text & photo: พรนิภา เดชแพ / กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 เราสองคนสมัครเข้าร่วมโครงการ ‘เคี้ยวเพลิน คุยมัน เที่ยวนางเลิ้ง’ ที่จัดโดย Urban Studies Lab เป็น 1 ใน 11 ทีมที่ได้รับถุงเงินเพื่อเรียนรู้อาหารในวัฒนธรรมของชุมชนย่านนางเลิ้ง หลังจากกลับมาถึงบ้านนึกขึ้นว่า เราควรเขียนเรื่องราวในวันนี้ให้ทุกคนได้รู้จักย่านนางเลิ้งที่มีอาหารหลากหลาย กอปรกับวัฒนธรรมชุมชนและการปรับตัวของร้านค้าที่ไม่ใช่เพียงแผงลอยหรือร้านขายอาหารในอาคาร แต่บางร้านยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเมือง ทำให้กลุ่มเป้าหมายขยายออกไป ไม่ใช่แค่ผู้คนในชุมชน แต่เปิดพื้นที่ให้คนภายนอกเข้ามาเรียนรู้จากอาหารและวิถีชีวิตในชุมชนย่านนี้ด้วย
เปิดบทสนทนา เดินไปเคี้ยวไปที่นางเลิ้ง
“เราไม่เคยเดินสำรวจแถวนี้อย่างจริงจังเลยเนอะ” เราเริ่มเปิดบทสนทนาอย่างง่ายๆ จะว่าไปช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราสองคนน่าจะเดินเกือบทั่วทั้งเขตพระนคร ชั้นนอก ชั้นใน จนเกือบจะหมดแล้ว แต่เป็นการเดินอย่างเร่งรีบ เหมือนเดินให้ครบจุดปักหมุด ไม่เคยละเลียดกับชีวิต ข้อมูล และวิถีชุมชนมากนัก แต่การเดินที่นางเลิ้งครั้งนี้กลับต่างออกไป เราใช้เวลาละเลียดอาหาร ละเลียดข้อมูล และตกผลึกความคิดของตัวเองมากขึ้น
ที่นางเลิ้ง ใครๆ ก็บอกว่าย่านนี้มีอาหารอร่อยซุกซ่อนอยู่เกือบทุกมุมตึก แต่เราแทบจะไม่เคยสนใจข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นเลย มีบางครั้งบางคราวที่แวะเวียนมาซื้อหนังสือเรียน นิตยสาร หรือหนังสือการ์ตูนในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังเฟื่องฟู หากย้อนกลับไปเมื่อสักกว่า 4 ปีที่แล้ว เราเชื่อว่าร้านรวงเหล่านี้น่าจะมีพ่อๆ แม่ๆ ที่จูงมือลูกมาซื้อสิ่งพิมพ์ หรืออาจจะมีพวกหนอนหนังสือที่มานั่งอ่านหนังสือหน้าร้านบ้าง แต่ในวันนี้ร้านหนังสือเงียบเหงา ส่วนใหญ่ปิดตัวลง ลูกกรงเหล็กหน้าร้านที่เขลอะไปด้วยฝุ่นทำให้เรารับรู้ได้ว่า กาลเวลาได้พรากความรุ่งเรืองจากย่านนี้ไปอย่างน่าใจหาย ผู้คนมีพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป มีทางเลือกมากขึ้น หลายคนหาข้อมูลความรู้บนกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ อ่านหนังสือบนโลกออนไลน์แทน
“จริงๆ แล้วพวกหนอนหนังสือไม่ได้หายไปไหน เขาเปลี่ยนที่นั่งอ่านหนังสือ จากหน้าร้านหนังสือมาเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็หน้าจอโทรศัพท์ต่างหาก”
ย้อนกลับไปในยุครุ่งเรืองของนางเลิ้ง เรียกได้ว่านางเลิ้งสมัยก่อนเป็นจุดที่เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญ มีทั้งผู้อยู่อาศัยถาวรและผู้ที่สัญจรไปมา ด้วยบริบทของพื้นที่ที่ใกล้กับสถานที่ตั้งของหน่วยราชการหลายแห่ง ตลาดมหานาค ตลาดโบ๊เบ๊ และไม่ห่างจากวัดสระเกศ เสาชิงช้า สถานที่เหล่านั้นเรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของเศรษฐกิจเดิม และเป็นศูนย์รวมแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน บวกกับร้านรวงริมถนนที่หลากหลาย ทำให้นางเลิ้งคึกคักได้ไม่ยาก ต่างจากสมัยนี้ที่ซบเซาลง ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือที่ปิดตัวลงหลายร้าน ตลอดทางเดิน เรามักจะเห็นอากง อาม่า คุณตา คุณยาย นั่งเหงาๆ ในร้านแบบคลาสสิกของตัวเอง ในแววตามีความหวังเวลาที่ผู้คนเดินผ่าน แต่ความหวังก็ดับวูบลงเมื่อคนที่คิดว่าจะเป็นลูกค้ากลับเดินผ่านไปอย่างไม่ไยดี
