28 วันในโรงพยาบาล การขึ้นชกของพนักงานสนามมวย บนสังเวียนแห่งความตาย

โต้ง-วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง อายุ 39 ปี เป็นพนักงานต้อนรับที่สนามมวยมีหน้าที่บริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คอยให้ข้อมูล จัดแจงหาที่นั่งตามตั๋ว บริการถ่ายรูป ดูแลพูดคุยจนกระทั่งส่งนักท่องเที่ยวเดินออกจากสนาม โดยสถานที่ทำงานของเขาสลับหมุนเวียนทั้งสนามมวยลุมพินีและราชดำเนิน

ย้อนไปในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่โควิด-19 ระบาดในเมืองอู่ฮั่น บรรยากาศในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น เช่นเดียวกับวุฒิศักดิ์ที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ วุฒิศักดิ์เริ่มตื่นตัวและกังวลกับข่าว เขาเป็นพนักงานเพียงไม่กี่คนที่ดูแลตัวเองโดยการสวมหน้ากากอนามัยขณะทำงาน

“ผมทำงานได้เป็นปกติตลอดเดือนกุมภาพันธ์ จนกระทั่งพบอาการแปลกๆ ผมรู้สึกไม่สบาย เมื่อยเนื้อตัว บวกกับมีไข้ ผมเริ่มมีอาการวันที่ 11 มีนาคม จึงตัดสินใจลางาน หยุดนอนพักอยู่บ้าน กินยารักษาตามอาการ จนรู้สึกดีขึ้น ไข้ลดลง สามารถกินข้าวกินน้ำตามปกติ อาการเมื่อยเนื้อตัวก็ค่อยๆ หายไป”

เรื่องราวดำเนินมาถึงวันที่ 13 มีนาคม ข่าวใหญ่ที่ทำให้สะเทือนไปทั้งวงการมวย กรณีที่ แมทธิว ดีน พิธีกรรายการมวย ออกมาประกาศว่าตนตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยคาดว่าได้รับไวรัสมาในวันที่มีการแข่งขันใหญ่ที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งวันนั้นวุฒิศักดิ์ไปทำงานตามปกติ

เมื่อเห็นข่าวดังกล่าว วุฒิศักดิ์ยอมรับว่าคนรอบตัวเขาเริ่มไม่สบายใจ เขาจึงตัดสินใจไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 14 มีนาคม แม้ว่าอาการป่วยของตัวเองดีขึ้นแล้วก็ตาม

แผนกโควิด-19 ณ โรงพยาบาลศิริราชนั้นแบ่งโซนขึ้นมาเฉพาะกิจ เต็มไปด้วยผู้คนที่มานั่งรอรับการตรวจ วุฒิศักดิ์ถูกพิจารณาว่าเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงจากสนามมวย อีกทั้งยังมีอาการไข้สูงก่อนหน้า เจ้าหน้าที่จึงลงความเห็นให้เขาได้รับสิทธิการตรวจเชื้อฟรีโดยใช้สิทธิบัตรทอง

กว่า 8 ชั่วโมง วุฒิศักดิ์ในชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นรองเท้าแตะนั่งรอผลตรวจเชื้อในห้องรับรองด้วยท่าทีสบายๆ จนกระทั่งเข็มนาฬิกาบอกเวลาประมาณ 5 ทุ่ม เจ้าหน้าที่สวมชุด PPE เต็มยศ เดินเข็นรถพุ่งตรงเข้ามาแจ้งผลตรวจกับเขา

“ตอนนั้นผมแทบไม่เชื่อเลยว่าตัวเองจะติดเชื้อ”

วินาทีที่เห็นเจ้าหน้าที่สวมชุด PPE เดินเข้ามา เป็นวินาทีเดียวกันที่วุฒิศักดิ์รู้ตัวว่าร่างกายของเขามีไวรัสอาศัยอยู่ในนั้นแล้ว

ยกที่ 1 ไวรัสเลือกเรา

ในสายตาของวุฒิศักดิ์ สนามมวยลุมพินีเหมือนโลกที่กว้างใหญ่ เขารู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กเกินกว่าที่ไวรัสจะหาเขาเจอ – แต่สุดท้ายไวรัสก็ทำสำเร็จ เขากลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่

