สมองต้องการพัก ผลลัพธ์เสพข่าวจนใจและกายด้านชา

ความเครียด

ขอบคุณโลกาภิวัตน์ ขอบคุณเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้เราเข้าถึงเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือใกล้กันแค่ไหน เราก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารชุดเดียวกัน แม้จะเป็นเรื่องดี ในทางกลับกัน สิ่งที่เราได้รับตลอดทั้งวันมักเป็นเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นไซโคลนจากอีกฟากหนึ่งของโลกกวาดล้างบ้านเมืองจนพังทลาย น้ำแข็งในแอนตาร์กติกากำลังละลายอย่างรวดเร็ว สัตว์บางชนิดที่กำลังสูญพันธุ์ สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุดในบางประเทศ ประชาธิปไตยที่หายไป ภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงไปจนถึงสุนัขกัดกัน

เมื่อสำนักข่าวทั่วโลกรันข่าวตลอด 24 ชั่วโมงแทบไม่เว้นช่วงหายใจ ผู้บริโภคอย่างเราจะจัดการกับสภาวะอารมณ์ตัวเองอย่างไร ไม่ให้หัวร้อนเกินจนกลายเป็นผลกระทบทางอารมณ์และร่างกายตามมา

เมื่อข่าวร้ายกำลังทำเราหัวหมุน

ผลสำรวจจากเอ็นจีโอสหรัฐอเมริกา Pew Research Center เมื่อปี 2015 ระบุว่า จำนวนผู้ใหญ่ที่ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น 65 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เป็นการเสพข่าวผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์มเป็นหลัก

ซูซาน บับเบ (Susanne Babbe) นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสภาวะบอบช้ำทางจิตใจ อธิบายถึงการตอบสนองของมนุษย์เราเมื่อรับรู้ข้อมูลดังกล่าวมากเกินไปว่า

“ทุกครั้งที่เราเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจหรือได้ยินข้อมูลเชิงลบ มนุษย์เราจะเข้าสู่สภาวะเครียดทันที อาจจะรู้สึกด้านชา (numb) หรือตอบสนองด้วยท่าทีหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ สรีรวิทยาของเราจะเร่งกระตุ้นให้ปลดปล่อยฮอร์โมนเครียดขึ้นมา เช่น คอร์ติซอล (cortisol) หรืออะดรีนาลีน (adrenaline) และเมื่อเราได้รับประสบการณ์ดังกล่าวซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ต่อมหมวกไต (adrenal glands) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญๆ หลายชนิด เช่น อะดรีนาลีน ก็ทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของมันลดลง อาการทางร่างกายที่ตามมา เช่น ตื่นนอนมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้า นอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียด และอาการซึมเศร้า เป็นต้น”

หลายคนไม่รู้ตัวว่าสะสมความเครียดต่างๆ ไว้ ผ่านการเสพข่าวในโซเชียลมีเดียจนเกินไปซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่อาการป่วยไข้ทางร่างกายและจิตใจตามมา

อันตรายกว่านั้น งานวิจัยดังกล่าวยังค้นพบว่า กลุ่มที่จะตอบสนองต่อความเครียดดังกล่าวรุนแรงมากกว่าคือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มสุขภาพไม่ดี เปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กและเยาวชนและกลุ่มที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

ดูแลใจตัวเอง: หันหลังไม่สนบ้างก็ได้

น่าเศร้าที่ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขความบิดเบี้ยวของโลกใบนี้ได้ การเสพข้อมูลเชิงลบมากๆ จนกระทบต่อจิตใจและร่างกายตัวเอง จุดนี้บับเบแนะนำว่า ผู้บริโภคต้องรู้จักลิมิตในการบริโภคข้อมูลหรือข่าวสารเอง โดยการเซ็ตลิมิตว่าเราควรบริโภคข่าวสารในโซเชียลมีเดียแต่ละวันในปริมาณเท่าไรจะช่วยสร้างพื้นที่และให้เวลากับระบบประสาท (nervous system) เรากลับไปทำงานเหมือนเดิม

“หนึ่งในวิธีการจัดการไม่ให้เกิดความรู้สึกเสพข้อมูลจนโอเวอร์โหลดและกระทบกับร่างกาย คือการหาให้เจอว่าลิมิตตรงนั้นของเราอยู่ตรงไหน ซึ่งแต่ละคนก็มีลิมิตที่ต่างกัน เมื่อเรารู้สึกว่า ‘พอ’ เมื่อไร นั่นแหละคือสัญญาณให้หยุดเสพได้แล้ว เช่น การปิด notification บางแอพฯ หรือการกำหนดเวลาชัดเจนสำหรับการบริโภคหรือรับรู้เหตุการณ์ความเป็นไปในโลก”

นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว บับเบยังเสนอวิธีการจัดการกับความเครียดพื้นฐาน ไมว่าจะเป็นการออกกำลังกาย พบปะเพื่อนฝูง ใช้เวลากับครอบครัว ก็เป็นกิจกรรมคลายความเครียดที่ดี

Self-care: ใจเราเข้มแข็ง ใจเธอก็เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี การดูแลใจตัวเอง (self-care) ด้วยวิธีการดังกล่าวกลับมีข้อโต้แย้งว่า เรากำลังเห็นแก่ตัวหรือสนใจแต่เรื่องของตัวเองเกินไปหรือเปล่า เทอร์รี ออสบอร์น (Terry Osborne) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติแห่งวิทยาลัยดาร์ทมัธ (Dartmouth College) ชี้แจ้งว่า ความท้าทายคือการถือความเจ็บปวดนั้นไว้ แต่อย่าให้มันมาทำร้ายคุณ

“การดูแลใจตัวเองอาจฟังดูเห็นแก่ตัวหรือหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง ปัญหาส่วนตัวของเราอาจเป็นเรื่องเล็กจิ๋วหากเทียบกับปัญหาทั่วโลกที่รายล้อมเรา แต่ในสภาวะวิกฤตินั้น การดูแลใจตัวเองเป็นวิธีการที่ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากที่สุด กล่าวคือ การฝึกตัวเองให้มีความสามารถในการสงบจิตใจลงด้วยตนเอง (self-soothing) และพัฒนาการตอบสนองต่อความเครียดของตัวเองเป็นอย่างดีจะช่วยเป็นเหมือนกันชนป้องกันผลกระทบจากความเครียดเชิงลบและช่วยให้เราช่วยคนอื่นได้ การฝึกให้ตัวเองสามารถสงบจิตใจลงได้ด้วยตนเองก็เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อ ยิ่งแข็งแรงมากเท่าไรก็ยิ่งรับมือกับสถานการณ์หรือวิกฤติต่างๆ ได้ดี”


ที่มา: edition.cnn.com

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า