ลมหายใจอ่อนๆ ของเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ
วันแดดแรงในช่วงเดือนธันวาคม ผสมกับการเดินเท้าและท่องไปตามจุดหมายต่างๆ ของโครงการเคี้ยวเพลิน คุยมัน เที่ยวนางเลิ้ง ทำให้เรามีชีวิตชีวามากกว่าปกติ กิจกรรมกำหนดให้ตามหาร้านอาหาร 3 ร้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจขนาดเล็กในระบบเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal economy) หรือราชการไทยนิยมเรียกว่า ‘เศรษฐกิจนอกระบบ’
ร้านแรก พ่อค้าอายุ 65 ปี ที่เราเรียกติดปากในระหว่างพูดคุยว่า ‘อาเจ็ก’ อาเจ็กบอกว่าขายข้าวขาหมูอย่างเดียวมาตลอดและเป็นเมนูเด่นของร้าน เป็นผู้ประกอบการคนเดียวไม่มีสมาชิกในครอบครัวหรือลูกจ้างมาช่วยขาย เป็นการสืบทอดกิจการมาจากรุ่นพ่อ ซึ่งเคยขายมาก่อนที่อาเจ็กจะเกิดและก่อนมาเช่าแผงในตลาด
ความขบขันระหว่างพูดคุยไถ่ถามคือ “อาเจ็กไม่รู้ว่าขายมานานเท่าไรแล้ว บวกลบคูณหารก็ประมาณอายุตัวเองถ้านับจากรุ่นเตี่ย” อาเจ็กพูดไปหัวเราะไป แล้วเล่าอีกว่ารุ่นพ่อเคยเป็นหาบเร่มาก่อน ภายหลังพ่อเช่าแผงในตลาดนางเลิ้งที่ดูแลโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้ย้ายตามพ่อมาด้วย ลูกค้าหลักๆ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือข้าราชการในละแวกนี้ที่แวะเวียนกันมากินเสมอ กลุ่มที่สองคือลูกค้าประจำ กินแล้วติดใจก็แวะมาเป็นลูกค้าบ้าง ตอนนี้อาเจ็กขายทั้งหน้าร้านและออนไลน์
ร้านสอง แม่ค้าอายุ 43 ปี กระตือรือร้นเวลาที่เราเข้าไปพูดคุยด้วย ความสนุกของบทสนทนาจึงเริ่มมีมากขึ้น แต่เดิมแม่ค้ารายนี้มีกิจการขายก๋วยเตี๋ยวที่สืบทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ ตอนนี้ขายกล้วยทอดเป็นกิจการหลักของครอบครัวในอาคารพาณิชย์ มีแม่สามีเป็นผู้ช่วยขาย (ตอนเราคุยกัน แม่สามีเจ้าของร้านกำลังช่วยปอกกล้วยอยู่ด้านหลัง) และในครัวเรือนมีสมาชิกที่ไม่ใช่ครอบครัวมาช่วยขายคือ ลูกจ้าง 3 คน กิจการนี้สืบทอดต่อมาจากสามีซึ่งเป็นรุ่นหลาน ย่านนี้ในปัจจุบันเหลือร้านขายกล้วยทอดเพียง 4 ร้าน จากเดิมมีถึง 8 ร้าน ทั้งหมดนี้มีสูตรอาหารแรกเริ่มมาจากย่าคนเดียวกัน แล้วค่อยๆ พัฒนาเป็นสูตรของร้านตนเองในเวลาต่อมา ระหว่างการพูดคุยมีลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์ตลอดเวลา
