ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ภาพของเหล่าศิลปินมากมาย อาทิเช่น สมเกียรติ, Awat Mints, Electric neon lamp, Fever, H3F, Kitty Chicha, Loserpop, Max Jenmana, Moving and Cut, Neuterlover, Polycat, SafePlanet, Summer Stop, T_047, The10th Satureday กับอาภรณ์ เรือนร่าง และเครื่องดนตรี ถูกทาบทับด้วยสีน้ำเงินเข้ม เพื่อแสดงออกถึงเจตจำนงค์ต่อสิทธิและเสรีภาพ ไปจนถึงการต่อต้านความรุนแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตในสถานการณ์การสลายชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ภาพถ่ายชุดนี้ ถูกบันทึกในงาน Cat Expo7 ในโปรเจกต์ #unmutedpeople พวกเขาชูสามนิ้วด้วยแววตาที่มุ่งมั่น บ้างเอาสีน้ำเงินสาดซัดเรือนร่างด้วยลวดลายอิสระ บ้างนำเทปกาวแผ่นหนาทาบทับบนปาก เหล่านี้คือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ เพื่อตั้งคำถามกับสังคมอย่างตรงไปตรงมาว่า ควรแล้วหรือที่ศิลปินต้องปิดปากและหลีกเร้นทัศนะให้มิดชิด และในฐานะศิลปิน ประชาชน และมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขามีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมในการแสดงออกทางการเมืองใช่หรือไม่
“แม้ว่าสีน้ำเงินของพวกเราจะไม่อาจเทียบได้กับความรุนแรงของสารสีน้ำเงินที่ผู้ชุมนุมได้รับจากการกระทำของรัฐ แต่พวกเราศิลปินทุกวงขอแสดงออกเพื่อยืนยันในจุดยืน ว่าประชาชนทุกคนควรมีอิสระในการส่งเสียง ไม่ว่าความคิดเห็นของแต่ละเสียงจะเป็นเช่นไรก็ตาม” ข้อความบนป้ายประกาศของ #unmutedpeople
WAY ถามถึงทัศนะของศิลปิน ณ วินาทีที่พวกเขาชูสามนิ้วว่า ‘ข้างในของคุณรู้สึกอย่างไร’
Neuterlover
ข้างในมันร่ำร้องว่านี่คือเวลาของประชาชน
เราจะทวงสิทธิความเป็นมนุษย์ของเราคืนมา
Neuter Lover (นิวเตอร์ เลิฟเวอร์) เริ่มงานสายดนตรีด้วยการเป็น Bedroom Studio Artist ที่รู้จักในวงการดนตรีนอกกระแสระยะเวลานานกว่า 10 ปี
เสียงขิมจากเครื่องดนตรีไทยถูกบรรจุอยู่ในหลายบทเพลงของ Neuter Lover ทำลายขีดจำกัดของดนตรีที่มักถูกกำหนดขอบเขตอยู่ในไทยเนื่องจากเงื่อนไขของวัฒนธรรม คลอเคล้ากับแนวดนตรี electronic และ post-rock ผสมผสานเสียงกีต้าร์ แบบ Shoegaze ดังกระหึ่มและแตกพร่าอย่างเป็นเอกลักษณ์ เพื่อส่งต่อความบิดเบี้ยวของจิตใจมนุษย์ ความโหดร้ายของชีวิต และความหวังในการค้นหาโลกใบใหม่ จากประสบการณ์ของ ‘อภิชญา จินดาพล ไชยพยอม’ หรือ ‘ตั๋ม’
ดนตรีช่วยชีวิตของตั๋มไว้ได้ทุกครั้งเมื่อความรู้สึกแหลกสลาย ตั๋มจึงเริ่มปลดปล่อยด้านมืดในใจผ่านบทเพลงมาตั้งแต่เข้าสู่ชีวิตวัยรุ่น
พร้อมทั้งเสียงร้องที่แฝงไปด้วยอารมณ์อัดอั้นในโทนเสียงเย็นยะเยือก ด้วยคอนเซปต์ที่ว่าดนตรีของตนนั้นไม่มีเพศ
การแสดงออกทางดนตรีของตั๋ม ไม่เพียงแต่ต้องการนำเสนอจากเรื่องราวส่วนตัวของเธอเท่านั้น เธอยังใช้มันเป็นตัวแทนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทย ณ ขณะนี้อีกด้วย การร่วมร้องเพลงและเต้นรำกับผู้ชุมนุมจะเห็นได้จากหน้าสื่อของเธอบ่อย ๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่ในฐานะศิลปินที่มีชื่อเสียง แต่เป็นการแสดงออกของบุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้ความสามารถอย่างสันติวิธี
