คำสารภาพของผู้บุกรุกข้อเท็จจริง

TheInvaders-1

ภาพ: ชิน เอกก้านตรง

เพราะเราต่างบุกรุกข้อเท็จจริงในแบบของเรา

หลังรอบฉาย Where To Invade Next: บุกให้แหลก แหกตาดูโลก หนังสารคดีเรื่องล่าสุดของ ไมเคิล มัวร์ ที่พาเราไปเปิดโลกในประเด็นสาธารณะต่างๆ ในหลายประเทศแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิแรงงาน วันลาพักร้อน อาหารเที่ยงและการเรียนเพศศึกษาของเด็กๆ การเรียนที่ไม่มีการบ้าน ไปจนถึงการเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ แนวคิดเรือนจำที่จำกัดเพียงอิสรภาพไม่ใช่ความเป็นคน การแก้ปัญหายาเสพติด เศรษฐกิจ สังคม เสรีภาพ และประเด็นทางเพศ ฯลฯ ไม่น่าเชื่อว่าจะอัดแน่นอยู่ได้ในหนังเรื่องเดียว

ก่อนจะย้อนกลับมาตบหน้าอเมริกันชน รวมทั้งตัวเขาเองด้วยว่า สหรัฐเองไม่ใช่หรือ คือผู้บุกเบิกไอเดียที่กลายเป็นต้นแบบให้นานาประเทศ แต่กลับไม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองเริ่มไว้ให้สำเร็จได้เหมือนประเทศอื่นๆ

วงพูดคุย ‘The Invaders: ผู้บุกรุกข้อเท็จจริง’ ร่วมจัดโดย WAY และ Documentary Club เต็มไปด้วยสาระ ความรู้ และความสนุกสนาน จากมุมมองของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการที่บุกรุกเข้าไปในโลกของโฮมเลส นนทวัฒน์ นำเบญจพล คนทำสารคดีที่พยายามนำเสนอความแตกต่างทางวัฒนธรรมภายใต้ความขัดแย้ง เจ้าของผลงาน สายน้ำติดเชื้อ และ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง และมุมจากสื่อมวลชนด้านต่างประเทศ เจ้าของหนังสือ Global Report บทวิเคราะห์สถานการณ์รอบโลกในรอบทศวรรษ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รับหน้าที่ควบทั้งผู้ร่วมเสวนาและผู้ดำเนินรายการ

TheInvaders-3

เตรียมตัวบุกรุก

ก่อนจะไปบุกรุกที่ไหน การพยายาม ‘รู้เขา’ เป็นเรื่องสำคัญมาก ในฐานะนักมานุษยวิทยา บุญเลิศถูกเทรนมาให้เรียนรู้ที่จะเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ

“ผมคิดว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จากประสบการณ์ ผมเคยได้ทุนไปศึกษา homeless ที่ญี่ปุ่นหกเดือน แต่ฟิลด์ที่ทำใกล้ชิดจริงๆ คือที่มะนิลา 14-15 เดือน”

ผมถูกสอนมาว่า อย่าคิดว่าสังคมวัฒนธรรมของเราเหนือกว่าคนอื่น ผมชอบในหนังที่ไมเคิล มัวร์ อยากไปเรียนรู้จากสังคมอื่นว่าเป็นอย่างไร

ขณะที่นนทวัฒน์ให้ความสนใจและมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่ที่มีการข้ามวัฒนธรรม จะเรียกว่าบริเวณนั้นเส้นพรมแดนดูไม่ค่อยมีความหมายก็น่าจะได้

พื้นที่ที่ผมตื่นตาตื่นใจจะเป็นบริเวณชายแดน เป็นพื้นที่ที่มี cross culture สำหรับคนทำหนังสารคดี ผมจะต่างกับ ไมเคิล มัวร์ คือผมจะพยายาม delete ตัวเองออกไปให้มากที่สุด คือพยายามจะไม่เอาทัศนคติตัวเองมาตั้ง แล้วก็พยายามเปิดกว้างที่สุด พยายามเป็นผู้รับฟังที่ดี

นนทวัฒน์บอกว่า ต้องอาศัยการด้นสดพอสมควร และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ แต่หลังจากได้ข้อมูลมา แล้วเกิดข้อสงสัย หรือรู้สึกว่าบางเรื่องที่ได้มาดูขัดกันเอง จึงจะเริ่มตั้งคำถามกลับไปบ้าง