ร้านสาม เจ้าของกิจการอายุ 31 ปี ร่วมลงทุนกับเพื่อนรุ่นพี่อีก 1 คน กิจการนี้เริ่มต้นมาจากความสนใจและชื่นชอบกาแฟของเจ้าของร้าน ทั้งสูตร ทั้งเมล็ดกาแฟสรรหามาจากหลายประเทศและผ่านการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้ในเมนูมีชื่อแปลกๆ เต็มหน้ากระดาษ เจ้าของร้านเล่าว่าตึกนี้เป็นตึกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ทิ้งร้างไปแล้ว 30 ปี พอเห็นช่องทางทำธุรกิจจึงเริ่มเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ ใช้สมบัติของบรรพบุรุษให้เป็นประโยชน์ ส่วนหนึ่งก็อยากจะอนุรักษ์ตึกเก่าไว้ ในอนาคตอาจจะขยายเป็นนิทรรศการชั้นบนได้
เจ้าของร้านพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราไม่เคยเห็นร้านข้างๆ เป็นคู่แข่งเลย คิดเสียว่าเป็นเพื่อนบ้าน ถ้าพื้นที่แถวนี้ฟื้นฟูดี เราก็จะดีไปพร้อมๆ กัน”
จากทั้งสามร้านที่ได้พูดคุย ทั้งเรื่องจริงจังและเรื่องที่บอกเล่าสู่กันฟัง ร้านแรกและร้านสองอาจไม่สามารถเปรียบเทียบกับร้านสามได้ เนื่องจากขนาดของเงินทุนและผลตอบแทนไม่เท่ากัน ร้านแรกยังอาศัยความสนิทและใกล้ชิดกับผู้บริโภค เพราะการซื้อขายเน้นรสชาติอาหารที่ไม่เหมือนร้านอื่น และอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน ขณะที่ร้านสามที่เป็นคาเฟ่จะไม่ได้เน้นเรื่องนี้แล้ว
หากเปรียบเทียบความใกล้ชิดกับชุมชนมากสุดแล้วน่าจะเป็นร้านแรก แต่สถานการณ์ในอนาคตที่คนสูงอายุล้มหายไปและจำนวนประชากรลดลง ย่อมมีผลให้นางเลิ้งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งจำนวนผู้อยู่อาศัยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกระบบในย่านนี้ โดยเฉพาะคุณค่าของวัฒนธรรมอาหารที่สืบทอดต่อมาของชุมชนในย่านนี้อาจค่อยๆ หายไปในอนาคตตามช่วงชีวิตของผู้คน อย่างเช่นพ่อค้าร้านข้าวขาหมูที่ไม่มีลูกหลานมาสืบทอดกิจการนี้ต่อ อาจไม่มีอีกในทศวรรษหน้าถ้าใช้อายุขัยเฉลี่ยมาประมาณการ แตกต่างจากร้านกล้วยทอดที่มีการสืบต่อมาถึงรุ่นหลาน มีการดัดแปลงสูตรให้รสชาติดีขึ้น แล้วยังเน้นขายตามริมทางระหว่างรถยนต์จอดรอสัญญาณไฟจราจร กับอีกหลายร้านที่มีการปรับตัวไปสู่แอปพลิเคชัน ซึ่งร้านกล้วยทอดมีสัดส่วนการขายผ่านแอปพลิเคชันค่อนข้างมาก มากกว่าร้านข้าวขาหมูและร้านคาเฟ่
การย้ายออกของคนรุ่นใหม่และคนสูงวัยที่ยังหลงเหลือ
ปัญหาที่นับว่าเป็นเรื่องสำคัญของนางเลิ้งคือ ‘การย้ายออก’ ของผู้คนในย่านนี้ เนื่องจากการพัฒนาเมืองของหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อพื้นที่นี้มากนัก แต่หันไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจเมืองและพาณิชยกรรม รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยชายขอบของเมือง ย่านนางเลิ้งจึงเต็มไปด้วยอาคารตึกร้างที่ถูกทิ้งร้างไว้ตามรายทาง ไม่มีการบูรณะซ่อมแซมให้เป็นอาคารพาณิชย์หรือใช้พักอาศัย
เดิมทีอาคารพาณิชย์เหล่านี้เคยเป็นย่านสำคัญของการขายอาหาร ศิลปะการแสดง และหนังสือสิ่งพิมพ์ แต่สิ่งเหล่านี้เริ่มเลือนหายไปตามบริบทของเวลา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง พฤติกรรมของผู้คน และแหล่งที่อยู่อาศัยตามชายขอบเมืองที่เติบโตมาพร้อมอุตสาหกรรมการจ้างงาน คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นเป็นวัยทำงาน โดยเฉพาะ Gen Y ต่างพากันย้ายออกจากแหล่งชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากต้องไปทำงานพื้นที่อื่น แล้วซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยใหม่ จึงไม่กลับมาอยู่หรือปรับปรุงย่านนี้อีก
