เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพประกอบ: Shhhh
ชัยชนะจากการเลือกตั้งจนกระทั่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่เหนือความคาดหมายของทั้งคนอเมริกันและผู้คนทั่วโลก แม้หลายคนพยายามมองโลกในแง่ดีว่า นี่อาจเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่น่าสนใจ อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีกลไกคานอำนาจในระบอบประชาธิปไตยตามปกติ ประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ ยังมีโอกาสตรวจสอบการทำงานของเขาได้อย่างเต็มที่ แต่ช้าก่อน…
“ชาวพิตสเบิร์กเลือกผมเป็นตัวแทน ไม่ใช่ปารีส” คำประกาศกร้าวของทรัมป์ที่จะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2017 ทำเอาทั่วโลกตกตะลึงไปตามๆ กัน
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งวิเคราะห์ว่า การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของสหรัฐอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภารกิจลดโลกร้อนมากเท่าที่คิด สิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นอาจมาจากนโยบายและการบริหารประเทศที่ต่อต้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูต่างหาก
หลายฝ่ายมองว่า แม้รัฐบาลทรัมป์จะมาจากการเลือกตั้ง ภายใต้ระบบการตรวจสอบจากสาธารณชนอย่างอิสระและโปร่งใสก็ตาม แต่หากมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจหรือบรรษัทยักษ์ใหญ่เป็นที่ตั้งแล้ว ผู้ที่ต้องรับบทหนักในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและคนเล็กคนน้อยอีกเช่นเคย
ข้อตกลงปารีสเป็นแค่ออเดิร์ฟ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อน ถือเป็นประเด็นระดับโลกที่ข้ามพ้นเส้นพรมแดนของแต่ละประเทศ จำเป็นต้องอาศัยกลไกระดับนานาชาติมาจัดการกับปัญหา กลไกที่ว่านี้คือ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับหนึ่ง
ฝ้ายคำ หาญณรงค์ นักวิชาการอิสระและผู้ประสานงานองค์กร Thai Climate Justice ให้ข้อมูลว่า เมื่อปลายปี 2015 การประชุมภาคีอนุสัญญา UNFCCC ที่ปารีส ได้สร้างข้อตกลงใหม่ที่เรียกว่า ‘ข้อตกลงปารีส’ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นตอของปรากฏการณ์โลกร้อน และเป็นกลไกที่มาแทนพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ข้อตกลงปารีสจึงถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศอีกฉบับเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้มาตรการลดโลกร้อนให้บรรลุผล
วัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีสที่ประเทศภาคีเห็นพ้องต้องกันคือ หยุดโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกินจุดกู่ไม่กลับที่ 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม* และจะพยายามไม่ให้โลกร้อนขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยวิธีการคือให้แต่ละประเทศแจ้งความจำนงว่ามีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไร และทุกๆ 5 ปี จะมีการทบทวนเพื่อประกาศเป้าหมายใหม่ที่ไปไกลมากกว่าเดิม
สัปดาห์เดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การประชุมประจำปีภาคีอนุสัญญา UNFCCC ครั้งที่ 22 หรือ COP22 เริ่มต้นขึ้นที่กรุงมาราเกช ประเทศโมร็อกโก พร้อมกับการประชุมภาคีข้อตกลงปารีส ครั้งที่ 1 เพื่อหารือกันว่าจะทำให้ข้อตกลงนี้เป็นจริงในทางปฏิบัติได้อย่างไร**
ก่อน COP22 บรรยากาศในแวดวงนักเจรจาปัญหาโลกร้อนเต็มไปด้วยความปรีดาจากความสำเร็จในการสร้างข้อตกลงปารีส ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016 เพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มประชุม COP22 แต่เพียงวันที่สามของการประชุม เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏชัดเจนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ ผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาชาติต่างตกอยู่ในภาวะช็อค คาดไม่ถึงว่าผู้ที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ว่าโลกร้อนเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ จะได้รับความไว้วางใจจากคนอเมริกันให้เข้ามาเป็นผู้นำคนต่อไป