ส่วนกรรณิการ์แลกเปลี่ยนว่า ความสงสัยใคร่รู้คือไฟในการทำงานของเธอ

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความอยากรู้อยากเห็น เราจะขุดข้อมูลมากขึ้น แล้วข้อมูลมันจะมาจากทั้งสองข้าง เราก็เอาข้อมูลเหล่านั้นมาสอบทานกัน ซึ่งอาจจะต่างจากสองคนที่ไปลงพื้นที่

TheInvaders-4

ความเชื่อใจ ต้องใช้เวลา

หลังจากผ่านประสบการณ์บุกรุกข้อเท็จจริงของคนไร้บ้านแถวสนามหลวงจนได้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น และปรับปรุงมาเป็นหนังสือ โลกของคนไร้บ้าน บุญเลิศเล่าว่า ในปี 2004 เขาได้ทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Asian Public Intellectuals Fellowship Program: API) จากมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) เพื่อทำการศึกษาประเด็นคนไร้บ้านที่ญี่ปุ่น

“ผมไปอยู่ญี่ปุ่นหกเดือน ใช้เวลาเรียนภาษาก่อนไป พูดภาษาญี่ปุ่นสื่อสารได้ แต่พบว่า คนญี่ปุ่นยกการ์ดสูงอยู่ตลอดเวลา กว่าเขาจะไว้ใจและคุยกับคนต่างประเทศ”

บุญเลิศบอกว่า ต้องใช้เวลาสามเดือน จึงจะมีเพื่อนสนิท ที่ไปไหนมาไหนด้วยกันได้ จากนั้น เขายังได้ทุนเดียวกันนี้ไปศึกษาที่ฟิลิปปินส์อีกสองเดือน

เมื่อเทียบกันแล้ว บุญเลิศพบว่า คนฟิลิปปินส์เข้ากับคนได้ง่ายกว่า เมื่อต้องตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เขาจึงเลือกที่ฟิลิปปินส์และใช้เวลาที่นั่น 14 เดือนเต็ม

“เวลาคุณบอกว่าเป็นคนต่างชาติในฟิลิปปินส์ คนที่นั่นจะนึกว่าคุณเป็นคนมีสตางค์” แม้เขาจะยืนยันว่าตัวเองเป็นนักศึกษา แต่จะไม่มีใครเชื่อ ถ้าเขาไม่หยิบบัตรนักศึกษาให้ดู

มันนานมากกว่าเขาจะเข้าใจว่า ผมอยากมาอยู่กับเขา และอยากเข้าใจว่าชีวิตข้างถนนเป็นอย่างไร

บุญเลิศเพิ่มเติมว่า พอคนไร้บ้านที่นั่นเห็นว่าเขาไม่ใช่นักท่องเที่ยวแน่ๆ แต่มาอยู่ฟิลิปปินส์นานๆ สิ่งที่เขาจะโดนระแวงต่อมา คือ “คุณหนีคดีมาจากเมืองไทยล่ะสิ”

TheInvaders-2

ตะแกรงร่อนความจริง

“ถ้าใครอ่านหนังสือเรื่องโฮมเลสในกรุงเทพฯของผม ผมมีประสบการณ์อยู่แล้วว่า ถ้าคุณไปเที่ยวถามเรื่องชีวิต ไม่มีใครเขาบอกคุณหรอก เขาอาจจะมีเรื่องเล่าให้ฟัง แต่เรื่องที่เขาเล่า อาจจะมีความจริงสัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ได้ ดังนั้น มันต้องใช้เวลานานมาก”

บุญเลิศไม่ทราบว่า กระบวนการทำงานของ ไมเคิล มัวร์ เป็นอย่างไร ทุกคนจึงพูดความจริงออกมาได้ง่ายๆ ในหนัง เพราะงานวิจัยของเขาใช้เวลานานมากกว่าคนจะไว้ใจ แล้วยินดีเล่าเรื่องให้ฟัง

“ผมอยู่ฟิลิปปินส์ 10 กว่าเดือน บางเรื่องผมก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่ามันไม่จริง บางคนบอกว่า ที่ผ่านมาที่เคยเล่ามาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เรื่องจริงหรอก แต่ทีนี้ฉันจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังนะ ซึ่งเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ มันก็ยังไม่จริง สามเดือนต่อมา เราก็จะพบว่า เขามาขอโทษแล้วบอกว่า ขอโทษที ตอนนั้นฉันเวลาน้อยก็เลยยังเล่าไม่หมด มันเล่าข้ามไป” จากประสบการณ์ตรง บุญเลิศบอกว่า โฮมเลสมีลักษณะเฉพาะในการเก็บข้อมูลที่ค่อนข้างยาก

