‘Unisex’ มากกว่าแฟชั่นคือความเท่าเทียม

ยุคปัจจุบันกระแสนิยมและแนวคิดใหม่ๆ ว่าด้วยเรื่องเพศสภาพเกิดขึ้นมากมาย แฟชั่นเครื่องแต่งกายก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีการขยับตามความเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นกัน และเมื่อเรามองดูเทรนด์แฟชั่นในสังคมร่วมสมัย ความสงสัยมากมายก็ผุดขึ้น สังเกตได้จากที่สมัยนี้เริ่มมีเหล่าศิลปิน ดารา หรือแม้แต่คนรอบตัววัยรุ่นด้วยกัน เริ่มหันมาแต่งตัวแบบ ‘unisex’ จนเป็นกระแสไวรัลให้เห็นกันบ้าง หรือบางทีก็มักพบได้จากคอนเทนต์ใน YouTube Facebook หรือสื่อโซเชียลทั้งหลาย 

หมวดเสื้อผ้าแฟชั่นประเภทหนึ่งอย่าง unisex อันหมายถึงแฟชั่นที่เหมาะสมกับทุกเพศ ไม่แบ่งแยกในความเป็นชาย ความเป็นหญิง ซึ่งแม้จะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุค ’60 แต่คำว่า unisex ณ วันนี้ อาจมีหน้าตาเปลี่ยนไป เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน

แฟชั่นและบทบาททางเพศในทุกช่วงเวลา

จากบทความ A Brief History of Unisex Fashion โดย นักข่าวด้านแฟชั่น คิมเบอร์ลี คริสต์มาส-แคมป์เบล (Kimberly Christmas-Campbell) กล่าวไว้ว่า เสื้อผ้าที่เป็นกลางทางเพศนั้นกลับมาเป็นแฟชั่นอีกครั้ง ซึ่งความนิยมในหลายๆ ด้านได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวงกว้างตลอดศตวรรษที่ 20

บทความนี้ได้ยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2015 เมื่อห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส (Selfridges) ในลอนดอนได้ปรับปรุงโฉมใหม่ทั้งหมด โดยเปลี่ยนพื้นที่ 3 ชั้นของศูนย์การค้า เป็นโซนที่เป็นกลางทางเพศ (gender-neutral) ซึ่งต่างไปจากการแบ่งเป็นโซนบุรุษ-สตรีที่คุ้นตา มีหุ่นลองเสื้อที่ยากจะระบุว่าเป็นเพศใด กับเสื้อผ้า unisex ที่ถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์ เช่น ไฮเดอร์ อัคเคอร์มันน์ (Haider Ackermann), อัง เดอเมอเลเมสเตอร์ (Ann Demeulemeester) และ กาเรธ พิวจ์ (Gareth Pugh) และเว็บไซต์ของร้านค้าได้รับการออกแบบใหม่แบบ ‘ไร้เพศ’ โดยแสดงผลิตภัณฑ์เดียวกันทั้งสำหรับผู้ชายและผู้หญิงด้วยการใช้คำเรียกว่า ‘Agender’ ป๊อปอัพสโตร์ที่ว่านี้มอบประสบการณ์ใหม่ในการช็อปปิ้งที่แม้จะไม่ใช่การปฏิวัติรูปแบบของห้างสรรพสินค้า แต่ก็นับว่าเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จ

ห้างสรรพสินค้า Selfridges | photo: designweek.co.uk

ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อคุณพบมนุษย์ ความแตกต่างแรกที่คุณเห็นคือ ‘ชายหรือหญิง’ และเพศเป็นสิ่งที่คุณใช้แบ่งแยกมนุษย์โดยไม่ลังเล”

แต่ถ้าฟรอยด์มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 20 แทนที่จะเป็นศตวรรษที่ 19 เขาอาจจะลังเลขึ้นมาบ้าง เพราะยุคนี้บรรทัดฐานทางเพศและความเท่าเทียมกำลังถูกท้าทาย ตั้งคำถาม และถอดรื้อ โดยมีเสื้อผ้า unisex เป็นเครื่องแบบของเหล่าทหารในสงครามวัฒนธรรม

เสื้อผ้า unisex เป็นปฏิกิริยาต่อการแบ่งแยกบทบาททางเพศอย่างเข้มงวดของเหล่าบูมเมอร์ในยุค ’50 เสื้อผ้าเหล่านี้จึงมีแรงบันดาลใจเพื่อลบเลือนพรมแดนระหว่างเพศ อย่างไรก็ตาม แฟชั่น unisex ก็มักนำเสนออกมาในรูปแบบ ‘ยูนิฟอร์ม’ ที่ค่อนไปในทางเพศชายอยู่ดี

อีกหนึ่งบทความที่อธิบายกระแสแฟชั่นกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งได้พูดถึง unisex ที่เกิดขึ้นในหมู่ฮิปปี้ยุค ’60 นั่นคือบทความ Runway revolution: Can we tie unisex fashion trends to gender equality? ของ แมรี ริซโซ (Mary Rizzo) โดยกล่าวไว้ว่า ก่อนที่เราจะพูดถึงโลกของแฟชั่นหลังเพศ สิ่งสำคัญคือต้องแยกความแตกต่างระหว่างการตลาดและความก้าวหน้าที่แท้จริงที่มีต่อความเท่าเทียมทางเพศ แน่นอนว่าแฟชั่นสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ แต่บ่อยครั้งที่แฟชั่นจะใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยการเสริมความงามให้ดูแหวกแนวและสร้างผลกำไรในเวลาเดียวกัน 