เงื่อนไขหนึ่งของข้อตกลงปารีสคือ การให้สัตยาบันโดยประเทศภาคีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 55 ประเทศ ซึ่งรวมแล้วต้องมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 มี 155 ประเทศ ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีส คิดเป็นสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 85.41 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก หากสหรัฐซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 17.89 เปอร์เซ็นต์ ได้ถอนตัวจากข้อตกลง ก็จะยังเหลือภาคีอีก 154 ประเทศ รวมมีสัดส่วนการปลอยก๊าซ 67.52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากพอที่จะทำให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ต่อไปได้
ฝ้ายคำมองว่า การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของสหรัฐเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น หากขุดลึกลงไปจะพบว่า นโยบายด้านพลังงานและเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ต่างหากที่เป็นหายนะสำหรับสิ่งแวดล้อมของจริง
มหันตภัยสิ่งแวดล้อมจากนโยบายทรัมป์
นโยบายช่วงหาเสียงของทรัมป์ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อโลกและสิ่งแวดล้อม สามารถวิเคราะห์ได้เป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่
1. ทรัมป์และนักการเมืองพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ประกาศว่า โลกร้อนเป็นเรื่องโกหก และหากได้เป็นประธานาธิบดีจะถอนชื่อสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีส
2. ลดงบประมาณและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ในการกำกับควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรมรวมถึงโรงไฟฟ้า และถ้าเป็นไปได้ ทรัมป์เผยว่าอาจต้องยุบหน่วยงานนี้ทิ้งไป
3. ยกเลิกแผนพัฒนาพลังงานสะอาด (Clean Power Plan) ของรัฐบาลโอบามา ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปพลังงานไฟฟ้าที่จะควบคุมและลดการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติทั่วประเทศ
4. สัญญาว่าจะทำให้อุตสาหกรรมถ่านหินของอเมริกากลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และจะเปิดเสรีให้อุตสาหกรรมฟอสซิลเช่าพื้นที่สาธารณะของรัฐ เพื่อทำเหมืองถ่านหิน ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ก็ลงมือจัดการข้อแรกไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่แผนพลังงานสะอาดของโอบามาถูกเตะตัดขาโดยกลุ่มอัยการสูงสุดจาก 27 รัฐ ซึ่งเข้ายื่นฟ้อง EPA ทันทีที่ประกาศใช้แผน จนทำให้นโยบายดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะคดียังค้างอยู่ที่ศาลสูง และที่สำคัญอดีตอัยการผู้มีบทบาทในครั้งนั้นเข้ามารับตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการ EPA
ส่วนนโยบายที่ต้องการทวงคืนความรุ่งเรืองให้กับอุตสาหกรรมถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์ไม่ได้มีความตั้งใจจะเพิ่มตำแหน่งงานให้ประชาชนบริเวณนั้นๆ มากไปกว่าผลประโยชน์มหาศาลที่เขาและผู้เกี่ยวข้องจะได้รับ
ผลประโยชน์ทับซ้อนบนเก้าอี้ผู้นำ
เดือนพฤศจิกายน 2015 โอบามาออกคำสั่งระงับโครงการขุดเจาะและขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในหลายพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวทางนิเวศและมีการคัดค้านอย่างหนักจากประชาชน โดยเฉพาะสองเมกะโปรเจ็กท์ที่เกิดความขัดแย้งยืดเยื้ออย่างโครงการท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน เอ็กซ์แอล (Keystone XL) และดาโกตา (Dakota Access Pipeline: DAPL) แต่หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปลายเดือนมกราคม 2017 ทรัมป์ก็ได้ให้ไฟเขียวผ่านตลอดด้วยการลงนามคำสั่งเดินหน้าโครงการท่อส่งน้ำมันทั้งสองต่อทันที
นอกจากคำกล่าวอ้างว่าจะสามารถเพิ่มตำแหน่งงานให้ชาวอเมริกันได้ไม่ต่ำกว่า 28,000 ตำแหน่ง Washington Post รายงานว่าจากข้อมูลการลงทุนประจำปีที่ต้องแจ้งต่อรัฐ พบว่า ทรัมป์ลงทุนในหุ้นบริษัทพลังงานฟอสซิลรวมแล้วหลายล้านดอลลาร์ บริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่ทรัมป์ถือหุ้น ได้แก่ Occidental Petroleum (500,000-1,000,000 ดอลลาร์) Halliburton (50,000-100,000 ดอลลาร์) Exxon Mobil (50,000-100,000 ดอลลาร์) Kinder Morgan (น้อยกว่า 30,000 ดอลลาร์) Shell และ Chevron (ไม่ทราบมูลค่า)