มันจำเป็นมากๆ ที่คุณต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับเขาจนเขาเชื่อใจ จนคุยกับคุณตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ผมไม่ใช่คนถือไมโครโฟนหรือเครื่องอัดเสียงคอยจะไปสัมภาษณ์คน ส่วนใหญ่จะมาจากการคุยอย่างไม่เป็นทางการ

ต้องบอกว่าตรงข้ามกันเลยกับสิ่งที่นนทวัฒน์เจอ ในฐานะสื่อ เขามักจะพบกับคนที่พร้อมจะพูดความจริงด้วยตั้งแต่พบกันครั้งแรก เพราะพื้นที่ที่เขาเลือกไป มักจะมีประเด็นปัญหาหรือข้อพิพาทรุนแรงพอสมควร

“พอเราไปในฐานะคนทำสารคดีหรือสื่อ แล้วเข้าไปกับคนในพื้นที่ที่ไว้ใจได้ มันยิ่งทำให้เขาพร้อมที่จะพูด พรั่งพรูสิ่งที่เขารู้สึกอัดอั้นตันใจออกมา

พอเริ่มตั้งกล้อง ก็จะคุยกับเขาไปเรื่อยๆ เขาก็จะเล่าไปเรื่อยๆ ยิ่งเราลบตัวเราออกไป แล้วพยายามพูดคุยกับเขาไปเรื่อยๆ เขาก็ยิ่งพูดออกมาเรื่อยๆ ทำให้เราได้ข้อมูลที่ต้องการ

ทุกครั้งที่ทำสารคดี นนทวัฒน์จะเริ่มต้นด้วยการเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของพื้นที่ เห็นทัศนคติ เพราะในประเด็นเดียวกัน คนพื้นที่เดียวกันอาจจะคิดไม่เหมือนกันก็ได้

เมื่อได้ข้อมูลจากคนพื้นที่จริงๆ เขาจะได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ควรมุ่งไปที่ประเด็นไหน แล้วจึงค่อยๆ ลงลึกเข้าไปในประเด็นนั้นๆ

TheInvaders-6

ผมไม่อยากเป็น ไมเคิล มัวร์

สำหรับคนที่ดูแล้วไม่เชื่อว่าโลกนี้จะมีเรื่องดีๆ แบบนี้อยู่จริง แน่นอนว่าแต่ละประเทศย่อมมีเรื่องร้ายๆ และดำมืดในคราวเดียวกัน อย่างกรณีอิตาลี ที่แม้สิทธิแรงงานจะเลิศหรู แต่ความจริงอีกด้านคือ ภาวะว่างงานของประเทศนั้นรุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่ง ไมเคิล มัวร์ เองก็ออกตัวตั้งแต่ต้นเลยว่า เป็นความตั้งใจนำเสนอเรื่องดีๆ ให้เราเห็น และงานนี้เขามาเพื่อเก็บดอกไม้ ไม่ใช่วัชพืช

แต่ผมไปเก็บวัชพืชเต็มๆ เลยครับ

“คนอาจจะบอกว่า สารคดีมันคือความจริง แต่บางทีผมว่าอาจจะไม่ได้จริงทั้งหมด เวลาถ่ายก็จะไม่ไปรบกวนสิ่งที่ถ่าย ก็จะปล่อยให้เป็นไป แต่สุดท้าย ตอนตัดต่อ มันก็จะกลายเป็นทัศนคติและมุมมองของเราอยู่ดี” นนทวัฒน์ว่า

หลายครั้ง อะไรที่ดูดราม่าหรือฟูมฟายเกินไป หรือรู้สึกว่าล้นเกินกว่าที่ควรจะนำเสนอ เขาก็ต้องตัดสินใจตัดออก

“ผมพยายามจะพัฒนารูปแบบสารคดีมากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเช่นเรื่องแรกๆ จะมีการสัมภาษณ์มากๆ แต่พอมีการพูดคุยระหว่างเรากับผู้ถูกสัมภาษณ์ บางทีหลายๆ อย่าง ประเด็นหรือทัศนคติของเราจะเข้าไปเป็นทิศทางของสารคดีอยู่ จะไม่เรียลมาก” นนทวัฒน์ย้อนไปถึงตอนทำสารคดี สายน้ำติดเชื้อ

“อย่างเรื่องฟ้าต่ำฯ ผมจะพยายามไม่เอาสัมภาษณ์มาใช้เลย บางครั้งจะตั้งกล้องทิ้งไว้แล้วก็เดินหนีไปเลย กล้องก็จะบันทึกไปแล้วค่อยมาเลือกตัดเอา ก็จะได้ภาพที่มันจริงขึ้น” เขาบอกว่า วิธีนี้ต่างจากการทำงานของ ไมเคิล มัวร์ อย่างสิ้นเชิง

