นับเป็นบรรยากาศสุด exclusive เมื่อ WAY ได้รับเกียรติให้ร่วมพูดคุยกับเหล่านักดนตรีสัญชาติไอริช จากวง Two Door Cinema Club กับการมาเยือนไทยครั้งที่ 3 ในคอนเสิร์ต ‘Two Door Cinema Club Live in Bangkok 2023’ ที่ไบเทคบางนา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
เริ่มต้นวันกันด้วยการแต่งตัวที่สะดวกสบายพร้อมแก่การเหยียดแข้งเหยียดขาเพื่อไปรับชมคอนเสิร์ต และดื่มน้ำผึ้งมะนาวเตรียมเจ็บคอเสียงหายรอไว้ได้เลย
เมื่อมาถึงไบเทค ภิรัชฮอลล์ (Bhiraj Hall) เราเดินดุ่มไปที่ซุ้มลงทะเบียน เพื่อจะนำบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์มาแลกเป็นบัตรแข็งและของที่ระลึกอันมีค่าแก่ใจ
ที่ซุ้ม Merchandise มีเสื้อขายทั้งหมด 2 ลาย ในราคาตัวละ 1,200 บาท ผมตัดสินใจทำภารกิจตัวเบาไปกับกระเป๋าตังค์ คว้าเสื้อมาตัวหนึ่ง ก่อนจะเดินมองหาผู้จัดการวงที่ได้นัดแนะกันไว้
ไม่นานผู้จัดการวงก็จัดแจงพาเราไปเจอสมาชิกทั้งสอง ได้แก่ แซม ฮาลลิเดย์ (Sam Halliday) มือกีตาร์ลีด และ เควิน บาร์ด (Kevin Baird) มือเบสสุดเก๋าของวง ส่วน อเล็กซ์ ทริมเบิล (Alex Trimble) นักร้องนำและกีตาร์ นั้นต้องอยู่เก็บตัวไม่ได้ออกมาพบ
วินาทีที่ได้ย่างกรายเข้าไปในพื้นที่หลังเวที ในห้องประชุมขนาดกลางที่มีเพียงโต๊ะและเก้าอี้กับบรรยากาศที่เงียบสงัด จิตใจก็เต้นสั่นระรัว เมื่อสองหนุ่มนักดนตรีในชุดเสื้อยืดสีขาวสบายๆ เดินเข้ามาทักทาย จับมือ พร้อมเอ่ยนามของตน
“Hi, I’m Sam – I’m Kevin”
เรามีเวลาพูดคุยกันสั้นๆ เพียง 10 นาที ทุกวินาทีต้องคุ้มค่า แต่ใจเจ้ากรรมมันไม่ให้ความร่วมมือเลย มันตื่นเต้นจนลืมทุกอย่างที่เตรียมมา จึงเริ่มด้วยคำถามเบสิกเพื่อทำความรู้จักกันก่อน
พวกคุณเพิ่งถึงไทยเมื่อวานนี้ ประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
เควิน: (อากาศ) ร้อนดีนะ พวกเราตื่นเต้นมาก เป็นเวลาหลายปีแล้วที่เราเคยมาเมื่อครั้งก่อน เรามีแต่ช่วงเวลาดีๆ ที่นี่ พวกเราชอบอาหารไทยมาก เราไปเที่ยวตลาดรถไฟตอนกลางคืนมา แล้วมันสนุกมาก
แซม: ใช่ มันดีมาก เราเล่นฟุตบอลเท้าเปล่าด้วย แล้วก็ไปเดินเล่นในตลาด
ผมติดตาม IG พวกคุณอยู่ เห็นคุณลงในสตอรีด้วย
เควิน: ใช่ ผมโพสต์เอง
แซม: อ๋อ นายเองเหรอ
เควิน: ใช่ ฉันเอง
เอาล่ะ นี่เรียกว่าเป็นอัลบั้มที่ 4 ได้ไหมครับ
เควิน: ช่ายยย (ลากเสียงยาว) ก็น่าจะได้มั้งนะ (หัวเราะ)
ผมพอจะรู้ว่า ช่วงระหว่างอัลบั้มที่ 2 และ 3 ดูเหมือนจะมีช่วงรอยต่อบางอย่าง พวกคุณพอจะบอกอะไรได้บ้างไหม ในแง่ของทิศทางความเป็นไปของวง
เควิน: ไม่รู้สินะ ผมคิดว่าการทำอัลบั้มก็เหมือนการกดชัตเตอร์ที่จะเก็บภาพช่วงเวลาเหล่านั้นของพวกเรา
แน่นอนเมื่อเราโตขึ้น เราเปลี่ยนไป เราวิวัฒน์ไป เราพยายามทำสิ่งใหม่ๆ หาสิ่งใหม่ที่ทำให้ตื่นเต้น เราทำสิ่งแตกต่างไปเรื่อยๆ ล่ะมั้ง
