26 ธันวาคม พุทธศักราช 2547, ย่ำรุ่ง
บ้านของ ประยูร จงไกรจักร อยู่เลียบริมหาดบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ขณะนั้นเขาทำอาชีพเร่ขายผ้า เลี้ยงปลาในกระชัง ทำสวนบ้างประปราย การเป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย แรงกายทั้งหมดของเขาจึงหมดไปกับการหาเลี้ยงปากท้องของเขา ของภรรยา และของลูกน้อย
“04.00 น. ผมออกไปอำเภอกะปง เร่ขายผ้าอยู่กับคาราวานสินค้า เขาเริ่มขายกันตั้งแต่ย่ำรุ่ง สักช่วงเจ็ดโมงเช้าตลาดจึงวาย พอเก็บของเสร็จจึงเดินทางกลับบ้าน ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าๆ ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว ช่วงที่เกิดสึนามิ คือเวลาที่ผมต้องอยู่ที่บ้าน” ประยูรเล่าด้วยเสียงเรียบๆ เราไม่ได้สบตากัน เพราะขณะที่ฉันมองเขา เขากำลังมองไปยังอดีต
“เดิมเราคิดว่า คนที่จะทำงานเพื่อสังคมต้องเป็นคนมีเงิน เราเชื่ออย่างนั้น เราเลยไม่เคยสนใจว่าชุมชนจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอะไรบ้างในเรื่องของสังคม ไม่เคยเกี่ยวข้องเพราะตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินอย่างเดียว เป้าหมายคือเพื่อสร้างฐานะและทำให้คนในครอบครัวอยู่สบาย ไม่เคยคิดเรื่องอื่น”
“แต่บางสิ่งเปลี่ยนแปลงผม” ประยูรกล่าวขึ้น ราวกับว่าเขากำลังพูดคุยอยู่กับตนเองในวันนั้น
“สิ่งนั้นคืออะไร” ฉันเอ่ยถาม
“สึนามิ … มันเปลี่ยนทุกอย่าง ทั้งชุมชน ทั้งคน” เขาว่า
ความสูญเสียไม่เคยเลือกหน้า
860 คือตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตที่บ้านน้ำเค็ม จากข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ ตัวเลขที่คนในชุมชนต่างรู้ดีว่ามีมากกว่านั้น ด้วยเพราะบ้านน้ำเค็ม คือสถานที่ที่มีคนต่างถิ่นมาอาศัยจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาแสวงโชค เขาเหล่านั้นต่างก็สูญเสียไม่น้อย
“วันนั้นผมพาลูกเมียไปขายของด้วย ขณะกำลังกลับก็มีแฟนของเพื่อนมาบอกว่า สามีของเขาไปสูบน้ำเพื่อจับปลา น้ำแห้งพอดี เราก็เลยแวะไปจับปลาเพราะเขารู้ว่าเราชอบ หลังจากจับปลาและกลับบ้าน ก็เริ่มเห็นคนบ้านน้ำเค็มวิ่งออกมาที่ปากทางเข้า ร้องตะโกนว่า ‘อย่าเข้าไปๆ มีคลื่นยักษ์’ เรางงไปหมด เลยจอดรถแล้วโทรศัพท์ไปหาพี่สาวที่อยู่บ้าน พี่สาวพูดว่า ‘คลื่นยักษ์เข้า คนตายหมดแล้ว อยู่ไหน ไม่ต้องเข้ามา’ (เขาเงียบไปชั่วขณะ) ตอนนั้นพี่สาวก็บอกว่า เธอไม่รู้ว่าจะรอดไหม” ประยูรคือผู้รอดจากคลื่นยักษ์ ทว่าหลังทะเลสงบ เขาไม่รอดจากความสูญเสีย
“คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ผมคือหนึ่งในคนที่เจ็บปวดมากที่สุด เพราะเรามีพี่น้องเยอะมาก คนที่ติดรถไปกับผมนอกจากลูกเมียแล้ว ไม่มีญาติพี่น้องผมสักคนเดียว เรากังวล พี่สาวก็บอกว่าพ่อตาย มันกระวนกระวายใจไปหมด พอจะเข้าไปตำรวจก็ไม่ให้เข้า แต่การไม่ให้เข้านั้น เขาไม่ได้มีช่องทางช่วยเหลือเลย ผมวิ่งไป อบต. ก็ปิด วิ่งไปที่สถานีตำรวจตะเวนชายแดน ไปบอกเขาว่ายังมีคนที่อยู่บนบ้านสองชั้นและรอดชีวิตอยู่เยอะ ช่วยหาวิธีช่วยคนเหล่านั้นด้วย ถ้าคลื่นมาซ้ำเขาจะได้รอด
