มองมุมใหม่ ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิ ไม่ใช่สินค้า

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ในตอนที่แล้วผมกล่าวในเชิงหลักการว่า ที่อยู่อาศัยเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การไร้ที่อยู่อาศัยส่งผลกระทบต่อความเป็นมนุษย์ทั้งความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้สิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยจึงถูกรับรองในปฏิญญาระหว่างประเทศว่าเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่รัฐของประเทศต่างๆ ต้องมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเพื่อให้มนุษย์ทุกคนได้เข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน รวมถึงรัฐบาลไทยก็ลงนามรับรองตั้งแต่ปี 1996 (พ.ศ. 2539) แต่ยังไม่ได้ดำเนินการให้เกิดผลจริงจัง

ในตอนนี้ผมจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า เราจะแปรหลักการสิทธิในที่อยู่อาศัยมาสู่ภาคปฏิบัติในเชิงกฎหมายและนโยบายได้อย่างไร

ผมขอเริ่มด้วยการเทียบเคียงเรื่องที่อยู่อาศัยกับการรักษาพยาบาล ซึ่งจัดอยู่ในประเภท ‘สิทธิทางสังคม’ หรือสวัสดิการที่รัฐควรสนับสนุนให้พลเมืองของตนเหมือนกัน สังคมไทยคุ้นเคยและยอมรับคำว่า ‘สิทธิในการรักษาพยาบาล’ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว นั่นก็เพราะสังคมตระหนักว่า การรักษาพยาบาลไม่ควรถูกปล่อยให้เป็นสินค้าตามกลไกตลาดเท่านั้น เนื่องจากการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องความเป็นความตายของชีวิตคนและกระทบกับคนอื่นๆ ในครอบครัวอีกด้วย

หากเราปล่อยให้การรักษาพยาบาลเป็นสินค้า ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ใครมีปัญญาจ่ายมาก ก็ได้สินค้าการรักษาพยาบาลเลิศหรู ใครแค่พอมีพอกิน ก็ได้การรักษาพยาบาลระดับหนึ่งเท่านั้น หากแต่คนที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ต้องเจ็บปวดเสียชีวิตอย่างอนาถใจ นอกจากนี้คนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต และพบว่า ค่ารักษาพยาบาลสูงมากจนต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ารักษาก็ต้องตกอยู่ภาวะวิกฤติตามมา หรือไม่ก็ต้องยอม ‘ทำใจ’ สูญเสียญาติพี่น้องเพราะไม่มีเงินค่ารักษา สังคมเราตระหนักแล้วว่า ไม่ควรปล่อยระบบแบบนี้ดำเนินต่อไป เพราะไม่เพียงแต่จะกระทบกับญาติพี่น้องผู้สูญเสีย แต่กระทบกับความรู้สึกของคนร่วมสังคมด้วย

ด้วยเหตุนี้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการจัดการอย่างสำคัญว่า การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ คำว่า พื้นฐานก็คือมีมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ ส่วนที่สูงกว่านั้น เช่น ผ่าตัดเสริมความงาม ไม่ใช่เรื่องพื้นฐาน ใครอยากได้ก็ต้องไปซื้อหาเอาเอง แต่การรักษาพยาบาลที่จำเป็น อาทิ เมื่อประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาทันที ไม่ต้องถูกถามว่า มีเงินค่ารักษาหรือไม่ก่อนรับการรักษา เพราะรัฐรับรองให้แล้วว่ารัฐจะดูแลค่ารักษาพยาบาลไม่ปล่อยให้คนต้องตาย (ลองเปรียบเทียบประสบการณ์ของคนไร้บ้านในฟิลิปปินส์ที่ไม่มีระบบการรักษาพยาบาลจะแย่กว่ากันมาก ใน ยามเจ็บ ยามป่วย)

ทำนองเดียวกัน เราควรเปลี่ยนมุมมองในการจัดการที่อยู่อาศัย จากความคิดว่า ที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันตามท้องตลาด เพราะกลไกตลาดย่อมมีเป้าหมายที่แสวงหากำไรเป็นสำคัญ คนที่มีรายได้น้อยก็ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูกและได้มาตรฐาน เพราะที่อยู่อาศัยราคาถูกไม่ได้สร้างผลกำไรแก่นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จนไม่มีใครอยากผลิตสินค้าที่อยู่อาศัยราคาถูกขายคนจน คนที่มีรายได้น้อยก็ต้องไปแสวงหาที่อยู่อาศัยตามอัตภาพ ไล่มาตั้งแต่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยซึ่งต้องอาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ คนที่เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกแต่ด้อยคุณภาพ ไปจนถึงผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิความมั่นคงตามกฎหมาย จะถูกเจ้าของที่ดินไล่รื้อวันไหนก็ได้

