ภาพ: vesselthefilm.com
หากเปิดใจกว้างๆ จะพบว่า ปัญหาท้องไม่พร้อม อาจไม่ต่างจากการป่วยด้วยไข้หวัด อย่างที่แพทย์ด้านสูตินรีเวชท่านหนึ่งให้คำจำกัดความว่าเป็น ‘ไข้หวัดทางนรีเวช’
สิ่งที่แตกต่างระหว่างการรับมือปัญหาท้องไม่พร้อมกับการเป็นหวัด อาจอยู่ที่มุมมองและความเชื่อ รวมถึงลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ที่กลับกลายเป็นการกดทับทางเลือก จนถึงลิดรอนสิทธิที่มีตามธรรมชาติของผู้หญิงไป
คุณหมอปีศาจ
จากความประทับใจที่คุณแม่พาขึ้นเรือกรีนพีซตั้งแต่ 8 ขวบ ทำให้ รีเบคกา กอมเปิร์ท หญิงสาวชาวเนเธอร์แลนด์ อดีตอาสาสมัครกรีนพีซ ผู้เลือกเรียนแพทย์เพราะอยากเปลี่ยนแปลงโลก แต่พร้อมกันนั้นก็ลงเรียนศิลปะไปด้วย ตัดสินใจก่อตั้งองค์กร ‘Women on Waves’ ขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อช่วยปลดล็อคปัญหามืดแปดด้านของหญิงสาวที่ท้องไม่พร้อมในประเทศที่การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าเรือเพียงลำเดียวสามารถส่งแรงกระเพื่อมมหาศาลไปยังชายฝั่งของประเทศที่มันไปเยือน (แม้ว่าแทบทุกประเทศจะไม่อนุญาตให้ล่วงล้ำน่านน้ำของตน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง) ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบยุโรปด้วยกันอย่างโปแลนด์ หรือโปรตุเกส ที่กฎหมายทำแท้งยังเข้มงวดอยู่มาก โดยเฉพาะโปรตุเกสที่จัดส่งเรือรบ 2 ลำมารอต้อนรับพวกเธอ
แน่นอน ไม่ว่าเธอและทีมงานจะแล่นเรือไปยังที่ใดก็ตาม จะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งออกมาต่อต้านเสมอ ทั้งหาว่าพวกเธอเป็นนาซี เป็นผู้ก่อการร้าย ไปจนถึงขั้นหาว่าเรือลำนั้นเป็นเรือแห่งความตาย
ฟังเผินๆ การแล่นเรือรับทำแท้งไปทั่วโลกฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ ทีมงานเน้นให้ความช่วยเหลือกับหญิงสาวที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ และไม่ได้ให้การรักษาอะไรนอกไปจากให้ยาพวกเธอรับประทาน
เพราะกฎหมายเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายในสถานบริการสาธารณสุขและคลินิก ฉะนั้น เรือที่จดทะเบียนในเนเธอร์แลนด์ เมื่อแล่นออกไปและยังอยู่ในเขตน่านน้ำสากล สามารถอาศัย ‘ช่องว่าง’ หาทางออกให้กับหญิงสาวในประเทศที่การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายได้
ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีการทำแท้งในปัจจุบันพัฒนาขึ้นมาก จากที่เราจินตนาการว่าต้องไปแอบทำในคลินิกเถื่อน ไม่มีสุขอนามัย และอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการตกเลือดมากเกินไป แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Women on Waves คือหนึ่งในองค์กรที่พยายามให้ข้อมูลแก่สาธารณะว่า การทำแท้งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย เพียงรับประทานยาอย่างเคร่งครัด
ในอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ การทำแท้งด้วยการใช้ยา ถือว่ามีความปลอดภัยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญยาตัวนี้อยู่ในบัญชียาขององค์การอนามัยโลก เพราะเป็นยาลดอาการตกเลือดหลังคลอด
รณรงค์ด้วยรอยยิ้ม
การรณรงค์ในแต่ละประเทศของ Women on Waves ก็ไม่มีซ้ำ เพราะบริบทสังคมต่างกัน ธรรมชาติของคนก็ต่างกัน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับนักเคลื่อนไหว
การรณรงค์ในเอกวาดอร์เมื่อปี 2009 พวกเธอระดมสมองกับทีมงานในพื้นที่ว่าจะเริ่มต้นประชาสัมพันธ์สายด่วนรับปรึกษาอย่างไร สุดท้ายมาลงเอยที่การนำป้ายผ้าขนาดใหญ่ไปติดไว้ใต้อนุสาวรีย์พระแม่มารีแห่งกีโต (Virgen de Quito) ถือเป็นการเลือกจุดที่โดดเด่นสะดุดตา เนื่องจากรูปปั้นดังกล่าวอยู่บนเนินเขา มองเห็นได้จากระยะไกล นอกจากนั้น ยังเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง เพราะสำหรับชาวคริสต์ พระแม่มารีคือสัญลักษณ์สำคัญของความศักดิ์สิทธิ์เหนือคำอธิบาย เพราะเธอสามารถรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้แม้จะตั้งครรภ์พระเยซู
