของตึกตื่นเช้ามาเห็นหน้าบ้านสะอาด

เราจึงเห็นความแตกต่างในการดูแลพื้นที่ระหว่างคนนอนที่ประจำ กับขาจรค่ำไหนนอนนั่น ไม่ต้องแคร์ ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรยาวๆ

คาเรลดูมีความสุขดีกับชีวิตข้างถนน อายุแค่ 30 แต่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย แม่เธอย้ายจากจังหวัดบิคอล (Bicol) เข้ามาอยู่มะนิลา จากนั้นไปทำงานที่เมืองอะลองกาโป (Alonggapo) ใกล้ฐานทัพเรือซูบิค (Subic) ที่สหรัฐอเมริกาเคยมาตั้งฐานทัพ ที่นี่จึงมีผู้หญิงหลั่งไหลไปทำงานให้ความสุขกับบรรดาทหารเรือชาวอเมริกัน แม่ของคาเรลตั้งท้อง โดยที่คาเรลไม่เคยเห็นหน้าพ่อแท้ๆ ตั้งแต่เกิด รู้แต่ว่าเป็นชาวอเมริกัน

พอตั้งท้อง แม่ของคาเรลก็กลับมาคลอดลูกที่บ้านพี่สาวในเมืองมะนิลา หลังจากนั้นแม่ก็หาพ่อเลี้ยงให้กับคาเรลได้ภายในเวลาไม่นานนัก เขาเป็นตำรวจ อายุมากกว่าแม่ของคาเรลพอสมควร คาเรลไม่มีปัญหากับพ่อเลี้ยงคนนี้ จนกระทั่งแม่แยกทางกับพ่อเลี้ยง ตอนเธออายุได้ประมาณ 15

แม่หอบหิ้วคาเรลกลับไปจังหวัดบิคอล (Bicol) จังหวัดบ้านเกิดของแม่เธอ แล้วก็ได้สามีใหม่ มีลูกกับครอบครัวใหม่ คาเรลเข้ากันไม่ได้กับพ่อเลี้ยงคนนี้ เธอมีปัญหากับแม่และตัดสินใจกลับมาอยู่มะนิลากับป้า โดยมีพ่อเลี้ยงคนแรกช่วยส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาตรี แม้จะไม่ได้เรียนต่อเนื่องก็ตาม

คาเรลได้งานทำลุ่มๆ ดอนๆ ตามอัตภาพ เช่น เป็นพนักงานขายของในห้าง แล้วก็ไปทำงานที่คอลเซ็นเตอร์ ถือว่าเป็นงานที่ดูดีทีเดียวในสายตาคนฟิลิปปินส์

ปัญหาคืองานที่เธอทำไม่ใช่การรอรับโทรศัพท์ตอบคำถามลูกค้า แต่เป็นการโทรศัพท์ไปหาลูกค้า โดยบริษัทจะมอบหมายเลขโทรศัพท์ให้เธอโทรไปชวนคนมาสมัครเป็นสมาชิกนิตยสารชั้นนำระดับโลก หรือบัตรเครดิต กลุ่มเป้าหมายเป็นชาวอเมริกัน นั่นหมายถึงเธอต้องทำงานกลางคืน และนอนเวลากลางวัน เป็นงานที่เหนื่อยไม่น้อย ไม่ใช่แค่ฝืนธรรมชาติเวลานอน แต่ยังต้องอดทนกับเสียงต่อว่าด่าทอปลายสาย จนเธอเบื่อหน่ายและไม่ได้ต่อสัญญาทำงาน