ผู้สูงอายุมีอยู่ในเกือบทุกร้านรวง — การย้ายออกของผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ส่งผลให้สังคมในย่านนี้มีแต่ผู้สูงอายุ สังเกตจากการจับกลุ่มนั่งพูดคุย หรือแม้แต่เจ้าของร้านหลายร้านก็เป็นผู้สูงอายุ หากลองนึกดูอย่างถี่ถ้วน การมีผู้สูงอายุอยู่รวมตัวกันและยังคงมีสังคม มีอาชีพและมีรายได้ อาจถือเป็นโอกาสเชิงบวกในการเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมทางสังคมให้กับผู้สูงอายุในการสร้างเครือข่ายซึ่งกันและกัน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่งในตลาดนางเลิ้ง ผู้ประกอบการเป็นคนสูงอายุ 2 คน ช่วยกันทำงานในครัวเรือน เพราะเป็นกิจการที่สืบทอดมาหลายทศวรรษ แต่ด้วยเวลาที่ผ่านผัน ทำให้กิจการของผู้สูงอายุถูกละเลยและซบเซาลง กาลเวลาไม่ได้พรากเพียงสุขภาพร่างกาย แต่ยังพรากระบบเศรษฐกิจเล็กๆ ในชุมชนไปด้วย
จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังสำรวจชุมชนและร้านค้าแล้ว มีบางคนที่ให้ความคิดเห็นซึ่งเป็นมุมมองส่วนตัวว่า การที่คนรุ่นใหม่กลับมาประกอบธุรกิจในย่านนี้ เพราะมีมุมมองแบบหวงแหนหรืออยากกลับมาพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ย่านเมืองเก่าแก่ เช่น การปรับปรุงอาคารสถานที่ของคนในครอบครัวให้เป็นอาคารพาณิชย์ที่ทันสมัย และพยายามทำให้พื้นที่นี้กลับมาเฟื่องฟู แต่เราสองคนกลับเห็นว่า การพัฒนาเพียงร้านเดียวหรืออาคารเดียว ขณะที่อาคารอื่นๆ ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า อาจเป็นการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างร้านแห่งนั้นกับชุมชน และเป็นไปได้ยากที่ร้านอาหารหรือคาเฟ่หนึ่งร้านที่ผ่านการปรับปรุงอาคารแล้ว จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการคนอื่นมาลงทุนตามในพื้นที่นี้
ธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ขาดการเชื่อมต่อและตัดขาดจากอัตลักษณ์นางเลิ้ง
เราสองคนยังไม่ปักใจเชื่อว่า การกลับมาพัฒนาธุรกิจในย่านนี้ของคนรุ่นใหม่ จะเป็นความหวงแหน ความอนุรักษ์ และพัฒนาพื้นที่ให้ย่านนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เราคิดว่าการลงทุนทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้สนใจเรื่องพัฒนาโครงสร้างของเมืองเก่าในย่านนี้ แต่เป็นการตลาดที่ใช้อัตลักษณ์ชุมชนมาเสริมสร้างให้ธุรกิจมีจุดขายสำหรับผู้บริโภค
ร้านรวงที่ปรับปรุงอาคารใหม่เป็นคาเฟ่ยังคงขาดการเชื่อมต่อและตัดขาดกับผู้คนในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พักอาศัยในย่านนั้น เช่น ราคาสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวิถีการบริโภคของผู้คนในชุมชน ผู้สูงอายุจะเดินออกจากบ้านไปทานอาหารหรือกาแฟตามอาคารพาณิชย์ในย่านนั้นเพียงคนเดียวหรือไปเป็นคู่สามีภรรยาหรือไม่ แต่หากมีบริการสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การจัดส่งบริการตามบ้านหรือทำเมนูสุขภาพเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อเชื่อมต่อให้เกิดความสัมพันธ์กับชุมชน ก็นับเป็นจุดเน้นที่ธุรกิจควรตระหนักเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
