หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังถกเถียงเรื่องการห้ามแสดงออกถึงสัญลักษณ์ทางศาสนาแบบโจ่งแจ้ง ห้ามใส่ไม้กางเขนอันใหญ่ ห้ามคลุมฮิญาบหรือใส่บุรกามิดชิดในที่สาธารณะ ไม่นานมานี้ ฝรั่งเศสได้แบนชุดว่ายน้ำแบบมุสลิม หรือ Burkini ด้วยเหตุผลด้านเสรีภาพและการเคารพสิทธิ์ในรัฐโลกวิสัย (secular state) เพราะเครื่องแต่งกายแบบนี้สร้างความหวาดระแวง ไม่สบายใจ และอาจนำไปสู่ความไม่สงบ
ปี 1923 มุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก ได้วางรากฐานให้ตุรกีมีกฎหมายและรัฐธรรมนูญแบบโลกวิสัย ทำให้ตุรกีได้ชื่อว่า เป็นรัฐอิสลามที่ทันสมัยและอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมตะวันตกได้ จากนั้นตุรกีก็อยู่ภายใต้การปกครองด้วยแนวคิดทางโลกมาโดยตลอด และด้วยเหตุผลเสรีภาพทางโลกนี่เอง ที่ทำให้การวิถีชีวิต วิธีปฏิบัติ และการแต่งกายตามวัฒนธรรมมุสลิมกลายเป็นเรื่องต้องห้าม
เมื่อวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางการตุรกีได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ให้ตำรวจหญิงสามารถสวมฮิญาบร่วมกับเครื่องแบบ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายเจ้าพนักงาน สวมไว้ใต้หมวกแก็ปหรือหมวกเบเรต์ ซึ่งฮิญาบนี้ต้องเป็นสีเดียวกับเครื่องแบบและไม่มีลวดลาย
สื่อของตุรกีอ้างข้อมูลสนับสนุนว่า ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการสก็อตแลนด์อนุญาตให้ตำรวจหญิงสวมฮิญาบ ขณะที่ไม่นานมานี้แคนาดาก็ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ด้วยเหตุผลสร้างแรงจูงใจและเปิดโอกาสให้หญิงมุสลิมเข้ามาเป็นตำรวจมากขึ้น
ตั้งแต่พรรคมุสลิมอนุรักษนิยม Justice and Development Party (AKP) เข้ามามีอำนาจในปี 2002 กฎหมายทางโลกถูกผ่อนปรนและปรับตัวเข้าหาวิถีมุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปี 2010 ยกเลิกข้อห้ามสวมฮิญาบในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ปี 2013 อนุญาตให้นักเรียนหญิงในสถาบันการศึกษาของรัฐและมัธยมศึกษาสวมฮิญาบได้ และในปีเดียวกัน สมาชิกสภาสี่คนก็สวมฮิญาบเดินเข้าสู่ทำเนียบ
หลังรัฐประหารล้มเหลว พรรค AKP นำโดย ประธานาธิบดีเรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน ถูกมองว่า เขากำลังตีความแนวคิดทางการเมืองใหม่ แม้ไม่สุดโต่งไปถึงขั้นเป็นรัฐศาสนา แต่ก็แตกต่างจากแนวทาง Kemalism ของอาตาเติร์กสร้างไว้ โดยยกเลิกและผ่อนปรนกฎทางโลก นำวิถีชีวิตแบบมุสลิมกลับมา สร้างแนวทางใหม่ที่เหมาะสมกับสิ่งที่คนตุรกีส่วนอยากเป็น