“คำตอบที่เราได้คือ วันนี้วันหยุด ช่วยไม่ได้เพราะไม่มีระบบสั่งการ” ประยูรหยุดเล่า สูดหายใจเข้าลึก ความเงียบเข้าทำงานแทนที่เสียงของเขาครู่หนึ่ง จึงเริ่มเล่าต่อ
“ทุกที่ปิดหมด เราเลยลุยเข้าหมู่บ้านมา ตอนนั้นก็มีกระแสว่าบ่ายสองจะมีคลื่นยักษ์มาอีก ใครพูดอะไรเราก็เชื่อหมด พี่สาวและญาติที่รอดชีวิตอยู่ก็บอกว่า ‘อย่าเข้ามา อย่างน้อยถ้าคลื่นมาซ้ำ ญาติพี่น้องเราจะได้มีคนรอดอยู่บ้าง’ นั่นก็คือผม”
“คิดดู เราเจ็บปวดแค่ไหน ผมไม่อยากพูดมันเท่าไหร่ ยังทำใจไม่ได้เลย”
ไม่มีเสียงใด ดังเท่าเสียงคลื่น
“หลังสึนามิ คนในชุมชนไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยที่นี่เลย ทุกคนไม่ประกอบอาชีพ นอนไม่หลับ ครูในโรงเรียนก็หวาดระแวง เด็กก็หวาดระแวง พอมีข่าวลืออะไรก็ตามที่เป็นลางบอกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิ ทุกคนก็จะวิ่งกันทุกวัน จากนั้นความยากจนและความลำบากก็มาเยือน”
คือภาพที่ประยูรฉายให้เราเห็นถึงสภาพของบ้านน้ำเค็ม ณ ขณะนั้น เสียงคลื่นที่ซัดสาดคนรัก ญาติมิตร และครอบครัวยังคงดังก้อง บ้านเรือนที่ถูกน้ำพัดหายเหลือเพียงเสา เรือแพที่เกยตื้นจอดนิ่งสนิทอยู่เช่นนั้น เสียงเด็กร้องไห้กระจองอแง ไม่มีสิ่งใดประกันได้ ว่าคลื่นยักษ์จะมาคร่าชีวิตพวกเขาอีกเมื่อใด
“ชุมชนบ้านน้ำเค็มตอนนั้นอยู่ไม่ได้ มันมีปัญหามากมายหลายเรื่อง เราเลยคิดทบทวนกันว่า ถ้าจะอยู่ต่อที่นี่คงต้องริเริ่มทำอะไรสักอย่าง คิดต่อจากโจทย์ที่ชาวบ้านบอกว่า ไม่มีใครสักคนเดียวที่บอกเขาได้ว่า จะมีสึนามิหรือไม่มี หรือจะมีตอนไหน แล้วใครจะเป็นคนเตือน นี่คือโจทย์ท้าทายสำคัญ เราจึงเริ่มทำเรื่องของการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ประยูรเล่า
เพื่อความอยู่รอด ทำอย่างไรบ้าง – ฉันถาม
“เราไม่รู้ และเพราะไม่รู้ เราจึงไปถาม” เขาว่า “แต่ไม่มีใครตอบเราได้เลยในตอนนั้น จนกระทั่งเราไปถามพี่ด้วง-ปรีดา คงแป้น จากมูลนิธิชุมชนไทย แกก็บอกว่า ไม่รู้ แต่แกรู้อยู่อย่างหนึ่งว่า การจะทำอะไรก็ตาม มันต้องเริ่มที่ข้อมูล”
บทเรียนหลังคลื่นยักษ์ ‘เราไม่ได้ตายเพราะสึนามิ’
อย่างที่กล่าวไว้ บ้านน้ำเค็มคือสถานที่แสวงโชค จากแร่ดีบุกที่มีมหาศาล ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านจึงเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ประยูรเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีคนนับรวมผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาได้ครบ 76 จังหวัด เมื่อถึงคราวเกิดภัยพิบัติ การเอาตัวรอดชนิดที่ตัวใครตัวมัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่รอด
