ประธานาธิบดียึดอำนาจนายกฯ การเมืองตูนิเซียคุกรุ่น มวลชนแบ่งขั้ว

กลายเป็นเรื่องน่าตกใจเมื่อมีรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2021 ว่า ภายหลังจากสภาวะตึงเครียดทางการเมืองในชาติตูนิเซียกำลังคุกรุ่น ประธานาธิบดีกาอิส เซอีด (Kais Saied) ใช้อำนาจไล่นายกรัฐมนตรี ฮิเชม เมชิชิ (Hichem Mechichi) และยกเลิกการทำหน้าที่ของรัฐสภาตูนิเซียเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตูนิเซียหมิ่นเหม่อยู่บนปากเหวหายนะทางการเมืองที่อาจจะกำลังพาชาติร่วงหล่นไปสู่การใช้อำนาจเผด็จการเฉกเช่นอดีตที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันมวลชนจำนวนมากก็พร้อมใจกันลงถนนเพื่อแสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันไป

การใช้อำนาจของประธานาธิบดีเซอีดในการกระทำดังกล่าว อาศัยอำนาจตามมาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญ จนส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง และรัฐสภาถูกระงับการทำหน้าที่เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งจากมาตรานี้ยังทำให้เอกสิทธิ์และความคุ้มครองของสมาชิกรัฐสภาถูกริบคืน โดยอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจตกไปอยู่ในมือของประธานาธิบดีเซอีดแต่เพียงผู้เดียว

แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีเซอีดนั้นไม่ใช่การกระทำแต่เพียงผู้เดียว หากแต่เขายังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพตูนิเซีย เมื่อภายหลังการประกาศใช้อำนาจดังกล่าว กองทัพตูนิเซียก็ได้เคลื่อนพลเข้าล้อมอาคารรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ท่าทีความร่วมมือระหว่างกองทัพและประธานาธิบดีเซอีดทำให้พรรคที่มีความสำคัญทางการเมืองเป็นอย่างมากในรัฐสภาอย่างพรรค Ennahda ได้ออกมาระบุว่า “การกระทำครั้งนี้ของประธานาธิบดีเซอีดเป็นการรัฐประหาร และมาตรา 80 ไม่ได้มอบอำนาจให้เขาทำเช่นนี้ได้”

เลือกความสงบ จบที่เซอีด

ชนวนเหตุของความขัดแย้งรุนแรงดังกล่าวเริ่มมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งถูกจัดให้เป็นหนึ่งในการระบาดที่เลวร้ายที่สุดในแอฟริกา ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2021 ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อในประเทศตูนิเซียทั้งหมด 573,394 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 18,804 ราย

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของตูนิเซียถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง โดยมีประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่ 20.00 – 05.00 น. ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกจังหวัดจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม และหากจังหวัดใดมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่า 200 กรณีต่อประชากร 100,000 คน จะต้องเพิ่มมาตรการคุมเข้มการเดินทาง ลดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และห้ามกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการรวมตัวของประชาชน 

การจัดการวิกฤติดังกล่าวของรัฐบาลส่งผลให้สาธารณชนเกิดความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเองก็เพิ่งถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อหนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้า เนื่องจากการบริหารจัดการวัคซีนที่ล้มเหลว 

มาตรการจำกัดการเดินทางในตูนิเซีย อัพเดตเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2021

ภายหลังการประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 80 ของประธานาธิบดีเซอีด ก็ได้มีมวลชนนับพันออกมาแสดงความยินดีกับการก้าวเข้ามาทำหน้าที่ของประธานาธิบดีเซอีด และการกำจัดอดีตนายกรัฐมนตรีเมชิชิและพรรค Ennahda ออกไป ท่าทีของประชาชนในตูนิเซียจึงแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเซอีดและกองทัพ กับฝ่ายที่สนับสนุนพรรค Ennahda และผู้ที่ไม่พอใจท่าทีเสมือนรัฐประหาร ประชาชนสองกลุ่มนี้มีปากเสียงและปะทะกันด้วยการขว้างปาก้อนหินที่หน้าอาคารรัฐสภา สร้างบรรยากาศความตึงเครียดทั่วประเทศ  

คำสัญญาของผู้ใช้อำนาจพิเศษ

เป็นที่แน่ชัดว่า การเข้ามามีอำนาจโดยตรงของประธานาธิบดีเซอีดนั้นเกิดขึ้นมาจากสถานการณ์พิเศษ ดังนั้นประธานาธิบดีเซอีดจึงมีคำมั่นสัญญาต่อประชาชนในชาติตูนิเซียว่า จะคืนอำนาจให้แก่รัฐสภาภายใน 30 วัน จัดหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่สามารถรับมือวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และสภาพปัญหาทางการเงินของตูนิเซียได้ และภายหลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้วอาจจะจัดให้มีการเลือกตั้งระดับรัฐสภาใหม่อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน เป้าหมายสำคัญอีกประการของประธานาธิบดีเซอีด คือการผลักดันข้อเสนอในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญและจัดให้มีการทำประชามติระดับชาติ ระบอบใหม่ที่เขากำลังผลักดันจะให้อำนาจประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น พร้อมทั้งจำกัดบทบาทของรัฐสภาให้น้อยลง การลงประชามติในประเด็นดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการจัดให้มีการเลือกตั้งหลังวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว

ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของผู้สนับสนุนพรรคเสียงข้างมากในสภาอย่างพรรค Ennahda ประธานาธิบดีเซอีดได้ขยายระยะเวลาของมาตรการรับมือโรคระบาดไวรัส COVID-19 ออกไป และยังส่งข้อความถึงประชาชนชาวตูนิเซียทุกคนว่า ขอให้อยู่ในความสงบและอย่าสนใจคำกล่าวยั่วยุจากฝ่ายใด พร้อมกล่าวเตือนไปถึงกลุ่มผู้ต่อต้านว่า หากเกิดการใช้อาวุธ กองทัพจะตอบโต้ด้วยกระสุนเช่นกัน

ปัจจุบันท่าทีของสังคมโลกต่อเหตุการณ์ในตูนิเซียยังไม่ชัดเจนนัก และยังไม่สามารถทำนายได้ว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งนี้จะคงอยู่ต่อไปอีกยาวนานเพียงใด อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเซอีดได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ขณะลงมาร่วมเฉลิมฉลองกับกลุ่มผู้สนับสนุนบนถนนเมืองตูนิสว่า “เราตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้แล้ว จนกว่าความสงบสุขในสังคมจะกลับมา และจนกว่าเราจะรักษาชาติเอาไว้ได้”

จากคำมั่นสัญญาดังกล่าว คงต้องจับตาดูว่าประธานาธิบดีเซอีดจะใช้เวลายาวนานเพียงใดในการคืนความสุขให้แก่ประเทศตูนิเซียต่อไป

ที่มา:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า