“จริงๆ ตอนทำหนังสารคดีเรื่องแรก ผมก็มี ไมเคิล มัวร์ เป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มทำสารคดีนะ เราก็เข้าไปสัมภาษณ์ๆๆ แล้วพยายามเอาแนวคิดที่ขาวดำชัดเจนมาชนกัน เพื่อให้เกิดข้อคิด หรืออะไรใหม่ๆ

แต่พอทำไปเรื่อยๆ ผมก็พยายามจะไม่เป็นอย่าง ไมเคิล มัวร์

TheInvaders-5

รักชาติแบบ ไมเคิล มัวร์

เพราะเป็นแฟนหนัง ไมเคิล มัวร์ ตัวจริง กรรณิการ์ยอมรับว่า ได้แรงบันดาลใจในการทำงานมาจากผู้กำกับอเมริกันคนนี้ เธอยกหนังสือ Stupid White Man and Other Sorry Excuses for the State of the Nation (2001) ที่เธอไปตามหามาอ่านจนได้ ซึ่งมันยิ่งตอกย้ำว่า ไมเคิล มัวร์ มีอะไรในใจที่อยากบอกกับประเทศของเขาอยู่ตลอดเวลา ถ้ามองแง่นี้ เขาก็น่าจะถือว่าเป็นคนรักชาติคนหนึ่ง

นนทวัฒน์เห็นด้วยว่า ไมเคิล มัวร์ น่าจะรักชาติบ้านเกิดมาก หนังของเขาจึงเลือกเสนอประเด็นแรงๆ เพื่อให้ประเทศชาติดีขึ้นในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสุขภาพ กฎหมายการค้าอาวุธปืน ฯลฯ

ถ้าเป็นบ้านเรา ถ้าผมทำแบบ ไมเคิล มัวร์ ผมจะกลายเป็นคนไม่รักชาติขึ้นมาทันที ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทัศนคติของประชากรบ้านเราที่มักจะเหมารวมแล้วมองอะไรเป็นขาวดำชัดเจนไปหมด ไม่ค่อยดูที่รายละเอียดของแต่ละเรื่อง

ในฐานะที่เป็นคนไทย เรามักจะคุ้นเคยกับการมีของดีที่อยากอวดชาวโลก ถ้ามีใครอยากทำหนังเพื่อเสียดสีประเทศเราเอง อาจจะถูกมองว่าไม่รักชาติ

“ผมคิดว่า ถ้าคุณมัวร์รักชาติ แล้วเขาสามารถแสดงออกอย่างนี้ได้ แสดงว่าชาติก็ยังน่ารักอยู่ คือชาติอนุญาตให้เรารักและวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า ในประเทศของเรา มันยังมีสิ่งที่ไม่ดีนะ

“ผมคิดภาพกลับกันว่า ผมรักชาตินะ ผมเลยอยากจะทำสกู๊ปเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในสังคมไทย ท่านนายกฯจะบอกทันทีว่า ไม่รักชาติหรือไง มาทำเรื่องนี้ได้ยังไง ผมคิดว่า ถ้ารักชาติแบบ ไมเคิล มัวร์ เขาบอกว่า อเมริกาเราโตมากับการมีทาส ทำไมเราไม่ยอมรับบ้างว่าเราเคยค้าทาส เขาอนุญาตให้พูดอย่างนี้ ชาติที่เปิดโอกาสให้เราพูดอย่างนี้ก็พอจะรักได้อยู่บ้าง” บุญเลิศกล่าว

บุญเลิศอาจไม่ใช่คอหนังหรือคุ้นเคยกับสารคดีของ ไมเคิล มัวร์ เหมือนอีกสองคน แต่เรื่องนี้มีหลายฉากที่เขาประทับใจและอยากแลกเปลี่ยน

“ท่อนสัมภาษณ์คุณผู้หญิงจากตูนิเซีย เขาถามเธอว่า รู้สึกอย่างไรกับประเทศอเมริกา เธอบอกว่า คุณอาจจะรู้สึกว่าประเทศคุณยิ่งใหญ่แล้ว แล้วคุณก็รู้ว่าคุณรู้ทุกอย่าง แต่มันแทบไม่มีค่าอะไร ผมชอบประโยคนี้ที่เขาเริ่มต้น ผมคิดว่าประโยคนี้สะท้อนอะไรในหนังหลายๆ เรื่อง”

นั่นคือความพยายามจะเรียนรู้ว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไร แม้แต่ตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศของเขา เขาก็ยังเชื่อว่า ประเทศเล็กๆ แบบนี้มีคุณค่าพอที่คนอเมริกันควรจะสนใจ