ในปี 2015 ทรัมป์ถือหุ้นมูลค่า 500,000-1,000,000 ดอลลาร์ ในบริษัท Energy Transfer Partners (ETP) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการท่อส่งน้ำมันดิบดาโกตา มูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์
DAPL นับเป็นโครงการที่ถูกคัดค้านมากที่สุดโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐ เนื่องจากท่อส่วนหนึ่งจะผ่านพื้นที่สงวนเขตสแตนดิงร็อคของชนพื้นเมืองซู (Standing Rock Sioux) ทำให้มีผู้คัดค้านจากทั่วประเทศและโครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการตกลงเรื่อยๆ จนโครงการต้องออกมาประกาศเปลี่ยนเส้นทางท่อส่งน้ำมัน
ในปี 2016 การถือหุ้นของทรัมป์ใน ETP ลดลงเหลือน้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ ETP ยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ในแคมเปญหาเสียงของเขา นอกจากนั้นทรัมป์ยังอาจถือหุ้นถึง 2.5 ล้านดอลลาร์ ในบริษัท Phillips66 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นโครงการ DAPL เช่นกัน
จากการรวบรวมข้อมูลของโครงการ Centre for Responsive Politics แคมเปญหาเสียงของทรัมป์ได้รับเงินสนับสนุนจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซกว่า 700,000 ดอลลาร์ หนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่คือ เคลซี วอร์เรน ซีอีโอของ ETP และถ้ารวมธุรกิจถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ และเหมืองแร่แล้ว แคมเปญของทรัมป์ได้รับเงินจากธุรกิจเหล่านี้รวมเกือบ 1.4 ล้านดอลลาร์
บริษัทเหล่านี้จะได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายการขยายพื้นที่ขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล และนโยบายลดการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นหนึ่งในผลประโยชน์ทับซ้อนของทรัมป์ในตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่ควรได้รับการปล่อยผ่าน
พลพรรคสวนกระแสโลกร้อน
ความจริงการบิดเบือนประเด็นโลกร้อนเพื่อถอนตัวจากข้อตกลงระดับนานาชาตินี้ ทรัมป์คงทำคนเดียวไม่ได้แน่ ต้องยอมรับว่าเขามีแนวร่วมต่อต้านวิทยาศาสตร์เรื่องโลกร้อนที่แข็งแกร่งไม่แพ้กัน***
สก็อตต์ พรูอิตต์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ อดีตอัยการสูงสุดประจำรัฐโอกลาโฮมา ในฐานะผู้สนับสนุนและทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมฟอสซิลอย่างโจ่งแจ้ง พรูอิตต์เป็นหนึ่งในอัยการสูงสุดจาก 27 รัฐ ซึ่งยื่นฟ้อง EPA ทันทีที่ประกาศใช้แผน Clean Power Plan จนทำให้นโยบายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ และการที่พรูอิตต์ก้าวขึ้นมาดูแล EPA จึงหมายถึงหายนะสำหรับสิ่งแวดล้อมดีๆ นี่เอง
เดือนมีนาคม 2017 พรูอิตต์คือหนึ่งในผู้ที่ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ขณะที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลมากมาย แม้แต่องค์การนาซ่ายังยืนยันว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ก่อขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ นั้นส่งผลต่อภาวะโลกร้อนโดยตรง
เช่นเดียวกับ ริค เพอร์รี ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีแนวคิดและทัศนคติต่อต้านข้อเท็จจริงของภาวะโลกร้อนไม่ต่างกัน เขาคืออดีตผู้ว่าการรัฐเท็กซัส หนึ่งในรัฐที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากที่สุด เขามีแนวทางบริหารในการลดอำนาจรัฐบาลกลางและเพิ่มอำนาจให้ธุรกิจเอกชน พร้อมทั้งจำกัดการใช้กฎหมายควบคุมเอกชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม
เพอร์รีเคยกล่าวหาว่า โลกร้อนเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์กุขึ้นเพื่อใช้หากิน ขณะที่ตัวเขาเองเป็นสมาชิกบอร์ดผู้บริหาร Energy Transfer Partners บริษัทซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการท่อส่งน้ำมันดิบดาโกตาที่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนทั่วประเทศจนต้องระงับไป