แทรคแนะนำ: This World Is Wrong
Summer Stop
เรารู้สึกถึงความไม่ปกติและความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นในสังคม มันครอบงำประเทศนี้เอาไว้ไม่ให้ไปไหนมานานแล้ว เราอยากเห็นอะไรที่ปกติและดีขึ้นอย่างที่ควรเท่านั้นเอง การออกมาชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกว่า เราจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่กดขี่ประเทศนี้ไว้อีกต่อไป
Summer Stop (ซัมเมอร์ สต็อป) ‘เมื่ออุณหภูมิความร้อนลดลง ความหนาวเย็นจะเข้าปกคลุม’ กลุ่มดนตรีที่รวมสมาชิกจากชุมนุม TU Folksong แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สังกัดค่ายเพลง Smallroom ประกอบด้วย เอิง – ดนุพรรษ์ ยาท้วม (ร้องนำ/กีต้าร์) แมว – วัฒน์สุ สิทธิปิยะสกุล (คีย์บอร์ด/คอรัส) และโดม – ธิติภัทร รวมทรัพย์ (กลอง)
ผลิตดนตรี Pop ผสมผสาน Electronic สอดแทรกความยูนีคโดยเครื่องดนตรี Synthesizer โปรยกลิ่นอายความรู้สึกอบอุ่นท่ามกลางความหนาวเหน็บ และความเย็นสบายระหว่างความร้อนระอุ ด้วยวิธีการร้อยเรียงแบบ Australian Sound ทำให้เสียงฉ่ำเต็มอิ่มและกังวานจากการใส่ Reverb ที่ไม่เหมือนใคร
ความรัก ความเศร้า ความเหงา ไม่ได้มีอยู่เพียงบนเนื้อร้อง หากได้ลองฟังจะได้พบกับสิ่งที่ซัมเมอร์ สต็อปตั้งใจออกแบบให้แต่ละบทเพลง คือบรรยากาศที่แตกต่างกัน โดยดีไซน์เชื่อมโยงเข้ากับดนตรีเท่ห์ ๆ ตามสไตล์ของวง ทำให้มีหลากหลายมิติในการฟังเพลงหนึ่งเพลง อย่างเพลงฮิต ไม่เปลี่ยน, อยากให้เป็นอย่างนี้ทุกวัน, เจอหน่อย, ไปต่อ และเงื่อนไข
แทรคแนะนำ: ถ้าเรายังเป็นเด็ก | KIDS
T_047
รู้สึกภูมิใจกับความเป็นมนุษย์ ที่มีสิทธิ์จะคิดและแสดงออกได้อย่างมีอิสรภาพ เสรีภาพ ขณะเดียวกัน การแสดงความขัดขืนต่ออำนาจใดๆ ที่กดหัวเรา เพื่อเราอยู่ในกรอบ หรือพร้อมจะสร้างและโยนความผิดใดๆ ในการลดทอนเสรีภาพที่เราต้องการด้วยความบริสุทธิ์
T_047 นำเสนอเพลงพร้อมแคปชันที่เริ่มมาจากการลงภาพถ่ายของบ้านหลังเดิมกับท้องฟ้าในวันต่าง ๆ บน Instagram สมาชิกประกอบด้วย ตูน-ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ (ร้องนำ/กีต้าร์คอร์ด), ไบรท์–วิชชัน วงศ์ปรีชาโชค (กีตาร์โซโล/คอรัส), ป็อป–ภูมิภูริณัฎฐ์ เดชาปัญญาสิทธิกุล (ดีเจมเบ้) และ บี๋–ศรุตา นิลโกสิตย์ (ไวโอลิน) รวมตัวกันทำดนตรีด้วยมุมมองความคิดและความรู้สึกของผู้คนวัยหนุ่มสาวที่มีความสวยงามในชีวิต แม้จะเกิดการตั้งคำถามในเรื่องราวความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว
การกำหนดแนวเพลงไม่ใช่ความสำคัญอันดับหนึ่งของวง T_047 แต่เป็นความหมายในเนื้อเพลงที่ต้องการแจกจ่ายให้กับผู้ฟัง ด้วยถ้อยคำภาษาเข้าใจง่าย เหมือนได้อ่านไดอารีชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ส่วนเครื่องดนตรีเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศครอบคลุมเมสเสจ เหล่านั้น โดยตัดสินใจเลือกแค่ว่าดนตรีแบบไหนเล่าเรื่องได้ดีและเหมาะสมกับเมสเสจนั้นที่สุด ไม่ต้องการความคาดหวังในดนตรีที่สมบูรณ์แบบ แต่ต้องการให้มันเหมือนกับการฟังเพื่อนล้อมวงเล่นดนตรีในบ้านมากกว่า