“เราเริ่มด้วยการเก็บข้อมูล ทำข้อมูลต่างๆ นานา จึงได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ว่า สึนามิไม่ได้ฆ่าพี่น้องของเราหรอก เพราะขณะนั้นชุมชนบ้านน้ำเค็มมันมีความแออัดของประชากร ถนนก็แคบ ความเห็นแก่ตัวก็เยอะ และไม่สามารถรู้ภัยพิบัติล่วงหน้า ไม่มีใครเตือน พอสึนามิมา บางคนก็เอารถมาขวางถนนบ้างเพื่อจะยกตู้เย็น หรือบางคนไม่เชื่อบ้าง ความวุ่นวายเกิด สุดท้ายแล้วที่เราตาย เพราะเราออกจากพื้นที่ไม่ได้”
“เราไม่รู้ว่ามันจะมาตอนไหน จึงต้องเรียนรู้ว่าสึนามิเกิดขึ้นได้อย่างไร พอเกิดแล้ว เรามีเวลาเตรียมตัวเท่าไหร่ เราเริ่มใช้ข้อมูลที่มีลำดับเหตุการณ์ ลำดับสิ่งที่ต้องทำ นั่นคือ เราต้องมีอาสาสมัครคอยแจ้งเตือนให้พี่น้องทราบว่า ตอนไหนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและควรอพยพ แต่จากข้อมูลที่เราเจอพบว่า เมื่ออพยพแล้วไม่สามารถไปต่อได้เพราะคนเยอะ รถเยอะ ถนนแคบ เราจึงตั้งทีมจราจร คอยอำนวยความสะดวก แต่เรามีทีมจราจรแล้วก็ยังไม่พอ เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าเราไม่มีข้อตกลงร่วมกัน ความวุ่นวายก็ยังเกิด”
ข้อตกลงร่วมกันที่ว่า มีอะไรบ้าง – ฉันถาม
“ข้อตกลงกับตัวเอง นั่นหมายถึงกับคนในครอบครัว ช่วงจังหวะที่เราบอกว่าต้องอพยพ ไม่ว่าตอนนั้นในครอบครัวจะอยู่กันครบคนหรือไม่ เราจะไม่หากัน แต่จะนัดหมายไปเจอกันที่จุดปลอดภัย” ประยูรว่า “เราต้องเตรียมกระเป๋าวิเศษเพื่อเก็บเอกสารสำคัญๆ ไว้สักกระเป๋าหนึ่ง เวลาจะวิ่งก็จับกระเป๋าแล้ววิ่งได้เลย ไม่เสียเวลา
“ถัดมาคือข้อตกลงของชุมชน เพราะจากข้อมูลบอกว่ารถเยอะ คนก็เยอะ ถนนก็แคบ เราก็ตกลงกันว่า ในขณะที่เกิดวิกฤติ มีคนวิ่งอพยพ ห้ามรถวิ่งสวนทาง ถ้าทำได้ตามนี้ถนนที่เรามีจะสามารถใช้ประโยชน์ได้หมด
“พอเรามีจราจร มีแผน มีข้อตกลงร่วมกันแล้ว คำถามคือ เวลาอพยพไปแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสึนามิมาจริงหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีทีมเฝ้าระวังน้ำอยู่ริมทะเล ซึ่งถ้ามีคลื่นมาภายในสองหรือสามนาทีก็ตามก่อนถึงฝั่ง คนเฝ้าระวังน้ำสามารถรอดชีวิตได้ถ้าถนนโล่ง
“ปัญหาต่อมาคือ แล้วเราจะอพยพตอนไหน จะเอาอะไรมาเป็นข้อมูลประกอบ จึงจำเป็นต้องมีทีมอำนวยการไปต่อรองกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติว่า เราต้องได้รับข้อมูลเรี่องแผ่นดินไหว และเราต้องทำข้อมูลจากภูมิปัญญาชาวบ้านเช่นการสังเกตพฤติกรรมสัตว์มาเป็นองค์ประกอบ ต้องศึกษารอยเลื่อน ระยะทาง ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสึนามิ”
ไม่ใช่งานง่ายเลยนะ – ฉันกล่าวขึ้น
“ใช่ เพราะไม่ใช่ว่าเรารู้แค่ว่าแผ่นดินไหว 8 ริกเตอร์ แล้วต้องวิ่ง แต่ต้องรู้ด้วยว่า แผ่นดินไหวตรงไหน ลักษณะของการไหวเป็นอย่างไร ความห่างของระยะทางจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมาถึงบ้านเรา มันห่างแค่ไหน ต้องคำนวณได้ว่ามันใช้ระยะเวลาเดินทางเท่าไหร่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทีมอำนวยการก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ได้ เราจึงจะอพยพพี่น้อง” เขาว่า