“ในสนามมวยมันใหญ่เกินที่ผมจินตนาการว่าตัวเองจะได้รับเชื้อ สนามมวยถูกแบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน ตรงกลางเป็นเวที ถัดมาเป็นโซน RINGSIDE ถัดไปเป็นที่นั่งชั้นสอง-ชั้นสาม ซึ่งโซนนี้มักมีคนแออัด

“ผมอยู่ใน RINGSIDE ซึ่งโซนสำหรับชาวต่างชาติ ผมเดินวนเวียนอยู่ภายในโซนของตัวเองเท่านั้น ไม่เคยไปยุ่มย่ามโซนอื่น ยิ่งโซนที่คุณแมทธิวอยู่ ผมไม่เคยเฉียดเข้าไปเลยด้วยซ้ำ ถึงคุณแมทธิวติดเชื้อ แต่ผมก็ไม่คิดว่าตัวเองจะติดไปด้วย”

บวกกับความมั่นใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง วุฒิศักดิ์เป็นคนแรกๆ ในสนามมวยด้วยซ้ำที่ป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากากอนามัย อาการไข้ที่มีขึ้นก่อนหน้าก็หายไปเมื่อเขานอนพัก เขารู้สึกร่างกายปกติ หายใจสะดวก ปอดไม่ได้ติดขัด

“แต่ไวรัสคงเลือกผมแล้ว ยิ่งกว่าถูกหวยอีก”

ในคืนวันนั้นวุฒิศักดิ์ถูกนำตัวไปในห้องความดันลบและถูกกักบริเวณทันที คำถามมากมายเกิดขึ้นในใจของเขา ‘นี่เราติดเชื้อเหรอวะ ชีวิตแม่งโคตรเว่อร์เลย’

วุฒิศักดิ์ยืนยันว่า ตนไม่ได้รู้สึก ‘กลัว’ หรือ ‘กังวล’ เกี่ยวกับโรคแต่อย่างใด เขายังยิ้มให้ตัวเองได้ เพราะมั่นใจว่าทีมแพทย์ศิริราชจะจัดการกับโรคได้อย่างสำเร็จ เขาติดตามและหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้อย่างใกล้ชิด เขาทราบดีว่าโควิด-19 ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด มันเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งเขาไม่ได้เป็นผู้สูงอายุ ไม่ได้มีโรคประจำตัว ความกลัวตายจึงกลายเป็นศูนย์

ทว่าความรู้สึกวิตกกังวลกลับไปตกอยู่ที่คนรอบข้างแทน

เขากังวลว่าคนรอบข้างจะได้รับความเดือดร้อน พ่อ คนรัก ครอบครัว เพื่อนที่ใกล้ชิด เขากลัวว่าบุคคลเหล่านี้จะโดนรังเกียจ โดนสังคมแอนตี้ หรือต้องเสียเวลาชีวิตเพราะต้องกักตัวเนื่องจากเขาเป็นสาเหตุ

ยกที่ 2 เมื่อไวรัสเข้ามาใช้ร่างกายเดียวกับเรา

นับจากวันที่รู้ผลว่าตัวเองติดเชื้อ วุฒิศักดิ์ใช้เวลาเข้ารับการรักษาตัวร่วม 28 วัน โดยช่วง 16 วันแรกแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อรักษาและตรวจพบเชื้อน้อยลง เขาจึงถูกส่งตัวไปพักฟื้นที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จนครบระยะที่เชื้อไวรัสตายและไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษานั้นเพียง 240 บาท เป็นค่าไฟให้โรงพยาบาลศิริราช

สำหรับการรักษา ในช่วงระยะ 5 วันแรกเป็นระยะอันตรายที่สุดเพราะเชื้อไวรัสในร่างกายจะเพิ่มจำนวน หลังจากนั้นเชื้อจะค่อยๆ ลดลงและหายไป ดังนั้นขั้นตอนในกระบวนการการรักษาตามโรงพยาบาลศิริราชสามารถทำได้สองแบบ หนึ่ง-รักษาตัวที่สถานพยาบาลจนครบระยะ 28 วัน สอง-รักษาที่สถานพยาบาล 14 วันแรก และสามารถกลับไปกักตัวที่บ้านอีก 14 วัน แต่บ้านต้องมีความพร้อม เช่น อยู่ในระบบปิด มีห้องน้ำส่วนตัว และมีคนส่งน้ำส่งอาหาร ฯลฯ