แม้ T_047 จะเติบโตขึ้นบนสื่อออนไลน์ แต่ก็ยังมีความเป็นศิลปินที่เห็นได้ชัดจากผลงานเสมอมา จากการฟังด้วยหู ดูด้วยตา สัมผัสด้วยใจ ในแนวคิด เนื้อร้อง ทำนอง จังหวะและคำบรรยาย ที่หลายคอมเม้นท์ส่งต่อความรู้สึกในทางเดียวกันว่าช่วยปลอบประโลมความรู้สึกที่อาจจะอยู่ในใจลึก ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดขอบเขตบนเงื่อนไขทางดนตรีใด ๆ
แทรคแนะนำ: ไม่มีคนบนฟ้า
The10th Saturday
รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องแสดงออกให้น้องๆ รับรู้ว่าเราสนับสนุนการสร้างอนาคตแบบที่พวกเขาต้องการ คนรุ่นเราทำพลาดปล่อยให้ปัญหามันรุงรังจนถึงรุ่นเขา อย่างน้อยที่สุดที่ทำได้คือให้กำลังใจและสนับสนุนด้วยอะไรก็แล้วแต่ที่เราพอจะทำได้ สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ควรได้รับความสำคัญมากที่สุด เราไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาจากการกระทำโดยรัฐ เราถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องออกมาต่อต้าน
The 10th Saturday (เดอะ เท็นธ์ แซเทอร์เดย์) ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 นิยมใช้เครื่องดนตรี Synthesizer สร้างเสียงสังเคราะห์เป็นดนตรีแนว Electropop ยกระดับวงการเพลงขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการผสมผสานกับ Modern Rock ในรูปแบบเพลงร็อคยุคใหม่ที่มีสำเนียงเฉพาะตัว จนเกิดออกมาเป็นดนตรีแนว Synth pop ล้ำ ๆ ราวกับหลุดมาจากห้วงอวกาศ
สมาชิกในวงประกอบด้วย เบลล์-เบญจรัตน์ วิศิษฐ์กิจการ (ร้องนำ), ฝ้าย-นริศรินทร์ จันทร์พรายศรี (เบส) และ บ๋อม-สุวาทิน วัฒนวิทูกูร (กลอง)
แน่นอนว่าเพลงนอกกระแสกำลังเริ่มนำเสียงสังเคราะห์เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีมากขึ้น แต่เดอะ เท็นธ์ แซเทอร์เดย์ สามารถเขย่าวงการเพลงนี้ได้โดยแนวคิดใหม่ ๆ จากจินตนาการที่ไม่เหมือนใคร แม้จะใช้แนวดนตรีคล้ายกัน อย่างเพลง Comatose ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือการแพยท์ ทั้งในลักษณะรูปธรรมและเสียง มาจัดวางเป็นภาพในมิวสิควิดีโอจนเกิดการแต่งเพลงขึ้นมา
โดยเนื้อเพลงให้ความหมายเปรียบเทียบความสัมพันธ์ที่อยู่ในอาการโคม่า ก้ำกึ่งระหว่างทางรอดและไม่รอด
ซ้ำยังให้ความสัมคัญกับ styling ของแต่ละเพลงอย่างมาก ทั้งการคุมโทนสี การออกแบบภาพ ทำให้ผู้ชม MV ที่เห็นทั้งภาพและเสียงเหมือนได้เสพนิทรรศกาลศิลปะขนาดย่อมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที
แทรคแนะนำ: Comatose
สมเกียรติ
สิ่งที่วงแสดงออก เป็นการตอบแทนผู้ฟังในการเป็นกระบอกเสียง นั่นคือหนึ่งในหน้าที่ของศิลปิน
SOMKIAT (สมเกียรติ) สมเกียรติรวมตัวกันจากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะมาแจ้งเกิดในการแข่งขันที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจาก Coke Music Awards 2010 นับว่าเป็นก้าวแรกในการเปิดตัวอย่างมีชื่อเสียง มีสมาชิก 5 คน ได้แก่ โบ๊ท–คนาวิน เชื้อแถว (ร้องนำ), บอส–ภูริช พันธุ์สุข (กีตาร์), นนท์–ธนญ แสงเล็ก (กีตาร์), นัท–ณัฐ เบญจรงค์รัตน์ (เบส) และ ยิ้ม–ประวิทย์ ฮันสเตน (กลอง)