“เมื่อก่อนเราซ้อมอพยพปีละสองครั้ง ปีแรกๆ ใช้เวลาอพยพเกือบสามสิบนาที กว่าพี่น้องเราจะออกจากพื้นที่หมด จนได้ข้อสรุปว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะอันดามันนิโคบาร์ ซึ่งห่างจากบ้านเรา 589 กิโลเมตร คลื่นสึนามิที่เดินทางด้วยความเร็ว 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แสดงว่าเรามีเวลาไม่ถึง 40 นาทีหลังจากแผ่นดินไหว แล้วเราต้องเอาเวลานั้นไปลบกับเวลาที่กว่าเราจะได้รับข้อมูลแจ้งเตือน กว่าเราจะวิเคราะห์ แสดงว่าเรามีเวลาเหลือไม่ถึง 25 นาทีในการเอาชีวิตรอด”
และจนถึงวันนี้ ชาวบ้านไม่เคยหยุดวิ่ง จากสถิติล่าสุดของการซ้อมอพยพ ประยูรบอกกับเราว่า สามารถอพยพได้ในเวลาเพียง 15-17 นาทีเท่านั้น พวกเขาทำสำเร็จและยืนยันว่า หากวันนี้ สึนามิได้โถมเข้ามาอีกครั้ง ทุกคนต้องไม่ตาย
“เราเชื่อมาตลอดนะว่า ถ้ามีสึนามิและมีเวลาให้เราเตรียมตัวซัก 20 นาที เชื่อว่าทุกคนรอดหมด และยังเชื่อว่าถ้าเกิดขึ้นในอนาคต ทุกคนก็ยังจะรอด เพราะสิ่งที่เราทำมันมีการสืบทอดสู่เด็ก เยาวชนรุ่นหลัง สำคัญคืออะไรก็ตามที่เราทำจนเป็นวิถีชีวิต มันซึมซับเองโดยไม่ต้องสอน
“พูดง่ายๆ ว่า เด็กน้อยอายุ 3-4 ขวบ ไม่ว่าจะลูกใครหลานใคร จะเรียกให้ตื่นนี่ยากมาก แต่ถ้าบอกว่าแผ่นดินไหว หรือสึนามิ เขาจะลุกขึ้นโดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยเห็นสึนามิ แต่การที่เราทำอะไรซ้ำๆ จนเป็นวิถีชีวิตของเรา มันจะซึมซับไปในเด็กรุ่นใหม่โดยอัตโนมัติ” ประยูรกล่าว ด้วยแววตาที่มั่นคง ด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่น
เอาเครื่องแบบมาเป็นเครื่องมือ, แล้ววิ่งให้สุดแรง
ใช้เวลานานไหมกว่าจะเรียกกำลังใจของชาวบ้านกลับมาได้ – ฉันถามอีกครั้ง หลังนิ่งฟังเขาอธิบายขั้นตอนการทำงานอย่างใจจดใจจ่อ
“เกือบปี ไม่ได้หมายถึงว่าข้อมูลมันยากนะ ที่ยากคือชาวบ้านทำงานด้วยกันไม่ได้” เขาว่า “เราล้มเหลวหลายครั้งนะ ไปสอบถามเขา เขาไม่ให้ความร่วมมือ เขาบอกว่า ‘แล้วมึงจะทำอะไรได้ มึงก็ชาวบ้านเหมือนกู’ เพราะเขาไม่เชื่อถือเรา”
ล้มเหลวหลายครั้ง ถอดใจหลายหนกว่าจะถึงบางอ้อ ประยูรเล่าว่า สุดท้ายแล้วทีมงานได้ตกตะกอนความคิดร่วมกัน ปัญหาจึงคลี่คลายได้
“คนไทยไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขาเชื่อแต่คนที่มีเครื่องแบบ เชื่อแต่หน่วยงานรัฐ เราเลยคิดได้ว่า จำเป็นที่จะต้องเอาเครื่องแบบมาเป็นเครื่องมือ” เขาว่าเช่นนี้
เมื่อชาวบ้านไม่ฟังชาวบ้านด้วยกัน ประยูรและทีมอาสาสมัครจึงค้นหาเครื่องแบบ โดยการเข้าไปเป็นทีม อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทีมจึงทำงานต่อได้ แต่ปัญหาก็ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด
“ปัญหาต่อมาคือ ชาวบ้านบอกว่า เขาไม่วิ่ง เพราะวิ่งไปแล้วไม่มีใครสามารถรับผิดชอบทรัพย์สินของเขาได้” คราวนี้ประยูรได้แต่เกาหัวแกรกๆ แล้วจึงเริ่มเล่าวีรกรรมการทำงานต่อ “เอ้า! ถ้าอย่างนั้นแล้วให้เขาวิ่งไป ทีมงานจะเป็นคนเฝ้าทรัพย์สินให้เขาเอง ดังนั้นทีมเราจึงต้องฝากชีวิตไว้กับคนเฝ้าระวังน้ำที่อยู่ริมทะเล พอปรับแผน เขาก็ให้ความร่วมมือ”