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าไวรัสตัวนี้เป็นโรคใหม่ วุฒิศักดิ์เป็นผู้ป่วยติดเชื้อรุ่นแรกๆ การรักษาดังกล่าวจึงเป็นการทดลองไปพร้อมๆ กับทีมแพทย์ ยาบางตัวที่เขากินในช่วงแรก อาจไม่ใช่ยาตัวเดียวกับผู้ป่วยในรุ่นหลังก็ได้

“ตอนนั้นผมกินยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสมาลาเรีย รวมถึงยารักษาตามอาการทั่วๆ ไป เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ผมต้องกินยามากถึงวันละ 10 เม็ด กินติดต่อกัน 5 วัน โดยในทุกๆ 2 วัน คุณหมอจะมาตรวจเชื้อ เพื่อติดตามอาการดูว่าตัวยาดังกล่าวสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสได้ไหม เพราะผู้ป่วยแต่ละคนก็รับเชื้อมามากน้อยไม่เท่ากัน หลังจากกินยาครบ คุณหมอก็ปล่อยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง ร่างกายจะค่อยๆ สร้างแอนติบอดี (antibody) ขึ้นมาและรอเวลาที่เชื้อค่อยๆ ตายลงไป กลายเป็นซากไวรัส”

ช่วงที่รักษาตัวทั้งหมด 28 วัน อาการของวุฒิศักดิ์แทบไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่มีอยู่คํ่าคืนหนึ่งที่ทำให้เขาจดจำไปตลอดชีวิต

“ในคืนที่ 3 จาก 5 วันที่ต้องกินยา คืนนั้นร่างกายเหมือนไม่ใช่ของเรา อาการข้างเคียงของยาทำให้ร่างกายรวน ท้องเสียอย่างหนัก พะอืดพะอม อยากอาเจียน กระวนกระวาย กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นแรง หายใจผิดเพี้ยน”

ความทรมานทางร่างกายและจิตใจทำให้เขากลัว

จากที่เคยมั่นใจว่าตัวเองแข็งแรง ร่างกายปกติ แต่ทำไมรู้สึกแย่กว่าเดิม นี่มันอาการของโรคโควิด-19 หรือเปล่า

“แวบหนึ่งผมกลัวตายขึ้นมาเลย เรานอนห้องเดี่ยวคนเดียว มันเป็นวันที่เราไม่รู้จักร่างกายของตัวเอง ได้แต่คิดในใจว่า ‘กูจะตายไหมวะ ไวรัสมันลงปอดไปแล้วมั้ง เปิดทีวีก็มีแต่ข่าวคนตาย’ ผมคิดมากจนทนไม่ไหวกดกริ่งเรียกพยาบาล เพราะคิดว่าตัวเองกำลังจะตายแน่ๆ พยาบาลรีบเดินมาตรวจเช็คความดัน วัดออกซิเจนในเลือด วัดไข้ ปรากฏว่าร่างกายปกติ

“พอพยาบาลพูดกับผมแบบนั้น เหมือนร่างกายมันสงบ ผมคงเครียดมากๆ บวกกับเอฟเฟ็คต์ยาผสมกับความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจ มันทำให้ผมคิดมากไปสารพัด คำตอบของคุณพยาบาลในคืนนั้นทำให้อารมณ์ของผมสงบและนอนหลับได้ในที่สุด”

อาการของวุฒิศักดิ์ในคืนนั้น ไม่ต่างกันกับคนนอกโรงพยาบาลที่ยังไม่ติดเชื้อ

ประชาชนหลายคนหวาดกลัวโรคจนเกิดเป็นความเครียดในจิตใจ ซึ่งอาจรุนแรงกว่าการติดเชื้อโควิด-19 เสียอีกด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่วุฒิศักดิ์อยากฝากไว้คือการเลือกเสพข่าว

“ผมเข้าใจดีว่าทุกคนกำลังกลัว โควิด-19 คือวาระแห่งชาติ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเลือกรับข่าวเพียงแค่สิ่งที่ควรรู้ ไวรัสเข้ามาในร่างกาย ผมว่ามันยังรักษาหาย แต่ถ้าไวรัสเข้ามาในจิตใจจนเป็นความกังวลมันรักษายากนะครับ”