คาเรลไม่ได้คาดคิดเลยว่า การอาศัยอยู่บ้านป้าและตกงานนั้นจะนำความยุ่งยากมาสู่เธอ ป้าเริ่มพูดจากระทบกระเทียบให้เกิดความรู้สึกอึดอัดว่า เป็นผู้อาศัยและเป็นภาระของบ้าน เธอจึงตัดสินใจออกจากบ้าน เดิมทีจะไปหาแม่ที่บิคอล ชวนแม่ให้กลับมาอยู่กับพ่อเลี้ยงคนแรกที่แก่ลงมาก และต้องกลับไปอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่แม่เธอไม่เอาด้วย ครั้นจะไปอยู่กับพ่อเลี้ยง โดยไม่มีแม่มาด้วย เธอก็ไม่เอา สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจแยกทางจากคนอื่นๆ

“ตอนนั้นฉันคิดว่า ใครๆ ก็มีครอบครัวของตนเอง ต่างคนต่างสนใจครอบครัวของตัวเอง ฉันเลยตัดสินใจว่า ฉันจะมีครอบครัวของตัวเองบ้าง ฉันเลิกสนใจคนอื่นแล้ว” คาเรลเล่าถึงการตัดสินใจของเธอ

พอออกจากบ้าน คาเรลได้งานเป็นคนดูแลร้านเกมหรืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ความที่เธออยากมีครอบครัว สุดท้ายเธอเผลอใจไปกับเจ้าของร้าน แต่เขามีครอบครัวแล้ว เมื่อท้องเธอเริ่มโต ผู้ชายก็เฉดหัวคาเรลออกจากร้าน เพราะไม่อยากให้คาเรลเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายของชีวิตครอบครัวของเขา

เมื่อไม่อยากบากหน้าอุ้มท้องกลับบ้าน คาเรลจึงไปเบย์วอล์ค แหล่งนอนฟรีสำหรับคนไม่มีบ้านจะกลับ ก่อนพบกับทอมบอยที่ทำงานอยู่ย่านนั้นและไม่ตั้งแง่รังเกียจ เขาพาคาเรลกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ที่ชานเมืองมะนิลาจนคาเรลคลอดลูก แต่พ่อแม่ของทอมบอยไม่ชอบคาเรล จึงทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจออกมาอยู่เบย์วอล์คหวังจะสร้างครอบครัวของตนเอง แต่โชคร้ายทอมบอยถูกรถชนตายในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา คาเรลต้องหาคู่ชีวิตเพื่อสร้างครอบครัวใหม่

เจอาร์ คือคนรักต่อมาของคาเรล ตอนที่ผมเจอทั้งคู่อยู่กินกันได้สองปีแล้ว เจอาร์อายุมากกว่าคาเรลอย่างเห็นได้ชัด เขาเกิดและโตในเมืองมะนิลา แต่มานอนข้างถนนเพราะเคยเมาแล้วก่อเหตุวิวาทแทงผู้อื่นจนติดคุก ไม่อยากอยู่บ้านให้พี่น้องรังเกียจ เรื่องนี้เขาปิดอยู่นานกว่าจะยอมเล่าให้ผมฟัง

ชีวิตครอบครัวสามคนนี้ เป็นไปตามอัตภาพ คาเรลได้เงินเล็กๆ น้อยๆ จากการเป็นอาสาสมัครช่วยล้างจานให้โครงการแจกอาหารแห่งหนึ่ง บางทีถ้ามีทุนเธอก็ขายบุหรี่บ้าง ส่วนเจอาร์ก็เป็นคนขยันอยู่หรอก ร่างกายมีมัดกล้าม แต่ติดที่ว่าคาเรลไม่อยากให้เขาไปทำงานไกลตัว จึงไม่ค่อยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน วันๆ มักจะเอาลูกขี่คอเดินไปกินข้าวตามฟีดดิ้งโปรแกรมที่ต่างๆ

ถึงกระนั้น คาเรลบอกผมว่า เธอมีความสุขดี เพราะไม่ได้ฝันอยากรวยอะไร “ความฝันง่ายๆ ของฉันก็คือ อยากมีครอบครัวเล็กๆ ง่ายแค่นั้นเอง และตอนนี้ฉันก็มีแล้ว” เธอพูดพร้อมยิ้มอย่างมีความสุข