สมเกียรติสังกัดอยู่ในค่ายเพลง Smallroom อัลบั้มแรกชื่อว่า _SARA และตามมาด้วยเพลงฮิตยอดวิวถล่มทลาย อาทิ อาย, ขอวอน 2, ช่างมัน, ทนไว้ , 1-100 ฯลฯ ด้วยแนวเพลง Indie-Rocks หรือ Pop-Rock จากผลงานเพลงส่วนใหญ่ แต่ที่จริงวงนี้ไม่เคยจำกัดแนวเพลง พวกเขานิยามว่าสมเกียรติเปรียบเสมือนคนหนึ่งคนที่มีเรื่องราวแล้วอยากจะนำมาเล่า รวมความเป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกทั้ง 5 คนไว้ โดยแต่ละคนอยากจะสื่อสารอะไรหรือสนใจดนตรีแนวไหนก็จะเกิดเป็นบทเพลงที่ออกมาอย่างแตกต่างในช่วงเวลานั้น ๆ
แทรคแนะนำ: ออกเดินทาง
Fever
ไม่ควรมีใครโดนจับ โดนทำร้าย โดนอุ้ม เพราะการแสดงความคิดเห็น ฉะนั้น การที่มีคนมากมายมารวมตัวกัน และสามารถแสดงจุดยืนชูสามนิ้วได้ มันแสดงให้เห็นว่าที่เราสู้กันอยู่ตอนนี้มันมีความหมายจริงๆ อาจจะต้องใช้เวลาและอาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปในแบบที่ต้องการทั้งหมด แต่ตอนนี้มันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ
Fever (ฟีเวอร์) หรือแปลตรง ๆ ได้ว่าการเป็นไข้ แต่ความหมายแฝงของมันคือความตื่นเต้น ความร้อนแรงและเป็นกระแส เป็นศิลปินไอดอลประเภทกรุ๊ป ซึ่งมีช่วงอายุตั้งแต่ 15-23 ปี
ที่ผ่านการออดิชั่นจนคัดเลือกเหลือเพียง 12 คน ได้แก่ บีมบีม-กมลพร โกสียรักษ์วงศ์, บีม-จิรัชญา จันทร์จิเรศรัศมี, บอส-ปาลีรัตน์ ก้อนบาง, สแปม-กสิณา โกเมศ, ซี-อุรัสยาก์ บุนนาค, ใบหม่อน-ณิชนันท์ ภัทรพิทักษ์, ฟอล์ย-เพ็ญพิชชา อำไพฉลวย, ใบเฟิร์น-พัชมณฑ์ วงศ์จิตรมานะ, ป๊อป-นภัสพร ศรีประภา, ปาย-รัทยา ผลเกิด, ใบบัว-ศุภัชฌา โลจนะรุ่งสิริ และ ซู-มะลิ แซ่ว่าง โดยแต่ละคนมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเองตามธรรมชาติ
อยู่ภายใต้สังกัดค่าย Roamrun Entertainment จัดวางคอนเซ็ปต์ให้มีความแตกต่างจากวงไอดอลวงกระแสหลัก จึงเกิดการเลือกสรรแนวดนตรี Synth-pop ที่ใส่ความป็อปลงในบทเพลงที่ถักทอด้วยเสียงสังเคราะห์จากแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ หรือแนวดนตรี City pop ซึ่งถือกำเนิดเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับอิทธิพลจากดนตรีตะวันตก หลอมรวมกับดนตรีหลายประเภท เช่น Modern Jazz, Disco, Rock ,Bossanova และเร็กเก้ เป็นต้น มาถ่ายทอดผ่านบทเพลงจากเรื่องราวชีวิตของสมาชิกภายในวงเอง ท่ามกลางเสียงที่เปล่งออกมาจากทุกคน ในบทบาทความเท่ที่เป็นความแปลกใหม่ของกลุ่มไอดอล
แนวคิดจากกลุ่มผู้สร้างที่ต้องการให้ไอดอลเป็นตัวของตัวเองถูกผลักดันในวงฟีเวอร์ ความคิด พฤติกรรมที่ไม่ต้องอยู่ในกรงแห่งกฎบริษัทที่ริดรอนอิสรภาพ จะทำให้วงดนตรีนี้อยู่ใต้นาน โดยไม่มีใครฝืนใจ
การปลดแอกข้อจำกัดของวงไอดอลอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมจากแนวคิดสมัยเก่าวงของการเพลงไอดอลเหมือนจะเป็นการถือครองแบบอำนาจนิยมที่ค่อนข้างเอาเปรียบและจำกัดเสรี อย่างการแสดงออกทางความคิดที่ต้องคำนึงถึงกฎตลอดเวลา เรื่องการแต่งกาย การพบปะหรือการมีความสัมพันธ์ฉันท์แฟน เป็นต้น หากไม่มีใครเริ่มจัดการหรือยังยอมให้เกิดเรื่องแบบนี้กันไปเรื่อย ๆ คงยากที่จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
แทรคแนะนำ : UNDERGROUND