เราพยายามลองแนวทางใหม่ๆ ทั้งร็อก พั้งก์ ลองเล่นจังหวะที่ช้าลง หรือไปในแนว Stripped Back (กลับไปสู่พื้นฐานที่เรียบง่าย) หรือเป็นเพลงป็อปตรงไปตรงมา ผมว่ามันเหมือนผสมรวมๆ กัน
โดยทั่วไปมันจะเป็นมาตรฐานทางดีเอ็นเอของพวกเรา ในทุกสิ่งที่เราทำ แต่ตอนนี้เราลองทำสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วย
อะไรคือแรงบันดาลใจในแต่ละอัลบั้ม ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปี 2007 จนถึงตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงมากมายเหล่านั้นมาจากอะไร
แซม: ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องของดีเอ็นเอ เราเป็นวงดนตรีที่มี 3 คน มันคือสิ่งที่เราเป็น แต่เราก็มีวงดนตรีที่มักจะย้อนกลับไปฟังเสมอ เช่น The Strokes, Idlewild และ The National
นอกจากดนตรีแล้ว มีสิ่งบันเทิงอื่นๆ ที่พวกคุณชอบดู หรือทำไหม
เควิน: พวกเราเดินทางบ่อย เราก็พอมีเวลาพอสมควรนะ
แซม: การเดินทางเหล่านั้นมีผลแน่นอน ประสบการณ์ทั้งหลาย รวมไปถึงการได้เจอของเล่นใหม่ๆ ที่เอามาทำเพลง เช่น Saddle (ส่วนประกอบหนึ่งของกีตาร์) อุปกรณ์ดนตรีใหม่ๆ และเมื่อเวลาผ่านไป คุณก็แวดล้อมไปด้วยสิ่งของมากมาย เป็นกรุเก็บอุปกรณ์ดนตรี
เควิน: ใช่ ผมคิดว่าบางที เราค้นพบสิ่งใหม่ในทุกๆ อัลบั้มค่อนข้างมาก มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยในการทำงานของเรา มันอาจเป็นลักษณะว่าทุกคนต่างพักอาศัยกันคนละที่ และไม่ว่าจะเป็นการที่เรามารวมตัวกันที่สตูดิโอ หรือเราอาจจะส่งชิ้นงานหากันไปมาทางอีเมล
หลังๆ มันก็เป็นความจำเป็นด้วยเงื่อนไขของเวลา และมีสิ่งอื่นๆ ต้องทำมากมายในชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เราก็ลงเอยด้วยการพยายามทำเพลงที่เรียบง่าย ซึ่งมันก็สนุก และผมคิดว่ามันก็ดีนะ
เมื่อก่อนนี้ เวลาที่เรามารวมตัวกันในสตูดิโอเป็นเวลานานๆ มันก็ทำให้เราเล่นสนุกและกล้าเสี่ยงที่จะหาอะไรมาโยนใส่เข้าไปในเพลงของเราได้มากมาย และกลายมาเป็นภาระใหญ่อย่างหนึ่ง
จนถึงตอนนี้ผมคิดว่า เราพยายามมองหาความสุขใจ และสนุกไปกับการทำอะไรเรียบง่าย เช่น เพลง Wonderful Life และ Lucky สองซิงเกิลในอัลบั้มใหม่ แม้จะปล่อยมาเป็นปีแล้วก็ตาม สองเพลงนี้มีความเป็นเพลงคลาสสิกแบบเรียบง่าย (simple classic) เป็นไปได้ว่าพวกเรายังคงมีดีเอ็นเอเหล่านั้นอยู่ แต่อาจจะมีซาวด์ดนตรีที่เปลี่ยนไปตามเวลา ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมที่เรามี
เอาล่ะ นี่เป็นคำถามที่ผมอยากเห็นปฏิกิริยาจากพวกคุณ ลองดูนะ
(ทั้งสองยิ้มและพยักหน้าขานรับว่า ลองดูสิ)
พวกคุณแปลกใจไหมกับระดับความสำเร็จของพวกคุณ พิจารณาจาก…”
“Are you surprised by the band’s level of success, considering…”