พร้อมเผยต่อไปว่า “ชีวิตข้างถนนไม่ง่าย แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ยังให้ฉันมีคอนโดมีนุมอยู่ที่นี่” เธอหัวเราะร่วนให้กับประโยคของเธอเอง

ผมเข้าใจปมที่เธอย้ำว่า ทั้งแม่และป้าของเธอห่วงใยแต่ครอบครัวตัวเอง เธอจึงอยากมีครอบครัวเล็กๆ ของเธอบ้าง ที่โอติสก็ให้ความสะดวกได้ระดับหนึ่ง

เรื่องราวของคาเรลกับครอบครัวของเธอ ชวนให้ผมนึกถึงประเด็นถกเถียงเชิงวิชาการว่าด้วย houseless กับ homeless เริ่มมีกระแสโต้แย้งว่า กลุ่มคนที่ผมสนใจศึกษาควรเรียกว่า คนไม่มีที่อยู่อาศัย หรือ houseless มากกว่า คือไม่มีที่คุ้มหัวนอนในเชิงกายภาพ แต่พวกเขามีบ้าน หรือ home ที่เป็นความหมายในเชิงความรู้สึกหรือไม่ เรื่องนี้อาจต้องไปแยกแยะรายละเอียดดูอีกที เพราะบางคนอาจจะไม่มีทั้งที่อยู่อาศัยและไม่มีบ้าน

กรณีคาเรลอาจจะไม่มีที่อยู่อาศัย แต่มีบ้านในเชิงความรู้สึก สัมผัสถึงความใกล้ชิด ความห่วงใย รวมถึงการมีครอบครัว คาเรลพอใจที่จะมี ‘คอนโด’ เป็นที่นอนประจำของครอบครัว รู้สึกคุ้นเคย สะดวก และปลอดภัย อย่างที่เธอว่า “feel at home”

พูดมาถึงตรงนี้ อย่าเข้าใจผิดว่า ผมจะบอกว่าไม่ต้องสนใจที่อยู่อาศัย ให้สนใจเฉพาะเรื่องความรู้สึก หรือพูดว่าบ้านอยู่ที่ใจเท่านั้น ไม่ใช่ครับ แค่นั้นมันไม่พอ

มีงานวิชาการไม่น้อย ยืนยันว่าถึงอย่างไร ‘ที่อยู่อาศัย’ เชิงกายภาพก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ ‘บ้าน’ ต่อให้มีครอบครัวที่ห่วงใยกันดีอยู่ข้างถนน แต่ ‘บ้าน’ ก็ยังต้องการความรู้สึกอื่นๆ อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นส่วนตัว การมีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่ ‘บ้าน’ ของตัวเอง ซึ่งพื้นที่ข้างถนน ไม่เอื้อให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ได้

อย่าง ‘คอนโด’ ที่คาเรลอยู่ ยังห่างไกลจาก ‘บ้าน’ ในความรู้สึกของคนที่สามารถทำอะไรในบ้านก็ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คอนโดแห่งนี้มีกฎเหล็กว่า ห้ามมานั่งเตร็ดเตร่ตอนฟ้ายังไม่มืด และต้องไปให้พ้นหน้าตึกแถวก่อนรุ่งเช้า ตรงกันข้ามกับอดีตคนไร้บ้านที่ไปเช่าห้องอยู่บอกผมว่า ที่ห้องของเขา เขาจะนอนกี่โมง จะตื่นกี่โมงก็ได้ เพราะมันคือที่ของเขา

ดังนั้น แม้ ‘ที่อยู่อาศัย’ จะไม่ใช่ทั้งหมดของ ‘บ้าน’ แต่ ‘ที่อยู่อาศัย’ ไม่ว่าจะเก่าจะเล็กจะแคบ หรือจะโทรมแค่ไหนก็ยังจำเป็นสำหรับการเติมเต็มให้ ‘บ้าน’ สมบูรณ์ขึ้น

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า