“พอตอนท้าย ที่เขาถามคุณผู้หญิงจากประเทศไอซ์แลนด์ ว่ามีอะไรอยากจะบอกคนอเมริกัน แล้วเธอก็คิดอยู่สักหน่อยหนึ่ง ถอนหายใจก่อน แล้วบอกว่า ‘ถ้าคุณให้ฉันไปอยู่ประเทศคุณ ฉันไม่ไปหรอก’ ผมคิดว่านี่เป็นการตบหน้าสังคมอเมริกันฉาดใหญ่ เพราะในสายตาของคนอื่น อาจจะไม่ได้คิดว่าประเทศคุณดีสักเท่าไหร่เลย”

TheInvaders-7

บุกรุกเพื่อปลดปล่อย

หากใครได้ดูหนัง น่าจะจำฉากแรกๆ ของหนังที่ ไมเคิล มัวร์ สามารถเสียดสีผู้นำประเทศได้ ในเชิงว่ากองทัพไปก่อสงครามในหลายๆ ประเทศ แต่สุดท้ายก็ต้องมาขอความเห็นจากเขาว่าจะแก้ปัญหาในประเทศอย่างไร

ประเด็นของผมคือ เสรีภาพในการทำหนังจะเกิดขึ้นไม่ได้ คุณจะทำหนังที่มี impact ทางสังคมไม่ได้ คุณจะฝันเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีเสรีภาพในการคิด

“การทำหนังแบบนี้ มันตั้งคำถามที่ radical ได้ เพราะสังคมอเมริกันยอมให้คุณได้ตั้งคำถามในสิ่งที่บางเรื่องมันถามไม่ได้” บุญเลิศกล่าว

ยกตัวอย่างเรื่องงบประมาณซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ตามข่าวคือมีความตกลงและกำลังจะซื้อจากจีน ซึ่งถ้าเทียบกับหลายประเทศแล้ว ราคาถูกกว่าและมีออพชั่นเสริม

“ผมอยากจะตั้งคำถามก่อนหน้านั้นได้ไหม ว่าไม่ต้องเลือกบริษัทไหน แต่มันจำเป็นหรือเปล่าที่เราจะต้องมีเรือดำน้ำ เราสามารถจะตั้งคำถามที่มัน radical แบบนี้ได้ไหม

ผมคิดว่าถ้าเราเปิดโอกาสให้สังคมได้มีการตั้งคำถาม คุณถึงจะทำหนังที่มันคาดหวังการเปลี่ยนแปลงได้

ในหนังมีหลายประเด็นที่ดูแล้วคิดถึงบ้านเรา นนทวัฒน์ยกเรื่องการศึกษาในสโลวีเนียที่สามารถเรียนฟรีจนจบมหาวิทยาลัย

“จะเห็นว่าใน รธน. ฉบับใหม่ จะตัดเรียนฟรีถึง ม.ปลายทิ้งไป ซึ่งเหมือนกับว่า คนที่จะได้เรียนฟรีต้องเป็นเด็กเรียนเก่งเท่านั้น

“กลายเป็นว่า นโยบายนี้ทำให้ประเทศถอยหลังไปเรื่อยๆ เพราะเด็กบางคนถ้าเรียนไม่เก่ง แล้วยิ่งไม่ให้เรียนฟรี หรือเด็กที่ไม่มีเงินเรียน ก็เหมือนไปตัดโอกาสเขา ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่อยากให้ประชากรตัวเองฉลาด” นนทวัฒน์แลกเปลี่ยน

นนทวัฒน์ยอมรับว่า ไมเคิล มัวร์ หยิบจับประเด็นเก่ง และไม่ใช่คนไทยเท่านั้นที่ดูแล้วจะสะท้อนใจถึงสถานการณ์ในบ้านตัวเอง

“ไม่ว่าคนประเทศไหนมาดูเรื่องนี้ ก็สามารถเชื่อมโยงเข้ากับประเทศตัวเองได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทย” นนทวัฒน์กล่าว

เราอาจคาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของประเทศในเร็ววัน แต่จุดเริ่มต้นที่จะไปถึงตรงนั้น อาจอยู่ในมือเราทุกคนมาตั้งแต่แรก

Hammer, Chisel, Down! – ค้อน สิ่ว ทลายมัน!

“อย่างที่เห็นฉากสุดท้ายในหนัง แล้วเรารู้สึกว่า จริงๆ เขากำลังทำฝันของเขาทั้งชีวิตนั่นแหละ เพื่อที่จะทำให้สังคมอเมริกันดีขึ้นในรูปแบบของเขา” กรรณิการ์กล่าว

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า