หรือกรณีเข้าไปให้ความรู้กับอาสาสมัครในประเทศแถบแอฟริกา ที่เรียกว่าแทบจะไม่มีใครเข้าถึงยาตัวนี้ได้ ทั้งผู้จัดจำหน่ายไม่ได้เลือกนำมาจำหน่ายและการบอกเภสัชกรไปตามตรงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ทีมของกอมเปิร์ทเข้าไปจัดอบรมและหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือจำลองเหตุการณ์การขอซื้อยาจากร้านขายยา ซึ่งแนะนำให้ผู้ซื้อบอกเภสัชกรว่าจะนำไปป้องกันภาวะเสียเลือดหลังคลอดแทน ในช่วงท้ายๆ ของการอบรม ด้วยความช่วยเหลือของทีม Women on Waves สามารถติดต่อผู้จัดจำหน่ายในกลุ่มประเทศนั้นๆ ให้นำยามาจัดจำหน่ายได้สำเร็จ
สายด่วนรับปรึกษาปัญหาเป็นอีกส่วนที่เปิดให้บริการ และได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากหญิงสาวที่แก้ปัญหาไม่ตกจนอาจหันหน้าเข้าหาทางออกที่มืดมน ถ้าคุณเป็นผู้หญิง และมีโอกาสรับฟังปัญหาที่หญิงสาวรอบโลกต้องเผชิญ ทั้งจากอุปสรรคทางด้านกฎหมายและความเชื่อ คุณจะรู้ว่าปัญหาของพวกเธอนั้นน่าหนักใจเพียงใด
นอกจากกิจกรรมฝ่าคลื่นลมและกระแสต่อต้านอันเชี่ยวกราก พวกเธอยังเปิดช่องทางออนไลน์เพื่อสื่อสารและให้คำปรึกษา ตลอดจนคำแนะนำกับหญิงสาวที่เว็บไซต์ womenonweb.org
ทำแท้งก็บาป ท้องต่อก็ตกนรก
หากคุณท้องเมื่อไม่พร้อม การท้องต่อไป อาจนำไปสู่ปัญหานานาประการ ในบางประเทศ อาทิ สหรัฐ หรือเนเธอร์แลนด์ อนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ หรือทำแท้งได้อย่างเสรี
ถ้าคุณเห็นว่า การทำแท้งคือการฆาตกรรม คุณคือคนหนึ่งที่มองข้ามความเป็นมนุษย์ของหญิงสาวคนหนึ่ง คนที่เต็มไปด้วยปัญหา จนจำเป็นต้องเลือกหนทางที่เธอเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น
แนวคิด Pro-life (ต่อต้านการทำแท้ง) หรือ Pro-choice (สนับสนุนให้มีทางเลือก) อาจไม่เป็นปัญหา หากคุณยึดหลัก Pro-life แต่เผื่อ Choice อื่นๆ ที่เป็นไปได้เอาไว้ด้วย เพราะชีวิตเป็นของเธอ สิทธิในเนื้อตัวและร่างกาย ก็เป็นของพวกเธอเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
เพื่อเสรีภาพของผู้หญิง
สำหรับประเทศไทย นอกจากการทำแท้ง (ในกรณีถูกข่มขืนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดกับแม่หากตั้งครรภ์ต่อ) จะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนสำคัญที่จะกดทับผู้หญิงเอาไว้จนแทบไม่เหลือพื้นที่หายใจ ก็คือ ศาสนาและความเชื่อ
นับเป็นปีที่ 2 ที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายขึ้น เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน และทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันได้ตามปกติเหมือนเรื่องอื่นๆ ในสังคม
วงเสวนา ‘Pro-Voice: เสียงผู้หญิงเพื่อการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย’ เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นักคิดและอาจารย์ฝึกภาวนา ตัวแทนผู้ให้คำปรึกษาในประเทศไทย และผู้มีประสบการณ์ตรงอีก 2 ท่าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความผิดบาปต่อหลักศาสนานั้นทรงพลังมากเพียงใดในสังคม แต่ใช่ว่า ยึดมั่นในศาสนาใดแล้ว จะสามารถสร้างทางเลือกให้กับตัวเองไม่ได้
“ประเด็นของผมคือ ตัวศาสนาที่เป็นเรื่องของภายในของปัจเจกบุคคล จำเป็นจะต้องมีพื้นที่หรือบริบทของทางเลือก ให้เขาสามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ แล้วถ้าทำหรือไม่ทำแล้ว มันมีผลอย่างไร” วิจักขณ์ พานิช นักคิด นักเขียน และอาจารย์สอนภาวนา หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ที่ไม่ติดกรอบว่า การนับถือศาสนาคือการรักษาศีล
