เบื้องหลังมังสวิรัติแห่งเกาะอังกฤษ

veg 01

จะเป็นเพราะการรณรงค์ในแคมเปญ ‘Meat-Free Mondays’, ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Cowspiracy ของลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, เหตุผลทางศีลธรรมและสิ่งแวดล้อม หรือเพราะการต่อสู้ในการเมืองเรื่องอาหารกันแน่ ที่ทำให้ขณะนี้ประเทศอังกฤษมีผู้ประกาศตัวเป็นมังสวิรัติเพิ่มขึ้น 360 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นประชากรราว 1.68 ล้านคน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

โลกออนไลน์ หนังสารคดี และเหล่าเซเลบริตี้

แคเธอรีน โคลลินส์ นักกำหนดอาหารแห่งประเทศอังกฤษ กล่าวถึงความกังวลในตัวเลข 360 เปอร์เซ็นต์นี้ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้เป็นมังสวิรัตินั้น ไม่เพียงมาจากเหตุผลเรื่องสุขภาพและความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากพวกเขาพิจารณาการเป็นมังสวิรัติเพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเซเลบริตี้ มากกว่าจะคำนึงถึงความสำคัญของโภชนาการทางอาหาร

“สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือการเคร่งครัดเรื่องจริยธรรมในการควบคุมอาหาร ที่ว่าต้องเป็นชามอาหารที่บริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน พวกเขาเห็นมื้ออาหารของ กวินเน็ธ พัลโทรว์ ในโลกออนไลน์ และก็อยากจะใช้ชีวิตที่กินแต่ทับทิมอย่างเธอบ้าง”

แคเธอรีนเผยอีกว่า ผู้คนที่เป็นมังสวิรัติด้วยฐานความเชื่อทางศาสนาหรือศีลธรรม มักจะรู้ว่าควรจะบริโภคอะไรเพื่อทดแทนคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่ได้จากเนื้อสัตว์ ต่างจากผู้คนที่หันมาผูกสมัครในมังสวิรัติตามกระแส

มังสวิรัติคือการงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ อาทิ นม ชีส ไข่ และน้ำผึ้ง ขณะที่ผู้สนับสนุนวิถีมังสวิรัตกล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะงดเว้นการบริโภคโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์นั้น ผู้เป็นมังสวิรัติก็ยังมีผลิตภัณฑ์จากพืชตระกูลถั่วเป็นโปรตีนทดแทน อย่างไรก็ตาม ในหมู่นักกำหนดอาหารยังถกเถียงกันว่า นักมังสวิรัติมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างเพียงพอ รวมทั้งสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น วิตามินบี 12 และ แคลเซียม

อย่างไรก็ตาม ในบทความของ INDEPENDENT รายงานว่า ปัจจุบันมีนักกีฬาที่มีอิทธิพลจำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นมังสวิรัติ อย่าง เดวิด เฮย์ นักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวท WBA ปี 2009 ก็เลือกเป็นมังสวิรัติแล้วกว่าสองปีครึ่ง รวมทั้งนักเทนนิสอย่าง วีนัส วิลเลียมส์ และ นอวัค ยอโควิช โดยปัจจุบันยอโควิชได้เปิดธุรกิจร้านอาหารมังสวิรัติเป็นของตัวเองด้วย คือ Eqvita Restaurant ที่โมนาโก

“ผมได้ดูสารคดีเกี่ยวกับการปศุสัตว์ และพบว่ากระบวนการการฆ่าเพื่อเตรียมเป็นอาหารนั้นโหดร้าย ผมไม่อยากจะเป็นหนึ่งในกระบวนการนั้นอีกต่อไป หลังจากนั้นผมค้นคว้าต่อและพบว่าจะหาโปรตีนทดแทนได้จากแหล่งใดหากปราศจากสารอาหารจากเนื้อสัตว์เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอจะเล่นเทนนิสได้ และผมก็พบมัน” ยอโควิชให้สัมภาษณ์สำนักข่าว INDEPENDENT

นักกีฬาเหล่านี้เป็นกลุ่มบุคคลทรงอิทธิพลแถวหน้าที่เปลี่ยนความเชื่อเรื่องอาหาร ว่าการลดละเลิกสารอาหารประเภทใดๆ ก็ยังสามารถมีสุขภาพดีและมีเรี่ยวแรงออกกำลังกายอย่างนักกีฬาอาชีพ

ขณะเดียวกัน เหตุผลในเชิงศีลธรรมที่ยอโควิชอธิบายนั้น บ่งบอกอย่างเป็นนัยสำคัญว่า ‘ศีลธรรม’ มีผลต่อการตัดสินใจของคนอังกฤษจำนวนหนึ่งด้วย โดยในบทความนี้ INDEPENDENT ได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์สารคดีของ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เรื่อง Cowspiracy ที่นอกจากจะเผยให้เห็นกระบวนการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารแล้ว สารคดียังสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ด้วย

นอกจากการรณรงค์โดยภาพยนตร์ นักแสดงและนักกีฬาแล้ว แคมเปญหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนทัศนคติและวิถีชีวิตของผู้คนมาเป็นมังสวิรัตินั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแคมเปญ ‘Meat-Free Mondays’ ในอังกฤษด้วย

Meat-Free Mondays

Meat-Free Mondays คือการรณรงค์ให้ผู้คนลดละการกินเนื้อหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ทุกๆ วันจันทร์ หรือวันใดก็ได้หนึ่งวันในสัปดาห์ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็มีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘flexitarian’ หรือผู้ที่กินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น

flexitarian คือกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติเป็นส่วนใหญ่ของทุกมื้ออาหาร แต่จะแบ่งเวลาหนึ่งวันต่อสัปดาห์สำหรับเมนูเนื้อ โดยเชื่อว่า แม้พวกเขาจะกินเนื้อเป็นบางครั้งบางคราว ก็สามารถส่งผลกระทบต่อประเด็นศีลธรรมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้

veg 02

หนึ่งในแรงผลักสำคัญคือ การตลาดของบริษัทอาหารประเภทมังสวิรัติจาก ลินดา แมคคาร์ทนีย์ (ภรรยา พอล แมคคาร์ทนีย์ – เป็นผู้สนับสนุนหลักของแคมเปญ Meat-Free Mondays) การรณรงค์ลดกินเนื้อสัตว์นี้เริ่มทำอย่างเป็นกระบวนการทั้งการโฆษณาในหนังสือทำอาหารและสื่อประเภทต่างๆ รวมไปถึงการได้รับความร่วมมือจากเชฟในร้านอาหารชื่อดัง (โดยที่เชฟส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้บริโภคเนื้ออยู่) มาทำอาหารมังสวิรัติที่อร่อยและมีหน้าตาน่ารับประทาน กระตุ้นความต้องการบริโภคที่มากไปกว่าเหตุผลทางศีลธรรม


อ้างอิงข้อมูลจาก:
independent.co.uk
theguardian.com
metro.co.uk

logo sponsor

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า