การได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของเพอร์รี ถูกวิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะทำให้การพัฒนาประสิทธิภาพด้านพลังงานและพลังงานทางเลือกของสหรัฐถดถอย เนื่องจากเขามีแนวโน้มเข้าข้างพลังงานฟอสซิลอย่างชัดเจน
อีกตำแหน่งซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มากไม่แพ้กันคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งทรัมป์วางใจให้ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซีอีโอของ ExxonMobil บรรษัทปิโตรเลียมข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเข้าดำรงตำแหน่ง จากประวัติการทำงานของเขากับ Exxon ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อนาคตนโยบายต่างประเทศของอเมริกาภายใต้ทิลเลอร์สัน จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจน้ำมันมากกว่าประชาชนและชาติ
เข้าเครื่องจับเท็จ: สถานการณ์พลังงานทางเลือกที่แท้จริง
หากอุปกรณ์ตรวจจับความจริงในตัวเรายังทำงานได้ตามปกติ ใครจะทำใจให้เชื่อถือคำพูดทั้งหลายของประธานาธิบดีสหรัฐผู้นี้กันบ้าง การที่ทรัมป์มักหาทางกล่าวโจมตีสื่อในประเทศว่า มีการนำเสนอ ‘fake news’ อยู่ตลอดเวลา ขณะที่คำพูดของตัวเขาเองกลับมีช่องว่างช่องโหว่จนสื่อหลายสำนักพากันอุทิศพื้นที่เพื่อช่วยกันตรวจสอบว่า มีความเป็นจริงสอดแทรกอยู่มากน้อยเพียงใดในคำพูดของทรัมป์
ข้อตกลงปารีสจะทำให้อเมริกาสูญเสียตำแหน่งงานนับล้าน สูญเงินอีกนับพันๆ ล้าน แล้วยังจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยอย่างถาวร
– โดนัลด์ ทรัมป์ (21 มิถุนายน 2017)
นโยบายพลังงานใหม่จะช่วยเพิ่มตำแหน่งงานนับล้าน ให้ความมั่งคั่งนับล้านล้านดอลลาร์ นับว่าเรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิวัติพลังงานอย่างแท้จริง
– โดนัลด์ ทรัมป์ (29 มิถุนายน 2017)
สองคำกล่าวเจ้าปัญหาของทรัมป์เมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ได้รับการตรวจสอบจาก Washington Post แล้วว่าควรฟังหูไว้หู ทรัมป์อ้างอิงงานศึกษาที่หอการค้าสหรัฐ (U.S. Chamber of Commerce) และ American Council for Capital Formation ให้ทุนสนับสนุนเพื่อหักล้างความตั้งใจเดิมที่รัฐบาลโอบามาตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 26-28 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้ภายในปี 2025
ขณะที่คำพูดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนของเขาไปไกลกว่านั้น “สำหรับคนที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเช่นผม คงไม่สามารถสนับสนุนข้อตกลงที่จะกลายเป็นการลงโทษสหรัฐอเมริกาได้”
ก่อนหน้านั้นทรัมป์อ้างว่า ตัวเขาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเคยได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วไม่น้อย จากการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังนับสิบปี Washington Post ก็ได้ข้อสรุปของเรื่องนี้และออกมาแจกรางวัล ‘พิน็อกคิโอ’ รัวๆ ให้ทรัมป์ เนื่องจากไม่พบว่าเขาเคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาก่อน
เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงเรื่องอัตราจ้างงาน องค์กรสิ่งแวดล้อมชื่อดังของสหรัฐอย่าง Sierra Club เปิดเผยว่า ปริมาณตำแหน่งงานจากธุรกิจพลังงานสะอาดในปี 2016 สูงกว่าพลังงานถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติรวมกันกว่า 2 เท่า โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นมีอัตราการเติบโตของตำแหน่งงานสูงสุด โดยมีผู้ได้รับการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ พลังลม และพลังงานสะอาดอื่นๆ เกือบ 500,000 ตำแหน่ง จาก 2.8 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศ
ทรัมป์อาจยังไม่ได้รับรายงานว่า ในเพนซิลวาเนียมีการจ้างงานด้านพลังงานหมุนเวียน 65,000 ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมเหมือง น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติรวมกัน
วาทกรรมถ่านหินสะอาด!
