โตมร ศุขปรีชา โดย อธิคม คุณาวุฒิ

Untitled Session0543 rz

เรื่อง : อธิคม คุณาวุฒิ

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ผมสำเหนียกด้วยตนเองว่าจากนี้ไปต้องหารายได้เลี้ยงตัว การเรียนปริญญาตรีไม่จบตามเกณฑ์เวลาปกติ ไม่ใช่เรื่องสมควรให้บุพการีร่วมรับผิดชอบ

คำถามมีอยู่ว่า แล้วเราพอจะทำอะไรเป็นโล้เป็นพายได้บ้าง

คำตอบเท่าที่นึกออกคือ อะไรก็ได้เกี่ยวกับการทำหนังสือ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะได้รับโอกาสให้เขียนหนังสือหรือทำคอลัมน์ จะให้พิสูจน์อักษร แปะอาร์ตเวิร์ค ลบขี้กาว เคาะคอมพิว เป็นผู้ช่วยช่างภาพ แบกฉาก ขนพร็อพ ในฐานะที่ยังไม่มีปริญญาตรีเป็นใบผ่าน ผมเตรียมใจไว้แล้วว่า – ต้องทำได้หมด

เพื่อนรักแห่งคณะวารสารฯ ผู้ชอบทำตัวเป็นขาใหญ่มิสเตอร์คอนเน็คชั่น พาผมขึ้นเรือข้ามฟากจากท่าพระจันทร์มาฝั่งศิริราช กรอกใบสมัครงานที่บริษัท อมรินทร์พรินติ้ง ซึ่งตอนนั้นยังอยู่เชิงสะพานอรุณอมรินทร์

บางจังหวะ ชีวิตก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ บรรณาธิการอำนวยการแห่งเครืออมรินทร์ ตอบตกลงรับผมเข้าทำงานตำแหน่งกองบรรณาธิการ

เริ่มงานวันแรก คุณสุภาวดี โกมารฑัต พาผมไปแนะนำกับพนักงานทุกฝ่ายของนิตยสาร เทรนดีแมน จำได้ว่าผมยกมือไหว้ทุกคนตั้งแต่ฝ่ายพิสูจน์อักษร ศิลปกรรม พนักงานถ่ายฟิล์ม กองบรรณาธิการทุกคน รวมทั้งเขา – โตมร ศุขปรีชา

สารภาพว่าวูบแรกที่เห็น ผมแทบจะมองผ่านทะลุเขาไปยังคนอื่นๆ เนื่องจากเขาดูเป็นเด็กเรียน เรียบร้อย แต่งเนื้อแต่งตัวเหมือนมนุษย์ออฟฟิศ แถมรสนิยมการเลือกโทนสีเสื้อและทรงสีกางเกง ยังค่อนไปทางคุณครูตามโรงเรียนมัธยม ดูไม่เป็นศิลปินนักเขียนแบบที่ผมนิยมสักนิด

มารู้ภายหลังว่าเขาก็เพิ่งเริ่มงานที่นี่ได้ปีกว่าๆ ไล่อายุอานามทำความรู้จักกันเพิ่มหลังแก้วเบียร์และควันบุหรี่ (ที่เขาเคยเมาจนจุดบุหรี่ทางก้นกรอง) พบว่าเขาเกิดก่อนผมราวสามเดือน

ผมมาเริ่มสะดุดตาตอนนั่งทำงานข้างๆ กัน เห็นเขาพรมนิ้วลงคีย์บอร์ดถอดเทปสัมภาษณ์ มันเร็วและดูเพลิดเพลินราวกับโมสาร์ทกำลังขยี้แป้นเปียโน อัตราเร็วที่ว่านี้ไม่ใช่แค่ตอนถอดเทป แต่รวมถึงการผลิตต้นฉบับสารพัดคอลัมน์ ไล่มาตั้งแต่คอลัมน์ทดสอบรถยนต์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ สัมภาษณ์ใหญ่ สารคดีประจำเล่ม ฯลฯ

พูดง่ายๆ ในขณะที่ผมเพิ่งเริ่มหัดเขียนหัดทำคอลัมน์กระจอกงอกง่อย ประเภทสัมภาษณ์ลูกค้าที่ลงโฆษณาจบในหน้าเดียว โตมร ศุขปรีชา ยืนอยู่ในฐานะซูเปอร์สตาร์ผู้ทรงอิทธิพลแห่งกองบรรณาธิการเรียบร้อยแล้ว

ต่อให้ไม่เคยคิดจะแข่ง แต่อย่างน้อยที่สุดสำหรับเด็กหนุ่มที่ถนัดแต่การเขียนแถลงการณ์นักศึกษา แถมยังใช้สองนิ้วจิ้มแป้นพิมพ์ดีดต๊อกแต๊กเป็นตั๊กแตนตำข้าว ก็เริ่มรู้แล้วว่าควรต้องหาอะไรเพิ่มใส่ตัวบ้าง

Untitled Session0527 rz

ก่อนที่ผมจะลาออกจากบริษัทในช่วงต้นปี 2539 ดูเหมือนเราจะถามไถ่พูดคุยกันเรื่องความฝัน ผมบอกเขาว่าผมอยากเป็นบรรณาธิการนิตยสารดีๆ สักเล่ม มีคอลัมน์ประจำตามหน้านิตยสาร 4-5 ฉบับ และมีคนอ่านติดตามผลงานสัก 2,000 คน สำหรับคนเขียนหนังสือทำหนังสือ ความทะเยอทะยานแค่นี้ไม่น่าจะผิดบาป

คลับคล้ายคลับคลาว่าโตมรก็มีความฝันไม่ไกลจากนี้ แต่ที่ผมจำได้แม่นคือ ความเห็นต่อท้ายของเขา – “อันสุดท้ายน่ะยาก สองข้อแรกไม่ยากเท่าไหร่”

นับถึงเวลาปัจจุบัน หากเอาเกณฑ์ความฝันวัยเยาว์ของเราเป็นมาตรฐาน โตมร ศุขปรีชา บินทะลุเพดานนี้ไปไกลแล้ว

ขีดความสามารถและศักยภาพในการสร้างงานเขียนนั้นมีคนพูดถึงเขามากพอสมควร แต่ผมคิดว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งที่คนกล่าวถึงเขาน้อยไปสักนิด นั่นก็คือ คุณสมบัติเกี่ยวกับความเป็นเพื่อน ความเป็นมนุษย์

ผมเพิ่งมานั่งทบทวนเมื่อไม่นานมานี้ และพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา แทบทุกครั้งที่ผมจะตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในวิชาชีพ ผมต้องนัดพบหรืออย่างน้อยก็ยกหูถึงเขาเพื่อขอความเห็น ทั้งที่วงโคจรของชีวิตประจำวันไม่ได้ใกล้กันมาก เนื่องจากเรามีรสนิยมการใช้ชีวิตแตกต่างกันหลายเรื่อง

ถ้ามันจะมีอะไรมากกว่าความเก่ง ความฉลาด ความรอบจัด รอบรู้ รอบคอบ สิ่งนั้นคือความจริงใจและปรารถนาดี

คุณสมบัติสองอย่างหลัง ทำให้ผมเรียกเขาว่า ‘พี่’ ทุกคำ

Untitled Session0537 rz

**************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 90 ตุลาคม 2558)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า