“บางทีเราอาจจะคิดว่าศาสนาคือศีล แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ ศาสนาอาจจะรวมถึงความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ การเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในบริบทความทุกข์ที่ละเอียดอ่อนของเขาด้วย” วิจักขณ์ กล่าว
สูตินรีแพทย์ผู้ให้การรักษาอาการเจ็บป่วยของสตรีสูงวัยอยู่เป็นปกติวิสัย เขาพบเจอปัญหาตั้งแต่การอั้นปัสสาวะไม่อยู่ มดลูกไม่กระชับ ฯลฯ แต่อีกนัยหนึ่ง ผู้คนรู้จักเขาในนามคุณหมอทำแท้ง นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ยึดหลักความเรียบง่ายในการตัดสินใจจะทำอะไร ไปจนถึงเป็นหลักที่ใช้ในการดำรงชีวิต
นพ.ธนพันธ์ ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีคนหนึ่งคนมาขอทำแท้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถ้าเอาอารมณ์หรือความซับซ้อนทางจิตใจมาตัดสินคนไข้ จะตัดสินใจอะไรได้ยากมาก
“ถ้าใช้หลักความเรียบง่ายของการเกิดมาเป็นคนคนหนึ่งที่อยากจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามมุมมองตัวเอง เราจะพบว่าคนคนหนึ่งก็มีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่จะเดินเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า เขายังไม่พร้อมที่จะมีลูก”
ในฐานะหมอ เขายอมรับว่าตอนนี้ไม่มีความคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่ต้องนั่งคิดว่าทำบาปหรือไม่ทำบาป หรือทำแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่คิดง่ายๆ ว่า ต้องทำให้หญิงสาวเหล่านั้นกลับไปมีชีวิตอยู่รอดให้ได้
“เราชอบมองว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ระดับทวีป แต่ผมว่าจริงๆ การตั้งท้องไม่พร้อม มันเหมือนคนเป็นหวัด ก็แค่นั้นเอง ก็แค่ยังไม่พร้อมที่จะมีลูกตอนนี้ ก็แค่อยากจะมีชีวิตอยู่เหมือนกับคนทั่วๆ ไป ก็แค่อยากไปเรียนหนังสือ แค่อยากกลับไปเจอเพื่อน แค่อยากกลับไปกอดลูก แค่นั้นครับ”
นพ.ธนพันธ์ ย้ำว่า การทำแท้งของหมอมิใช่ฆาตกรรม และหมอที่ทำแท้งต้องไม่ใช่ฆาตกร
“หมอที่ทำแท้งนั้น เป็นการรักษาโรคหวัดทางนรีเวช หมอที่ทำแท้งนั้น เป็นการเคารพในสิทธิ์ที่ผู้หญิงมีมาตั้งแต่เกิด เราไม่ได้ให้สิทธิ์เขา แต่นั่นคือสิทธิ์ของเขาที่เรามองเห็นว่าเขาจะได้รับบริการที่ดีที่สุดจากเรา”
แต่สิ่งที่ นพ.ธนพันธ์ คิดว่ายังเป็นปัญหาคือ มีหมอที่ดีอีกหลายคนที่ไม่พร้อมจะรักษาคนไข้ ซึ่งเขาคิดว่านี่คือปัญหาที่จะต้องแก้ไขในอนาคต
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเมืองไทยมีการรณรงค์เพื่อการทำแท้งที่ปลอดภัยมาบ้างแล้ว สุพีชา เบาทิพย์ กลุ่มทำทาง คือผู้ที่ให้คำปรึกษาแก่หญิงสาวที่มีปัญหาเรื่องนี้ด้วยการอาศัยโซเชียลมีเดียและช่องทางอื่นๆ เท่าที่สามารถทำได้
หากถามว่าอะไรช่วยสร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับคนทำงานอย่างเธอ สุพีชาตอบว่า
“ในฐานะคนฟัง เราก็รับฟัง แล้วเราก็เชื่อว่าชีวิตของเขา เขารู้ดีที่สุดว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร แล้วเราก็อยู่ข้างเขา แล้วเราเชื่อว่า เมื่อเขาได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เขาจะผ่านจุดนี้ไป เขาจะคลิกและแก้ปัญหา แล้วก็เดินต่อไปได้”
ส่วนอาสาสมัครอีก 2 ท่านที่ผ่านประสบการณ์ตรง และได้มาร่วมแลกเปลี่ยนบนเวที ต้องนับเป็นความกล้าหาญมากๆ เพราะไม่ใช่ว่าใครก็สามารถพูดเรื่องนี้ได้ในที่สาธารณะ นอกจากจะมาแบ่งปันประสบการณ์ พวกเธอยังอยากให้กำลังใจผู้หญิงที่อาจประสบปัญหาด้านสุขภาพ หรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม และต้องการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
เพราะชีวิตเป็นของเธอ และตัวเธอเองคือศูนย์กลางในการนับถือตนเอง เมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไป การตัดสินใจที่มีความสำคัญเรื่องนี้อาจเป็นแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต และเป็นบทเรียนที่ดีในการเดินหน้าเพื่อรับมือปัญหาต่อๆ ไปในอนาคต
ที่มา:
|