เราไม่อาจคาดเดาตัวเลขได้เลยว่า พวกเขาต้องวิ่งมาแล้วกี่ร้อยกี่พันรอบ ต้องทะเลาะกันมาแล้วกี่ร้อยกี่สิบครั้ง หรือล้มเลิกถอดใจมากี่สิบกี่ร้อยหน แต่เมื่อพวกเขาเริ่มวิ่ง ฟันเฟืองแห่งชีวิตของชุมชนจึงเริ่มทำงานอีกครั้ง ระบบความสัมพันธ์ของผู้คนที่เคยขาดวิ่น จึงถูกถักทอขึ้นใหม่ โดยมีหัวใจบนความเชื่อที่ว่า ‘จะต้องไม่มีใครตายเพราะสึนามิอีกแล้ว’
ชุมชนเปลี่ยน ความสัมพันธ์เปลี่ยน ‘คน’ ก็เปลี่ยน
เหมือนว่าสึนามิเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง – คำพูดเชิงคำถามจากฉันถึงเขาที่อยู่ตรงหน้า
“เปลี่ยนทุกเรื่องเลย เปลี่ยนรากเหง้าของชุมชนเลยเสียด้วยซ้ำ จากเมื่อก่อนอยู่กันแบบแก่งแย่ง เพราะเดิมที่หมู่บ้านนี้ประกอบด้วยคนต่างถิ่นเกือบครบทุกจังหวัดของประเทศ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น ทุกคนคุยกันได้” ประยูรว่า
ทุกคนในที่นี้ ประกอบด้วยใครบ้าง – คราวนี้ฉันถาม
“ตอนเราเริ่มคิดทำ เราคิดไปถึงเหล่าแรงงานเพื่อนบ้านที่มาอยู่ในชุมชนและมีจำนวนเกือบเท่ากับพวกเราคนไทย เขาต้องมีส่วนร่วมด้วย เราก็เอาแกนนำของเขามาประมาณ 20 คน มาเป็นกรรมการร่วมกับเรา และช่วยกันสื่อสารผ่านการประชุมที่มีขึ้นบ่อยๆ เมื่อก่อนคนไทยกับเหล่าแรงงานเพื่อนบ้านจะมีการทะเลาะวิวาทกันบ่อยมาก แต่พอหลังจากได้คุยกัน เขาก็ปรับพฤติกรรม เช่น การเดินมาเป็นกลุ่มของแรงงานเพื่อนบ้านที่ชอบเดินเต็มถนน รถวิ่งไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ก็ถูกปรับหลังจากได้พูดคุยกัน
“ส่วนชาวประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ที่ไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกัน ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน แต่พอมาทำเรื่องนี้ด้วยกัน ทุกคนก็หันมาไว้วางใจซึ่งกันและกัน คุยกันได้ การช่วยเหลือทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลยไม่ว่าจะงานวัด งานโรงเรียน งานสังคม เราถึงได้แง่คิดว่า การใช้เรื่องภัยพิบัติมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเรื่องอื่นด้วยนั้น สามารถทำได้ และใช้ได้ดี ไม่ว่าจะเรื่องการดูแลทรัพยากร การปลูกป่าชายเลน ความสัมพันธ์ ใช้ได้หมดเลย”
แล้วพี่ประยูรล่ะ เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร? – ฉันถามอีกครั้ง – คราวนี้เขาเงียบไปครู่ใหญ่ ประหนึ่งว่าประยูรที่นั่งอยู่ตรงหน้าของฉัน กำลังพูดคุยกับประยูรในวันนั้น วันที่เขาเชื่อว่า คนเรานั้นไม่เท่ากัน
“ตอนสึนามิ มีคนเสียชีวิตเยอะ คนที่เขามีเงินเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน เขาเสียชีวิตแล้วก็ไม่มีใครพูดถึง แต่พ่อของเราซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้มีเงิน ไม่มีมีฐานะ แต่แกอยู่กับงานสังคมมาโดยตลอด พัฒนาวัด พัฒนาโรงเรียน เป็นเหมือนคนแก่ที่ตักเตือนคนอื่นได้ ทุกคนยอมรับ ใครมีปัญหาแกจัดการให้หมด