เรากำลังจะทำให้ถ่านหินสะอาด ซึ่งฮิลลารีทำไม่ได้
– โดนัลด์ ทรัมป์ (12 กรกฎาคม 2017)
คำว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ มาจากเทคโนโลยีการกักและเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพัฒนาในสหรัฐตั้งแต่ปี 2015 แต่ยังมีราคาสูง สวนทางกับิความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งยังไม่สามารถรับรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ
ปัจจุบัน 40 เปอร์เซ็นต์ของเหมืองถ่านหินในสหรัฐอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเช่าจากรัฐด้วยราคาต่ำกว่าตลาดมาก ถือว่าอุตสาหกรรมถ่านหินได้รับการอุดหนุนจากรัฐทางอ้อมเป็นมูลค่ามหาศาล
U.S. Energy Information Administrations ระบุว่า แนวโน้มการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับก๊าซธรรมชาติ โดยข้อมูลการใช้ถ่านหินในปี 2015 ลดลงจากปี 2008 เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ และนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐจำนวน 40,000 เมกะวัตต์ ได้ปิดตัวไปแล้ว
อำนาจแห่งมหาอำนาจ
อาจถูกของทรัมป์ที่ว่า “ชาวพิตสเบิร์กเลือกผมเป็นตัวแทน ไม่ใช่ปารีส” แต่การตัดสินใจในฐานะผู้นำประเทศอาจไร้ความหมาย หากเจ้าของอำนาจที่แท้จริงไม่เห็นด้วย
“ในฐานะนายกเทศมนตรีพิตสเบิร์ก ผมยืนยันว่าเราจะทำตามข้อตกลงปารีส เพื่อประชาชน เศรษฐกิจ และอนาคตของพวกเรา” บิล เพดูโต นายกเทศมนตรีพิตสเบิร์ก ออกมาทวีตตอบโต้ทันควัน ความตั้งใจของเขาไม่ต่างจากนายกเทศมนตรีทั่วโลกที่ต้องการเดินหน้าทำตามแผนพลังงานสะอาดต่อไป
การก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ มิได้หมายความว่า อำนาจสิทธิ์ขาดจะเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว
“ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือเป็นใคร ก็ไม่สามารถจะกำหนดให้ใครทำตามใจตัวเองได้แล้ว เพราะแต่ละคนมีอำนาจหมดแล้ว” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความเห็น
“เมื่อก่อนยังทำไม่ได้เพราะเทคโนโลยียังเป็นแบบรวมศูนย์ ต้องใช้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้องใช้ถ่านหินจากพ่อค้าผูกขาดจำนวนไม่กี่ราย แต่ตอนนี้แหล่งพลังงานมันกระจายตัวทั่วไปหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมซึ่งมีราคาถูกลงมากๆ พอแหล่งพลังงานกระจายตัว พร้อมกับการมาบรรจบกันของเทคโนโลยีพลังงานและการสื่อสารยุค 4.0 ใครก็ตามจึงไม่สามารถจะห้ามประชาชนได้ ตราบใดที่ประชาชนตื่นรู้ ตื่นตัว เขาก็สามารถผลิตพลังงานของเขาเองได้ นั่นคือ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวกระแสการตื่นตัวของประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”
ผศ.ประสาท เพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีกลุ่ม 350 (350.org) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักเคลื่อนไหวระดับโลกที่ร่วมกันศึกษาและรณรงค์ต่อต้านพลังงานฟอสซิลอย่างจริงจัง นำโดย บิล แมคคิบเบน มีการเคลื่อนไหวและรวมตัวกันเพื่อให้ถอนการลงทุนจากถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลก ด้วยสโลแกน ‘Keep it in the ground’
“สมมุติว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งโลกมี 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะต้องนำเชื้อเพลิงเหล่านี้มาใช้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งจะใช้ได้อีกประมาณไม่เกิน 20 ปี ที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องเก็บไว้ใต้ดิน” ผศ.ประสาทอธิบาย
ความหวังของสหรัฐและความหวังของโลก ณ ตอนนี้ จึงอยู่ในระดับรัฐ ที่ซึ่งผู้ว่าการรัฐอย่าง