หากเรามองมุมใหม่ว่า ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิ ไม่ใช่สินค้า ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องหาทางให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงที่อยู่ที่มีมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการอยู่อาศัยอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการรับรองว่าจะไม่มีพลเมืองคนไหนต้องอยู่ในที่พักอาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

ส่วนใครจะสละไม่ใช้สิทธิที่รัฐรับรอง เพราะตนเองสามารถหาซื้อที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานสูงเกินกว่าที่รัฐรับรองให้ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ทำนองเดียวกับที่รัฐรับรองสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นต่ำ ส่วนใครจะไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นทางเลือกของคนๆ นั้น

ประเด็นข้อถกเถียงสำคัญจึงอยู่ที่ว่า มาตรฐานที่อยู่อาศัยขั้นต่ำสำหรับมนุษย์ที่จะอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีควรเป็นอย่างไร หากใครเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยมาตรฐานขั้นต่ำ ก็หมายความว่าเขาถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การขีดเส้นบรรทัดฐานขั้นต่ำมีความสำคัญ เพราะหากขีดเส้นว่าเป็นสิทธิแล้ว แปลว่าต้องมีผลบังคับให้รัฐต้องทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธินั้น หากทำไม่ได้ก็ต้องมีการฟ้องร้องรัฐกันทีเดียว

ความสำคัญของการออกกฎหมายรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยอยู่ตรงที่การมีสภาพบังคับ (enforceability) กล่าวคือ หากรัฐไม่ทำตามที่กฎหมายรับรองสิทธิ  ประชาชนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลละเมิดสิทธิได้ กลุ่มที่สนับสนุนให้เรียกร้องการเข้าถึงที่อยู่อาศัยจากฐานคิดเรื่องสิทธิ (right based approach)[i] จะย้ำความสำคัญของแนวทางการรับรองสิทธิว่า ทำให้ไม่ต้องกังวลว่า หากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วรัฐบาลชุดใหม่จะเปลี่ยนนโยบายหรือไม่จัดสรรงบประมาณให้ เพราะการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยตามกฎหมายจะทำให้ทุกรัฐบาลต้องทำตามกฎหมายที่เขียนไว้ อย่างไรก็ดี ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงว่า หากกำหนดมาตรฐานการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยไว้สูงเกินไป ฝ่ายบริหารย่อมเกรงว่าจะใช้งบประมาณจำนวนมาก เสียจนไม่อยากผู้มัดตัวเองด้วยการออกกฎหมายรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัย

ผมขอหยิบยกเส้นมาตรฐานขั้นต่ำของการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัย ในต่างประเทศให้เห็นรูปธรรมสัก 3 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ การให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยที่อยู่ในที่สาธารณะต้องเข้าถึงที่อยู่อาศัยชั่วคราว การไร้ที่อยู่อาศัยเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของการถูกละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัย ในต่างประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา จึงเน้นการดูแลคนกลุ่มนี้ให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย นอกจากกรณีที่ผมเขียนถึงในตอนที่แล้วว่า ที่สหรัฐอเมริกา ศาลสูงของรัฐนิวยอร์คมีคำพิพากษาให้เทศบาลเมืองนิวยอร์คต้องจัดหาที่อยู่อาศัย (อย่างน้อยชั่วคราว) ในรูปของศูนย์ที่พัก (shelter) สำหรับคนไร้บ้าน หลายประเทศในยุโรปอย่างสก็อตแลนด์และฝรั่งเศสมีกฎหมายรับรองสิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน

ฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างของประเทศที่ผลักดันให้เกิดการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยและมีผลบังคับที่น่าสนใจ เดิมทีแนวทางของรัฐบาลฝรั่งเศสคือ “ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด” (best effort) ในการให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเข้าถึงที่อยู่อาศัย แต่ประเด็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย (homeless people) กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมฝรั่งเศสนับแต่ปี 2005 ต่อมาออกุสติน เลกรานด์ (Augustin Legrand) อดีตนักแสดง เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่องผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เดือนธันวาคมปี 2006 เขาเชิญชวนชาวปารีสให้ไปกางเต๊นท์นอนที่ริมคลองเซนต์มาร์ติน ในเมืองปารีส ต่อมาขยายตัวเป็นขบวนการที่เรียกว่า tent city[ii] คือประชาชนทั่วไปไม่เพียงสนับสนุนด้วยการแจกจ่ายเต๊นท์ให้กับคนไร้บ้านที่ไม่มีที่อยู่อย่างน้อยได้มีเต๊นท์นอนเท่านั้น แต่ยังไปกางเต๊นท์นอนในที่สาธารณะกับคนไร้บ้านด้วย เพื่อสร้างกระแสกดดันรัฐบาล กระทั่งมีการผ่านกฎหมายรับรองสิทธิการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในเดือนมีนาคมปี 2007 ถือได้ว่า รัฐสภาตอบสนองต่อกระแสเรียกร้องได้รวดเร็วมาก[iii]

ออกุสติน เลกรานด์ (Augustin Legrand) อดีตนักแสดง เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่องผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เดือนธันวาคมปี 2006 เขาเชิญชวนชาวปารีสให้ไปกางเต็นท์นอนที่ริมคลองเซนต์มาร์ติน ในเมืองปารีส ต่อมาขยายตัวเป็นขบวนการที่เรียกว่า Tent City

สาระสำคัญของกฎหมายแบ่งการรับรองสิทธิออกเป็นสองระยะ ระยะแรก สำหรับผู้ที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน 6 กลุ่ม รัฐบาลจะต้องหาทางให้พวกเขาได้มีที่อยู่อาศัยนับแต่สิ้นปี 2008 คนหกกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ 1) ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยต้องอยู่ในที่สาธารณะ (roofless people) 2) ผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่เผชิญกับการไล่รื้อและไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ 3) ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว 4) ผู้อยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย 5) ผู้ที่มีเด็กอาศัยอยู่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งคนและอยู่ในที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม 6) ผู้พิการ

ระยะที่สอง นับแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2012  สิทธิในที่อยู่อาศัยจะขยายไปสู่ทุกคนที่มีคุณสมบัติในการสมัครเพื่ออยู่ในโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม (social housing) ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากรัฐ โดยเมื่อการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยมีสภาพบังคับแล้ว ผู้ที่สมัครและใช้เวลารอนานผิดปกติแต่ยังไม่ได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ (ประเด็นนี้คาบเกี่ยวกับประเด็นที่สามที่จะพูดถึงข้างหน้า)

ประเด็นที่สอง การปกป้องผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดจากการถูกไล่รื้อ ปัญหาชุมชนแออัดเป็นปัญหาที่ปรากฎเป็นวงกว้างในประเทศกำลังพัฒนา อย่างอินเดีย บราซิล ฟิลิปปินส์ และไทย ในบรรดาประเทศที่มีชุมชนแออัดอยู่มาก ประเทศแอฟริกาใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยไว้ในรัฐธรรมนูญปี 1996 หมวดสอง ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิ ในมาตรา 26 ว่าด้วยเรื่องที่อยู่อาศัยเขียนรายละเอียดอย่างชัดเจนไว้ถึง 3 ข้อ คือ

  1. ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ
  2. รัฐจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายและอื่นๆ อย่างสมเหตุสมผลภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ของรัฐเพื่อบรรลุถึงสิทธิดังกล่าวนี้
  3. ไม่มีผู้ใดที่จะถูกขับไล่จากบ้านของเขา หรือบ้านของเขาถูกรื้อถอนโดยปราศจากคำสั่งของศาลซึ่งได้พิจารณาสถานการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้มีการไล่รื้อได้ตามอำเภอใจ[iv]

