Pro-Voice 2: ทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม

md 157
เรื่อง: อรปมน  วงค์อินตา
ภาพ: กุลภา วจนสาระ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม

 

ผู้หญิงควรมีสิทธิ์ในการเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ และควรได้รับความเคารพและความไว้ใจจากการตัดสินใจทำสิ่งนั้น

 

ถ้อยคำหนักแน่นและเต็มไปด้วยพลังของ คินกา เจลินสกา แห่งมูลนิธิ Women Help Women ขณะอภิปรายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์นานาชาติเรื่องการรณรงค์เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ในงาน ‘เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม’ และงาน Pro-Voice ครั้งที่ 2 สร้างความสนใจให้ทุกคนในห้องประชุมอย่างมาก เห็นได้ชัดจากท่าทางค้อมไปข้างหน้าของผู้ฟัง การเงยหน้าจากสมาร์ทโฟนแล้วจ้องไปที่ผู้พูดด้วยความประหลาดใจ เขาเหล่านี้ล้วนมีความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงควรจะมีทางเลือกของตัวเองหากไม่ต้องการตั้งครรภ์

ความต้องการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงนั้นเกิดจากปัญหาหลักๆ คือ ด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ และฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ความต้องการนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการทำลายตัวอ่อนในท้องของมารดาที่เชื่อว่ามีชีวิตขึ้นมาแล้ว เพราะถือเป็นการทำผิดศีลธรรมและเป็นบาปใหญ่หลวงในทุกความเชื่อทางศาสนา ทำให้เกิดการประท้วงในหลายๆ ประเทศเนื่องจากหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย

การยุติการตั้งครรภ์นั้นนอกจากจะเกี่ยวข้องกับศีลธรรมในจิตใจ ยังมีเรื่องของการให้อำนาจผู้หญิงในการตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงดูเป็นการต่อสู้ระหว่างแนวความคิดแบบเก่าและแบบใหม่ ว่าจะยอมให้ผู้หญิงเป็นผู้เลือกทางเดินด้วยตัวเอง หรือควรจำกัดพวกเธอให้อยู่ในกรอบที่ขีดไว้เหมือนเช่นที่ผ่านมา

แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในอาเซียน

จะมีสักกี่คนที่คำนึงถึงจิตใจของผู้หญิงที่ตั้งท้องไม่พร้อม พวกเธอต้องฝ่าฟันกับความกลัวในตลอด 9 เดือน ไม่เพียงแค่นั้นอาจจะตลอดชีวิตหลังจากคลอดเด็กออกมาแล้ว ดูเหมือนว่าจะมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าใจ

“เมื่อถูกกฎหมายห้ามไม่ให้ทำ ผู้หญิงก็ต้องดิ้นรนหาวิธีทำแท้ง ซึ่งปลอดภัยบ้าง ไม่ปลอดภัยบ้าง” เจลินสกา กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ยุติการตั้งครรภ์ในปัจจุบัน

md 148

มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นสองประเทศที่มีอัตราการทำแท้งค่อนข้างสูง นายแพทย์ซิมปอย ชุง ผู้เปิดคลินิกทำแท้งอย่างปลอดภัยให้ผู้หญิงที่มาเลเซียให้ความเห็นว่า กฎหมายที่มาเลเซียเองก็ไม่ต่างจากที่ไทย ถ้าเสี่ยงต่อสุขภาพ ผู้หญิงก็สามารถทำแท้งได้ แต่ก็ยากมากๆ ที่จะมีหมอยอมทำให้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องทัศนคติทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงเรื่องศาสนา ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำแท้งคือ “ศักยภาพของผู้หญิงในการเลือกสิ่งที่เธออยากทำ” การปล่อยให้ผู้หญิงได้เลือกทางเดินของตนแทนที่จะขึ้นอยู่กับสังคมหรือผู้ชายก็เป็นการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้หญิงอีกทางหนึ่ง

“การใช้ยาทำให้ผู้หญิงไม่ต้องไปทำในที่เสี่ยง มันสามารถใช้ที่บ้านได้” เป็นความเห็นของ อินนา ฮูดายา จาก ซัมซารา อินโดนีเซีย ผู้ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ เพราะอินนาเห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง เธอจึงได้สร้างข้อมูลสำหรับยุติการตั้งครรภ์ขึ้นมา ทั้งบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นสำหรับให้ผู้หญิงได้ค้นคว้าหาความรู้อย่างปลอดภัย

เธอเชื่อว่าข้อมูลนั้นมีพลังมหาศาลที่จะเปลี่ยนโลกของผู้หญิง ผู้หญิงถูกผูกติดกับความเป็นแม่ เมื่อเป็นแม่ก็ถูกสังคมคาดหวังว่าต้องรักลูก ดูแล ทะนุถนอมลูก เมื่อต้องการยุติการตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องเลวร้ายที่หลายๆ สังคมไม่สามารถยอมรับได้

สำหรับประเทศไทย นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายสามารถทำได้เมื่อเป็นอันตรายต่อแม่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยต้องมีหมอเซ็นรับรองจำนวนสองคน และมีสายด่วน 1663 ในการให้คำปรึกษา