การมองธุรกิจชุมชนที่เกิดขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ ยังเป็นภาพของการตัดขาดจากอาคารเก่าที่ไม่ได้รับการบูรณะ คนรุ่นนี้มีงานและรายได้ที่มากกว่าหนึ่งทาง เช่น การเปิดร้านคาเฟ่ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจนั้นเป็นงานหรือรายได้หลัก แต่ผู้ประกอบการ Gen Y ยังมีการร่วมหุ้นลงทุนและแบ่งสรรกำไรในธุรกิจต่างๆ เป็นรายได้อีกหลายช่องทาง การฝึกฝนทำแบรนด์เป็นรูปแบบธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและความฝัน เราจึงเห็นการใช้ประโยชน์จากอาคารเก่าของครอบครัวมาประกอบกิจการขนาดย่อม และใช้สื่อออนไลน์ผ่าน Wongnai และขายผ่านแอปพลิเคชันส่งอาหาร เช่น Grab, LINE Man และ Robinhood เพื่อสร้างยอดขายมากขึ้น และโฆษณาให้คนนอกพื้นที่รู้จักร้านและรู้จักย่านนางเลิ้ง แต่การเดินทางมาที่ย่านนางเลิ้งของผู้คนภายนอกจะสนใจอาหารและวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่ร้านในแอปพลิเคชันเหล่านี้หรือไม่ เช่น มานางเลิ้งแล้วซื้อกล้วยทอด ขนมเบื้อง อาหารข้างทางในอาคารพาณิชย์หรือไม่ หรือมาทานอาหารในตลาดนางเลิ้ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชนหรือไม่ ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นโจทย์ท้าทายว่า การปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ของอาคารใดอาคารหนึ่งแล้วจะทำให้เศรษฐกิจชุมชนของชาวบ้านได้รับคุณค่าด้วยหรือไม่
การพัฒนาเมืองที่ตัดขาดการเชื่อมต่อกับผู้คนในชุมชน จึงเป็นการใช้ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ แต่ยังขาดการหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ‘นางเลิ้ง’ ที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวของวิถีชีวิต ชุมชน อาหาร และอื่นๆ ที่สะท้อนออกมาในแง่สังคมและวัฒนธรรม
เราสองคนกำลังสนใจกิจกรรมของหลายองค์กรในภาคประชาสังคมและวิชาการที่ลงพื้นที่ภาคสนามทำงานใกล้ชิดกับผู้คนในชุมชน และความพยายามเชื่อมต่อให้ชุมชนเก่าเหล่านี้กลับมาฟื้นคืนมีชีวิตอีกครั้ง ความยากของผู้ทำงานด้านนี้คือ การสร้างความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของผู้คนในชุมชน ที่ไม่ใช่ความหมายนามธรรมเฉพาะคำว่า ‘ความเป็นนางเลิ้ง’ รวมถึงความต่อเนื่องในการพัฒนาระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ในแง่ของการพัฒนาเชิงพื้นที่ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมชุมชน และวิถีชีวิตของผู้คนในย่านต่างๆ
การพัฒนาที่ต้องไม่ทิ้งคนนางเลิ้งไว้ข้างหลัง
ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมากมายในย่านนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในอาคารห้องแถวที่ทันสมัยโดดๆ แล้วรายล้อมด้วยอาคารเก่าที่ปิดกิจการไปเป็นทศวรรษหรือย้ายออกไปอยู่ที่อื่น การท่องเที่ยวด้วยการเดินเท้า ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศ ทางเท้า ทางม้าลาย และขนส่งสาธารณะที่เป็นอยู่ อาจไม่เอื้ออำนวยกับผู้คนภายนอกที่ต้องการมาเยี่ยมเยียนนางเลิ้ง อีกทั้งการย้ายออกของหน่วยงานราชการยังทำให้อัตราประชากรลดลง รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ทำให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาในย่านนี้ลดลงตาม เช่น การใช้บริการเรือคลองแสนแสบจากสถานที่พักย่านบางแคไปบางกะปิ เดิมทีต้องนั่งรถโดยสารประจำทางมาลงเรือที่สะพานผ่านฟ้า แต่เมื่อมีรถไฟฟ้า MRT ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางผ่านมาแถวสะพานผ่านฟ้า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชากรสัญจรไปมาลดลง และทำให้พื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่ชุมชนตามวิถีชีวิต โดยเฉพาะปัจจุบันที่เน้นการฟื้นฟูให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมทางอาหาร มีความพยายามให้เหมือนเยาวราชและถนนข้าวสาร แต่ปัจจัยที่ไม่สำเร็จเพราะขาดแรงหนุนของหน่วยงานภาครัฐ
ความเจริญที่เรียกว่าความทันสมัยเกิดขึ้นกับเฉพาะร้านใดร้านหนึ่ง ซึ่งเป็นการแยกส่วนและไม่เห็นภาพการพัฒนาองค์รวมในพื้นที่ ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาร้านค้าสมัยใหม่อาจไม่จำเป็นต้องบูรณะให้ร้านรอบนอกดีขึ้นตาม เนื่องจากผู้บริโภคมุ่งมาเฉพาะร้านแห่งนี้ โดยอาศัยว่าสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนเมืองเก่าเป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น
นอกจากจะมีคนรุ่นใหม่ที่นำอาคารเก่าของครอบครัวมาใช้ในการลงทุนสร้างธุรกิจแล้ว ยังมีคนนอกที่เช่าอาคารพาณิชย์เพื่อเปิดร้านคาเฟ่ ซึ่งความแตกต่างของคนในและคนนอกด้านหนึ่งที่เราพบและสังเกตเห็นคือ ความหวงแหนและความสนใจในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลับมาเฟื่องฟู คนนอกที่มาเช่าพื้นที่อาจสนใจเพียงว่าธุรกิจจะไปต่อได้ไหม และได้ประโยชน์อะไรกับการพัฒนาโครงสร้างเมืองและพื้นที่แห่งนี้ เหมือนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่แล้วดึงดูดให้ผู้คนภายนอกเข้ามา โดยผู้มาเยือนอาจไม่ได้สนใจเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนนางเลิ้ง แต่สนใจเพียงร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งเพื่อดื่มด่ำกาแฟตามรสนิยมส่วนตัว การเข้ามาของธุรกิจเปิดใหม่จึงไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านและชุมชนจะได้ประโยชน์ทางตรงด้วยเสมอไป
การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยอาศัยบทบาทตามธรรมชาติของสังคมมักเกิดขึ้นยาก เว้นแต่จะเผชิญปัญหาร่วมกันในชุมชน เช่น การไล่รื้อหรือเวนที่คืน ตามที่เคยปรากฏให้เห็นในชุมชนหรือพื้นที่แห่งอื่น แต่ตามสถานการณ์ปกติแล้วเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะให้ผู้คนในชุมชนหลายช่วงวัยหรือหลายกลุ่มคน ทั้งคนในและคนนอก มาร่วมมือกันพัฒนาให้ย่านนี้กลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมอาหารและวิถีชีวิตของเมืองเก่า การมีคนกลางหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การที่เราสองคนเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ ‘เคี้ยวเพลิน คุยมัน เที่ยวนางเลิ้ง’ ที่จัดโดย Urban Studies Lab องค์กรนี้ทำงานเชิงพื้นที่ย่านนางเลิ้งด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในแง่ของการเชิญชวนให้ร้านค้าทั้งสามขนาด อย่างผู้ค้าในตลาด ผู้ค้าในอาคารพาณิชย์ และร้านค้าที่เป็นธุรกิจขนาดย่อม ให้มาร่วมมือกัน เนื่องจากจุดร่วมของวิถีชีวิตแตกต่างกัน ฉะนั้น การพัฒนาชุมชนนางเลิ้งทั้งหมดจึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของผู้อาศัยในย่านนั้น แต่เป็นปัญหาระดับนโยบาย และขึ้นอยู่กับการบริหารของ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะจัดการให้พื้นที่แห่งนี้ได้ประโยชน์อย่างไร โดยไม่ละทิ้งมิติต่างๆ ที่กล่าวถึงไป
มุมมองของผู้ค้านางเลิ้งหลังผ่านการปรับตัวเมื่อโควิดมาเยือน
3 ปีแห่งการระบาดของโคโรนาไวรัส นับเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์หนักหน่วง ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมองว่าเป็นวิกฤต แต่สิ่งที่น่าแปลกใจหลังจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนนางเลิ้งกลับมีผู้ค้ารายหนึ่งมองว่า ช่วงนั้นราคาวัตถุดิบอาหารคงที่ ไม่มีการปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักๆ เช่น เนื้อหมู ทำให้ผู้ค้าสามารถจำหน่ายอาหารในราคาเดิมได้ รักษาได้ทั้งปริมาณและคุณภาพอาหาร และให้ข้อมูลเพิ่มว่า “แต่ถ้าโควิดมาอีกรอบนี่นะหนักแน่ เพราะของขึ้นแล้วลงไม่ได้” ขณะที่ช่วงปีนี้ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ราคาขายอาหารก็ต้องขยับตาม จนเกิดผลกระทบตามมาต่อผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าราคาแพงทั้งที่รายได้เท่าเดิม ดังนั้นการควบคุมราคาสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องพิจารณาและทบทวน
การแพร่ระบาดของโควิดทำให้ผู้ค้าหลายรายในชุมชนนางเลิ้งพยายามปรับตัวให้อยู่รอดด้วยหลายวิธี วิธีแรกคือการซื้อวัตถุดิบในสถานที่ใกล้เคียงและมีบริการส่งโดยไม่ต้องเสียเวลาหรือเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปที่แหล่งซื้อเอง ซึ่งเดิมทีภาพในอดีตที่เข้าใจกันคือ ต้องเดินทางไปตลาดเพื่อซื้อวัตถุดิบกลับมาที่แผงอาหาร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใช้บริการฝากซื้อหรือให้ผู้ขายนำมาส่งเอง อาจจะเสียค่าส่งบ้าง แต่ก็ประหยัดกว่าไปซื้อเอง เช่น พ่อค้าร้านกล้วยทอดไม่ต้องไปซื้อกล้วยน้ำว้าที่ตลาดมหานาค แต่เปลี่ยนไปซื้อที่ตลาดศาลาน้ำร้อนแทน เพราะมีความสดใหม่และมีบริการส่งถึงที่ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่สะท้อนว่า เศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการมักมีการเกื้อหนุนกันในห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้ได้รับประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ค้าและผู้บริโภค แต่สามารถย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตรายย่อยและเกษตรกรด้วย