“พอแกเสียชีวิตจากสึนามิ เชื่อไหมว่า มีแต่คนพูดถึงว่า เสียดายแก ถ้าแกอยู่ ชุมชน วัด โรงเรียน และการพัฒนาต่างๆ คงจะทำได้ดีกว่านี้” เขายังคงเล่าด้วยเสียงเรียบๆ นัยน์ตาทอดมองทะเลข้างๆ ราวกับว่าสถานที่ตรงนั้น คือตัวแทนของบิดาที่ลาจาก
“พอเราคิดได้แบบนั้น แสดงว่าความเชื่อเดิมของเรามันผิด ผิดตรงที่ว่า เราเคยคิดว่าคนที่มีเงินเท่านั้นที่มีคุณค่า แต่กลายเป็นว่า คนมีเงินที่ตายไปนั้น กลับไม่มีใครพูดถึงเลยแม้แต่คนเดียว แต่คนที่ทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวม ตายไปก็มีแต่คนพูดถึง”
เราเงียบกันไปครู่ใหญ่ เขาดูอ่อนล้าและอิดโรย,
มองจากภายนอก ประยูร จงไกรจักร มีลักษณะเช่นนั้น เขาออกตัวกับเราว่า การเดินทางอันยาวนานด้วยรถทัวร์กว่า 1,367 กิโลเมตร จากอุบลราชธานี สู่ชุมชนบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา คือสาเหตุที่เขาอ่อนแรง เขาไปช่วยเพื่อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคอีสาน และนี่ไม่ใช่แค่ครั้งแรก ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เขาออกเดินทางไปแทบทุกที่ที่เกิดแผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม ไฟป่า เขาไม่เคยรีรอ
ด้วยเพราะสถานที่เหล่านั้น มีเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบภัย ดังเช่นที่เคยเกิดกับเขาเมื่อ 15 ปีก่อน
“ตอนสึนามินั้นเราไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่นิดเดียว สูญเสียแม้แต่กำลังใจ แต่คนที่เราไม่เคยรู้จักเลย เขาแห่มาช่วยเหลือพวกเรามากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศเต็มไปหมด เราเลยมองว่าสังคมมันน่าจะมีอะไรที่มากไปกว่าครอบครัว พอตอนหลังเราถึงมองเห็นว่า ครอบครัวเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของสังคม แสดงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันบ่งบอกถึงความไม่จริงในสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราให้ค่าเฉพาะคนมีเงิน”
แดดเริ่มอ่อนแรง พอๆ กับเราสองคนในบทสนทนาที่ลากยาว ทะเลในวันนั้นมีคลื่นระลอกเล็ก ลมพัดแรง ช่วงเวลา ณ ขณะนั้น คือภาวะ ‘น้ำตาย’ ต้องรอขึ้น 15 ค่ำเสียก่อน เรือประมงที่เกยหาดทอดเป็นแนวยาวจึงจะสามารถโลดแล่นล้อกับผิวน้ำได้อย่างเคย
ประยูรกล่าวทิ้งท้ายก่อนจาก คราวนี้เขาสบตา “ผมเชื่ออยู่อย่างเดียวและเชื่อมาตลอด ว่าชีวิตของมนุษย์มีค่าเท่ากันทุกคน ถ้าชีวิตเรามีค่า 10 พ่อแม่ญาติพี่น้องเรา ลูกเมียเราก็ 10 แรงงานเพื่อนบ้าน คนจน คนจรจัด เขาก็มีค่าเท่ากับ 10 เหมือนเรา แสดงว่าเมื่อทุกคนมีค่าชีวิตเท่ากัน คนเหล่านั้นไม่ควรที่จะเดือดร้อนโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือ เราถึงเลิกทำไม่ได้” เขายิ้ม
คงถึงเวลาอันสมควรที่ฉันและเขาต้องร่ำลา,