 

md 119

ดร.ชิลปา ดีไซ ชรอฟ แห่ง Asia Safe Abortion Network (ASAP) กล่าวว่าสถานการณ์ของประเทศไทยนั้นถือว่าดีกว่าที่อินเดียมาก เพราะได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพจิตของแม่ประกอบด้วย ในประเทศอินเดียกฎหมายคุ้มครองเฉพาะผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและโครงสร้างในการบริการก็ยังมีปัญหามาก การทำงานของเครือข่าย ASAP จึงทำหน้าที่เพื่อเผยแพร่ ปกป้อง และเพิ่มความปลอดภัยในด้านสุขภาพของผู้หญิงในเอเชีย โดยเฉพาะการยุติการตั้งครรภ์นั้น ทางเครือข่ายต้องการให้มีบริการที่ปลอดภัยและลดการยุติการตั้งครรภ์ที่เสี่ยงอันตรายด้วย

md 208

เรือเสรีภาพเพื่อเสียงผู้หญิง

Vessel เป็นหนังสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของ แพทย์หญิงรีเบคกา กอมเพิร์ทส ผู้ก่อตั้งองค์กร Women on Waves ซึ่งเดินเรือไปทั่วโลกเพื่อแนะนำหญิงสาวที่ต้องการทำแท้งอย่างปลอดภัยในประเทศที่กฎหมายไม่อนุญาต

ในหนังเล่าถึงวิธีการที่เธอและทีมงานต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงการทำแท้ง รวมถึงพลังและเหตุผลที่เธอต่อสู้เพื่อให้เกิดการทำแท้งโดยการใช้ยาที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง

หลังการฉายสารคดี Vessel นับเป็นโอกาสพิเศษที่ รีเบคกา กอมเพิร์ทส ผู้ริเริ่มองค์กร Women on Waves มาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย โดยได้รับความสนใจจากคณะทำงานชาวไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากปัญหาหลักที่คนทำงานด้านนี้ในไทยต้องเผชิญ คือการต่อสู้กับความอิหลักอิเหลื่อที่ไม่สามารถบอกคนรอบข้างได้ว่าพวกเขาทำงานเกี่ยวกับอะไร

หนึ่งในผู้อภิปรายบอกว่าเธอไม่สามารถตอบหลานได้ว่า เธอและเพื่อนๆ ทำงานเกี่ยวกับอะไร โดยเธอเปรียบเทียบว่า การบอกว่ามีแฟนเป็นผู้หญิงยังทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า ซึ่งคล้ายกับความเห็นของคนอื่นๆ ที่ทำงานด้านนี้ คงเพราะสังคมไทยยังมองประเด็นนี้อิงกับเรื่องบุญ-บาป และเชื่อว่าการทำลายชีวิตชีวิตหนึ่งที่จะเกิดมานั้นเป็นบาปมากๆ

น่าสนใจว่า เมื่อเธอและทีมงานไปเปิดบูธให้ความรู้เรื่องการทำแท้งปลอดภัย ก็มีผู้เข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เธอคิดว่าแค่ได้คุยกัน แลกเปลี่ยนกันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีมากแล้ว

การยอมวางอคติในใจของตนแล้วรับฟังอีกฝ่ายจะนำไปสู่การถกเถียง และท้ายที่สุดก็จะเจอการหาทางออกที่รอมชอมและไปด้วยกันได้มากกว่าการไม่รับฟังความเห็นของกันและกันเลย

md 221

นอกจากประเด็นการทำงาน ยังมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องการเลือกใช้คำเพื่อขับเคลื่อนการรณรงค์ บางทีก็เลือกใช้คำที่ตรงไปตรงมาอย่างการ ‘ทำแท้ง’ แทนการ ‘ยุติการตั้งครรภ์’ ไปเลย แต่กับบางคำที่ละเอียดอ่อน อาทิ ทารก เด็ก หรือลูก จะเลี่ยงการใช้หากต้องให้คำแนะนำกับผู้ที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ โดยจะใช้คำว่า ตัวอ่อน แทน

อีกประเด็นหนึ่งที่คณะทำงานเป็นห่วงมากคือในต่างประเทศนั้นค่อนข้างเป็นปัจเจก หรือต่างคนต่างไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องส่วนตัวซึ่งกันและกัน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นเพราะไม่ต้องกังวลกับสายตาคนรอบข้าง แต่สำหรับในเมืองไทยหรือแถบเอเชียนั้นสภาพสังคมเน้นการอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน พึ่งพาอาศัยกัน รับรู้ความเป็นไปของกันและกัน ทำให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่รณรงค์ได้ยาก เพราะต้องคำนึงถึงผลของการถูกตีตราจากสังคมรอบข้างในสิ่งที่ทำด้วย

ประเด็นนี้รีเบคกากล่าวว่าสำหรับตัวเธอคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นมากกว่าความเห็นของคนรอบข้าง ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีของสังคมที่เธออยู่ก็เป็นได้

แม้ในบางประเทศจะห้ามผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ แต่ความจริงคือ ‘1 ใน 3 ของผู้หญิงเคยมีความคิดต้องการจะทำแท้ง’ และน่าสนใจว่าผู้ที่ออกกฎหมายห้ามผู้หญิงทำแท้งส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย “พวกเขาไม่รู้หรอกว่าผู้หญิงต้องทนกับความทุกข์ทรมานขนาดไหน เพราะเขาไม่ได้เป็นคนตั้งครรภ์เอง” หนึ่งในคำพูดที่ รีเบคกา กอมเพิร์ทส ผู้ก่อตั้ง Women on Waves กล่าวไว้ในสารคดี แสดงถึงแรงกดดันของสังคมที่มีต่อเพศหญิงเมื่อเทียบกับเพศชาย

เพราะคำว่าศีลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่กลับมีผลต่อการกระทำของมนุษย์อย่างมาก จึงเป็นเรื่องยากในการทำงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันทุกฝ่าย และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่เหล่าผู้ทำงานต้องต่อสู้และฝ่าฟันไปให้ได้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า