ประเทศแอฟริกาใต้มีประวัติศาสตร์อันขมขื่นที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ มีการแบ่งแยกที่อยู่อาศัยตามเชื้อชาติ ทำให้คนผิวสีซึ่งเป็นคนพื้นเมืองต้องอาศัยอยู่ในสภาพที่อยู่อาศัยที่แออัด มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ดังนั้น เมื่อได้รับอิสรภาพ รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงให้ความสำคัญกับการปกป้องที่อยู่อาศัยของพลเมืองของตนอย่างไม่แบ่งแยกสีผิว รวมถึงคนในชุมชนแออัด นอกจากมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังที่เขียนไว้ข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีบทบาทสำคัญต่อการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ดังกรณีกรณีประวัติศาสตร์ที่ นางกรุตบูม (Mrs. Grootboom)[v] ยื่นฟ้องต่อศาลสูงของ The Cape of Good Hope นางกรุตบูม เป็นหนึ่งในผู้อาศัยอาศัยจำนวนกว่า 900 คน ในย่านชุมชนแออัดวัลเลซิดีน (Wallacedene) ในเมืองเคปทาวน์ ซึ่งอาศัยอยู่บนที่ดินของเอกชนที่ถูกทิ้งร้างให้ว่างเปล่า ปลายปี 1998 เจ้าของที่ดินได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ผู้อยู่อาศัยบนที่ดินของเขาย้ายออก และศาลอนุญาตให้ตามสิทธิของเจ้าของที่ดิน การรื้อย้ายบ้านเรือนเกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 1999 โดยที่เจ้าของบ้านเรือนไม่ได้อยู่ด้วย ทำให้บ้านถูกรื้อทำลายและถูกเผา ผู้ที่ถูกรื้อย้ายที่ไม่มีที่ไปรวม 390 คน และเด็กอีก 510 คน ต้องไปสร้างที่อยู่ชั่วคราวในสนามกีฬาของวัลเลดิซีน

จากเหตุดังกล่าว นางกรุตบูมได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูง ก่อนจะมีคำพิพากษา ผู้พิพากษาก็ได้ไปดูสถานที่เกิดเหตุและที่อยู่ชั่วคราวที่ชาวบ้านสร้างกันเองหลังถูกรื้อย้าย แม้ผู้พิพากษาจะตระหนักว่า ฝ่ายบริหารคือรัฐบาลพยายามที่จะมีโครงการที่อยู่อาศัยที่สมเหตุสมผลกับงบประมาณที่รัฐบาลมี อีกทั้งรัฐธรรมนูญเพิ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1997 ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยที่หมักหมมมานานย่อมไม่สามารถแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผู้พิพากษาก็ชี้ว่า นอกเหนือจากการจัดเตรียมโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนทั่วๆ ไป ซึ่งรัฐบาลดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลแล้ว รัฐบาลยังมีพันธะที่จะต้องจัดหาที่พักชั่วคราวให้เพียงพอสำหรับคนที่อยู่ในภาวะยากลำบากเร่งด่วนอย่างกรณีนางกรุตบูมด้วย

คดีนี้ไปสิ้นสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญในปี 2000 แม้ทางทนายความของเมืองเคปทาวน์จะโต้แย้งว่า คำพิพากษาของศาลสูง The Cape of Good Hope ที่ให้ต้องมีการช่วยเหลือคนที่ถูกไล่รื้อเร่งด่วนจะเป็นการเบี่ยงเบนการแก้ไขปัญหาระยะปานกลางหรือระยะยาวของรัฐบาล อีกทั้งทรัพยากรหรืองบประมาณก็มีจำกัด แต่องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญนำโดยผู้พิพากษายาคูบ (Judge Yacoob) ก็ยืนตามสาระสำคัญที่ศาลสูงของเมืองได้พิพากษาไว้ว่า ฝ่ายบริหารต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนที่ถูกไล่รื้อ

จากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญของแอฟริกาใต้ มีประเด็นที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมก็คือ การรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเขียนในรัฐธรรมนูญของประเทศใดๆ ก็ตาม มิได้หมายความว่า จะใช้หลักนี้ไปอยู่เหนือสิทธิของเจ้าของที่ดินเอกชนที่มีผู้ชุมนุมไปอยู่อาศัยได้ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินยังมีสิทธิเหนือที่ดินของตน แต่การจะขับไล่ผู้คนที่อยู่ในที่ดินของตนก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการทางศาลให้สิ้นกระบวนความ และหากผู้ที่ถูกไล่รื้อไม่มีศักยภาพที่จะหาที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง การรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยจะเข้ามามีความหมายในขั้นตอนนี้ คือรัฐมีหน้าที่จัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งมิได้หมายความถึงเฉพาะคนในชุมชนแออัดที่ถูกขับไล่เท่านั้น แต่หมายถึงคนที่กำลังถูกขับไล่จากห้องเช่าแล้วสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ก็สามารถเรียกร้องการเข้าถึงสิทธินี้จากรัฐได้