และเพื่อให้เข้าใจว่าแฟชั่นหมายถึงอะไร เราจำเป็นต้องเข้าใจในบริบททางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน 

ก่อนการมาของแฟชั่น unisex ชุมชนสังคมนิยม New Harmony ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1824 ยอมให้ทั้งชายและหญิงสวมกางเกงขายาวได้ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นเรื่องอื้อฉาวและท้าทายอย่างยิ่ง และเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้เป็นอย่างดี อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อ อมีเลีย บลูเมอร์ (Amelia Bloomer) นักรณรงค์ด้านสิทธิสตรี ได้เรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถสวมกางเกงขาสั้นใต้ชุดเดรสของพวกเธอได้ กางเกงนี้จึงถูกเรียกว่า ‘bloomer’ 

แฟชั่น unisex สอดรับกับแนวคิดของวัฒนธรรมฮิปปี้ที่เน้นความกลมกลืนเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์ ทั้งยังไปกันได้ดีกับการที่ทั้งชายและหญิงยุคนั้นต่างก็ไว้ผมยาวจนแยกไม่ออก

แฟชั่นฮิปปี้
b-girl

จวบจนกระทั่งเมื่อวัฒนธรรม hiphop เข้ามาเป็นกระแสหลัก แฟชั่น unisex ก็ยังกลมกลืนอยู่ในเครื่องแต่งกายของเหล่านักเต้น b-boy และ b-girl ที่เน้นไปที่ความคล่องตัวทางกายภาพมากกว่าการแบ่งแยกทางเพศ

ปรากฏการณ์ unisex ในไทย และเสรีภาพการแต่งกาย 

ตัดภาพมายังประเทศไทยที่ล่วงเข้าสู่ปี 2565 หรือที่ว่ากันว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย เรียกได้ว่าเป็นยุคที่แนวคิดใหม่ๆ เริ่มกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักของคนเจน Z ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการท้าทายขนบความคิดแบบเก่า โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ทำให้สังคมมีทัศนคติและมุมมองเรื่องเพศในหลายมิติมากขึ้น 

มุมมองเรื่องเพศของคนรุ่นใหม่เป็นที่ถกเถียงและถูกยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคมเริ่มตระหนักถึงความหลากหลายของผู้คน และเมื่อประเด็นความหลากหลายทางเพศถูกขับเคลื่อน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมแฟชั่นก็เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็มีการออกแบบภายใต้นิยาม unisex ด้วยเช่นกัน

กระแสความตื่นตัวเมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา เหล่าดาราและศิลปินในประเทศไทยเริ่มแต่งตัวด้วยสไตล์ unisex ให้เห็นอยู่ไม่น้อย ซึ่งพวกเขาต่างยืนยันว่า การแต่งตัวไม่เพียงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับกันและกันในเรื่องเพศเท่านั้น แต่ยังแสดงถึง self-esteem หรือการเห็นคุณค่าในตนเอง

อย่างไรก็ดี unisex อาจไม่ได้เป็นเครื่องแต่งกายที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองกลุ่ม LGBTQ+ โดยตรง ต่างจากแฟชั่นของ LGBTQ+ ที่จะค่อนข้างโดดเด่นจัดจ้านมากกว่า เพื่อเน้นการสำแดงอัตลักษณ์ตัวตน

การแสดงออกผ่านการสวมใส่เสื้อผ้าอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คนสามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ของตนไปสู่โลกภายนอกได้อย่างเสรี และในขณะที่แฟชั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ก็ไม่อาจไปได้ไกลมากนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มุ่งเน้นการสร้างผลกำไรเป็นหลัก

ในท้ายที่สุด แฟชั่นก็คืออุตสาหกรรมที่แลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับความแปลกใหม่และสุนทรียศาสตร์เพื่อให้บรรลุอุดมคตินี้ โดยมีนักออกแบบเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากผู้ถูกกดขี่ในอดีต 

แต่ก่อนที่เราจะยินดีกับอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ทำให้การแบ่งแยกเพศเป็นเรื่องของอดีต สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจแรงจูงใจ แนวทางปฏิบัติ และข้อจำกัดของตัวมันเองด้วยเช่นกัน 

ในโลกยุคใหม่ที่ผู้คนเริ่มเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศว่าเป็นสิ่งปกติ สิ่งที่เคยมองว่าแปลกก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกในสายตาคนทั่วไป สุดท้าย unisex ซึ่งเป็นแฟชั่นที่ไม่ได้ถูกผูกติดกับเพศใดๆ ก็อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปขนาดไหน สิ่งที่ต้องยึดหลักการไว้ให้มั่นก็คือ เราทุกคนล้วนมีสิทธิในการแต่งกายอย่างเสรี บนพื้นฐานของการเป็นตัวของตัวเอง และมีคุณค่าในตัวเอง เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว 

อ้างอิง

ภัชรกรณ์ โสตติมานนท์
รับบทสาวเหนือหนีมาฝึกงานที่บ้าน WAY หลงใหลในศิลปะ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และของกินแสนอร่อย

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า