อีกวิธีหนึ่งที่ผู้ค้าย่านนางเลิ้งมีการปรับตัวคือ การใช้แอปพลิเคชันส่งอาหาร อันที่จริงแล้วเป็นวิธีการที่ผู้ค้าใช้มาก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิดแล้ว เพราะมีผู้แทนของบริษัทแห่งหนึ่งมาชักชวนให้ใช้บริการ โดยแต่ละแพลตฟอร์มจะมีค่าบริการแตกต่างกัน หากเป็นร้านค้าที่ใช้บริการมานานแล้ว ในบางแพลตฟอร์มจะคิดค่าบริการที่ถูกกว่าร้านค้ารายใหม่
ร้านค้าแห่งหนึ่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า บริษัทแพลตฟอร์มจะคิดค่าบริการโดยหักร้อยละ 30-35 ของยอดขาย ยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 นั่นเท่ากับว่า หากขายได้ 100 บาท จะถูกหักไปเกือบครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นให้นึกเสมอว่า การขายอาหารผ่านแอปพลิเคชันอาจไม่ได้กำไรมากนัก แต่เน้นยอดขายและสร้างชื่อของร้านให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งภายหลังพบว่าหลายร้านมีใช้งานแอปพลิเคชันลดลง เช่นเดียวกับร้านข้าวขาหมูที่มีสัดส่วนการขายผ่านแอปพลิเคชันเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 หรืออาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีผู้บริโภคสั่งซื้อเลย เนื่องจากผู้ที่สั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันกับร้านนี้ส่วนมากก็เป็นลูกค้าประจำที่เคยทาน แต่ย้ายไปอยู่ที่อื่น แตกต่างจากร้านกล้วยทอดที่มีชื่อเสียง เพียงแค่พิมพ์ค้นหาคำว่า ‘กล้วยทอดเอี๊ยมชมพู’ ก็ขึ้นเป็นชื่อแรกใน Google ลูกค้าส่วนมากจึงไม่นิยมเดินมาซื้อหน้าร้าน แต่จะสั่งผ่านแอปพลิเคชันหรือซื้อระหว่างรอสัญญาณไฟจราจร
ท้ายนี้ การให้บริการแอปพลิเคชันส่งอาหารมีนัยสะท้อนว่า สถานที่ตั้งอาจไม่ได้สำคัญเสมอไป แต่ชื่อเสียงของร้านสำคัญมากกว่า แอปพลิเคชันส่งอาหารจึงไม่ได้เชื่อมต่อให้ผู้คนภายนอกมาเกื้อหนุนเศรษฐกิจในชุมชน เพราะการซื้อผ่านแอปพลิเคชันนั้นหมายความว่า ผู้บริโภคไม่ต้องเดินทางมาที่ร้าน ยิ่งทำให้ร้านแห่งนี้ตัดขาดกับชุมชน และผู้บริโภคก็ไม่ได้รู้จักร้านนี้ในแง่ของความเป็นนางเลิ้ง บางครั้งผู้บริโภคที่ซื้ออาหารผ่านแอปพลิเคชันยังไม่ทราบเลยว่า สถานที่ตั้งของร้านอยู่ตำแหน่งแห่งที่ใดในย่านนางเลิ้ง ร้านที่มีชื่อเสียงและซื้อโฆษณาในสื่อออนไลน์ จึงเป็นการขายผ่านแบรนด์ร้านดังในย่านนางเลิ้ง ส่วนร้านที่เปิดให้บริการเป็นคาเฟ่ แล้วมีความคาดหวังจะปรับปรุงร้านให้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการบนชั้น 2 เพื่อเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน วัฒนธรรมอาหาร ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ ก็อาจช่วยให้ร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของนางเลิ้งได้