สิ่งที่ทุกคนควรรู้ในความคิดของวุฒิศักดิ์มีไม่กี่อย่างคือ 1.โรคนี้มีวิธีแพร่เชื้ออย่างไร 2.เราจะป้องกันการเกิดโรคอย่างไร และ 3.ขั้นตอนวิธีรักษาเป็นอย่างไร

นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่เขาอยากสื่อสารและตัดสินใจให้สัมภาษณ์หลังจากหายดีแล้ว

หากเปรียบเทียบร่างกายมนุษย์เหมือนเมือง

เมืองจำเป็นต้องมีทหาร แต่ทหารห้ามศัตรูไม่ให้ยกทัพมาตีไม่ได้ – เชื้อไวรัสก็เหมือนกัน ต่อให้คุณคิดว่าตัวเองแข็งแรงแค่ไหน คุณก็ห้ามไวรัสไม่ได้

แต่เมืองที่มีทหารอยู่ในกรมกองฝึกฝนพร้อมพรัก ย่อมรับมือกับศัตรูได้ดีกว่าเมืองที่มีแต่ทหารที่ไม่รู้หน้าที่ของตน

“ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ การล้างมือให้สะอาดและห้ามสัมผัสใบหน้า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณควรรู้ แล้วคุณจะปลอดภัยจากไวรัส”

ยกที่ 3 เข้าค่ายโควิด-19

วุฒิศักดิ์เล่าบรรยากาศในการรักษาตัวให้ฟังว่า หลังจากข้ามผ่านความทรมานในช่วง 5 วันแรกที่ต้องกินยา แต่ละวันผ่านไปด้วยความราบรื่น

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าถ้าออกจากโรงพยาบาลได้จะทำอะไรเป็นสิ่งแรก ผมคิดสั้นกว่านั้น ผมคิดแค่ว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรดี”

หลังจากกินยาครบ ร่างกายของวุฒิศักดิ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น กิจกรรมแต่ละวันผ่านไปด้วยการชวนคุณหมอพยาบาลพูดคุย หรือไม่ก็คุยกับผู้ป่วยผู้ติดเชื้อด้วยกัน

ในศูนย์กาญจนาฯ มีห้องส่วนรวมเป็นห้องนั่งเล่นเล็กๆ มีโซฟา มีทีวี มีชากาแฟให้ดื่ม ซึ่งพื้นที่ตรงนี้วุฒิศักดิ์และพี่ๆ น้องๆ ที่ป่วยจะมารวมตัวกัน พูดคุยกัน ทำความรู้จักกัน – สำหรับวุฒิศักดิ์ห้องนี้คือห้องที่เยียวยาหัวใจเขาได้ดีที่สุดในภาวะนี้

“คุณลองนึกนะครับ ถ้าคุณป่วยเป็นโรคอะไรไม่รู้ที่มีคนตายทั่วโลก ความเครียดมันติดตัวคุณอยู่แล้ว บางคนก็ต้องทนกับความทรมานจากผลข้างเคียงของยา บางคนก็กังวลไปต่างๆ นานา หาคำตอบว่าทำไมเราป่วย ทำไมต้องเป็นเรา แต่การที่ได้มาเจอกับคนอื่นๆ เรารู้สึกเหมือนมีเพื่อน มันสบายใจขึ้นจริงๆ นะครับ”

ในห้องนั้นจึงเต็มไปด้วยมิตรภาพ ถึงแม้ทุกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่พื้นที่จำกัดทำให้คนเกือบสิบชีวิตได้มาคุยกัน ทำให้วุฒิศักดิ์นึกถึงบรรยากาศของการเข้าค่ายลูกเสือสมัยประถมที่เราต้องทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างโรงเรียน ทว่าค่ายนั้นเป็นค่ายที่ทุกคนเป็นผู้ป่วยโควิด-19

“ทุกวันนี้เราก็ยังคุยกันอยู่นะครับ เราใช้ชื่อกลุ่มไลน์ว่า ผู้ประสบภัยโควิด-19 (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ป่วยที่หายหมดแล้ว เรารอนัดวันที่พร้อม เพื่อไปบริจาคพลาสมา (plasma) ด้วยกัน”

ยกที่ 4 หายแล้วไปไหน?

ยอดตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2,000 กว่าคนแล้ว

คำถามคือ ผู้ป่วยที่หายแล้วไปไหนต่อ

วุฒิศักดิ์บอกว่า ตัวเองโชคดีที่หลังออกจากโรงพยาบาลไม่ได้โดนรังเกียจจากคนรอบข้าง ขณะที่เพื่อนผู้ป่วยที่หายแล้วหลายคนยังโดนรังเกียจอยู่

“มันประหลาดไหมที่ไปรังเกียจเขา เลือดทุกหยดของผู้ป่วยที่หายแล้วอาจมีความหมายมากกว่าที่คุณคิดก็ได้ สามารถนำพลาสมาไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยรายใหม่ต่อไป แต่ปัญหาคือตอนนี้คนที่หายป่วยออกมาอยู่อย่างกระจัดกระจาย ผู้ป่วยติดเชื้อที่รักษาหายเกินครึ่ง ไม่มีหน่วยงานใดมาติดตาม ไม่มีใครกล้าพูดถึง เราไม่อยากรู้เหรอครับ ว่าพวกเขาอยู่ไหน เขาใช้ชีวิตอย่างไร เราไม่มองมันอย่างครบวงจร”

ยกที่ 5 เราทุกคนล้วนติดโควิด

หลักฐานทางเศรษฐกิจหลายอย่างชี้ชัดว่าโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกล้ม เมื่อโลกเดินทางมาไกลถึงจุดที่ไร้พรมแดน วุฒิศักดิ์บอกว่าเมื่อเจอปัญหา ปัญหานั้นต้องถูกแก้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามแต่ละประเทศ ซึ่งการระบาดไปทั่วโลกของไวรัสนี้ยังไม่มีโมเดลที่ชัดเจนว่าวิธีที่ดีที่สุดนั้นควรจะจัดการอย่างไร ไวรัสตัวนี้เป็นเรื่องใหม่ เราไม่มีฮาวทู 1-2-3-4 ทุกประเทศเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ศูนย์กันหมด

“พอเกิดวิกฤตินี้ขึ้นมา ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป ภาพความทรงจำระหว่างผมกับน้องชายที่เรากอดคอเตะฟุตบอลกัน เฮฮากัน ไม่รู้ว่าภาพนั้นจะกลับมาอีกเมื่อไร ทุกอย่างมันล้มไปหมด ภาพนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยเยอะๆ ผมไม่รู้ว่าภาพเหล่านั้นจะกลับมาเร็วที่สุดได้เมื่อไร”

ปัจจุบัน วุฒิศักดิ์อยู่ในสถานะว่างงาน

เขาเชื่อว่าสถานที่สุดท้ายในประเทศไทยที่จะเปิดใช้บริการได้ตามปกติคือ ‘สนามมวย’ ซึ่งนอกจากเป็นจุดเกิด Super Spreader แล้ว ก็ยังเป็นที่ทำมาหากินของเขาด้วย เขาจึงอยากใช้เวลาที่ตัวเองว่างงานตอนนี้ ช่วยเหลืองานคุณหมอหรือทำสิ่งที่มีประโยชน์

ท้ายที่สุดการติดเชื้อโควิด-19 ของวุฒิศักดิ์อาจไม่ใช่ความโชคร้าย

ถ้ามองจากมุมหนึ่ง ว่าคุณถูกเลือกให้ใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส คุณอาจคิดว่านี่คือความซวย แต่เมื่อมองอีกด้านก็เห็นว่าโรคไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้นและมันหายได้

ชีวิตก่อนติดไวรัสของวุฒิศักดิ์อาจช่วยสังคมบ้างตามจิตสาธารณะ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เขามีมุมมองที่เปลี่ยนไป “เราอาจไม่ได้ซวยขนาดนั้น เราอาจไม่ได้เป็นคนโชคร้าย ฉะนั้นถ้าเรื่องนี้เป็นโอกาส เราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

“ตอนนี้ผมทยอยถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ผมสร้างวิทยาทานโดยที่ไม่ต้องลงทุน เพื่อคลายความกังวลและทำให้ทุกคนเห็นว่าโรคนี้มันหายได้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ทุกคน จะได้ไม่ต้องไปเชื่อข่าวลือต่างๆ อย่างน้อยก็ทำให้คนไม่กี่คนเห็นความจริงมากขึ้นท่ามกลางความแพนิคของพวกเขา”

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า