(หากใครเป็นแฟนตัวยง คงจะคุ้นหูกับคำถามนี้ เพราะเป็นคำถามที่โผล่เข้ามาในตอนต้นของ MV เพลง Changing of The Seasons)
ทั้งแซมและเควินขำขันให้กับคำถามนี้ ก่อนจะตอบว่า
แซม: ผมประหลาดใจทุกครั้งได้ยินคำถามนี้ เพราะผมคิดว่า มันก็มีวงในสหราชอาณาจักรที่ถูกถามแบบเดียวกันอย่าง The Aaron เช่นกัน และอีกหลายวงเลย แต่ผมคิดว่าเราเป็นวงไม่กี่วงเท่านั้นที่ได้ทำสิ่งที่เราทำ และเราก็ทำมันมาตลอด อย่างย้อนไปในปี 2010 อัลบั้มแรก พวกเราเกิดไอเดีย (ของคำถามนี้) ขึ้นมา มันก็แปลกดี ผมคิดว่านะ
บางคนเรียกพวกคุณว่า เป็นวง underrated (ถูกประเมินไว้ต่ำกว่าที่ควร) พวกคุณคิดอย่างไร
เควิน: มันเป็นสถานะที่แปลกดีนะ
แซม: ผมยินดีจะเป็นวง underrated มากกว่า overrated (ประเมินไว้สูงเกินจริง) นะ
เควิน: มันแปลกสำหรับพวกเรา เพราะผมคิดว่าคุณสนใจสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หรอก คือมันก็ดีนะเวลาผู้คนบอกว่าคุณเยี่ยม หรือให้รางวัลอะไรกับคุณหรืออะไรก็ตาม แต่ว่าพวกเราไม่ได้ทำดนตรีเพื่อจุดประสงค์นั้น และมันก็เป็นอะไรที่แปลก ผมหมายถึง ระบบคิดในการให้คุณค่าเหล่านี้ เพราะมันเกี่ยวกับว่าผู้คนตอบรับกับดนตรีของเรา หรือโชว์ของเราอย่างไร มันเป็นสิ่งที่อัตวิสัย มันแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน และผมคิดว่า พวกเราก็ไม่ได้แยแสอะไรมาก เราก็สนใจแต่เรื่องของเราและสิ่งที่เราเป็น
บางทีนั่นอาจเป็นสิ่งที่คุณพยายามรักษาตัวตนเอาไว้ – ดีเอ็นเอของคุณ
แซม: ใช่ แน่นอนเลยล่ะ ผมคิดว่ามันเยี่ยมมากที่เราไม่ได้มีเพลงฮิตเพลงดังสักเพลงหนึ่งไปติดท็อปชาร์ต แล้วหลังจากนั้นทุกอย่างก็ ‘พุฟ’ ล่วงลงเหวไปแบบนั้น
มันดีมากเลยที่คิดว่าพวกเราเป็นแค่วงดนตรีวงหนึ่งที่ผู้คนอยากไปร่วมทัวร์ และไม่แน่ก็อาจไปสู่อะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า
สำหรับในโชว์วันนี้ มีอะไรที่อยากจะพูดไหม
เควิน: พวกเราตื่นเต้นสุดๆ ไปเลย กับการได้กลับมาเมืองไทย และหวังว่าเราจะได้เห็นผู้ชมที่คุ้นหน้าคร่าตากันมาบ้าง แฟนคลับชาวไทย ใช่ พวกเราแค่ดีใจมากๆ ที่ได้มาที่นี่ และเราเฝ้ารอจะได้เจอทุกๆ คนครับ
และแล้วคอนเสิร์ตก็เริ่มขึ้น
ก่อนจะจากกัน ผมและทีมงานขออนุญาตถ่ายรูปกับศิลปินทั้งสอง พวกเขาก็ยินดี และนั่นก็เป็นวินาทีที่ผมรำพึงกับตัวเองว่า เออ ไม่น่าใส่ชุดสบายๆ มาเลย น่าจะแต่งตัวหล่อๆ สักหน่อย ปัดโธ่เอ้ย ฮ่าๆๆ
พวกเราเข้าไปในฮอล และได้เห็น 2 วงดนตรีเล่นเปิด นั่นก็คือวง Panician และ Sobboy เป็นวงดนตรีชาวไทยที่มาร่วมสร้างบรรยากาศให้พร้อมแก่การกระโดดโลดเต้นเป็นอย่างดี ทำเอาบางคนไม่ออมแรงเผื่อไว้สำหรับ Two Door Cinema Club ถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว
และแล้วก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญ 21.00 น. ไฟทั้งฮอลมืดดับลง ทุกอย่างสงัดนิ่ง ผู้คนยืนสงบเงียบ อุณหภูมิเริ่มระอุ จนกระทั่งดนตรีดังขึ้น เป็นทำนองของเพลง This is The Life เสียงเฮดังตามมาทันที สปอตไลต์ฉายลงไปบนเวที พร้อมจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่เว้าโค้งเป็นฉากทัศน์วิดีโอที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับบทเพลง แต่ไม่ดึงดูดสายตาผู้ชมจนเกินไป หรือบดบังรัศมีของศิลปิน
อเล็กซ์มาในชุดสูทสีม่วงชมพู แสงสีสปอตไลต์กระทบสลับไปมา ทำให้มองเห็นสีสูทเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะทั้งเสียงลีดกีตาร์ เบส หรือ กลอง กับเสียงร้องของอเล็กซ์ ล้วนประสานกันอย่างลงตัว ไร้ตะเข็บรอยต่อ ก้องกังวานไปทั้งฮอล
ไม่รู้ตัวเลยว่า ผ่านไปกี่เพลงต่อกี่เพลงแล้ว แต่รู้ว่าทุกเพลงที่ได้ยินได้ฟัง ไม่เพียงดึงเอาความทรงจำในวันวานจากเมื่อแรกเริ่มฟังออกมาได้ แต่ยังสร้างความทรงจำใหม่ที่ตราตรึงไปพร้อมๆ กัน
ผสมผสานคละเคล้าไปทุกเพลงตั้งแต่อัลบั้ม Beacon หรือ Gameshow, False Alarm แต่ดูเหมือนว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะเน้นไปที่เพลงในอัลบั้มแรกคือ Tourist History และยังมีเพลงพิเศษในอัลบั้มนี้อย่าง Costume Party รวมไปถึงเพลงที่เราพูดถึงไปก่อนหน้า อย่าง Changing of The Seasons และเพลงใหม่ที่อยู่ในอัลบั้มล่าสุดทั้ง Wonderful Life และ Lucky
เพลง Next Year เป็นเพลงที่ติดตรึงใจเป็นการส่วนตัว ด้วยเทคนิคการไล่เสียงจากซ้ายไปขวาทั่วทั้งฮอล พร้อมกับเสียงร้องของอเล็กซ์และซาวด์ของดนตรีทั้งหมด กอปรรวมกันแล้วมันทำใจคนฟังสุกงอม
หรือเพลง Do You Want It All เพลงที่โชว์ดีเอ็นเอของ Two Door Cinema Club ชัดเจนที่สุด เนื่องจากเป็นเพลงที่มีจังหวะที่แปลกหู ด้วยทำนอง 7/4 คือ 1 ห้องมี 7 จังหวะ ไม่ใช่เพลงที่หาฟังได้ทั่วไป และการได้ดูการแสดงสดต่อหน้า ฟังสดต่อหู ช่างเป็นความอิ่มเอมเสียจริง
ท่วงท่าการเดิน การนั่ง การออกไม้มือของอเล็กซ์ช่างดูเท่เนี้ยบ ละเมียดละไมมาก เป็นสไตล์หน้านิ่ง พูดน้อยต่อยหนัก เสียงทรงพลัง ส่วนแซมและเควินไม่ต้องสาธยายให้มาก เพราะทั้งสองก็มีช่วงไฮไลต์ของตัวเองอย่างไร้ที่ติ
ตลอด 21 เพลงต่อเนื่อง ในระยะเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง คือความเพลิดเพลินเบิกบานอย่างที่สุด
ศิลปินออกมาโบกมือร่ำลาผู้ชม คอนเสิร์ตครั้งนี้ได้จบลง แต่ความรู้สึกยังคั่งค้าง เหมือนหลุดเข้าไปในห้วงอารมณ์ที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม เหนื่อยแค่ไหนก็ไม่อยากให้หยุด ทว่าเสียงดนตรีที่ค่อยๆ เฟดลง เป็นสัญญาณบอกว่าเราคงต้องกลับแล้วล่ะ
ขอขอบคุณผู้จัด Defiance Entertainment
ขอบคุณตัวเองที่ไม่พลาดโอกาสนี้
และขอขอบคุณ WAY ที่อนุญาตให้เราได้ทำสิ่งที่รัก… บ้าง (หยอก)