น้อย 35 รัฐ นายกเทศมนตรีเมืองต่างๆ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกันและชนพื้นเมือง ต่างออกมาต่อต้านการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสอย่างแข็งขัน พร้อมประกาศว่าจะเดินหน้าลดโลกร้อนต่อไปในแนวทางที่พวกเขาทำอยู่
ผศ.ประสาท ให้ข้อมูลว่า ฮาวายคือรัฐนำร่องที่ตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปี 2045 ขณะที่อีกอย่างน้อย 37 เมือง ล้วนมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการชั้นนำอีกเกือบร้อยแห่งที่ออกมาประกาศตัวหนุนพลังงานสะอาด อาทิ Apple, Walmart และ LEGO
รายงาน ‘Renewables on the Rise: A Decade of Progress Toward a Clean Energy Future’ โดยศูนย์วิจัยนโยบายสิ่งแวดล้อมอเมริกา (Environment America Research and Policy Center) ระบุว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในสหรัฐนั้นมีปริมาณมากกว่าปี 2007 เกือบ 8 เท่า ซึ่งเพียงพอสำหรับ 25 ล้านครัวเรือน ขณะที่คนอเมริกันใช้พลังงานลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา
ในรายงานได้ให้ข้อมูลว่า ระหว่างปี 2008-2015 ต้นทุนของพลังงานลมลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ทั้งชนิดติดตั้งปกติและติดตั้งบนหลังคา ราคาลดลงเกือบ 55 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ราคาแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ตลอด 24 ชั่วโมงได้ลดลงเกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ และราคาหลอดไฟ LED ลดลงเกือบ 95 เปอร์เซ็นต์
ร็อบ ซาร์เจนต์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายพลังงานประจำศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า ทศวรรษที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างมาก ทำให้มั่นใจได้ว่าพลังงานทางเลือกจะกลายเป็นคำตอบที่คนอเมริกันสามารถเลือกได้จริงๆ
การประหยัดพลังงานในฐานะปัจเจกอาจช่วยได้ในเรื่องความสบายใจส่วนบุคคล แต่หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ เราอาจต้องขยายการรณรงค์ออกไปไกลกว่านั้น
ข้อมูลระหว่างปี 2014-2016 พบว่า ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั่วโลกยังให้การสนับสนุนพลังงานฟอสซิล โดยมีการให้กู้เงิน 290,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำเหมืองถ่านหิน ทำธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน ขุดเจาะน้ำมัน รวมทั้งการส่งออกเชื้อเพลิง LNG หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว
ในเดือนมิถุนายน 2017 นักเคลื่อนไหวจากเครือข่าย Rainforest Action Network ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเกือบ 30 แห่งทั่วโลก ได้ออกมาเรียกร้องว่า หากสามารถหยุดการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจเหล่านี้ จะช่วยชะลอความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่เราต้องเผชิญได้ โดยเริ่มต้นรวบรวมรายชื่อประชาชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ พร้อมติดแฮชแท็ก #BankingOnClimateChange
หลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนมากกว่า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นก่อมลภาวะและส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศมากเพียงใด และโลกเรามาถูกทางแล้วที่หันหน้าไปพึ่งพาพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ แทนที่จะก้มหน้าก้มตาขุดค้นหายนะขึ้นมาสู่พื้นผิวและชั้นบรรยากาศของโลก
แม้จะพบอุปสรรคสำคัญอย่างผู้นำและรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่กลายมาเป็นขั้วตรงข้ามกับการพัฒนาพลังงานทางเลือก แต่จากแนวโน้มที่โลกกำลังจะมุ่งหน้าไป อนาคตที่ ‘พลังงานทางเลือก’ จะกลายเป็น ‘พลังงานทางหลัก’ คงอยู่อีกไม่ไกล ถึงตอนนี้ทรัมป์และพลพรรคผู้ปฏิเสธโลกร้อนย่อมไม่อาจฉุดรั้งให้โลกกอดรัดเชื้อเพลิงฟอสซิลเอาไว้ได้อีกต่อไป