ประเด็นที่สาม การรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัย มีผลบังคับว่า ฝ่ายบริหารจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจนและจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้พลเมืองที่มีความจำเป็นได้เข้าถึงอย่างทั่วถึง โดยมิใช่คำนึงถึงกำไรตามกลไกตลาด หรือที่เรียกว่า ที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม (social housing) อย่างไรก็ดี เนื่องจากการบังคับให้เกิดที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึงนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงไม่เขียนให้ตายตัวเกินไปนัก อย่างในกรณีของฝรั่งเศสก็ใช้คำว่า หากคนที่ประสงค์จะเข้าโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมยื่นขอสมัครไปแล้ว แต่รอนานผิดปกติ (an abnormally long time) สามารถร้องต่อศาลปกครองหรือคณะกรรมการไกล่เกลี่ยได้ ทว่าเวลาที่รอนานปกติพิจารณาอย่างไรนั้นมีความยืดหยุ่น

ทำนองเดียวกัน รัฐธรรมนูญของแอฟริกาใต้ กำหนดให้ฝ่ายบริหารมีมาตรการต่างๆ และจัดทรัพยากรอย่างสมเหตุสมผล (reasonable) เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายในการให้พลเมืองได้เข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย

ท้ายที่สุด เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการคนหนุ่มสาวที่เป็นไปอย่างร้อนแรงอยู่ขณะนี้ ผมคิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสกัดการสืบทอดอำนาจของ คสช. จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ไม่ว่าจะเป็นบทเฉพาะกาลที่ให้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน มามีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งแบบพิสดารที่ทำให้เกิดการนับคะแนนแบบบัตรเขย่ง ฯลฯ นอกเหนือจากนี้แล้ว การแก้ไขเพื่อรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยให้หนักแน่นชัดเจน ดังที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ควรจะผลักดันให้เกิดขึ้นด้วย

แต่การเพิ่มประเด็นสิทธิในที่อยู่อาศัยจะเกิดขึ้นไมได้หากไม่มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์สำคัญว่า ที่อยู่อาศัยคือสิทธิที่ทุกคนควรเข้าถึง และยกตรรกะของระบบทุนนิยมซึ่งทำให้คนเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยวางไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เพราะคนที่ไม่มีงานมั่นคง ย่อมไม่สามารถกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านได้ การเคหะแห่งชาติต้องเปลี่ยนหน้าที่จากหน่วยงานขายบ้าน เป็นการมุ่งให้คนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้กว้างขวางที่สุด

ซึ่งหมายถึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าถึงได้ ไม่ใช่สินค้าในระบบทุนนิยม

เชิงอรรถ

[i] Centre on Housing Rights and Eviction (COHRE) and the National Law Center on Homelessness & Poverty (NLCHP) (2009). Housing rights for all: Promoting and defending housing rights in the United States. COHRE USA Office: Duluth, MN.

[ii] Tent City เป็นกระแสการเคลื่อนไหวใหญ่ในประเด็นคนไร้บ้านที่วิพากษ์การจัดการศูนย์ที่พักสำหรับคนไร้บ้าน แบบนอนรวมที่ไม่มีความเป็นส่วนตัว การอาศัยในลักษณะเต็นท์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าการอยู่ในศูนย์ที่พัก

[iii] ประเด็นเกี่ยวกับการผลักดันสิทธิในที่อยู่อาศัยที่มีผลบังคับในฝรั่งเศส สามารถอ่านได้ใน Loison, M. (2007). The Implementation of an Enforceable Right to Housing in France. European Journal of Homelessness1, 185-97.

[iv]  ข้อความของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ปี 1996 มาตรา 26 เขียนไว้ดังนี้

1) Everyone has the right to have access to adequate housing.

2) The state must take reasonable legislative and other measures, within its available resources, to achieve the progressive realisation of this right.

3) No one may be evicted from their home, or have their home demolished, without an order of court made after considering all the relevant circumstances. No legislation may permit arbitrary evictions.

[v] เนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัยของแอฟริกาใต้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน Huchzermeyer, M. (2003, January). Housing rights in South Africa: Invasions, evictions, the media, and the courts in the cases of Grootboom, Alexandra, and Bredell. In Urban Forum (Vol. 14, No. 1, pp. 80-107). Springer Netherlands.

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า